ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การพัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนา

การพัฒนาจิตตามหลักพระพุทธศาสนา


วิธีการอบรมจิตที่เข้าใจกันแม้ในสมัยก่อนพุทธกาลและสมัยพุทธกาลถือว่า เป็นการแสวงหาแนวทางให้เข้าถึงวามพ้นทุกข์ตามวิถีชีวิตของคนอินเดียที่แบ่งชีวิตออกเป็น ๔ ขั้นตอนตามปรัชญาชีวิตของคนอินเดียสมัยโน้น คือ
)ขั้นตอนแห่งพรหมจรรย์ เป็นขั้นตอนแห่งชีวิตที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนแสวงหาความรู้ใส่ตัวเมื่ออยู่ในวัยเยาว์
)ขั้นตอนแห่งคฤหัสถ์ เป็นขั้นตอนแห่งการครองเรือนเมื่อจบการศึกษาเล่าเรียนแล้วจะต้องครองตนเป็นชาวบ้าน แสวงหาทรัพย์สมบัติ มีคู่ครอง และดำรงตนตามทำนองคลองธรรม
)ขั้นตอนแห่งวนปรัสถ์ เป็นขั้นตอนแห่งการเกษียณอายุจากการทำงานและหันเหชีวิตของตนไปสู่การเตรียมตัวที่จะออกจากการมีชีวิตแบบโลกๆไปสู่การมีชีวิตนักบวช และ
)ขั้นตอนแห่งสันยาสี เป็นขั้นตอนแห่งการสละโลกแห่งโลกียวิสัยไปเป็นนักบวชบำเพ็ญพรตอยู่ตามถ้ำในป่าเขาลำเนาไพร
เจ้าชายสิทธัตถะครั้งยังทรงพระเยาว์พระราชบิดาเสด็จไปทรงประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รับสั่งให้เชิญพระราชโอรสไปในพระราชพิธีนั้นด้วย ณ ที่ใกล้ที่ประกอบพระราชพิธีนั้นมีต้นหว้าใหญ่มีร่มเงาเย็นร่มรื่นจึงให้ตกแต่งสถานที่ภายใต้ร่มชมพูพฤกษ์ให้เรียบร้อยแล้วเชิญพระราชกุมารให้ประทับ ณ ภายใต้ต้นไม้หว้าใหญ่นั้น ให้ราชบุรุษเฝ้าถวายอารักขา และพระพี่เลี้ยงเฝ้าบริบาลอยู่ ฝ่ายพระเจ้า สุทโธทนะก็ได้เสด็จไปสู่ที่ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญ ขณะนั้นพระพี่เลี้ยงนางนม ทั้งหลายได้ชวนกันไปชมพระราชพิธี ฝ่ายพระกุมารประทับนั่งอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว จึงประทับนั่งขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกรรมฐานจนได้บรรลุปฐมฌาน
เมื่อเสด็จออกผนวชแล้วได้ทรงไปขอฝากพระองค์เป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตรศึกษาและปฏิบัติในสำนักนี้จนได้บรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๓ แต่ไม่ทรงพอพระทัย เพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ และแล้วได้เสด็จเข้าศึกษาและปฏิบัติในสำนักของอุทกดาบส รามบุตร ได้บรรลุอรูปฌานที่ ๔ แต่ก็หาได้เป็นที่พอพระทัยของพระองค์ไม่ เพราะทรงตั้งพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุคุณวิเศษยิ่งกว่านั้น จึงทรงลาดาบสทั้งสองออกเสด็จจาริกไปจนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้ทอดพระเนตรเห็นพื้นที่ร่มรื่น แนวป่าไม้เขียวสดเป็นที่เบิกบานพระทัยยิ่งนัก มีแม่น้ำใสสะอาดไหลผ่านมีท่าอันดีน่ารื่นรมย์ หมู่บ้านที่เป็นที่อาศัยให้ได้มาซึ่งบิณฑบาตก็มีอยู่โดยรอบ ทรงพิจารณาเห็นว่า ภูมิประเทศนั้นสมควรเป็นที่สำหรับบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร จึงทรงประทับ ณ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างเคร่งครัดตามความนิยมที่นักบวชสมัยนั้นปฏิบัติสืบต่อกันมา พระองค์ทรงกระทำการลองผิดลองถูกอยู่เป็นเวลานานถึง ๖ ปี ก็หาได้บรรลุคุณวิเศษใด ๆ ไม่
ธุระในพระพุทธศาสนา ๒ ประการ
การศึกษาธรรมะอันเป็นคำสอนในทางพระพุทธศาสนาซึ่งได้แก่การแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ มีอยู่ ๒ วิธี คือ
. คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์จนจำได้ แสดงได้ บอกได้ สอนได้ ตามสมควรแก่สติปัญญาของตน ๆ อันเป็นภาคปริยัติ เปรียบเสมือนการเรียนแผนที่ หรือเรียนตำรายา เรียนตำราทำกับข้าวแต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ๆ
.วิปัสสนาธุระ ได้แก่การปฏิบัติตามทฤษฎีที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมา เพื่อให้เกิดปฏิเวธ(การรู้แจ้งแทงตลอด)จำแนกเป็น ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐาน ได้แก่การฝึกจิตให้มีสมาธิ (ความสงบ ความมีจิตใจแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง) สมถกรรมฐานมีอารมณ์(สิ่งที่จิตใจเข้าไปยึดไว้) ๔๐ อย่าง คือ
. กสิณ คือ วัตถุอันจูงใจให้เกิดสมาธิมี ๑๐ อย่าง
. อสุภะ คือสภาพที่ไม่งาม ในที่นี่หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ มี ๑๐ อย่าง
. อนุสติ ได้แก่อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆมี ๑๐ อย่าง
. พรหมวิหาร คือ ธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี ๔ อย่าง อรูป คือ ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ อย่าง
อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือ ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล มี ๑ อย่าง และ
จตุธาตุววัตถาน คือ การกำหนดธาตุสี่ ได้แก่พิจารณาแยกแยะร่างกายออกให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ที่จัดเข้าในธาตุสี่(ดิน น้ำ ลม และไฟ) มี ๑ อย่าง
วิธีปฏิบัติถมถกรรมฐาน คือ การนำเอาอารมณ์เพียง ๑ อย่างใน ๔๐ อย่าง ที่เหมาะสมกับจริตของตนมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ เช่น เอาดินซึ่งเป็นหนึ่งในกสิณ ๑๐ อย่างมาเป็นอารมณ์ จะต้องปฏิบัติดังนี้ นำเอาดินสีแดงล้วนมาทาลงบนแผ่นผ้าให้หนาทำหน้าดินให้ราบเรียบอย่าให้มีวัตถุใดๆ ปรากฏอยู่บนหน้าดินนั้น ตกแต่งให้ดีอย่าให้มีรอยแตกร้าว ทำเป็นวงกลมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว นำมาเพ่งในที่อยู่ของตน หรือในภายนอกที่ใด ที่หนึ่งซึ่งมีความสงัดปราศจากสิ่งรบกวนก็ได้ และผู้ปฏิบัติจะต้องนั่งอยู่บนที่สูงจากพื้น ๑ คืบ ๔ นิ้ว โดยวางวัตถุที่เป็นดวงกสิณนี้ไว้ห่างจากที่นั่ง ๒ ศอก ๑ คืบและอยู่ในระดับสายตาพอดีไม่ให้ก้มไม่ให้เงย เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว หลับตาพิจารณาถึงโทษของกามคุณ และพิจารณาถึงคุณของการไม่เกี่ยวข้องด้วยกามคุณพอสมควรแล้ว ให้ค่อย ๆ ลืมตาขึ้นจ้องดูดินสีแดงรูปวงกลมซึ่งปรากฏอยู่ต่อหน้านั้น แล้วหลับตาลงอีก พร้อมกับภาวนาในใจว่าดินๆๆๆๆสักครู่แล้วลืมตาจ้องดูดินอีก และหลับตาพร้อมกับภาวนาในใจว่าดินๆๆๆๆทำอยู่อย่างนั้นหลาย ๆ ครั้ง จนรูปวงกลมดินสีแดงปรากฏในตาเรา เหมือนกับมองดูด้วยตาจริง ๆ แล้วให้เลิกหลับตา และเก็บวงกลมดินนั้นเสีย ส่วนตัวผู้ปฏิบัติอาจจะนั่งในที่เดิมหรือจะย้ายไปนั่ง ณ สถานที่ที่มีความสงบอื่นใดก็ได้ นั่งหลับตานึกดูภาพวงกลมดินสีแดงนั้นพร้อมกับภาวนาในใจว่าดินๆๆๆๆอย่างนี้เรื่อยไป จนจิตมั่นคง เป็นอุปจารสมาธิโดยลำดับ วงกลมดินที่เห็นติดตาเรานั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต (นิมิตติดตา) ผู้ปฏิบัติจะต้องหลับตาจ้องดูรูปภาพวงกลมดินนั้นพร้อมกับภาวนาไปเรื่อย ๆ จนมีภาพวงกลมดินสีแดง ปรากฏเห็นชัดกว่าเดิมมาก มีลักษณะผ่องใสเหมือนพระจันทร์เต็มดวงที่ไม่มีเมฆบดบัง ลักษณะที่ปรากฏชัดเช่นนี้ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเทียบเคียง) เมื่อมีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้น นั้นแสดงว่า นิวรณ์ ๕ อย่าง คือ ๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) .พยาบาท (ความปองร้ายผู้อื่น) .ถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน) . อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและรำคาญ) . วิจิกิจฉา (ความสงสัย) ที่อยู่ในใจเราได้สงบลงแล้ว เพราะจิตที่ตั้งมั่นด้วยอำนาจของอุปจารสมาธิ จนเลื่อนขึ้นไปสู่อัปปนาสมาธิอันนับได้ว่าเป็นปฐมฌาน ซึ่งมีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก(การปักจิตลงสู่อารมณ์) วิจาร(การพิจารณาอารมณ์) ปีติ(ความเอิบอิ่มใจ) สุข(ความสบาย) และเอกัคคตา(ความมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว) และสามารถพัฒนาไปถึงขั้นละองค์ของฌานที่ ๑ แล้วเข้าสู่ฌานที่มีระดับสูงขึ้นไปจนกระทั่งได้บรรลุอรูปฌาน(ฌานที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์)๖ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของสมถกรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่อุบายหรือวิธีการทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงตรงต่อสภาวะของมัน คือเข้าใจตามความเป็นจริง จนถอนความหลงผิด รู้ผิดได้ ถึงขั้นที่ต้องเปลี่ยนท่าทีต่อโลกและชีวิตเสียใหม่ ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องซึ่งเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างการปฏิบัตินั้นเรียกว่า ญาณ(วิปัสสนาปัญญา) สุดท้ายญาณนี้ เรียกว่า วิชชา(ความรู้)ภาวะที่จิตมีความรู้แจ้ง เป็นภาวะที่สงบสุขผ่องใสและเป็นอิสระจากกิเลส ซึ่งเป็นภาวะตรงข้ามกับอวิชชา(ความไม่รู้) คือ ความหลงผิดไม่รู้แจ้ง๗ อันเป็นจุดหมายปลายทางของวิปัสสนากรรมฐาน
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คือ การนำรูปและนามมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องมีสติคอยกำหนดตามอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน เช่น ขณะยืนอยู่ให้กำหนดรูปยืนทั้งหมด ไม่ใช่ส่วนขา ส่วนหัว ส่วนตัว หรือ ส่วนแขนยืนอยู่ ให้ภาวนาว่ายืนหนอๆจนกว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ อย่าเผลอให้สติออกนอกกาย ให้สติจับอยู่ที่รูปและนาม ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้รูปและนามปรากฏชัด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร แม้ในอิริยาบถอื่น เช่น เดิน นั่ง นอน ก็ต้องมีสติอยู่กับอิริยาบถนั้นๆ หากเผลอเมื่อไรก็เป็นอันสติหลุดจากปัจจุบันอารมณ์ทันที หากมีเวทนาไม่ว่าจะเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย ๆ ก็ให้มีสติอยู่กับเวทนาชนิดนั้น ๆ และเวทนาเหล่านี้จะปรากฏชัดในเวลาที่มีสมาธิมากเท่านั้น หากแต่ว่า ความรู้สึกวางเฉยจะไม่ปรากฏชัดเมื่อแรกเริ่มปฏิบัติ แต่จะปรากฏชัดหลังจากที่บรรลุถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ห้า คือ ภังคญาณแล้ว และ มักเกิดในอิริยาบถนั่ง (กรรมฐาน) เมื่อจิตมีราคะ โทสะ และโมหะเข้าครอบงำ ก็พึงกำหนดรู้ว่า จิตมีราคะ มีโทสะ และมีโมหะ เช่นราคะหนอๆเป็นต้น ที่เราต้องมีสติกำหนดรู้ให้ทันตามความเป็นจริงเมื่อจิตมีสมาธิ จะทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถจับความรู้สึก (จิต) มีราคะนั้นได้ และแล้วจิตมีราคะนั้นก็จะหายไปเอง หากจิตฟุ้งผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้อาการฟุ้งอย่างรวดเร็ว และทันท่วงทีที่มีความฟุ้งเกิดขึ้น พร้อมกับกำหนดรู้จิตฟุ้งนั้นว่าฟุ้งหนอๆการกำหนดนี้จะช่วยให้รู้ตัวมากขึ้นจนสามารถรู้เท่าทันอาการฟุ้งได้อย่างทันท่วงที
เมื่อเข้าใจรูปและนามเป็นอย่างดีแล้ว จะรู้สึกต่อรูปและนามว่าไม่มีเรา ไม่มีเขา ความรู้สึกเช่นนี้จัดว่าเป็นการกำจัดสักกายทิฏฐิได้แล้ว ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวเรา หรือไม่มีของเรา แล้วปัญญาจะประจักษ์ว่ารูปที่เห็นและจิต(นาม)ที่ตามรู้ว่าเห็นนั้นเป็นคนละส่วนกัน จากนั้นปัญญาจะรู้แจ้งการเกิดดับอย่างรวดเร็วของอาการเห็น (รูป) และจิต(นาม) ที่ตามรู้อาการเห็น ปัญญาที่เกิดนี้ได้รู้แจ้งพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตาของสภาวธรรมเหล่านั้น

ความแตกต่างระหว่างสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐาน จะต้องมีการเลือกอารมณ์ให้เหมาะสมกับจริตของผู้ปฏิบัติแต่ละบุคคล
คือ
. คนมีราคจริต เป็นคนที่มีนิสัยหนักไปในทางรักสวยรักงาม จะต้องเจริญกรรมฐาน ๑๑ อย่าง คือ อสุภะ ๑๐ อย่าง และ กายคตาสติ คือ มีสติอยู่กับกายให้เห็นตามสภาพที่เป็นส่วนประกอบซึ่งล้วนแต่เป็นของไม่สะอาดอีก ๑ อย่าง
.คนมีโทสจริต ได้แก่คนที่มีนิสัยหนักไปในทางโทสะ เช่น หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย จะต้องเจริญกรรมฐาน ๘ อย่าง คือ อัปปมัญญา๔(ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ หมายถึง เมตตา คือ ความต้องการอยากให้เขามีสุข กรุณา คือ ความสงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา คือ ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี และอุเบกขา คือ การวางใจเป็นกลาง) และ วัณณกสิณ ๔ (กสิณที่มีสี ซึ่งมีสีเขียว สีเหลือง สีแดง และสีขาว)
.คนมีโมหจริต ได้แก่คนที่มีนิสัยหนักไปในทางโมหะโง่เขลา งมงาย และคนมีวตักกจริต ได้แก่คนที่มีนิสัยหนักไปในทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน จะต้องเจริญอานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก)
.คนมีสัทธาจริตได้แก่คนที่มีนิสัยหนักไปในทางศรัทธา เชื่อง่าย จะต้องเจริญอนุสสติ(อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆ) ๖ อย่าง คือ ๑)พุทธานุสสติ คือ การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ๒)ธัมมานุสสติ คือการระลึกถึงพระคุณของพระธรรม ๓)สังฆานุสติ คือ การระลึกถึงพระคุณของพระสงฆ์ ๔)สีลานุสสติ คือ การระลึกถึงคุณของศีล ๕)จาคานุสสติ คือ การระลึกถึงการบริจาค และ๖)เทวดานุสสติ คือ ระลึกถึงเทวดา
.คนมีพุทธิจริต ได้แก่คนที่มีนิสัยหนักไปในทางความรู้ มักใช้ความคิด) จะต้องเจริญเจริญกรรมฐาน ๔ อย่าง คือ ๑)มรณานุสสติ คือ การระลึกถึงความตาย ๒)อุปสมานุสสติ คือ การระลึกถึงความสงบ ๓)อาหเรปฏิกูลสัญญา คือ ความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูล ๔)จตุธาตุววัตถาน คือ การกำหนดธาตุ ๔
กรรมฐานที่เหลือนอกจากนี้ ๑๐ อย่างคือ ปฐวี(ดิน) อาโป(น้ำ) เตโช(ไฟ) วาโย(ลม) อากาสะ(อากาศ) อาโลกะ(ช่องว่าง) และอรูปกรรมฐาน(กรรมฐานที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์)อีก ๔ อย่าง เป็นที่สบายแก่จริตทั้งปวง
สมถกรรมฐาน มีบัญญัติเป็นอารมณ์ คำว่า บัญญัติ ได้แก่ชื่อต่าง ๆ ที่คนสมมติไว้ ตั้งชื่อไว้ ให้รับรู้กันเป็นรูปพรรณสัณฐาน ทำให้เกิดความเห็นว่าเป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นบุรุษ เป็นสตรี ฯลฯ บังคับบัญชาได้ อารมณ์ของสมถกรรมฐานล้วนแต่เป็นบัญญัติที่ต้องเพ่งโดยไม่ย้ายอารมณ์ จิตของผู้ปฏิบัติจะต้องจดจ่ออยู่กับอารมณ์อย่างจดจ่อและต่อเนื่อง ไม่สนใจอารมณ์อื่นที่เกิดขึ้นมาแทรก หากย้ายอารมณ์ไปก็เป็นอันเสียสมาธิ
สมถกรรมฐาน มีเป้าหมายอยู่ที่การทำจิตให้สงบแน่วแน่ จนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า ฌาน(ภาวะของจิตที่สงบ ประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรม)ขั้นต่างๆ การทำจิตให้แนบแน่นอยู่กับสิ่งที่กำหนดนั้นๆ จนมีความพร้อม อยู่ในตัวของมันเองที่จะใช้ปฏิบัติการต่าง ๆ ในกิจที่พึงประสงค์อย่างได้ผลดีที่สุด และในสภาพของจิตเช่นนี้ กิเลสอาสวะต่างๆ ซึ่งตามปกติ จะบีบคั้นรบกวนจิตให้ฟุ้งซ่านพล่านอยู่ ก็จะถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในขอบเขตจำกัดเหมือนผงธุลีที่ตกตะกอนอยู่ใต้น้ำในเวลาน้ำนิ่ง และสามารถมองผ่านน้ำลงไปเห็นได้อย่างชัดเจนเพราะน้ำใสและนิ่ง จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับขั้นต่อไปที่จะใช้ปัญญากำจัดตะกอนเหล่าให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ในชั้นนี้นับได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน
วิปัสสนากรรมฐาน มีปรมัตถ์ (รูปและนาม) เป็นอารมณ์ มีเป้าหมายอยู่ที่ปัญญาความรู้แจ้ง ผู้ปฏิบัติต้องตั้งสติกำหนดรู้ทุกอารมณ์รูปและนาม อาการต่างๆ เช่น อาการเคลื่อนไหวของกาย ความเจ็บปวด ความสุขสบาย ความคิดนึก การเห็น การได้ยิน อารมณ์ใดปรากฏชัดก็ต้องตั้งสติกำหนดอารมณ์นั้น โดยปล่อยให้จิตเป็นผู้เลือกที่จะอยู่กับอารมณ์ใด ๆ ก็ได้ ผู้ปฏิบัติจะกำหนดอารมณ์ที่จิตเลือกแล้วเท่านั้น คำว่า ปรมัตถ์ ได้แก่ สภาวธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตน ไม่แปรปรวน ไม่เปลี่ยนแปลงไปตาม
กาลเวลา สถานที่ หรือบุคคล (ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด) สภาวธรรมนี้ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคต ในเทวโลก หรือในพรหมโลก ก็มีลักษณะเฉพาะอยู่เช่นนี้ คือ ธาตุดินมีลักษณะแข็ง-อ่อน หนัก-เบา ธาตุน้ำมีลักษณะไหลเกาะกุม ธาตุไฟมีลักษณะร้อน- เย็น ธาตุลมมีลักษณะหย่อนตึง เคลื่อนไหว ส่วนจิตมีลักษณะรับรู้อารมณ์ผ่านทางทวารทั้ง ๖ ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะคงที่เฉพาะตัวไม่เปลี่ยนแปลง ดังเช่นไฟมีลักษณะร้อน ไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นความร้อนของไฟ
ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้น เบื้องต้นเมื่อยืนก็ต้องตั้งสติกำหนดการยืน เมื่อเดินจงกรมก็ต้องตั้งสติกำหนดการเดิน ซ้ายย่าง ขวาย่าง เมื่อนั่งก็ต้องตั้งสติกำหนดการพอง-ยุบของท้อง คนส่วนมากจึงมีความสงสัยว่า การกำหนดอย่างนี้ก็คือการกำหนดบัญญัตินั้นเอง เมื่อกำหนดบัญญัติอยู่เช่นนี้จะได้ชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้อย่างไร? คำตอบในเรื่องนี้ คือ ในตอนต้นของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานผู้ปฏิบัติจะต้องกำหนดอารมณ์บัญญัติไปก่อนทั้งนี้เพื่อให้จิตสงบเป็น ขณิก สมาธิ (ต้องเป็นขณิกสมาธิเท่านั้น) ซึ่งเหมาะที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป ไม่เช่นนั้นแล้วจิตจะไม่มีที่กำหนดเพราะปรมัตถภาวะเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก เมื่อภาวนาปัญญาแก่กล้าแล้ว อารมณ์บัญญัติจะหายไปเอง คงเหลือแต่ปรมัตถภาวะล้วน ๆ หากบัญญัติยังไม่หายไปตราบใด ก็ยังเป็นการเจริญสมถกรรมฐานอยู่ตราบนั้น
วิปัสสนากรรมฐาน มีเป้าหมายอยู่ที่การบรรลุปัญญาญาณ ดังนั้น จึงต้องใช้องค์ประกอบของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๓ ประการ คือ อาตาปี คือ ความเพียรเพื่อเผากิเลส สติมา คือ ความระลึกได้ สัมปชาโน คือ ความรู้ตัวทั่วพร้อม และใช้พละทั้ง ๕ อย่าง คือ สัทธาพละ ปัญญาพละ สมาธิพละ วิริยพละ และสติพละมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติด้วย ในบรรดาพละทั้ง ๕ นี้ สัทธาพละกับปัญญาพละ สมาธิพละกับวิริยพละ ต้องมีพลังเสมอกัน ส่วนสติพละ อย่างเดียวเท่านั้นยิ่งมีพลังมากยิ่งเป็นผลดีต่อการปฏิบัติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดปัญญาที่เรียกว่า ญาณ
ประโยชน์ของการฝึกจิต
การฝึกจิตนั้น มีคุณค่าต่อชีวิตมาก เพราะทำตนให้เป็นผู้ประเสริฐ ดังนั้น ผู้ที่ฝึกจิตได้ถูกต้อง
แม้เพียงขั้นสมาธิก็ย่อมได้รับประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

1. ถ้าเป็นนักเรียนนักศึกษาก็สามารถเรียนหนังสือได้ผลดีเพิ่มขึ้น ได้คะแนนสูง เพราะมีจิตใจสงบ จึงทำให้แม่นยำและดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
2. ทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ค่อยผิดพลาด เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น
3. สามารถทำงานได้มากขึ้น และได้ผลดีอย่างมีประสิทธิภาพ
4. ทำให้โรคภัยไข้เจ็บบางอย่างหายไปได้
5. ทำให้เป็นคนมีอารมณ์เยือกเย็น มีความสุขใจได้มาก มีผิวพรรณผ่องใส มีจิตใจเบิกบาน และมีอายุยืน
6. ทำให้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุข เช่นถ้าอยู่ในโรงเรียนก็ทำให้เพื่อนๆ และครูพลอยได้รับความสุข ถ้าหากอยู่ในบ้านก็ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ถ้าอยู่ในที่ทำงานก็ทำให้เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาพลอยได้รับความสุขไปด้วย
7. สามารถเผชิญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างใจเย็น รวมทั้ง สามารถแก้ไขความยุ่งยาก และความเดือดร้อนวุ่นวายในชีวิตได้ด้วยวิธีอันถูกต้อง
8. สามารถกำจัดนิวรณ์ที่รบกวนจิตลงได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เบาบางลงได้
9. ถ้าทำได้ถึงขั้นสูงก็ย่อมได้รับความสุขอันเลิศยิ่ง และอาจสามารถได้อำนาจจิตที่พิเศษ เช่น รู้ใจคนอื่น เป็นต้น
10. ทำให้เป็นพื้นฐานโดยตรงในการเจริญวิปัสสนา
วิธีฝึกจิตเบื้องต้น
ในที่นี้ จะนำวิธีฝึกอานาปานสติมากล่าวไว้แต่โดยย่อ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับท่านผู้สนใจจะได้นำไปใช้ได้โดยสะดวก ขั้นเตรียมการก่อนลงมือปฏิบัติ ผู้ฝึกจิตตามหลักพระพุทธศาสนาในเบื้องต้นจะต้องทำสิ่งดังต่อไปนี้
1. สมาทานศีล การสมาทานศีลนี้ อย่างน้อยให้สมาทานศีล 5 โดยขอรับศีลจากภิกษุสามเณรก็ได้หรือตั้งวิรัติ คืองดเว้นเอาด้วยตนเองก็ได้ ถ้าหากข้อใดขาดก็อธิฐานงดเว้นเอาเองใหม่ ก็เป็นผู้มีศีลขึ้นตามเดิม เพราะศีลเป็นรากฐานสำคัญมากในการทำสมาธิ
2. ระลึกถึงคุณรัตนตรัย คือ ให้ประณมมือขึ้นแล้วตั้งจิตน้อมระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ยึดถือเป็นที่พึ่งที่ระลึก
3. แผ่เมตตา คือ แผ่ความปรารถนาดีไปยังมนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก โดยปรารถนาให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงปราศจากทุกข์และเป็นสุขโดยทั่วกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ปลอดภัยจากศัตรู และจากการพยาบาทจองเวร
4. ตัดกังวล คือ เมื่อเริ่มทำสมาธินั้น ให้ตัดความกังวลต่างๆ ออกเสีย เช่น กังวลเรื่องงาน การเรียน ญาติพี่น้อง และอื่นๆ ให้ออกไปจากใจเสียชั่วคราว ในเวลาที่เราทำสมาธิไม่คิดถึงเรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่คิดถึงเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ให้คิดถึงปัจจุบัน คือ อารมณ์ของกรรมฐานเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือ ลมหายใจเข้า-ออก จะกำหนดนั่งสักที่นาที เช่น 10 นาที 15 นาที หรือ 30 นาที ก็ขอให้ตัดความกังวลใจต่างๆ ออกไปตามกำหนดเวลานั้น โดยตั้งจิตอธิษฐานว่าจะคิดถึงอารมณ์ในปัจจุบันคือ ลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ใจลอย ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในขณะทำสมาธิ
5. กำหนดเวลาในการฝึก เวลาในการฝึกสมาธิที่ดีที่สุดก็คือเวลาก่อนนอน หลังจากไหว้พระสวดมนต์แล้ว หรือเวลาตื่นนอน โดยใช้เวลาในการทำสมาธิแต่ละครั้ง 20-30 นาที ถ้าทำได้วันละ 2 ครั้ง ก็จะดีมาก แต่ถ้าทำในห้องเรียนหรือในห้องฝึกสมาธิ สำหรับนักเรียนแล้วควรใช้เวลาอย่างน้อย 10-15 นาที ในการฝึกแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการลงมือฝึกจิต
1. การนั่ง การนั่งสมาธินั้นจะนั่งบนพื้น หรือบนเก้าอี้ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกกับสถานที่นั้นๆ หรือความนัดของแต่ละคน แต่สำหรับนักเรียนที่ฝึกในห้องเรียนก็ควรนั่งเก้าอี้ เพราะห้องเรียนอำนวยและการนั่งเก้าอี้ก็สะดวกกว่าการนั่งกับพื้นสำหรับผู้ฝึกใหม่ แต่อย่าพิงพนักเก้าอี้ เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย
ถ้านั่งกับพื้น ผู้ชายนั่งขัดสมาธิ ผู้หญิงนั่งพับเพียบก็ได้ หรือจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ตามแต่ถนัด โดยให้นั่งเหมือนพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ นั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย เอามือขวาทับมือซ้ายนั่งตัวตรง เพื่อให้ลมหายใจเดินสะดวก กำหนดสติไว้ให้มั่นคงเพราะสติจำเป็นอย่างที่สุดในการทำสมาธิ ควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในภายนอก พร้อมกับมีคำบริกรรมกำกับเพื่อให้ใจมีเครื่องยึด คือ ภาวนาว่า พุทธ เมื่อหายใจเข้า และภาวนาว่า โธ เมื่อหายใจออก การนั่งควรหลับตาเพื่อป้องกันไม่ให้จิตฟุ้งซ่านออกไปทางตา แต่ถ้าผู้ใดนั่งหลับตามักจะง่วง ก็ให้นั่งลืมตามองเฉพาะที่ปลายจมูกของตนจนไม่เห็นสิ่งอื่น จะเห็นหรือไม่เห็นอะไรก็ตาม ขอให้จ้องมองเท่านั้น พอชินเข้าจะได้ผลดีกว่าหลับตา ทำไปเรื่อยๆ จนตาหลับไปเอง

2. กำหนดลมหายใจ การกำหนดลมหายใจนั้น ให้ทำตามลำดับขั้น ดังนี้

2.1 ขั้นวิ่งตามลม คือ เมื่อเริ่มกำหนดลมหายใจ ก็สูดลมหายใจเข้าให้แรงจนเต็มปอดประมาณ 3 ครั้ง เพื่อจะกำหนดการเข้า-ออกได้สะดวก ต่อจากนั้นก็ปล่อยลมหายใจเข้า-ออกตามสบาย อย่าบังคับลมหายใจ ปล่อยให้เข้าออกตามธรรมชาติ ทำใจให้สบาย เข้าก็ให้เข้าก็รู้ว่าเข้า ออกก็ให้รู้ว่าออก ยาวก็ให้รู้ว่ายาว สั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ดึงไปดึงมาเหมือนคนเลื่อยไม้ อย่าเกร็งตัว หายใจเข้าพร้อมกับภาวนาว่า "พุท" หายใจออกพร้อมกับภาวนาว่า "โธ" โดยส่งใจกำหนดวิ่งตามลมไปตามจุดกำหนดทั้ง 3 จุด คือ ปลายจมูก 1 ท่ามกลางอก 1 ที่ท้อง 1 ปลายจมูกเป็นต้นลมของลมหายใจเข้า กลางอกเป็นท่ามกลาง ท้องเป็นที่สุดของลมออก ท้องเป็นต้นของลมหายใจออก กลางอกเป็นท่ามกลาง ปลายจมูกเป็นที่สุดของลมหายใจออก หรือกำหนดเพียง 2 จุดก็ได้ คือ ปลายจมูกกับที่ท้อง แล้วติดตามลมไปจนสุดปลายทั้ง 2 คอยระวังใจ (สติ) ให้จับอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ให้เหมือนคนไกวเปลเฝ้าดูเด็ก ต้องคอยจ้องตามเปลที่แกว่งไปสุดข้างทั้ง 2 แต่ละข้าง เพื่อคอยดูไม่ให้เด็กดิ้นหลุดตกลงมาจากเปลและเพื่อให้หลับในที่สุด
ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกันต้องคอยควบคุมจิตใจไม่ให้ดิ้นไปข้างนอก และคอยควบคุมให้มันสงบลงในที่สุดด้วย โดยใช้เปลคือลมหายใจเป็นเครื่องกล่อม เมื่อสามารตามลมได้ตลอดเวลาจนจิตไม่ฟุ้งซ่านออกไปข้างนอกแล้ว ก็ชื่อว่าทำสำเร็จในขั้นที่หนึ่ง
2.2 ขั้นกำหนดอยู่ที่จุดแห่งหนึ่ง เมื่อกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยคอยตามลมไปจนจิตไม่ฟุ้งซ่านไปภายนอกแล้ว ก็ให้เปลี่ยนมากำหนดจิตไว้เฉพาะจุดใดจุดหนึ่งในจุด ทั้ง 3 คือ ที่ปลายจมูก ท่ามกลางอก และที่ท้องตามที่กำหนดได้ถนัด ไม่ต้องวิ่งตามลมเหมือนขั้นแรก แต่ที่นิยมกันส่วนมาก คือ คอยจับอยู่ที่เฉพาะปลายจมูกเท่านั้น เหมือนกับนายโคบาล (คนเลี้ยงวัว) ที่ฉลาด เมื่อปล่อยวัวออกจากคอกแต่เช้าแล้ว ก็ไม่ต้องตามหลังมันตลอดเวลา แต่ไปนั่งรออยู่ที่ท่าน้ำหรือแหล่งน้ำที่วัวจะต้องลงกินในเวลาเย็นทุกวัน แล้วก็จับต้อนเข้าคอกได้โดยสะดวก ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเสียเวลาที่ต้องคอยตามหลังวัวอยู่ตลอดเวลา ผู้ฝึกจิตก็เช่นเดียวกัน กำหนดอยู่ที่ปลายจมูกไม่ไปไหน คอยจับอยู่ที่ปลายจมูกเพียงแห่งเดียว เพราะเมื่อลมหายใจเข้าแล้ว ก็ต้องออกทางนี้แน่นอน ทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไป หรือผู้ใดเห็นว่าในขั้นตามลมนั้นตนชำนาญแล้ว ก็ข้ามมาขั้นที่สองนี้เลย เมื่อจิตกำหนดอยู่เฉพาะปลายจมูก ไม่ฟุ้งซ่านไปข้างนอกแล้ว ชื่อว่าสำเร็จในขั้นที่สอง ขั้นวิ่งตามลมในขั้นที่หนึ่งนั้น ลมหายใจยังหยาบอยู่ แต่ในขั้นที่สองนี้ลมหายใจจะละเอียดมาก จนบางครั้งไม่รู้ว่ามีลมกระทบส่วนในส่วนหนึ่งของร่างกายเลย เหมือนกับไม่มีลมหายใจ อันแสดงว่าจิตเริ่มสงบมากแล้ว
แต่ต้องพยายามกำหนดในขณะให้หายใจเข้า-ออกให้ได้ตลอดเวลา ก็จะเพิ่มความสงบสุขและพลังให้แก่จิตได้มากทีเดียว ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่าได้สมาธิดีพอสมควร ส่วนขั้นสูงขึ้นไปกว่านี้ ผู้สนใจจะศึกษาได้จากอาจารย์กรรมฐานหรือหนังสือกรรมฐานทั่วไป
การกำหนดลมหายใจด้วยการนับ
หากท่านผู้ใดฝึกสมาธิด้วยวิธีข้างต้นไม่ได้ผลดี หรือสามารทำได้ดีแล้ว แต่ต้องการจะหาวิธีใหม่บ้าง ก็ลองหันมากำหนดลมหายใจด้วยการนับ ก็อาจจะได้ผลดีหรือได้ผลเพิ่มขึ้น เพราะอุปนิสัยของแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน การกำหนดลมหายใจด้วยการนับนี้ เรียกว่า คณนา-การนับ โดยส่งใจไปกำหนดนับอยู่ปลายจมูกแห่งเดียว หายใจเข้าก็ให้รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็ให้รู้ว่าหายใจออก

คณนา-การนับ มีอยู่ 2 วิธี คือ
1. การนับอย่างช้า
2. การนับอย่างเร็ว

การนับอย่างช้า คือ เมื่อผู้ฝึกได้เตรียมการเบื้องต้นต่างๆ เรียบร้อยแล้ว และเข้านั่งประจำที่ในการฝึกพร้อมแล้ว ก็ให้เริ่มนับ (นับแต่เพียงในใจ) โดยนับเป็นคู่ๆ ดังนี้

รอบที่หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า


แล้วเริ่มนับถอยมาจาก ห้า-ห้า จนถึงหนึ่ง ใหม่ ดังนี้
หายใจเข้า นับว่า ห้า หายใจออก นับว่า ห้า
หายใจเข้า นับว่า สี่ หายใจออก นับว่า สี่
หายใจเข้า นับว่า สาม หายใจออก นับว่า สาม
หายใจเข้า นับว่า สอง หายใจออก นับว่า สอง
หายใจเข้า นับว่า หนึ่ง หายใจออก นับว่า หนึ่ง
รอบที่สอง
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง หก-หก แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก หก-หก มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่สาม
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เจ็ด-เจ็ด แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก เจ็ด-เจ็ด มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่สี่
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง แปด-แปด แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก แปด-แปด มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่ห้า
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง เก้า-เก้า แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก เก้า-เก้า มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก
รอบที่หก
เริ่มนับจาก หนึ่ง-หนึ่ง ไปจนถึง สิบ-สิบ แล้วย้อนกลับใหม่ โดยนับจาก สิบ-สิบ มาจนถึง หนึ่ง-หนึ่งอีก
เมื่อนับครบทุกรอบแล้ว ให้กลับมานับตั้งแต่รอบที่หนึ่งอีก นับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้จนการนับไม่หลงลืม และไม่ข้ามลำดับ จนนับได้คล่องแคล่ว ลมหายใจเข้าออกปรากฏชัด ทำให้จิตสงบดีขึ้น ก็จะได้ผลดีในการฝึกจิตในเบื้องต้น
การนับอย่างเร็ว เมื่อสามารถฝึกจิตด้วยการนับอย่างช้าได้ดีแล้ว ต่อจากนั้นก็ให้เปลี่ยนมาเป็นการนับอย่างเร็ว เพราะเมื่อนับอย่างช้าได้คล่องแคล่ว แล้วจะปรากฏว่าลมหายใจเข้าออกเดินได้รวดเร็วกว่าแต่ก่อน เมื่อผู้ปฏิบัติทราบว่าลมหายใจเป็นไปเร็วเช่นนี้ ก็ให้ทิ้งการนับอย่างช้ามากำหนดนับอย่างเร็ว โดยไม่ใส่ใจหรือไม่คำนึงถึงลมหายใจเข้า-ออก
คอยกำหนดเฉพาะลมหายใจที่มากระทบจมูกเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องนับเป็นคู่ แต่นับเรียงลำดับไปตามตัวเลขอย่างน้อย 1-5 อย่างมาก 1-10 ดังนี้
1. 2. 3. 4. 5. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. (เข้า-ออก)
1. 2. 3. 4. 5. 6. 7. 8. 9. 10. (เข้า-ออก)
เมื่อนับถึง 10 แล้ว ก็ให้กลับมาตั้งรอบที่หนึ่งอีก นับเรื่อยไปอยู่อย่างนี้ จนการนับไม่หลงลืม ไม่ข้ามลำดับ เป็นไปคล่องไม่สับสน จนกระทั้งจิตสงบลงไปได้ไม่ฟุ้งซ่าน หรือสามารถรวมเข้าดีแล้วก็เลิกนับ มากำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกอยู่ที่ปลายจมูกหรือริมฝีปากข้างบนเท่านั้น จึงนับว่าสำเร็จในขั้นนี้

อนึ่ง ในการนับนี้มีกฎอยู่ว่า ไม่ควรนับให้ต่ำกว่า 5 ไม่ควรนับให้เกินกว่า 10 และไม่ควรนับให้ข้ามลำดับ เพราะว่าถ้านับต่ำกว่า 5 ใจจะกระวนกระวายอยู่ในที่แคบ เหมือนฝูงโคที่แออัดอยู่ในคอกที่คับแคบ ถ้านับเกินกว่า 10 ใจก็จะมุ่งแต่การนับมากกว่ากำหนดลมหายใจ และถ้านับข้ามลำดับ ใจก็จะคิดกังวลไปว่า กรรมฐานถึงที่สุดแล้วหรือยังไม่ถึง ซึ่งจะทำให้ฟุ้งซ่านได้ ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติควรจะเว้นข้อห้ามดังกล่าวเสีย การฝึกจิตด้วยการนับนี้ เป็นการฝึกจิตให้สงบได้วิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีฝึกจิตที่ได้ผลอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ขอแนะนำว่า การฝึกสมาธิที่จะได้ผลดีนั้น จะต้องมีอาจารย์เป็นผู้คอยแนะนำและควบคุม เพราะการฝึกโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ต้องตามหลักพระพุทธศาสนา หรือโดยไม่มีอาจารย์ควบคุมแนะนำนั้น อาจจะได้ผลน้อยหรือไม่ได้ผลเลย หรืออาจจะเกิดผลเสียก็ได้
ฉะนั้น อาจารย์ผู้สอนจึงมีความสำคัญมากสำหรับผู้ฝึกสมาธิ และการฝึกนั้นก็ต้องค่อยทำค่อยไป อย่าฝึกด้วยความหักโหม และควรฝึกเป็นประจำทุกวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย จึงจะได้ผลดี คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ต้องพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจึงจะเข้าใจได้ซาบซึ้ง ไม่ใช่เพียงแต่การคิดเอา ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว พระธรรมที่ประพฤติแล้ว ก็ย่อมจะรักษาผู้ประพฤติธรรมให้มีความสุขความเจริญได้อย่างแน่นอน
ข้อที่ควรเว้นสำหรับผู้ฝึกอบรมสมาธิ
1. ความกังวล
2. คนที่มีจิตใจไม่มั่นคง
3. การอ่านหนังสือที่ทำให้จิตใจห่างต่อความสงบ
4. การงานหรืออาชีพที่ทำให้ห่างต่อความสงบ
5. ป่วยหนัก
6. ร่างกายกระวนกระวาย
7. หิวหรือกระหายมากเกินไป
8. อิ่มมากเกินไป
9. ง่วงมากเกินไป
10. สถานที่อยู่ร้อนมาก หรือหนาวมากเกินไป
11. สถานที่อยู่มีเสียงอึกทึกมากเกินไป
12. สถานที่บำเพ็ญมีคนพูดคุยกัน
13. เกียจคร้าน
14. ไม่ตั้งใจ
15. ทำผิดวินัย
16. การไม่ยึดอารมณ์ปัจจุบัน
17. ความเพียรมากเกินไป
18. ใจลอย
19. การงานมากเกินไป
20. แก่มากเกินไป
จริต 6

จริต แปลว่า จิตท่องเที่ยว สถานที่จิตชอบท่องเที่ยว หรืออารมณ์ที่ชอบท่องเที่ยวของจิตนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ มี 6 ประการคือ
ในบุคคลเดียวอาจไม่ได้มีจริตเดียว เป็นจริตผสม แต่จะมีจริตที่เด่นที่สุด จงพิจารณาเองเถิด
ราคจริต จิตท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน เกลียดความเลอะเทอะ
โทสจริต มีอารมณ์มักโกรธ เป็นคนขี้โมโหโทโส จะเป็นคนที่แก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ แต่งตัวไม่พิถีพิถัน เป็นคนใจเร็ว
โมหจริต มีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าจ่ายออก มีค่าหรือไม่มีค่าก็เก็บหมด นิสัยเห็นแก่ตัว อยากได้ของของคนอื่น แต่ของตนไม่อยากให้ใคร ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล เรียกว่า เป็นคนชอบได้ ไม่ชอบให้
วิตกจริต มีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น แก่เกินวัย หาความสุขสบายใจได้ยาก
สัทธาจริต มีจิตน้อมไปในความเชื่อเป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุผล พวกนี้ถูกหลอกได้ง่าย ใครแนะนำก็เชื่อโดยไม่พิจารณา
พุทธิจริต เป็นคนเจ้าปัญญาเจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี
อารมณ์ที่กล่าวมา 6 ประการนี้ บางคนมีอารมณ์ทั้ง 6 อย่างนี้ครบถ้วน บางรายก็มีไม่ครบ มีมากน้อยกว่ากันตามอำนาจวาสนาบารมีที่อบรมมาในชาติอดีต อารมณ์ที่มีอยู่คล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เพราะบารมีที่อบรมมาไม่เสมอกัน
จริตของมนุษย์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแต่ละบุคคลก็อาจมีจริตได้หลายอย่างคลุกเคล้าปะปนกันมา แต่ว่าจริตใดจะมีมากออกหน้า เป็นประธาน เป็นประจำ เป็นตัวนำ เป็นเด่นกว่าจริตอื่น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีจริตนั้น
ลักษณะของผู้ที่หนักในราคจริต
๑. มายา เจ้าเล่ห์
๒. โอ้อวด
๓. ถือตัว
๔. ทำตัวลวงโลก หลอกลวง เสแสร้ง
๕. ปรารถนามาก มีความอยากใหญ่
๖. ไม่สันโดษ
๗. แง่งอน
๘. ขี้โอ่
นิสัยของคนมีราคะจริต - เรียบร้อย นุ่มนวล ไม่รีบร้อน งานสะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ
รสชาติที่ชอบ - ชอบรสหวาน มัน อร่อย สีสรรน่ากิน
สิ่งที่ชอบดู - ชอบของสวยงาม ไพเราะ ตลก ขบขัน
ลึก ๆ แล้ว - เจ้าเล่ห์ โอ้อวด ถือตัว แง่งอน
พิถีพิถัน ชอบยอ
กรรมฐานที่เหมาะ - อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑
ราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี แดง
ลักษณะของผู้ที่หนักในโทสจริต
๑. โกรธง่าย โมโหง่าย
๒. ผูกโกรธ แค้นฝังใจ
๓. ลบหลู่คุณท่าน (คนที่ดี คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า)
๔. ชอบตีตนเสมอท่าน
๕. ขี้อิจฉา
๖. ขี้เหนียว ชอบหึง ชอบหวง
นิสัยของคนโทสะจริต -ไปพรวด ๆ รีบร้อนกระด้าง
การทำงาน - งานสะอาด แต่ไม่เรียบร้อย ไม่สำรวยมุ่งแต่ในสิ่งที่ปรารถนา
รสชาติที่ชื่นชอบ - ชอบเปรี้ยว เค็ม ขม ฝาดจัด รับประทานเร็ว คำโต
สิ่งที่ชอบดู - ชอบดูชกต่อย
ด้านมืด - มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่บุญคุณ ตีเสมอ ขี้อิจฉา
กรรมฐานที่เหมาะ - วัณณกสิณ ๔ ,พรหมวิหาร ๔
โทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี(ออกไปในโทนค่อนข้าง) ดำ
ลักษณะของผู้ที่หนักในโมหจริต
๑. หดหู่ ซึมเซา
๒. คลิบเคลิ้ม
๓. ฟุ้งซ่าน
๔. ขี้รำคาญ
๕. เคลือบแคลง ขี้สงสัย ในธรรมะ
๖. ถืองมงาย
๗. ละ ความเชื่อโง่ ๆ เดิม ๆ ได้ยาก
นิสัย (กิริยา) ของคนโมหจริต - เซื่อง ๆ ซึม ๆ เหม่อๆ
ลอย ๆ
การทำงาน - งานหยาบ ไม่ถี่ถ้วน คั่งค้าง เอาดีไม่ได้
รสชาติอาหารที่ชื่นชอบ - ไม่เลือกอาหารอย่างไหนก็เอา
หมด มูมมามด้วย
สิ่งที่ชอบดู - ใครเห็นดีก็ว่าดีด้วย ใครเห็นไม่ดี ก็ไม่ดี ตามไปด้วย สนุกตามเขา เบื่อตามเขา
ด้านมืด - มีแต่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ช่างสงสัย เข้าใจอะไรยาก
กรรมฐานที่เหมาะ - อานาปาณสติ
โมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี หม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ
ลักษณะของผู้ที่หนักในวิตกจริต
๑. พูดมาก พล่าม พูดไปเรื่อย ชอบเล่นมุข
๒. ชอบคลุกคลีในหมู่คณะ งานสังสรรค์
๓. ไม่ยินดีในการประกอบกุสล
๔. มีกิจไม่มั่นคง จับจด
๕. กลางคืนเป็นควัน
๖. กลางวันเป็นเปลว (คือ คิดจะทำอะไรสักอย่างก็ฝัน แต่ไม่ได้ทำอะไร)
๗. คิดเรื่องต่าง ๆ พล่านไปต่าง ๆ นานา หาสาระไม่ได้
กิริยาอาการของคนวิตกจริต - เชื่องช้า เบลอ ๆ , เอ๋อ ๆคล้ายโมหจริต
การทำงาน - งานไม่เป็นส่ำ จับจด แต่พูดเก่ง ดีแต่พูด
อาหาร - ไม่แน่นอน อย่างไหนก็ได้
สิ่งที่ชื่นชอบและให้ความสนใจ - เห็นตามหมู่มาก
ด้านมืด - ฟุ้งซ่าน โลเล เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเกลียด ชอบคลุกคลี อยู่คนเดียวไม่ได้
กรรมฐานที่เหมาะสม - อานาปาณสติ
วิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหมือนน้ำเยื่อถั่วพู
ลักษณะของผู้ที่หนักในสัทธาจริต
๑. มตฺตจาคตา บริจาคทรัพย์เป็นนิจ ชอบให้ ชอบเผื่อแผ่ ช่วยเหลือคนอื่น ใครเห็นก็เลื่อมใส อยากเข้าใกล้
๒. อริยานํ ทสฺสนกามตา ใคร่เห็นพระอริยะ ชอบพบปะคนดี ๆ ด้วยกัน หรือดีกว่า ไม่ชอบคนเลว คนไร้สาระ คนตลก
๓. สทฺธมฺมํ โสตุกามตา ชอบฟังธรรม
๔. ปาโมชฺชพหุลตา มากด้วยความปราโมทย์ ปลื้มใจ ในสิ่งที่เป็นกุศล
๕. อสฐตา ไม่โอ้อวด
๖. อมายาวิตา ไม่มีมารยา
๗. ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุ ปสาโท เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส
กิริยา -แช่มช้อย ละมุน ละม่อม
การทำงาน - เรียบร้อย สวยงาม เป็นระเบียบ
รสชาติที่ชอบใจ - หวาน มัน หอม
สิ่งที่ชอบดู ชอบใจ - ชอบสวยงามอย่างเรียบๆ ไม่โลดโผน
ด้านสว่าง - เบิกบานในการบุญ (ส่วนราคจริตนั้นเบิกบานต่อการได้รับความชื่นชม)
กรรมฐานที่เหมาะสม - อนุสติ ๖
สัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหลืองอ่อน คล้ายสีดอกกัณณิกา
บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วย อาลัย
และไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ประโยชน์ของการรู้อารมณ์จริต
นักปฏิบัติควรรู้อาการของจริตที่จิตของตนคบหาสมาคมอยู่ เพราะการรู้อารมณ์จิตเป็นผลกำไรในการปฏิบัติ เพื่อการละด้วยการเจริญสมาธิก็ตาม พิจารณาวิปัสสนาญาณก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่การควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ ถ้าขณะที่กำลังตั้งใจกำหนดจิตเพื่อเป็นสมาธิ หรือพิจารณาวิปััสสนาญาณอารมณ์จิตเกิดฟุ้งซ่าน ก็จะได้น้อมนำเอาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้มาประคับประคองใจให้เหมาะสมเพื่อผลในสมาธิ หรือหักล้างด้วยอารมณ์วิปัสสนาญาณเพื่อให้ได้ฌานสมาบัติ หรือมรรคผลนิพพาน พระธรรมเพื่อผลของสมาบัติ ท่านเรียกว่า "สมถกรรมฐาน" มีทั้งหมด 40 อย่าง
อสุภกรรมฐาน 10
อนุสสติกรรมฐาน 10
กสิณ 10
อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1
จตุธาตุววัฏฐาน 1
พรหมวิหาร 4
อรูป 4
แบ่งกรรมฐาน 40 ให้เหมาะแก่จริต สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบถึง ความเหมาะสมในกรรมฐานต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอารมณ์จิตที่มีความข้องอยู่ในขณะนั้น ว่า เมื่อใดอารมณ์จิตของท่านผู้ใดข้องอยู่ในอารมณ์ชนิดใด ก็ให้เอากรรมฐานที่พระองค์ทรงประทานไว้ว่าเหมาะสมกันเข้าพิจารณา หรือภาวนาแก้ไขเพื่อความผ่องใสของอารมณ์จิต เพื่อการพิจารณาวิปัสสนาญาณ เพื่อมรรคผลนิพพานต่อไป กรรมฐาน 40 กองที่ท่านได้จำแนกไว้ เพื่อเหมาะสมกับจริตมีดังนี้
1. ราคจริต ราคจริตนี้ กรรมฐานที่เหมาะคือ อสุภกรรมฐาน 10 กับกายคตนานุสสติ 1 เมื่ออารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นแก่อารมณ์จิต จิตข้องอยู่ในกามารมณ์เป็นปกติ ก็เอากรรมฐานนี้พิจารณาเป็นปกติ จนกว่าอารมณ์จะสงัดจากกามารมณ์ เห็นคนและสัตว์และสรรพวัตถุที่ชมชอบว่าสวยงดงาม กลายเป็นของน่าเกลียดโสโครกโดยกฎของธรรมดา จนจิตใจไม่มั่วสุมกับความงามแล้ว ก็พิจารณาวิปัสสนาญาณโดยยกเอาขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา
2. โทสจริต
คนมักโกรธ หรือขณะนั้นมีอารมณ์โกรธพยาบาทเกิดขึ้น ท่านให้เอากรรมฐาน 8 อย่าง คือ พรหมวิหาร 4 วัณณกสิณ 4 (วัณณกสิณ 4 ได้แก่ นีลกสิณ เพ่งสีเขียว โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง ปีตกสิณ เพ่งสีเหลือง โอทาตกสิณ เพ่งสีขาว) ทั้ง 8 อย่างนี้เป็นกรรมฐานระงับดับโทสะ เลือกที่เหมาะสมมาเพ่งและใคร่ครวญพิจารณา อารมณ์โทสะจะค่อย ๆ คลายตัวระงับไป
3. โมหะ และ วิตกจริต อารมณ์ที่ตกอยู่ในอำนาจของความหลง และครุ่นคิดตัดสินใจไม่ค่อยได้นั้น ท่านให้เจริญอานาปานานุสสติกรรมฐานอย่างเดียว อารมณ์ความลุ่มหลงฟุ้งซ่านก็จะสงบระงับไป
4. สัทธาจริต ท่านที่เกิดสัทธาความเชื่อ ท่านให้เจริญกรรมฐาน 6 อย่าง คือ อนุสสติ 6 ประการ คือ
พุทธานุสสติกรรมฐาน
ธัมมานุสสติกรรมฐาน
สังฆานุสสติกรรมฐาน
สีลานุสสติกรรมฐาน
จาคานุสสติกรรมฐาน
เทวตานุสสติกรรมฐาน
ทั้ง 6 อย่างนี้จะทำให้จิตใจของท่านที่ดำรงสัทธาผ่องใส
5. พุทธิจริต คนเฉลียวฉลาดรู้เท่าทันเหตุการณ์ มีปฏิภาณไหวพริบดี ท่านให้เจริญกรรมฐาน 4 อย่าง
มรณานุสสติกรรมฐาน
อุปมานุสสติกรรมฐาน
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัฏฐาน
กรรมฐานที่เหมาะแก่จริตทั้ง 6 ท่านจัดไว้เป็น 5 หมวด รวมกรรมฐานที่เหมาะแก่จริต โดยเฉพาะจริตนั้น ๆ รวม 30 อย่าง หรือ 30 กอง ที่เหลืออีก 10 กอง คือ อรูป 4 ภูตกสิณ 4(ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ) และอาโลกกสิณ 1 อากาสกสิณ 1 รวมเป็น 10 อย่าง ซึ่งเป็นกรรมฐานเหมาะแก่จริตทุกอย่าง แต่สำหรับอรูปนั้น ถ้าใครต้องการเจริญ ท่านให้เจริญฌานในกสิณให้ได้ ฌาน 4 เสียก่อน แล้วจึงเจริญในอรูปได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นผลสำหรับผู้ฝึกสมาธิใหม่เพราะอรูปละเอียดเกินไป
คำว่าจริยา หมายถึงลักษณะอันเป็นพื้นฐานของจิต หรือนิสัยอันเป็นพื้นเพของบุคคลแต่ละคน
คำว่าจริต ใช้เรียกบุคคลที่มีจริยาอย่างนั้นๆ เช่น คนมีโทสะจริยา เรียกว่า โทสะจริต
จริต 6 ประเภทคำว่า "จริต" ในที่นี้หมายถึงสภาวะจิตของคนตามธรรมชาติจากการแบ่งจริตมนุษย์เป็น ๖ ประเภทใหญ่ๆ
1.ราคะจริต คือสภาวะจิตที่หลงติดในรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสจนเป็นอารมณ์
2.โทสะจริต หรือสภาวะจิตที่โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย เพียงพูดผิดสักคำ ได้เห็นดีกัน
3.โมหะจริต หรือจิตที่มักอยู่ในสภาพง่วงเหงาหาวนอนหรือซึมเศร้าเป็นอาจิณ
4.วิตกจริต หรือสภาวะจิตที่กังวล สับสนและวุ่นวายฟุ้งซ่านแทบทุกลมหายใจ
5.ศรัทธาจริต คือสภาวะจิตที่มีปรัชญาหรือหลักการของตัวเองและพยายามผลักดันให้ตัวเองและผู้อื่นบรรลุถึงจุดหมายนั้น
6.พุทธิจริต คือสภาวะจิตที่เน้นการใช้ปัญญาในการไตร่ตรอง คิดหาเหตุหาผลมาแก้ปัญหาต่างๆในชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน รวมทั้ง มีความสนใจ เรื่องการยกระดับและพัฒนาจิตวิญญาณ
ราคะจริต
ลักษณะ บุคลิกดี มีมาด น้ำเสียงนุ่มนวลไพเราะ ติดในความสวย ความงาม ความหอมความไพเราะ ความอร่อย ไม่ชอบคิด แต่ช่างจินตนาการเพ้อฝัน จุดแข็ง มีความประณีตอ่อนไหว และละเอียดอ่อน ช่างสังเกตเก็บข้อมูลเก่ง มีบุคลิกหน้าตาเป็นที่ชอบและชื่นชมของทุกคนที่เห็น วาจาไพเราะ เข้าได้กับทุกคน เก่งในการประสานงาน การประชาสัมพันธ์และงานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ
จุดอ่อน ไม่มีสมาธิ ทำงานใหญ่ได้ยาก ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรงใจคน ขาดหลักการ มุ่งแต่บำรุงบำเรอผัสสะทั้ง 5 ของตัวเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ชอบพูดคำหวานแต่อาจไม่จริง อารมณ์รุนแรงช่างอิจฉา ริษยา ชอบปรุงแต่ง
วิธีแก้ไข พิจารณาโทษของจิตที่ขาดสมาธิ ฝึกพลังจิตให้มีสมาธิเข้มแข็ง หาเป้าหมายที่แน่ชัดในชีวิต พิจารณาสิ่งปฏิกูลต่างๆของร่างกายมนุษย์เพื่อลดการติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
โทสะจริต
ลักษณะ จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมา ชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีต สะอาดสะอ้าน เดินเร็ว ตรงแน่ว
โมหะจริต
ลักษณะ ง่วงๆ ซึมๆ เบื่อๆ เซ็งๆ ดวงตาดูเศร้าๆ ซึ้งๆ พูดจาเบาๆ นุ่มนวลอ่อนโยน ยิ้มง่าย อารมณ์ ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่น เดินแบบขาดจุดมุ้งหมาย ไร้ความมั่นคง
จุดแข็ง ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจอะไรได้ง่ายและชัดเจน มีความรู้สึก มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง ทำงานเก่ง โดยเฉพาะงานประจำ ไม่ค่อยทุกข์หรือเครียดมากนัก เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่น่าคบ ไม่ทำร้ายใคร

จุดอ่อน ไม่มีความมั่นใจ มองตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง โทษตัวเองเสมอ หมกมุ่นแต่เรื่องตัวเองไม่สนใจคนอื่น ไม่จัดระบบความคิด ทำให้เสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำ ไม่ชอบเป็นจุดเด่น สมาธิอ่อนและสั้นเบื่อง่าย อารมณ์อ่อนไหวง่ายใจน้อย
วิธีแก้ไข ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน ฝึกสมาธิสร้างพลังจิตให้เข้มแข็ง ให้จิตออกจากอารมณ์ โดยจับการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือเล่นกีฬา แสวงหาความรู้ และต้องจัดระบบความรู้ความคิด สร้างความแปลกใหม่ให้กับชีวิต อย่าทำอะไรซ้ำซาก
วิตกจริต
ลักษณะ พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ความคิดพวยพุ่ง ฟุ้งซ่านอยู่ในโลกความคิด ไม่ใช่โลกความจริง มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูงคิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง
จุดแข็ง เป็นนักคิดระดับเยี่ยมยอด มองอะไรทะลุปรุโปร่งหลายชั้น เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคน เป็นผู้นำหลายวงการ ละเอียดรอบคอบ เจาะลึกในรายละเอียด เห็นความผิดเล็กความผิดน้อยที่คนอื่นไม่เห็น
จุดอ่อน มองจุดเล็กลืมภาพใหญ่ เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนกลับไปกลับมา ไม่รักษาสัญญา มีแต่ความคิด ไม่มีความรู้สึก ไม่มี วิจารณญาณ ลังแล มักตัดสินใจผิดพลาด มักทะเลาวิวาท ทำร้ายจิตใจ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีความทุกข์ เพราะเห็นแต่ปัญหา แต่หาทางแก้ไม่ได้
วิธีแก้ไข เลือกความคิด อย่าให้ความคิดลากไป ฝึกสมาธิแบบอานาปานัสสติ เพื่อสงบสติ อารมณ์ เลิกอกุศลจิต คลายจากฟุ้งซ่าน สร้างวินัย ต้องสร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวม คิดให้ครบวงจร หัดมองโลกในแง่ดี พัฒนาสมองด้านขวา
ศรัทธาจริตลักษณะ ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการหรือความเชื่อถือและความศรัทธา คิดว่าตัวเองเป็นคนดี น่าศรัทธา ประเสริฐ กว่าคนอื่น เป็นคนจริงจัง พูดมีหลักการ
จุดแข็ง มีพลังจิตสูงและเข้มแข็งพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิม มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล มีลักษณะความเป็นผู้นำ
จุดอ่อน หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ถูกหลอกได้ง่าย ยิ่งศรัทธามาก ปัญญายิ่งลดน้อยลง จิตใจคับแคบ ไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุนแรง
วิธีแก้ไข นึกถึงกาลามสูตร ใช้หลักเหตุผลพิจารณาเหนือความเชื่อ ใช้ปัญญานำทาง และใช้ศรัทธาขับเคลื่อน เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นในตัวบุคคลหรืออุดมการณ์ ลดความยึดมั่นในตัวกูของกู
พุทธิจริตลักษณะ คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงไม่ปรุงแต่ง พร้อมรับความคิดที่แตกต่างไปจากของตนเอง ใฝ่เรียนรู้ ช่างสังเกต มีความเมตตาไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใส ตาเป็นประกาย ไม่ทุกข์
จุดแข็ง สามารถเห็นเหตุเห็นผลได้ชัดเจน และรู้วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง อัตตาต่ำ เปิดใจรับข้อเท็จจริง จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีต และไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต พัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอ เป็นกัลยาณมิตร
จุดอ่อน มีความเฉื่อย ไม่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ ชีวิตราบรื่นมาตลอด หากต้องเผชิญพลังด้านลบ อาจเอาตัวไม่รอด ไม่มีความเป็นผู้นำ จิตไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนให้คล้อยตาม วิธีแก้ไข้ ถามตัวเองว่าพอใจแล้วหรือกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มพลังสติสมาธิ พัฒนาจิตใจให้มีพลังขับเคลื่อนที่แรงขึ้น เพิ่มความเมตา พยายามทำให้ประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร