ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปรัชญาจีน

ปรัชญาจีนเกิดขึ้นมานานหลายพันปีและมีมากมาย ทั้งนี้ก็เพราะประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีประชากรมากที่สุดในโลกดังกล่าวแล้ว จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีนักคิดนักค้นคว้าในเรื่องต่างๆ อยู่มาก ประเทศจีนจึงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เพราะมีความเจริญก้าวหน้าและมีวิทยาการต่างๆ มากมาย เมื่อกล่าวถึงปรัชญาแล้ว ปรัชญาจีนถึงแม้จะมีมากอย่างที่เรียกว่า ปรัชญาร้อยสำนัก แต่เมื่อกล่าวถึงสำนักใหญ่ๆ ที่มีผลงานตกทอดมาถึงปัจจุบันก็มี ๔ สำนักคือ ๑. สำนักปรัชญาเต๋า  ๒. สำนักปรัชญาขงจื้อ  ๓. สำนักปรัชญาม่อจื้อ และ ๔. สำนักปรัชญานิตินิยม ซึ่งมีเนื้อหาสาระของแต่ละสำนักโดยสังเขปดังนี้

  ๑.สำนักปรัชญาเต๋า สำนักนี้มีเหลาจื้อหรือเล่าจื้อเป็นหัวหน้า และนักปรัชญาอื่นๆ ที่สำคัญของสำนักนี้ก็มี จวงจื้อหรือจังจื้อ ปรัชญาในสำนักนี้มีเต๋าเป็นจุดหมายสูงสุด เต๋าเป็นนามธรรม แต่ก็เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง คอยหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง และเป็นจุดหมายสูงสุดของสรรพสิ่ง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะเต๋า ตำรงอยู่ได้เราะเต๋าและกลับคืนสู่เต๋าอีก สำนักนี้เชื่อว่าคนเคยมีความสุขสบายในบุรพกาลมาแล้วแต่เพราะความที่ขาดปัญญาจึงเห็นผิดเป็นชอบ ตอบสนองกิเลสตัณหาโดยหันหลังให้กับธรรมชาติดั้งเดิม แล้วมุ่งสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมขึ้นมา ผลก็คือแต่ละคนมีความทุกข์ สังคมวุ่นวาย มีปัญหาน้อยใหญ่ให้แก้อย่างมิรู้จบสิ้น สำนักนี้มีความเห็นต่อไปว่า วิธีที่จะแก้ความยุ่งยากนั้นได้ก็โดยการหยุดสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมเสีย แล้วกลับเข้าหาธรรมชาติดั้งเดิมของตนอีก นักปรัชญาสำคัญอีกคนหนึ่งคือ หยางจื้อ ถึงแม้จะมีปรัชญาไม่เหมือนใครโดยเฉพาะ แต่ก็มีบางอย่างได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเต๋า เช่นเรื่องชะตากรรม เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงอาจสงเคราะห์หยางจื้ออยู่ในสำนักปรัชญาเต๋าก็ได้โดยปริยาย
๒.สำนักปรัชญาขงจื้อ มีขงจื้อเป็นหัวหน้า นักปรัชญาที่สำคัญของสำนักนี้นอกจากขงจื้อก็มี เม่งจื้อ และซุ่นจื้อ ปรัชญาสำนักนี้มุ่งสอนให้คนกลับสู่อดีตเช่นกัน จะต่างกันก็คือแทนที่จะเน้นธรรมชาติกลับเน้นจารีตประเพณี ดนตรีและคุณธรรมที่ดีงามในอดีต สำนักนี้เชื่อว่าคนในสมัยอดีตเคยสุขสบาย สังคมมีระเบียบ เราะทุกคนปฏิบัติตามจารีตประเพณีและคุณธรรมมาแล้ว เพราะฉะนั้นสันกขงจื้อจึงรณรงค์ให้ฟื้นฟูจารีตประเพณี ดนตรี และคุณธรรมที่เคยดีงามมาแล้วในอดีตมาให้ผู้คนปฏิบัติกันอีก วิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้คนมีความสุข สังเคมมีระเบียบวินัย



๓.สำนักปรัชญาม่อจื้อ มีม่อจื้อเป็นหัวหน้า ปรัชญาสำนักนี้แตกต่างกับปรัชญาทั้งสำนักเต๋าและสำนักขงจื้อ เพราะทั้ง ๒ สำนักเน้นเรื่องอดีตดังที่กล่าวมาแล้ว ส่วนสำนักม่อจื้อเน้นปัจจุบันเท่านั้น ม่อจื้อเชื่อว่าอดีตเป็นความผันผ่านไปแล้วก็ไม่อาจหวนกลับมาอีก กาลเวลาผ่านไปทุกอย่างก็ผ่านไปเช่นกัน สิ่งที่เหมาะสมกับสมัยหนึ่ง เพราะฉะนั้น คนมีปัญญาควรสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาให้สอดคล้องตรงกับความจริงในปัจจุบัน อย่างเช่น ทุกคนต้องการความสุข เกลียดความทุกข์ด้วยกัน ต้องการมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นคนเราจึงควรเห็นอกเห็นใจกัน แผ่ความรักความเมตตาให้กัน ช่วยเหลือกัน ไม่แบ่งแยกชนชั้นให้ต่างกัน


๔.สำนักปรัชญานิตินิยม โดยมีฮั่นเฟยจื้อเป็นตัวแทน ปรัชญาสำนักนี้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจและกฎหมายมีความจำเป็น และสำคัญที่สุดในการนำความสงบสุขมาสู่บุคคลและสังคม ทั้งนี้ก็เพราะฮั่นเฟยจื้อได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของซุ่นจื้อซึ่งเป็นอาจารย์ของตนว่า ธรรมชาติแท้หรือจิตสันดานของคนมีแต่ความเลวร้าย จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจและกฎหมายมาเป็นเครื่องควบคุม ฮั่นเฟ่ยจื้อเชื่อว่า วิธีการใช้อำนาจและกฎหมายมาใช้เป็นการสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องการได้อิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และไม่ต้องการอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ มีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการใช้อำนาจและกฎหมายจึงทำให้คนอยากทำดี เพื่อจะได้รับรางวัลตอบแทนและไม่กล้าทำความชั่ว เพราะกลัวถูกลงโทษทัณฑ์ หากเป็นได้ดังกล่าวก็เท่ากับทำให้สังคมสงบสุขโดยอัตโนมัติ

สำนักปรัชญาจีนถึงแม้จะมีมาก แต่เมื่อกล่าวถึงสำนักที่สำคัญก็มีเพียง ๔ สำนักดังกล่าวแล้ว หรือเมื่อกล่าวถึงนักปรัชญาที่สำคัญก็มี ๘ คน จากสำนักทั้ง ๔ นั้นก็มี เหลาจื้อ ขงจื้อ ม่อจื้อ หยางจื้อ เม่งจื้อ จวงจื้อ ซุ่นจื้อ และฮั่นเฟ่ยจื้อ ปรัชญาทั้ง ๔ สำนักเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์โจว ซึ่งนักปรัชญาถือว่าเป็นสมัยทองแห่งปรัชญา ส่วนปรัชญาสำนักอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลัง ต่างก็อ้างปรัชญาในสมัยราชวงศ์โจวเป็นหลักด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปรัชญาทั้ง ๔ สำนักจึงเป็นสายธารใหญ่ที่แตกตัวออกไปเป็นลำธารสาขาต่างๆ

 
   ปรัชญาทั้ง ๔ สำนักถึงแม้จะขัดแย้งกัน แต่ในที่สุดก็ช่วยกันหล่อหลอมเป็นลักษณะปรัชญาจีนขึ้นมา นั่นก็คือเน้นภาคปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี เน้นจริยศาสตร์มากกว่าสติปัญญา เน้นรูปธรรมมากกว่านามธรรม เน้นชาตินี้มากกว่าชาติหน้า เน้นการเป็นปรัชญามากกว่าเป็นศาสนา
ปรัชญาจีนทั้ง ๔ สำนัก ได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา จะตกต่ำบ้างก็บางคราว แต่ที่ต้องมาตกอับมากที่สุดก็ในรัชสมัยของพระเจ้าจิ๋นซีอ๊วง เพราะพระองค์มีพระราชโองการให้เผาคัมภีร์และทำลายล้างนักปราชญ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว แต่หลังจากนั้นแล้วปรัชญาบางสำนักก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยมาในรูปใหม่เพราะผสมผสานกับปรัชญาต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ สำนักที่สำคัญก็มี สำนักเต๋าใหม่ และสำนักขงจื้อใหม่ โดยเฉพาะสำนักขงจื้อใหม่เจริญรุ่งเรื่องมากในสมัยราชวงศ์ฮั่นเพราะรัฐคอยอุปถัมภ์ แต่ครั้นมาถึงสมัยราชวงศ์แมนจูเป็นต้นมาปรัชญาจีนทุกสำนักต้องประสบเคราะห์กรรมหนักตลอดมา เพราะจีนได้รับอารยธรรมตะวันตก เลื่อมในปรัชญาตะวันตก จึงทำให้มีนักวิจารณ์และนักกังขานิยมกันมาก พวกนี้จึงมุ่งแต่สนใจแยกแยะภาษาและวิจารณ์คำสอน ปรัชญา จารีตประเพณีอื่นๆ ของจีนว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นวิทยาศาสตร์จึงทำให้จีนล้าหลัง ไม่เจริญก้าวหน้าดังชาติตะวันตก ดังนั้นปรัชญาต่างๆ ควรถูกทำลายเสีย โดยเฉพาะปรัชญาขงจื้ออยู่ในฐานะลำบากที่สุด เพราะถูกถือว่าเป็นรากเหง้าแห่งศักดินาจึงถูกรณรงค์ให้กำจัดออกไป
     ประเทศจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง และได้อนุรักษ์อารยธรรมนั้นไว้ได้ตลอดมา ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เคยเป็นแหล่งอารยธรรมของโลกต้องสูญเสียตำแหน่งนี้หลายประเทศแล้ว แต่มาบัดนี้จีนกลับมาทำลายวัฒนธรรม และอารยธรรมที่ตนได้สะสมมานานแสนนานด้วยตัวเองเสียแล้วอย่างน่าเสียดาย


วิจารณ์ปรัชญาจีน
       ปรัชญาจีนเกิดมานานแล้ว และได้วิวัฒนาการมาตามลำดับ จากนามธรรม-รูปธรรม จากเรื่องไกลตัว- เรื่องใกล้ตัว จากสิ่งที่ไม่เห็นผลทันตา-เห็นผลทันตา กล่าวคือนอกจากจะมีปรัชญาเต๋า ซึ่งเป็นเรื่องนามธรรมละเอียดลึกซึ้งแล้ว ก็ยังมีปรัชญาขงจื้อซึ่งเน้นถึงคุณค่าของจารีตประเพณีและคุณธรรมอันเป็นเรื่องรูปธรรม จากนั้นก็มีสำนักม่อจื้อเกิดขึ้น สำนักนี้กล่าวเฉพาะความจริงของชีวิตในปัจจุบัน และเน้นภาคปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือกัน ถัดจากนั้นก็มีสำนักนิตินิยมขึ้นมา ปรัชญาสำนักนี้เน้นเรื่องอำนาจและกฎหมายว่าก่อให้เกิดผลเห็นทันตาในการนำพาประชาชนสู่ความเรียบร้อยดีงาม ปรัชญาจีนโดยเฉพาะปรัชญาเต๋าและขงจื้อ ได้มีอิทธิพลช่วยหล่อหลอมจิตใจชาวจีนให้ดีเด่นทั้งในด้านวัฒนธรรมและอารยธรรมด้านต่างๆ มานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี ปรัชญาจีนทำให้คนจีนเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรมสูงส่งประเทศหนึ่งของโลก
        หากจะกล่าวถึงจุดอ่อนของปรัชญาจีนก็มีอยู่ เช่นแต่ละสำนักจะกล่าวเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน แต่ไม่ครบทุกด้าน จึงยังไม่สมบูรณ์ อย่างเช่นสำนักปรัชญาเต๋าก็มุ่งสอนแต่ชีวิตทางธรรม แต่บกพร่องทางโลก คือ มุ่งแต่เน้นในทางจิตใจ ไม่คำนึงถึงร่างกาย ส่วนสำนักขงจื้อก็มุ่งสอนให้เอาดีในทางโลก ไม่ให้ความสำคัญในทางธรรม เน้นแต่ความสุขทางสังคมมากกว่าความสุขส่วนตัว สำนักม่อจื้อก็เน้นภาคฏิบัติ บกพร่องทฤษฎี ส่วนสำนักนิตินิยมก็มุ่งแต่ในด้านวัตถุ ไม่แลเหลียวในด้านจิตใจ ดังนั้นปรัชญาจีนจึงมองความจริงเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มองรอบด้าน จึงไม่เห็นความจริงโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ปรัชญาจีนแต่ละสำนักจึงไม่สมบูรณ์แท้ ปรัชญาที่สมบูรณ์ต้องดีเด่นทั้งเนื้อหาและสาระ ทั้งจะต้องมีขอบข่ายเนื้อหากว้างขวาง ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุหรือด้านจิตใจ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ อย่างเช่น ทางพุทธศาสนามีปรัชญาครบทุกด้าน ปรัชญาที่ดีๆ เด่นๆ ของจีนก็ล้วนมีอยู่ในพุทธศาสนาทั้งสิ้น ปรัชญาเต๋าถือเป็นเรื่องละเอียดล้ำลึก แต่ก็สู้ความล้ำลึกของพระอภิธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของขงจื้อ ถือกันว่ามีเนื้อหาสาระดีเด่นและมีขอบข่ายกว้างขวาง แต่ก็ด้อยกว่าเรื่องคิหิปฏิบัติและทศพิธราชธรรมในพระพุทธศาสนา เหล่านี้เป็นต้น


   อย่างไรก็ตาม ปรัชญาจีนก็มีเนื้อหาสาระน่าสนใจมาก เพราะปรัชญาจีนมีมากมายหลายสำนักดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการตอบสนองความต้องการของแต่ละคนได้รอบด้าน ใครชอบทางไหนก็สามารถเลือกศึกษาได้ดังใจปรารถนา หากเปรียบปรัชญาจีนเหมือนอุทยานดอกไม้ ก็เป็นอุทยานที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลากสีนานาพันธุ์เหมาะสำหรับผู้ชมดอกไม้ จะพึงเลือกชื่นชมได้ตามใจ ดอกไม้ถึงแม้จะมีสีสันผิดกันเพราะต่างพันธุ์ แต่เมื่อรวมกันแล้วก็สามารถทำให้อุทยานนั้นสดสวยงดงามตระการตาน่าภิรมย์ ควรที่มนุษย์จะพึงได้เชยชม ข้อนี้ฉันใด ปรัชญาจีนถึงแม้จะมีอยู่หลากหลายมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันไป แต่เมื่อปรัชญาทั้งหมดมารวมกัน ก็กลายเป็นปรัชญาที่สมบูรณ์ ช่วยหลอมให้เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะปรัชญาจีนแบบโดดเด่นขึ้นมากลายเป็นมรดกทางปัญญาที่ล้ำค่าน่าตื่นตาตื่นใจ ควรที่ชาวโลกจะได้ช่วยกันศึกษาและรักษาไว้ให้นานแสนนานก็ฉันนั้น

ข้อมูลจาก learners.in.th/file/drwattana

แนวคิดบางส่วนของนักคิด นักปรัชญา นักการเมืองในสมัยชุนชิว-จ้าน-กว๋อ ที่มีนามว่า "ม่อจื้อ"

ใครดีกว่ากัน
            อู๋หม่าจือถามม่อจื้อว่า "แม้ว่าท่านจะรักบ้านเมืองหนักหนา แต่บ้านเมืองก็ไม่เห็นได้ประโยชน์จากท่าน แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่รักบ้านเมือง แต่บ้านเมืองก็ไม่เคยได้รับผลร้ายอะไรจากข้าพเจ้า ต่างไม่มีผลเหมือนกัน แล้วทำไมท่านจะต้องนึกอยู่เรื่อยว่า ความคิดของท่านเป็นความคิดที่ถูกต้อง ความคิดของข้าพเจ้าเป็นความคิดที่ผิด?"
      ม่อจื้อตอบว่า "สมมติว่าเวลานี้ มีคน ๆ หนึ่งมาวางเพลิงที่นี่ แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งรีบหิ้วน้ำเตรียมจะมาช่วยดับไฟ ขณะเดียวกันก็มีคนอีกคนหนึ่งถือเชื้อเพลิงเตรียมจะมาโหมไฟให้แรงขึ้น การตั้งท่าของคนสองคนนี้ต่างไม่มีผลอะไรต่อเพลิงที่กำลังลุกไหม้ แต่ในความรู้สึกของท่าน ท่านคิดว่าคนสองคนนี้ ใครดีกว่ากัน?"
      อู๋หม่าจือตอบว่า "ข้าพเจ้าคิดว่าคนที่หิ้วน้ำเตรียมจะช่วยดับไฟนั้นมีเจตนาที่ถูกต้อง ส่วนคนที่ถือเชื้อเพลิงเตรียมกระพือไฟให้ลุกแรงนั้นมีเจตนาที่ไม่ถูกต้อง"
      ม่อจื้อกล่าวว่า "เหตุผลเดียวกัน ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่าเจตนาของข้าพเจ้านั้นถูกต้อง และเห็นว่าเจตนาของท่านนั้นไม่ถูกต้อง"



โรคบ้า
             อู๋หม่าจือกล่าวกับม่อจื้อว่า "ท่านพิทักษ์ความถูกต้องชอบธรรม ก็ไม่เห็นว่าคนอื่นเขาจะเคารพนับถืออะไรท่าน ผีสางเทวดาก็ไม่เห็นดลบันดาลความสุขความเจริญอะไรให้ท่าน แต่ท่านก็ยังจะทำอีก ช่างเป็นโรคบ้าแท้ๆ"
      ม่อจื้อกล่าวว่า "สมมติว่าท่านมีคนรับใช้อยู่สองคน คนหนึ่งเห็นท่านจึงจะทำงาน ไม่เห็นท่านก็ไม่ทำงาน ส่วนอีกคนหนึ่ง เห็นท่านเข้าก็ทำงาน ไม่เห็นท่านเขาก็ยังทำงาน คนรับใช้สองคนนี้ ท่านชอบคนไหน?"
      อู๋หม่าจือตอบว่า "ข้าพเจ้าย่อมชอบคนที่เห็นข้าพเจ้าก็ทำงาน ไม่เห็นข้าพเจ้าเขาก็ยังทำงาน"
      ม่อจื้อกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ชอบคนบ้าเหมือนกันนะซี"


วิจารณ์ขงจื้อ
      เย่กงจื่อเกา มหาอำมาตย์แห่งแคว้นฉู่ถามขงจื้อถึงนโยบายทางการเมืองว่า "นักการปกครองที่สามารถ ควรจะมีนโยบายทการเมืองเช่นไร?"
      ขงจื้อตอบว่า "นักการปกครองที่สามารถ จะต้องทำให้ผู้ห่างไกลเข้ามาชิดใกล้ ขึ้นต่อ ทำให้ลูกน้องเก่าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่"
      หลังจากได้ยินคำสนทนาเหล่านี้แล้ว ม่อจื้อก็วิจารณ์ว่า "เย่กงจื่อเกาตั้งคำถามไม่เหมาะสม ขงจื้อก็ตอบไม่ถูก ทำไมเย่กงจื้อเกาจะไม่ทราบเล่าว่า ผู้ที่สันทัดในการปกครองจะต้องทำให้ผู้ที่ห่างไกลหันกลับมาชิดใกล้ ขึ้นต่อ และทำให้ลูกน้องเก่าๆ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองเสียใหม่ ในเมื่อรู้แล้ว ยังจะถามขงจื้อทำไมอีกเล่า? ส่วนขงจื้อเล่า ก็ไม่นำความรู้ที่คนอื่นยังไม่รู้ไปบอกให้เขารู้ แต่ดันตอบในสิ่งที่คนอื่นเขารู้อยู่แล้ว แล้วมันมีประโยชน์อันใดเล่า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าเย่กงจื่อเกาตั้งคำถามได้ไม่เหมาะสม ส่วนขงจื้อก็ตอบไม่ถูก"



อุปสรรคที่ขัดขวางความรักอันไพศาล
      อู๋หม่าจือกล่าวกับม่งจื้อว่า "ข้าพเจ้าไม่เหมือนท่าน ข้าพเจ้าไม่สามารถมีความรักอันไพศาล ข้าพเจ้ารักชาวโจวมากกว่าชาวแย่ รักชาวหลู่มากกว่าชาวโจว รักคนบ้านเดียวกันมากกว่าชาวหลู่ รักคนในบ้านมากกว่าคนนอกบ้าน รักพ่อแม่มากกว่าญาติพี่น้อง รักตัวเองมากกว่ารักพ่อแม่ เพราะว่าคนที่ยิ่งใกล้ชิดข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ยิ่งเอาใจใส่อย่างลึกซึ้ง การที่มนุษย์รักคนที่ใกล้ชิดกับตนเองนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา
       "ถ้าหากข้าพเจ้าถูกทุบตี ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกเจ็บปวด แต่ถ้าคนอื่นถูกทุบตีข้าพเจ้าย่อมไม่รู้สึกเจ็บปวด ในเมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วทำไมข้าพเจ้าจะไม่ปกป้องตรงที่รู้สึกเจ็บปวดแต่กลับจะไปปกป้องไอ้ตรงที่ไม่รู้สึกเจ็บปวดเล่า?
      "ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงต้องฆ่าคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีทางฆ่าตัวเองเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นโดยเด็ดขาด"
      ม่อจื้อกล่าวว่า "ความคิดแบบนี้ของท่าน ท่านเตรียมจะเก็บมันไว้ในใจคนเดียว หรือคิดจะเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่น?"
      อู๋หม่าจือตอบว่า "ทำไมข้าพเจ้าจะต้องอำพรางซ่อนแร้นความคิดอ่านของตนเอง ข้าพเจ้าจะเผยแพร่ให้สาธารณชนรับทราบ"
      ม่อจื้อกล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น สมมติว่า มีคนๆ หนึ่งเกิดเชื่อถือหลักเหตุผลของท่าน คนๆ นั้นก็จะฆ่าท่านเพื่อผลประโยชน์ของตัวเขาเอง และถ้าเกิดมีคนสักสิบคนเชื่อถือหลักเหตุผลของท่าน คนทั้งสิบนี้ก็จะฆ่าท่าน และถ้าคนทั้งโลกต่างเชื่อถือหลักเหตุผลของท่าน คนทั้งโลกก็จะฆ่าท่านเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ถูกไหม?"
      "ในด้านตรงกันข้าม ถ้าหากมีคนๆ หนึ่งไม่สนับสนุนทฤษฎีของท่าน คนๆ นั้นก็จะฆ่าท่าน เพราะเห็นว่าท่านใช้คำพูดที่ไม่เป็นสิริมงคลนี้มอมเมาชาวบ้าน ถ้าหากมีคนสักสิบคน ไม่เชื่อทฤษฎีของท่าน คนทั้งสิบนี้ก็จะฆ่าท่าน ถ้าหากคนทั้งโลกต่างไม่เชื่อทฤษฎีของท่าน ทุกคนพากันเห็นว่าคำพูดของท่านเป็นคำพูดอัปมงคลฝูงชนที่บ้าคลั่งก็จะรุมกันฆ่าท่าน"
      "คนที่เชื่อท่าน ก็คิดจะฆ่าท่าน คนที่ไม่เชื่อท่าน ก็คิดจะฆ่าท่านเช่นกัน ถ้าหากท่านป่าวประกาศทัศนคติของท่านออกไป ก็เท่ากับเป็นการหาภัยมาสู่ตัว"
      "ท่านพูดออกไปแล้วมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า ถ้าหากไม่มีแต่ยังดันทุรังจะพูด มิเท่ากับเมื่อยปากเปล่าๆ ดอกหรือ"


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร