ชื่อศาสนา
ขงจื๊อ (Confucius)
สัญลักษณ์ศาสนา
สัญลักษณ์ของศาสนาขงจื๊อ ได้แก่รูปปั้น รูปหล่อ หรือรูปเขียนของขงจื๊อ
ประเภทของศาสนา
พหุเทวนิยม (Polytheism) นับถือพระเจ้าหลายองค์ และอาจผสมผสานกับการบูชาธรรมชาติ
ศาสดา
ขงจื๊อ
วันเดือนปีกำเนิดศาสนา
เกิดก่อน ค.ศ. ประมาณ 551 ปี หรือก่อน พ.ศ. ประมาณ 8 ปีคิดตามปีเกิดของขงจื๊อ
สถานที่กำเนิดศาสนา
ประเทศจีน
เหตุเกิดศาสนา
ศาสนานี้ตั้งชื่อตาม ขงจื๊อ ซึ่งเป็นผู้สั่งสอนและเขียนตำรา เดิมทีเดียวตั้งแต่สมัยขงจื๊อยังมีชีวิตอยู่มิได้ถือกันว่าคำสั่งสอนต่างๆ ของขงจื๊อเป็นศาสนา แต่เมื่อขงจื๊อสิ้นชีวิตแล้ว ศิษย์และผู้นิยมในคำสอนได้พากันยกย่องสรรเสริญ และต่อมาถึงกับมีประกาศเป็นทางราชการให้มีการบูชาขงจื๊อ
จำนวนผู้นับถือศาสนา
ศาสนาขงจื๊อและ ศาสนาเต๋า ได้ถูกจัดประเภทรวมกันเป็นศาสนาของจีนว่า มีผู้นับถือ
ประมาณ 225,000,000 คน (ปี ค.ศ.2002)
ที่มา : http://www.adherents.com/Religions_By_Adherents.html
ประวัติศาสดา
ขงจื๊อเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 551 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดในแคว้นลู้ ซึ่งกลายเป็นจังหวัดซานตุงในปัจจุบัน เป็นน้องคนสุดท้อง มีพี่ 10 คน บิดาชื่อชูเลียงโห ท่านถึงแก่กรรมเมื่อขงจื๊ออายุได้ 3 ปี จึงเป็นเหตุให้ขงจื๊อต้องทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เมื่ออายุ 15 ปี เริ่มสนใจในการเล่าเรียน อายุ 19 ปี ได้รับราชการเป็นพนักงานรักษาฉางข้าวและในปีนั้นเองขงจื๊อได้แต่งงาน เมื่ออายุ 20 ปี จากการปฏิบัติงานได้มาก จึงได้เลื่อนหน้าที่เป็นหัวหน้าการนาในอำเภอที่รับราชการนั้น ระหว่างเวลาดังกล่าว ขงจื๊อได้หาเวลาว่างศึกษาประวัติศาสตร์ ดนตรี และบทกวี มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ
ในทางวิชาความรู้ มีผู้ชอบมาสนทนาไต่ถามและศึกษาความรู้อยู่เสมอ เมื่อ อายุ 23 ปี มารดาผู้มีนาม ว่า ชิงไส่ ถึงแก่กรรมขงจื๊อจึงลาออกจากราชการ เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่มารดาเป็นเวลา 3 ปี ระหว่างที่ไว้ทุกข์นั้น ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ บทกวี และปรัชญาอย่างจริงจัง เมื่อครบกำหนดไว้ทุกข์ไว้แล้ว มิได้กลับเข้ามารับราชการอีก แต่ได้ประกอบอาชีพในทางเป็นครู มีนักเรียนในแคว้นลู้และแคว้นใกล้เคียงมาเล่าเรียนด้วยมาก เมื่ออายุ 34 ปี ขงจื๊อมีศิษย์กว่า 3,000 คน
เมื่ออายุ 52 ปี ประชาชนเมืองจุงตูมาขอร้อง ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารแห่งเมืองหนึ่ง และได้บริหารอย่างได้ผลดียิ่งถึงขนาดไม่มีโจรผู้ร้าย และโรงศาลว่างจากคดีต่างๆ ต่อมาได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาของเจ้าผู้ครองแคว้นลู้ทำให้แคว้นนั้นมั่งคั่งและมีอำนาจมาก แคว้นใกล้เคียงริษยา จึงคิดอุบายส่งม้าแข่ง และสตรีสาวนักรำมากำนัล เพื่อให้เจ้าผู้ครองแคว้นลุ่มหลง และก็ได้ผลคือแคว้นลู้ยากจนลงและมีผู้ทำผิดทางอาญามากขึ้น ขงจื๊อจึงเสียใจจึงออกจากแคว้นลู้ไปสู่แคว้นอื่น ขงจื๊อท่องเที่ยวหาผู้ครองนครที่เชื่อฟังคำแนะนำของตนอยู่เป็นเวลา 15 ปี ก็ไม่พบว่าใครประสงค์จะทำเช่นนั้นหลังจากนั้นจึงเกินทางกลับแคว้นลู้อีก ในระหว่างเดินทางภริยาได้ถึงแก่กรรมในแคว้นลู้ เมื่อเดินทางกลับแคว้นลู้เจ้าผู้ครองแคว้นลู้ได้ขอร้องให้ขงจื๊อเป็นหัวหน้าที่ปรึกษา แต่ขงจื๊อตกลงใจจะแต่งประวัติแคว้นลู้และรวบรวมบทกวีเก่าๆของจีน ยิ่งอายุมากขงจื๊อยิ่งทำงานหนักในการรวบรวมเรียบเรียงต่างๆซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ในสมัยต่อมาและได้ถึงแก่กรรมในปี 478 ก่อนค.ศ.( เมื่ออายุ 74 โดยปี )
แนวคิดเรื่องนรกสวรรค์
ขงจื๊อกล่าวถึงสวรรค์ว่า “สวรรค์เท่านั้นมีความยิ่งใหญ่” ฤดูกาลเกิดขึ้นและทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ความมั่งคั่งและอำนาจอยู่ที่สวรรค์ สวรรค์สามารถทำลาย สวรรค์ไม่มีตัวตน สวรรค์มีชื่อว่า เทียน (Tien) มีครั้งหนึ่งสวรรค์ถูกเรียกว่า ชังตี่ (Shang Ti-เทพเจ้า) “ความตายและชีวิตคือ เจตนารมณ์ของสวรรค์” “ตั้งแต่เริ่มต้นมนุษย์ทุกคนต้องตาย”
แนวคิดเรื่องจุดหมายปลายทาง
1.จุดหมายปลายทาง คือ เทียนหรือสวรรค์ ผู้ปฏิบัติชอบตายไปแล้วก็เป็นวิญญาณฝ่ายที่ชอบที่จะเข้าถึงสวรรค์ได้ในที่สุด
2.วิธีปฏิบัติ ตั้งอยู่ในคุณธรรมเก่า ผู้เป็นประมุขควรทำตัวให้ดีเป็นตัวอย่าง
3.ชีวิตในโลกนี้ มีเพียงครั้งเดียว การที่มีการบูชาบรรพบุรุษก็ด้วย เชื่อว่าผู้ตายไปแล้วยังมีชีวิตอยู่ ในฐานะเป็นวิญญาณ
วิธีปฏิบัติในศาสนา
ขงจื๊อเน้นในเรื่องการดำเนินชีวิตในสังคม ไม่หลีกหนีสังคม จะต้องแก้ไขสังคมก่อน ให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาธรรมบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขงจื๊อมุ่งชำระสังคมที่ไม่สะอาดขาดระเบียบและกฎเกณฑ์ให้เรียบร้อย เพื่อความสันติสุขของประชาชนในชาติเป็นสำคัญ
มีข้อความในคัมภีร์ลุนยู ตอนหนึ่งอธิบายถึงหลักการที่จะนำมาปฏิบัติ ได้ตลอดชีวิต เมื่อลูกศิษย์ชื่อจือกุงถามว่า “มีภาษิตอะไรที่อาจใช้เป็นหลักความประพฤติได้ตลอดชีวิต” ขงจื๊อ ตอบว่า “ซู” ใช้ได้ นั่นคือ จงอย่าทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้คนอื่นทำแก่ท่านต่อคนอื่น
การบำเพ็ญธรรมหรือมรรค ก็คือการปฎิบัติตนให้สัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ผสมกลมกลืนกับความบริสุทธิ์สะอาด เพื่อบรรลุเทียนหรือสวรรค์เป็นที่สุดแห่งวิญญาณ
หลักธรรม
ในเรื่องมนุษย์ในคัมภีร์ลุนยู ขงจื๊อกล่าวว่า คนเราต่างหากที่ทำความจริงให้ยิ่งใหญ่ มิใช่ความจริงทำให้คนยิ่งใหญ่ ความจริงไม่อาจแยกจากธรรมชาติของมนุษย์ได้ ถ้าจะมีสิ่งใดแยกออกก็ไม่ถือว่าเป็นความจริง และมนุษย์ทุกคนย่อมปรากฏเพียงเหมือนเป็นคนเดียวเท่านั้น
ในเรื่องมนุษยธรรม เมื่อมีผู้ถามว่า มนุษยธรรมคืออะไร ขงจื๊อได้ตอบว่า เมื่ออยู่นอกบ้านจงประพฤติอย่างกับท่านอยู่ต่อหน้าแขกคนสำคัญ จงปฏิบัติต่อสามัญชนดุจว่าท่านกำลังประกอบพิธีสำคัญๆ อยู่ จงอย่าทำแก่คนอื่นในสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้คนอื่นทำแก่ท่าน แล้วความไม่พอใจใดๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งในแว่นแคว้นและที่บ้าน และกล่าวอีกว่า ผู้มีเมตตากรุณาปรารถนาจะให้ผู้อื่นแต่งตั้งตน ก็จงหาวิธีแต่งตั้งผู้อื่นเมื่อปรารถนาจะให้ตนประสบผลสำเร็จ ก็ต้องช่วยผู้อื่นให้สัมฤทธิ์ผล จงพิจารณาตัดสินผู้อื่นโดยอาศัยวิธีที่เรารู้ว่าเป็นวิธีที่จะได้บรรลุถึงหลักมนุษยธรรม
ในเรื่องการศึกษา ขงจื๊อสอนว่า เมื่อเดินอยู่ด้วยกันสามคน ข้าพเจ้ามักมีครูเสมอ ข้าพเจ้าสามารถเลือกคุณสมบัติที่เลวๆ ของอีกคนหนึ่งออกแล้ว เอามาแก้ไขตัวข้าพเจ้าเองได้และผู้ที่รู้สัจธรรม สู้ผู้ที่รักสัจธรรมไม่ได้ ผู้รักสัจธรรมก็สู้ผู้ที่ชื่นชมยินดีในสัจธรรมไม่ได้ ข้าพเจ้าจะสอนท่านได้ไหมว่าอะไรคือความรู้ เมื่อท่านรู้อะไรสักอย่างหนึ่งก็บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้อะไรสักอย่างก็ยอมรับว่าไม่รู้นั่นแหละคือความรู้
ในเรื่องกตัญญูกตเวที ขงจื๊อย้ำมากว่า บุตรต้องดีต่อบิดามารดา ทุกวันนี้บุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดาก็คือ ผู้ที่หาข้าวปลาอาหารมาให้บิดามารดาเท่านั้นเอง แม้แต่สุนัขและม้าเราก็ให้อาหารมัน ถ้าหากว่าไม่มีความเคารพนับถือบิดามารดาอยู่แล้ว บิดามารดาจะแตกต่างอะไรจากสุนัขและม้า ในการรับใช้บิดามารดานั้น บุตรอาจทัดทานบิดาอย่างสุภาพอ่อนโยนได้ เมื่อเห็นว่าบิดามารดาไม่คล้อยตามคำแนะนำก็ควรแสดงอาการกิริยาที่เคารพนบน้อมไว้อย่างเดิม แต่อย่าเพิ่งล้มเลิกความตั้งใจเดิมเสีย ถ้าหากว่าจะถูกด่าหรือถูกเฆี่ยน ก็ไม่ควรอุทธรณ์ฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น การปฏิบัติต่อบิดามารดาเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ด้วยความรักและความเคารพพร้อมทั้งการปฏิบัติด้วยความเสียใจเมื่อท่านเสียไปแล้ว เป็นการปลดเปลื้องหน้าที่อันสำคัญของมนุษย์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น การบูชาบรรพบุรุษจึงเป็นพิธีกรรมที่ขงจื๊อถือว่าเป็นรากฐานแห่งศีลธรรม
ในเรื่องลักษณะของคนดี ขงจื๊ออธิบายว่า คนดีต้องปฏิบัติสิ่งที่เขาสอนได้ก่อนแล้ว จึงค่อยสอนผู้อื่นในสิ่งที่เขาปฏิบัติ ไม่ใช่ดีแต่สอนเขา คนดีในทัศนะของขงจื๊อคือคนที่ชอบสงบเรียบง่าย ส่วนคนชั่วมีความกังวลทุกข์ทรมานอยู่เสมอ คนดีเข้าใจความดี คนชั่วเข้าใจเฉพาะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเท่านั้น คนดียึดคุณธรรม คนชั่วยึดทรัพย์สมบัติ คนดีคิดถึงแต่บทลงโทษ แต่คนชั่วคิดแต่จะหาผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น คนดีย่อมเรียกร้องเอาที่ตัวเอง ส่วนคนชั่วเรียกร้องเอาจากคนอื่น
เกี่ยวกับการปกครอง ขงจื๊ออธิบายถึงลักษณะของผู้ปกครองบ้านเมืองว่า ถ้าหากผู้ปกครองเอง เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม คนทั้งปวงก็ต้องอยู่ในธรรมโดยมิต้องบังคับเลย จงใช้กฎหมายนำประชาชน และทำกฎหมายให้เป็นที่เกรงขามแก่ประชาชน โดยอาศัยการลงโทษเถิด แล้วประชาชนก็จะเกรงกลัวคุกตะรางเอง แต่ประชาชนก็ยังไม่มีความรู้สึกละอายใจอยู่ ฉะนั้น จงใช้คุณความดีนำประชาชนแล้วจงใช้กฎแห่งความประพฤติที่ดีงามควบคุมประชาชนเถิด แล้วประชาชนก็จะมีความรู้สึกละอายใจ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะกลายเป็นคนดีต่อไป และความจำเป็นในการปกครองนั้น ขงจื๊อเห็นว่าประชาชนจะต้องมีกินจะต้องมีกองทัพที่สามารถเพียงพอ และประชาชนจะต้องมีความเชื่อถือในผู้ปกครอง ในสามเรื่องนี้ความเชื่อถือในผู้ปกครองสำคัญ และจำเป็นที่สุดเพราะประชาชนไม่อาจจะเป็นอยู่ได้โดยปราศจากความเชื่อถือในผู้ปกครอง
คำสอนในการปกครอง แบ่งออกได้ 3 ชั้น คือ
1.ระดับสูง คือ การให้ชาติต่างๆ ในโลกรวมเป็นชาติเดียว และบริหารโดยรัฐบาลเดียวกัน
2.ระดับกลาง คือ เมื่อทำอย่างแรกไม่ได้ก็ต้องให้มีรัฐบาลประจำชาติเป็นดีที่สุด และการที่จะเป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดก็ต้องมาจากผู้ปกครองหรือผู้นำของรัฐเอง
3.ระดับพื้นฐาน คือ การปกครองในระดับครอบครัว ขงจื๊อถือว่าสำคัญที่สุดและย้ำว่า ก่อนที่จะเป็นนักปกครองที่ดีได้นั้น ผู้ปกครองจะต้องปกครองใจตนเองให้ได้ก่อน ให้ใจตั้งอยู่ในสัจจะและยุติธรรมจึงจะบริหารครอบครัวได้ แล้วจึงจะสามารถปกครองสังคมและจึงจะเป็นรัฐบาลที่ดีได้
ขงจื๊อย้ำให้ผู้ปกครองปฏิบัติตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรมเสียก่อนจึงจะบริหารนำพาคนอื่นได้ ขงจื๊อสอนให้ตั้งตนจากตนเองออกไปหาครองครัว สังคม ประชาชนและประเทศชาติตามลำดับ เพราะสังคมประกอบขึ้นจากปัจเจกชน
หัวใจของการปกครองนั้น ขงจื๊อสรุปว่า คือ ความเป็นผู้เคร่งครัดในนิติธรรมเนียม ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตน รัฐก็ได้ชื่อว่าเป็นรัฐสันติสุข แปลว่า ผู้ปกครองทำหน้าที่ของผู้ปกครอง ข้าราชการทำหน้าที่ของข้าราชการ บิดาทำหน้าที่ของบิดา บุตรทำหน้าที่ของบุตร
จริยศาสตร์
จริยศาสตร์ขงจื้อ คือการสอนนักปกครองให้เอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน คุณงามความดีต่างๆ ที่ขงจื้อสอน เช่น การทำคนให้เหมาะสม ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความรัก การศึกษา ความยุติธรรม ความรู้จักประมาณ การบำเพ็ญประโยชน์ ความเคารพ ความรู้จักประมาณ ความสงบ และการค้นหาความจริง
“ ปัญญา การบำเพ็ญประโยชน์ ความเป็นผู้มีกำลังใจเข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ เป็นคุณธรรมประจำโลก ”
( คัมภีร์ 28 : 2 )
“ จงตอบแทนความร้ายด้วยความยุติธรรม จงตอบแทนความกรุณาด้วยความกรุณา ”
( คัมภีร์ 14 : 36 )
คุณธรรม 5 ข้อสำหรับนักปกครอง
1. การบำเพ็ญประโยชน์ หมายถึงการทำงานเพื่อความสุขสวัสดีของประชาชน
2. ความถูกต้อง ไม่พึ่งทำสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ผู้อื่นทำแก่ท่าน
3. ความเหมาะสม จงประพฤติตนต่อประชาชนที่ท่านปกครองด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามอยู่เสมอ
4. ปัญญา จงใช้ปัญญาและความเข้าใจ เป็นเครื่องนำทาง
5. ความจริงใจ จงมีความจริงใจต่อทุกคนที่ท่านเกี่ยวข้อง เพราะขงจื้อถือว่า ปราศจากความจริงใจเสียแล้ว โลกจะเกิดขึ้นไม่ได้
ขงจื๊อสอนว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนาไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ เพราะมีอุดมคติร่วมกันอยู่ที่ศีลธรรม ชีวิตที่ปราศจากความรัก คุณธรรมไม่อาจจะดำรงอยู่ได้
องค์คุณ 5 ประการ คือ
1. ความเมตตากรุณา ความเป็นผู้สำนึกในพระคุณความองอาจและความพากเพียร (เหริน)
2. ความถูกธรรม ความสุจริตจริงใจ (อี้)
3. ความเหมาะสมนิติธรรมเนียมประเพณี (หลี่)
4. ปัญญาและการศึกษา (จื้อ)
5. ความเป็นผู้เชื่อถือได้ ความจงรักภักดี (สีน)
การปฏิบัติต่อกันอย่างถูกต้อง
1. ผู้ปกครองแสดงความนับถือผู้อยู่ใต้การปกครอง และผู้อยู่ใต้การปกครองมีความจงรักภักดี
2. บิดา – มารดา มีความเมตตา บุตรมีความกตัญญูกตเวที
3. สามีประกอบด้วยคุณธรรม ภริยาเชื่อฟัง
4. พี่ชายวางตัวให้สมเป็นพี่ น้องชายเคารพพี่
5. เพื่อนวางตัวให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจกันและกันได้
คุณธรรม 5 ประการ สำหรับบุคคลที่ถือว่าเป็นคนดีหรือบุคคลชั้นสูง
1. มีทัศนคติที่ถูกต้อง คือ มีความคิดที่จะร่วมมือและถ้อยทีถ้อยอาศัยกับผู้อื่น
2. มีมารยาทที่ถูกต้อง คือ การศึกษากฎระเบียบความประพฤติซึ่งจะไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ
3. มีความรู้ที่ถูกต้อง คือ มีความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์ วรรณคดี หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม
4. มีความกล้าหาญทางจริยธรรม คือ มีความกล้าหาญที่จะซื่อตรงต่อตนเองและต่อผู้อื่น
5. มีความมุ่งมั่นปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ความยั่งยืนต่อเนื่องสม่ำเสมอไม่ย่อหย่อน
ดังนั้นในแง่จริยศาสตร์ศาสนาขงจื๊อจึงเข้ากันได้กับศาสนาเต๋าในเรื่องการบูชาบรรพบุรุษและบูชาเทพเจ้า เช่น ฟ้าดินที่ขงจื๊อรวบรวมไว้ก็ลงกันได้กับศาสนาชินโต ในเรื่องคุณธรรม เช่น ความกตัญญูกตเวทีก็เข้ากันได้กับศาสนาพุทธ ดังนั้น ชาวจีนจึงนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อรวมกัน และชินโตก็ได้รับอิทธิพลของศาสนาทั้งสาม โดยเฉพาะศาสนาขงจื๊อ จนกระทั่งในศาสนาชินโตมีการตั้งนิกายใหม่ชื่อนิกายขงจื๊อขึ้น 2 นิกาย คือ นิกายชินโตซูเซอิหะกับนิกายโตเซอิ-กโย ก็เนื่องมาจากอิทธิพลของคำสอนการบูชาบรรพบุรุษและบูชาฟ้าดินของชาวจีนสมัยโบราณ และความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ว่าเป็นประเพณีและจริยธรรมอันดีงาม
คัมภีร์
เกงทั้ง 5 และซูทั้ง 4 คือ คัมภีร์ของศาสนาขงจื๊อ คำว่าเกงหรือกิง คือ “สูตร” หรือแปลว่า “เล่ม” (Volume) บ้าง “วรรณคดีชั้นสูง” (Classics) บ้าง ส่วนคำว่า “ซู” แปลว่า “หนังสือตำรา” (Books) ส่วนใหญ่แห่งคำสอนของขงจื๊อเป็นเรื่องจริยธรรมและหน้าที่ผู้ปกครองและพลเมืองดี รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา และการอาชีพ
เกงหรือกิงทั้ง 5
1.ยิกิง (Yi-King) คัมภีร์แห่งความเปลี่ยนแปลง ว่าด้วยจักรวาล เป็นการรวบรวมตำราเก่าแก่และมีข้อเขียนของขงจื๊อเพิ่มเติม
ขยายความบ้าง
2.ซูกิง ( Shu-King) คัมภีร์แห่งประวัติศาสตร์กล่าวถึงเหตุการณ์และ การปกครองประเทศ ย้อนหลังไปถึงสมัยประมาณ
2400 ปีก่อนคริสตศักราช
3.ซีกิง (Shi-King) คัมภีร์แห่งบทกวี เช่น บทกวีในขณะทำพิธีบูชาฟ้าดิน
4.ลิกิง (Li-King) คัมภีร์แห่งพิธีกรรม คำว่าลิกิง หรือ ลิ-กี (Li-Ki) คัมภีร์นี้มิใช่ว่าด้วยศาสนพิธีเท่านั้นแต่ยังเกี่ยวกับมารยาท
ทางสังคมด้วย
5.ชุนชิว (Chun-Tsiu) คัมภีร์ แห่งจดหมายเหตุฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วง เป็นบันทึกเหตุการณ์ในแคว้นลู้ซึ่งขงจื๊ออาศัย
อยู่ ย้ำถึงชีวิตที่ประกอบด้วยศีลธรรมของผู้ปกครอง และการปกครองโลกโดยศีลธรรมของฟ้า
คัมภีร์ทั้ง 5 นี้ เดิมก็เป็นข้อเขียนหรือหนังสือธรรมดาแต่ต่อมาได้รับความยกย่องให้เป็นวรรณคดีชั้นสูงและเป็นหลักคำสอนด้วย
ซูทั้ง 4
1.ต้าเซี่ยว (Ta Hsio) คัมภีร์แห่งอุดมศึกษา มีข้อความเกี่ยวกับศีลธรรม เชื่อกันว่าเป็นข้อเขียนของขงจื๊อเอง
2.จุนยุง (Chun-Yung) “คำสอนเรื่องทางสายกลาง” มีข้อความเกี่ยวกับความรู้จักประมาณ กล่าวกันว่าเป็นข้อเขียนของ
หลานชายขงจื๊อ อนึ่ง ทั้งต้าเซี่ยว และจุนยุง มีผู้กล่าวว่านำมาจากคัมภีร์ลิกีเพียงแต่มีคำอธิบายเพิ่มขึ้น
3.ลุนยู (Lun-Yu) เป็นประมวลคำสอนของขงจื๊อ ซึ่งบรรดาศิษย์ของขงจื๊อรวบรวมไว้
4.เม่งจื๊อ (Meng Tze) ข้อเขียนเกี่ยวกับขงจื๊อที่เม่งจื๊อ ซึ่งเป็นศิษย์ของขงจื๊อเขียนไว้ ในสมัยต่อมาประมาณ 100 ปี
พิธีกรรม
ขงจื๊อได้เขียนข้อสนับสนุนประเพณีโบราณไว้เป็นอันมาก รวมทั้งประเพณีในการบูชาฟ้าดิน และบูชาบรรพบุรุษด้วย ศาสนาขงจื๊อจึงรับเอาประเพณีทั้ง 2 ซึ่งมีมาแต่ก่อนหลายพันปีเข้าไว้เป็นหลักการใหญ่
ประเพณีต่างๆ ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ขงจื๊อก็รวบรวมเรียบเรียงไว้ และเมื่อขงจื๊อซึ่งเป็นศาสดาได้สิ้นไปแล้ว ศาสนาขงจื๊อก็อยู่ในฐานะศาสนาของรัฐ พิธีกรรมในการบูชาจึงแบ่งออกเป็น 2 อย่าง ดังนี้
1. พิธีบูชาขงจื๊อ เริ่มต้นเมื่อปี 195 ก่อน ค.ศ. (พ.ศ. 348) พระจักรพรรดิจีนได้นำสัตว์ที่ฆ่าแล้วไปทำพิธีบูชาที่หลุมฝังศพของขงจื๊อ และมีคำสั่งเป็นทางราชการให้มีการเซ่นไหว้ขงจื๊อเป็นประจำ และให้สร้างศาลของขงจื๊อขึ้นทั่วทุกหัวเมืองที่สำคัญ แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ ทั้งให้วันเกิดของขงจื๊อ คือวันที่ 27 สิงหาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปีของจีน และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน
2. พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์ ในปีหนึ่ง จะมีรัฐพิธี 4 ครั้ง ดังนี้
2.1 พิธีบูชาฟ้า กระทำกันประมาณวันที่ 22 ธันวาคม พระจักรพรรดิจะทรงเป็นประธารในพิธี ในพิธีจะมีการแสดงดนตรี การแห่โคมไฟ มีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น อาหาร ผ้า ไหม เหล้า เป็นต้น เสร็จแล้วจะเผาเครื่องเซ่นไหว้หมด แท่นบูชาอยู่ทางทิศใต้ของกรุงปักกิ่ง ทำด้วยหินอ่อนสีขาว มีระเบียงลดหลั่นเป็นชั้น 3 ชั้น
2.2 พิธีบูชาดิน เป็นการบูชาธรรมชาติหรือเทพประจำธรรมชาติ ผู้ประกอบพิธีเป็นขุนนาง หรือข้าราชการ กระทำเป็นงานประจำปี ประมาณวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน ที่เรียกว่า ศรีษมายัน ณ แท่นบูชา อยู่ทางทิศเหนือกรุงปักกิ่ง สถานที่บูชามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมรอบ
2.3 พิธีบูชาพระอาทิตย์ กระทำเป็นทางราชการประจำปี ณ ที่บูชาทางประตูด้านตะวันออกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 21 มีนาคม ที่เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต คือวันที่กลางคืนและกลางวันเท่ากัน ในฤดูใบไม้ผลิ
2.4 พิธีบูชาพระจันทร์ กระทำเป็นทางราชการประจำปี ณ ที่บูชาด้านทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ประมาณวันที่ 22 หรือ 23 กันยายนที่เรียกว่า วันศารทวิษุวัต คือวันที่กลางวันและกลางคืนเท่ากัน ในฤดูใบไม้ร่วง
พิธีบูชาฟ้า ดิน พระอาทิตย์ และพระจันทร์ กระทำใน 4 ฤดูกาล วันเวลาไม่ตรงกัน และสถานที่ 4 ทิศ ของกรุงปักกิ่ง ประเพณีพิธีกรรมเช่นนี้ ได้ถือปฏิบัติ กันมานานหลายพันปีแล้ว มิใช่พึ่งมาปฏิบัติกันในสมัยของขงจื๊อ แต่ขงจื๊อเห็นว่า ประเพณีเหล่านี้มีประโยชน์ มีคุณค่าต่อจิตใจ เพียงปฏิบัติสืบๆ ต่อกันมา ยังมิได้มีการจดจารึกไว้เป็นเรื่องราว เมื่อขงจื๊อเขียนตำรา จึงรวบรวมประเพณีพิธีกรรมเหล่านี้เข้าไว้ด้วย เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประเพณีเหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งศาสนาขงจื๊อไปด้วย
นิกาย
นักการศาสนาบางกลุ่มกล่าวว่า ศาสนาขงจื๊อไม่มีนิกาย แต่แม้จะไม่ปรากฏว่ามีนิกายโดยตรง แต่ก็มีหนังสือหลายเล่มกล่าวถึงผู้นับถือศาสนาขงจื๊อพวกใหม่ หรือที่เรียกว่า Neo-Confucianism ในสมัยราชวงศ์ซุง (ค.ศ. 960 – 1279 ตรงกับ พ.ศ. 1503 – 1822) ซึ่งรับเอาความคิดในเรื่อง หยิน – หยาง ซึ่งเป็นระบบของโลก ระหว่างความมืดกับความสว่าง ความชั่วกับความดี อันเป็นของคู่กัน คือ หยินเป็นสิ่งแทนความมืดและความชั่ว ส่วนหยางเป็นสิ่งแทนความสว่างและความดี เมื่อมีคำว่าผู้นับถือศาสนาขงจื๊อใหม่ ทำให้เกิดความคิดถึงพวกที่นับถือแบบเก่า ซึ่งแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ชัดเจนถึงขนาดจะกล่าวว่าเป็นนิกาย
*********************
ที่มา http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel8p4.htm
บล็อกนี้เป็นบล็อกที่ออกแบบเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆร่วมกันของแต่ละบุคคลไม่เจาะจงว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ และเนื้อหาที่นำมาแสดงส่วนใหญ่รวบรวมจากแหล่งที่มาต่าง ๆ กัน บล็อกนี้ไม่มีเจตนาล่วงละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เพียงต้องการรวบรวมมาไว้เพื่อศึกษาเป็นวิทยาทานและธรรมทานเท่านั้น
ข้อมูลส่วนตัว
- เทวมินทร์ 083-6617556
- จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
- tavamin@hotmail.com
ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ
ค้นหาบทความในบล็อกนี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น