ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลง(Blueprint for Change)
ผังการพัฒนาอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร
 



 ๑. สภาพทั่วไปของอำเภอดอนตาล               

๑.๑ สภาพที่ตั้ง
๑) อำเภอดอนตาลได้รับการยกฐานะจากกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ เมื่อวันที่
๒๙ มีนาคม ๒๕๑๗  ในตอนนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดนครพนม ต่อมาได้มีการแยกพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครพนมมาจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๕ โดยมีอำเภอดอนตาลรวมอยู่ด้วย จึงมีฐานะเป็นเขตการปกครองระดับอำเภอขึ้นกับจังหวัดมุกดาหารตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
๒) ปัจจุบันเป็น ๑ ใน ๗ อำเภอของจังหวัดมุกดาหาร โดยสภาพที่ตั้งเป็น
อำเภอชายแดนซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองไซพูทอง แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขง เป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติกั้นกลางเป็นระยะทางยาวรวมประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศใต้สุดของจังหวัดมุกดาหาร อยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหารประมาณ ๓๓ กิโลเมตร เป็นอำเภอที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ เมตร
๑.๒ ลักษณะภูมิประเทศและอาณาเขตติดต่อ
          พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขาน้อยใหญ่สลับกันไป สภาพดินทั่วไป
เป็นดินร่วนปนทราย มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๕๐๔ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ  ๓๑๕,๐๐๐ ไร่เศษ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
                   ทิศเหนือ         ติดต่อกับอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
                   ทิศใต้            ติดต่อกับอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอ
                                      เลิงนกทา จังหวัดยโสธร
                   ทิศตะวันออก   ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
                   ทิศตะวันตก     ติดต่อกับอำเภอเมืองมุกดาหาร และอำเภอนิคมคำสร้อย
                                      จังหวัดมุกดาหาร


          ๑.๓ การปกครอง
๑) อำเภอดอนตาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๗ ตำบล ๖๓ หมู่บ้าน ดังนี้
          ๑.๑) ตำบลดอนตาล             จำนวน ๑๒ หมู่บ้าน
          ๑.๒) ตำบลบ้านบาก             จำนวน   ๗ หมู่บ้าน
          ๑.๓) ตำบลบ้านแก้ง             จำนวน   ๗ หมู่บ้าน
          ๑.๔) ตำบลบ้านโพธิ์ไทร         จำนวน   ๗ หมู่บ้าน
          ๑.๕) ตำบลเหล่าหมี              จำนวน ๑๐ หมู่บ้าน
          ๑.๖) ตำบลนาสะเม็ง            จำนวน   ๙ หมู่บ้าน
          ๑.๗) ตำบลป่าไร่                  จำนวน ๑๑ หมู่บ้าน
                    * ในจำนวนนี้เป็นหมู่บ้านปกติตาม พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ จำนวน ๔ หมู่บ้าน / หมู่บ้าน อพป. จำนวน ๕๙ หมู่บ้าน
                   * เป็นหมู่บ้านป้องกันชายแดนไทย-ลาว จำนวน ๑๑ หมู่บ้าน
          ๑.๔ ประชากร/ครัวเรือน
                   อำเภอดอนตาล มีประชากรรวมทั้งสิ้น ๔๓,๖๘๔ คน (ข้อมูล ณ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) โดยแยกเป็น ชาย จำนวน ๒๑,๘๙๙ คน หญิง จำนวน ๒๑,๗๘๕ คน มีครัวเรือนจำนวนทั้งสิ้น ๑๑,๗๓๙ ครัวเรือน โดยมีรายละเอียดแยกเป็นรายตำบล ดังนี้
ที่
ตำบล
จำนวนหมู่บ้าน
ครัวเรือน
จำนวนประชากร
ดอนตาล
๑๒
๒,๔๔๑
๗,๑๕๐
บ้านบาก
๑,๔๐๔
๕,๖๖๑
บ้านแก้ง
๘๒๓
๒,๙๙๓
โพธิ์ไทร
๑,๒๗๓
๔,๗๐๒
เหล่าหมี
๑๐
๑,๖๗๒
๖,๘๓๔
นาสะเม็ง
๑,๘๒๖
๗,๒๙๓
ป่าไร่
๑๑
๒,๓๐๐
๙,๐๕๑
รวม ๗ ตำบล ๖๓ หมู่บ้าน
๑๑,๗๓๙
๔๓,๖๘๔
          ๑.๕ ด้านเศรษฐกิจ
                   ประชากร ร้อยละ ๘๕ อยู่ในภาคการเกษตร โดยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ถั่วลิสง โดยอาชีพหลักได้แก่
๑)    ทำนา ทำไร่
๒)    ปลูกพืชไร่ สวนยางพารา สวนผลไม้ พืชผักต่าง ๆ
๓)    เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาในกระชัง
โดยมีรายได้เฉลี่ย ๕๓,๐๙๘ บาท/คน/ปี (ข้อมูล จปฐ. ปี ๒๕๕๖)

๒.  ภูมิหลังของอำเภอดอนตาล(Story to Tell)

          ๒.๑ ในอดีตที่ผ่านมา อำเภอดอนตาลเคยเป็นพื้นที่สู้รบรุนแรงเก่าสมัยสงครามต่างอุดมการณ์ ระหว่างรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยเป็นที่ตั้งของเขตงานต่อสู้ที่ ๔๔๔ ภูสระดอกบัว ซึ่งผลจากการสู้รบกันในครั้งนั้น ส่งผลให้คนไทยทั้งสองฝ่ายอันได้แก่ เจ้าหน้าที่พลเรือน/ตำรวจ/ทหาร และพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ซึ่งก็เป็นคนไทยเช่นกัน) ต้องสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตานับไม่ถ้วน จนยากที่จะลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คนที่นี่ได้
          ๒.๒ ต่อมาเมื่อมีการเจรจาสงบศึกกันระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อันเป็นผลมาจากนโยบายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๓ และ ๖๕/๒๕ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ และมาจบลงอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ส่งผลให้บรรดาสมาชิก พคท. ที่อยู่ในป่าทยอยออกมามอบตัวกับทางราชการในฐานะผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ภายใต้เงื่อนไขการช่วยเหลือของรัฐบาลในการจัดที่อยู่อาศัย/ที่ดินทำกินให้ บ้านเมืองจึงกลับคืนมาสู่ความสงบสุขตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
          ๒.๓  อย่างไรก็ตาม ในการออกมามอบตัวกับทางราชการนั้น มี ผรท. บางส่วนไม่ได้นำอาวุธออกมามอบให้กับทางราชการทั้งหมด แต่นำไปซุกซ่อนอยู่ตามป่าเขา เนื่องจากในระยะแรก ๆ ยังมีความหวาดระแวงและยังไม่มั่นใจว่าทางราชการจะมีความจริงใจหรือไม่ ทำให้อาวุธบางส่วนยังถูกซุกซ่อนอยู่และยังไม่สามารถค้นพบตราบจนทุกวันนี้ เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องกับการซุกซ่อนอาวุธปืนในครั้งนั้นรู้กันเพียงคนวงในไม่กี่คน บางส่วนได้เสียชีวิตไปแล้ว บางส่วนได้อพยพไปทำมาหากินที่อื่น จึงเป็นความลับดำมืดมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ในปัจจุบันก็ยังมีบรรยากาศของการใช้กฎเหล็กของ พคท. เหมือนสมัยที่อยู่ในป่ากับราษฎรลูกบ้าน ทับซ้อนกับระเบียบแบบแผนของทางราชการในปัจจุบัน จึงเป็นพื้นที่ที่มีกลิ่นอายและบรรยากาศที่ผิดแผกแตกต่างไปจากพื้นที่ปกติอื่น ๆ โดยทั่วไป ซึ่งเหมาะสำหรับพัฒนาเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์”  (Historical Tourism) ในโอกาสต่อไป



๓. ของดีอำเภอดอนตาล

          ๓.๑ อำเภอดอนตาล เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ที่อพยพมาจากเมืองหนองบัวลำภู (ปัจจุบัน คือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๑๐๐ (หรือประมาณ ๔๕๗ ปีมาแล้ว) โดยคนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองหนองบัวลำภู วัตถุประสงค์เพื่อจะแยกออกไปหาทำเลถิ่นที่อยู่ใหม่ เพื่อเป็นการขยายและเสริมสร้างบารมีของบิดา ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหนองบัวลำภู เมื่อมาพบว่าบริเวณนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้กลับไปบอกพรรคพวกญาติพี่น้องพากันอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ช่วยกันสร้างวัดขึ้นที่ริมแม่น้ำโขง  เรียกชื่อว่า “วัดท่า” และจัดการสร้างที่ทำการของหมู่บ้านหลังหนึ่งเรียกว่า “โฮง” และเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดอนตาล” (เนื่องจากมีต้นตาลขึ้นอยู่บริเวณนี้มาก) ณ ที่แห่งนี้เองเป็นต้นตำหรับของกลอนรำหัวดอนตาล
          ๓.๒ จากการเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จึงเป็นแหล่งก่อเกิดของวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม การละเล่น ตลอดจนผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Local Wisdom) ที่สมควรอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไป รวมทั้งเผยแพร่ให้สังคมทั่วไปได้รับทราบ เช่น ...
                   - ประเพณีบุญประจำปีหรือบุญเดือน ๖ (ประเพณีไหว้เจ้าปู่ดอนตาล)
                   - หมอลำผญาย่อยหัวดอนตาล
                   - การเป่าโหวด
                   - รำเสือลากหางของชาวเผ่ากะเลิง
                   - ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านต่าง ๆ ที่ปัจจุบันได้พัฒนาจนกลายเป็นสินค้า OTOP เช่น ผ้าฝ้ายย้อมคราม-ผ้าฝ้ายมัดหมี่-ผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ-รวมทั้งผ้าฝ้ายลายต่าง ๆ อีกมากมาย
                   - อาหารพื้นบ้าน เช่น ปลาส้มแหนมปลา-อาหารพื้นบ้านที่ปรุงจากปลาน้ำโขงสด ๆ –ฯลฯ
                   - ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น แชมพูสมุนไพร-ครีมพอกหน้าสมุนไพร เป็นต้น ฯลฯ
          ๓.๓ ซึ่งในบรรดา “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” (Local Wisdom) เหล่านี้ มีที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยทั่วไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอดอนตาล ก็คือ
                   ๑) หมอลำผญาย่อยหัวดอนตาล
                       ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของอำเภอดอนตาล และมีเพียงแห่งเดียวในจังหวัดมุกดาหาร เพราะยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ที่เป็นของดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งประวัติความเป็นมา มีดังนี้..
                  “ลำผญาย่อยหัวดอนตาลของชาวบ้านชุมชนบ้านนาสะโน เป็นขนบธรรมเนียม
ประเพณีที่มีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกิดขึ้นเมื่อใด มีเพียงคำบอกเล่าของศิลปินลำผญาย่อยรุ่นเก่า ความว่า
                   ลำผญาย่อยหัวดอนตาล เป็นศิลปวัฒนธรรมของชาวอีสานมาแต่โบราณ นอกจากลำผญาย่อยแล้ว ยังปรากฏลักษณะการแสดงพื้นบ้านของชาวลาว ที่มีความคล้ายคลึงกับลำผญาย่อยหัวดอนตาลที่เรียกว่า ลำบ้านซอก คอนสวรรค์ สีทันดร สาละวัน อันเป็นลักษณะท่วงทำนองและลีลาการลำที่ใกล้เคียงกัน ส่วนการแสดงแบบใดมาก่อนหรือหลังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดได้ ลำผญาย่อยของชาวบ้านและลำบ้านซอก คอนสวรรค์ ของชาวลาวมีพัฒนาการมาพร้อม ๆ กัน แต่ลักษณะของลำผญาย่อยหัวดอนตาลที่ปรากฏอยู่ เป็นของชุมชนชาวดอนตาลแต่ดั้งเดิม
                   สันนิษฐานว่า ลำผญาย่อยหัวดอนตาลเกิดจากคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมประจำถิ่นขึ้นเมื่อเกิดการแยกย้ายกระจัดกระจายของกลุ่มชนเพื่อเสาะแสวงหาที่ทำกินความอุดมสมบูรณ์ โดยมีศิลปวัฒนธรรมลำผญาย่อยติดตัวไปด้วยและได้แพร่กระจายวัฒนธรรมลำผญาไปสู่ท้องถิ่นใกล้เคียงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมลำผญาดั้งเดิมกับลักษณะภาษาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์และแตกต่างกัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการลำผญาแบบเดิมไปสู่คอนสวรรค์ สีทันดร และสาละวัน ซึ่งมีลักษณะท่วงทำนองการลำที่ใกล้เคียงกับผญาย่อยหัวดอนตาลของชาวดอนตาล แตกต่างกันเพียงภาษาประจำถิ่น สำเนียง ลีลาในการออกเสียง การเอื้อนเสียงที่สั้นยาวต่างกันไป”
                   ๒) ผ้าฝ้ายย้อมคราม
                       ในบรรดาผ้าฝ้ายพื้นเมืองของอำเภอดอนตาลที่มีหลากหลายนั้น ต้องยอมรับว่าผ้าฝ้ายย้อมครามมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมากที่สุด เพราะเป็นผลิตภัณฑ์พื้นบ้านดั้งเดิมที่มีมาแต่สมัยโบราณ ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพทั้งกรรมวิธีการผลิต/เนื้อผ้า/สีผ้า/อื่น ๆ จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ดีเด่นของอำเภอดอนตาล เนื่องจากเนื้อผ้ามีสีสวยสด ราคาย่อมเยา สวมใส่สบาย จึงมียอดจำหน่ายสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก   




๔. ศักยภาพการพัฒนาอำเภอดอนตาล (SWOT)

          ๔.๑ จุดแข็ง (Strength)
                   - ขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่เกินไป และไม่เล็กเกินไป จึงอยู่ในขีดความสามารถที่จะพัฒนาได้
                   - มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Story to Tell)
                   - ยังเป็นสังคมชนบท (Local Society)  อยู่มาก  วัฒนธรรมเมืองยังไม่แพร่กระจายเข้ามามากนัก
- ประชากรส่วนใหญ่ ร้อยละ ๘๕ อยู่ในภาคการเกษตร ทำให้เหมาะต่อการ
ขยายผลแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- สามารถบูรณาการภารกิจของทุกส่วนราชการเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้
รวมทั้งมี ทีมงานนักปกครองท้องที่ที่เข้มแข็ง
          ๔.๒ จุดอ่อน (Weakness)
                   - สภาพที่ตั้ง (Location) เป็นอำเภอชายแดนติดแม่น้ำโขง ทำให้ง่ายต่อการกระทำผิด กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ยาเสพติด ไม้พะยูง แรงงานต่างด้าวหลบหนี
เข้าเมือง ฯลฯ           
- ประชากรส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้เสี่ยงต่อการ
ขาดทุน
                   - เริ่มมีประชากรจากต่างถิ่นเข้ามากว้านซื้อที่ดินทำสวนยางมากขึ้น จึงมีแนวโน้มสูงที่จะสูญเสียอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตนเอง
          ๔.๓ โอกาส (Opportunity)
                   - สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สอง (มุกดาหาร -
สะหวันนะเขต) ทำให้มีพื้นที่ตลาดเพิ่มมากขึ้น
                   - การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี ๒๕๕๘ ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะตามมา
                   - นโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้จังหวัดมุกดาหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนา



          ๔.๔ ข้อจำกัด (Threaten)
                   - ขาดงบประมาณสนับสนุนการบริหารงานของราชการส่วนภูมิภาค
                   - ส่วนราชการระดับจังหวัดที่ลงมาปฏิบัติงานในพื้นที่ ขาดการบูรณาการร่วมกันทำให้ขาดเอกภาพและพลังในผลสัมฤทธิ์ของงาน
                   - จังหวัดยังให้ความสำคัญกับ Function มากกว่า Area ทั้ง ๆ ที่ Area
เป็นสนามรบ (ขั้นแตกหัก) และเป็นตัวชี้วัด (Indicators) ของจังหวัด

๕. วิสัยทัศน์การพัฒนาอำเภอดอนตาล (Vision)

          มุ่งพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนน่าอยู่ เชื่อมโยงสองฝั่งโขง บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”
         
          ๕.๑ ชุมชนน่าอยู่ หมายถึง ...
                   - ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
                   - ยาเสพติดลดลง จนไม่สามารถส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
                   - ดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                   - ทำเกษตรอินทรีย์/เกษตรผสมผสาน (ลดความเสี่ยง)
                   - อนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ซึ่งเป็น
เอกลักษณ์ของชุมชน เช่น ประเพณีการไหว้เจ้าปู่ดอนตาล – หมอลำผญาย่อยหัวดอนตาล -หัตถกรรมพื้นบ้านต่าง ๆ – ฯลฯ รวมทั้งเผยแพร่ให้สังคมภายนอกได้รับทราบ
                   - มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
                   - ชุมชนเข้มแข็งและมีส่วนร่วมในการพัฒนา
                                      ฯลฯ
          ๕.๒ เชื่อมโยงสองฝั่งโขง หมายถึง การสร้างความเข้าใจอันดีกับ สปป.ลาว ประเทศเพื่อนบ้าน ...
                   - เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร กับ เมืองไซพูทอง แขวงสะหวันนะเขต
                   - บนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างกัน อันจะ นำไปสู่บรรยากาศของความร่วมมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ต่อไป
                   - สะท้อนชีวิตริมสายน้ำของผู้คนสองฝั่งโขง โดยเชื่อมโยงด้วยกิจกรรมทาง
ด้านศาสนา- วัฒนธรรม-กีฬา –การค้าขายระดับท้องถิ่น –ฯลฯ
                   - ยึดหลักมนุษยธรรมและเมตตาธรรม กรณีผู้เจ็บป่วยจาก สปป.ลาว
                    - ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน (๒๒ กิโลเมตร)
         
๕.๓ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Based) หมายถึง คนรุ่นนี้อยู่ได้ คนรุ่นหน้าอยู่ดี
          - คนรุ่นนี้อยู่ได้ คือ การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งมีการสร้างเสริม/ปลูกทดแทน
          - คนรุ่นหน้าอยู่ดี คือ มีทรัพยากรสำหรับใช้ในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้
          - การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน-น้ำ-ป่าไม้)
อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการบริหารจัดการสร้างเสริม/ปลูกทดแทน เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

๖. พันธกิจ (Mission)

          ๖.๑ เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (People
Participation)
          ๖.๒ มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา “สังคมพอดี-เศรษฐกิจพอเพียง-วัฒนธรรมพอเหมาะ-สิ่งแวดล้อมพองาม
          ๖.๓ ขยายผลแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ทั้งนามธรรมและรูปธรรม)
          ๖.๔ อนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ออกสู่สังคมภายนอก
          ๖.๕ พัฒนาระบบบริหารราชการที่ดี (Good Governance)
         
๗. เป้าประสงค์ (Objective)
         
          ๗.๑ อำเภอดอนตาลมั่นคง
          ๗.๒ ประชาชนพออยู่พอกิน
          ๗.๓ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Based)
          ๗.๔ ภายใต้ระบบราชการที่ดี (Good Governance)

๘. ประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategied Issues)

          ๘.๑ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและน่าอยู่
          ๘.๒ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
          ๘.๓ ยุทธศาสตร์การขยายผลแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          ๘.๔ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่น
          ๘.๕ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการที่ดี

๙. กลยุทธ์ (Tactics)
         
          ๙.๑ การส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับทางราชการทุก
กิจกรรม
          ๙.๒ การส่งเสริมให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสิ่งแวดล้อมที่ดี
          ๙.๓ การส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          ๙.๔ การส่งเสริม/สนับสนุนให้มีการอนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นออกสู่สังคมภายนอก
          ๙.๕ การปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนแบบบูรณาการ

๑๐. ตัวชี้วัด (Indicators)

          ๑๐.๑ จำนวนกิจกรรมที่ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับทางราชการเพิ่มขึ้น
                   (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๒ ปัญหายาเสพติดลดลง (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๓ ปัญหาโจรผู้ร้ายลดลง (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๔ ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติลดลง (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๕ จำนวนเกษตรที่ทำการเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น (ร้อยละ ๖๐)
          ๑๐.๖ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๗ ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการเผยแพร่เพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ ๘๐)
          ๑๐.๘ ประชาชนมีความพึงพอใจต่อระบบราชการเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ ๘๐)

๑๑. การวางตำแหน่ง (Position Setting)
         
          “เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์-เป็นถิ่นกำเนิดหมอลำผญาย่อย
           หัวดอนตาล-เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามที่มีชื่อของจังหวัดมุกดาหาร”

๑๒. แนวทางการพัฒนาของอำเภอดอนตาล

          ๑๒.๑ แนวคิด (Concept)
                   ในทางทฤษฎีบอกว่า “การพัฒนา (Development) เป็นเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลง” (Change) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี และต้องนำไปสู่สิ่งที่ทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีขึ้น ไม่ใช่เป็นการไล่ตามแก้ปัญหา เงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาคือ “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งต้องมีทั้งในเชิงปริมาณ (Quantity) และเชิงคุณภาพ (Quality) โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ ความเป็นสังคมที่ทันสมัย (Modernization)
                   “การพัฒนา” จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง (Stage of Change)
๑)    มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (Gradually)
๒)    เป็นการค่อยสะสม (Commulativity)
๓)    เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (Irreversibly) เช่นหลักการของ Darwin
จะบอกว่า ทุกสิ่งจะมีการสะสมและค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งแนวคิดของเขาในทาง Biology ก็จะเข้ามาสู่วิธีคิดในทาง Political Science หรือ Social Science
๔)    ต้องมีทิศทาง (Directional)
๕)    ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ (Natural) และไม่ควรฝืนธรรมชาติ อะไรที่ฝืน
ธรรมชาติจะนำไปสู่วิกฤต
๖)    จะต้องมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงไปเรื่อย ๆ (Continuity)
๗)    เป็นเรื่องที่จำเป็น (Necessary)
๑๒.๒ แนวทางของอำเภอดอนตาล
๑)    น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้จากศูนย์การศึกษา
พัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาเป็นแนวทางในการปรับแนวคิดและปรับวิถีชีวิต


๒)    การพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ต้อง...
เปลี่ยนทัศนะ   – เปลี่ยนอนาคต
                              เปลี่ยนความคิด – เปลี่ยนชีวิต
                    จับปลาให้เขา – มีกินชั่วคราว (Give a man a fish and he eats for a day)
                    สอนเขาจับปลา – มีกินชั่วชีวา (Teach a man to fish and he eats for life)
          ๑๒.๓ จากหลักคิดสู่หลักทำ (Think to Do)
                    ดังนั้น แนวทางการพัฒนาของอำเภอดอนตาลนั้น ...
๑)    จะไม่เน้นการแก้ไขปัญหาความยากจนแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการ
พัฒนา “คน+ชุมชน” ควบคู่กันไปด้วย จะไม่เน้นด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะผนวกด้านอื่น ๆ เข้าไปด้วย เช่น สังคม-วัฒนธรรม-ค่านิยม-วิถีชีวิต-แผนชุมชน –ฯลฯ
๒)    ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต พออยู่-พอกิน, ทำมาหาเก็บ-ไม่ใช่ทำ
มาหากิน ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน (จับปลาให้เขา มีกินชั่วคราว- สอนเขาจับปลา มีกินชั่วชีวา)
๓)    โดยยึดหลักการที่ว่า...
ถึงแม้รายได้ไม่เพิ่ม   -   แต่ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสบาย
 กินทุกอย่างที่ผลิตได้  -   ผลิตทุกอย่างที่กินได้

๑๓. Roadmap การพัฒนาอำเภอดอนตาล

          สำหรับแนวทางในการพัฒนาอำเภอดอนตาลนั้น จะมีกรอบแนวคิด (Concept)
หลัก ๆ อยู่ ๒ ส่วน คือ
          ๑๓.๑ วิสัยทัศน์อำเภอดอนตาล
                   “ชุมชนน่าอยู่ เชื่อมโยงสองฝั่งโขง บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”
                        (รายละเอียดกล่าวถึงแล้ว)
          ๑๓.๒ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Self-Sufficiency Economy)
                   คือ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร มาเป็นแนวทางในการพัฒนา ซึ่งจะเป็นการปรับทั้งแนวคิดและปรับวิถีชีวิตของเกษตรพร้อม ๆ กันไปทั้ง ๒ ด้าน คือ
๑)    ปรับแนวคิด ก็คือ การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึด
ทางสายกลางหรือที่ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” เพื่อพัฒนาไปสู่จุดที่เรียกว่า “พออยู่ พอกิน”
๒)    ปรับวิถีชีวิต ก็คือ การนำองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
อันเนื่องมาจากพระราชดำริมาปรับใช้ในการทำการเกษตร โดยเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์-ทำเกษตรหลายเชิง เพื่อลดการขาดทุนซึ่งจะช่วยให้เกิดการลดรายจ่าย-มีรายได้เพิ่มขึ้น-สิ่งแวดล้อมดีขึ้น-มีชีวิตยืนยาวขึ้น และท้ายที่สุดก็จะทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นในที่สุด

                       
๑๔. ตัวแบบที่ประสบผลสำเร็จ (Best Practice)

          “นายประสิทธิ์ โนรี” เกษตรกรตัวอย่างผู้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตในครอบครัวจนประสบผลสำเร็จ โดยการทำ “เกษตรอินทรีย์” (Organism Agriculture) เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ทำ “เกษตรหลายเชิง” เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการ “พออยู่-พอกิน” จนได้รับสมญาว่า “ปราชญ์ชาวบ้านแห่งอำเภอดอนตาล” โดยมีคติในการดำเนินชีวิตที่ว่า ...
                   “ปลูกทุกอย่างที่กินได้                     กินทุกอย่างที่ปลูกได้
                     เหลือกินแล้วขาย                        แจกจ่ายเพื่อนบ้าน
                     ปลูกผักอินทรีย์                           รายได้ดีมีเงินออม
                     ตื่นเช้าได้งานหลาย                      ตื่นสายได้งานน้อย”

          หากบุคคลใด/กลุ่มบุคคลใด ที่ประสงค์จะเข้ามาศึกษาดูงานหรือต้องการศึกษาแนวคิด/แนวทางในการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็ขอให้ติดต่อโดยตรงกับนายประสิทธิ์ โนรี บ้านเลขที่ ๑๒๔ หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนตาล อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ๐๘๗-๒๑๓๒๘๑๓

*************************************



                                                                        สันธาน   สร้อยสำโรง
   นายอำเภอดอนตาล

 ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร