ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศาสนาอิสลาม

ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาสำคัญศาสนาหนึ่งของโลก เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม นับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ พระอัลลอฮ์ โดยมีท่านนบีมุฮัมมัดเป็นศาสดา และเป็นผู้ประกาศศาสนา ศาสนาอิสลาม ไม่มีพระหรือนักบวชเพื่อทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม และเผยแผ่ศาสนาโดยเฉพาะ เช่น อิหม่ามก็เป็นเพียงผู้นำในการนมัสการพระเจ้าเท่านั้น มิใช่พระที่ทำหน้าที่เป็นกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์
ผู้นับถือ ศาสนาอิสลาม เรียกว่า “ มุสลิม ” มุสลิม ทุกคนต้องปฏิบัติศาสนากิจเหมือนกันหมด จึงไม่มีนักบวช และมิได้แบ่งแยกแนวทางปฏิบัติ ระหว่างศาสนิกชนกับนักบวช แม้แต่บุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น อิหม่าม หรือ ท่านจุฬาราชมนตรี ก็ถือว่าเป็นผู้นำทางศาสนกิจ และผู้นำมุสลิมในประเทศไทยเท่านั้น มิได้มีฐานะเป็นผู้นำนักบวชแต่อย่างใด
ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาหนึ่งที่มีผู้นับถืออยู่หลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลาง ประชาชนส่วนใหญ่จะนับถือ ศาสนาอิสลาม ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในประเทศมาเลเซียมีผู้นับถือ ศาสนาอิสลาม มาก สำหรับประเทศไทยมีประชาชนที่นับถือ ศาสนาอิสลาม อยู่ทั่วไป แต่บริเวณที่มากที่สุด คือ ในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา สตูล ปัตตานี และนราธิวาส
ประวัติความเป็นมา
ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังพุทธศักราชประมาณ ๑,๑๑๓ ปี ผู้ที่นับถือ ศาสนาอิสลาม เรียกว่า มุสลิม แปลว่า ผู้แสวงหาสันติ หรือ ผู้นอบน้อมต่อประสงค์ของพระเจ้า
มุสลิม นับถือพระผู้เป็นเจ้าที่ยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่า พระอัลลอฮ์ พระอัลลอฮ์ทรงเลือกบุคคลที่พร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยให้เป็นศาสนทูตของพระองค์ มีหน้าที่นำข้อบัญญัติทางศาสนามาเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ศาสนทูตองค์สุดท้าย คือ นบีมุฮัมมัด ท่านเป็นอาหรับ กำเนิดที่เมืองมักกะฮ์ มารดาชื่อ อามีนะฮ์ เป็นชนในเผ่ากุร็อยชฺ ท่านศาสดาเป็นกำพร้าตั้งแต่เยาว์วัย ในเวลาต่อมาจึงต้องไปอยู่ในความอุปการะของอาบูฏอลิบผู้เป็นลุง โดยช่วยลุงเลี้ยงปศุสัตว์ ค้าขาย และทำงานอื่นๆในครอบครัว เมื่อโตเป็นหนุ่ม ได้ไปทำงานกับนางคอดีญะฮ์ เศรษฐีม่าย โดยท่านทำหน้าที่ควบคุมกองคาราวานสินค้า ไปขายยังประเทศใกล้เคียง ซึ่งในเวลาต่อมาทั้งสองก็ได้แต่งงานกัน มีบุตรธิดาด้วยกัน ๖ คน
          ในสมัยที่ท่านศาสดาถือกำเนิดนั้น สังคมอาหรับอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมาก ผู้คนมั่วสุมดื่มน้ำเมาและเล่นการพนัน การละเมิดประเวณีเกิดขึ้นเป็นประจำ มีการฝังเด็กหญิงทั้งเป็นเพราะถือว่าเป็นสิ่งอัปมงคล การแก้แค้นด้วยการประหัตประหารเป็นเรื่องปกติผู้คนงมงายกับการบูชารูปเคารพ และการประกอบพีกรรมต่างๆ ที่สิ้นเปลืองและไร้สาระ ท่านศาสดาพยายามหาหนทางแก้ปัญหาในสังคมที่ท่านพบเห็นอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ท่านหลบไปหาความสงบวิเวก ในถ้ำบนภูเขาอิรอฮ์ เทวทูตญิบรออีลก็ได้นำโองการของพระเจ้า (พระอัลลอฮ์) มาประทานแก่ท่าน ท่านศาสดามุฮัมมัดจึงเริ่มประกาศศาสนา คนแรกที่เข้ารับนับถือ ศาสนาอิสลาม ก็คือ นางคอดีญะฮ์ ผู้เป็นภรรยา การประกาศศาสนาช่วงแรกเต็มไปด้วยความยากลำบากและถูกต่อต้านเพราะ ศาสนาอิสลาม ทำให้ผู้มีอิทธิพลเสียผลประโยชน์ รวมทั้งให้คนทั่วไปซึ่งนับถือรูปเคารพต่างๆ ขัดเคือง
          หลังจากประกาศศาสนาได้ ๑๓ ปี ท่านศาสดา และสาวกได้ลี้ภัยจากการตามล้างผลาญของชาวเมืองมักกะฮ์ โดยไปอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์ ปีที่ท่านศาสดามุฮัมมัดอพยพมาอยู่เมืองมะดีนะฮ์นี้ ถือเป็นการเริ่มต้นนับศักราช อิสลาม เรียกว่า ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๑๑๗๓ ท่านศาสดาก็สามารถรวบรวมผู้คนกลับไปยึดเมืองมักกะฮ์ไว้ได้ โดยปราศจากการสู้รบให้เสียเลือดเนื้อ ท่านศาสดาให้ทำลายรูปเคารพต่างๆ และประกาศนิรโทษกรรมแก่ชาวเมืองที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อท่าน หลังจากนั้นท่านศาสดามุฮัมมัดก็ได้กลับไปเมืองมะดีนะฮ์ ต่อมาภายหลังชนอาหรับเผ่าต่างๆ และประเทศข้างเคียงก็ได้ส่งทูตเข้ามาขอเป็นพันธมิตรบ้าง เพื่อขอรับนับถือ ศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลาม จึงได้แพร่ขยายไปทั่วดินแดนตะวันออกกลาง อินเดีย และที่อื่นๆ นับตั้งแต่บัดนั้น
          ท่านศาสดามุฮัมมัด ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ตรงกับ ฮ.ศ. ๑๑ ในขณะที่ท่านศาสดามีชีวิตอยู่ตั้งแต่เป็นเด็กเลี้ยงแพะ จนกระทั่งเป็นศาสดา และเป็นประมุขแห่งประชาชาติอาหรับ ท่านได้ดำรงตนเป็นผู้เสมอต้นเสมอปลาย อยู่ง่าย กินง่าย มีเมตตากับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้ และต่ำต้อย ท่านไม่ถือยศถือศักดิ์ มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความยุติธรรม และความซื่อสัตย์เป็นเลิศจนได้รับฉายาตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มว่า “อัลลามีน” ซึ่งแปลว่า ผู้ซื่อสัตย์
นิกายสำคัญ
ใน ศาสนาอิสลาม การแยกนิกาย มิได้อยู่ที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับความเชื่อในหลักคำสอน หรือในการปฏิบัติศาสนกิจ แต่อยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นสำคัญ กล่าวคือ ก่อนสิ้นชีวิต ท่านเป็นศาสดามูฮัมมัดมิได้ตั้งใครเป็นทายาทสืบแทน หลังมรณกรรมของท่าน ก็มีปัญหาเรื่องการตั้งผู้นำโลกมุสลิม ซึ่งเป็นทั้งผู้นำศาสนจักร และอาณาจักรในเวลาเดียวกัน เหมือนกับที่ท่านศาสดาเคยเป็นกลุ่มคอวาริจญ์เห็นว่าควรเลือกตั้ง กลุ่มชีอะห์ว่าควรเอาผู้สืบเชื้อสายของท่านศาสดา
เหตุการณ์ขัดแย้งเหล่านี้ทำให้เกิดกลุ่มศาสนาขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่ม คอวาริจญ์ เรียกว่า ซุนนะห์ ( คนไทยเรียกสุหนี่ ) กลุ่มนี้ไม่เป็นทั้งพวกคอวาริจญ์ และชีอะห์ แต่เป็นพวกที่ถือแนวของอัล - กุรอาน และซุนนะห์ ( ซุนนะห์ หมายถึง แบบแผนที่ได้จากจริยวัตร และโอวาทของท่านศาสดามุฮัมมัด )
โดยสรุปนิกายต่างๆ ของศาสนาอิสลามมีดังนี้
๑) นิกายซุนนีหรือซุนนะห์ เคร่งครัดการปฏิบัติตาม คัมภีร์อัล-กุรอาน และซุนนะห์เท่านั้น และยอมรับผู้นำ ๔ คนแรก ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดท่านศาสดา มุสลิมส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยนับถือนิกายนี้
๒) นิกายชีอะห์ ชีอะห์ แปลว่า พรรคพวก หมายถึง พรรคพวกท่านอาลีนั่นเอง นิกายนี้ถือว่าท่านอาลี บุตรเขยของศาสดามูฮัมมัดคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้ที่ถูกต้อง ผู้ถือนิกายนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอิหร่าน อิรัก เยเมน อินเดีย และประเทศในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออก
๓) นิกายคอวาริจญ์ ถือว่าผู้จะเป็นคอลีฟะห์นั้น ต้องมาจากการเลือกตั้งเสรี นิกายนี้มีผู้นับถือมากในแอลจีเรีย โอมาน คาบสมุทรอาระเบียตอนใต้
๔) นิกายวาฮาบี ตั้งขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ถือว่า พระคัมภีร์อัล-กุรอานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ไม่ยอมรับการตีความ ในเรื่องศาสนาของผู้ใดเคารพพระอัลลอฮ์องค์เดียว ไม่นับถือใครอื่น ไม่เชื่อว่าท่านศาสดามูฮัมมัด เป็นผู้แทนพระอัลลอฮ์ ไม่มีการฉลองวันประสูติของท่านศาสดา ห้ามของฟุ่มเฟือยทุกชนิด นิกายนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ มีอยู่บ้างในอินเดีย และแอฟริกาตะวันออก
คัมภีร์ทางศาสนา
          คัมภีร์ทาง ศาสนาอิสลาม เรียกว่า คัมภีร์อัล-กุรอาน คัมภีร์นี้ถือว่าเป็นวจนะของพระเจ้า ที่ได้ประทานแก่มวลมนุษย์ผ่านทางท่านศาสดานบีมุฮัมมัด ซึ่งเป็นบุคคลที่พระเจ้าอัลลอฮ์ทรงเลือกให้ทำหน้าที่ประกาศศาสนา และเป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจตามคำสอนของพระองค์ พระอัลลอฮ์ประทานคัมภีร์แก่ท่านศาสดาโดยการดลใจ การทำให้เห็นภาพเวลาตกอยู่ในภวังค์ และการส่งเทวทูตมาพร้อมกับโองการ ท่านศาสดาได้รับโองการจากพระอัลลอฮ์เป็นระยะๆ ร่วมเวลาทั้งสิ้น ๒๓ ปี เมื่อได้รับโองการมาก็ให้สาวกจดจารึกลงบนหิน หนังสัตว์ และอื่นๆ เก็บไว้
          คัมภีร์อัล-กุรอาน แปลว่า คัมภีร์สาธยายมนต์ มี 30 ภาค 114 บท เป็นแนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคคลและสังคม มีคำสอนเกี่ยวกับการทำความดี การดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน การแต่งงาน ความตาย อาชีพ การทำมาหากิน รวมทั้งมีเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคมไว้อย่างครบถ้วน
          ภาษาที่ใช้บันทึกคัมภีร์อัล-กุรอาน คือ ภาษาอาหรับ ข้อความในคัมภีร์เป็นภาษาที่ไพเราะ มิใช่ร้อยแก้ว และมิใช่ร้อยกรอง แต่ก็มีสัมผัสในแบบของตัวเอง คัมภีร์แบ่งออกเป็น 114 บท แต่ละบทแบ่งเป็นโองการหรือวรรค มีทั้งหมด 6,000 โองการ ปัจจุบันนี้ได้มีการแปล คัมภีร์อัล-กุรอาน เป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก ชาว มุสลิม ถือว่าคัมภีร์นี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะทุกคำ ทุกตัวอักษร เกิดจากพระอัลลอฮ์ และเป็นความจริงที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรมนูญสำหรับชีวิต


หลักคำสอนพื้นฐาน
ศาสนาอิสลาม มีพิธีกรรม และหลักคำสอนเพื่อให้ปฏิบัติตามดังนี้
๑ ) หลักศรัทธา ๖ ประการ ได้แก่
( ๑ ) ศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์ มุสลิม เชื่อว่ามีพระเจ้าองค์เดียวเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ผู้เป็น มุสลิม จะต้องศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว
( ๒ ) ศรัทธาต่อเทพบริวารของพระอัลลอฮ์ (เทวทูต) คือ ผู้รับใช้พระเจ้าซึ่งมีจำนวนมากมีหน้าที่ต่างๆ กัน เทวทูตเป็นคนกลางทำหน้าที่สื่อสาร ระหว่างท่านนบีมุฮัมมัดกับพระเจ้า กล่าวคือ ท่านนบีมูฮัมมัด ได้รับโองการจากพระเจ้าโดยทางเทวทูต ซึ่งเรียกว่า “ มลาอีกะฮ์ ” เป็นวิญญาณที่มองไม่เห็น แต่สามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ตามบัญชาของพระอัลลอฮ์
(๓ ) ศรัทธาในพระคัมภีร์ทั้งหลาย คือ คัมภีร์ที่พระเจ้าได้ประทานมาก่อนหน้านี้ 104 คัมภีร์ ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ของศาสนายูดาย และศาสนาคริสต์ แต่ให้ถือว่าคัมภีร์อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์สุดท้าย และสมบูรณ์ที่สุด ที่พระเจ้าได้ประทานพรลงมาให้แก่มนุษยชาติ โดยผ่านทางศาสดามุฮัมมัด
( ๔ ) ศรัทธาต่อบรรดาศาสนทูต ศาสนทูตเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่พระเจ้าได้เลือกสรรว่าเป็นคนดี เหมาะแก่การที่จะเป็นผู้ประกาศศาสนา ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย
( ๕ ) ศรัทธาในวันพิพากษา คือ วันสุดท้ายของโลก ชาว มุสลิม เชื่อว่าโลกมีวันแตกดับ เมื่อถึงวันนั้นมนุษย์ทุกคนต้องตาย และจะถูกทำให้ฟื้นขึ้นมา เพื่อพิจารณาโทษ ด้วยการสอบสวนพิพากษาตามความดีความชั่วที่ตนได้กระทำไว้
( ๖ ) ศรัทธาในการกำหนดสภาวะของโลก และชีวิต ว่าเป็นไปตามเจตจำนงของพระอัลลอฮ์




( ๒ ) หลักปฏิบัติ ๕ ประการ
          การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาของ ศาสนาอิสลาม จะปฏิบัติในสถานที่ที่เรียกว่า “ มัสยิด ” หรือ “ สุเหร่า ” ชาว มุสลิม จะต้องปฏิบัติศาสนกิจให้พร้อมทั้ง ๓ ทาง คือ กาย วาจา และใจ หลักปฏิบัติสำคัญใน ศาสนาอิสลาม ๕ ประการ ได้แก่
( ๑ ) การปฏิญาณตน มุสลิม ต้องกล่าวปฏิญาณว่า “ ข้าพเจ้า ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และแท้จริงมุฮัมมัดเป็นศาสนทูต ( รอซูล ) ของอัลลอฮ์ “ การปฏิญาณนี้เปรียบเสมือนหัวใจของ ศาสนาอิสลาม ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมิใช่ทำครั้งเดียว แต่ต้องทำเสมอเมื่อนมัสการพระเจ้า (ละหมาด)
( ๒ ) การละหมาด คือ การนมัสการ หรือ การแสดงความเคารพต่อพระเจ้า ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ชาว มุสลิม ทุกคนจะต้องปฏิบัติละหมาดวันละ ๕ เวลา คือ ย่ำรุ่ง กลางวัน เย็น พลบค่ำ และกลางคืน ซึ่งก่อนทำละหมาดจะต้องชำระร่างกายให้สะอาด และสำรวมจิตใจให้สงบ
( ๓ ) การถือศีลอด หมายถึง การละเว้นจากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม การร่วมสังวาส ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน มุสลิม จะต้องถือศีลอดปีละ ๑ เดือน คือ ในเดือนรอมาฎอนตามปฏิทินของอิสลาม ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอด ได้แก่ คนชรา หญิงมีครรภ์ แม่ลูกอ่อน คนที่ต้องทำงานหนัก คนเดินทางไกล หญิงขณะมีรอบเดือนหรือหลังคลอด คนป่วย การถือศีลอดเป็นการแสดงถึงความศรัทธาในพระเจ้า ฝึกความอดทน และความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
( ๔ ) การบริจาคซะกาต หมายถึง การบริจาคทานให้แก่คนที่เหมาะสม ตามที่ศาสนากำหนด เช่น คนอนาถา เด็กกำพร้า คนขัดสน ผู้เผยแผ่ศาสนา การบริจาคซะกาต เป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ ชาว มุสลิม หรือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องสละทรัพย์ของตนในอัตราร้อยละ ๒.๕ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น เป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
( ๕ ) การประกอบพิธีฮัจญ์ หมายถึง การไปประกอบศาสนกิจ ณ ศาสนสถานบัยตุลลอฮ์ เมืองมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย การประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ได้บังคับให้ชาว มุสลิม ต้องกระทำ แต่ให้ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ที่พร้อม และมีความสามารถ คือ บรรลุนิติภาวะ มีสุขภาพดี มีทุนทรัพย์เพียงพอ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นอย่างดี




วันสำคัญทางศาสนา
          วันสำคัญของ ศาสนาอิสลาม ได้แก่ วันแรกของเดือนรอมาฎอน โดยการดูดวงจันทร์ในตอนพลบค่ำของวันที่ ๒๙ ของเดือนที่ ๘ (ตามปฏิทินอิสลาม) หากปรากฏว่าไม่เห็นดวงจันทร์ ต้องถือวันถัดไปอีกวันหนึ่งเป็นวันแรกของเดือนรอมาฎอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร