ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปรัชญาเบื้องต้น

1. ความหมายของปรัชญา1.1 ปรัชญาคืออะไร
1.1.1 ความหมายของคำ “Philosophy” ตามรากศัพท์
คำว่า “Philosophy” มาจากคำว่า “Philosophia” (เป็นคำภาษากรีก
โบราณ) ซึ่งมาจากคำ “Philia” (แปลว่า “ผู้รัก”) และ “Sopia” (แปลว่า
“ความปราดเปรื่อง”)

ดังนั้น คำว่า “Philosophia” (Philosophy) จึงแปลว่า “ความรักในปรีชาญาณ” (Love of wisdom) เนื่องจากชาวกรีกโบราณมักเรียกตัวพวกเขาว่า “Wise men” เช่น Pythagoras (ราวปี 510 – 500 ก่อน ค.ศ.) ต้องการให้เรียกท่านว่า “Lover of wisdom” หรือ “Philosopher” นี่จึงเป็นที่มาของคำ “Philosophy” ซึ่งในสมัยต่อมา นักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) ก็ใช้คำว่า Philosophy มาแทนคำว่า “Wisdom”

สรุปแล้วคำว่า “Philosophy” ตามความหมายของภาษา คือ ความรักความปราดเปรื่อง ความปรารถนาจะเป็นปราชญ์ นั่นคือ การรู้ว่าตัวเองไม่ฉลาด แต่อยากฉลาด

1.1.2 ความหมายของคำ “ปรัชญา” (ภาษาไทย)
คำว่า “ปรัชญา” มีที่มาจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์วรรณ) อดีตราชบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา เป็นผู้แปลศัพท์คำว่า Philosophy เป็นคำว่า “ปรัชญา” โดยใช้รากศัพท์จากภาษาสันสกฤตว่า “ชฺญา” (รู้/เข้าใจ) เติมอุปสรรค ปฺร เป็น ปฺรชฺญา รวมแปลว่า “ความปราดเปรื่องหรือความรอบรู้”

ดังนั้น คำว่า “ปรัชญา” (ภาษาไทย) จึงแปลว่า “ความรอบรู้ปราดเปรื่อง” ซึ่งเป็นความหมายในเชิงอวดตัว (ไม่เหมือนคำ Philosophy ซึ่งแสดงถึงความถ่อมตน) ความหมายของคำ “ปรัชญา” จึงไม่ตรงกับภาษาอังกฤษ/กรีก (Philosophy/Philosopia) มากนัก
1.1.3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “ปรัชญา”
แม้ว่าไม่อาจนิยามความหมายของ “ปรัชญา” ได้ตรง หรือได้มติทางการ/สากล เราบอกได้เพียงแต่ว่าปรัชญามีลักษณะอย่างไร แต่จะให้นิยามตายตัว
เหมือนศาสตร์อื่น ๆ เช่น ศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ ฯลฯ คงไม่ได้

1.1.4 คำ “Philosophy” สะท้อนถึงอะไร
จากนิยามของคำว่า “Philosophy” แสดงถึงคุณลักษณะของมนุษย์ ว่าเป็นสัตว์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีสติปัญญา (Intellectual) กล่าวคือ

มนุษย์ เป็นสัตว์ ต้องการอาหาร (เหมือนสัตว์) เพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่มนุษย์มีสติปัญญา มีความปรารถนาที่จะรู้ความจริง เพื่อตอบคำถาม “อะไร” และ “ทำไม” (Desire to know – Truth, What + why) เกี่ยวกับสาเหตุของเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้น (Cause of event and happening) รอบตัว

มนุษย์จึงหาคำตอบที่ “พอคิด/หาเหตุผลได้” เพื่อได้คำตอบ (What) และเหตุผล (Why)

1.1.5 สรุปความหมายของ “ปรัชญา”
สรุปความหมายของปรัชญาได้ว่า
ก. ปรัชญา คือ การแสวงหาความจริง อาศัยเหตุผล
ข. ปรัชญาคือการค้นพบความรู้เกี่ยวกับ “ความจริง” ซึ่งเป็นความรู้ที่อยู่เหนือความรู้ตามกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็น “ศิลป์” และเป็นความรู้ในฐานะ “ศาสตร์พิเศษ” ของมนุษย์

1.2 เรียนปรัชญาไปทำไม

1.2.1 ถ้าเรียนเพื่อใช้ประกอบอาชีพ อาชีพ “นักปรัชญา” คงตกงาน

1.2.2 ถ้าถามคนทั่วไป นอกจากจะไม่ได้คำตอบแล้ว เรายัง (อาจ) ได้คำถามเพิ่มเติมอีกว่าปรัชญาคืออะไร ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก หรือเคยได้ยิน แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

1.2.3 เสนอแนะให้เริ่มต้น ด้วยการพิจารณาตัวอย่างขององค์กรที่นำปรัชญามาช่วยจัดระบบความคิด และอธิบายคำสอน จากร่องรอยในประวัติศาสตร์ พบว่ามีหลายองค์กร ที่นำปรัชญามาช่วยจัดระบบ และอธิบายคำสอนที่สำคัญองค์กรหนึ่ง ได้แก่ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะตัวอย่างที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีพัฒนาสู่ปัจจุบัน จากประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 ในบรรพที่ 2 ว่าด้วยเรื่องประชากรของพระเจ้า หมวดการอบรมผู้เตรียมเป็นศาสนบริกร (สมณะ) มีการกล่าวถึงการศึกษาวิชาปรัชญาในสองมาตราที่สำคัญ คือ

ก. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 มาตรา 250
ระบุว่าต้องศึกษาวิชาปรัชญาและเทววิทยา อย่างน้อย 6 ปี (ปรัชญา อย่างน้อย 2 ปี และศึกษาวิชาเทววิทยาอีก 4 ปี) เพื่อเตรียมเป็นศาสนบริกร (บาทหลวง)

ข. ประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 มาตรา 251
ยังระบุต่ออีกว่า “การให้การศึกษาอบรมวิชาปรัชญาต้องมีพื้นฐานบนปรัชญาที่เป็นมรดกตกทอดกันมาที่ใช้ได้อยู่ตลอดเวลา และต้องคำนึงถึงการค้นคว้าทางปรัชญาแห่งยุคสมัยด้วย การศึกษาอบรมนี้ต้องมุ่งให้เสมินาร์ (Seminarian, ผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวง) มีการพัฒนาทางด้านความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีสติปัญญาเฉียบแหลมและช่วยเขาให้มีความพร้อมมากขึ้นที่จะศึกษาเทวิทยาต่อไป”

จากตัวอย่างของประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก แสดงให้เห็นว่า พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก (โดยเฉพาะผู้นำ และนักวิชาการในศาสนาคริสต์) ซึ่งมีประสบการณ์ในการนำปรัชญามาช่วยจัดระบบและอธิบายคำสอนในคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ยุคแรก ยุคกลาง สืบจนยุคสมัยปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อการศึกษาวิชาปรัชญา เพื่อการพัฒนาสติปัญญาของผู้รับการอบรมสู่การเป็นบาทหลวง (สมณะ) ดังนั้น จากแนวทางของประมวลกฎหมายพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1983 จึงเป็นแนวทางให้สรุปได้ว่า เรียนปรัชญาเพื่อ
“คิดให้เป็น วิเคราะห์ได้
แก้ปัญหา (อธิบายความเชื่อ) ได้ แบบ มนุษย์”

2. แนวทางและความท้าทายของการศึกษาวิชาปรัชญา
2.1 แนวทางการศึกษาวิชาปรัชญา

จากตัวอย่างการสรุปความหมายของปรัชญาที่ได้นำเสนอไปข้างต้น (ข้อ 1.1.5) ว่า ปรัชญาเป็นการแสวงหาความจริง อาศัยเหตุผล และปรัชญา คือ การค้นพบความรู้เกี่ยวกับ “ความจริง” ซึ่งเป็นความรู้ที่อยู่เหนือความรู้ตามกฎเกณฑ์ที่ตายตัว และเป็นความรู้ที่มีลักษณะเป็น “ศิลป์” และเป็นความรู้ในฐานะ “ศาสตร์พิเศษ” ของมนุษย์ ซึ่งมีแนวทางการศึกษาวิชาปรัชญาได้ดังนี้

2.1.1 วิชาปรัชญาเป็นการศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ ตามเหตุผลของมนุษย์เกี่ยวกับความจริง” (ในฐานะที่มนุษย์ยุคปัจจุบันได้รับมรดก/อารยธรรมจากบรรพบุรุษ/มนุษย์ในอดีต) เพื่อเป็นพื้นฐาน

ก. คำถามเชิงปรัชญา – มีพื้นฐานจาก “ความไม่เคยชินกับโลกและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว/ในตัวเอง” นำสู่ “ความสงสัยแบบปรัชญา” ในประเด็นว่า สิ่งนั้น คืออะไร และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? (What + Why) แล้วจึงหาคำตอบอย่างสมเหตุสมผล

ข. คำตอบเชิงปรัชญา – การทำงานในระดับสติปัญญา (ผัสสะ – สติปัญญา) คิดหาคำตอบที่เป็นไปได้ตามเหตุผล (อย่างไม่มีวันสิ้นสุด) เพื่อตอบคำถามว่า
1) อะไรคือความจริง ทฤษฏีความจริง
2) รู้ความจริงได้อย่างไร ทฤษฏีความรู้
3) เอาอะไรมาตัดสิน (ความงามและความดี)
ทฤษฏีความงามและ
ทฤษฏีจริยศาสตร์

ค. ข้อสังเกตเกี่ยวกับคำถาม
1) แต่ละวิทยาการ (ศาสตร์) ต่างมีคำถาม และพยายามหาคำตอบตามแนวทางของตน (ความเชื่อศรัทธา เหตุผล ประสาทสัมผัส)
2) ปรัชญาไม่สนใจคำถามหรือคำตอบ “ในรายละเอียดปลีกย่อย” เช่น ทำอย่างไรจึงได้ข้าว/ผลผลิตมากขึ้น ทำอย่างไรจึงบินได้ ทำอย่างไรจึงหุ่นดี ฯลฯ แต่ ปรัชญาสนใจคำถามที่เป็นส่วนลึกในจิตใจมนุษย์ เรามาจากไหน เราเป็นใคร เราจะไปไหนในวาระสุดท้ายของชีวิต
3) ปรัชญา ไม่มีการขีดเส้นตายจบตายตัวแบบ 1+1 เท่ากับ 2 ที่ทุกคนยอมรับ

2.1.2 จากพื้นฐาน (ความคิด/คำตอบในอดีตของนักปรัชญาเกี่ยวกับความจริง ความรู้ ความงาม ความดี) นำสู่ “คำตอบของเราแต่ละคน” หรือที่เรียกว่า “ปรัชญาชีวิต” นั่นเอง

2.2 ความท้าทายของการศึกษาปรัชญา คือ ยังไม่มีมติสากล
2.2.1 ปรัชญาไม่มีมติสากล แม้แต่คำว่า Philosophy เอง ยังไม่มีมติสากล เช่น ปรัชญาคือ ความรักในความจริง หรือ ปรัชญาคือ ความรักในความรู้ หรือปรัชญาคือการเปิดเผยการเผยแสดงของพระเจ้า เป็นต้น

2.2.2 ปรัชญายังคงมี ปัญหาที่แก้ไม่ตก ยังไม่พอใจต่อคำตอบที่ได้รับ

2.2.3 ประเด็นของปรัชญา คือ การตั้งคำถาม มากกว่าที่จะยอมรับคำตอบที่ได้รับ
3. ปัญหาและเป้าหมายของปรัชญา
แต่ละศาสตร์ ต่างมีคำถาม ปัญหา/โจทย์ของ แต่ละศาสตร์มุ่งสู่ความจริงในระดับ (ธรรมชาติของศาสตร์) ที่ต่างกัน เช่น 1+1 = 2 เป็นความจริงที่คณิตศาสตร์มุ่งหา (ด้านปริมาณ ตัวเลข)

3.1 มีการแบ่งศาสตร์ใหญ่ ๆ เป็น 3 ศาสตร์ ได้แก่ ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์ (ต่างฝ่ายต่างมองว่าศาสตร์ของตนให้คำถามดีที่สุดเกี่ยวกับความจริง และหาเหตุผลมาอ้าง เพื่อบอกว่า คำตอบของศาสตร์ของตนดีที่สุด)

3.2 ความจริงเป็นหนึ่ง แต่มีหลายระดับและหลายมุมมอง แต่ละศาสตร์จึงต้อง รับผิดชอบที่จะตอบโจทย์/คำถาม/ปัญหา ของตน โดยแต่ละศาสตร์มีสมมติฐานที่แต่ละศาสตร์ยึด โดยแยกเป็นแต่ละศาสตร์
ได้คือ

3.2.1 ศาสนา มุ่งความจริงที่อยู่เหนือประสบการณ์ทางผัสสะ หรือความจริงสูงสุด (ความรอดพ้น) ซึ่งสามารถอธิบายได้หรือไม่ได้ด้วยเหตุผลทั้งครบ

3.2.2 วิทยาศาสตร์ มุ่งความจริงที่สัมผัสได้ พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ในระดับประสาทสัมผัส

3.2.3 ปรัชญา มุ่งความจริงที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผล อาศัยสติปัญญาของมนุษย์

3.3 ปัญหา/เป้าหมายของปรัชญา คือ ความจริงที่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผล
3.3.1 หลักการ (สมมติฐาน) ของปรัชญาคือ ความจริง เป็นสิ่งที่เรารู้ได้ เข้าใจได้ด้วยสติปัญญามนุษย์

3.3.2 ปรัชญายอมรับเฉพาะความจริง/สิ่งที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล (นามธรรม และ รูปธรรม) ปรัชญาพยายามปฏิเสธสิ่งที่เป็น “ความเชื่อ ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุผล” ปรัชญาจึงเป็นการรู้ความจริงที่ไม่ต้องพึ่งพิงคำตอบจากสวรรค์ แต่พยายามบรรลุถึงความจริง ด้วยสติปัญญาหรือการใช้เหตุผลของมนุษย์

3.3.3 ตัวอย่างคำถามเชิงปรัชญา ได้แก่

1) ปัญหาเรื่องธรรมชาติมนุษย์ เช่น มนุษย์คืออะไร
2) ปัญหาเรื่องธรรมชาติของโลก เช่น อะไรเป็นปฐมธาตุ
3) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับมนุษย์ เช่น มนุษย์รู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร
4) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เช่น มีมาตรการความดีความชั่วหรือไม่


4. อัตลักษณ์และข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญา4.1 อัตลักษณ์ของปรัชญา

4.1.1 ปรัชญาไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอย ๆ แต่มาจากการที่มนุษย์พบเห็นสิ่งต่าง ๆ และมนุษย์สงสัยในสิ่งที่ตนพบเห็น (มีประสบการณ์ถึงสิ่งนั้น ๆ ) (ความไม่เคยชินกับโลก)

4.1.2 ปรัชญามีลักษณะเป็น “โลกทัศน์ในยุคสมัย” (World-view) พยายามตอบปัญหาประเด็นร้อนในยุคสมัยนั้น ๆ เช่น ปัญหาปฐมธาตุ ปัญหาเรื่องพระเจ้า ปัญหาเรื่องความรู้ ปัญหาเรื่องความประพฤติ ฯลฯ ตามความสนใจของสภาพสังคมสมัยนั้น ๆ ปรัชญาจึงเป็นการสะท้อนถึงความคิด ความสนใจของมนุษย์ในสมัยหนึ่ง (ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่การศึกษาวิชาปรัชญาจึงมีความจำเป็น ต้องศึกษาสภาพสังคมในสมัยนั้น ๆ ด้วย) เช่น สมัยกรีก สภาพสังคมสงบ เต็มด้วยปัญญาชน ไวน์ชั้นดี มีข้าทาสบริวารคอยรับใช้ ฯลฯ อันเป็นบริบทในสมัยนั้น ส่งผลให้ปรัชญากรีกจึงมีแนวคิดและประเด็นคำถามสอดคล้องกับบริบทสมัยกรีก เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า อัตลักษณ์ของปรัชญา คือ


ก. ปรัชญาอิงพื้นฐานของสังคม
ข. ปรัชญาให้คำตอบแก่สังคม

ดังนั้น ปรัชญาจึงเป็นระบบแห่งความคิดของมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ณ สมัยใดสมัยหนึ่ง และเปลี่ยนแปลงไปได้ตามความเป็นไปของมนุษย์ ตามกาลสมัยนั้น ๆ

4.1.3 ปรัชญามีลักษณะเป็นวิพากษ์ (Critical) เกิดจากความสงสัย อยากรู้ อยากเข้าใจ หาคำตอบโดยใช้เหตุผลที่เป็นไปได้

ก. คำตอบที่ 1 และเหตุผลอธิบาย (Thesis)
ข. คำตอบที่ 2 (ที่ตรงข้ามกับคำตอบที่ 1) และอธิบายด้วยเหตุผล
(Antithesis)
ค. คำตอบที่ 3 (ที่อาจประสานระหว่างคำตอบที่ 1 และ 2 หรือเป็นคำตอบคนละแนวกับคำตอบที่ 1 และ 2) และยกเหตุผลมาอธิบาย (Synthesis) และคำตอบที่ 3 นี้ (อาจ) เป็นแนวทางคำถามสู่ประเด็นต่อไป

4.1.4 ปัญหา/โจทย์ของปรัชญาเป็นปัญหาพื้นฐาน (ยังเอาไปใช้ไม่ได้) เป็นเหมือนวัตถุดิบ (ข้าวเปลือก) ไม่สนใจรายละเอียด ไม่สนใจองค์ประกอบย่อย ไม่สนใจว่าจะเอาไปใช้อย่างไร เช่น มนุษย์คืออะไร? ทำอย่างไรจึงมีความสุข (ไม่สนใจว่าทำอย่างไรจึงสวย หล่อขึ้น สูงขึ้น ขาวขึ้น เป็นต้น)
4.2 ข้อสังเกตเกี่ยวกับปรัชญา : ปรัชญาเป็น “ศาสตร์” หรือไม่?
4.2.1 ปรัชญาเป็น “ศาสตร์” หรือไม่ เนื่องจาก

ก. นิยามของศาสตร์ ระบุว่าศาสตร์ต้องมีลักษณะที่แน่นอน ตายตัว ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ปรัชญาให้คำตอบที่ไม่แน่นอน ไม่ตายตัว บางครั้งจุดเน้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา/ยุคสมัย/สภาพสังคม

ข. วิธีการได้มาซึ่งความรู้ของศาสตร์คือ การทดลอง พิสูจน์ด้วยหลักการ ในขณะที่วิธีการได้มาซึ่งความรู้ทางปรัชญา ไม่ได้ผ่านกระบวนการทดลองและพิสูจน์ด้วยหลักการแบบศาสตร์อื่น ๆ (โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์)





4.2.2 ปรัชญา เป็นศาสตร์ เนื่องจาก

ก. ปรัชญาเป็นความรู้ที่แน่นอนเรื่องสาเหตุ ปรัชญาสนใจสาเหตุของทุกสิ่ง (ควรมองที่เนื้อหา ไม่ใช่รายละเอียดของคำตอบ)

ข. ในขณะที่ศาสตร์ทั่วไป (โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์) มีการทดลอง พิสูจน์ด้วยหลักการและออกมาเป็นทฤษฏี และแม้ว่าปรัชญาจะไม่มีการทดลองและออกเป็นหลักการ แต่ปรัชญาเป็นการศึกษาหลักการพื้นฐานของความรู้ ซึ่งศาสตร์อื่น ๆ ไม่ได้ทำ ไม่สนใจ กล่าวคือ ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจริงหรือไม่ แต่สนใจว่ามันประกอบหรือมันเป็นไปอย่างไร ปรัชญาจึงเป็นศาสตร์แท้จริงและเป็นพื้นฐานของศาสตร์ทั้งหลาย

4.2.3 ปรัชญา เป็นศาสตร์พิเศษ เนื่องจาก

ก. “เนื้อหา/เป้าหมาย” ของปรัชญา กล่าวคือ ปรัชญาศึกษาความเป็นจริงในด้านคุณค่า (ความหมายของความเป็นจริง) และมุ่งสู่สาเหตุสูงสุด (Ultimate cause) ในขณะที่ศาสตร์เฉพาะทาง (วิทยาศาสตร์) ศึกษา/สนใจคุณลักษณะเฉพาะของความเป็นจริง เช่น ดอกไม้สีแดง ปรัชญาสนใจดอกไม้ในฐานะสิ่งที่มีอยู่ ในขณะที่ศาสตร์เฉพาะจะสนใจรายละเอียด เช่น โครงสร้าง สี อายุ ฯลฯ

ข. ปรัชญาเป็นทั้งเอกภาพและหลากหลาย กล่าวคือ ปรัชญามีความเป็นเอกภาพด้าน “เนื้อหา/เป้าหมาย” แต่หลากหลายด้าน “คำตอบ” และกล่าวได้ว่าปรัชญาเป็นรากฐานของศาสตร์ทางทุกประเภท เพราะก่อนที่เราจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร เราต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้น คือ อะไร ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ปรัชญาพยายามมุ่งตอบ

4.2.3 ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิธีการได้ความรู้/ความจริงซึ่งเป็นเป้าหมายของ/ทางปรัชญา

เพื่อจะได้มาซึ่งความรู้ทางปรัชญา เราต้องใช้การทำงานของประสาทสัมผัสและสติปัญญา เพื่อหา “สาเหตุแรก” สิ่งสากล มโนภาพของสิ่งนั้น ปรัชญาเน้นการทำงานของสติปัญญา สนใจ “สารัตถะ” (Essence) ของสิ่งต่าง ๆ (Sense evidence - Intellectual evidence) สิ่งที่ปรากฏในสติปัญญา เช่น มนุษย์ ปรัชญาสนใจ “มโนภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นสากล” ไม่ใช่ปัจเจก อะไรที่ทำให้ นาย ก. นาย ข. เป็น มนุษย์ ดังนั้น จึงมีการเรียกปรัชญาว่า “อภิปรัชญา/Metaphysic” (เหนือกายภาพ)

5. คำแนะนำบางประการในการศึกษารายวิชาปรัชญา
5.1 การศึกษาในห้องเรียนเป็นแค่การปูทาง แต่ต้องมีการไปศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่การศึกษาค้นคว้าหนังสือ ตำราปรัชญา (ภาษาไทย-อังกฤษ)

5.2 อย่าลืม “คำถามของปรัชญา” จะวนอยู่สามเรื่อง คือ ความจริงคืออะไร รู้ได้อย่างไร เอาอะไรมาวัด

5.3 ท่าทีของการศึกษาปรัชญา คือ จงศึกษาในบริบทของนักคิดท่านนั้น ไม่ใช่ยึดตัวผู้ศึกษาเป็นหลัก เช่น เมื่อศึกษาวัตถุนิยม (ซึ่งแน่นอนว่า มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า) จงอย่านำพื้นฐานของนักศึกษา (เชื่อในพระเจ้า) และมองวัตถุนิยมแต่เพียงด้านลบอย่างเดียว เป็นต้น

6. สรุปประจำบท
ปรัชญามีลักษณะเป็น “ศาสตร์” และ “ศิลป์” กล่าวคือ เป็นทั้งการศึกษาหลัก/ความคิดของนักปรัชญา และการนำมาเป็นแนวคิด/หลักของเราเอง (ปรัชญาชีวิต) ดังที่ อิมรอน มะลูลีม (2539: 5) ได้เสนอความคิดว่า “ปรัชญาหมายถึงสองอย่างสำคัญ นั่นคือ ความรู้กับวิถีชีวิต...ความหมายของปรัชญาจึงมีสองทาง คือ ปรัชญาในฐานะที่เป็นความรู้และปรัชญาในฐานะที่เป็นวิถีชีวิต” ปรัชญาจึงเป็นวิถีทางที่สำคัญ อันประกอบด้วยการมีชีวิตอยู่ให้เป็นไปตามความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายชีวิตนั่นเอง
 
*******************
 
บทที่ 2
ประเภทและสาขาของปรัชญา

1. ประเภทของปรัชญา

โดยทั่วไปมีการแบ่งปรัชญาออกเป็นสองประเภท คือ ปรัชญาบริสุทธิ์ (Pure philosophy) กับปรัชญาประยุกต์ (Applied philosophy) (Mariano, 1990)

1.1 ปรัชญาบริสุทธิ์

หมายถึง การศึกษาปรัชญาที่เป็นเนื้อหาสาระของปรัชญาโดยตรง ไม่ใช่ศึกษาเพื่อการอื่น ๆ ทั้งนี้ โลกตะวันตกแบ่งปรัชญาออกเป็นสามสาขาใหญ่ ๆ (ยึดเนื้อหา/ปัญหาพื้นฐาน เป็นหลัก) โดยการมุ่งตอบปัญหาใดปัญหาหนึ่ง (ในขณะที่ ปรัชญาตะวันออก ไม่มีการแบ่งย่อย) ได้แก่

1.1.1 อภิปรัชญา (Metaphysics) อะไรคือความจริง?

1.1.2 ญาณวิทยา (Espistemology) เรารู้ความจริงได้อย่างไร?

1.1.3 คุณวิทยา/อัคฆวิทยา (Axiology) ศึกษาเกี่ยวกับคุณค่า โดยแยกได้สองประเภท คือ

ก. จริยศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินการกระทำว่าดีหรือไม่)
ข. สุนทรียศาสตร์ (เอาอะไรมาตัดสินความงาม)

มีการศึกษาโดยแบ่งเป็นยุคต่าง ๆ ขึ้นกับว่าในยุคสมัยนั้น ๆ “ประเด็นร้อน” หรือความสนใจของประชาชนในสมัยนั้น อยู่ที่ปัญหาเรื่องอะไร? (ความจริง ความรู้ คุณค่า) ดังนั้น จึงต้องศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาเพื่อศึกษา “คำตอบที่เป็นไปได้ตามหลักเหตุผล” ของแต่ละยุคสมัย (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538)

1.2 ปรัชญาประยุกต์

หมายถึงการนำปรัชญาบริสุทธิ์ไปประยุกต์ใช้ตอบปัญหาโดยยึดการตอบสนองความปรารถนาที่จะรู้ของมนุษย์ ที่ปรารถนารู้ “หลักการ” เพื่อนำไปปฏิบัติ หรือปรารถนาที่จะรู้ “พื้นฐาน” เพื่อนำไปเป็นแนวทางตอบปัญหาในเรื่องนั้น ๆ ได้แก่

ก. ปรัชญาศาสนา
ข. ปรัชญาสังคมการเมือง
ค. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ง. ปรัชญาการศึกษา
จ. ปรัชญาวิทยาศาสตร์
ฉ. ปรัชญากฎหมาย (นิติปรัชญา)
ช. เป็นต้น

2. สาขาของปรัชญา
ตามแนวปรัชญาตะวันตก แบ่งปรัชญาบริสุทธิ์ได้สามสาขา ได้แก่ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา (อัคฆวิทยา) (สมัคร บุราวาศ, 2544)

2.1. อภิปรัชญา
2.1.1 ความหมายของ “อภิปรัชญา”
ถ้าปรัชญาเป็น “ศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย” อภิปรัชญาก็เปรียบเสมือนพื้นฐาน/หัวใจของปรัชญาทั้งหลาย (Aristotle เรียกอภิปรัชญาว่า Fist Philosophy) เนื่องจาก (Mariano, 1990)

ก. สิ่งที่ “อภิปรัชญา” สนใจคือ Being คืออะไร ในแง่ของความเป็นจริง(Reality) ไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริง (Fact) (จึงมีการใช้คำว่า Meta-physic) ปรัชญาเป็น การสนใจศึกษาความจริงทั้งหมด (All reality) เนื่องจากทุกสิ่งต่างมีอยู่จริง (That is) และสิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีอยู่เหนือขอบเขตของข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (Beyond physics) หรือการศึกษาธรรมชาติ/ลักษณะของสิ่งที่มีอยู่ หรือความมีอยู่ (Existence) เราจึงเรียกอภิปรัชญาได้ว่า “ภววิทยา” (Ontology)

1) สิ่งที่มีอยู่ (Being) ต้องมีอยู่ (Existence) ตาม ลักษณะ/รูปแบบ (Essence) ของสิ่งนั้น ยกเว้นพระเจ้า ทรงมีอยู่ แต่ไม่มีรูปแบบ เพราะถ้าพระเจ้ามี รูปแบบ/ลักษณะของพระเจ้า พระเจ้าก็ไม่ใช่พระเจ้า เพราะจะทำให้พระเจ้าถูก กำหนดที่จะต้องเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง/รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น พระเจ้าจึงมีแต่ความมีอยู่ แต่ไม่มีสารัตถะของพระเจ้า อภิปรัชญาจึงศึกษาพระเจ้าในฐานะสาเหตุแรกของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่)

2) ดังนั้น เนื้อหาของอภิปรัชญาจึงมี สองมิติ/ด้าน กล่าวคือ
2.1) ด้านที่เหมือนกับปรัชญาแขนงอื่น ๆ (ญาณวิทยาและคุณวิทยา) ในฐานะที่ศึกษาความจริงทั้งหมดที่เป็นอยู่
2.2) ด้านพิเศษ เช่น กรณีของพระเจ้า (Being แบบพิเศษ... ดังที่อธิบายในข้อที่ 1)

ข. อภิปรัชญาทำให้ปรัชญาทั้งหลายเป็น “เอกภาพ” เนื่องจากการอธิบายความจริงตามแนวปรัชญามีหลายคำตอบ แต่อภิปรัชญาเป็นการศึกษา “ความจริงคืออะไร?” แม้คำตอบมีหลากหลาย แต่คำตอบเหล่านั้น มี “ปัญหา/โจทย์เดียวกัน

ค. อภิปรัชญาเป็นศาสตร์แห่งภวันต์ (Being) ในฐานะที่เป็นอย่างนั้น กล่าวคือ ปรัชญาศึกษาภวันต์ในฐานะเป็นภวันต์ (Being as being) ไม่ใช่ศึกษาภวันต์ในฐานะเป็น/เพื่อสิ่งอื่น (Being as/for other) กล่าวคือ ในขณะที่ศาสตร์แต่ละศาสตร์ศึกษา ลักษณะที่แตกต่างของความเป็นจริง เช่น พฤษศาสตร์ ธรณีวิทยา ฯลฯ หรือสนใจลักษณะที่แน่นอนร่วมกันของความเป็นจริง เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกข์ ฯลฯ แต่อภิปรัชญาศึกษา ความเป็นจริงที่เป็นจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เปลือกนอก (ปริมาณภายนอกตาม “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฏ) แต่ปรัชญาสนใจความเป็นจริงที่เป็นจริง ๆ ที่ทำให้สิ่งนั้นเป็น (To Be)

ดังนั้น อภิปรัชญา จึงเป็นการศึกษา ภวันต์/ภาวะ สนใจ “ความหมาย” องค์ประกอบหรือหลักการของสรรพสิ่ง (ที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นอย่างที่มันเป็นอยู่)

2.1.2 ชนิดของอภิปรัชญา
แบ่งออกได้สองชนิด ได้แก่

ก. อภิปรัชญาเกี่ยวกับสิ่งมีอยู่ทั่วไป
1) คือ การศึกษาภวันต์ (สิ่งนั้น) (Dantonel, 2004) ในฐานะเป็นภวันต์ (สิ่งนั้น) (Being as being ) หรือศึกษาลักษณะ และองค์ประกอบของภวันต์ ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่

2) หลักการของภวันต์ (ยกเว้น “พระเจ้า”) ได้แก่
2.1) ภวันต์ (Being) = อัตถิภาวะ (Existence) +สารัตถะ (Essence)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีอยู่ตามรูปแบบ/สารัตถะ
ของมัน เช่น มนุษย์มีอยู่ในฐานะที่เป็น
มนุษย์

2.2) ภวันต์ (Being) = สาระ (Substance) + คุณา (Accidents)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องประกอบด้วยแก่นแท้
(สาระของสิ่งนั้น) และส่วนประกอบของ
สิ่งนั้น เช่น มนุษย์ประกอบด้วยความเป็น
มนุษย์และรูปร่างหน้าตาภายนอก

2.3) ภวันต์ (Being) = ภาวะจริง (Act) + ภาวะแฝง (Potency)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีทั้งสภาพที่เป็นอยู่และมี
สภาวะแฝง (ศักยภาพ) ที่จะเป็นได้ในบริบท
ของสิ่งนั้น เช่น นาย ก. ขณะนี้เป็นนักศึกษา
วิทยาลัยแสงธรรม สาขาวิชาปรัชญาและ
ศาสนา ชั้นปีที่ 1 (Act) แต่เขามีสภาวะแฝงที่
จะเป็นบัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา

2.4) ภวันต์ (Being) = สสาร (Matter) + รูปแบบ (Form)
= สิ่งที่มีอยู่ ต้องมีทั้งส่วนที่เป็นวัตถุสสาร
และมีรูปแบบของสิ่งนั้น เช่น มนุษย์ ต้องมี
ทั้งส่วนที่เป็นร่างกายและวิญญาณ เป็นต้น

3) ที่สุด อภิปรัชญาสรุปพื้นฐานภวันต์ได้ 3 อย่างคือ “ความจริง” “ความดี” และ “ความงาม” (สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง + ดี + งาม) (สมัคร บุราวาศ, 2544)

ข. อภิปรัชญาเชิงเทววิทยา
1) คือ การศึกษาพระเจ้า ในฐานะสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ และเป็นสาเหตุแรกของสิ่งต่าง ๆ (หรือเรียกว่าเทววิทยาธรรมชาติ /Natural Theology หรือภาวะที่เกินขอบเขตโลกแห่งผัสสะ/Transcendent) (Mariano, 1990)

2) จากการศึกษาสิ่งมีอยู่ที่เป็นสิ่งทั่วไป ที่มีความจำกัด ทำให้เข้าใจว่าน่าจะมี “ภาวะที่มีอยู่ที่ไม่เป็นสิ่งจำกัด” ในฐานะเป็นความสมบูรณ์ และเป็นสิ่งที่ไม่ถูกจำกัด ซึ่งเป็นหลักการและพื้นฐานของสรรพสิ่ง (ความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า) ดังนั้น ในบางแง่มุมของอภิปรัชญา จึงมีการเรียกอภิปรัชญาว่าเทววิทยาก็ได้ ซึ่งมุ่งสู่การศึกษา อุตรภาพ (Transcendence, ภาวะที่เกินขอบเขตโลกแห่งประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส)

2.1.3 คำตอบจากอภิปรัชญา
จากประวัติปรัชญา เราสามารถแบ่งคำตอบเกี่ยวกับคำถามเชิงอภิปรัชญา กว้าง ๆ ได้ 3 แนว กล่าวคือ
ก. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น จิต (จิตนิยม)
ข. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น สสาร (สสารนิยม)
ค. ภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ มีลักษณะเป็น จิตและสสาร (ทวินิยม)

2.2 ญาณวิทยา
2.2.1 ความหมายและที่มาของญาณวิทยา
ญาณวิทยา (Epistemology) หมายถึง การศึกษาปัญหาเรื่องความรู้ พยายามตั้งและตอบคำถามว่า “รู้ความจริงได้อย่างไร?” นำเสนอด้วยทฤษฏีความรู้ โดยก่อนหน้านี้ แฝงตัวอยู่ในอภิปรัชญา (แต่เดิม เนื้อหาของอภิปรัชญา จะครอบคลุมถึงการรู้ (ทฤษฏีความรู้) ความจริงด้วย) การแยกตัวและพัฒนาอย่างชัดเจนของวิธีการได้ความรู้ของวิทยาศาสตร์ ทำให้ทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) แยกแขนงจากอภิปรัชญา เพื่อหาหลักการเกี่ยวกับวิธีการรู้ความจริงของปรัชญาว่าเป็นอย่างไร (กีรติ บุญเจือ, 2522)

2.2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญาและญาณวิทยา
ญาณวิทยามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอภิปรัชญา ในฐานะที่เป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากพื้นฐานที่อภิปรัชญาวางเอาไว้ (ปัญหาเรื่องความเป็นจริง ...ความเป็นจริงคืออะไร) ผลที่ตามมาคือ มนุษย์รู้ความจริงได้อย่างไร เอาอะไรมาตัดสินว่าสิ่งที่มนุษย์รู้นั้น เป็นความจริงหรือไม่ (Mariano, 1990)

ญาณวิทยา
อภิปรัชญา

2.2.3 ปัญหา/โจทย์ของญาณวิทยา
คือ การศึกษาเกี่ยวกับความรู้ว่า “อะไรเป็นมาตรการของความจริง? เอาอะไรมาวัดว่านี่คือความจริง?”

แบ่งกว้าง ๆ ได้ 3 ประเด็น (หลักการแสวงหา หลักการแยกแยะ และหลักการตรวจสอบความรู้) ได้แก่ (Mariano, 1990)
ก. Epistemology หมายถึง หลักในการแสวงหาความรู้ที่ตรงกับความจริงว่าสิ่งที่เรารู้ เป็นความรู้ที่ถูกต้อง/สอดคล้องกับความเป็นจริง (หลักการแสวงหาความรู้ที่ถูกต้อง)
ข. Criteriology หมายถึง หลักการแสวงหามาตรการและหลักที่แยกความจริงจากความเท็จ (หลักการแยกแยะความจริง)
ค. Gnoseology หมายถึง หลักการตรวจสอบว่าความรู้นั้น สอดคล้อง
ตรงกับความเป็นจริง ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่เรารู้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องกับ
ความเป็นจริง (หลักการตรวจสอบความรู้)

2.2.4 เนื้อหา/เป้าหมายของญาณวิทยา
มีหลักการสำคัญ คือ

ก. ความจริงเป็นสิ่งที่เรารู้ได้ นำสู่โจทย์ที่ว่า “รู้ได้อย่างไร?” และเอาอะไรมาตัดสิน/พิสูจน์ว่าสิ่งนั้นเป็นความรู้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นเท่านั้น (Knowledge # Opinion)

ข. ความรู้ ที่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง” มีลักษณะเป็น (สิ่ง) สากล ซึ่ง
1) ไม่ใช่แค่ผลจากขบวนการทางฟิสกข์หรือจักรกล ที่สนใจเฉพาะสิ่งที่ปรากฎ/พิสูจน์ได้ด้วยการทดลองค้นคว้าระดับประสาทสัมผัส

2) ไม่ใช่แค่ “ความรู้สึก” จากประสาทสัมผัสที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็น “ความรู้สำนึก” ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของมนุษย์ ที่รู้ถึงสิ่งต่าง ๆ (รู้ถึงสิ่งนั้นในฐานะที่สิ่งนั้นเป็นสิ่งนั้น) ไม่ใช่ยึดตัวผู้รู้เป็นเกณฑ์ (รู้เฉพาะสิ่งที่เราอยากรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เพื่อจะเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อตัวเอง แบบวิทยาศาสตร์)

3) แต่เป็นความรู้ใน (สิ่ง) สากล ที่ไม่เปลี่ยนแปลง



2.2.5 ปัญหาของญาณวิทยาคือ การศึกษาเรื่องความจริงกับความเท็จ
ญาณวิทยาพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นความเท็จ รวมทั้งเรื่องปัญหา/อุปสรรคที่ทำให้เราเข้าใจผิดเกี่ยวกับความจริง

ก. ความจริงและความเท็จ : Truth and False
1) ความจริง คือ ลักษณะที่ตรงกันของความคิด (มโนภาพ) กับสิ่งนั้น (เช่น นี่คือโต๊ะ และสิ่งนั้นเป็นโต๊ะจริง ๆ ไม่ใช่เก้าอี้ หรือตุ๊กตาโดเรมอน) เป็นความสัมพันธ์/สอดคล้องระหว่างความเข้าใจต่อสิ่งนั้น ที่สอดคล้องกับภาวะที่สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นจริง ๆ (เช่น นาย ข. มีความเข้าใจว่า คน ๆ นั้น คือ นาย ก. และในความเป็นจริง คน ๆ นั้นเป็นนาย ก. จริงๆ ) ดังนั้น ความจริงจึงเป็นความรู้เข้าใจ (ที่มีต่อสิ่งนั้น) ที่ตรงกับความเป็นจริงที่สิ่งนั้นเป็นจริง ๆ)

2) ความเท็จ คือ ลักษณะที่ไม่ตรงกันระหว่างความคิดเข้าใจ (มโนภาพของสิ่งนั้น) กับสิ่งนั้น (เช่น นาย ข. มีความเข้าใจว่า คน ๆ นั้น คือ นาย ก. แต่ในความเป็นจริง คน ๆ นั้น คือ นาย ค. ไม่ใช่ นาย ก.)

ข. การพิสูจน์ความรู้/ความจริง : Evidence and Certitude
การพิสูจน์ความจริงขึ้นกับหลักการสองอย่าง ได้แก่ (Mariano, 1990)

1) หลักฐาน/ข้อมูลของความจริง (Evidence) กล่าวคือ ต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งนั้นและมีสิ่ง/สถานการณ์นั้น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างเช่น มีการกล่าวว่า “นาย ก. เป็นนักศึกษาชั้นปรัชญาและศาสนา ปีที่ 1 วิทยาลัยแสงธรรม” การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ พิจารณาจากหลักฐาน (ความชัดเจน + สิ่งที่เกิดขึ้นจริง) (ในกรณีการกล่าวว่า นาย ก. เป็นนักศึกษาสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยแสงธรรม) ต้องดูหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1.1) หลักฐานตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น (Fact/event) หมายถึง การพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
1.2) หลักฐานตามหลักการ หมายถึง การพิจารณาความจริงที่เป็นจริงๆ ของสิ่ง/สถานการณ์นั้นๆ )

2) การตัดสินความจริง (Certitude) หมายถึง การตัดสินหลังจากที่เราได้ศึกษาหลักฐาน/ข้อมูลของความจริง (Evidence) ซึ่งไม่ใช่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความเชื่อหรือทัศนคติ แต่เป็นการยืนยันหรือปฏิเสธในสิ่งที่เราเข้าใจกับหลักฐานที่เราได้พบเห็น

2.2.6 คำตอบจากญาณวิทยา
สืบเนื่องจากคำตอบที่ได้จากอภิปรัชญา ทำให้ญาณวิทยาได้คำตอบเป็นสามแนวกว้างๆ เช่นกัน คือ จิตนิยม สสารนิยมและทวินิยม (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538) กล่าวคือ

ก. เหตุผลนิยม มีแนวคิดว่า ในเมื่อความเป็นจริงคือจิต (วิญญาณ) ดังนั้น การรู้ความจริง ซึ่งมีลักษณะสากล ต้องรู้อาศัยจิต (วิญญาณ) ด้วยการหยั่งรู้ การระลึกได้ และใช้วิธีการแบบนิรนัย (พิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด สรุปเป็นหลักการเกี่ยวกับสิ่งนั้น)
ข. ประสบการณ์นิยม มีแนวคิดว่า ในเมื่อความเป็นจริงเป็นวัตถุ/สสาร ดังนั้น การรู้ความจริงจึงต้องอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ผัสสะ) และใช้วิธีการอุปนัย (การค้นคว้าทดลองระดับประสาทสัมผัสบางส่วน และนำไปสรุปว่าทั้งหมดในประเภทเดียวกันจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นพื้นฐานและที่มาของวิธีการทางวิทยาศาสตร์)
ค. ทวินิยม แนวคิดที่ห็นว่า การรู้ความจริง ควรพิจารณาความจริงเป็น สองระดับ คือ สิ่งที่เป็นจริง ๆ กับสิ่งที่ปรากฏ

2.3 คุณวิทยา/อัคฆวิทยา (Axiology)

2.3.1 ความหมายคุณวิทยา/อัคฆวิทยา
หมายถึง การศึกษาเรื่องคุณค่า (กีรติ บุญเจือ, 2522) ซึ่งแยกได้สองประเภท คือ ความดี (จริยะ/จริยศาสตร์) และความงาม (สุนทรียะ/สุนทรียศาสตร์) (Mariano, 1990)

2.3.2 ความสัมพันธ์ระหว่างอภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา
อภิปรัชญา เป็นพื้นฐานนำสู่ญาณวิทยาและคุณวิทยา กล่าวคือ

ญาณวิทยา คุณวิทยา (จริยศาสตร์ +
สุนทรียศาสตร์)

อภิปรัชญา

เมื่อเราสรุปพื้นฐานของสิ่งที่มีอยู่/ภวันต์ (Being) และนำเสนอได้สามอย่าง กล่าวคือ สิ่งที่มีอยู่ (Being) เป็น ความจริง (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความจริง) ความดี (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความดี) และความงาม (สิ่งที่มีอยู่ เป็นความงาม) เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของอภิปรัชญา ญาณวิทยา และคุณวิทยา (จริยศาสตร์และสุนทรียศาสตร์) ว่าแต่ละส่วนต่างรับผิดชอบที่จะอธิบายความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่มีอยู่ ดังนี้

ปัญหาเกี่ยวกับความจริง (ความหมาย/ความรู้) = อภิปรัชญา/ญาณวิทยา
ปัญหาเกี่ยวกับความดี = จริยศาสตร์
ปัญหาเกี่ยวกับความงาม = สุนทรียศาสตร์

2.3.3 ประเภทของคุณวิทยา/อัคฆวิทยา
แบ่งได้สองประเภท คือ
ก. จริยศาสตร์ (Moral Philosophy/Ethics)
1) ความหมาย
จริยศาสตร์ หมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำอย่างไรจึงบรรลุความจริง (ความดี) มีหลักเกณฑ์อะไรที่เป็นแนวทางสู่การดำเนินชีวิตของมนุษย์ไปสู่ความจริงได้ (Human Act) เราควรแสวงหาอะไรในชีวิต จุดหมายชีวิตคืออะไร พูดง่ายๆ คือ ทำอย่างไรจึงมุ่งความเป็นจริงนั้น

2) เนื้อหาของจริยศาสตร์
คือ ศึกษาการกระทำของมนุษย์จากมิติด้านศีลธรรม ว่าการกระทำนั้นๆ ทำให้สามารถบรรลุถึงจุดหมายของชีวิต (ความเป็นจริง) ได้หรือไม่ โจทย์คือ อะไรเป็นคุณค่าของความประพฤติ ซึ่งแยกประเภท ได้แก่

2.1) อะไรเป็นการกระทำเฉพาะของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ
(Human Acts)
2.2) ความสัมพันธ์ของการกระทำเฉพาะของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ (Human Acts) ว่าสามารถบรรลุถึงความเป็นจริง/เป้าหมายได้หรือไม่
2.3) เป้าหมายสุดท้ายของการทำแบบมนุษย์ (การกระทำเฉพาะ
ของ/อย่างที่มนุษย์พึงกระทำ
2.4) มนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ (เลือกการกระทำได้ไหม)
2.5) มนุษย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนหรือไม่

3) ประเภทของจริยศาสตร์
3.1) จริยศาสตร์ทั่วไป (General Ethics) หมายถึง การพิจารณาหลักการกระทำของมนุษย์ส่วนบุคคล
3.2) จริยศาสตร์สังคม (Social Ethics) หมายถึง การพิจารณาหลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

4) คำตอบของจริยศาสตร์ (ทฤษฏีการดำเนินชีวิต)
จากพื้นฐานของอภิปรัชญา (ความเป็นจริง มีลักษณะเป็น จิต/ วัตถุ และทั้งสอง) ทำให้จริยศาสตร์มีแนวคำตอบกว้าง ๆ ได้สามแนว คือ

4.1) ศานตินิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญา ที่อธิบายว่า ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจิต ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) คือการทำให้จิตวิญญาณประสบสันติสุข)

4.2) สุขนิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญา ที่อธิบายว่า ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นวัตถุ/สสาร ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) คือการทำให้ชีวิตมีความสุขทางในระดับร่างกาย (วัตถุ)

4.3) มนุษยนิยม ได้แก่ แนวคิดที่มีพื้นฐานจากอภิปรัชญาแนวทวินิยม (ความเป็นจริง มีลักษณะเป็นทั้งจิตและวัตถุ ดังนั้น การกระทำที่ดี (การกระทำที่มนุษย์ควรกระทำเพื่อบรรลุความเป็นจริง) ต้องมีการผสานกลมกลืนระหว่างจิตกับวัตถุ (กายและวิญญาณ)

ข. สุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)
1) ความหมายและจุดหมาย
สุนทรียศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายของความงาม ความคิดเรื่องความงามหรือปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องศิลปะหรือความงามนั่นเอง (สุเชาว์ พลอยชุม, 2545) จุดหมายของสุนทรียศาสตร์ คือ พยายามยกระดับของการสร้างสรรค์และความสนใจในศิลปะซึ่งเป็นไปตามสัญชาติญาณให้เป็นพฤติกรรมที่เต็มด้วยปัญญา

2) เนื้อหาของสุนทรียศาสตร์
เนื้อหาของสุนทรียศาสตร์ครอบคลุมในเรื่องเกี่ยวกับ
2.1) ความงามคืออะไร
2.2) ประสบการณ์ทางสุนทรียะคืออะไร
2.3) หลักการตัดสินว่าอะไรงาม อะไรไม่งาม

3) คำตอบจากสุนทรียศาสตร์ (ทฤษฏีความงาม)
แบ่งคำตอบกว้างๆ ได้แก่
3.1 ความงามขึ้นกับแต่ละคน
3.2 ความงามขึ้นกับวัตถุ
3.3 ความงามขึ้นกับทั้งแต่ละบุคคลและวัตถุ
3.4 ความงาม คือ ความแปลกใหม่

3. สรุปประจำบท

แม้ปรัชญาจะแบ่งย่อยได้สองประเภทคือ ปรัชญาบริสุทธิ์และปรัชญาประยุกต์ โดยปรัชญาบริสุทธิ์ แบ่งได้สามสาขา/แขนง คือ อภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา/อัคฆวิทยา ล้วนแต่มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกันในการหาคำตอบเกี่ยวกับความจริงตามธรรมชาติของปรัชญา กล่าวคือ ก่อนที่เราจะไปศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร เราต้องรู้ความจริงก่อนว่า ความจริงของสิ่งนั้น คืออะไร (อภิปรัชญา) เมื่อเรารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพื่อว่าสิ่งที่เรารู้นั้นเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความจริงหรือไม่ เราย่อมต้องมีวิธีการ และหลักการรับรู้และตัดสินสิ่งที่เรารับรู้นั้น ๆ (ญาณวิทยา) และที่สุด เรามีการนำหลักการของสิ่งนั้นไปตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ (คุณวิทยา)
 
***********************
บทที่ 3
กำเนิด พัฒนาการ
และการแบ่งยุคสมัยของแนวคิดทางปรัชญา


1. กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดทางปรัชญาในช่วงแรกของ (ก่อน) ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

1.1 มนุษย์กับปัญหาเชิงอภิปรัชญากับปรัชญาแนววิญญาณนิยม
1.1.1 มนุษย์มีประสบการณ์กับสิ่งที่มีอยู่ (Being) ภายนอก/ภายในตัวมนุษย์เอง (สิ่งต่างๆ ตามปรากฎการณ์ธรรมชาติ) มนุษย์เผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมรอบตัว (สมัคร บุราวาศ, 2544) มนุษย์สงสัย ตั้งคำถามว่า “สิ่งนั้น สิ่งนี้ที่อยู่รอบตัว มันคืออะไร?” หลายๆ สิ่งมนุษย์รู้สึกว่าเป็นความลึกลับ บ้างก็เป็นรหัสธรรม และมีความรู้สึกมืดแปดด้าน ปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ มีลักษณะดังนี้

ก. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้านั้น มีทั้งส่วนที่ทำให้มนุษย์ได้รับผลดีและผลร้าย
ข. มนุษย์ควบคุมสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ มีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายๆ อย่าง ที่มนุษย์พบว่ายิ่งใหญ่กว่าตนเอง
ค. มนุษย์เกิดภาวะความกลัว กังวลใจ ไม่มีความสุข

1.1.2 มนุษย์พยายามคิด (ใช้สติปัญญา) หา คำตอบ เท่าที่จะหาได้และในช่วงแรก ๆ มนุษย์มีแนวโน้มที่คิดว่าโลกและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ตายตัว แต่มีความเป็นไปได้ว่า (Gaarder, n.y.)

ก. ปรากฏการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นตามที่เทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติบัญชา ตามความพอใจของเทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติ (เช่น ในดินแดนกรีกโบราณ มีตำนานเกี่ยวกับเทพซุส)

ข. ถ้ามนุษย์อยากอยู่อย่างสงบ ไม่ต้องเดือดร้อนจากปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลร้าย/ภัยต่อตัวมนุษย์ๆ จึงต้องหาวิธีเอาใจเทพเจ้า/สิ่งเหนือธรรมชาติ จึงปรากฎร่องรอยของการบูชายัญ/ การถวายบูชา/พิธีกรรม ฯลฯ มีวิวัฒนาการเรื่องการเอาใจเทพเจ้าอย่างต่อเนื่อง
1) ผลที่ตามมา คือ มนุษย์ได้ผ่อนคลาย มีคำตอบ พอหาวิธีการอยู่อย่างสงบ (ใจ) ได้บ้าง
2) คำตอบดังกล่าว ได้รับการยอมรับมาเป็นเวลายาวนาน
3) ข้อสังเกต คือ น่ายกย่องมนุษย์คน/กลุ่มแรก ที่คิดและหาคำตอบให้ มนุษย์คน/กลุ่มแรก ที่คิด/ให้คำตอบดังกล่าวควรได้รับการยกย่องอย่างสูง เพราะถ้าไม่มีคำตอบดังกล่าว มนุษย์โบราณคงจะมีความเครียดสูง เนื่องจากมีแต่ปัญหา/สงสัย แต่ไม่มีคำตอบที่ทำให้สบายใจ

1.1.3 ต่อมา มีวิวัฒนาการ/การจัดระบบการอธิบาย รวมถึงพัฒนาการเรื่อง วิธีการที่จะเอาใจเทพเจ้า มีลักษณะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มีบุคคลเฉพาะ ผู้รู้ ปราชญ์ คุรุ ที่อธิบายและถ่ายทอดเรื่องราวให้กับมนุษย์ในสังคมรุ่นต่อๆ มา มีการบันทึกเป็นเรื่องราวและเชื่อว่าได้รับมาจากเทพเจ้า

1.1.4 เราเรียกแนวคิดในช่วงแรกนี้ได้ว่า “วิญญาณนิยม” (Animism) หรือ “ยุคปัญญาเชิงศาสนา” (สมัคร บุราวาศ, 2544)

1.2 ข้อสังเกต
1.2.1 มีพัฒนาการทางความคิด/นำสู่การมีความเชื่อพื้นฐานสองด้าน คือ
ก. ด้านเชิงสร้างสรรค์ นำสู่การมีความเชื่อแบบเน้นปัญญา และ
ความเข้าใจต่อคำตอบที่ได้ (พัฒนาสู่การเป็นศาสนา)
ข. ด้านเชิงงมงาย นำสู่การมีความเชื่อแบบตาบอด (ไสยศาสตร์)

ด้านเชิงสร้างสรรค์ พัฒนาสู่การเป็น “ศาสนา” “ปรัชญา” และ “เทววิทยา” และวิทยาการต่างๆ ด้านเชิงงมงาย จะค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา (มีอย่างอื่นมาแทนที่อยู่เรื่อยๆ เปลี่ยนรูปแบบตามกระแสค่านิยม)

1.2.2 กำเนิดความคิดดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะคล้ายกันด้านเนื้อหาสาระ (ปัญหาเชิงอภิปรัชญา) ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก แต่มี “รายละเอียด” อาจต่างกัน (เช่น ชื่อเรียก พิธีกรรม เป็นต้น)

แหล่งกำเนิดของความคิดทางปรัชญา แบ่งออกได้เป็นสองแหล่งใหญ่ คือ ปรัชญาตะวันตกและ ปรัชญาตะวันออก ปรัชญาสองสายนี้ได้ไหลผ่านกาลเวลาแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติเป็นเวลาหลายพันปี มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มาทุกยุคสมัย จากอดีต ปัจจุบันและอนาคต ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงดำรงอยู่ในโลก ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมุ่งศึกษาในประเด็นที่สังคมในยุคต่าง ๆ ให้ความสนใจความจริงเกี่ยวกับโลกและชีวิต (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2) เป็นการเปิดตัวเองของมนุษย์เพื่อศึกษาโลกทรรศน์เกี่ยวกับภาวะที่มีอยู่ (Being) ตามบริบทของสังคมตามหลักเหตุ-ผล

2. พัฒนาการและภาพรวมของปรัชญาตะวันออก
ปรัชญาตะวันออก หมายถึง แนวคิดเชิงปรัชญาในดินแดนเอเชีย ซึ่งในอดีต อารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่โบราณแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนว คือ ปรัชญาอินเดีย และ ปรัชญาจีน (หรือเรียกว่าปรัชญาแห่งแม่น้ำสินธุ/คงคา กับปรัชญาแห่งแม่น้ำฮวงโห/แยงซีเกียง)
สองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ตั้งแต่อดีตในซีกโลกตะวันออก (ทวีปเอเชีย) ได้แก่ อินเดียและจีน ถือเป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาตะวันออก (ปรัชญาตะวันออก) นักปรัชญาตะวันออกสนใจความเป็นจริงเช่นเดียวกับนักปรัชญาตะวันตก แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของปรัชญาตะวันออก คือ ความสนใจต่อความเป็นจริงเพื่อการปฏิบัติตนมุ่งสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริง นี่เองที่ผู้ศึกษาปรัชญาจึงมีความคิดว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) เป็นปรัชญาชีวิต เพราะแนวคิดทางปรัชญาที่ค้นคิดขึ้นได้นั้น มีการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยลักษณะดังกล่าวนี้ “ปรัชญากับศาสนาของอินเดียจึงมักไปด้วยกันเสมอ” (สุนทร ณ รังษี, 2521: 2)

2.1 ปรัชญาอินเดีย
2.1.1 บริบทและพื้นฐานของปรัชญาอินเดีย
ชนเผ่าอารยัน (Aryan) เข้มแข็ง ฉลาด ได้เข้ามายึดครองดินแดนชมพูทวีปที่กว้างใหญ่และมีชนพื้นเมืองหลายเผ่าพันธุ์ เมื่อชนเผ่าอารยันเข้ามายึดครอง และมีการสร้างอารยธรรม โดยน่าจะมี/ใช้คัมภีร์ เรื่องเล่า/บันทึกประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ/ความเป็นจริงสูงสุด ซึ่งมีชื่อ “คัมภีร์พระเวท” มาเป็นต้นแบบและการจัดระบบการดำเนินชีวิตในสังคม คัมภีร์พระเวทในระยะแรกยังคงมีลักษณะเป็นวิญญาณนิยม (คัมภีร์พระเวทมีลักษณะเป็นตู้หนังสือ เหมือนพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์/ไบเบิ้ล) มีบันทึกว่ามีเทพเจ้ามากมาย แต่มีพูดถึงเทพสำคัญๆ สามองค์ (สมัคร บุราวาศ, 2544) ได้แก่ พระอินทร์ พระอัคนีและพระวรุณ (ต่อมาพัฒนาการเป็น “ตรีมูรติ/Trimurti” คือ พระพรหม พระวิษณุ และศิวะ ในศาสนาฮินดู)

ปรัชญาอินเดียทุกระบบ ล้วนได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวททั้งสิ้น หลังยุคพระเวทเราอาจแบ่งระบบปรัชญากว้าง ๆ ได้สองแนวคือ

ก. แนวนาสติกะ (Heterodox) คือ แนวคิดที่มีลักษณะที่สอนตรงข้ามกับสิ่งที่พระเวทสอน มีสามแนวคิดสำคัญคือ จารวาก (Carvaka) ปรัชญาเชน (Jainism) และพุทธปรัชญา (Buddhism) ซึ่งถือว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยอ้อม เพราะได้สร้างปรัชญาขึ้นมาขัดแย้งกับพระเวท

ข. แนวอาสติกะ (Orthodox) คือ แนวคิดที่ดำเนินตามและอธิบายเพิ่มเติมในสิ่งที่พระเวทสอน เชื่อเรื่องพระเจ้าหรือเชื่อเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเวท ประกอบด้วยแนวปรัชญา 6 สำนัก ซึ่งถือว่าได้รับอิทธิพลจากพระเวทโดยตรง (สางขยะ /Sankhya เวทานตะ /Vedanta โยคะ /Yoga มีมางสา /Mimamsa) นยายะ /Nyaya ไวเศษิกะ /Vaiseshika)

มีการแบ่งปรัชญาอินเดียออกเป็นสองยุค คือ ปรัชญาอินเดียโบราณ (ขยายความหรือต่อต้านพระเวท) กับปรัชญาอินเดียร่วมสมัย (การผสานกับวัฒนธรรมตะวันตก)

2.1.2 ลักษณะโดยรวมของปรัชญาอินเดีย (ปรัชญาอินเดียโบราณ)
ปรัชญาอินเดีย มีลักษณะทั้งทฤษฏี (อภิปรัชญา ญาณวิทยา) และภาคปฏิบัติ (จริยศาสตร์) ซึ่งควบคู่ไปด้วยกัน โดยมีพื้นฐานจากศาสนา (ยกเว้นลัทธิจารวาก) ปรัชญาอินเดียจึงมีลักษณะขยายความคำสอนของศาสนา โดยให้หลักเหตุผลเป็นเครื่องมือ จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาศาสนา ในแบบปรัชญาชีวิต เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ จึงขอยกแนวคิดของ ศ. สุนทร ณ รังสี (2521) ที่เสนอลักษณะเด่นของปรัชญาอินเดีย (ไม่รวมจารวาก ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดพิเศษของปรัชญาอินเดีย) ดังนี้

ก. ปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต
เน้นความคิดในแบบที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จึงไม่ใช่รู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อเอาไปใช้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต

ข. ปรัชญาอินเดียมองชีวิตว่าเป็นทุกข์ แต่มีวิถีดับทุกข์
กล่าวคือ มองชีวิตว่ามีแต่ทุกข์ จึงพยายามนำเสนอวิถีดับทุกข์ มองว่าทุกข์นี้มีวิธีแก้ไขหรือพ้นทุกข์ได้ (ชีวิตเต็มด้วยทุกข์ แต่เราสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้)

ค. ปรัชญาอินเดียเชื่อในกฎแห่งกรรม
ถือเป็นกฎสากลหรือกฎแห่งเหตุและผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยต่างกันบ้างในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี

ง. ปรัชญาอินเดียสอนว่า “อวิชชา” หรือการรู้ผิด หลงผิด เป็นบ่อเกิดแห่งปัญหาชีวิต
ปรัชญาอินเดียจึงเสนอวิถีมุ่งสู่การบรรลุโมกษะหรือการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อันถือเป็นเป้าหมายชีวิต (แต่กระนั้นความคิดเรื่องอวิชชา มีแตกต่างกันบ้าง เช่น อวิชชาของปรัชญาลัทธิหนึ่ง อาจเป็นวิชชาของอีกสำนักหนึ่ง เป็นต้น)

จ. ปรัชญาอินเดียเน้นการบำเพ็ญพรต อันเป็นวิถีสู่การหลุดพ้น
ปรัชญาอินเดียสอนว่าการบำเพ็ญสมาธิและวิปัสสนา โดยมองสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง เป็นวิถีสู่การหลุดพ้นทุกข์ (โดยอาจต่างกันบ้างในแต่ละแนวคิด)

ฉ. ปรัชญาอินเดียสอนให้ควบคุมตนเอง
เห็นว่าการควบคุมตนเองหรือควบคุมจิตใจไม่ปล่อยตามกิเลสตัณหา เป็นวิถีแห่งขจัดกิเลส เพื่อบรรลุโมกษะ (ภาวะแห่งการหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง)

ช. ปรัชญาอินเดียมองว่ามนุษย์สามารถไปสู่การหลุดพ้นได้
การหลุดพ้นหรือการบรรลุถึงโมกษะ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ อาศัยการบำเพ็ญเพียร โดยแต่ละระบบมีแนวของตนเอง

2.1.3 ลักษณะของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเมื่อเปรียบเทียบกับกับปรัชญา
อินเดียโบราณ

ก. ความหมายของปรัชญาอินเดียร่วมสมัย
หลังสมัยสำนักปรัชญาต่าง ๆ แล้ว นักปรัชญาอินเดียก็ได้แต่จำของเก่า ไม่ได้คิดอะไรหรือ พัฒนาอะไรมากนัก จนกระทั่งนักปรัชญาอินเดียได้ติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมตะวันตก (แนวปรัชญาตะวันตก) ทำให้นักปรัชญาอินเดียที่ได้ศึกษา ปรัชญาตะวันตก กลับมาทบทวนแนวคิดบรรพบุรุษของตน และปรารถนาที่จะรักษาอัตลักษณ์ของชาติตนไว้ จึงมีการพยายามศึกษาและเข้าใจปรัชญาอินเดียโบราณ ตามทรรศนะของปรัชญาตะวันตก และพยายามเสริม/ประยุกต์วิธีการทางปรัชญาตะวันตกให้เข้ากับ ปรัชญาอินเดียโบราณ โดยมี นักปรัชญาสำคัญ ๆ ได้แก่ มหาตมะ คานธี รพินทรนาถฐากูร เป็นต้น

ข. ลักษณะที่เหมือนและต่างกันของปรัชญาอินเดียโบราณ กับปรัชญา
อินเดียร่วมสมัย
1) ลักษณะที่เหมือนกัน

1.1) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย มีพื้นฐานจากปรัชญาอินเดียโบราณ และแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนวเหมือนปรัชญาอินเดียโบราณ

ลักษณะปรัชญาอินเดียร่วมสมัย (สมัยใหม่) เป็นการนำแนวคิดของปรัชญาอินเดียโบราณ มาผสานกับแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาตะวันตก แนวคิดจึงออกมาเป็นลักษณะแบบสังเคราะห์และบูรณาการความคิดระหว่างปรัชญาอินเดียโบราณกับปรัชญาตะวันตก ดังนั้น จึงแบ่งกว้าง ๆ ได้สองแนวคือ แนวที่ยอมรับสัจจะในคัมภีร์เดิม (พระเวทและอุปนิษัท) แต่จัดรูปแบบเสียใหม่ กับพวกที่ปฏิเสธหลักการเดิมที่เห็นว่าไม่ใช่สัจจะ (พูดง่าย ๆ คือ ยอมรับคัมภีร์เดิมกับปฏิเสธคัมภีร์)

1.2) ทั้งปรัชญาอินเดียร่วมสมัยและปรัชญาอินเดียโบราณ มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต

กล่าวคือ มุ่งเจาะประเด็น ตอบปัญหาเกี่ยวกับชีวิต และเป็นแนวคิดที่มุ่งสู่การปฏิบัติได้จริงในชีวิต แนวความคิดจึงเป็นทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ

2) ลักษณะที่ต่างกัน

2.1) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตก ทั้งด้านบวก (การนำวิธีการของปรัชญาตะวันตกมาใช้) และลบ (การปฏิเสธแนวทางของปรัชญาตะวันตก เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ของปรัชญาอินเดียโบราณ) ในเชิงบูรณาการและสังเคราะห์ความคิด

กล่าวคือ ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตก ด้านบวกในความหมายของการนำแนวคิด/วิธีการใหม่ ๆ ของปรัชญาตะวันตกมาประยุกต์ใช้ ส่วนด้านลบเป็นเรื่องของการปฏิเสธหรือต่อต้านแนวคิดตะวันตกที่ขัดแย้งกับแนวคิดอินเดีย แนวคิดของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยจึงเป็นแบบบูรณาการและสังเคาระห์ความคิด โดยผสานกับแนวคิดทางตะวันตก ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณมีลักษณะเป็นปรัชญาอินเดียบริสุทธิ์ ในความหมายที่ว่าไม่มีความคิดจากตะวันตกมาเกี่ยวข้องด้วย

2.2) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีลักษณะสัจนิยมและจิตนิยม ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณมีแนวคิดแบบปฏิเสธโลกและพรตนิยม

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย ยอมรับโลกที่ปรากฏเป็นจริง (สัจนิยม) และยอมรับว่าโลกไม่ใช่แค่วัตถุ แต่ยังเป็นจิตด้วย (จิตนิยม) ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณ มีแนวคิดว่าโลกเป็นเพียงมายา (ไม่ใช่ของจริง – ปฏิเสธโลก) และพยายามบำเพ็ญตน (พรตนิยม) เพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น (ออกจากโลก)

2.3) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีทรรศนะแบบสากลนิยมและจิตนิยม

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมองสิ่งต่าง ๆ แบบสากล กล่าวคือ มองสิ่งต่าง ๆ ว่าดำเนินไปด้วยกัน (พัฒนาตนร่วมกับพัฒนาสรรพสิ่ง) นอกจากนี้ยังมีแนวคิดแบบจิตนิยม คือ เห็นว่าจิตเท่านั้นเป็นจริง สิ่งอื่นไม่มีจริง สิ่งต่าง ๆ มีลักษณะอันแท้จริงเป็นจิตอย่างเดียวกับอาตมันในมนุษย์ ซึ่งต่างจากปรัชญาอินเดียโบราณ ที่เน้นในลักษณะปัจเจก (มองเฉพาะสิ่งเฉพาะ) เห็นว่าทุกสิ่งไม่เกี่ยวข้องกัน ต่างคนต่างมีวิถีและศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้

2.4) ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเน้นประนีประนอมระหว่างเทวนิยมกับสัมบูรณนิยม

แนวคิดปรัชญาอินเดียโบราณ มีทั้งแนวคิดแบบเทวนิยม (พระเจ้า/ความเป็นจริงสูงสุดทรงสร้างโลกและสรรพสิ่ง พระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) กับโลก/สรรพสิ่งจึงแตกต่างกัน) และแนวคิดแบบสัมบูรณนิยม (สอนว่าโลกกับพระเจ้า/ความเป็นจริงสูงสุดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในภาวะแห่งการหมดสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง) ถือเป็นสองแนวที่ต่างกันสิ้นเชิง ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยได้พยายามประสานความคิดของทั้งสองแนว โดยสอนให้ยอมรับพระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) ซึ่งเป็นทั้งไม่มีตัวตนและมีตัวตน พระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) เป็นทั้งอยู่ในโลกและมีลักษณะอยู่พ้นขอบเขตแห่งโลก

2.5) ความคิดเรื่องเอกนิยมในสสารกับจิต

ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีลักษณะเป็นเอกเทวนิยมและเอกนิยม ซึ่งสามารถขจัดความคิดแบบทวินิยม (จิตและสสารมีอยู่ และเป็นอิสระต่อกัน) โดยสอนว่าความจริงมีหนึ่งเดียว แต่มีความแตกต่างตามลำดับของพัฒนาการ จึงเป็นแนวคิดในแบบเอกภาพในความหลากหลาย ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณสอนว่าความจริงเป็นหนึ่งเดียว สิ่งอื่นเป็นเพียงมายา

2.6) ความคิดเรื่องอาตมันกับเทวภาพ
ปรัชญาอินเดียวร่วมสมัยสอนว่าอาตมัน (Atman, Self) มีลักษณะเป็นพลวัต (มีพัฒนาการ) อาตมันในปัจเจกบุคคลมุ่งพัฒนาตนไปสู่สภาวะแห่งเทวภาพ (พรหม) ได้ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณคิดว่าอาตมันมีลักษณะตายตัว


2.7) ทฤษฏีวิวัฒนาการ
ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมีแนวคิดแบบวิวัฒนาการ มองมนุษย์ในแบบมีวิวัฒนาการ ถือว่าวิวัฒนาการสูงสุดของโลกคือ อภิมนุษย์ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณ ไม่ได้มีแนวคิดดังกล่าว

2.8) ความคิดเรื่องโมกษะ
ปรัชญาอินเดียโบราณมองว่าโมกษะคือ การหลุดพ้น สิ้นสุดการเกิดใหม่และเป็นนิรันดร์ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยคิดว่าโมกษะคือการเกิดใหม่ของวิญญาณหรืออาตมัน โมกษะจึงหมายถึงการเกิดใหม่ สู่อภิมนุษย์ อันถือเป็นพัฒนาการสูงสุดของจิต

2.9) ทรรศนะต่อศาสนา
ปรัชญาอินเดียโบราณมีบ่อเกิดจากศาสนา (นำความเชื่อมาอธิบาย) ปรัชญากับศาสนาจึงไปด้วยกันในแบบแนวคิดนั้น ศาสนานั้น (ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง) ในขณะที่ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยมองในแบบศาสนาสากล มองว่าทุกศาสนาเหมือนกัน แต่ต่างกันในรายละเอียด

2.10) แนวโน้มทางมนุษยนิยม
ปรัชญาอินเดียวร่วมสมัยเน้นมองคุณค่าชีวิตมนุษย์มากกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ เน้นปัญหาของมนุษย์ในโลก ในขณะที่ปรัชญาอินเดียโบราณเน้นความคิดที่มุ่งสู่สิ่งเหนือธรรมชาติ

2.1.4 สรุปปรัชญาอินเดีย
ปรัชญาอินเดีย จึงมีลักษณะทั้งทฤษฏี (อภิปรัชญา ญาณวิทยา) และภาคปฏิบัติ (จริยศาสตร์) ซึ่งไปด้วยกัน โดยมีพื้นฐานจากศาสนา (ยกเว้นจารวาก) ปรัชญาอินเดียจึงมีลักษณะขยายความคำสอนของศาสนา โดยให้หลักเหตุผลเป็นเครื่องมือ จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาศาสนา ในแบบปรัชญาชีวิต

2.2 ปรัชญาจีน
2.2.1 ลักษณะทั่ว ๆ ไปของปรัชญาจีน

ปรัชญาจีนมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต โดยอาศัยความเชื่อถือที่ผ่านมาในอดีตเป็นรากฐาน จึงไม่สนใจแสวงหาปฐมธาตุหรือการหลุดพ้น จึงมีลักษณะต่างจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาอินเดีย แต่ปรัชญาจีนให้ความสำคัญแก่มนุษย์ด้วยกัน ทำอย่างไรจึงเป็นคนดี มีความสุข ทำอย่างไรสังคม ประเทศและโลกจะมีความสงบสุข โดยอาจสรุปลักษณะทั่วไปของปรัชญาจีน ได้ดังนี้ (ฟื้น ดอกบัว, 2532)

ก. วิธีการและทัศนคติของปรัชญาจีน คือ เน้นหลักปฏิบัติและความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

1) มีทัศนะที่มองมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโลกและจักรวาล ทุกชีวิตมีความสัมพันธ์กันและต้องพึ่งพิงธรรมชาติ

2) เน้นหลักปฏิบัติด้วยการฝึกฝนตนเอง เพื่อเข้าใจปัญหาทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม

3) มองสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่ในแบบขัดแย้ง แต่มองถึงความกลมกลืนประสานสืบเนื่องของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายในโลก จึงมีลักษณะเป็นปรัชญาแห่งเอกภาพของสวรรค์และมนุษย์

ข. เนื้อหาและเป้าหมายของปรัชญาจีน คือ เน้นชีวิตในโลกปัจจุบัน

1) เนื้อหาปรัชญาจีนมีลักษณะใกล้ชิดกับจริยศาสตร์ การเมือง วรรณคดีและศิลปะ

2) เป็นปรัชญาในลักษณะเชิงปฏิบัติ มุ่งนำไปใช้เพื่อการดำรงชีวิตในสังคม ไม่มีความรู้สึกรุนแรงในแง่ศาสนา เพราะเน้นที่การปฏิบัติหรือฝึกฝนตนเอง

3) เป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญต่อความรักเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลักคำสอนจึงเน้นที่การทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี มุ่งสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในสังคม ไม่ใช่มุ่งสู่ชีวิตในโลกหน้าหรือไม่ได้มุ่งสู่การหลุดพ้นเป็นหลัก ดังนั้นเนื้อหาปรัชญาจึงเน้นเรื่องจริยศาสตร์มากกว่าเพิ่มพูนความรู้แก่สติปัญญา

4) มีเนื้อหาที่เน้นหลักศีลธรรม อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบัน

5) ต่อมาเมื่อแนวคิดพัฒนาขึ้นเป็นความเชื่อศรัทธา จึงได้รับการยอมรับเป็นศาสนาในที่สุด ได้แก่ศาสนาเต๋าและศาสนาขงจื้อ




ค. ทัศนะด้านความรู้ (ญาณวิทยา) มุ่งรู้เพื่อเอาไปใช้ในชีวิตปัจจุบัน

ปรัชญาจีนถือว่าความรู้เป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์สู่อุดมคติอันสูงส่ง ที่สามารถปฏิบัติได้จริงในชีวิตปัจจุบัน ดังนั้นจึงเน้นความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง อันเกิดประโยชน์แก่ชีวิตปัจจุบัน

ง. ไม่มีการแยกแบบแบ่งย่อย แต่มีลักษณะผสานกลมกลืนแบบองค์
รวม
1) ไม่มีการแยกเป็นระบบหรือสาขาวิชาย่อยในปรัชญาจีน

2) แนวคิด/ปรัชญาจีนมีลักษณะที่ผสานกลมกลืน ไม่สามารถแยกกันได้ ทั้งเรื่องอภิปรัชญา ญาณวิทยา ตรรกวิทยา จริยศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ฯลฯ

จ. ปรัชญาจีนเป็นลักษณะของการผสานระหว่างจิตนิยมกับสัจนิยม

1) ปรัชญาจีนเป็นการผสมผสานระหว่างอุดมคติ (จิตนิยม) กับความเป็นจริง (สัจนิยม)

2) การผสมผสานกันนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการปะทะกันของระบบปรัชญาสำคัญสองระบบ คือ ปรัชญาเต๋า (เน้นอุดมคติ) กับปรัชญาขงจื้อ (เน้นภราดรภาพของมนุษย์ในโลกปัจจุบัน)


ลักษณะปรัชญาจีน มุ่งแสวงหาสัจจะในชีวิตจริง มุ่งการแก้ปัญหา/ตอบปัญหาชีวิตประจำวัน เพื่อความสงบสุขของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน มนุษย์เป็นศูนย์กลางของปรัชญาจีน โดยมุ่งสอนให้เป็นคนดี มีความรู้และบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมตลอดทั้งโลก เน้นความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้เพื่อทำให้เป็นคนดีมีคุณธรรม เราจึงกล่าวได้ว่าปรัชญาจีน มีลักษณะเป็นมนุษยนิยม โดยมุ่งตอบปัญหาที่ว่า “ทำอย่างไร” มากกว่าจะตอบว่า “ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น”

2.2.2 แนวคิดปรัชญาจีนที่สำคัญ

คือ เหลาจื้อ หรือ เล่าจื้อ (Lao Tze, ราวศตวรรตที่ 5 ก่อน ค.ศ.) กับขงจื้อ (Confucius, ราวปี 551 – 478 ก่อน ค.ศ.) กล่าวคือ

ก. เหลาจื้อ (ปรัชญาเต๋า)
สรุปแนวความคิดได้ดังนี้

1) แนวคิดเป็นลักษณะจิตนิยม สอนว่าความจริงแท้คือ “เต๋า” (นามสมมุติ) อันเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการสมมุติ มีอยู่เอง เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยผัสสะ (ประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส) คำสอนเรื่องเต๋า มีบรรจุในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (Tao Te Ching) ซึงเชื่อว่าเหลาจื้อ/เล่าจื้อ เป็นผู้นิพนธ์ไว้

2) มนุษย์สามารถเข้าถึง “เต๋า” ได้ อาศัยจิตที่สงบ

3) ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ดีอยู่แล้ว แต่มนุษย์ถูกความอยากเข้าครอบงำ ทำให้ตกอยู่ในอำนาจกิเลสตัณหา จึงทำให้หันหลังไปจากเต๋า มุ่งแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาตอบสนองความอยากของตน ผลที่ตามมาคือ ทำให้มนุษย์มีความทุกข์

4) มนุษย์จึงควรกลับเข้าหา “เต๋า” มุ่งสู่ธรรม สละทางโลก มุ่งสู่ความสงบ ดำรงชีวิตเรียบง่าย

5) การกลับคืนสู่เต๋า คือ การดำเนินชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เรียบง่าย หยุดสร้างวัฒนธรรมและอารยธรรมต่าง ๆ ให้หมดสิ้น

6) แนวคิดทางการเมือง คือ การปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างมีอิสรภาพ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ความเดือดร้อนของสังคมเป็นผลจากการศึกษาและการเข้าไปก้าวก่ายของรัฐในการเข้าไปปกครองประชาชน รัฐในอุดมคติคือ รัฐที่มีเต๋า มุ่งความสงบเป็นที่ตั้ง ไม่รุกรานใคร

ข. ขงจื้อ (ปรัชญาขงจื้อ)

สรุปลักษณะแนวคิดปรัชญาขงจื้อได้ดังนี้

1) ไม่ค่อยพูดถึงสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่เน้นโลกปัจจุบัน มุ่งสู่ความสงบสุขของโลก มุ่งคุณธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

2) เป็นปรัชญาปัจเจกชน กล่าวคือ เน้นทำตัวให้ดีก่อนอาศัยการศึกษาเล่าเรียนและยึดมั่นในจารีตวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ แล้วสังคมจะดีเอง

3) ปรัชญาสังคมการเมือง เน้นให้แต่ละคนทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลต้องช่วยทำประโยชน์ให้ประชาชน (รัฐควรเข้ามาจัดระบบ)

4) เน้นให้สนับสนุนให้ตั้งระบบครอบครัวและนับถือวงศาคณาญาติ

5) มองธรรมชาติของมนุษย์ว่าดีงาม แต่เพราะมนุษย์หลงลืมไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณีและคุณธรรมที่ดี ทำให้มนุษย์เดือดร้อน แต่ความเลวร้ายจะหมดไปถ้ามนุษย์ยึดมั่นตามจารีตประเพณีและคุณธรรมตามเดิม

นอกจากนี้มีแนวคิดของนักปรัชญาอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เม่งจื้อ (Maeng Tzu, ราวปี 389 – 305 ก่อน ค.ศ.) จังจื้อ (Chuang Tzu, ราวปี 399 – 295 ก่อน ค.ศ.) ม่อจื้อ (หรือบัคจื้อ) (Mo Tzu, ราวปี 381 ก่อน ค.ศ.) ฯลฯ แต่ก็มีพื้นฐานอยู่บนการอธิบายแนวคิดของปรัชญาเต๋า หรือปรัชญาขงจื้อ แล้วแต่ว่านักปรัชญาแต่ละท่านจะเห็นด้วยกับแนวคิดของใคร (ระหว่างเต๋า กับ ขงจื้อ) หรืออาจประสานระหว่างแนวคิดทั้งสองเข้าด้วยกัน รวมทั้งการประสานแนวคิดกับปรัชญาตะวันตก (ด้านการเมือง) เพื่อจัดระบบการปกครอง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากแนวคิดของเหมา เจ๋อ ตุง ที่ปฏิรูประบบการเมือง การปกครองของจีน ส่งผลยังสมัยปัจจุบัน

2.3 เปรียบเทียบปรัชญาอินเดียกับปรัชญาจีน
2.3.1 ลักษณะที่เหมือนกัน
ก. ลักษณะทั่วไป : เป็นปรัชญาชีวิต
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน ไม่ค่อยสนใจที่มาที่ไปของสรรพสิ่ง แต่มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิต หรือเป็นมนุษยนิยม กล่าวคือเน้นแนวคิดที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อมุ่งสู่อุดมคติที่ดี



ข. ด้านพื้นฐานความคิด : มีพื้นฐานความคิดในแบบ “วิญญาณนิยม”
บ่อเกิดอันเป็นพื้นฐานความเชื่อของปรัชญาอินเดียและจีน มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีพื้นฐานความเชื่อแบบวิญญาณนิยม คือเชื่อว่า สิ่งต่าง ๆ เกิดจากวิญญาณ/เทพที่ยิ่งใหญ่ ทรงอำนาจ ควบคุมทุกสิ่ง ให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ โดยเทพเจ้ามีลักษณะเป็นพหุเทวนิยม (Polytheism, เทพหลายองค์ มีระดับความศักดิ์สิทธิ์/อำนาจต่างกัน) มนุษย์ต้องสวามิภักดิ์ต่อเทพเจ้า เพื่อความปลอดภัยของชีวิตตน

ค. ด้านจริยศาสตร์ : เน้นเรื่องจริยศาสตร์ ความเป็นเอกภาพท่ามกลางสรรพสิ่ง
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน เน้นเรื่องจริยศาสตร์ เป็นจริยศาสตร์ที่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของตนเองและสังคมโลก เน้นให้อยู่ร่วมกันในสังคมและธรรมชาติอย่างกลมกลืน เป็นเอกภาพ ถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์จึงต้องอยู่ในธรรมชาติอย่างกลมกลืนและเป็นหนึ่งเดียว เป็นมิตรกับธรรมชาติรอบตัว

ง. ทรรศนะด้านความรู้ : เน้นความรู้ในฐานะเป็นเครื่องมือ/อุปกรณ์
ทั้งปรัชญาอินเดียและจีน เน้นความรู้เพื่อทำให้ชีวิตตนดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่รู้เพื่อรู้ แต่รู้เพื่อเป็นเครื่องมือสู่การมีอนาคตที่ดีในชีวิตนี้/ชีวิตหน้า เน้นความรู้เพื่อทำให้คนเป็นคนดี เป็นนักปกครองที่ดี เป็นต้น

2.3.1 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาอินเดียกับปรัชญาจีน

ก. เนื้อหาปรัชญา ปรัชญาจีนเป็นปรัชญาชีวิตเชิงมนุษนิยมเชิงจริยศาสตร์ ส่วนปรัชญาอินเดียเป็นปรัชญาชีวิตแนวจิตนิยม

กล่าวคือ ปรัชญาจีนส่วนใหญ่จะเป็นแนวเกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบัน (ชีวิตในชาตินี้) ปรัชญาจีนจึงออกมาในรูปของหลักการดำเนินชีวิตที่จะได้รับประโยชน์สุขในปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อสังคมมนุษย์และมุ่งแก้ปัญหาชีวิตและสังคมปัจจุบัน ในขณะที่ปรัชญาอินเดียส่วนใหญ่เป็นแนวจิตนิยม ซึ่งมุ่งประโยชน์ในชีวิตหน้า

ข. จุดมุ่งหมายของปรัชญา ปรัชญาจีนมุ่งชีวิตนี้ ปรัชญาอินเดียมุ่งชีวิตหน้า
ปรัชญาจีนมีจุดหมายเพื่อสร้างสังคมให้เป็นสุข มีเป้าหมายที่ชีวิตในโลกนี้ ในขณะที่ปรัชญาอินเดียมุ่งรู้เพื่อการหลุดพ้น เป็นหลัก

ค. แนวความคิดเรื่องการเคารพ/บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ปรัชญาจีนที่สอนให้เคารพบูชาวิญญาณ (สิ่งศักดิ์สิทธิ์) เป็นการสอนที่เน้นเรื่องความกตัญญูรู้คุณเป็นหลัก โดยไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ในโลกหน้าหรือเพื่อการหลุดพ้น ส่วนปรัชญาอินเดียที่มีการสอนให้เคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีจุดหมายเพื่อขอพรเพื่อบรรลุโฆกษะ เป็นต้น

3. พัฒนาการและภาพรวมของปรัชญาตะวันตก
ปรัชญาตะวันตก มีร่องรอยว่าก่อกำเนิดในดินแดนกรีกโบราณ (ก.ค.ศ. 1500) ปรากฏชื่อ “เทเลส” (Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) ผู้ทรงคุณวุฒิชาวกรีก ซึ่งนักวิชาการสาขาวิชาปรัชญาให้การยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตก ท่านกำหนดกรอบในการอธิบายความเป็นจริง (Reality) ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับปฐมธาตุที่เป็นพื้นฐานให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ (อะไรคือปฐมธาตุ) โดยวิเคราะห์ได้สองประเด็นสำคัญคือ “อะไรเป็นสิ่งเที่ยงแท้” และ “จะอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร” (Stumpf, 1989: 4) การกำหนดกรอบคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบตามหลักเหตุ-ผลของเทเลส มีผลทำให้สานุศิษย์และผู้สนใจแสวงหาความเป็นจริง (นักปรัชญา) พยายามหาคำตอบในกรอบดังกล่าวที่เทเลสได้วางพื้นฐานและอธิบายคำตอบไว้ ทั้งนี้แบ่งประเด็นความคิดที่นักปรัชญาตะวันตกสนใจได้สองประเด็นใหญ่ ๆ คือ ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง (Reality) หรือทฤษฏีทางอภิปรัชญา (ได้แก่ นักปรัชญายุคกรีกโบราณจนถึงนักปรัชญายุคกลาง, ก.ค.ศ. 600 – ค.ศ. 1500) และปัญหาเกี่ยวกับความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา (ได้แก่ นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่เป็นต้นมา, ค.ศ. 1600 - 1800) (Hick, 1974: 200)



3.1 บริบทและพื้นฐานของปรัชญาตะวันตก

3.1.1 สืบเนื่องจากการกำเนิดของการคิดหาคำตอบในช่วงแรกของ (ก่อน)ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดำเนินมาหลายพันปี ตำนานเทพเจ้าต่าง ๆ จากชนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง (แนวคิดมีลักษณะเป็นแนววิญญาณนิยม, Animism)

3.1.2 จนราว 700 ปี ก่อน ค.ศ. จึงมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น ตำนานเทพเจ้าของโฮเมอร์, Homer ) เมื่อมีการบันทึก ย่อมมีการอ่าน คิดและวิจารณ์สิ่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร

3.1.3 มีการวิจารณ์ว่าตำนานเทพเจ้านี้ นำเทพมาเป็นคล้ายมนุษย์เกินไป (มีการฆ่า มีชู้ ทรยศ หักหลัง ฯลฯ) ที่สุดมีความคิดว่าตำนานเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการของมนุษย์

3.1.4 ประกอบกับดินแดนแถบยุโรป (กรีกโบราณ) มีการก่อตั้งนครรัฐและอาณานิคมขึ้นโดยพวกกรีก ชาวกรีก มีการแบ่งชนชั้น มีเจ้านายกับทาส

3.1.5 พลเมืองกรีกมีเวลาที่จะคิด ทบทวนคำถาม สู่การพยายามหาคำตอบ โดยไม่ต้องพึ่งเทพเจ้า (เป็นคำตอบสุดท้าย) แต่พยายามหาคำตอบบนพื้นฐานของประสบการณ์และเหตุผล

3.1.6 มีความพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เป็นไปในธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งเหนือธรรมชาติ

3.1.7 ต่อมามีการพัฒนาและแบ่งเป็นยุค ๆ ได้แก่ ยุคกรีกโบราณ ยุคกลาง ยุคใหม่และยุคปัจจุบัน (หลักการแบ่งคือ ช่วงเวลา.....เนื้อหา/สถานที่/สถานการณ์)

3.1.8 ข้อสังเกต
1) การศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาตะวันตก อย่าไปดูถูก “คำตอบ” ว่าไร้สาระ เพราะทุกคำตอบมีที่มาที่ไป ตามสถานการณ์

2) การศึกษาประวัติความคิดของนักปรัชญาตะวันตก มีการแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ (รายละเอียดมีความแตกต่างกันในนักคิดแต่ละท่าน) จุดเน้นเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน

3) แนวคิดของนักปรัชญาตะวันตก มีลักษณะเป็นพัฒนาการ จากอาจารย์สู่ศิษย์ ไม่ใช่ต้องการหักล้าง แต่เป็นการพัฒนาการขบวนการพัฒนาความคิดทางปรัชญา ไม่ใช่อยู่ที่แนวคิดหรือลัทธิใหม่ ๆ แต่เป็นการพยายามของนักปรัชญาที่จะบรรลุถึงความจริงให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น

3.2 ปรัชญาตะวันตกตามยุคต่าง ๆ
มีการแบ่งปรัชญาตะวันตกได้เป็นสี่ยุค (Copleston, 1964) ได้แก่

3.2.1 ปรัชญาตะวันตกยุคกรีกโบราณ

ก. ภาพรวมทั่วไป
ปรัชญายุคกรีกโบราณมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นของนักปรัชญากรีกจนถึงยุคกลาง (ก่อน ค.ศ. – คริสตศตวรรษแรกๆ) โดยเน้นปัญหาเชิงอภิปรัชญา กล่าวคือ ปัญหาเรื่องความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติของโลกและกระบวนการของมัน เป็นความต้องการภายในตัวมนุษย์ ที่ต้องการหาคำตอบ อธิบายธรรมชาติที่มีอยู่ คิดหาคำตอบอย่างมีหลักการ (ประสบการณ์ + เหตุผล) โดยแบ่งได้เป็นสามช่วง คือ (กีรติ บุญเจือ, 2522)

 ปรัชญากรีกยุคแรก
 ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง
 ปรัชญากรีกหลังยุครุ่งเรือง (ยุคเสื่อม)

1) ปรัชญากรีกยุคแรก (ราว 600 – 500 ปีก่อน ค.ศ.)
มีลักษณะเป็นนักปรัชญาธรรมชาติ กล่าวคือ สนใจปัญหาเรื่องปฐมธาตุ - มีการแบ่งย่อยเป็นสำนัก โดยดูจากทำเลที่ตั้ง เมือง เป็นหลัก

1.1) คำถาม
โลก (สิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ) มาจากไหน และปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง
1.1.1) ชาวกรีกคิดว่า สิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นลอย ๆ (เพราะสิ่งที่มีอยู่ ต้องมาจากสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ไม่มีอยู่ไม่อาจให้ความมีอยู่แก่สิ่งที่มีอยู่ได้) ก่อนที่เราจะให้สิ่งหนึ่งแก่คนอื่น เราต้องมีสิ่งนั้นก่อนที่เราจะให้สิ่งนั้นแก่คนอื่นสิ่งต่าง ๆ มาจากอะไร (ปัญหาเรื่องปฐมธาตุ)

1.1.2) ชาวกรีกสังเกตพบว่าสิ่ง ๆ หนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง เช่น จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากลูกมะม่วงเป็นต้นมะม่วง อะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

1.2) คำตอบ
สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ มีที่มาจากบางอย่าง อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็น “ปฐมธาตุ” (Stumpf, 1989) เป็นพื้นฐานและหลักการของทุกสิ่งที่มีอยู่ สิ่งต่าง ๆ มีที่มาที่ไปจากปฐมธาตุนั้น และทุกสิ่งเป็นกระบวนการจาก ปฐมธาตุ กลับไปสู่ปฐมธาตุนั้น (ความเปลี่ยนแปลง) ดังนั้น “ปฐมธาตุคืออะไร?” เป็นปัญหาของนักปรัชญากรีกยุคแรก (ระยะก่อตัวที่เกาะไอโอเนียน)โดยคำตอบค่อย ๆ พัฒนาจากรูปธรรมสู่นามธรรม เช่น ปฐมธาตุ คือ (Copleston, 1964, กีรติ, 2522)

1.2.1) “น้ำ” (เทเลส, Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) เนื่องจากรอบตัวมีแต่ “น้ำ”

1.2.2) “สารไร้รูปที่เป็นอนันต์” (อานักซีมานเดอร์, Anaximander, 610 – 545 ก่อน ค.ศ.) มีลักษณะไม่จำกัด ไม่อาจรู้ได้ไม่หมด) แต่สารนี้มีลักษณะเป็นสารที่ไร้รูปแบบ (Formless material) ที่สามารถพัฒนาตนเองเป็นธาตุต่างๆ ได้

1.2.3) “อากาศ” (อานักซีเมเนส, Anaximenes, 588 – 524 ก่อน ค.ศ.) เนื่องจากอากาศมีอยู่ทั่วไป รวมทั้งน้ำก็มาจากอากาศด้วย

1.2.4) “ตัวเลข” (ปีทากอรัส, Pythagoras, 570 – 497 ก่อน ค.ศ.) ความสมดุลของสัดส่วนเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง

1.2.5) “ความเปลี่ยนแปลง” (ฮาราครีตุส, Heraclitus, 536 – 470 ก่อน ค.ศ.) สัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงคือ ไฟ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การหยุดนิ่งเป็นมายา (ท่านไม่อาจอาบน้ำในแม่น้ำสายเดียวกันได้สองครั้ง)

1.2.6) “การอยู่นิ่ง” (ปาร์เมนีเด็ส, Parmenides, 515 – 450 ก่อน ค.ศ.)สัญลักษณ์คือ ดิน

1.2.7) “จิตและสสาร” (อานักซาโกรัส, Anaxagoras of Clazomene, 499 – 428 ก่อน ค.ศ.)

1.2.8) “ดินน้ำลมไฟ” (เอ็มเปโดเคล็ส, Empedocles, 492 – 430 ก่อน ค.ศ.) การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการแยก/รวมกันของธาตุทั้งสี่


2) ปรัชญากรีกยุครุ่งเรือง (ราว 450 - 300 ปีก่อน ค.ศ.)
เริ่มต้นด้วยความคิดว่า ปัญหาที่นักปรัชญาถกกัน มีแต่คิดหาคำตอบว่าปฐมธาตุคืออะไร กับปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง มีคำตอบเยอะแยะ อันไหนถูก อันไหนผิด เอาอะไรมาวัด/ตัดสิน มีแต่ความขัดแย้งทางความคิด ดังนั้น จึงมีนักปรัชญากลุ่มหนึ่งสนใจหาหลักการวัดความจริงเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีพจะดีกว่า (สมัคร บุราวาศ, 2544, กีรติ, 2522, Copleston, 1964, Stumpf, 1989)

2.1) คำถาม : มีความจริงที่เป็นหลักการแน่นอนหรือไม่

2.2) คำตอบ : มีคำตอบสองแนว คือ แนวแรกมีความคิดว่าไม่มีมาตรการความจริงที่แน่นอนตายตัว ความจริงขึ้นกับแต่ละบุคคล และ คำตอบแนวที่สอง คือ มีความคิดว่า ความจริง ต้องมีหลักการที่แน่นอน ซึ่งมีการนำเสนอแนวคำตอบดังกล่าว ผ่านทางนักปรัชญา/กลุ่มนักปรัชญาดังต่อไปนี้

2.2.1) กลุ่มโซฟิสต์ (ราวศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ.)
- มีลักษณะเป็นกลุ่มนักปรัชญาที่ตั้งตัวเองเป็นอาจารย์สอน
วิชาการเพื่อความสำเร็จทางการเมือง

- มีแนวคิดว่าไม่มีมาตรการความจริงที่แน่นอนตายตัว แต่มีลักษณะอัตนัย (Subjective) กล่าวคือ ความจริงขึ้นกับแต่ละคน ไม่มีหลักความจริงที่ตายตัว สิ่งที่ดีคือดีสำหรับตนเอง/ ปัจเจก แต่ละคนต่างมีเกณฑ์/มาตรการของใครของมัน

- มีการเปิดสำนักสอนเรียน เก็บค่าเรียน เพื่อมีบทบาทในสังคมการเมืองการปกครอง จะปกครองบ้านเมืองได้ ต้องมี “วาทศิลป์ที่ดี” เอาชนะคนอื่นได้ด้วยการโต้แย้ง

- นักปรัชญาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โปรตาโกรัส (Protagoras of Abdera, ราวปี 480 – 410 ก่อน ค.ศ.) เสนอแนวคิดว่า “คนเป็นมาตรการวัดความจริงของทุกสิ่ง” (ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง แต่เป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงในกลุ่มโซฟิสต์)

2.2.2) โซคราเต็ส (Socrates, ราวปี 470 – 399 ก่อน ค.ศ.)

- มีแนวคิดว่า “มีมาตรการวัดความจริงที่ตายตัว” กล่าวคือ
ความจริงไม่ได้ขึ้นกับคนใดคนหนึ่ง แต่ความจริงมีลักษณะเป็น “ปรนัย” (Objective) คือ มีความจริงที่แน่นนอน ไม่ได้ขึ้นกับคนหรือสถานที่ใดที่หนึ่ง

- ความคิดสำคัญของโซคราเตส คือ “คุณธรรม คือ ความรู้”
กล่าวคือ มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติที่ดี จึงทำเฉพาะสิ่งที่ดี การที่มนุษย์ทำไม่ดี เพราะเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี (ถ้าเขารู้ว่าไม่ดี เขาจะไม่ทำ) ดังนั้น จึงต้องสอนให้มนุษย์รู้ว่าอะไรดี อะไรถูก เพื่อมนุษย์จะได้ทำเฉพาะสิ่งที่ดี

- ใช้วิธีการเสวนา (วิภาษวิธี, Dialectic) คือ เริ่มจากการตั้งคำถามและฟังคำตอบจากคู่สนทนา และค่อย ๆ ดึงความรู้จากคู่สนทนาและทำให้คู่สนทนาได้ความรู้เพิ่มขึ้น

2.2.3) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.)
- เป็นศิษย์และเห็นด้วยกับแนวคิดของโซคราเตสว่า มีหลักการที่
แน่นอนของความจริง

- ความคิดสำคัญคือ “ทฤษฏีแบบ” คือ คิดว่าความจริงที่พบเห็นในโลก เป็นมายา ไม่ใช่ความจริงแท้ เพราะความเป็นจริงแท้ (สากล) มีอยู่ในโลกแห่งแบบ (The world of Idea) ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกนี้ สิ่งต่างๆ ในโลกเป็นการเลียนแบบ โลกแห่งแบบ มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงในโลกแห่งแบบได้ ผ่านทางจิตวิญญาณ (สติปัญญา) หาเหตุผล

1.2.3) อริสโตเติ้ล (Aristotle, ราวปี 384 – 322 ก่อน ค.ศ.)
- เป็นศิษย์ของเปลโต้ และเห็นด้วยว่ามีหลักการที่แน่นอนของความจริง

- ความจริงมีอยู่ และไม่ใช่อยู่นอกโลก หรืออยู่ในโลกแห่ง
แบบอย่างที่เปลโต้คิด แต่ความจริงมีอยู่ในโลก (โลกแห่งแบบไม่มีจริง) สิ่งที่เราพบเห็นในโลก (สิ่งเฉพาะหน่วย เช่น นาย ก.) มีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นมายาอย่างที่เปลโต้คิด มนุษย์สามารถรู้ถึงความจริงได้อาศัยกระบวนการถอดให้เป็นสากล ซึ่งเป็นการทำงานของสติปัญญามนุษย์ โดยรับข้อมูลเบื้องต้นจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเพื่อเข้าใจถึงมโนภาพที่เป็นสากลของสิ่งนั้นๆ)

- อธิบายความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ว่า การเปลี่ยนแปลง
ต่างๆ เป็นการพัฒนาจาก “ภาวะแฝง” (Potency) สู่ “ภาวะจริง” (Act) กล่าวคือ สิ่งที่มี มีทั้งภาวะจริง (ภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนั้น) และภาวะแฝง (พลังหรือศักยภาพภายในของสิ่งนั้น ที่สามารถจะเป็นได้ตามประเภทของสิ่งนั้น) การเปลี่ยนแปลง คือ การพัฒนาจากภาวะจริงสู่ภาวะแฝงของสิ่งนั้น

- นอกจากนั้น อริสโตเติ้ลยังอธิบายการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ โดยใช้แนวคิดเรื่อง “สาเหตุ/ปัจจัย” (Cause) ท่านอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ มีเหตุมาจากสี่ประการ คือ สาเหตุทางวัตถุ (Material cause) สาเหตุทางรูปแบบ (Formal cause) สาเหตุทางผล (Efficient cause) และสาเหตุสุดท้าย (Final cause)


3) ปรัชญากรีกหลังยุครุ่งเรือง (ยุคเสื่อม) (ราว ปี 300 – ค.ศ. 529)
แนวคิดมีลักษณะเป็นการนำของเก่า หรือ ความคิดของนักปรัชญาในอดีตมาคิดต่อ หรือนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อหาวิธีการบรรลุสัจธรรม เน้นตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ ทำอย่างไรจึงมีความสุข ตัวอย่างเช่น

3.1) ลัทธิเปลโต้ใหม่ (Neoplatonism) นำแนวคิดของเปลโต้มาคิดและมาช่วยอธิบายศาสนาที่ตนเลื่อมใส นักปรัชญาที่เด่นๆ คือ โปลตีนุส (Plotinus, ราว ค.ศ. 205 – 270) (ช่วงปลายยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อม) นำเสนอ“ทฤษฏีการล้น” กล่าวคือ ความจริงแท้ คือ “The One” (องค์เอกัตตา) ซึ่งมีลักษณะสมบูรณ์ สิ่งที่สมบูรณ์ต้องล้นออกมา การล้นออกจาก The One กลายเป็นกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ สิ่งใดอยู่ใกล้องค์เอกัตา (The One) สิ่งนั้นก็มีระดับขั้นของความสมบูรณ์ลดระดับกันออกไป

3.2) ลัทธิรตินิยม (Hedonism) ลัทธิทางปรัชญาที่ตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ สอนว่าให้มนุษย์กอบโกยเอาความสุขเฉพาะหน้า (ทางกาย) เป็นจุดหมายของชีวิต คนฉลาด คือ คนที่กอบโกยความพึงพอใจในทุกโอกาส

3.3) ลัทธิเอปีคูรุส (Epicureanism) สอนว่าความสุขอยู่ที่การประมาณตน คนฉลาด คือ คนที่รู้จักประมาณตนในการแสวงหาความพึงพอใจ

3.4) ลัทธิสโตอา (Stoicism) ผู้ก่อตั้งคือ เซโน (Zeno of Citium, ราวปี 336 – 263 ก่อน ค.ศ.) สอนว่าความสุขคือ การสงบใจ ต้องมีความพอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ มีใจอุเบกขาในการดำเนินชีวิต

3.5) ลัทธิซีนิก (Cynicism) สอนว่าความสุขคือการตัดทุกสิ่ง ดำเนินชีวิตโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก อย่าต้องการอะไรมากนัก ชีวิตจะเป็นสุข

ข. สรุป : ลักษณะสำคัญของแนวคิดปรัชญากรีก
1) นักปรัชญาตะวันตกยุคกรีก พยายามที่หาคำตอบด้วยสติปัญญาของมนุษย์ (ไม่ต้องพึ่งตำนานเทพเจ้า)
2) มองหากฎธรรมชาติที่ตายตัว (เดิมมีความเข้าใจว่าไม่ตายตัว ทุกสิ่งเป็นไปตามใจเทพเจ้า) คำถามและคำตอบ จาก สสารนิยม (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีกระยะเริ่มต้น) สู่จิตนิยม (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีก ระยะรุ่งเรือง) และจบลงที่การตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์/ ปรัชญาศาสนา (ปรัชญาตะวันตกยุคกรีก ยุคเสื่อม)
3) จากพื้นฐานคำตอบที่นักปรัชญากรีกให้ เป็นพื้นฐานสู่การคิดหาคำตอบต่อไปด้วยสติปัญญาของมนุษย์ (วิทยาศาสตร์)

3.2.2 ปรัชญาตะวันตกยุคกลาง (ระหว่างปี ค.ศ. 100 – 1500) : การจัดระบบของคริสต์ศาสนา โดยใช้ปรัชญากรีก

ก. ความนำ : โลกยุคเฮเลนนิสม์
ในดินแดนโลกตะวันตก (ทวีปยุโรป) วัฒนธรรมกรีกถือเป็นต้นแบบของอารยธรรม ทั้งด้านวิถีชิวิต แนวคิด การเมือง การปกครอง ฯลฯ แม้อาณาจักรกรีกจะล่มสลาย และถูกแทนที่ด้วยจักรวรรดิ์โรมัน (ชาวโรมันยึดครองกรีก และรับเอาวัฒนธรรมกรีกมาเป็นของ ๆ ตน จึงให้ชื่อว่า กรีก-โรมัน) ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรรดิ์โรมัน และยุโรปมีการแบ่งการปกครองเป็นเขต ๆ (ประเทศ) แต่ละเขตก็ยังรับเอาวัฒนธรรมกรีก-โรมันมาใช้เป็นแม่แบบอารยธรรมของตน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโลกยุคเฮเลนนิสม์ กล่าวคือ การนำวัฒนธรรมกรีกมาใช้เป็นแม่แบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในยุโรปสมัยนั้น ๆ (สมัคร บุราวาศ, 2544)

ข. บริบท/สถานการณ์ของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง

1) จักวรรดิ์โรมันเรืองอำนาจ (ชาวโรมันรับวัฒนธรรมกรีกมาเป็นของ ๆ ตน) ในโลกเฮเลนนิสม์ (มุ่งเน้นการหลุดพ้นจากความชั่วร้ายในโลก เพื่อมุ่งสู่ความรอดพ้น) มีการศึกษาอารยธรรมกรีกอย่างกว้างขวาง เป็นต้นการศึกษาปรัชญากรีกตามแนวคิดของนักคิดกรีกที่มีชื่อเสียงในอดีต มีการเปิดสำนักสอนปรัชญา โดยเฉพาะการศึกษาแนวคิดทางปรัชญาเพื่อมุ่งสู่การหลุดพ้น (เน้นตอบปัญหาเชิงจริยศาสตร์ ทำอย่างไรจึงมีความสุข)

2) การเผชิญหน้ากันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก วัฒนธรรมกรีกกับวัฒนธรรมฮินดู วัฒนธรรมอินโด-ยูเรเปียน (กรีกกับอินเดีย) และวัฒนธรรมเซมิติก (ศาสนายิว คริสต์ อิสลาม)

มีการเผชิญหน้ากันระหว่างปรัชญากรีก กับศาสนาทางตะวันออก (ฮินดู) และ ศาสนาจากแถบเซมิติก (แต่ละแนวมีอัตลักษณ์ของตน) แต่เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากัน จึงเป็นลักษณะการผสานกันเพื่อการคงอยู่ของแนวของตน (Jostein, n.y)

3) หลังการสมัครนับถือศาสนาคริสต์ของจักรพรรดิคอนสแตนติน (ค.ศ. 272 – 337) ส่งผลให้คริสต์ศาสนาเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมัน (แม้ภายหลังโรมันแตก พวกตีโรมันแตกก็รับคริสต์ศาสนาไปด้วย) คริสต์ศาสนาได้เผยแผ่และเจริญรุ่งเรืองในจักรวรรดิโรมัน คริสต์ศาสนากลายเป็นแนวการดำเนินชีวิตหลักของชาวจักรวรรดิ์โรมัน ขณะเดียวกัน ชาวโรมันได้รับมรดกแนวคิดและวัฒนธรรมกรีกมาด้วยซึ่งมีทั้งที่สอดคล้องและขัดแย้งกับคริสตศาสนา

ในขณะเดียวผู้นำของคริสต์ศาสนา มีท่าทีต่อปรัชญากรีกมสองแบบ คือพวกหนึ่งถือว่าปรัชญากรีกเป็นความคิดนอกคริสต์ศาสนา จึงเป็นศัตรูกับคริสต์ศาสนา ส่วนอีกพวกหนึ่ง ถือว่าปรัชญากรีกเป็นความสามารถของมนุษย์ในการใช้เหตุผลและสติปัญญาหาความจริง และสามารถนำมาใช้อธิบายคำสอนคริสต์ศาสนาได้

4) จากการที่จักรวรรดิโรมันค่อย ๆ เสื่อมอำนาจลง มีการแบ่งอดีตจักรวรรดิโรมัน (วัฒนธรรมกรีก-โรมัน) เป็นสามแนววัฒนธรรม ได้แก่

4.1) ยุโรปตะวันตก วัฒนธรรมคริสต์แบบละติน ซึ่งมีกรุงโรมเป็นศูนย์กลาง (คริสตชน)

4.2) ยุโรปตะวันออก วัฒนธรรมคริสต์แบบกรีก โดยมีกรุงคอนสแตนติโนเปิล (กรีกไบแซนติอุม) เป็นศูนย์กลาง

4.3) แอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันออกกลาง พัฒนาสู่วัฒนธรรมอิสลาม (ชาวอาหรับ) นอกจากนี้ชาวอาหรับได้ยึดอดีตศูนย์กลางของอาณาจักรกรีกโบราณ (อเล็กซานเดีย) ทำให้วิทยาการของกรีกตกอยู่ในมือของอิสลาม

ค. ความหมายและปัญหาของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง (ปรัชญาคริสต์ )
ปรัชญาคริสต์หมายถึง “ทรรศนะทางปรัชญาของผู้นับถือคริสต์ศาสนา” (กีรติ บุญเจือ, 2527) จุดรวมความสนใจของนักปรัชญาคริสต์ คือ การนำปรัชญาที่ได้รับการยอมรับในสมัยนั้น ๆ มาอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนา กล่าวคือ การนำปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบและอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนา มีนักปรัชญาคริสต์ที่สำคัญ ๆ หลายท่านที่พยายามประสานระหว่างคริสต์ศาสนากับปรัชญากรีก

ดังนั้น ปัญหาของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง คือ จะผสานระหว่างปรัชญากรีกกับศาสนา (โดยเฉพาะคริสต์ศาสนา ) ได้อย่างไร

ง. คำถามและคำตอบของนักปรัชญาของศาสนาคริสต์
คำถามคือ จะอธิบายความเชื่อในคริสต์ศาสนาให้เข้าใจได้อย่างไร โดยอาศัยปรัชญากรีก โดยเฉพาะปรัชญาของเปลโต้กับอริสโตเติ้ล โดยแยกการอธิบายออกเป็นสองเรื่องใหญ่ ๆ

1) การอธิบายว่าปรัชญากรีกไม่ขัดแย้งกับคริสต์ศาสนา (ให้ผู้นำคริสต์ศาสนาเห็นคุณค่าของปรัชญา) อธิบายให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากรีกกับคริสต์ศาสนา ต้องการนำเสนอความคิดว่า ความเชื่อและความรู้ไม่ขัดแย้งกัน แต่ไปด้วยกันได้ ความรู้/สติปัญญาทำให้เราเข้าใจความเชื่อ พยายามประสานระหว่างปรัชญากับเทววิทยาเข้าด้วยกัน และอาศัยปรัชญากรีกนี่เอง ทำให้คำสอนคริส์ศาสนา/อิสลาม เป็นวิชาการ (เทววิทยา) จนถึงกับสรุปในสมัยนั้นว่า ปรัชญาเป็นสาวใช้ของเทววิทยา (นักบุญโทมัส อาไควนัส)

2) การอธิบายว่าคริสต์ศาสนาใช้ปรัชญากรีกมาช่วยอธิบายคริสต์ศาสนา ตามแนวปรัชญาของเปลโต้ (ปรัชญาปิตาจารย์) หรืออริสโตเติ้ล (ปรัชญาอัสสัมมาจารย์ และ ปรัชญาอิสลาม ) โดยนำเฉพาะแนวคิดบางเรื่องมาช่วยอธิบาย ไม่ใช่นำทุกเรื่องมาพูดถึง หรือปรับปรุงคำสอนของคริสต์ศาสนาให้เข้ากับปรัชญากรีก

จ. ตัวอย่างนักปรัชญาของศาสนาคริสต์ที่สำคัญ ๆ
นักวิชาการของศาสนาคริสต์ ที่นำปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบและอธิบายคำสอนของศาสนาคริสต์ที่สำคัญๆ มีหลายท่าน เช่น นักบุญเปาโล (St. Paul, ค.ศ. 10 – 67) นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430) นักบุญอันเซ็ลม์ (St. Anselm, ค.ศ. 1033 – 1109) นักบุญอัลเบิร์ต (St. Albert the Great, ค.ศ. 1193 – 1280) นักบุญโบนาเวนตูรา (St. Bonaventura, ค.ศ. 1221 – 1274) นักบุญโทมัส อาไควนัส (St. Thomas Aquinas, ค.ศ. 1225 – 1274) เป็นต้น ในบทนี้ขอนำเสนอสองท่านที่เด่นที่สุดในปรัชญาตะวันตกยุคกลาง ได้แก่

1) นักบุญออกัสติน (ค.ศ. 354 – 430) : การนำแนวคิดของเปลโต้มาอธิบายคริสต์ศาสนาตามแนวโปลตีนุส
นักบุญออกัสตินนำแนวคิดของเปลโต้และลัทธิเปลโตใหม่ (โดยเฉพาะการนำแนวคิดของเปลโต้มาอธิบายตามแนวทางของโปลตีนุส) มาอธิบายคริสต์ศาสนา (Byrne, 1995: 337) เช่น นำแนวคิดเรื่อง “ทฤษฏีแบบ” มาอธิบายเรื่องพระเจ้า และการสร้างสรรพสิ่งของพระเจ้า

นักบุญออกัสตินเห็นด้วยกับเปลโตที่อธิบายว่าพระเจ้า (โลกแห่งแบบ) เป็นความจริงนิรันดร เป็นหลักพื้นฐานของสรรพสิ่ง เป็นรูปแบบของสิ่งทั้งปวง ท่านอธิบายต่อว่า “พระเจ้าสร้างทุกสิ่งด้วยน้ำพระทัยอิสระ” (Free will) (Stumpf, 1989: 142) จากความไม่มีอยู่ ไปสู่การมีอยู่ แต่พระองค์ไม่ได้สร้างให้เสร็จสมบูรณ์ในทีเดียว เมื่อพระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่ง พระองค์ทรงใส่หลักหรือแบบแห่งการคงความเป็นไปตามประเภทของมัน (Seminal principle) ไว้ในสิ่งนั้นด้วย เพื่อให้สรรพสิ่งสร้างตัวเองต่อไปตามรูปแบบของสิ่งนั้นตามที่พระเจ้ากำหนดไว้ และสรรพสิ่งก็ถ่ายทอดธรรมชาติของตนไปสู่รุ่นต่อ ๆ มา สรรพสิ่งจึงมีลักษณะเฉพาะตามแบบที่พระเจ้ากำหนดไว้ แบบในที่นี้ไม่ใช่เป็นการลอกแบบจากพระเจ้า (โลกแห่งแบบ) ตามแนวเปลโต แต่เป็นลักษณะเฉพาะที่พระเจ้าประทานให้แต่ละสิ่งตามประเภทของมัน

2) นักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) : การนำแนวคิดของอริสโตเติ้ลมาอธิบายคริสต์ศาสนา

สภาพสังคมสมัยที่นักบุญโทมัส อาไควนัสยังมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงที่คริสต์ศาสนาเจริญรุ่งเรืองในยุโรป มีการศึกษาเทววิทยาแบบคริสต์ศาสนาอย่างกว้างขวาง ในขณะเดียวกัน ปรัชญาของอริสโตเติ้ลก็ได้รับความนิยมในขณะที่ศาสนาอิสลามทำการเผยแผ่อยู่ นักบุญโทมัส อาไควนัสได้มีโอกาสศึกษาต้นฉบับงานเขียนของอริสโตเติ้ล จึงเห็นว่าน่าจะนำปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาช่วยอธิบายคริสต์ศาสนาได้ (Byrne, 1995: 337) โดยใช้แนวคิดของเปลโต้และลัทธิเปลโต้ใหม่มาช่วยเสริม ท่านคิดว่าเหตุผลและความเชื่อในคริสต์ศาสนาไม่ขัดแย้งกัน เพราะมาจากแหล่งที่มาเดียวกัน คือ พระเจ้า สิ่งที่ท่านสนใจคือการอธิบายเทววิทยาของคริสต์ศาสนาอาศัยปรัชญา ท่านคิดว่าปรัชญาเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการช่วยอธิบายเทววิทยา จนถึงกับคิดว่าปรัชญามีอยู่เพื่อรับใช้เทววิทยา สิ่งที่ท่านสนใจมากที่สุดในความคิดของท่านคือ “การพยายามอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์ในฐานะชีวิตที่จะต้องปฏิบัติตนให้บรรลุถึงชีวิตพระเจ้า” (กีรติ, 2527: 240) โดยใช้คำสอนคริสต์ศาสนาเป็นหลัก และนำปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาช่วยอธิบายและจัดระบบความคิด

2.1) การนำทฤษฏีสสารและรูปแบบของอริสโตเติ้ล มาอธิบายเรื่องการสร้างของพระเจ้า

นักบุญโทมัสดำเนินตามคำสอนคริสต์ศาสนา พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งจากความไม่มีอยู่ (Non being) ทุกสิ่งจึงเป็นของพระเจ้าและต้องขึ้นอยู่กับพระเจ้า มนุษย์เป็นสุดยอดของสิ่งสร้างที่เห็นได้ ท่านเห็นด้วยกับอริสโตเติ้ลที่ว่าทุกสิ่งย่อมมีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันโดยอธิบายได้ด้วยความคิดเรื่องสสารและรูปแบบ สิ่งต่าง ๆ ประกอบด้วยสสาร (Matter) และรูปแบบ (Form) “มนุษย์ประกอบด้วยลักษณะที่เป็นสสาร คือร่างกาย และลักษณะที่เป็นรูปแบบ คือวิญญาณ” (Stumpf, 1989: 188) ทั้งสองลักษณะแม้มีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นหนึ่งเดียวกันในมนุษย์ กล่าวคือ มนุษย์มีทั้งลักษณะที่เป็นสสารเหมือนกับสิ่งอื่น ๆ ทั่วไปที่ถูกจำกัดในโลกแห่งผัสสะ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์มีรูปแบบที่เป็นวิญญาณซึ่งมีศักยภาพที่สามารถก้าวพ้นขอบเขตแห่งโลกผัสสะ เข้าไปสู่การมีส่วนร่วมชีวิตที่สมบูรณ์ของพระเจ้าได้ อาศัยพระกรุณาของพระเจ้าที่โปรดให้มนุษย์เป็นภาพลักษณ์ และมีความเหมือนพระองค์ แต่ในขณะเดียวกันในความเป็นมนุษย์จะตัดร่างกายออกไปไม่ได้ “เพราะธรรมชาติมนุษย์ต้องมีองค์ประกอบที่เป็นกายและวิญญาณ” (Gratsch, 1985: 53) “กายและวิญญาณนี้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยไม่ต้องมีอะไรมาเป็นสื่อกลาง” (Clark, 1972: 214) โดย “วิญญาณมีอยู่ในทุกส่วนของร่างกาย” (Gratsch, 1985: 53) ต้องพึ่งพาแก่กันและกัน ถ้าไม่มีวิญญาณ ร่างกายก็จะไม่มีรูปแบบ ไม่มีชีวิตและไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ถ้าไม่มีร่างกาย วิญญาณก็จะไม่มีอวัยวะที่ช่วยนำสู่ความรู้ มนุษย์จึงเป็นวิญญาณและกายที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง



2.2) การพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

นักบุญโทมัส อาไควนัสนำอภิปรัชญาของอริสโตเติ้ลมาอธิบายพระเจ้า ท่านเริ่มต้นด้วยข้อพิสูจน์ห้าข้อ ซึ่งเริ่มต้นจากการพิจารณาสภาพความเป็นจริงรอบตัวที่พบได้ทั่วไป นำมาเป็นข้อพิสูจน์เพื่อยืนยันการมีอยู่ของพระเจ้า ได้แก่

2.2.1) ข้อพิสูจน์จากการเคลื่อน (สิ่งต่างๆ มีการเคลื่อนที่ หาสาเหตุการเคลื่อนไปเรื่อยๆ ที่สุดผู้เคลื่อนแรก.... คือ พระเจ้า)
2.2.2) ข้อพิสูจน์จากการเป็นสาเหตุ (สิ่งต่างๆ เป็นสาเหตุของอีกสิ่งหนึ่ง เรียงลำดับสาเหตุไปเรื่อยๆ ที่สุดสาเหตุแรก... คือพระเจ้า)
2.2.3) ข้อพิสูจน์จากความบังเอิญ (สิ่งต่างๆ มีทั้งสิ่งที่เป็นความบังเอิญ/มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ และมีทั้งสิ่งที่เป็นเป็นความจำเป็นต้องมี ดังนั้น จึงต้องมีสิ่ง (ภาวะ) ที่เป็นความจำเป็นสูงสุด (ไม่มีไม่ได้) และเป็นหลักการของสรรพสิ่ง... คือพระเจ้า)
2.2.4) ข้อพิสูจน์จากระดับความสมบูรณ์ (สิ่งต่างๆ มีระดับขั้นความสมบูรณ์ต่างกันไป เรียงลำดับขั้นความสมบูรณ์ไปเรื่อยๆ ที่สุดไปสู่ภาวะที่มีความสมบูรณ์สูงสุด... คือพระเจ้า
2.2.5) ข้อพิสูจนจากความเป็นระบบระเบียบในจักรวาล (สิ่งต่างๆ ในจักรวาลมีระบบ ระเบียบ จึงต้องมีผู้วางระบบ ระเบียบ... คือพระเจ้า)

ฉ. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคกลาง
ในยุคกลางของยุโรป เป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมกรีก-โรมัน ซึ่งเป็นเหมือนแม่น้ำสายใหญ่ในซีกโลกตะวันตก เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็แยกเป็นสามสาย (ยุโรปตะวันตก (เปลโต้ใหม่) ยุโรปตะวันออก (เปลโต้) และอาหรับ (อริสโตเติ้ล) และที่สุด วัฒนธรรมกรีกทั้งสามสาย จะกลับมาบรรจบกันใหม่ในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ

3.2.3 ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ (ศตวรรษที่ 16 – 18/19)
ก. ความหมาย
ความหมายของปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ พิจารณาได้หลายด้าน ได้แก่

1) ด้านช่วงเวลา ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ หมายถึง แนวคิดทางปรัชญาที่อยู่ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 (ช่วงปลายของปรัชญาตะวันตกยุคกลาง/ปรัชญาอัสสมาจารย์ เป็นต้นมา)

2) ด้านสถานที่ ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ ส่วนใหญ่แนวคิดด้านปรัชญาที่ได้รับการยอมรับ จะอยู่ในดินแดนแถบยุโรปตะวันตก บริเวณประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน

3) ด้านวิธีการ/เนื้อทางปรัชญา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็น “ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ” (Renaissance) คือ การศึกษาและจัดระบบวิชาปรัชญา โดยมีระบบและวิธีการเฉพาะ (ตามแบบวิทยาศาสตร์) มาจัดระบบ และหวนกลับสู่การศึกษาและนำแนวคิดของปรัชญากรีกมาช่วยจัดระบบความรู้ทางปรัชญา นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่พยายามศึกษาและนำแนวคิดทางปรัชญามาจัดระบบการเมือง การปกครอง มีการศึกษาปรัชญาในฐานะศาสตร์ ไม่ใช่ศึกษาปรัชญาเพื่อรับใช้หรืออธิบายศาสนา (คริสต์ศาสนา) เหมือนในช่วงยุคกลางของยุโรป แต่เน้นการหาวิธีการได้มาซึ่งความรู้ตามแบบปรัชญา (ในฐานะเป็นศาสตร์)

ข. สถานการณ์/บริบท
1) เริ่มต้นด้วยยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (พยายามหลุดพ้นจากศาสนา และกลับสู่การศึกษาอารยธรรมกรีก) ประกอบกับ (คริสต์) ศาสนาเป็นระบบแล้ว จึงถึงเวลาที่นักวิชาการด้านปรัชญาจะศึกษาปรัชญาในฐานะเป็นปรัชญา ไม่ใช่ศึกษาปรัชญาในฐานะเป็นเครื่องมือของศาสนา

2) กำเนิด พัฒนาการและการแยกตัวของคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกจากปรัชญา โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ มีวิธีการได้ความรู้ที่ให้ผลแน่นอนและเป็นสากล และสามารถนำไปใช้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายขึ้น ผลที่ตามมา คือ ปรัชญาถูกท้าทาย เพราะไม่ได้ให้คำตอบที่ทุกคน (นักปรัชญาทุกคนยอมรับตรงกัน) ในขณะที่คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้ “คำตอบที่เป็นสากล” เช่น 1 + 1 = 2 (จะบวกที่ไหน ใครบวก 1 + 1 ก็ยังคงเป็น “2”) หรือ การค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของไอแซค นิวตัน (จะทดลองที่ไหน ใครทดลอง ผลก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้งไป) เป็นต้น ดังนั้น ปรัชญาจึงถูกท้าทายเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (การรู้ความจริงของปรัชญา/ญาณวิทยา)

3) การแบ่งเป็นประเทศ ๆ ของยุโรป จำเป็นต้องหารูปแบบการเมือง การปกครองที่ไม่ต้องพึ่งพิงคริสต์ศาสนา จำเป็นต้องมีการปฏิรูป/ปฏิวัติการเมืองการปกครองเพื่อนำไปใช้ในชีวิตด้านสังคม

ค. ปัญหา/โจทย์ของปรัชญา

จากบริบทของสถานการณ์ในสมัยนั้น (ราวศตวรรษที่ 16) นำสู่ปัญหา/โจทย์ของปรัชญาอย่างน้อยสองประการด้วยกัน ได้แก่

1) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ สนใจปัญหาเชิงญาณวิทยา กล่าวคือ การหาอัตลักษณ์ของวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (ญาณวิทยา) ทำอย่างไรจะได้รู้ความจริงที่เป็นสากลตามวิธีการของปรัชญา หรือ วิธีการรู้ความจริงตามแนวปรัชญาในฐานะเป็นศาสตร์ (เหมือนกับที่วิทยาศาสตร์มีวิธีการได้ความรู้ตามแบบศาสตร์)

2) การนำปรัชญามาช่วยจัดระบบสังคม การเมือง การนำแนวคิดเชิงปรัชญามาจัดระบบและวางรากฐานของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ (บริบทจากสถานการณ์ในสมัยนั้น)

ง. คำตอบ
แบ่งคำตอบ (สาระสำคัญของปรัชญาตะวันตกยุคใหม่) ได้สองประการสำคัญ คือ

1) ให้หลักการหาความรู้ที่ถูกต้อง และแน่นอนของวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของวิชาปรัชญา (ในฐานะเป็นศาสตร์) ที่สำคัญมีสามแนว (วิธีการได้มาซึ่งความรู้) คือ

1.1) ความรู้ที่ถูกต้อง ต้องได้มาโดยผ่านทางสติปัญญาของมนุษย์ ด้วยการใช้เหตุผล (เหตุผลนิยม/Rationalism ) เนื่องจากมนุษย์มีคุณลักษณะพิเศษ คือ มีสติปัญญา (Mind, intellect) สามารถใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจความจริง เหตุผลสามารถให้ความจริงที่ชัดเจน ชัดแจ้งและเป็นสากล (แบบคณิตศาสตร์) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ เรอเน เดสการ์ต (Rene Descartes, ค.ศ. 1596 – 1650) บารุค สปิโนซ่า (Baruch Spinoza, ค.ศ. 1632 – 1677) ก๊อตต์ฟริด ไลป์นิกซ์ (Baron Gottfried Wilhelm von Leibniz, ค.ศ. 1646 – 1716) แนวคิดเหตุผลนิยม ใช้วิธีการนิรนัย (Deduction) เป็นหลักในการแสวงหาความรู้

1.2) ความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสากล ต้องมีลักษณะเหมือนวิธีการได้มาซึ่งความรู้แบบวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ รู้และตัดสินความจริงจากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ประจักษ์นิยม/ประสบการณ์นิยม, Empiricism ) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon, ค.ศ. 1561 - 1626) โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) จอห์น ล็อค (John Lock, ค.ศ. 1632 – 1704) ยอร์ช เบิร์คเล่ย์ (George Berkley, ค.ศ. 1685 – 1758) เดวิด ฮิวม์ (David Hume, ค.ศ. 1711 – 1776) แนวคิดประสบการณ์นิยม ใช้วิธีการอุปนัย (Induction) เป็นหลักในการแสวงหาความรู้

1.3) ก่อนที่จะได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้องและเป็นสากล ต้องทำการแยกประเภทของความจริง ความรู้บางอย่างรับรู้ด้วยหลักเหตุผล (ความรู้ก่อนประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส, A priori) ความรู้บางอย่างต้องผ่านประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (A posteriori) นักปรัชญาที่สำคัญ ได้แก่ อิมมานูลเอล ค้านต์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724 – 1804)


2) การจัดระบบและพัฒนาการของแนวคิดด้านสังคม การเมือง โดยเฉพาะการส่งเสริมระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อย่างจริงจัง (Democracy) (Jostein, n.y.) เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศแข่งขันกันอย่างเสรี โดยมีกฎหมาย (รัฐ) ทำหน้าที่กระตุ้นการแข่งขันและควบคุมไม่ให้ก้าวก่ายกัน นำสู่การจัดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) หรือเสรีนิยม (Liberalism) ที่เน้นสิทธิมนุษยชนที่ละเมิดไม่ได้ มองมนุษย์ในแง่ดี มนุษย์มีศักยภาพภายในในการบริหารปกครอง จึงควรส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้มนุษย์จัดการ อาศัย “มือที่มองไม่เห็น” นักปรัชญาสำคัญ ได้แก่ จอห์น ล็อค (John Lock, ค.ศ. 1632 – 1704), อาดัม สมิธ (Adam Smith, ค.ศ. 1723 – 1820) เจเรมี เบ็นทัม (Jeremy Bentham, ค.ศ. 1748 – 1832) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจัดระบบการเมือง การปกครองโดยมีพื้นฐานบนระบอบประชาธิปไตย ก็มีนักปรัชญาบางท่านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679)

จ. ภาพรวมของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ (การจัดระบบของปรัชญาในฐานะปรัชญาและการนำแนวคิดทางปรัชญาไปจัดระบบการเมือง การปกครอง)

ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ เริ่มต้นด้วยการคัดค้านแนวคิดของปรัชญายุคกลาง ที่เน้นหนักในเรื่องศรัทธาในพระเจ้า มุ่งประนีประนอมความเชื่อในคริสต์ศาสนา โดยนำปรัชญาเปลโต้และอริสโตเติ้ลมาอธิบายคำสอนของคริสต์ศาสนา

สิ่งที่นักปรัชญาตะวันตกยุคใหม่สนใจ คือ วิธีหาความจริงของปรัชญา (ญาณวิทยา) ตามแบบตรรกวิทยา และระบบใหม่ทางวิทยาศาสตร์ วิวัฒนาการเริ่มจากยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) โดยเน้นเรื่องวิธีการทางคณิตศาสตร์ (ความแน่นอนในการแสวงหาความจริงของคณิตศาสตร์) อาศัยการใช้เหตุผล (เดสการ์ต, สปิโนซา, ไลป์นิช) และความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ อาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (ล็อค, เบิร์คเล่ย์, ฮิวม์)

ทั้งแนวคิดเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยม ต่างยืนยันว่าแนวคิดในกลุ่มของตนถูกต้องที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นแนวทางการได้มาซึ่งความรู้แบบปรัชญา ประสบการณ์นิยมโจมตีแนวคิดเหตุผลนิยมว่าไม่ได้ให้ความรู้ใหม่ ในขณะที่เหตุผลนิยมยืนยันว่าการได้มาซึ่งความรู้ตามแนวคิดในกลุ่มของตนเป็นวิธีที่จะหาความจริงได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และแน่นอนยิ่งกว่าของฝ่ายประสบการณ์นิยม เพราะคณิตศาสตร์สามารถคำนวณหาความจริงได้ใหม่และล่วงหน้าก่อนกว่าประสบการณ์ โดยเห็นว่าประสบการณ์ให้ความรู้เพียงผิวเผิน ง่อนแง่นไม่สากล ไม่ลึกซึ้ง เพราะประสาทสัมผัสสามารถหลอกลวงเราได้เสมอ แต่วิธีทางคณิตศาสตร์มีระบบ มีเหตุผล เป็นสากลและจำเป็น

ในขณะที่บรรยากาศแห่งการเผชิญหน้าระหว่างแนวคิดเหตุผลนิยมและประสบการณ์นิยมทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปลายปรัชญาตะวันตกสยุคใหม่ ก็มี อิมมานูเอล ค้านต์ ที่ได้พยายามประนีประนอมปรัชญาทั้งสองสาย โดยชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของวิธีการทั้งสองสาย และประสานปรัชญาทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างมีเหตุผล เรารู้ความจริงภายใต้ “กรอบ/แว่นตาที่เราสวมใส่”

ในขณะเดียวกัน บริบทของยุโรปในช่วงนั้น มีการก่อกำเนิดและแยกตัวเป็นประเทศใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการจัดระบบการเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีนักปรัชญาบางส่วนตอบปัญหาที่สังคมในยุคสมัยนั้นต้องการ ด้วยการนำเสนอแนวคิดจัดระบบการเมือง การปกครอง โดยเฉพาะแนวคิดและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ช. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคใหม่

ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการกลับสู่การพิจารณาปรัชญาในฐานะปรัชญา มีความคิดว่าปรัชญาน่าจะมีคำตอบสากลและชัดเจนเหมือนเช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็น “ศาสตร์ยอดนิยม” ในสมัยนั้น นักปรัชญาจึงพยายามวิเคราะห์และให้แนวทางสู่การหา “คำตอบ” ที่เป็นสากลและชัดแจ้งเหมือนศาสตร์ทั้งหลาย (การจัดระบบปรัชญาในฐานะปรัชญา)

ปรัชญายุคใหม่เป็นต้นมา จึงให้ความสำคัญแก่มนุษย์ เน้นปรัชญามนุษย์ในฐานะที่มนุษย์มีศักยภาพที่จะรู้และเข้าถึงความจริงได้

3.2.1 ปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน
ก. ความหมาย
ความหมายของปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน พิจารณาได้หลายด้าน ได้แก่

1) ด้านเวลา ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา
2) ด้านนักปรัชญา ครอบคลุมตั้งแต่ยุคหลังอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) เป็นต้นมา
3) ด้านเนื้อหา/โจทย์ของปรัชญา ได้แก่ การนำแนวคิดทางปรัชญาไปตอบปัญหาเกี่ยวกับคุณค่า ความหมาย หลักการดำเนินชีวิต

ข. บริบท/สถานการณ์
ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือ (2522: 14) ให้ข้อสังเกตว่าบริบท/สถานการณ์ของปรัชญายุคปัจจุบัน มีลักษณะเป็นช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อแห่งประวัติศาสตร์โลก ทุกอย่างอยู่ในวิกฤติการณ์ มนุษย์มองไม่ออกว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร มนุษย์ถูกท้าทายด้วยวิทยาการที่รุดหน้าจนทำให้มนุษย์สับสนเกี่ยวกับคุณค่า ความหมายชีวิต มนุษย์ต้องการหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ทั้งนี้มีบริบทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) ยุคทองของวิทยาศาสตร์ ทั้งภาคทฤษฏีและการประยุกต์ นำสู่การนำไปใช้สร้างเครือข่ายการสื่อสาร ข้อมูล สารสนเทศ รวมทั้งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของวิทยาการแขนงต่างๆ ที่ใช้ระบบ วิธีการเดียวกับวิทยาศาสตร์ ส่งผลสู่การอำนวยความสะดวกต่อมนุษย์ทุกรูปแบบของการดำเนินชีวิตในสังคม

2) การเสื่อมถอยต่อความศรัทธาในศาสนา ซึ่งเป็นผลมาจากพัฒนาการของวิทยาการแขนงต่างๆ ซึ่งศาสนาปรับตัวตามไม่ทัน แต่ละศาสนาพยายามปรับปรุงคำสอนและแนวปฏิบัติเพื่อแก้วิกฤติดังกล่าว

3) ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคม อันเป็นวิกฤติจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ทำให้เกิดช่องว่างของมนุษย์ในสังคม รวมทั้งความพยายามที่จะจัดระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองในรูปแบบต่างๆ ยิ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจ นำสู่สงครามและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ/ชนชาติ

4) ความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแสวงหาคุณค่าและความหมายชีวิต (เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้) และการกลับคืนสู่ธรรมชาติ มองธรรมชาติแบบองค์รวม การแสวงหา“อัตลักษณ์” ของมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

5) มีความพยายามที่จะกำหนดบทบาทและขอบข่ายของแต่ละวิทยาการ เพื่อความสอดคล้องและตรงกับบริบทของวิทยาการตามแขนงของตน รวมทั้งการให้คุณค่าของปรัชญาในฐานะเป็นการตอบปัญหาเรื่อง “คุณค่าและความหมายของชีวิต”

ค. โจทย์/คำถาม
จากตัวอย่างบริบทที่นำเสนอข้างต้น นำสู่โจทย์/คำถาม ได้แก่

1) คุณค่าและความหมายชีวิตคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะไปถึงจุดหมายของชีวิต
จะใช้อะไรเป็นหลักเพื่อมุ่งสู่คุณค่าและความหมายชีวิต รวมทั้งการนำปรัชญาเป็นพื้นฐานและประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตท่ามกลางเพื่อนมนุษย์และสภาพแวดล้อม

2) ระบบสังคม การเมือง การปกครองและระบบเศรษฐกิจที่ดี ควรเป็น
อย่างไร เพื่อช่วยมนุษย์สู่การพัฒนาตนเองและสังคมที่เกิดประโยชน์และสอดคล้องกับธรรมชาติมนุษย์ที่สุด

3) คุณค่า ความหมายและอัตลักษณ์ของศาสนาและวิทยากรแขนงต่างๆ คือ
อะไร

ง. คำตอบ
แม้ว่าบริบท/สถานการณ์ นำสู่ปัญหา/โจทย์ของปรัชญายุคปัจจุบันจะมีหลากหลาย แต่กระนั้น แนวคิดของนักปรัชญายุคปัจจุบันที่มุ่งตอบปัญหา/โจทย์ดังกล่าว (ที่อิงกับบริบทของสังคม) ได้เสนอแนวคิดที่เชื่อมโยง ด้วยการวิเคราะห์สังคมส่วนรวม และตัวบุคคล (มนุษย์) โดยแบ่งคำตอบเป็นแนวคิดกว้างๆ ได้แก่

1) แนวคิดที่มีพื้นฐานบนการอธิบายว่าความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจิต เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ในสังคม มีความคิดพื้นฐานว่า “จิต” เป็นคุณค่าสูงสุดและคุณลักษณะเฉพาะของมนุษย์ มีแนวคิดว่าความเป็นจริงสูงสุดคือ “จิตวิญญาณ” (บุญมี แท่นแก้ว, 2548: 1) จิต เป็นคุณค่าสูงสุด เป็นจุดกำเนิดและเป้าหมายสุดท้ายของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการไปสู่ความเป็นจริงเที่ยงแท้ คือ จิตที่สมบูรณ์ (Absolute Spirit)

แนวคิดที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เน้นคุณค่าของจิต ได้แก่ แนวคิดอุดมการนิยม (Idealism) นักปรัชญาสำคัญๆ ได้แก่ โยฮันน์ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) เฟรดริช เชลลิง (Friedrich Wilhelm Joseph von Sheliing, ค.ศ. 1775 – 1854) เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) แนวคิดเจตจำนงนิยม (Voluntarianism) นักปรัชญาสำคัญๆ ได้แก่ อาร์เธอร์ โชเปนเฮาเวอร์ (Arthur Schopenhauer, ค.ศ. 1788 – 1860) เฟรดริช นิตเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche, ค.ศ. 1844 – 1900)

2) แนวคิดที่มีพื้นฐานบนการอธิบายว่า ความเป็นจริงมีลักษณะเป็นวัตถุ (สสาร) เพื่อนำมาจัดระบบ ปฏิรูปสังคม การเมืองและระบบเศรษฐกิจ แนวคิดนี้เริ่มต้นด้วยการศึกษา พิจารณา วิเคราะห์ วิจารณ์ความคิดของนักปรัชญา ก่อนหน้า โดยเฉพาะแนวคิดอุดมการณนิยมและเจตจำนงนิยม ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดของนักปรัชญาทั้งสองกลุ่มข้างต้น มีหลักการและวิธีการที่ดี แต่ยึดติดและเข้าใจผิดว่าความเป็นจริงเป็นจิต (หรือเจตจำนง) จึงนำหลักการและวิธีการมาใช้ แต่เปลี่ยนพื้นฐานที่อธิบายความเป็นจริงใหม่ ด้วยการเสนอว่าพื้นฐานของความเป็นจริงคือ สสารที่พัฒนาตนเป็นสรรพสิ่ง ดังนั้น แนวคิดนี้จึงได้ชื่อว่า แนวคิดสสารนิยมแบบปฏิพัฒนา (Dialectical materialism) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ลุดวิค ฟ็อยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach, ค.ศ. 1804 – 1872) คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818 – 1883) เฟรดริช เองเก็ลส์ (Friedrich Engels, ค.ศ. 1820 – 1895)

นักปรัชญารุ่นต่อๆ ในกลุ่มนี้ ได้พยายามสานต่อ (อธิบายเพิ่มเติม) ตามแนวทางของมาร์กซ์อย่างเคร่งครัด แนวคิดนี้จึงไม่มีนักปรัชญาคนไหนเด่นเท่ามาร์กซ์ มีแต่การนำความคิดของท่านไปตีความ (ประยุกต์ใช้) ในการจัดระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศสหภาพโซเวียต (ในอดีต.. ภายใต้การนำของเลนิน สตาลิน) และประเทศจีน (เหมาเจ๋อตุง)

3) แนวคิดที่เสนอให้จัดระบบปรัชญาอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดนี้ได้รับอิทธิจากอิมมานูเอล ค้านท์ว่ามนุษย์ไม่สามารถรู้ความเป็นจริงในตัวเอง จึงควรสนใจศึกษาเฉพาะปรากฎการณ์ของมัน และใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาจัดระบบและตัดสินมาตรการความรู้ทางปรัชญา เสนอแนวคิดว่าความเป็นจริงมีเท่าที่รู้และตัดสินได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แนวคิดกลุ่มนี้ได้ชื่อว่า แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และพัฒนาสู่แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neo-positivism) ได้แก่แนวคิดแนวปฏิฐานนิยมแบบตรรกะ (Logical positivism) และแนววิเคราะห์ภาษา (Language analysis) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โอกุส กองต์ (Auguste Comte, ค.ศ. 1798 – 1857) จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill, ค.ศ. 1806 – 1873) ลุกวิก วิตเก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein, ค.ศ. 1889 – 1951) เป็นต้น

4) แนวคิดที่เสนอให้จัดระบบและหลักการของปรัชญาด้วยการประนีประนอมกับวิทยาการแขนงต่างๆ แนวคิดนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “สัจนิยมใหม่” (Neo-realism) เกิดจากความต้องการหาหลักยึดเหนี่ยวในการรู้และตัดสินความจริงของปรัชญา ด้วยการประนีประนอมระหว่างวิชาการต่างๆ นำความจริงที่แต่ละสาขาวิชานำเสนอมาเปรียบเทียบและหาหลักการที่เป็นทางสายกลางที่มีหลักฐานสนับสนุนที่หนักแน่นที่สุด โดยมีนักปรัชญาเป็นผู้ประสานงาน นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ จอร์ช มัวร์ (George Edward Moore, ค.ศ. 1873 – 1958) เบอร์ทรันด์ รัสเซ็ลส์ (Bertrand Russell, ค.ศ. 1872 – 1969)

5) แนวคิดที่เสนอให้พิจารณาความจริง ด้วยทฤษฏีวิวัฒนาการ (วิวัฒนาการนิยม, Evolutionism) มีแนวคิดว่าพัฒนาการของสรรพสิ่ง เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น สสารก้าวหน้าเป็นชีวิต พืชก้าวหน้าเป็นสัตว์ สัตว์ก้าวหน้าเป็นมนุษย์ (กีรติ บุญเจือ. 2522: 233) นักปรัชญาสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin, ค.ศ. 1809 – 1882) เตยารด์ เดอ ชาร์แด็ง (Teilhard de Chardin, ค.ศ. 1885 – 1955)

6) แนวคิดที่เสนอให้เน้นความจริงที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิต ด้วยการนำผลดีทางการปฏิบัติ เป็นหลักการของปรัชญา แนวคิดนี้ยึดเอาผลดีทางการปฏิบัติเป็นหลักในการพิจารณาความจริง แนวคิดนี้ได้ชื่อว่า “แนวคิดปฏิบัตินิยม” (Pragmatism) นักปรัชญาสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ชาร์ลส์ เอส. เพิร์ส (Charles Sanders Peirce, ค.ศ. 1839 – 1914) วิลเลียม เจมส์ (William James, ค.ศ. 1842 – 1910) จอห์น ดิวอี้ (John Dewey, ค.ศ. 1859 – 1952)

7) แนวคิดที่เสนอให้มีการปฎิรูปวิธีการทางปรัชญา อาศัยกระบวนการ (วิธีการ) เชิงปรากฎการณ์ (Phenomenology) ได้แก่แนวคิดที่เสนอให้ปฏิรูประบบและวิธีการทางปรัชญา ด้วยการพิจารณาปรากฎการณ์ (ในฐานะเป็นความเป็นจริง) เสนอให้ปฏิรูปวิธีการทางปรัชญา ด้วยการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบทั้งหมดของความรู้สำนึก และประสบการณ์โดยตรงของผู้ศึกษา ทั้งด้านศาสนา ศีลธรรม สุนทรียศาสตร์ มโนภาพ ประสาทสัมผัส เพราะจุดศูนย์กลางของปรัชญา คือ การศึกษาความจริงของโลกและชีวิตมนุษย์ (Angeles, 1989: 20) นักปรัชญาเด่นๆ ของแนวคิดนี้ ได้แก่ เอ๊ดมุนด์ ฮุสเซิร์ล (Edmund Husserl, ค.ศ. 1859 – 1938)

8) แนวคิดที่เสนอให้เริ่มต้นแนวคิดทางปรัชญาจากพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ได้แก่ แนวคิดที่เรียกว่า “อัตถิภาวนิยม” (Existentialism) ที่เสนอความคิดให้พิจารณามนุษย์ที่ตัวบุคคล การพิจารณามนุษย์ที่เน้นแต่เพียง “สารัตถะ” (Essence, ความเป็นมนุษย์) ส่งผลให้มีความเข้าใจต่อชีวิตมนุษย์ที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ปรัชญาต้องเริ่มต้นจากการพิจารณา “อัตถิภาวะ/การมีอยู่” (Existence) ของแต่ละบุคคล ซึ่งมีสิ่งแวดล้อมและสภาพที่แต่ละคนได้สะสมไว้ ด้วยการใช้เสรีภาพ ตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โซเรน เคอร์ดีการ์ต (Soren Kierkegaard, ค.ศ. 1813 – 1855) คาร์ล ยัสเปิร์ส (Karl Jaspers, ค.ศ. 1883 – 1969) ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre, ค.ศ. 1905 - 1980) กาเบรียล มาร์เซ็ล (Gabriel Marcel, ค.ศ. 1889 - 1973) เป็นต้น

9) แนวคิดที่เสนอให้พิจารณาคุณค่า และความหมายชีวิตในฐานะเป็นบุคคล ได้แก่ แนวคิดที่เรียกตนเองว่า “บุคคลนิยม” (Personalism) ซึ่งมีพื้นฐานความคิดจากปรัชญาของนักบุญโทมัส อาไควนัส (ค.ศ. 1225 – 1274) ที่เสนอความคิดว่า มนุษย์มีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญสามอย่าง ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ปรัชญาบุคคลนิยมเป็นแนวคิดที่เห็นว่าปรัชญาควรจะเริ่มจากมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ มีน้ำใจเสรีและมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยมองมนุษย์ว่ามีลักษณะสำคัญสามอย่างที่ต้องอยู่ด้วยกัน คือ เอกลักษณ์ของแต่ละคน ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้อื่น และสถาบันอันเป็นธรรมของสังคม (เน้นอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลและความสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบความเป็นมิตร ซึ่งทำให้สังคมเป็นหมู่คณะ) นักปรัชญาที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ อิมมานูเอล มูเนียร์ (Immanuel Munier, ค.ศ. 1905 - 1950) อิมมานูเอล เลวีนัส (Immanuel Levinas, ค.ศ. 1906 – 1995) แมร์โล ป็องตี (Merleau Ponty, ค.ศ. 1908 – 1961) เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า นักปรัชญากลุ่มบุคคลนิยม เป็นนักปรัชญาที่พิจารณาชีวิตมนุษย์ตรงกลาง ระหว่างแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ (จำกัดเสรีภาพของมนุษย์แบบสุดโต่ง) กับแนวคิดของฌอง ปอล ซาร์ต (ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของมนุษย์แบบสุดโต่ง) โดยเสนอแนวคิดที่พิจารณามนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลในสังคม มนุษย์มีศักยภาพ หรือพลังภายใน ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น อันเป็นพื้นฐานของชีวิตและการพัฒนาตนเองของมนุษย์ นอกจากนั้น มนุษย์ผู้เป็นบุคคลนี้ ต้องมีความสัมพันธ์กับ “ความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า” ซึ่งเป็น “บุคคลที่สมบูรณ์” เพื่อมนุษย์จะได้พัฒนาชีวิตของตนสู่การเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์

จ. สรุปปรัชญาตะวันตกยุคปัจจุบัน
ปรัชญายุคปัจจุบัน เน้นการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และการแก้ปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์และวิทยาการแขนงต่างๆ ที่พัฒนาแบบสุดโต่ง จนขาดความเอาใจใส่ต่อการพิจารณามนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์ รวมทั้งการละเลย ขาดความเอาใจต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดวิกฤติและปัญหาทำร้ายมนุษย์ ทำให้มีการตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของปรัชญาในฐานะการตั้งคำถามและการหาคำตอบแก่ชีวิต

4. เปรียบเทียบปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาตะวันออก
4.1 คุณลักษณะของปัญหาเรื่องความจริงตามแนวปรัชญาตะวันตกและปรัชญาตะวันออก
แม้ว่าทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกจะมีอัตลักษณ์เฉพาะของตน อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความจริง (Truth) หรือทฤษฏีทางญาณวิทยา เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่นักปรัชญาตะวันตกและตะวันออกสนใจ เพื่อแยกแยะว่าอะไรเป็นความจริง (The truth) อะไรเป็นความเท็จ (The falsity) ทั้งปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างยืนยันว่ากระบวนการหาความจริงของมนุษย์มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากสัตว์ทั่วไป เนื่องจากมนุษย์มีสติปัญญา ดังนั้น การรู้ความจริงของมนุษย์จึงมีลักษณะเป็นการรู้ตัว (รู้ว่าตนรู้) หรือที่นักปรัชญาตะวันตกมักใช้คำว่า “ความสำนึกรู้” (Consciousness) หรือ “การตระหนักรู้” (Awareness) อันเป็นลักษณะพื้นฐานของกระบวนการรู้ความจริงของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตกและตะวันออกต่างมีลักษณะเฉพาะที่สอดคล้องกับจุดเน้นของตน กล่าวคือ
4.1.1 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบปัญหาที่สงสัย
คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของทฤษฏีความรู้ (ปัญหาเรื่องความจริง) ตามแนวปรัชญาตะวันตก คือ การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัย ดังที่ สุนทร ณ รังษี (2521: 2) ได้วิเคราะห์ลักษณะของปรัชญาตะวันตกเรื่องการแสวงหาความจริง (ทฤษฏีทางญาณวิทยา) ไว้น่าสนใจว่า “ปรัชญาตะวันตกมุ่งแสวงหาความจริงหรือข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามที่จะปฏิบัติตนเพื่อให้เข้าถึงความจริงที่ได้แสวงหาพบแล้ว” และ “ปรัชญาตะวันตกส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือแยกเป็นคนละส่วนกับศาสนา” เพราะฉะนั้น นักปรัชญาตะวันตก (ส่วนใหญ่) จึงดำเนินชีวิตไปในทางที่ตรงข้ามกับแนวความคิดทางปรัชญาของตนก็ได้ นั่นหมายความว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความจริงของปรัชญาตะวันตก คือ การมุ่งสู่การรู้ความจริงเพื่อตอบสนองความสงสัยในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง แม้ว่าความจริงนั้นจะไม่ได้ช่วยให้บรรลุถึงความเป็นจริงเลยก็ตาม หมายความว่า นักปรัชญาตะวันตกมีแนวโน้มในการศึกษาความจริงในประเด็นที่ตนสงสัย เมื่อได้แนวคำตอบที่ถูกใจ (แม้ไม่ถูกใจทั้งหมด) ก็หยุดเพียงแค่นั้น นักปรัชญาตะวันตกไม่พยายามนำแนวคำตอบที่ตนได้รับมาพัฒนาเป็นคำสอนให้ปฏิบัติ เพราะถือว่าศาสนากับปรัชญาเป็นคนละส่วนที่แยกจากกัน
4.1.2 คุณลักษณะของทฤษฏีความรู้ตามแนวปรัชญาตะวันออก คือ การรู้ความจริงเพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง
แม้ว่าลักษณะแนวคิดของปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) จะมุ่งปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงและการรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) แต่จุดเน้นของปรัชญาตะวันออกมีลักษณะพิเศษต่างจากปรัชญาตะวันตก กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) สนใจปัญหาความเป็นจริง และรู้ความจริง (เกี่ยวกับความเป็นจริง) เพื่อการบรรลุถึงความเป็นจริง ดังที่ สนั่น ไชยานุกูล (2519) ได้วิเคราะห์ปรัชญาอินเดียว่ามีจุดเน้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมและการพัฒนาจิตใจ “ทุก ๆ ลัทธิถือว่าปรัชญานั้น เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต และทุก ๆ ลัทธิเพาะปลูกปรัชญาขึ้นมาก็เพื่อให้เราเข้าใจ เราควรจะดำเนินชีวิตของเราให้ดีที่สุดได้อย่างไร” และ “ปรัชญานั้นใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนเราได้อย่างไร” (สนั่น, 2519: 21-22) กล่าวคือ ปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย) มีลักษณะเป็น “คำสอนให้ปฏิบัติ” ปรัชญาอินเดียไม่ใช่เน้นความรู้อย่างเดียว หากเพื่อส่งเสริมให้รู้เพื่อนำไปปฏิบัติ เน้นหลักปฏิบัติ เพราะจุดหมายสูงสุดของปรัชญา คือ การรู้แจ้งตน (Self - realization) ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปรัชญาตะวันออก (โดยเฉพาะปรัชญาอินเดีย)มีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตนั่นเอง

4.2 ลักษณะที่เหมือนกัน

4.2.1 เนื้อหา/เป้าหมายของปรัชญา
กล่าวคือ การมุ่งแสวงหาความจริงสูงสุดและพยายามนำเสนอวิถีบรรลุสู่ความจริงอาศัยเหตุผล โดยอาจแบ่งกว้าง ๆ ได้สามแนวความคิด คือ วัตถุนิยม จิตนิยม และการประสานระหว่างแนวคิดทั้งสอง (สัจนิยม) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาอินเดีย (ส่วนปรัชญาจีนไม่ค่อยพูดถึงนัก) นอกจากนั้น ถ้าจะพิจารณาแง่มุมที่เชื่อมโยงปรัชญากับศาสนา เห็นได้ว่ามีการนำเสนอแนวคิดมีลักษณะเป็นปรัชญา (เชิงศาสนา) แบบเทวนิยม (Theism) กับอเทวนิยม (Atheism)

4.2.2 มีพัฒนาการและต่อยอดทางความคิด
โดยนักปรัชญารุ่นใหม่ได้ศึกษาแนวคิดจากนักปรัชญาก่อนหน้า นำมาคิดต่อหรือเสนอความคิดตรงข้าม หรืออาจนำความคิดมาขยายต่อในเรื่องต่าง ๆ ตามบริบทของสังคมแต่ละยุคสมัย

4.3 ลักษณะที่ต่างกัน

4.3.1 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาตะวันตกกับปรัชญาอินเดีย
ก. ลักษณะทั่วไป และบ่อเกิดความคิด

ปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาชีวิตมากกว่าปรัชญาตะวันตก คือเน้นรู้เพื่อมุ่งสู่การปฏิบัติ โดยมีจุดหมายเพื่อการรู้แจ้งตน ในขณะที่ ปรัชญาตะวันตก มีลักษณะรู้เพื่อรู้ โดยปรัชญาอินเดียมีลักษณะเป็นปรัชญาเชิงศาสนา บ่อเกิดความคิดทางปรัชญาและศาสนามีบ่อเกิดเดียวกัน ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก แยกเด็ดขาดระหว่าง ปรัชญากับ ศาสนา


ข. ทรรศนะต่อโลกและคุณค่า/ความหมายชีวิต

ปรัชญาอินเดีย สอนว่าการเกิดมาในโลกก็เพื่อศึกษาให้บรรลุถึงความจริงแท้ (ไม่หยุดแค่โลก ซึ่งเป็นเพียงมายา) เน้นพัฒนาชีวิตในแบบปฏิเสธชีวิตในโลกนี้และส่งเสริมให้หลุดพ้นจากโลกนี้ (คุณค่าของชีวิตคือการหลุดพ้นจากโลกนี้) ในขณะที่ ปรัชญาตะวันตก มองโลกภายนอกในฐานะเป็นความจริง (มองโลกแง่บวก) จึงพยายามส่งเสริมการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขในโลกนี้

ค. ทรรศนะต่อธรรมชาติ

ปรัชญาอินเดีย เน้นการดำเนินชีวิตร่วมกับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เน้นพิชิตธรรมชาติ ส่งเสริมให้ปรับปรุงแก้ไขธรรมชาติเพื่อความสุขของมนุษย์และสังคม (ปรัชญาอินเดียไม่ได้มองตัวมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ส่วนปรัชญาตะวันตกมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางสรรพสิ่ง)

4.3.2 ลักษณะที่ต่างกันของปรัชญาตะวันตก กับ ปรัชญาจีน
ก. ลักษณะทั่วไป

ปรัชญาจีน เน้นรู้ความจริง เพื่อเป็นเครื่องมือสู่การปฏิบัติ ดังนั้นจึงใกล้ชิดกับจริยศาสตร์ การเมือง วรรณคดีและศิลปะ “เข้าใจวิถีของธรรมชาติ และล่วงรู้ความต้องการของประชาชน” (รู้เพื่อเป็นอุปกรณ์) เน้นรู้ด้านปฏิบัติในชีวิตมากกว่าเป็นวิทยาการ ส่วนปรัชญาตะวันตกเน้นรู้เพื่อรู้ ปรัชญาตะวันตก (โดยเฉพาะปรัชญายุคปัจจุบัน) จึงใกล้ชิดกับวิทยาศาสตร์

ข. วิธีการและทัศนคติต่อการศึกษา

ปรัชญาจีนเน้นความรู้ที่ได้มาโดยทางการหยั่งรู้ (Intuition) เน้นความรู้และความหมายของความรู้ที่ได้จากความเข้าใจที่เกิดขึ้นในจิตใจอย่างฉับพลัน จึงเน้นความสำคัญของการภาวนาและการฝึกฝนอบรมตนเอง จึงสนใจปัญหาที่เป็นรูปธรรม ในขณะที่ปรัชญาตะวันตก เน้นความรู้เชิงทฤษฏี (การอนุมาน) ความคิดจึงมีลักษณะคาดคะเนและเน้นเหตุและผลตามหลักตรรกะ


ค. เนื้อหาสาระของปรัชญา

ปรัชญาจีน เน้นความประสานกลมกลืนสืบเนื่องกัน เน้นความสัมพันธ์ของมนุษย์และศีลธรรม มองมนุษย์ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล มองทุกสิ่งโดยยึดหลักสภาวะอันกลมกลืนของสรรพสิ่ง ปรัชญาจีนจึงเป็นการผสานของอุดมคติกับความเป็นจริง มีลักษณะเป็นจริยศาสตร์และอภิปรัชญาในตัว ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องจากการปะทะกันของระบบปรัชญาสองระบบ คือ ปรัชญาเต๋ากับขงจื้อ จนที่สุดกลายเป็นหลักสมดุล ในขณะที่ปรัชญาตะวันตกเน้นการแบ่งส่วน เน้นความขัดแย้งกันของสิ่งที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลที่ตามมา คือ ความคิดจึงแตกแยกออกเป็นหลายส่วน และไม่มีความกลมกลืนกันทางความคิด

5. สรุปประจำบท

กำเนิดและพัฒนาการแนวคิดของปรัชญามีความต่อเนื่อง เป็นพัฒนาการความคิดของมนุษย์ที่พยายามตั้งคำถามและตอบคำตอบตามหลักเหตุผล เพื่ออธิบายปัญหาเรื่องความจริง การรู้ความจริง และมาตรการตัดสินคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ เราเห็นถึงความพยายามของมนุษย์ที่จะใช้สติปัญญามุ่งสู่ความจริง ตามบริบท สถานการณ์หรือประเด็นร้อนในยุคต่าง ๆ ทำให้เราเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของปรัชญาในฐานะเป็นการตั้งคำถามและหาคำตอบให้กับสังคมในแต่ละยุค เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าไม่มีสูตรสำเร็จรูปของปรัชญา และปรัชญายังคงเป็นความท้าทายแก่มนุษย์ในการศึกษาค้นคว้า ในฐานะมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญาที่พยายามค้นหาและบรรลุถึงความจริง
 
****************************
 
บทที่ 4
สังเขปแนวคิดทางปรัชญาที่สำคัญ

ความเข้าใจว่า “มนุษย์คืออะไร?” “คุณค่าและความหมายชีวิตคืออะไร?” เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดวิถีชีวิตและการพัฒนาตนของมนุษย์ ปรัชญาในฐานะศาสตร์ที่พยายามใช้เหตุผลเพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริง โดยแยกเป็นสามประเด็นคือ อะไรคือความเป็นจริง (Metaphysics/Ontology) เรารู้ความจริงได้อย่างไร (Epistemology) และอะไรเป็นคุณค่าแท้จริง (Axiology) คำตอบที่ว่า “มนุษย์คืออะไร?” ในด้านคุณค่าและความหมายของชีวิต จึงถือเป็นหน้าที่โดยตรงของปรัชญา คำตอบที่ปรัชญาให้ มีหลายแนวความคิด ขึ้นกับว่านักปรัชญาท่านนั้น ๆ จะมองหรือเน้นในส่วนไหน “ถ้าพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ พบว่าปรัชญามีวิวัฒนาการ ๆ ของปรัชญาเป็นเหตุให้เกิดปรัชญามากมายหลายสาขาหลากแนวคิด” (สมัคร, 2544: 15) อาทิเช่น เอกนิยม ทวินิยม พหุนิยม สสารนิยม จิตนิยม ประจักษนิยม เหตุผลนิยม จักรกลนิยม ปฏิบัตินิยม อัตถิภาวนิยม บุคคลนิยม ฯลฯ แล้วแต่ว่าจะเน้นนำเสนอความจริงในด้านไหน เป็นการเน้นอธิบายปริมาณความจริง สภาพ/ธรรมชาติของความจริง การรับรู้ความจริง หรือเน้นเรื่องการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตมนุษย์หรือการอธิบายสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น โดยผ่านทางการอธิบายความคิดของนักปรัชญาตามยุคสมัยต่างๆ จวบจนปัจจุบัน

ในการนำเสนอเนื้อหาในบทนี้ เชื่อมโยงกับบทที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ได้นำเสนอแนวคิดทางปรัชญาทั้งหมด เพียงแต่ยกบางลัทธิมานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการตอบปัญหาเชิงปรัชญาที่เชื่อมโยงกันระหว่างแนวคิดที่ตอบปัญหาเชิงอภิปรัชญา ญาณวิทยาและคุณวิทยา (อัคฆวิทยา) ทั้งนี้จะเน้นการนำเสนอโดยยึดแนวปรัชญาตะวันตกเป็นหลัก เนื่องจากปรัชญาตะวันตกมีการแยกแยะทฤษฏีความคิดที่ชัดเจน ทั้งนี้จะนำเสนอนักปรัชญาตะวันออกมาเป็นส่วนเสริมบ้าง

1. ทฤษฏีทางอภิปรัชญา
1.1 ทฤษฏีเรื่องความเป็นจริงคืออะไร

ในประวัติแนวคิดด้านปรัชญา มีการอธิบายว่า “ความเป็นจริงคืออะไร?” หลายรูปแบบ แต่สามารถจัดประเภทได้เป็นสามกลุ่มแนวคิด ได้แก่ เอกนิยม ทวินิยมและพหุนิยม

1.1.1 เอกนิยม (Monism)
มีแนวคิดว่าความเป็นจริงมีอย่างเดียว มีสองลัทธิที่สำคัญ คือ เอกนิยมแบบอุดมการ หรือเอกนิยมแบบจิต กับ เอกนิยมแบบสสาร เวลาใช้จริงมักเรียกว่า “จิตนิยม” หรือ “อุดมการนิยม” และ “สสารนิยม”

ก. จิตนิยม/อุดมการนิยม (Idealism)
1) ความหมาย

แนวคิดที่นำเสนอว่าความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นอุดมการณ์ ซึ่งส่วนมากถือว่าได้แก่ “จิต” (กีรติ บุญเจือ. 2522: 302) หรือภาวะ (สิ่ง) ที่เกี่ยวข้องกับจิต ซึ่งเป็นภาวะที่สมบูรณ์และเป็นสากล แนวคิดนี้ มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของสสาร และยอมรับว่าสสารมีอยู่ แต่จิต/อุดมการณ์สำคัญกว่าสสาร และเป็นบ่อเกิดของสสาร

แนวคิดที่เสนอว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นอุดมการณ์ (จิต) นี้ มีนักปรัชญาหลายท่านที่นำเสนอความคิด ทั้งนักปรัชญาตะวันตกและตะวันออก อาจมีการใช้ “คำ” ที่แตกต่างกันและอธิบายคุณลักษณะปลีกย่อยกันออกไป ตัวอย่างเช่น

1.1) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ “แบบ” (Form) ในโลกแห่งมโนคติ/โลกแห่งแบบ (The world of Idea) และสิ่งต่างๆ ในโลกมนุษย์ เป็นการลอกแบบมาจากโลกแห่งแบบ

1.2) เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงมีอย่างเดียว คือ “มโนคติ” (Idea) ซึ่งมีพัฒนาการตามหลักปฏิพัฒนาการ (Principle of dialectic) เป็นมูลบท และนำมาอธิบายความเป็นจริงที่ต่อเนื่องและไม่มีขอบเขตได้

1.3) รามานุชะ (Ramanuja, ค.ศ. 1017 – 1137) เสนอความคิดว่าความเป็นจริงมีหน่วยเดียว คือ อาตมัน (Atman) (กีรติ บุญเจือ. 2522: 214) และอาตมันนี้แปรสภาพเป็นสองอัญรูป คือ เป็นพรหม (Brahman) หรือปรมาตมัน (Paramatman) อันเป็นอัญรูปที่เป็นวิญญาณของสรรพสิ่ง และเป็นสรรพสิ่งอันเป็นอัญรูปที่เป็นร่างกายของพรหม ทั้งสองเป็นอัญรูปของความเป็นจริงเดียว

1.4) เหลาจื้อ (Lao Tse, ราวศตวรรตที่ 5 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริงแท้คือ “เต๋า” (Tao) (นามสมมุติ) อันเป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือการสมมุติ มีอยู่เอง เป็นนิรันดร เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส

2) สรุปแนวคิดทั่วไปของแนวคิดจิตนิยม/อุดมการนิยม

2.1) ความเป็นจริงแท้ คือ ภาวะที่มีลักษณะเป็นจิต มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของสสาร (ถือว่าสสารเป็นมายา ไม่มีอยู่จริง) หรือมีลักษณะเป็นปรปักษ์กับสสาร บางครั้งมีการยอมรับว่าสสารก็มีอยู่จริงด้วย แต่พัฒนาการมาจากจิต และอยู่ภายใต้จิต

2.2) จิตเป็นนิรันดร เป็นสากล ไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นพื้นฐาน/บ่อเกิดของสรรพสิ่ง จิตเป็นหลักการของสรรพสิ่ง ที่ทำให้ทุกสิ่งเป็นระบบและมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

2.3) ส่วนใหญ่แนวคิดจิตนิยม/อุดมการนิยมเน้นตอบปัญหาเกี่ยวกับทฤษฏีความเป็นจริง (อภิปรัชญา/ภววิทยา) ส่วนการอธิบายทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) จะเชื่อมต่อ มีความสัมพันธ์กับแนวคิดเหตุผลนิยม

ข. สสารนิยม (Materialism)
1) ความหมาย

แนวคิดที่เสนอว่าความเป็นจริงแท้มีอย่างเดียว ซึ่งเป็นหลักการ/ระบบที่ตายตัว และหลักการนี้ คือ สสาร/วัตถุ (ปฐมธาตุ) แล้วแต่ คำ และการอธิบายในรายละเอียดที่นักปรัชญาแต่ละท่านจะนำเสนอความคิด แนวคิดนี้มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของจิต และการยอมรับว่าจิตมีอยู่ แต่อยู่ภายใต้สสาร หรือพัฒนาตัวมาจากสสาร นักปรัชญาที่นำเสนอแนวคิดนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักปรัชญาตะวันตกยุคกรีกและยุคปัจจุบัน เช่น

1.1) เทเลส (Thales of Miletus, 624 – 546 ก.ค.ศ.) พยายามหาคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องอ้างอิงคำตอบที่เหนือธรรมชาติ ท่านเสนอว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ มีหลักการที่แน่นอน ถ้าเรารู้จักหลักการนั้น เราจะสามารถอธิบายปรากฎการที่เกิดขึ้นได้ ท่านจึงเสนอความคิดว่า หลักการนั้น คือ ความเป็นจริง (หรือปฐมธาตุ) และท่านได้นำเสนอต่อไปว่า ปฐมธาตุ คือ น้ำ แต่ท่านก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงบอกว่าเป็นน้ำ (เป็นไปได้ว่า เทเลสเน้นการตั้งคำถาม และปรารถนาให้ศิษย์คิดและอธิบายคำตอบกันต่อไป)

1.2) คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ค.ศ. 1818 – 1883) นำแนวคิดและหลักปฏิพัฒนาการ ของ โยฮันน์ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) ซึ่งพัฒนาต่อโดย เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) มาเชื่อมโยงกับแนวคิดของลุดวิค ฟ็อยเออร์บัค (Ludwig Feuerbach, ค.ศ. 1804 – 1872) จึงเสนอความคิดว่า ความเป็นจริง คือ สสารที่มีพลังและพัฒนาด้วยการขัดแย้งตามหลักปฏิพัฒนาการ

2) สรุปแนวคิดทั่วไปของลัทธิสสารนิยม
2.1) ความเป็นจริงแท้ มีอย่างเดียว คือ สสาร และรับรู้ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
2.2) ปรากฎการณ์ของสสาร คือ ความเปลี่ยนแปลง
2.3) ยอมรับทฤษฏีหน่วยย่อย และการทอนลง เนื่องจากสสารเป็นสิ่งเฉพาะและสามารถทอนย่อยเป็นรายละเอียดลงได้
2.4) ค่าต่าง ๆ (นามธรรม) เป็นสิ่งสมมติ ไม่มีอยู่จริง
2.5) ทุกสิ่งแน่นอนตายตัว สามารถอธิบายและดำเนินเป็นไปตามกฎเกณฑ์/หลักการที่แน่นอน ถ้าเรารู้สาเหตุ เราจะบอกได้ว่าผลคืออะไร
2.6) แนวคิดนี้ มีทั้งการปฏิเสธการมีอยู่ของจิต และการยอมรับการมีอยู่ของจิต แต่ความเป็นจริงแท้ คือ สสาร โดยสสารควบคุม อยู่เหนือ หรือเป็นจุดกำเนิดของจิต

1.2.2 ทวินิยม (Dualism)
ทฤษฏีทางอภิปรัชญาที่เสนอแนวคิดว่าความเป็นจริง มีสองอย่าง คือ จิตและวัตถุ/สสาร แนวคิดมีลักษณะประสานแนวคิดของจิตนิยมกับสสารนิยมเข้าด้วยกัน มีการให้ชื่อว่า “แนวคิดธรรมชาตินิยม” (Naturalism) หรือ “สัจนิยม” (Realism) (วิทย์ วิศทเวทย์, 2538)

ก. ประเภทของแนวคิด
แบ่งย่อยได้สองแนวคิด คือ (กีรติ บุญเจือ. 2522: 122)

1) แนวคิดที่สอนว่า ความเป็นจริง คือ จิตและสสาร จิตเป็นผู้สร้างสสาร เมื่อสร้างแล้ว ก็ให้สสารมีความเป็นอยู่ของตนเอง แต่จิตจะทำลายสสารเมื่อไหร่ก็ได้
2) แนวคิดที่สอนว่า ความเป็นจริง คือ จิตและสสาร ทั้งสองมีอยู่ตั้งแต่ต้น ไม่มีใครสร้าง แต่จิตสามารถควบคุมสสารได้ ถ้ารู้จักกฎของสสาร

ข. ตัวอย่างของนักปรัชญาในกลุ่มทวินิยม

1) พระมหาวีระ (Mahavira, ราวปี 599 ก่อน ค.ศ.) ศาสดาของศาสนาเชน มีแนวคิดว่าความเป็นจริง ได้แก่ชีวะ (สสาร) และอชีวะ (อสสาร) ทั้งสองต่างมีอิสระ ไม่ขึ้นต่อกัน
2) มาธวาจาระยะ ผู้ตั้งกลุ่มทไวตะวาทะ (Dvaitabada) เสนอความคิดว่าความเป็นจริง คือ จิต (อาตมัน) และสสาร

3) อานักซาโกรัส (Anaxagoras of Clazomene, 499 – 428 ก่อน ค.ศ.) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริง (ปฐมธาตุ) คือ “จิตและสสาร” สสารมีจำนวนนับไม่ถ้วน และมี (แฝง) ในทุกสิ่ง การเปลี่ยนแปลง คือ การที่สสาร (ที่แฝงอยู่ในสิ่งนั้น) แสดงตัวออกมา ส่วนจิต มีพลังที่สามารถควบคุมสสารได้ และคอยจัดระเบียบในสิ่งต่างๆ

4) ฮ็อลต์ (E.B. Holt), มาร์วิน (W.T. Marvin) เสนอความคิดว่า ความเป็นจริง คือ สสารและพลังของสสาร (จิตเป็นพลังของสสาร) (กีรติ บุญเจือ. 2522: 254)

ค. สรุปแนวคิดทั่วไปของกลุ่มทวินิยม

1) ความจริง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในเวลา สถานที่ มีเกิด มีดับ อาจเป็นจิตที่พัฒนาเป็นสสาร หรือสสารที่พัฒนาเป็นจิตก็ได้ แนวคิดนี้ยอมรับทั้งสิ่งในธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ

2) ยอมรับว่าบางสิ่งรู้ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส (วิธีการทางวิทยาศาสตร์) และบางสิ่ง รู้ได้อาศัยเหตุผล

1.2.3 พหุนิยม (Pluralism)

ก. ความหมาย

ทฤษฏีทางอภิปรัชญาที่มีแนวความคิดว่า ความเป็นจริงมีหลากหลาย นับไม่ถ้วน อาจเป็นจิตก็ได้ สสารก็ได้ มีจำนวนมหาศาล/อนันต์ ส่วนใหญ่พัฒนาจากแนวคิดสสารนิยม ที่คิดว่าความเป็นจริงเป็นสสาร แต่มีลักษณะที่ต่างกัน สรรพสิ่งดำเนินไปตามการรวมตัวหรือแยกตัวของธาตุต่างๆ

ข. ตัวอย่างนักปรัชญาในกลุ่มพหุนิยม

1) อชิตะเกสะกัมพะละ (Ajita-Keaskambala, ราวศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ.) มีแนวความคิดว่า ความเป็นจริงมีแต่สสาร ทุกสิ่งเกิดจากการรวมกันของธาตุสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) และเปลี่ยนแปลงไปตามการสลายตัวและการรวมตัวใหม่ของธาตุสี่

2) เอ็มเปโดเคล็ส (Empedocles, 492 – 430 ก่อน ค.ศ.) มีความคิดว่า ความเป็นจริง คือ ปฐมธาตุ ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการแยก/รวมกันของธาตุทั้งสี่

1.2 การอธิบายปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลง

ทฤษฏีที่อธิบายปัญหาว่า สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร มีพื้นฐานจากทฤษฏีที่อธิบายปัญหาเรื่องความเป็นจริงคืออะไร (หัวข้อ 1.1, ความเป็นจริงเป็นจิต สสาร หรือทั้งจิตและสสาร) โดยทั่วไปจะพบได้ในนักปรัชญาตะวันตก จึงสรุปการอธิบายว่าสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงตามแนวคิดที่จะนำเสนอ ดังต่อไปนี้ (วิทย์ วิศวเวทย์, 2538)

1.2.1 อันตนิยม (Finalism) : การเปลี่ยนแปลง คือ การก้าวสู่จุดหมายปลายทาง

แนวคิดนี้มีพื้นฐานจากแนวคิดที่อธิบายความเป็นจริง ว่าเป็นจิต/อุดมคติ (จิตนิยม/อุดมการนิยม) มีหลักการพื้นฐานว่าทุกสิ่งมีจุดหมายปลายทาง การเปลี่ยนแปลง เป็นปรากฎการที่พัฒนาสู่จุดหมายปลายทาง ทุกสิ่งมีจุดหมายปลายทาง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอย ๆ หรือเกิดโดยบังเอิญ แต่มีจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทาง เช่น พระเจ้า หรือ ความเป็นจริงสูงสุด

ตัวอย่างนักปรัชญาที่เสนอแนวคิดเช่นนี้ ได้แก่ นักปรัชญาในกลุ่มจิตนิยม/อุดมการนิยม เช่น เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) อริสโตเติ้ล (Aristotle, ราวปี 384 – 322 ก่อน ค.ศ.) โปลตีนุส (Plotinus, ราว ค.ศ. 205 – 270) เป็นต้น

1.2.2 จักรกลนิยม (Mechanism) : การเปลี่ยนแปลง คือ การดำเนินตามหลักการที่ตายตัว

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานจากลัทธิสสารนิยม มีหลักการพื้นฐานว่า การเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเหตุปัจจัยภายนอก เสนอแนวคิดว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปเพื่อสู่จุดหมายอะไร แต่เป็นไปอย่างเครื่องจักรกล กล่าวคือ ทุกสิ่งถูกกำหนดตายตัวปัจจุบันถูกกำหนดโดยอดีต ทุกสิ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว ทุกสิ่งถูกผลักดันจากสิ่งภายนอก ไร้จุดหมาย ไม่มีอะไรใหม่ เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น โดยดูพื้นฐานจากปัจจุบันและอดีต แนวคิดอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “นิยตินิยม” (Determinism)

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) ไอแซค นิวตัน (Isaac Newton, ค.ศ. 1642 – 1727) เป็นต้น

1.2.3 นวนิยม : การเปลี่ยนแปลง คือ การก้าวสู่สิ่งใหม่

แนวคิดนี้ เป็นการประสานระหว่างแนวคิดอันตนิยมกับจักรกลนิยม เสนอความคิดว่าการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับเหตุปัจจัยภายในและภายนอก การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการที่ทุกสิ่งก้าวไปสู่สิ่งใหม่ แนวคิดเริ่มต้นเหมือนจักรกลนิยม แต่คิดว่าทุกสิ่งสามารถก้าวพ้นและไม่ใช่ดำเนินแบบตายตัว แต่ขึ้นกับเหตุปัจจัยภายนอกและภายใน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ เฟรดริช เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) ซามูเอล อเล็กซานเดอร์ (Samuel Alexander, ค.ศ. 1859 – 1938) เป็นต้น

1.3 ปัญหาเรื่อง “มนุษย์” : มนุษย์คืออะไร มีเจตจำนงเสรีหรือไม่

แนวคิดทางปรัชญา เริ่มต้นจากความคิด ความสงสัยของมนุษย์ และพยายามหาคำตอบ จากแนวทางที่มีการอธิบายปัญหาเชิงอภิปรัชญา (ความเป็นจริงคืออะไร) นำสู่แนวทางการอธิบายว่ามนุษย์คืออะไร ซึ่งสามารถให้คำตอบกว้างๆ สามแนวทาง ดังนี้

1.3.1 มนุษย์ คือ จิต และมีเจตจำนงเสรี (จิตนิยม/อัตถิภาวนิยมบางกลุ่ม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานมาจากจิตนิยม ให้คำตอบว่า สาระสำคัญของมนุษย์ คือ จิต หรือวิญญาณ ซึ่งเป็นอมตะ เป็นคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทั่วไป ร่างกาย (สสาร) เป็นเพียงส่วนประกอบของจิต มนุษย์จึงมีเจตจำนงเสรีที่จะตัดสินใจเลือกด้วยเสรีภาพและต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินชีวิตของตน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวคิดนี้ ได้แก่ โซคราเตส (Socrates, ราวปี 470 – 399 ก่อน ค.ศ.) เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.) นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430) รวมทั้งแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มอัตถิภาวนิยม ที่เน้นศักยภาพทางจิต และอธิบายคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ว่า มีเสรีภาพที่ไม่มีอะไรมาจำกัด เช่น แนวคิดของ ฌอง ปอล ซาร์ต (Jean Paul Sartre, ค.ศ. 1905 - 1980) เป็นต้น

1.3.2 มนุษย์ คือ สสาร และไม่มีเจตจำนงเสรี (สสารนิยม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานจากแนวคิดสสารนิยม ให้คำตอบว่า สาระสำคัญของมนุษย์ คือ ร่างกาย (สสาร) จิตเป็นเพียงคุณลักษณะอย่างหนึ่งของสสาร (ร่างกาย) แม้มนุษย์จะมีสิ่งพิเศษกว่าสัตว์อื่น ๆ แต่ลักษณะพิเศษนี้เป็นเพราะมนุษย์มีโครงสร้างของร่างกาย (สมอง) ที่พิเศษกว่าสัตว์อื่น มนุษย์จึงดำเนินชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการทางร่างกาย (เพราะวิญญาณไม่มีจริง) เน้นความสุขระดับร่างกายและการกระทำของมนุษย์เป็นไปตามสัญชาตญาณ (หรือจิตไร้สำนึก) มนุษย์ไม่มีเจตจำนงเสรี ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

ตัวอย่างนักปรัชญาที่อธิบายตามแนวทางนี้ ได้แก่ โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes, ค.ศ. 1588 – 1679) เป็นต้น

1.3.3 มนุษย์ คือ กายและจิต แม้มนุษย์มีความจำกัด แต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ได้ : มนุษย์มีเจตจำนงเสรี แต่ ไม่ใช่เจตจำนงเสรีแบบสุดโต่ง (อัตถิภาวนิยมบางกลุ่มและบุคคลนิยม)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานมนุษย์คือกายและจิต จะตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปไม่ได้ ในฐานะที่มนุษย์เป็นจิต มนุษย์จึงมีเจตจำนงเสรี แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็เป็นสสาร มีร่างกาย มนุษย์เป็นทั้งกายและจิตที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของมนุษย์จึงเป็นการผสานกันของกายและจิต ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์มีเจตจำนงเสรี มนุษย์จึงต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน แนวคิดเช่นนี้ พบได้จากแนวคิดของนักปรัชญาอัตถิภาวนิยม (แนวเทวนิยม) ซึ่งพัฒนาสู่แนวคิดบุคคลนิยม ที่พิจารณามนุษย์ สำนักปรัชญานี้เน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม โดยตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนอื่น เปิดจิตใจต้อนรับเพื่อนมนุษย์ด้วยความเคารพ และนำคุณลักษณะภายในบุคคล ได้แก่ ความรู้สำนึก เสรีภาพและความสัมพันธ์กับคนอื่น เพื่อพัฒนาตนเอง และมุ่งสู่การเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ในพระเจ้า (บุคคลสมบูรณ์สูงสุด)

ตัวอย่างนักปรัชญากลุ่มนี้ ได้แก่ กาเบรียล มาร์เซ็ล (Gabriel Marcel, ค.ศ. 1889 - 1973) อิมมานูเอล มูเนียร์ (Immanuel Munier, ค.ศ. 1905 - 1950) อิมมานูเอล เลวีนัส (Immanuel Levinas, ค.ศ. 1906 – 1995) และพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 เป็นต้น

2. ทฤษฏีทางญาณวิทยา

ทฤษฎีทางญาณวิทยามุ่งตอบปัญหาว่า มนุษย์รู้ความจริงได้อย่างไร เป็นผลสืบเนื่องจากการที่วิทยาศาสตร์ได้กำเนิดและได้กำหนดวิธีการ อันนำมาซึ่งความรู้สากลที่ทุกคนยอมรับ (มติสากลของวิทยาศาสตร์) ส่งผลให้มีการตั้งคำถามว่า แล้วปรัชญามีหลักการหาความรู้อย่างไร จึงมีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับหลักการได้มาซึ่งความรู้ของปรัชญา (รู้ความจริงได้อย่างไร) โดยสรุปแนวคิดที่สำคัญสามแนวกว้างๆ ได้แก่

2.1 เหตุผลนิยม (Rationalism)

2.1.1 พื้นฐานและลักษณะแนวคิด
แนวคิดเหตุผลนิยม มีพื้นฐานจากแนวคิดที่อธิบายความเป็นจริงว่า เป็นจิต/อุดมการ จิต (สติปัญญา) ของมนุษย์เป็นคุณลักษณะพิเศษ สามารถรู้ความจริง เน้นศักยภาพของจิต (สติปัญญา) ซึ่งมีศักยภาพที่จะเข้าใจความจริง ที่เป็นสากล และแน่นอนตายตัว ซึ่งประสาทสัมผัสไม่สามารถให้ได้ แนวคิดนี้ เน้นบทบาทของจิต ในการแสวงหาความรู้ด้วยการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นศักยภาพของมนุษย์ในการใช้สติปัญญา (จิต) เพื่อการรู้ความจริง ความจริง/ความรู้มีลักษณะที่แน่นอน ชัดเจนและเป็นสากล ดังนั้น ต้องใช้จิตมนุษย์ ที่เป็นสากล จึงจะเข้าใจกันได้ (สิ่งเหมือนกัน ย่อมเข้าใจกัน) นักปรัชญาที่สำคัญมากในกลุ่มเหตุผลนิยม คือ เรอเน เดสการต์ (Rene Descartes, ค.ศ. 1596 – 1650) ซึ่งสรุปความคิดได้ว่า

ก. ความรู้ที่ถูกต้อง ต้องมีความแน่นอน ตายตัว
ข. มนุษย์มีสติปัญญาที่สามารถบรรลุถึงความจริงได้
ค. ปฏิเสธความรู้ที่ได้จากประสาทสัมผัส เพราะประสาทสัมผัสหลอกลวงเรา (ประสาทสัมผัส เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ขึ้นกับกาลเวลา สถานที่)
ง. ใช้วิธีการ “นิรนัย” กล่าวคือ การพิสูจน์ความจริง อาศัยความจริงที่มีอยู่เดิม เช่น นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรมต่างเรียบจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (หรือเทียบเท่า) แล้ว ดังนั้น นาย ก. (นักศึกษาคนหนึ่งของวิทยาลัยแสงธรรม) จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เป็นต้น

2.1.2 ตัวอย่างแนวคิดที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดเหตุผลนิยม สามารถแยกย่อยได้อีกหลายทฤษฏี (กีรติ บุญเจือ, 2522) เช่น

ก. ทฤษฏีการระลึกได้ (Theory of recollection) เสนอความคิดว่าความรู้ของมนุษย์ คือ การระลึกได้ เนื่องจากความรู้แฝงในวิญญาณมนุษย์ แต่มนุษย์หลงลืมไปเนื่องจากมนุษย์มีร่างกาย จึงจำเป็นต้องช่วยขุด หรือฟื้นความรู้ (ที่เขามีอยู่แล้ว) เพื่อให้เขาระลึกได้ถึงความจริงที่เขารู้อยู่แล้ว อาศัยประสบการณ์ ครูช่วยกระตุ้น และการทำปัสนา นักปรัชญาที่สำคัญตามแนวคิดนี้ ได้แก่ เปลโต้ (Plato, ราวปี 428 – 347 ก่อน ค.ศ.)

ข. ทฤษฏีส่องสว่าง (Theory of illumination) เสนอความคิดว่า ความรู้ของมนุษย์ได้จากการที่พระเจ้าประทานให้ภายในจิต (สติปัญญา) เนื่องจากความรู้ทั้งหลายอยู่ในพระเจ้า มนุษย์เข้าใจความจริงได้ก็เพราะพระเจ้าประทานให้ นักปรัชญาที่สำคัญตามแนวคิดนี้ ได้แก่ นักบุญออกัสติน (St. Augustine, ค.ศ. 354 – 430)

ค. ทฤษฏีอัชฌัตติกญาณ (Theory of intuitionism) เสนอความคิดว่าความจริงได้มาจากการฝึกจิต จนถึงขั้นอุตรญาณ (ตรัสรู้) ความรู้โดยทางอื่นไม่อาจจะยืนยันได้ว่าจริง นอกจากจะตรงกับความรู้ที่ได้จากญาณวิเศษดังกล่าว นักปรัชญากลุ่มนี้แต่ละคนจะอ้างว่าตนเองเป็นคนแรกที่บรรลุถึงญาณนี้ ดังนั้น ถ้าใครจะบรรลุถึงจะต้องเข้าใจความจริงได้เช่นเดียวกัน นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฟิกเต (Johann Gottlieb Fichte, ค.ศ. 1762 – 1864) เชลลิง (Friedrich Wilhelm Joseph von Sheliing, ค.ศ. 1775 – 1854) เฮเก็ล (George Wilhelm Friedrich Hegel, ค.ศ. 1770 – 1831) โชเป็นฮาวเวอร์ เวอร์ (Arthur Schopenhauer, ค.ศ. 1788 – 1860) นิตเช่ (Friedrich Wilhelm Nietzsche, ค.ศ. 1844 – 1900)


2.2 ประสบการณ์นิยม/ประจักษ์นิยม (Empiricism)

2.2.1 พื้นฐานและลักษณะแนวคิด

แนวคิดประสบการณ์นิยม มีพื้นฐานจากแนวคิดที่เสนอว่าความเป็นจริง เป็นสสาร (สสารนิยม) ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ (ปรัชญกรีกระยะเริ่มต้น) แนวคิดนี้มีลักษณะตรงกันข้ามกับแนวคิดเหตุผลนิยม ด้วยการ เน้นบทบาทของประสาทสัมผัส ว่าเป็นแหล่งที่มาของความรู้/ความจริง มนุษย์ไม่มีความรู้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องค่อยๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงมากในกลุ่มประสบการณ์นิยม ได้แก่ จอห์น ล็อค ซึ่งสรุปความคิดได้ว่า

ก. การรู้ความจริงตามแนวเหตุผลนิยม (วิธีการนิรนัย) มีจุดอ่อน คือ ไม่ได้ความรู้ใหม่ ส่งผลให้วิชาปรัชญาไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคม
ข. ยอมรับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญแก่ประสบการณ์ในระดับประสาทสัมผัสในการแสวงหาความรู้ เพื่อได้ความรู้ใหม่ (จากการค้นคว้าทดลอง เป็นสาธารณะ/เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ เป็นสากล ช่วยคาดเดาอนาคตได้) มาเป็นหลักการได้มาซึ่งความรู้ในการแสวงหา/เข้าใจความจริง จึงนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาเป็นวิธีการรู้ความจริงตามแนวปรัชญา
ค. การได้ความรู้อาศัยใช้วิธีการอุปนัย กล่าวคือ การกระโดดจากความจริง ส่วนย่อย (ที่มั่นใจแล้ว) ไปสู่ความจริงสากล เช่น รถคันที่หนึ่ง ตกน้ำ ผลคือ จมน้ำ รถคันที่สอง ตกน้ำ ผลคือ จม ดังนั้น รถทุกคันที่ตกน้ำ จะต้องจม เป็นต้น

2.2.2 ตัวอย่างแนวคิดที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดประสบการณ์/ประจักษ์นิยม เน้นความรู้และการตัดสินความจริงอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส แนวคิดทำนองนี้เกี่ยวพันกับแนวคิด/ลัทธิทางปรัชญาหลายแนว เช่น แนวคิดปฏิฐานนิยม (Positivism) และพัฒนาสู่แนวคิดปฏิฐานนิยมใหม่ (Neo-positivism) ได้แก่แนวคิดแนวปฏิฐานนิยมแบบตรรกะ (Logical positivism) และแนววิเคราะห์ภาษา (Language analysis) นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ โอกุส กองต์ (Auguste Comte, ค.ศ. 1798 – 1857) จอห์น สจ๊วต มิล (John Stuart Mill, ค.ศ. 1806 – 1873) ลุกวิก วิตเก็นสไตน์ (Ludwig Wittgenstein, ค.ศ. 1889 – 1951) เป็นต้น

2.3 ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)

แนวคิดปฏิบัตินิยม (Pragmatism) มีพื้นฐานจากการอธิบายความเป็นจริงว่า เป็นสสาร และจิต (ยอมรับว่าสสาร และจิต ต่างมีอยู่จริง และเป็นพื้นฐานของสรรพสิ่ง) จึงเห็นได้ว่าความจริงมีมากมาย เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ทั้งหมด ดังนั้น มนุษย์ควรเลือกที่จะรู้เฉพาะความจริงที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิต นักปรัชญาสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ วิลเลียม เจมส์ และจอห์น ดิวอี้ เป็นต้น ซึ่งสรุปแนวความคิดนี้ได้ว่า

ก. เน้นการประนีประนอมความจริง ระหว่างสสารกับจิต
ข. เน้นความรู้เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์/ นำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิต
ค. เน้นการรู้จักตัวเอง เพื่อทำตัวให้ชีวิตดีขึ้น มีความสุขขึ้น

3. ทฤษฏีทางคุณวิทยา/อัคฆวิทยา

ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วว่า ทฤษฏีความเป็นจริง (อภิปรัชญา) เป็นพื้นฐานสู่ทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) และทฤษฏีด้านคุณค่า (ความประพฤติ/จริยศาสตร์, ความงาม/สุนทรียศาสตร์) จึงขอนำเสนอแนวความคิดสำคัญของปัญหาเรื่องคุณค่า โดยแยกเป็นทฤษฏีความประพฤติ (จริยศาสต์) และทฤษฎีความงาม (สุนทรียศาสตร์)

3.1 ทฤษฏีทางจริยศาสตร์ : หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์

แบ่งคำตอบได้สามแนวทางสำคัญ ได้แก่

3.1.1 แนวคิดศานตินิยม

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานบนแนวเหตุผลนิยม ซึ่งยืนยันศักยภาพของจิตมนุษย์ ว่าสามารถมุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุดได้ แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีแนวทางฝึกฝนจิต อาศัยกระบวนการพิเศษ เช่น วิปัสนา การบำเพ็ญตน ฯลฯ เพื่อขัดเกลาจิตให้สะอาด สงบ ปราศจากกิเลส ความหลงผิด หรืออวิชชา รวมถึงแนวคิดที่ถือว่าคุณค่าฝ่ายจิต (ความสุขสงบแห่งจิตใจ) มีคุณค่าสูงกว่าคุณค่าทางวัตถุ สสาร (ความสุขด้านร่างกาย) มนุษย์จึงควรตัดสละผลประโยชน์ทางวัตถุ เพื่อช่วยกันจรรโลง สนับสนุนการพัฒนาจิตให้มาก โดยมีเป้าหมายชีวิตอยู่ที่การบรรลุถึงจิตที่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้

ดังนั้น หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ คือ จงแสวงหาความสงบสุขของจิตใจ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุด กลุ่มนักปรัชญาที่ดำเนินตามแนวคิดนี้ได้แก่ แนวจิตนิยม อุดมการนิยม เป็นต้น

3.1.2 แนวคิดสุขนิยม/รตินิยม (Hedonism)

แนวคิดนี้ มีพื้นฐานบนแนวสสารนิยม ที่ให้ความสำคัญแก่ร่างกาย/กายภาพ ลดทอนและปฏิเสธคุณค่าของจิต หลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ การส่งเสริม อำนวยความสะดวกด้านกายภาพแก่ชีวิต ทั้งนี้ ให้ระมัดระวังด้วยว่า การแสวงหาความสุขของแต่ละบุคคลต้องไม่รบกวนคนอื่น หรือทำให้สังคมวุ่นวาย เพราะถ้าความสุขที่เราได้รับนี้อยู่บนความทุกข์ของคนอื่น หรือทำให้สังคมวุ่นวาย จะส่งผลระยะยาวต่อการเสพสุขของแต่ละคน แนวคิดนี้ เสนอให้คำนึงถึงชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ใช่รอคอยความสุขในโลกหน้า ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสว่ามีอยู่จริงหรือไม่ แนวคิดนี้อาจพัฒนาสู่แนวคิดประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่เน้นการดำเนินชีวิตที่ส่งเสริมและให้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสถานการณ์ที่เป็นจริงของชีวิต โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อคนกลุ่มมากที่สุดเป็นหลักในการดำเนินชีวิต

ดังนั้น หลักการประพฤติ ปฏิบัติของมนุษย์ คือ การดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ให้เป็นสุข ปราศจากความทุกข์ในชีวิตนี้ กลุ่มนักปรัชญาที่ดำเนินตามแนวคิดนี้ ได้แก่ แนวจักรกลนิยม กลุ่มจารวากของอินเดีย และแนวคิดของเอียงจื้อ เป็นต้น

3.1.3 แนวคิดมนุษยนิยม (Humanism)

แนวคิดนี้ ให้ความสำคัญต่อการพิจารณามนุษย์เป็นสำคัญ มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตบนโลก ที่เป็นทั้งร่างกายและจิต (วิญญาณ) มนุษย์เป็นสิ่งที่มีอยู่บนโลก หลักการดำเนินชีวิตของมนุษย์ควรยึดเอาความก้าวหน้าของมนุษย์เป็นหลัก เนื่องจากมนุษย์คุณลักษณะพิเศษที่สามารถพัฒนาตนเองสู่ความเป็นจริงสูงสุดได้ แนวคิดนี้แบ่งย่อยได้เป็นสองแนว คือ แนวเทวนิยม และอเทวนิยม

นอกจากนั้น แนวคิดนี้ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดของอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant, ค.ศ. 1724 – 1804) ที่เสนอแนะให้ดำเนินชีวิตตามหลักการที่ถูกต้อง ทำตามหน้าที่ที่มนุษย์พึงปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่ความสมบูรณ์ที่แท้จริงของชีวิต

3.2 ทฤษฏีทางสุนทรียศาสตร์ : หลักการตัดสินความงาม

สุนทรียศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องความงามของศิลปะและความงามของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ ปัญหาที่สุนทรียศาสตร์ต้องค้นหาคำตอบคือ อะไรคือสิ่งสวยงาม เราจะตัดสินได้อย่างไรว่าอะไรงาม เราใช้อะไรเป็นมาตรฐานในการตัดสินว่าอะไรงามไม่งาม โดยมุ่งตอบด้านทฤษฏี หรือพูดง่าย ๆ คือ สาระสำคัญสุนทรียศาสตร์ก็คือ ความคิดเรื่องความงาม หรือปรัชญาศิลปะ (ความงาม) นั่นเอง

3.2.1 ศิลปะ (ความงาม) คือ อะไร

มีการอธิบายทฤษฏีศิลปะกว้างๆ 3 แนว คือ (สุเชาวร์ พลอยชุม, 2545)

ก. ทฤษฏีการเลียนแบบธรรมชาติ (Theory of imitation) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ การเลียนแบบ การลอกแบบวัตถุธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน จัดว่าเป็นสิ่งสวยงามที่สุด (แนวคิดกรีกโบราณ) แนวคิดนี้ ได้รับอิทธิพลจากเปลโต้ และแผ่อิทธิพลยาวนาว จนถึงศตวรรษที่ 18 มีแนวคิดว่าศิลปะ คือ การลอกเลียน/คัดลอกสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ (ศิลปิน ทำหน้าที่ลอกเลียนแบบสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติรอบตัว)

ข. ทฤษฏีการแสดงออก (Theory of Expression) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ การแสดงออกมาจากภายในตัวศิลปิน สะท้อนถึงบุคลิกภาพภายในมนุษย์ หรือการถ่ายทอดความรู้สึกภายใน หรือระบายความในใจออกมา วัตถุประสงค์ของศิลปะ คือ ต้องการแสดงอารมณ์ภายในของมนุษย์ออกมาให้ปรากฏ โดย

1) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะนั้น ต้องแสดงออกอย่างมีเจตนา
2) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะ ต้องมีจุดประสงค์/คุณค่าในตัว
3) การแสดงอารมณ์ที่เป็นศิลปะ ไม่ใช่แบบวัตถุวิสัย/รูปธรรม (วิทยาศาสตร์) แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกต่อวัตถุนั้นๆ
4) ให้ความสำคัญแก่สื่อที่ใช้ถ่ายทอดอารมณ์
5) ให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพของอารมณ์/ความรู้สึก
6) เป็นการแสดงอารมณ์/ความรู้สึกของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่ส่วนบุคคล

แนวคิดเช่นนี้ได้รับความนิยมในราวศตวรรษที่ 19 (แนวคิดของ ต็อลสลอย/ Leo Tolstoi, ค.ศ. 1828 – 1911, โครเช่/ Benedetto Croce, ค.ศ. 1866 – 1952)

ค. ทฤษฏีรูปทรง (Theory of Form) เสนอแนวคิดว่า ศิลปะ คือ งานสร้างสรรที่มีรูปทรง หรือโครงสร้างที่เป็นสัดส่วน สมดุล กลมกลืน คิดว่ารูปทรงเท่านั้นที่มีความสำคัญทางศิลปะ เพราะศิลปะไม่ใช่การลอกแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ความสวยงามของศิลปะเกิดจากรูปทรงอย่างเดียวเท่านั้น แนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมในราวศตวรรษที่ 20 มีพื้นฐานจากอริสโตเติ้ลที่อธิบายว่า ความงามคือความกลมกลืนของสัดส่วนต่างๆ

3.2.2 ความงามขึ้นกับอะไร (เอาอะไรมาตัดสินความงาม)

มีแนวคำตอบ แยกได้สี่กลุ่ม ที่มีพื้นฐานบนทฤษฏีที่อธิบายปัญหาเชิงอภิปรัชญา ได้แก่

ก. แนวคิดอัตนัยนิยม (Subjectivism) : ความงามขึ้นกับแต่ละคน

มีแนวคิดว่าคุณค่าความงามขึ้นกับความสนใจของแต่ละบุคคล ไม่ได้ขึ้นกับวัตถุ เนื่องจาก

1) ถ้าไม่มีใครเห็นคุณค่าของวัตถุนั้น ก็จะไม่มีการตีคุณค่าทางสุนทรียะ
2) มนุษย์มีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน และคุณสมบัติบางอย่างนี้เองทำให้มนุษย์มีความรู้สึกนึกคิดในทางสุนทรียะได้เหมือน ๆ กัน

ข. แนวคิดปรนัยนิยม (Objectivism) : ความงามเป็นคุณสมบัติของวัตถุ
แนวคิดนี้เสนอความคิดว่า ความงามเป็นคุณลักษณะของสิ่งนั้น (ในฐานะที่มันมีอยู่ มันย่อมมีความงาม) วัตถุมีความงามในตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับมนุษย์ เนื่องจาก
1) ความงามเป็นสิ่งที่มีอยู่ในวัตถุ
2) เราไม่อาจอธิบายความงามได้ ถ้าไม่มีวัตถุหรือตัวกลาง
3) ประสบการณ์บอกเราว่า ความงามอยู่นอกตัวมนุษย์ ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่สนใจมันก็ตาม
4) เรารู้และตัดสินเรื่องความงามอาศัยความงามของวัตถุ

ค. แนวคิดสัมพัทธนิยม (Relativism) : ความงามขึ้นกับความสัมพันธ์
เป็นแนวคิดที่ประสานงานระหว่างแนวคิดอัตนัยนิยมและปรนัยนิยม มีความคิดว่าความงามขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลกับวัตถุนั้น ถ้าบุคคล (อัตนัย) มีความสัมพันธ์กับวัตถุนั้น (ปรนัย) มากแค่ไหน ก็ยิ่งมีความงามมากขึ้นเท่านั้น

ง. แนวคิดนวนิยม : ความงามเป็นอุบัติการณ์ใหม่

เป็นแนวคิดที่ประสาน และพยายามแก้ปัญหาของแนวคิดที่นำเสนอไปแล้วข้างต้น มีความคิดว่า ความงามเป็น “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับวัตถุเท่านั้น นำเสนอว่า ความงามต้องมีองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1) วัตถุซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว (คุณค่าของความงาม)
2) บุคคลที่มีความรู้/ความสามารถที่จะตีคุณค่าหรือสนใจวัตถุนั้นต้อง
มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างวัตถุกับบุคคล
3) ต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับการตีคุณค่าทางสุนทรียะ
4) ความงามเกิดจากการที่วัตถุมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสิน

ดังนั้น

- คุณค่าของความงาม เป็นผลิตผลหรือสิ่งที่เกิดจากการตีคุณค่าของเราตามหลักเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับ
- คุณค่าทางสุนทรียะ (ความงาม) เป็นคนละสิ่งกับสิ่งที่เรารับรู้ซึ่งมีอยู่ในขณะนั้น และคุณค่าทางสุนทรียะเปลี่ยนแปลงได้ แต่วัตถุไม่เปลี่ยนแปลง
- วัตถุไม่ใช่สิ่งเดียวกับคุณค่าทางสุนทรียะฉันใด การตัดสินตามข้อเท็จจริงก็เป็นคนละสิ่งกับการตัดสินทางคุณค่าสุนทรียะฉันนั้น
- ความงามจึงเป็นทั้งอัตนัยนิยม ปรนัยนิยมและสัมพันธนิยม


4. สรุปประจำบท

แนวคิดเชิงปรัชญาที่นำเสนอในรูปแบบของลัทธิต่าง ๆ ที่สำคัญ ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของปรัชญาคือ วิพากษ์วิธี กล่าวคือ การนำเสนอประเด็นหนึ่ง ตามด้วยเหตุผล และต่อมามีนำเสนออีกประเด็นหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่หนึ่ง ตามด้วยเหตุผล จากนั้นมีการประสานระหว่างประเด็นที่หนึ่งกับประเด็นที่สอง พัฒนาการแนวคิดทางปรัชญาจึงต่อเนื่องและไม่สิ้นสุด จึงกล่าวได้ว่าไม่มีสูตรสำเร็จรูปหรือคำตอบตายตัวสำหรับความคิดเชิงปรัชญา ยังไม่มีคำถามที่ได้รับคำตอบอย่าง “อิ่มใจ” สำหรับนักปรัชญา ตราบใดก็ตามที่มนุษย์มีสติปัญญา มนุษย์ย่อมค่อย ๆ พัฒนาคำตอบให้ลงลึกสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสถานการณ์ของสังคม
 
*****************
บทที่ 5
ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชน

1. ธรรมชาติและปัญหาเรื่องความสัมพันธ์

กำเนิดและพัฒนาการของการแสวงหาความจริงของมนุษย์ เราสามารถแบ่งเป็นศาสตร์สำคัญ ๆ ได้สามสาย ได้แก่ ปรัชญา ศาสนา และวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยมีหลักการเกี่ยวกับแต่ละศาสตร์ว่า

1.1 แม้ว่าแต่ละศาสตร์ต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน คือ การแสวงหาความจริง แต่เป็นการมุ่งสู่ความจริง ในมิติที่ต่างกัน (ปรัชญาเน้นด้านคุณค่า/ความหมายของความจริง ศาสนาเน้นความจริงเพื่อมุ่งสู่ความรอดพ้น วิทยาศาสตร์เน้นความจริงด้านปริมาณ /คุณลักษณะ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน)

1.2 แต่ละศาสตร์จึงมีคำถามต่อความจริงตามรูปแบบ/ธรรมชาติของตน กล่าวคือ แต่ละศาสตร์ต่างมีวิธีการ และมาตรการ มุ่งสู่ความจริงตามรูปแบบของตน กล่าวคือ

1.2.1 ปรัชญา ให้ความสำคัญต่อการเข้าใจความจริง ด้วยการใช้เหตุผล โดยมีพื้นฐานว่ามนุษย์มีสติปัญญา ที่สามารถเข้าใจความจริง

1.2.2 ศาสนา ให้ความสำคัญต่อการเผยแสดง/การหยั่งรู้ ที่มนุษย์ได้รับจากความเป็นจริงสูงสุด (ศาสนาแนวเทวนิยม) หรือการที่มนุษย์บำเพ็ญตนจนบรรลุถึงความจริง (ศาสนาแนวอเทวนิยม) โดยมีพื้นฐานบนความเชื่อศรัทธาต่อความเป็นจริงสูงสุดหรือต่อคำสอน/วิธีการขององค์ศาสดา

1.2.3 วิทยาศาสตร์ ให้ความสำคัญต่อความจริงที่นำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เพื่อการควบคุมและทำนายผลที่จะเกิดขึ้น บนประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัส ได้แก่ การกำหนดปัญหา การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูล การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล การประเมินผลและการนำไปใช้

1.3 แต่ละศาสตร์ต่างยืนยันว่าข้อมูลที่ตนได้รับ เป็นหนทางสู่การบรรลุถึงความจริงอัน เป็นความรู้ที่ถูกต้อง ตอบสนองธรรมชาติในศาสตร์ของตน

1.4 ปัญหา มีการล่วงล้ำการแสวงหาความจริงเกินมิติในกรอบของแต่ละศาสตร์ รวมถึงการนำวิธีการและมาตรการในศาสตร์ของตนไปใช้กับศาสตร์อื่น เช่น ปรัชญาเห็นว่าศาสนา ไม่ค่อยมีเหตุมีผล มีแต่ความเชื่อ ศาสนาเห็นว่าปรัชญาเน้นแต่เหตุผล จะได้ความจริงทั้งครบได้อย่างไร วิทยาศาสตร์เห็นว่าสามารถนำมาแทนที่ศาสนาและปรัชญาได้ เป็นต้น

จึงต้องมีการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของศาสตร์ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร แต่ละศาสตร์ควรมีท่าทีอย่างไร เพื่อว่าแต่ละศาสตร์จะได้ไม่นำมาซึ่งความสับสน ความขัดแย้งในการแสวงหาความจริงของมนุษย์ แต่ตรงกันข้าม ให้แต่ละศาสตร์มีส่วนช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อตอบสนองความต้องการแสวงหาความจริงของมนุษย์

2. ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างมีธรรมชาติของตน วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ปรัชญา เพราะว่ามันเจาะจงศึกษาความจริงเพื่อนำไปใช้สู่ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต นักวิทยาศาสตร์ไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่คำถามที่เป็นปัญหาของปรัชญา (ความจริงคืออะไร? รู้ได้อย่างไร? ฯลฯ) โดยตรง วิทยาศาสตร์สนใจทำการศึกษาค้นคว้าทดลองตามหลักการของตน เพื่อตอบปัญหาในสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนใจ

2.1 ความหมายและคุณลักษณะของวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ถือกำเนิดจากความต้องการความรู้ใหม่เพิ่มเติมจากความรู้เดิม โดยมีหลักการว่า สิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถรู้ เข้าใจและอธิบายได้ แต่เดิมวิทยาศาสตร์แฝงตัวอยู่ในปรัชญา และค่อยๆ แยกตัวออกมาโดยกำหนดบริบทของตนในการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นพื้นฐานในการแสวงหาความจริง ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาปรากฏการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของการตั้งสมมติฐาน เพื่อทดสอบหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยมีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอคติหรือความรู้สึกส่วนตัวของแต่ละคน ในแง่นี้เราจึงบอกได้ว่าความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เป็นสากล

2.1.1 ความหมายของวิทยาศาสตร์

เราให้นิยามความหมายบางประการของวิทยาศาสตร์ได้ว่า

ก. หมายถึงกระบวนการคิดค้นความจริงอย่างเป็นระบบ
ข. หมายถึง องค์ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และความจริง อาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาประมวลความรู้เพื่อให้ชนรุ่นหลังศึกษาค้นคว้า (ต่อยอด) และการนำไปประยุกต์ใช้อำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ค. ฯลฯ

จากความหมายบางประการที่ยกมาข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า วิทยาศาสตร์เป็น “องค์ความรู้สากล” ที่เป็นระบบ เป็นสากลและสามารถพิสูจน์ผลได้แน่นอนตายตัว โดยไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาและสถานที่

2.1.2 บทบาท (คุณค่า) ของวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นกระบวนการค้นคว้าหาความจริง มีบทบาทหน้าที่สำคัญสองประการ คือ

ก. การอธิบายปัญหาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ (สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร)

ข. การคาดการณ์สิ่งที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามีเหตุปัจจัยแบบนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างนั้น)

2.1.3 ลักษณะของความรู้เชิงวิทยาศาสตร์

ก. มีความเป็นสากล (Universality) กล่าวคือ ได้รับการยอมรับทั่วไป เป็นความจริงที่ได้ไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อม บุคคล เวลาหรือสถานที่

ข. มีความเป็นปรนัย (Objectivity ) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่เป็นหลักการโดยไม่ขึ้นกับอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละคน

ค. มีความแน่นอน (Consistency) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่แน่นอน ตายตัว ผลการค้นคว้ามีลักษณะเป็นเอกภาพในทุกมุมโลก

ง. ความสมเหตุสมผล (Verificability) กล่าวคือ เป็นความรู้ที่จะต้องมีผลลัพธ์ในทำนองเดียวกัน ถ้ามีเหตุปัจจัยทำนองเดียวกัน

2.1.4 กระบวนการความรู้เชิงวิทยาศาสตร์
มีลำดับ 5 ขั้นตอนสำคัญ ดังนี้

ก. การกำหนดปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เราอยากจะรู้เกี่ยวกับความจริง
ข. การตั้งสมมติฐาน หรือความเป็นไปได้ที่สิ่งนั้นจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
ค. การรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้
ง. การแยกประเภทและการวิเคราะห์ข้อมูล
จ. การประเมินผลและการนำไปใช้

2.2 ความเหมือนและความต่างของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ต่างมีพื้นฐานบนความจริงที่มนุษย์ตั้งคำถามและพยามศึกษาหาคำตอบในประเด็น/โจทย์ที่สอดคล้องกับบริบทตามธรรมชาติของตน โดยสรุปภาพรวมได้ดังนี้

2.2.1 ในฐานะที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ ย่อมมีจุดหมาย คือ การแสวงหาความจริง อันเป็นคุณลักษณะโดยทั่วไปของทุกศาสตร์ แต่ความจริงที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์มุ่งตอบนี้มีรายละเอียดด้านคำถาม และวิธีการตอบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ก. ในขณะที่ปรัชญาตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไร รู้ได้อย่างไรและเอาอะไรมาตัดสินความจริง?” (What/Why to be) อันเป็นคำถามที่พิจารณาถึงคุณค่าและความหมายของความจริง โดยยึดสิ่งนั้น (Object) เป็นศูนย์กลาง โดยไม่ใส่ใจว่าความจริงของสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิตหรือไม่ ในขณะที่วิทยาศาสตร์ตั้งคำถามว่า “ความจริงเป็นอย่างไร จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร” (How to be) อันเป็นคำถามที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการตั้งและตอบคำถาม (Subject) วิทยาศาสตร์จึงสนใจคำตอบในรายละเอียดของสิ่งนั้น เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน/อนาคต (ความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต)

ข. ปรัชญาจะเน้นการแสวงหาความจริงโดยอาศัยสติปัญญา ตามหลักเหตุ-ผล (ใช้ตรรกวิทยาเป็นเครื่องมือ มุ่งสู่มโนภาพ/สากลของสิ่งนั้น) ในขณะที่วิทยาศาสตร์เน้นประสบการณ์ที่สามารถพิสูจน์ได้ในระดับประสาทสัมผัส เพื่อค้นหากฎเกณฑ์ของธรรมชาติ เพื่อควบคุมหรือคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น

2.2.2 ความรู้ด้านปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ต่างสะท้อนถึงคุณลักษณะพิเศษของมนุษย์ ในฐานะเป็นผู้มีสติปัญญา พยายามศึกษาค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับความจริง แต่สิ่งที่ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ใส่ใจมีรายละเอียดต่างกัน กล่าวคือ

ก. ปรัชญาเน้นการตั้งคำถามและตอบตามเหตุ-ผล นำสู่หลักการ
และแนวทางการดำเนินชีวิต คำตอบจึงยังไม่ขีดเส้นตายสิ้นสุด แต่ยังมีคำตอบที่สามารถโต้แย้งได้ไม่สิ้นสุด ในขณะที่วิทยาศาสตร์จะพิจารณาคำถาม และตอบให้จบเป็นประเด็น ๆ ไป คำตอบที่ได้รับมีลักษณะเป็นสากล

ข. ปรัชญาสะท้อนถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นอะไรมากกว่ากฎเกณฑ์หรือหลักการที่ตายตัว ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ทั้งหมด เพราะมนุษย์มีสติปัญญา มีความสำนึก มีเสรีภาพที่สามารถตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของตน ในขณะที่วิทยาศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของมนุษย์ที่ยังคงมีความต้องการในระดับประสาทสัมผัส ที่จำเป็นต้องได้รับการสนองความต้องการ

2.3 สรุป : ความสัมพันธ์ของปรัชญากับวิทยาศาสตร์

ในฐานะที่ปรัชญาเป็น “ศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย” (ก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร) เราจึงพอจะมองเห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ปรัชญาเป็นเหมือนกับ “มารดา” ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นดัง “บุตร” วิทยาศาสตร์เป็นการต่อยอดความรู้ความจริงของมนุษย์ เพื่อการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

3. ความสัมพันธ์ของปรัชญากับศาสนา

ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างปรัชญาและศาสนา แม้ว่าบางครั้งจะมีการถกเถียง โต้แย้งความรู้ของกันและกัน ในขณะเดียวกัน เราพบถึงความเกื้อหนุนเกื้อกูลกันและกันระหว่างปรัชญาและศาสนา จนบางครั้งแทบจะแยกจากกันไม่ออก

3.1 ความหมายและคุณค่าของศาสนา

ศาสนศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดและหลักธรรมคำสอนของศาสนาโดยกำหนดบทบาทและขอบเขตของศาสนาในฐานะเป็นศาสตร์หนึ่งของมนุษย์ ที่มีจุดหมายคือ “วิถีสู่การบรรลุถึงความจริงสูงสุด” หรือ ความรอดพ้นนั่นเอง

3.1.1 ความหมายของศาสนา “เน้นมุ่งสู่อะไร”

ก. นิยามของศาสนา มีหลากหลายแนวความคิด เช่น

1) ศาสนา คือ วิถีชีวิต (Way of life) ที่ประกอบด้วยความเชื่อและเหตุผล ที่มุ่งสู่ความจริงเพื่อความรอดพ้น จึงมีลักษณะ “เน้นวิถีสู่ความรอดพ้น” (เดือน คำดี, 2545: 8)
2) ศาสนาเป็นระบบความเชื่อที่พัฒนาให้มีเหตุผลมากขึ้น (สมภาร พรมทา: 2546:40)
3) ศาสนาเป็นเรื่องของศีลธรรมบ้าง เป็นเรื่องของความรู้สึกบ้าง เป็นเรื่องของการเน้นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับให้ปฏิบัติบ้าง (Edwards, 1972: 42-61)

ข. แม้นิยามของคำว่า “ศาสนา” จะมีหลากหลาย แต่สิ่งที่เราควรใส่ใจคือ แก่นแท้ของศาสนา คือ การมุ่งสู่ความรอดพ้น ไม่ใช่ในระดับความคิด ความเข้าใจ แต่ศาสนาเป็นเรื่องระดับจิตใจที่มนุษย์มีความปรารถนาที่จะบรรลุความบรมสุขเที่ยงแท้ ถาวร นิรันดร “ความเชื่อทื่อ ๆ อย่างเดียวไม่เคยช่วยให้เราเกิดความซาบซึ้งในอะไรได้” (สมภาร พรมทา, 2546: 17) แต่ต้องอาศัยการไตร่ตรองเนื้อหาคำสอนด้วยจิตใจอย่างลึกซึ้งและนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน

3.1.2 คุณค่าของศาสนา คือ “คำตอบของชีวิต”

สิ่งที่ศาสนาสนใจคือ “จิตใจ” ที่ลึกลับซับซ้อนในตัวมนุษย์ ศาสนาสอนว่าชีวิตมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง แต่ชีวิตนั้นจะมีคุณค่าเมื่อไปเชื่อมโยงหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น สิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้แต่ละศาสนาสอนไม่เหมือนกัน บางศาสนาสอนว่าสิ่งที่ยิ่งใหญ่นั้นคือ พระเจ้า บ้างก็สอนว่าเป็นนิพพาน แต่ในความหมายรวม ๆ หมายถึง ภาวะที่ยิ่งใหญ่เกินขอบเขตโลกแห่งผัสสะ (Transcendent) ศาสนาทั้งหลายแม้จะสอนต่างกันแต่จุดเน้นเหมือนกัน คือ สอนให้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของ “ความจริงสูงสุด” เป็นนิรันดรภาพ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแท้จริงของชีวิต ศาสนาจึงเน้นเรื่องความเชื่อศรัทธาแห่งจิตใจที่พัฒนาอย่างเป็นระบบ มีโครงสร้าง เป็นสถาบันที่สำคัญอันหนึ่งของสังคมมนุษยชาติ

ก. ในฐานะที่ศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อศรัทธาแห่งจิตใจ ศาสนาจึงมีคุณค่าในฐานะเป็นหลัก หรือแนวทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ข. ในฐานะที่ศาสนาเป็นสถาบัน ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อสังคม จารีตประเพณี วัฒนธรรมหรือแม้กระทั่งกฎหมาย

นักปรัชญาหลายท่านไม่เห็นด้วยที่มองศาสนาในแง่สถาบัน เพราะทำให้มนุษย์ยึดติดแต่ “เปลือก” จนลืม “แก่นสาระ” ของศาสนา ทำให้มนุษย์ยึดติดแต่เพียงกรอบ หรือการปฏิบัติตามตัวบทกฎเกณฑ์ จนลืมไปว่าศาสนามีบทบาทในฐานะเป็นคำตอบชีวิต ที่เป็นหลักหรือแนวทางเพื่อให้มนุษย์ดำเนินชีวิตเพื่อมุ่งสู่ความจริงสูงสุด อันเป็นเป้าหมายชีวิตอย่างแท้จริง

จึงสรุปได้ว่า คุณค่าของศาสนาคือ คำตอบของชีวิตที่ช่วยให้มนุษย์สำนึกตนเองว่า ชีวิตยังมีคุณค่าและความหมาย แม้ภาวะในปัจจุบันอาจเต็มด้วยความทุกข์ ความเจ็บปวด แต่มนุษย์มีศักยภาพภายใน อาศัยความสัมพันธ์กับภาวะที่ยิ่งใหญ่ (ความจริงสูงสุด/พระเจ้า/นิพพาน) ที่สามารถทำให้มนุษย์บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ได้

3.1.3 หลักการของศาสนา : เหตุผลและความเชื่อศรัทธา

ที่มาของความรู้ในแต่ละศาสตร์ ต่างมีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น ในกรณีความรู้ทางศาสนา สิ่งที่เป็นแก่นสารของความรู้เชิงศาสนา คือ ความรู้ที่มุ่งสู่การดับทุกข์หรือความรอดพ้น สิ่งที่ศาสนาเน้นคือ ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติตนสู่ความรอดพ้น ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกันระหว่างความรู้ ความเข้าใจในระดับสติปัญญา และลงลึกในระดับจิตใจ สู่ชีวิตที่เป็นจริงของแต่ละบุคคล

ก. เหตุผลในศาสนา : สิ่งที่ทำให้ศาสนาไม่งมงาย

แม้ว่าศาสนาจะเป็นระบบความเชื่อที่พัฒนาให้มีเหตุผลมากขึ้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ารากเหง้าของศาสนาคือไสยศาสตร์ และแม้ปัจจุบัน ความเชื่อบางอย่างของศาสนายังคงแฝงไว้ในลักษณะที่คล้าย ๆ ไสยศาสตร์ แต่ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าศาสนาเป็นหลักหรือแนวทางสู่ความจริงสูงสุด ที่ต้องมีการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จึงมีความจำเป็นต้องมีการตีความหลักธรรมของศาสนาให้ทันยุคและเหมาะสมในแต่ละกรณี จึงต้องมีการอธิบายหลักธรรมของศาสนาให้สามารถเข้าใจได้มากขึ้นตามเหตุผล เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้นับถือศาสนาแต่ละคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตามบริบทของชีวิต

1) เนื่องจากศาสนามีทั้งส่วนที่เป็นหลักธรรมและหลักปฏิบัติที่ออกมาในรูปของระเบียบ กฎเกณฑ์ (เพื่อเป็นศาสนิกชนในศาสนานั้น ๆ คุณต้องประพฤติแบบนี้...) แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะที่มนุษย์มีสติปัญญา มนุษย์ย่อมตั้งคำถามเสมอว่า หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติที่ศาสนาระบุให้ทำนั้น “เราทำไปทำไม?”

2) หลักธรรมและหลักปฏิบัติของศาสนา มีลักษณะเป็นหลักการกว้าง ๆ ในขณะที่ศาสนิกชนมีบริบท มีสถานการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน ศาสนิกชนจึงจำเป็นต้องรู้ เข้าใจคุณค่าและความหมายของหลักธรรมและหลักปฏิบัติต่าง ๆ ว่ามีจุดหมายเพื่ออะไร เพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคน

เหตุผลจึงเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของศาสนา เพราะถ้าศาสนาไม่มีเหตุผลหรือไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล (แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทั้งหมดก็ตาม) สิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็นศาสนานั้น จะเป็นเพียงแค่ไสยศาสตร์ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่มีเหตุผล สะท้อนถึงการมีความเชื่อแบบตาบอด (งมงาย) ที่ประพฤติปฏิบัติแบบตาม ๆ กันไป จนมองข้ามคุณค่าและความหมายของการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา

ข. ความเชื่อศรัทธา: หลักการสำคัญของศาสนา

เนื่องจากศาสนาเป็นวิถีชีวิตที่เป็นหลักธรรมและหลักการดำเนินชีวิต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามคุณค่าและความหมายตามแนวทางและอุดมคติของแต่ละศาสนา ความรู้ในเชิงศาสนาจึงไม่ได้เป็นแบบรู้เพื่อรู้ แต่เป็นรู้เพื่อนำไปปฏิบัติสู่อุดมคติของชีวิต เพื่อกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตสู่เป้าหมายตามรูปแบบของแต่ละศาสนา หลักการสำคัญที่สุดของศาสนาจึงไม่ได้อยู่แค่ระดับประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส หรือตามหลักเหตุผลที่สมเหตุสมผลแบบตรรกวิทยา เนื่องจาก

1) ความจริงในศาสนา เป็นความจริงที่ประจักษ์ด้วยใจ (Intuitive truth) ที่พิสูจน์ไม่ได้ทั้งหมดด้วยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหรือตามหลักเหตุผลทางตรรกวิทยา ความจริงในศาสนาต้องเข้าใจผ่านจิตใจหรือมิติภายในตัวมนุษย์ที่บอกไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร

2) ความจริงในศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจที่มีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสิ่งสูงสุดที่เราจำเป็นต้องปลดปล่อยตนเองไปสู่ความจริงในศาสนานั้น ๆ และเมื่อเรามีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสูงสุดนั้นแล้ว เราจะพบคุณค่าและความหมายที่สวยงามของชีวิต ที่ทำให้เราพร้อมที่จะอุทิศตนสู่ความจริงสูงสุดนั้น

3) เมื่อผู้นับถือศาสนาได้เข้าสู่ความจริงในศาสนาแล้ว เขาจะสำนึกว่าสิ่ง (ภาวะ) ที่เขาได้สัมพันธ์ (สัมผัส) นั้นเป็นความจริงโดยไม่สนใจที่จะพิสูจน์อีกต่อไป

3.2 ความเหมือนและความต่างกันของปรัชญากับศาสนา

จุดเริ่มต้นและเป้าหมายของปรัชญาและศาสนามีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การมุ่งสู่ความจริงสูงสุด แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน

3.2.1 ทั้งปรัชญาและศาสนา สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์ที่มักตั้งคำถามและพยายามตอบคำถาม โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับคุณค่าและความหมายชีวิต โดย

ก. ปรัชญาสนใจปัญหาเรื่องคุณค่าและความหมาย โดยอาศัยหลักการตามหลักเหตุและผล เพื่อตอบสนองคำถามด้านสติปัญญาในการแสวงหาความจริง คำตอบเกี่ยวกับความจริงเชิงปรัชญาไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องยอมรับเป็นมติสากลของทุกคน คำตอบเชิงปรัชญาจึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปที่ทุกคนต้องตอบเหมือนกัน แต่ปรัชญาสนใจ คำถาม เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์สำนึกว่าตนเองมีสติปัญญาที่คิดหาเหตุผลได้ ดำเนินชีวิตอย่างมีหลักเหตุผล

ข. ศาสนาสนใจปัญหาเกี่ยวกับความจริงเพื่อความรอดพ้น ความจริงหรือคำตอบที่ศาสนาให้จึงเป็นมติสากลของศาสนานั้น ๆ ที่เรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ถือปฏิบัติ (ถ้าคุณจะนับถือศาสนานั้น ๆ คุณต้องเชื่อและปฏิบัติตามหลักการของศาสนานั้น ๆ) โดยศาสนาจะให้หลักประกันว่า ถ้าคุณเชื่อและปฏิบัติตามหลัก คุณได้ประสบกับความรอดพ้น

3.2.2 ทั้งปรัชญาและศาสนาต่างเรียกร้องให้มนุษย์สำนึกถึงคุณค่าและความหมายชีวิต ใช้ชีวิตอย่างมีสำนึกและรับผิดชอบ โดยไม่จำกัดกรอบแต่เพียงความสุขกายเท่านั้น แต่เน้นถึงความสุขใจในการพบความจริง โดย

ก. ปรัชญาเรียกร้องให้มนุษย์ใช้ศักยภาพด้านสติปัญญาเพื่อค้นหาความจริงอันเป็นคำตอบของตนเอง สิ่งที่ปรัชญาเน้นคือ คำถาม เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์รู้จักคิด ใช้สติปัญญาเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตและรับผิดชอบต่อคำตอบของตน

ข. ศาสนาเรียกร้องให้มนุษย์มุ่งสู่ความจริง ด้วยการมีความสัมพันธ์ (สัมผัส) กับความจริงสูงสุด ที่เรียกร้องให้เราออกจากตนเอง รู้จักควบคุมและบังคับตนเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันนำสู่การบรรลุถึงความจริงสูงสุดนั้น

3.3 สรุป : ความสัมพันธ์ของปรัชญากับศาสนา

ปรัชญาและศาสนามีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนบางครั้งยากต่อการแยกจากกัน และในประวัติศาสตร์ ดูเหมือนว่าศาสนาจะใช้ปรัชญาเป็นเครื่องมือ (สาวใช้) ด้วยซ้ำ จนลืมไปว่าแต่ละศาสตร์ต่างมีธรรมชาติและเป้าหมายเฉพาะและวิธีการของตนในการแสวงหาความจริง ไม่ต้องแปลกใจที่พบว่ามีนักปรัชญาจำนวนมากที่พยามใช้หลักเหตุผลในการแสวงหาความจริง และได้ทุ่มเทชีวิตของตนต่อการนับถือศาสนา แต่ในขณะเดียวกัน มีนักปรัชญาจำนวนมากเช่นกัน ใช้สติปัญญามุ่งสู่ความจริงตามหลักเหตุผล และตัดสินใจทิ้งศาสนา เพราะมองศาสนาว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชีวิต

ปรัชญาและศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกัน เพียงแต่ว่าเราตีกรอบของปรัชญาและศาสนาแบบไหน มองบริบทของศาสตร์ทั้งสองภายใต้พื้นฐานของอะไร รวมถึงเรามีความรู้เข้าใจต่อกรอบ/บริบทของปรัชญาและศาสนามากน้อยแค่ไหน

4. ปรัชญากับความเชื่อคริสตชน

จากประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนา พบว่ามีการนำปรัชญามาช่วยอธิบายคำสอนคริสตศาสนามานานแล้ว ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของพระศาสนจักร เห็นได้ชัดจากคำสอนของนักบุญเปาโล นักบุญออกัสติน และนักบุญโทมัส อาไควนัส ซึ่งนำปรัชญากรีกมาอธิบายคำสอนคริสตศาสนา และยังคงมีการดำเนินเรื่อยมา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ มีการพยายามทำคำสอนคริสตศาสนาให้เป็นปรัชญา จนเน้นเรื่องงานด้านวิชาการของคริสต์ศาสนามากเกินไป จนถึงกับมีการนำคำสอนคริสต์ศาสนามาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตทั่วไป จนลืมเน้นไปว่าคริสต์ศาสนามีเป้าหมายเฉพาะ ก็คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแบบอย่างพระเยซูคริสตเจ้า

ความสัมพันธ์ของปรัชญากับความเชื่อคริสตชน

พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ได้ออกเอกสาร Fides et Ratio (ความเชื่อและเหตุผล) ในปี ค.ศ. 1998 ว่าพระศาสนจักรฯ ไม่มีปรัชญาอย่างเป็นทางการ หมายความว่าถึงแม้ว่าพระศาสนจักรจะใช้ปรัชญามาอธิบายคริสต์ศาสนา แต่ พระศาสนจักรย่อมไม่ยึดติดกับระบบปรัชญาลัทธิใดลัทธิหนึ่งอย่างเป็นทางการ ถึงแม้สมเด็จพระสันตะปาปาฯ บางพระองค์จะยึดปรัชญาบางระบบในการอธิบายคริสต์ศาสนาเป็นการส่วนพระองค์ก็ตาม สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงให้ความชัดเจนในเรื่องนี้และถือเป็นมิติใหม่ของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่สอนอย่างเป็นทางการ

4.1 ปรัชญาเป็นวิธีการหนึ่งในการเข้าใจความเชื่อคริสตชน

พระสันตะปาปาฯ ทรงแถลงว่า “ปรัชญาเป็นวิถีทางที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเข้าถึงความจริงในพระเจ้า” (Fides et Ratio, 1998: 5) ในฐานะที่มนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา พระองค์จึงทรงเชิญชวนคริสตชนที่มี ความรู้ ความสามารถว่ามีหน้าที่ต้องศึกษาค้นคว้าปรัชญาทุกคนทุกรูปแบบและร่วมมือกับนักปรัชญาทุกรูปแบบ เพื่อหาคำอธิบายคำสอนของคริสตศาสนาให้กระจ่างแจ้งกว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้น แต่พระศาสนจักรจะนำปรัชญาลัทธิใดลัทธิหนึ่งมาช่วยอธิบายคำสอนก็ได้ โดยไม่มีการผูกมัดกับแนวคิดของนักปรัชญาบุคคลใดหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่งทั้งสิ้น

4.2 ไม่มีปรัชญาทางการของพระศาสนจักร

พระสันตะปาปาฯ ทรงมีความคิดที่จะใช้ ปรัชญาช่วยทำให้รู้ถึงความจริง ตามความเข้าใจของเราเป็นการส่วนพระองค์โดยพระองค์ต้องการที่จะย้ำว่าไม่มีปรัชญาเป็นทางการของพระศาสนจักรฯ มีแต่คำสอนของพระศาสนจักรฯ ที่เราสามารถนำแนวคิดทางปรัชญาต่าง ๆ มาช่วยอธิบายคำสอนของคริสตศาสนา เป็นที่น่าสังเกตว่าพระศาสนจักรจะผูกมัดกับคำสอนคริสตศาสนา แต่ไม่ผูกมัดกับแนวคิดของระบบปรัชญาใด ๆ ทั้งสิ้น ดังในเอกสาร Fides et Ratio (1998: 5) กล่าวว่า

... พระศาสนจักรพบว่าปรัชญาเป็นวิถีทางที่ช่วยให้เรารู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ และเห็นว่าปรัชญาช่วยทำให้เข้าใจความเชื่อได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยทำให้เข้าใจความจริงในพระวรสาร...

จากแนวความคิดของพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทำให้เราเห็นถึงความชัดเจนและท่าทีของพระศาสนจักรฯ ที่สนับสนุนให้มีการคิดค้นใช้เหตุผลเพื่อเข้าใจความเชื่อในคริสตศาสนามากยิ่งขึ้นโดยอาศัยปรัชญา แต่ถึงกระนั้นก็ยังเน้นความสำคัญของคำสอนคริสตศาสนาในฐานะเป็น “ข่าวดีแห่งความรอดพ้น” โดยอาศัยการอธิบายตามหลักเหตุผลตามแนวปรัชญา

4.3 ความเชื่อคริสตชนมีความลึกซึ้งในเรื่องคุณค่าและความหมายชีวิต มากกว่าความรู้/เข้าใจความจริงด้วยสติปัญญามนุษย์

Sokolowski (1984) คิดว่าพระสันตะปาปาฯ ทรงย้ำความสำคัญของความเชื่อคริสตชนว่าเป็นคุณค่าลำดับแรก (Priority) ที่เชื่อมโยงกับคุณค่าและความหมายแท้จริงของชีวิตมนุษย์ สิ่งที่พระสันตะปาปาฯ ทรงย้ำคือ การมีประสบการณ์กับความเชื่อ ที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ปรัชญา (เหตุผล) เป็นความคิด/เข้าใจคุณค่าและความหมายชีวิต ช่วยให้มนุษย์ตระหนักถึงความเป็นจริง แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าและความหมาย คือ การมีสัมพันธ์กับความเป็นจริงสูงสุด ตามที่ความเชื่อคริสตชนสอนไว้

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความเชื่อคริสตชนไม่ใช่ปรัชญา และไม่ได้ขึ้นกับปรัชญา แต่เป็น “ข่าวดี” (Gospel) (Byrne, 1995: 337) กำเนิดและพื้นฐานของความเชื่อคริสตชนไม่ใช่แนวคิดทางปรัชญา แต่เป็นข่าวดีที่คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงรัก และทำพันธสัญญาที่จะช่วยมนุษย์สู่ความรอดพ้น ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรฯ ได้ใช้แนวคิดทางปรัชญามาช่วยอธิบายข่าวดีดังกล่าว โดยไม่ได้ผูกมัดตนเองกับแนวคิดของใครหรือลัทธิทางปรัชญาใดๆ ทั้งสิ้น แต่พระศาสนจักรผูกมัดตนเอง กับข่าวดีแห่งความรอดพ้น

5. สรุปประจำบท

ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชนย่อมมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่แตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่านักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักศาสนาและคริสตชนต่างก็เป็นมนุษย์ที่รู้จักนึกคิด มีความต้องการทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่จะบรรลุถึงความสุข (สุขกาย สุขสติปัญญา สุขใจ) มนุษย์ต่างปรารถนาที่จะอิ่มอก อิ่มใจ ไม่มีใครอยากทุกข์กาย ทุกข์ใจ แต่ทั้งนี้ อย่าลืมว่า แต่ละศาสตร์ต่างมีอัตลักษณ์ตามธรรมชาติของตน

สิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของปรัชญา วิทยาศาสตร์ ศาสนาและความเชื่อคริสตชนเข้าด้วยกันคือ ตัวมนุษย์เอง เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า “ตั้งคำถามอะไร?” และเลือก “ศาสตร์อะไร” มาตอบคำถามนั้น
 
***************************
 
บทที่ 6
คำศัพท์ปรัชญาที่ควรรู้

1. ความสำคัญและปัญหาเรื่อง “ศัพท์เชิงปรัชญา”

แต่ละศาสตร์ต่างมี “คำศัพท์” เฉพาะของตน เพื่อทำให้เกิดมโนภาพที่ตรงกันความหมายของคำศัพท์ เป็นเรื่องของ “นิยาม” คำนั้น ๆ เพื่อให้เกิดมโนภาพที่ตรงกันต่อคำนั้น ๆ มีความพยายามของผู้ศึกษาปรัชญาที่จะนิยามหรือกำหนดคำศัพท์เชิงปรัชญา แต่ก็พบปัญหา กล่าวคือ

1.1 ศัพท์ปรัชญาบางคำ ใช้คำเดียวกัน แต่มีนิยามหรือความหมายหลายอย่าง นักปรัชญาบางท่านใช้คำหนึ่ง และกำหนดความหมายอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน นักปรัชญาอีกท่านหนึ่ง ใช้คำเดียวกัน แต่ให้ความหมายอีกแบบหนึ่ง จนบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันในความคิด เช่น คำว่า “Person” เป็นคำที่นักปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มบุคคลนิยม (Personalism) นำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นบุคคล อันเป็นคุณลักษณะพื้นฐานและมีความหมายในเชิงพัฒนาความเป็นบุคคลให้มากขึ้น แต่มีแนวคิดทางปรัชญาตะวันออก เมื่อพบคำว่า “Person” กลับหมายถึง “อัตตา” ที่ควรทำให้ “อัตตา” ลดลง เพื่อหมดทุกข์ ซึ่งเราพบได้ในแนวคิดพุทธปรัชญา เป็นต้น

1.2 สำหรับประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงาน (อาจจะมีแต่ดูเหมือนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร...ความเห็นของผู้เรียบเรียง) ที่รับผิดชอบการกำหนดคำศัพท์เชิงปรัชญาโดยตรง จึงทำให้เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการศึกษาปรัชญาในประเทศไทย

2. แนะนำตัวอย่างหนังสือกำหนดคำและนิยามศัพท์เชิงปรัชญา

การศึกษาวิชาปรัชญาที่นำเสนอในเอกสารนี้ เป็นเพียงการนำเสนอตัวอย่างคำศัพท์ปรัชญาที่ควรรู้บางคำเท่านั้น เพื่อเป็นตัวอย่างในการกำหนดการนิยาม นักศึกษาควรอ่านหนังสืออธิบายคำศัพท์เชิงปรัชญาที่มีผู้เรียบเรียงไว้เป็นอย่างดี ได้แก่

2.1 กีรติ บุญเจือ. สารานุกรมปรัชญา. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 2522
2.2 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา. กรุงเทพฯ: บ. เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. 2543.
2.3 Peter A. Angeled. Dictionary of Philosophy. New York : Harper & Row Inc. 1981.

3. คำแนะนำต่อการทำความเข้าใจคำศัพท์ปรัชญา

คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปท่องจำคำศัพท์ปรัชญาทุกคำ แต่อย่างน้อยขอเสนอแนะหลักการที่ใช้ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเข้าใจคำศัพท์และนิยามคำศัพท์ทางปรัชญา สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาวิชาปรัชญา กล่าวคือ

3.1 ให้ยึดคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (เนื่องจากภาษาไทย มีผู้กำหนดไว้มากมาย หลายคำ และดูเหมือนว่าจะต้องมีการแปลไทยเป็นไทยอีกด้วย)
3.2 ให้เปรียบเทียบหนังสือที่อธิบายคำศัพท์หลาย ๆ เล่ม เพราะแต่ละท่านต่างมีความเข้าใจและอธิบายตามแนวทางของตน
3.3 โดยทั่วไป คำศัพท์ (ภาษาอังกฤษ) ของปรัชญา อาจมีความหมายที่ต่างจากคำศัพท์ (อังกฤษ) ทั่วไป แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แยกจากกันเด็ดขาด
3.4 เมื่อพบคำศัพท์ปรัชญา ให้นึกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์นั้น ๆ แล้วค่อยนำสู่การกำหนดคำนิยามด้วยภาษาของเรา จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายคำนั้นได้ง่ายขึ้น จำง่ายขึ้น
3.5 บ่อยครั้ง คำศัพท์ปรัชญามักอยู่เป็นคู่ ๆ กัน เพื่ออธิบายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3.6 เป็นต้น

4. คำศัทพ์ปรัชญา (บางคำ) ที่ควรรู้และตัวอย่างการนิยามศัพท์ เช่น

การนำเสนอคำศัพท์สำคัญ (บางคำ) ของปรัชญา ในครั้งนี้ ขอนำเสนอตามแนวทางที่ผู้เขียนใช้ (แนวทางส่วนตัว) เพื่อช่วยจำ และทำความเข้าใจ โดยทั่วไปเริ่มจากคำศัพท์ ต่อด้วยคำแปล ยกตัวอย่าง (เฉพาะบางคำที่ยกตัวอย่างได้) และกำหนดนิยามของคำนั้น

Being แปลว่า ภวันต์ ภาวะ สัต (ตรงข้ามกับ Nonbeing)
ตัวอย่างเช่น นาย ก. เทวดา ฯลฯ
หมายถึง สิ่งที่มีความเป็นอยู่ (Everything-that-is, That which is, is; and
that which is not, is not and can never be.) กล่าวคือ ทุกภาวะที่มี
ความมีอยู่ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งที่เห็นได้และเห็น
ไม่ได้ โดยทั่วไป รวมความทั้งสิ่งมีอยู่ที่เป็นสากลและเฉพาะหน่วย
อาจแบ่งกว้าง ๆ ได้สองประเภท คือ ภวันต์ทั่วไป (เปลี่ยนแปลง
ได้ ไม่เป็นนิรันดร์) กับ ภวันต์นิรันดร (พระเจ้า)

Universal แปลว่า ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นสากล
ตัวอย่างเช่น มนุษย์ (โดยไม่เจาะจงมนุษย์คนใดคนหนึ่ง) ต้นไม้
(โดยไม่เจาะจงว่าต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง)
หมายถึง สิ่งที่บ่งบอกถึงทุกสิ่งในประเภทเดียวกัน โดยไม่เจาะจงถึง
สิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

Particular แปลว่า ภาวะ (สิ่ง) เฉพาะหน่วย
ตัวอย่างเช่น นาย ก. นางสาว ข.
หมายถึง ภาวะ (สิ่ง) เฉพาะเจาะจงถึงสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

Concept, idea แปลว่า มโนภาพ หรือมโนคติ
ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ หรือ ความคิดเกี่ยวกับ
เด็กผู้ชาย
หมายถึง ความคิดหรือความเข้าใจสากลว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเป็น
ความสามารถของสติปัญญามนุษย์ที่สามารถแยกแยะระหว่าง
สิ่งหนึ่งจากสิ่งอื่น หรือแยกสิ่งสากลกับสิ่งเฉพาะหน่วย

Perception แปลว่า สัญชาณ
ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องอาหาร (เกิดจากการเห็น ได้ชิม ได้กลิ่น ได้
สัมผัส)
หมายถึง ความรู้เฉพาะหน่วย อันเป็นการรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัส
หลายอย่างประกอบกัน

Act แปลว่า ภาวะจริง หรือ กรรตุภาพ
ตัวอย่างเช่น สภาวะปัจจุบันที่ ด.ช. ก. เป็นเด็กผู้ชาย
หมายถึง ภาวะที่ปรากฏของสิ่งนั้นที่กำลังเป็นสิ่งนั้นในขณะที่
เป็นอยู่ (มักคู่กับ Potency)

Potency แปลว่า ภาวะแฝง, สมรรถนภาพ
ตัวอย่างเช่น ศักยภาพที่ ด.ช. ก. สามารถที่จะเป็น บิดา แต่ไม่สามารถ
เป็นมารดาได้ในอนาคต
หมายถึง ศักยภาพ หรือพลังภายในของสิ่งนั้น ที่สิ่งนั้นสามารถที่จะ
เป็นได้ตามประเภทของมัน (มักคู่กับ Act)

Essence แปลว่า สารัตถะ
ตัวอย่างเช่น ความเป็น (ลักษณะที่เป็นสากลของ) มนุษย์
หมายถึง สิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นและไม่เป็นสิ่งอื่น นำมาใช้คู่กับอัตถิ
ภาวะ เพื่ออธิบายองค์ประกอบของภวันต์

Existence แปลว่า อัตถิภาวะ, การมีอยู่
ตัวอย่างเช่น การมีอยู่ของ นาย ก.
หมายถึง การมีอยู่/ความมีอยู่ของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ เป็นพื้นฐานของภาวะที่
มีอยู่ (สิ่งที่มีอยู่ทั่วไป) คู่กับ สารัตถะ เพื่ออธิบายองค์ประกอบของภวันต์

Accident แปลว่า คุณา
ตัวอย่างเช่น สีแดง น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นต้น
หมายถึง ส่วน/องค์ประกอบที่ไม่อาจมีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่
ต้องอยู่คู่กับสาระเสมอ เพื่อบ่งบอกและเสริมภาวะของสิ่งนั้น

Substance แปลว่า สารหรือสาระ
ตัวอย่างเช่น สาระ (ความเป็นมนุษย์) ของ นาย ก.
หมายถึง แก่นสารหรือเนื้อหาของสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย สามารถมีอยู่ได้
ด้วยตนเอง มีลักษณะเป็นสากล ทำให้เราสามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร มีความหมายใกล้เคียงกับสารัตถะ

Sensation แปลว่า ผัสสะ หรือประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
ตัวอย่างเช่น การได้เห็น ด.ช. ก. กำลังเรียนหนังสือ
หมายถึง การรับรู้ทางประสาทสัมผัสภายนอก หรือการมีประสบการณ์
ต่อสิ่งต่างๆ อาศัยประสาทสัมผัส ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส และการชิมรส

Sense แปลว่า ประสาทสัมผัส หรืออายตนะ
ตัวอย่างเช่น ตา (ใช้มองเห็นสิ่งนั้น) หู (ใช้ฟังเสียงสิ่งนั้น)
หมายถึง สิ่ง (อวัยวะภายนอก) ที่มนุษย์ใช้สำหรับรับรู้สิ่งภายนอก ได้แก่ ตา (ดู) หู (ฟัง) จมูก (ดมกลิ่น) ลิ้น (ชิมรส) และ กาย (สัมผัส)

Fact แปลว่า ข้อเท็จจริง
ตัวอย่างเช่น ด.ช. ก. กำลังทานข้าว
หมายถึง สิ่งที่ปรากฎภายนอก สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
เพื่อใช้ตัดสินว่าสิ่งที่พูด/ข้อความนั้นจริงหรือเท็จ

Reality แปลว่า ความเป็นจริง
ตัวอย่างเช่น นาย ก. (ที่เป็นตัว นาย ก. จริง ทั้งที่มีส่วนที่ผัสสะได้ และ
ไม่ได้)
หมายถึง ภาวะ หรือสภาพที่ภาวะ (สิ่งนั้น) ที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ (ไม่ใช่
แค่สิ่งที่ปรากฎออกมาให้เห็น หรือรับรู้ทางประสาทสัมผัสเท่านั้น) อาจรับรู้
หรือไม่อาจรับรู้ได้ด้วยผัสสะก็ได้ (มีความหมายคล้ายๆ Being)

Appearance แปลว่า สิ่งที่ปรากฎ
ตัวอย่างเช่น ด.ช. ก. กำลังตั้งใจเรียน (สิ่งที่ปรากฎ คือ ด.ช. ก. กำลังตั้งใจ
เรียน แต่จริงๆ แล้ว เขาอาจตั้งใจเรียนหรือไม่ตั้งใจเรียนก็ได้)
หมายถึง สภาพที่ปรากฏสู่การรับรู้ต่อสิ่งนั้น ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้

Matter แปลว่า วัตถุหรือสสาร
ตัวอย่างเช่น ธาตุสี่ (ที่จะแปรรูป/สภาพเป็นสิ่งต่างๆ ต่อไป)
หมายถึง สิ่งที่มีความแผ่กว้าง ไม่มีจิต/มนัส สามารถรับรู้ได้ด้วย
ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส

Form แปลว่า รูปแบบ
ตัวอย่างเช่น วิญญาณของมนุษย์
หมายถึง ลักษณะที่เป็นสากลของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ ไม่สามารถรับรู้ได้
ด้วยประสบการณ์ระดับ

Body แปลว่า เทห์วัตถุ
ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์ ร่างกายของสัตว์
หมายถึง สิ่งที่กินที่ มีขนาด ความแผ่กว้าง และอยู่ในกาล สถานที่ ซึ่งแปร
สภาพมาจากวัตถุ/สสาร

Mind, Spirit แปลว่า จิต, มนัส
ตัวอย่างเช่น สติปัญญาของมนุษย์
หมายถึง สภาวะที่เป็นจิต อันเป็นสมรรถภาพของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่แบบพิเศษ ที่ทำให้รู้ภาวะ (สิ่ง) สากลได้ โดยทั่วไปใช้กับมนุษย์ เทวดา และพระเจ้า

Transcendence แปลว่า อุตรภาพ
ตัวอย่างเช่น สวรรค์ นรก
หมายถึง ภาวะที่อยู่พ้นขอบเขตของโลกหรือผัสสะ

Truth แปลว่า ความจริง
ตัวอย่างเช่น นาย ก. กล่าวว่า “นาย ข. เป็นผู้ชาย” ซึ่งตรงกับที่ นาย ข. เป็น
ผู้ชายจริงๆ
หมายถึง ความรู้ที่ตรงกันกับความเป็นจริง

False แปลว่า ความเท็จ
ตัวอย่างเช่น นาย ก. กล่าวว่า “นาย ข. เป็นผู้หญิง” ซึ่งไม่ตรงกับความ
จริงที่ นาย ข. เป็นผู้ชาย
หมายถึง ความรู้ที่ไม่ตรงกันกับความเป็นจริง


5. สรุปประจำบท

การนำเสนอเนื้อหาในบทนี้ เป็นเพียงการนำเสนอแนวทางที่ผู้เขียนใช้ รวมทั้งตัวอย่างวิธีการทำความเข้าใจคำศัพท์ที่สำคัญบางคำ การที่ผู้เขียนนำเสนอดังกล่าว เพื่อให้ข้อสังเกตว่า แต่ละคนที่ทำการศึกษาวิชาปรัชญา (รวมทั้งศาสตร์อี่นๆ) ย่อมเป็นทั้ง “ศาสตร์”และ “ศิลป์” กล่าวคือ แต่ละสาขาวิชา ย่อมมีหลักการทั่วไปที่เป็นอัตลักษณ์ของสาขาวิชาที่เป็นศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มนุษย์เป็นผู้ศึกษา และเป็นการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงแค่คิดตามตำรา แต่ละคน ควรมีแนวทาง (เทคนิค) เฉพาะบุคคล เพื่อการศึกษาวิชาปรัชญา (และศาสตร์อื่นๆ ) จะไม่ได้เป็นเพียงแค่รู้ทฤษฏี หรือท่องจำเนื้อหา แต่การศึกษาที่แท้จริง ต้องสามารถนำไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต พัฒนาชีวิตของแต่ละคนก้าวสู่เป้าหมายชีวิต ตามความเป็นจริง
 
*********************
 
บทที่ 7
สรุปการเรียนการสอน (บูรณาการความรู้)

จากการนำเสนอเนื้อหาของการเรียนการสอนในรายวิชานี้ จึงสรุปสาระสำคัญได้ว่า

1. ธรรมชาติ อัตลักษณ์และคำถามของปรัชญา คือ

1.1 เน้นการตั้งคำถาม (What + Why) เกี่ยวกับความเป็นจริง (Being)
1.2 เน้นการหาคำตอบตามหลักเหตุผลเกี่ยวกับความจริงในฐานะที่มนุษย์มีสติปัญญา
 อะไรคือความจริง
 รู้ความจริงได้อย่างไร
 เอาอะไรมาตัดสิน (ความดีและความงาม)
1.3 จากการศึกษาคำถามและคำตอบของคนอื่น นำสู่คำถามของคำตอบของตัวเราเอง

2. กำเนิดและพัฒนาการของปรัชญาในยุคต่าง ๆ ของปรัชญาตะวันตกและตะวันออก

มีจุดเริ่มต้นคล้ายคลึงกัน เพียงแต่จุดเน้นต่างกัน กล่าวคือ

2.1 มนุษย์เผชิญหน้ากับธรรมชาติรอบตัว
2.2 พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
2.3 ทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์แนวคิดวิญญาณนิยม สู่การตอบตามหลักเหตุผลมากยิ่งขึ้น โดยดู “บริบท” ของสังคมและสถานการณ์ในยุคนั้น ๆ
2.4 ความแตกต่างและการผสานกันของวัฒนธรรมตามภูมิภาคของโลก (อารยธรรม)
2.5 การนำมาประยุกต์ใช้ตอบปัญหาของสังคม เพื่อเป็นหลักการของสังคม
2.6 ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ยังต้องคิดและพัฒนาความคิดทางปรัชญาต่อไป

3. สาระสำคัญของแนวคิดของลัทธิทางปรัชญา

แนวคิดที่สำคัญทางปรัชญาจะสอดคล้องกับคำถามเชิงปรัชญา ในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับความจริง ขึ้นกับว่านักปรัชญาท่านนั้น ๆ สนใจจะตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริงในแง่มุมไหน (คืออะไร? รู้อย่างไร? เอาอะไรมาตัดสิน?)

4. การนำวิชาปรัชญาไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

ขอเสนอแนวทางเพื่อการประยุกต์ใช้ ดังนี้

4.1 การประยุกต์ใช้กับผู้ศึกษา

 สำหรับนักศึกษา ปรัชญาช่วยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามไหมว่า “เราเป็นใคร มีคุณค่าและความหมายอะไร”
 เป็นสิ่งดีที่เราพยายามพัฒนาบุคลิกภาพและศักยภาพของเราสู่อนาคตที่เราอยากมุ่งไปถึง (บทบาทหน้าที่ในสังคม) แต่พื้นฐานของการพัฒนานั้น ๆ อยู่บนพื้นฐานของคำถามเชิงปรัชญาหรือไม่

4.2 การประยุกต์ใช้กำหนดท่าทีต่อการดำเนินชีวิตในสังคม

 สังคมย่อมมีส่วนที่เรียกว่า “ค่านิยม” ทั้งค่านิยมที่ดี ที่ถูกต้องและตรงกันข้าม
 เราสามารถวิเคราะห์ได้ไหมว่าค่านิยมเหล่านั้นมีรากฐานจากปรัชญาแนวไหน เป็นแนวคิดที่มุ่งส่งเสริม สร้างสรรค์ความสงบสุขของมนุษยชาติหรือเปล่า?
 เราคงไม่หลงกระแส หรือตามค่านิยมแบบพวกมากลากไปนะ แต่ตรงข้าม เราต้องชี้และเตือนสติตัวเราและคนอื่น ในสิ่งที่ควรเป็น ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์

4.3 คำตอบของนักศึกษา ในการนำปรัชญาไปใช้ในชีวิตล่ะ คืออะไร

5. สรุปส่งท้าย

ปรัชญา เป็น
ความรักในความจริง รักที่จะรู้
รักเพื่อจะปฏิบัติสู่ความจริงที่ตนรู้... แล้วท่านล่ะ เมื่อได้ศึกษาวิชาปรัชญา (เบื้องต้น) แล้วคิดว่าปรัชญาเป็นอะไร เกี่ยวอะไร และนำไปใช้ในเรื่องอะไร
 
**************
ที่มา
http://franciswut01-1-7.blogspot.com/
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร