ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศาสนาเต๋า

 ชื่อศาสนา   

      ศาสนาเต๋า (Taoism) เต๋า แปลว่า ทาง หมายความว่า ธรรมชาติ


   สัญลักษณ์ศาสนา   

     สัญลักษณ์ของศาสนาเต๋า ที่ใช้อยู่มี 2 อย่างคือ ภาพเล่าจื๊อขี่กระบือ อันหมายถึงการเดินทางครั้งสุดท้าย เมื่อลาออกจากราชการแล้ว ไปพรมแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองโฮนาน
     สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ รูป หยิน-หยาง คำว่า หยิน-หยาง เป็นคำแสดงถึงสิ่งที่เป็นของคู่กันในธรรมชาติ คือ หยินได้แก่ความมืด เงามืด ความหนาวเย็น ความอ่อนแอ เพศหญิง ส่วนหยางได้แก่แสงสว่าง ความร้อน ความเข้มแข็งหรือพละกำลัง เพศชาย

   ประเภทของศาสนา   

      เทวนิยม   (Theism)

   ศาสดา   

     เล่าจื๊อ

   วันเดือนปีกำเนิดศาสนา    

     เกิดก่อน ค.ศ. ประมาณ 605 ปี หรือก่อน พ.ศ. ประมาณ 61 ปี คิดตามสมัยเล่าจื๊อ

      สถานที่กำเนิดศาสนา    

     
ประเทศจีน
   เหตุเกิดศาสนา     

     
ศาสนาเต๋าเกิดขึ้นและพัฒนาในช่วงเวลาที่จีนตกอยู่ในภาวะของการมีสงครามภายในประเทศ ซึ่งเป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ในศตวรรษที่ 5 ประเทศจีนถูกแบ่งออกเป็นแคว้นใหญ่ๆ หลายแคว้น สังคมจึงมีแต่ความสับสนวุ่นวาย แต่ในเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ นี้เป็นแรงผลักดันให้นักปราชญ์ชาวจีนเริ่มหันมาพัฒนาแนวความคิดทางด้านอภิปรัชญา จนก่อให้เกิดศาสนาใหม่ขึ้น ซึ่งมีความสำคัญคือ ศาสนาเต๋า มีอิทธิพลทำให้สังคมที่มีความสับสนวุ่นวายค่อยๆ สงบ ทำให้การดำเนินชีวิตของคนในสังคมมีความเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ศาสนาเต๋าสอนให้คนทำประโยชน์แก่คนอื่นโดยไม่แฝงความเห็นแก่ตัวไว้ มีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของคนอื่นซึ่งเดิมนับถือภูตผีปีศาจให้เน้นเรื่องอภิปรัชญามากขึ้น และทำให้สังคมคนจีนเจริญก้าวหน้า
          จำนวนผู้นับถือศาสนา    
       ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ ได้ถูกจัดประเภทรวมกันเป็นศาสนาของจีนว่า มีผู้นับถือ
       ประมาณ 225,000,000 คน (ปี ค.ศ.2002)
       ที่มา : http://www.adherents.com/Religions_By_Adherents.html

 ประวัติศาสดา  

     ชื่อจริงของเล่าจื๊อ (Lao tze) คือ ลิ เออ (Li Uhr) เป็นบุคคลในตระกูลแซ่ “ลิ” เกิดเมื่อปี 604 ก่อนคริสตศักราช ที่จังหวัดโฮนานประเทศจีน ตอนเมื่อเกิดนั้น กล่าวกันว่า พอคลอดออกมาก็เป็นคนมีผมหงอกขาว และมีอายุ 72 ปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ท่านจึงชื่อ เล่าจื๊อ ซึ่งหมายถึง "เด็กแก่" หรือ "ครูเฒ่า" เมื่อรับราชการเป็นบรรณารักษ์ ที่หอสมุดหลวง สำนักของเจ้าเมือง เฉ่า ปรากฎว่ามีชื่อเสียงโด่งดังเพราะมี อำนาจสติปัญญาที่ลึกซึ้งกว่าคนธรรมดาสามัญ
     เมื่อขงจื๊อ อายุประมาณ 30 ปี (อายุน้อยกว่าเล่าจื๊อประมาณ 50 ปี) และเล่าจื๊ออายุมากแล้ว ครั้งหนึ่งขงจื้อได้เดินทางมาพบเล่าจื๊อ ท่านไม่ชอบคำสอนของขงจื้อเลย และได้รับคำตักเตือนจากเล่าจื๊อมิให้ทะนงหรือทะเยอทะยานเกินไป ถึงกับพูดว่า "กลับไปเสียเถิดและเลิกความหยิ่งความอยากของท่านเสียด้วยนะ"
     เมื่อพบกันแล้วขงจื๊อได้สรรเสริญให้ศิษย์ของตนฟังว่า เล่าจื๊อนั้นเปรียบเหมือนมังกรที่เหินลมและฝ่าเมฆขึ้นไปสู่ท้องฟ้า
     มีเรื่องเล่าว่า เล่าจื๊อ ไม่ชอบชีวิตหรูหรา แบบที่ทุกคนมุ่งมั่นเพื่อเงินชื่อเสียงและอำนาจ ในขณะเดียวกันทั้งเมืองก็เต็มไปด้วยการโกงกินกันอย่างมโหฬาร จึงได้ลาออกจากการ วันหนึ่งท่านจึงขับเกวียนเทียมวัวดำสองตัวมุ่งไปยังภูเขาด้านทิศตะวันตก พอถึงประตูเมืองนายประตูผู้รักษาด่านพรมแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งเมืองโฮนานจำได้ จึงขอร้องให้ท่านหยุดพักเพื่อเขียนปรัชญาแห่งชีวิต ท่านจึงได้เขียนคัมภีร์เต้าเต็กเก็งเป็นอักษรจีนประมาณ 5,000 คำ จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไป ปรากฏว่าพอถึงช่องแดนระหว่างภูเขา ท่านก็หายไป ตั้งแต่นั้นมาไม่มีใครทราบเรื่องราวของท่านอีกเลย

      แนวคิดเรื่องนรกสวรรค์        

     
เล่าจื๊อกล่าวว่า “บรรดาความยุ่งเหยิงซึ่งมีมาก่อนจะมีโลกและสวรรค์นั้น ยังคงมีความครบถ้วนสมบูรณ์อยู่ มันเป็นเจ้าแห่งจักรวาล ส่วนนามของมันข้าพเจ้าเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน จึงเรียกมันว่า “เต๋า”
     การจะพยายามพรรณนาถึง “เต๋า” ว่าเป็นสิ่งใดนั้น เป็นเรื่องใหญ่ในจักรวาล ซึ่งนับว่ามีอำนาจสำคัญยิ่งใหญ่ที่สุด 4 อย่าง คือ อำนาจของมนุษย์ที่มาจากโลก อำนาจของโลกที่มาจากสวรรค์ อำนาจสวรรค์ที่มาจากเต๋า อำนาจของเต๋ามาจากความเป็นไปในตัวของมันเอง (สิ่งที่เกิดเองเป็นเอง)
  แนวคิดเรื่องจุดหมายปลายทาง    
    1.จุดหมายปลายทาง
คือ เต๋า การเข้าถึงเต๋า คือการเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ ตามสภาวะที่แท้จริง ไม่เกี่ยวข้องด้วยคนหมู่มาก เล่าจื๊อเชื่อว่า ผู้ใดบรรลุเต๋าจะมีอายุยืน รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ชีวิตที่ดีที่สมบูรณ์คือชีวิตที่ผูกพันเป็นอันหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ธรรมชาติล้วนมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเองพร้อมจะให้คุณแก่ผู้ทำความดี และในขณะเดียวกันก็พร้อมจะลงโทษแก่ผู้ที่ทำความชั่ว
    2.วิธีปฏิบัติ บำเพ็ญตนเป็นคนสงบระงับ ครองชีวิตในทางที่กลมกลืนกับธรรมชาติ
     3.ชีวิตในโลกนี้ มีเพียงครั้งเดียว )

             วิธีปฏิบัติในศาสนา    

      จุดประสงค์ของเต๋า ก็เพื่อให้เข้าถึงเอกภาพกับเต๋า ซึ่งดำเนินตามขั้นตอน ดังนี้
            1. เป็นนักพรตแสวงหาความสงัด
            2. ประพฤติข้องดเว้นต่างๆ
            3. ทัศนคติ และความเข้าใจที่ถูกต้อง
            4. การเข้าถึงเต๋าและมีคุณสมบัติของเต๋าทุกอย่าง

      เล่าจื๊อกล่าวถึงบุคลิกของ ผู้ปฏิบัติเต๋า ดังนี้
            1.ชาวเต๋าเป็นคนรอบคอบระวังตัว เหมือนคนที่จะข้ามลำน้ำในฤดูหนาว
            2.ชาวเต๋าเน้นคนยับยั้งชั่งใจเปรียบเหมือนคนที่เกรงใจเพื่อนบ้าน
            3.ชาวเต๋าเป็นคนมัธยัสถ์กาย ถ่อมตน เปรียบเหมือนเป็นแขกในบ้านผู้อื่น
            4.ชาวเต๋าเป็นคนที่ไม่ขัดขืนผู้ใด เปรียบเหมือนน้ำแข็งที่กำลังจะละลาย
      ในสมัยต่อมา เต๋าได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนาอยู่มาก การปฏิบัติของนักบวชในศาสนาเต๋า จึงมีความคล้ายคลึงกับนักบวชในพระพุทธศาสนามาก เต๋ามีสถาบันนักบวช เช่นเดียวกับพุทธศาสนา มีการครองผ้า การสาธยายมนตร์ และการบำพ็ญเพียร ผู้ออกบวชในศาสนาเต๋า เรียกว่า เต้าสือ ละบ้านเรือนลูกเมีย ออกไปอยู่ตามภูเขาลำเนาไพร บริโภคผักหญ้าเป็นอาหาร เพื่อหวังผลให้ถึงบรมสุขคือเต๋า

 หลักธรรม   

     หลักธรรมของศาสนาเต๋าก็คือ การดำรงชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติ การพยายามทำให้ถูกหลักของเต๋า ได้แก่ บำเพ็ญคุณงามความดี แต่อย่าฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม อย่าอยากเป็นใหญ่เป็นโต จงพยายามทำจิตให้สงบระงับ ถ่อมตัวเหมือนน้ำที่ทำประโยชน์ให้ แต่ไม่แข่งขันกับใครเลยพยายามอยู่ในที่ต่ำเสมอ หลักธรรมของศาสนาเต๋า มีทั้งภาคโลก ภาคธรรม แต่หนักในทางธรรม คือการครองชีพแบบไม่โลดโผน ทะเยอทะยาน แต่หลักธรรมดังกล่าวมิได้รับการส่งเสริมจริงจังนัก กลับมีการส่งเสริมทางเครื่องรางของขลัง เวทมนต์คาถา และการแสวงหายากินแล้วอายุยืนหรือกินแล้วไม่ตายกันมากกว่า
     สาระสำคัญแห่งคำสอนของเล่าจื๊อ คือ การไปรวมอยู่กับเต๋า มุ่งถึงเต๋าอันเดียว อันได้แก่ การดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติ เล่าจื๊อกล่าวว่า “จงทำตัวให้สมกับธรรมชาติ คอยยึดเต๋าเป็นแนวทาง” และว่า “ความยุ่งยากทั้งมวลในโลกนี้ เกิดจากการกระทำ การกระทำทั้งปวงเป็นเรื่องไร้สาระ จงเงียบเสีย การยอมรับโดยไม่ขัดขืนต่อธรรมชาติ เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสุข บุคคลไม่สามารถที่จะกระทำน้ำอันขุ่นข้นด้วยโคลนตมให้ใสสะอาดได้โดยการกวนน้ำนั้นไปมาจงทิ้งมันไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปทำอะไรมันทั้งนั้น น้ำก็จะใสขึ้นมาเอง” และอีกตอนหนึ่ง “จงสงบปากเสีย และปิดหนทางแห่งความรู้สึกเสีย บุคคลก็จะมีชีวิตอยู่นานแสนนาน จะไม่ประสบกับความยุ่งยาก จงละเว้นการกระทำเสีย วางตัวไว้โดยไม่กระทำสิ่งใด”
     เล่าจื๊อเน้นการเอาตัวรอดไปอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและเปรียบเทียบชีวิต “ตามธรรมชาติ” กับน้ำ ไว้ว่า
     “คนดีที่สุดเหมือนน้ำ น้ำให้ประโยชน์แก่ทุกสิ่ง และไม่พยายามแก่งแย่งกับสิ่งใด น้ำกักขังอยู่ในที่ที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นที่ที่ใกล้เต๋า”
     หมายความว่า สิ่งทั้งหลายเจริญเติบโตขึ้นด้วยน้ำ แต่น้ำไม่พยายามจะเลื่อนตัวเองให้ขึ้นไปอยู่ระดับสูง น้ำกลับพอใจอยู่ที่ต่ำ (ความอ่อนน้อมถ่อมตน) นี้แหละ คือ ธรรมชาติของเต๋า
     ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่การเอาชนะผู้อื่นหรือการได้ครอบครองทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ หรือ ความเปรื่องปราดอันใด แต่เป็นการยอมสงบต่อผู้อื่น มีความอดทน และเป็นกลาง สมตามเล่าจื๊อกล่าวไว้ว่า “ความอ่อนโยนย่อมเอาชนะความแข็งแกร่งได้” (Gentles Overcome Strengths)
     ชีวิตที่เป็นไปง่ายๆ ไม่มีการแก่งแย่งแข่งเด่นแข่งดี ปล่อยให้เป็นไปตามวิวัฒนาการของธรรมชาติ ไม่มีการดิ้นรน เพื่อแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ให้เกิดอำนาจแห่งตน ทำประโยชน์ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน คือ ชีวิตที่มีความสุขสูงสุด ตามทัศนะของเล่าจื๊อ
     เล่าจื๊อ สอนว่า ถ้าบุคคลปรารถนาความสันโดษ ต้องดำเนินชีวิตให้คล้ายๆ กับเต๋า “ไม่มีความหายนะใดยิ่งไปกว่าการไร้ความสันโดษ” คนจำต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องต้องกันกับเต๋า และแสวงหาคุณลักษณะของเต๋าไว้ในตัว ชีวิตของเขาจะต้องมีระเบียบ และไม่หุนหันพลันแล่น พฤติกรรมของเขาจะต้องสงบระงับและสังวร ในความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เขาจะต้องเป็นสันติชน เขาต้องไม่มีความต้องการที่จะใช้อำนาจแทรกแซงหรือยึดมั่นในสิ่งใดๆ สงครามเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยคิด จนไม่อาจนิยมชมชื่นอาวุธยุทโธปกรณ์และการสงครามใดๆ ได้ ในเรื่องทะเลาะวิวาททั้งปวง เขาพอใจที่จะเจรจาเพื่อให้เกิดความตกลงกันอย่างมีเหตุผล เขาจะต้องเคารพทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์หรือแมลง เขาจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพและให้การศึกษาแก่คนอื่นโดยไม่มีความรู้สึกว่าเขาถูกสอน

           จริยศาสตร์   

     จริยศาสตร์ที่ย้ำมากในคำภีร์เต๋า คือความสงบ ไม่วุ่นวาย ความง่ายๆ ไม่นิยมฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไม่นิยมการคิดจะเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในโลก พอใจความถ่อมตัวการไม่วางตัวสูงกว่าคนอื่นรักษาความดีไว้ให้คงที่ มุ่งหน้าทำประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยไม่แฝงความเห็นแก่ตัวได้ นอกจากนั้นยังสอนแนะนำให้ใช้ความดีต่อทั้งคนชั่วและคนดี

     ความอ่อนโยนก็เป็นหลักคำสอนที่คำภีร์เต้าเต็กเก็งอันเกี่ยวด้วยจริยศาสตร์ ดังต่อไปนี้
               อ่อนโยนชนะแข็งกร้าว
          “ เมื่อคนเกิดนั้น เขาอ่อนและไม่แข็งแรง
          แต่เมื่อตายเขาแข็งและกระด้าง
          เมื่อสัตว์และพืชยังมีชีวิตก็อ่อนและดัดได้
          แต่เมื่อตายก็เปราะและแห้ง
          เพราะฉะนั้น ความแข็งและความกระด้าง
          จึงเป็นพวกพ้องของความตาย
          ความอ่อนความสุภาพจึงเป็นพวกพ้อง
          ของความเป็น
          เพราะฉะนั้น เมื่อกองทัพแข็งกร้าว จึงแพ้
          ในสงคราม
          เมื่อต้นไม้แข็งจึงถูกโคน
          สิ่งที่ใหญ่ และแข็งแรงจะอยู่ด้านล่าง
          สิ่งที่สุภาพและอ่อนโยนจะอยู่ข้างบน ”
                                                                      บทที่ 76
          ตอบชั่วด้วยดี
          “ คนที่ดีต่อเรา เราก็ดีต่อ
          คนที่ไม่ดีต่อเรา เราก็ดีต่อด้วย
          เพราะฉนั้น ทุกคนจึงควรเป็นคนดี
          คนที่ซื่อสัตย์ต่อเรา เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
          คนที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อเรา เราก็ซื่อสัตย์ต่อด้วย
          เพราะฉนั้น ทุกคนจึงควรเป็นคนซื่อสัตย์ ”
                                                                      บทที่ 492
               สมบัติ 3 ประการ
          “ ข้าพเจ้ามีสมบัติอยู่ 3 ประการ
          ควรดูแลและรักษามันไว้ให้ดี
          ข้อดี 1 เมตตา
          ข้อดี 2 คือไม่มากเกินไป
          ข้อที่ 3 คืออย่าเป็นคนนำโลก
          เพราะความรัก บุคคลก็ไม่ต้องกลัว
          เพราะไม่ทำมากเกินไป
          บุคคลก็มีความสมบูรณ์
          เพราะไม่คิดจะเป็นเอกในโลก บุคคล
          ก็อาจทำให้สติปัญญาเจริญเต็มที่
          ถ้าละทิ้งเมตตา และความกล้าหาญ
          ถ้าละทิ้งความสำรวม รักษาไว้แต่อำนาจ
          ถ้าละทิ้งการตามหลัง
          แต่ชอบรุดออกหน้าเขาก็ตาย ”
  คัมภีร์  

     
ศาสนาเต๋ามีคัมภีร์ชื่อว่า เต้าเต็กเก็ง เป็นบทกวีภาษาจีน จัดเป็นหัวข้อได้ 81 หัวข้อ เรียกชื่อคัมภีร์นี้อีกอย่างหนึ่งว่า คัมภีร์ 5,000 คำ คือบรรจุถ้อยคำในภาษาจีนไว้ประมาณ 5,000 คำ
     คัมภีร์เต้าเต็กเก็ง อาจแยกคำได้ดังนี้
               เต้า หรือ เต๋า ได้แก่ ทาง หรือมรรค
               เต็ก ได้แก่ บุญ ความดี หรือคุณธรรม
               เก็ง ได้แก่ สูตร หรือวรรณคดีชั้นสูง
     เล่าจื๊อเป็นผู้เขียนคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เริ่มต้นด้วยการตอบปัญหาที่ว่า อะไรคือ หลักธรรมในคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง คือถือว่าเต๋าเป็นคล้ายกับพลังงานอย่างหนึ่ง ที่ทำให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเคลื่อนไหวได้ นอกจากนั้น ยังสอนให้คนมีคุณธรรม ไม่ทะเยอทะยาน ไม่โอ้อวด ไม่แข่งดีแย่งความเป็นใหญ่กัน ให้มีความสันโดษ
     เต๋าไม่ใช่พระเป็นเจ้า แต่เป็นพลังหรืออำนาจที่หลั่งไหลท่วมท้นทุกสิ่งทุกอย่าง มีความรักทะนุถนอม แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือยึดสิ่งใดเป็นเจ้าของ เป็นสิ่งที่ทำงานอย่างนุ่มนวลและสงบเสงี่ยมโดยไม่ต้องพยายาม สิ่งทั้งหลายก็จะเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ให้พิจารณาตัวอย่างความเจริญก้าวหน้าไปแต่ละปีของฤดูทั้ง 4 ซึ่งดำเนินไปตามกฎเกณฑ์จากฤดูหนึ่งไปสู่ฤดูหนึ่ง ชนิดไม่ทันได้สังเกต ถึงอย่างนั้น ในแต่ละฤดูธรรมชาติทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่โดยปราศจากความวุ่นวายในภาวะเช่นนี้ เต๋าทำหน้าที่เป็นประธานอย่างสงบและอย่างได้ผล (วู – เว) เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่เต๋าก็เป็นสิ่งที่พรรณนาไม่ได้ อยู่เหนือประสบการณ์ เพราะ “เต๋าที่รู้ได้ย่อมจะไม่ใช่เต๋าตัวจริง”
     คำว่า เต๋า หมายถึง ความเที่ยงแท้ (อุดมธรรม) อันสูงสุด (Ultimate Reality) ซึ่งเป็นเอกภาพ ไม่มีรูปร่าง ไม่อาจกำหนดได้โดยผัสสะ (Sense) ทั้งหลาย
ความสำคัญในคัมภีร์ “เต๋า – เตก – กิง” ตอนหนึ่ง เล่าจื๊อสอนให้เห็นความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ 3 ประการ อันบุคคลต้องถือเป็นหลักสำคัญของเต๋า คือ

     1. สาระ (Essence) หรือ รากฐานเดิม (ชิง) ข้อนี้มุ่งถึงสวรรค์ เรียกว่า วู – ซิง เทียนชุน (Wu hsing Tien Chun) หรือ เทียน –เปาชุน (Tien pao chun) แสดงโดยบุคลาธิษฐานทรงเป็นจอมโลก จอมสวรรค์ ปราศจากรูปสิงสถิตอยู่ในอาณากแห่งความบริสุทธิ์ เสมือนหยกวิเศษ อาณาจักรนี้เป็นอาณาจักรของนักบุญ

     2. พลัง (Vital Force) หมายถึง พลัง (จิ) แห่งสติปัญญา สามารถแสดงบุคลาธิษฐาน เรียกว่า วู ซี เทียนชุน (Wu – Shih ttien chun) หรือ หลิงเปาชุน (Ling – pao – chun) ทรงเป็นจอมแห่งปัญญา สถิตในอาณาจักรของความบริสุทธิ์อันสูงส่ง ปราศจากมูลเดิม

     3. วิญญาณ (Spirit) แสดงเป็นบุคลาธิษฐานเรียกว่า ฟาน – ซิง เทียนชุง (Fan – hsing tien chun) หรือ เชนเปาซุน (Shen pao Chun) เป็นจอมแห่งวิญญาณทั้งหลาย (เท่ากับพระพรหมในศาสนาพราหมณ์) ทรงสถิตอยู่ในอาณาจักรอันเป็นอมตะของอมรทั้งหลาย และเป็นผู้ทรงความบริสุทธิ์สูงยิ่ง ทรงเป็นมหาเทพ ทรงพระนามว่า ไทชิง อธิบายว่า เท่ากับตัวเล่าจื๊อ ผู้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ อวตารลงมาสั่งสอนมนุษย์

   
พิธีกรรม    
     
เรื่องพิธีกรรมในศาสนาเต๋า เนื่องจากเล่าจื๊อไม่ได้กำหนดไว้ ต่อมานักบวชเต๋าส่วนมากปฏิบัติเกี่ยวกับเวทย์มนต์และการปลุกเสก จึงทำให้นักบวชในศาสนาเต๋า กลายเป็นที่ปรึกษา คอยกำหนดฤกษ์ยาม และวันอันเป็นมงคล ในการประกอบพิธีต่างๆ เช่น พิธีแต่งงาน พิธีฝังศพ เป็นต้น และมีคำสอนเกี่ยวกับนรก คล้ายเป็นสถานที่ชำระวิญญาณบาปให้บริสุทธิ์ได้ ซึ่งผู้ที่ได้รับการชำระก็จะหลุดพ้นไปจากนรกได้ พิธีกรรมจึงเกิดจากการประยุกต์คำสอนในศาสนาขงจื๊อและพระพุทธศาสนา

     ประเพณีกิน กินเจ (มังสวิรัติ)
     เป็นประเพณีที่ผสมผสานกันระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาเต๋า ในประเพณีกินเจจะมีการอัญเชิญเทพเจ้ามาเข้าทรง มีการแสดงอภินิหารต่างๆ มากมาย แต่จุดสำคัญของการกินเจคือ การถือศีล และละเว้นการบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ ซึ่งจะมีผลให้ปราศจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่จะนำมาบริโภคเป็นอาหาร เทศกาลกินเจ ประวัติการกินเจคือเป็นช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ 10 วัน แด่ คน 9 คน ซึ่งเป็นชาวฮั่น ที่ได้ทำการปฏิวัติต่อต้านพวกแมนจู แต่ไม่สำเร็จจึงถูกประหารชีวิตโดยการตัดคอ และโยนลงสู่แม่น้ำหลังจากนั้นก็มีเจ้ามารับวิญญาณทั้ง 9 ไป ชาวจีนจึงยกย่องให้ชายทั้ง 9 เป็นเจ้าแห่งเทศกาลกินเจ เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ก็คือการไว้ทุกข์ให้บุคคลทั้ง 9 คน ซึ่ง เราเรียกกันว่า เจ้า วันกินเจ ก็จะไม่ตรงกันทุกปีถ้าจะดูจากปฏิทินของไทย แต่ถ้านับจากปฏิทินจีน 1 เดือนก็จะมี 29 - 30 วัน จะไม่มีวันที่ 31 วันกินเจวันแรกก็จะตรงกับวันสุดท้ายของเดือนที่แปดนับจากปฏิทินจีน ถ้าดูจากปฏิทินจีน เทศกาลกินเจก็จะตรงกันทุกปี

     นิกาย   
     เมื่อพุทธศาสนาแพร่เข้าไปในประเทศจีน ศาสนาเต๋าได้มีการผสมผสานกับพุทธศาสนาทำให้มีกลุ่มศาสนาเต๋าแยกออกไป
     ดร. เวอร์เนอร์ อิชฮอร์น แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 13 แห่งคริสตศักราชเป็นต้นมา มีความแตกต่างอย่างเห็นชัดระหว่างศาสนาเต๋าฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือ
     นิกายเซ็ง-อิ เป็นกลุ่มของผู้อยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีความเชื่อในฤทธานุภาพแห่ง “ท่านอาจารย์บนสวรรค์” (เทียนจื๊อ) เพราะฉะนั้น บางครั้งนิกายนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายเทียนจื๊อ ท่านอาจารย์บนสวรรค์ได้แก่ จางเต้าหลิง ซึ่งถือกันว่าเป็นบูรพาจารย์แห่งศาสนาเต๋า ดาบของท่านสามารถฆ่าภูตผีปีศาจ ซึ่งอยู่ไกลถึงพันไมล์ นิกายนี้เชื่อเรื่องคาถาอาคม เช่น ใช้คาถากันฝนตก กันฝนแล้ง ไล่ผี และเข้าทรง พวกที่นับถือนิกายนี้ มีความเป็นอยู่แบบชาวบ้านทั่วไปและมีครอบครัวต่างจากนักบวชของนิกายฝ่ายเหนือ
     นิกาย ชวน – เชน กลุ่มของผู้อยู่ทางเหนือ คำสอนของนิกายนี้คือ ควรดำรงชีพให้กลมกลืนกับธรรมชาติ รักสงบ เป็นอยู่อย่างง่ายๆ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ด้วยการครองชีพแบบนักบวช กลุ่มของนิกายนี้ส่วนใหญ่สละบ้านเรือน ออกอยู่ในวัด รับประทานอาหารเจ คือที่ไม่มีเนื้อสัตว์ อดอาหารในบางโอกาส และผู้ที่เป็นนักบวชจะแต่งงานไม่ได้ ดื่มน้ำเมาไม่ได้ มีความโน้มเอียงในการรวมศาสนาทั้ง 3 คือ เต๋า ขงจื๊อและพระพุทธศาสนาเข้าเป็นอันเดียวกัน
     นอกจาก 2 นิกายนี้แล้ว ยังมีนิกายย่อยๆ อีกหลายนิกาย ซึ่งไม่ค่อยมีความสำคัญนัก บางครั้งนิกายย่อยๆ เหล่านี้เรียกว่า นิกายลับ หรือสมาคมลับ
     ศาสนาเต๋าปัจจุบัน เป็นศาสนาของประชาชน ไม่มีประมุข หรือองค์การบริหารส่วนรวมเหมือนบางศาสนา แต่ยังมีวัด มีนักบวชชายหญิง มีศาลเจ้า มีสมาคม แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชาวจีน แต่รูปลักษณะของศาสนาได้ผิดเพี้ยนไปจากหลักการในคัมภีร์เต้าเต็กเก็งมาก คือเน้นไปทางทรงเจ้า บูชาเจ้า เป็นลักษณะพหุเทวนิยม (นับถือพระเจ้าหลายองค์) มีการจำหน่ายเครื่องลางของขลัง ทำพิธีขับไล่ผี เป็นต้น แต่มีบางกลุ่มมีการปฏิบัติเคร่งครัดตามหลักคัมภีร์เต้าเต็กเก็ง

***************************

ที่มา http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel7p4.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร