ความหมายของจริยธรรม
คำว่า “จริยธรรม” แยกออกได้เป็น จริยะ กับ ธรรม คำว่า จริยะ หมายถึง ความประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม หรือ ธรรมะนั้น มีความหมายมากมาย แต่โดยทั่วๆ ไปมักจะใช้สื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งจาก 4 ความหมายดังต่อไปนี้
1. ธรรม หมายถึง สภาวะที่เป็นไปอย่างนั้นเอง เช่น ธรรมชาติ ธรรมดา กฎธรรมชาติ
2. ธรรม หมายถึง ความถูกต้องดีงาม เช่น ความชอบธรรม ความยุติธรรม ธรรมในที่นี้มีความหมายตรงกันข้ามกับอธรรม
3. ธรรม หมายถึง สิ่งหรือปรากฏการณ์ แบ่งเป็น สังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นจากสิ่งอื่นๆ หลายสิ่ง กับอสังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ปราศจากการปรุงแต่ง เป็นต้น
4. ธรรม หมายถึง หลักคำสอนของศาสนา เช่น พุทธธรรมคือหลักคำสอนของศาสนาพุทธ คริสต์ธรรม หลักคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งธรรมในความหมายนี้ก็หมายรวมถึงหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆด้วย
คำว่า ธรรม ในหนังสือเล่มนี้จะใช้สื่อความหมายเช่นเดียวกับความหมายสุดท้าย ดังนั้น จริยธรรม จะหมายความว่า หลักคำสอนว่าด้วยความประพฤติ เป็นหลักสำหรับให้บุคคลยึดถือในการปฏิบัติตน หลักคำสอนดังกล่าวนี้อาจได้มาจากหลักคำสอนทางศาสนาหรือไม่ก็ได้ โดยทั่วไปศาสนาที่สำคัญของโลกมักจะสอนหลักให้มนุษย์ยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิต และหลักจริยธรรมส่วนใหญ่ที่มนุษย์ยึดถือในปัจจุบันก็ได้มาจากหลักคำสอนทางศาสนา แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจริยธรรมจะต้องมาจากหลักคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลักคำสอนที่คนเรายึดถือบางส่วนก็ได้มาจากแนวทางความคิดของปรัชญาเมธีด้วย เช่น ขงจื๊อ อริสโตเติล และมหาตมะคานธี เป็นต้น แม้ว่าคำสอนของท่านเหล่านี้จะมิได้บัญญัติขึ้นเป็นศาสนาแต่มีคนจำนวนหนึ่งยึดถือเป็นหลักในการปฏิบัติตน
ในปัจจุบันมีคำที่เกี่ยวกับจริยธรรม 2 คำที่ใช้กันแพร่หลาย คือ คำว่า จริยศาสตร์และจริยศึกษา คำว่าจริยศาสตร์นั้นใช้กันในความหมาย 2 อย่าง ความหมายแรกก็เหมือนกับคำว่าจริยธรรม คือหมายถึงหลักคำสอนว่าด้วยความประพฤติ เป็นหลักสำหรับให้บุคคลยึดถือในการปฏิบัติตน ผู้ที่เสนอหลักคำสอนจริยศาสตร์มีทั้งปรัชญาเมธีและศาสดาของศาสนาต่างๆ จริยศาสตร์ของศาสนาใดก็ตาม คือหลักคำสอนของศาสนานั้น เช่น จริยศาสตร์ของศาสนาพุทธก็หมายถึงหลักศีลธรรมหรือหลักจริยธรรมของศาสนาพุทธ ในแง่นี้คำว่า จริยศาสตร์ จริยธรรมและศีลธรรม มีความหมายเดียวกัน
จริยศาสตร์มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นวิชาการแขนงหนึ่ง จริยศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา คือเป็นวิชาว่าด้วยความประพฤติของมนุษย์ กล่าวอย่างกว้างๆ จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ค้นคว้าแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องสองเรื่องคือ หนึ่งอะไรเป็นสิ่งมีค่าสูงสุดในชีวิตที่มนุษย์ควรแสวงหา สองเกณฑ์สุดท้ายที่จะตัดสินความดีความชั่วมีหรือไม่ ถ้ามีคืออะไร นักจริยศาสตร์ได้เสนอทัศนะมากมายเกี่ยวกับ 2 เรื่องนี้ แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้นอย่างไรก็ตามการอภิปรายปัญหาเหล่านี้อยู่นอกขอบเขตของหนังสือเล่มนี้
คำว่า “จริยธรรม” นอกจากจะหมายถึงหลักปฏิบัติตนในชีวิตแล้วยังเป็นวิชาการแขนงหนึ่งด้วย ในแง่นี้บางทีเรียกจริยศึกษา แต่จริยศึกษา (หรือจริยธรรมในฐานะที่เป็นวิชา) ก็ต่างจากจริยศาสตร์ วิชาจริยศาสตร์มุ่งที่ความเข้าใจ โดยใช้เหตุผลโต้แย้งกันเกี่ยวกับปัญหา 2 เรื่องที่กล่าวข้างต้น พยายามซักไซ้ไล่เลียงปัญหาไปจนถึงที่สุด ส่วนจริยศึกษามุ่งที่การปฏิบัติคือนำจริยธรรมที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นสากลว่าดีแล้วมาสอนเยาวชนเพื่อให้เยาวชนกลายเป็นผู้มีจริยธรรม เหล่านี้คือจุดมุ่งหมายมิใช่เป็นเพียงการเข้าใจชัดเจนขึ้นเหมือนจริยศาสตร์เท่านั้น จริยศาสตร์มุ่งจะให้คนรู้ดีขึ้น ส่วนจริยศึกษามุ่งที่จะให้เป็นคนดีขึ้น ในการนี้จริยศึกษาอาจต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขามาช่วย เช่น จิตวิทยา สังคมวิทยา ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น
ปัญหาของชีวิตและสังคมมนุษย์
ถ้าเราสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า คนเราโดยทั่วไปนั้นไม่ว่าจะประกอบอาชีพการงานอะไรก็ตามมักจะประสบกับปัญหาบางอย่างอยู่เสมอ และเมื่อมองสังคมใดสังคมหนึ่งโดยส่วนรวมก็แทบจะไม่มีสังคมใดที่ไม่มีปัญหาใดๆเลย เพราะสังคมจะต้องไปด้วยบุคคล ดังนั้นปัญหาสังคมก็หนีไม่พ้นจากปัญหาของมนุษย์หรือบุคคลในสังคมนั่นเอง เราจึงควรพิจารณาดูว่ามนุษย์มีปัญหาอะไรบ้างในชีวิต เพื่อจะดูว่าจริยธรรมมีส่วนในการแก้ปัญหาชีวิตอย่างไร
คนเรามีปัญหาเมื่อเกิดอุปสรรคที่ไม่อาจทำให้ชีวิตบรรลุในสิ่งที่พึงประสงค์ได้ หากคนคนหนึ่งมีความประสงค์อะไรก็ได้สมใจทุกอย่าง ก็นับได้ว่าเขาไม่มีปัญหาอะไรเลย เช่น ไม่เดือดร้อนเรื่องความเป็นอยู่ ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไปไหนก็มีคนรักใคร่นับถือ ครอบครัวมีความสามัคคีปรองดองกันดี ไม่มีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตและสิ่งรอบข้าง ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ และไม่ต้องการดิ้นรนหาสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ แต่คนอย่างนี้คงจะหาแทบไม่ได้
ปัญหาอย่างแรกของคนเราก็ได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับร่างกาย คนที่มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคพอเพียง ย่อมหมดปัญหาด้านร่างกาย นอกจากว่าเขาดิ้นรนแสวงหาสิ่งเหล่านี้จนเกินขอบเขตของความพอเหมาะเท่านั้น อย่างไรก็ตามการมีปัจจัยสี่เหล่านี้ครบถ้วนก็มิได้หมายความว่าชีวิตจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นปราศจากปัญหา เพราะคนเรายังมีความต้องการสิ่งอื่นๆ อีกหลายอย่าง อันเนื่องจากการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม คนที่อยู่ดีกินดีและอนามัยสมบูรณ์ ถ้าหากเขาถูกโจรผู้ร้ายรบกวนอยู่เสมอเขาก็คงมีชีวิตอยู่อย่างสงบไม่ได้ หรือหากเขาไปถึงที่ใดก็มีแต่คนเหยียดหยามไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วยก็ต้องเรียกว่า ชีวิตของเขามีปัญหา ดังนั้นนอกจากปัจจัยสี่แล้วมนุษย์ยังต้องการมีชีวิตที่สงบ มีเกียรติมีคนรักใคร่นับถือได้รับความอบอุ่นจากผู้อื่น
การที่คนคนหนึ่งมีปัจจัยสี่ครบ และมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่นในสังคมก็นับได้ว่าชีวิตของเขาดำเนินไปด้วยความราบรื่นพอควร แต่ความพอใจของคนมิได้หยุดเพียงแค่นั้นการที่เขามีปัจจัยสี่ครบและมีคนนับหน้าถือตานั้น จิตใจของเขาก็ยังอาจไม่เป็นปกติสุขก็ได้ ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้เกิดจากเงินที่เขาได้มาโดยการฉ้อโกง เขาอาจอิ่มกายและอิ่มเกียรติ แต่เขาไม่มีความอิ่มใจ แม้เกียรติที่เขาได้มานั้นเขาก็รู้ดีว่าเป็นสิ่งจอมปลอม อำนาจและเงินอาจทำให้คนอื่นทำดีกับเขาต่อหน้า แต่เขาก็ระแวงตลอดเวลาว่า ลับหลังแล้วคนเหล่านี้จะคิดไม่ดีกับเขา ชีวิตที่อยู่ด้วยความระแวงแบบนี้ก็เรียกว่ายังมีปัญหา
จริยธรรมกับการแก้ปัญหา
มนุษย์เราที่เกิดมาต่างต้องการอิ่มกาย อิ่มเกียรติ และอิ่มใจ แต่การที่จะได้มาซึ่งสิ่งทั้งสามนี้ ประการแรกสุด คนเราต้องประกอบอาชีพการงาน เพราะเป็นหนทางที่ทำให้เราได้มาซึ่งเงิน(หรือสื่อกลางอย่างอื่น) อันจะทำให้เราได้ปัจจัยสี่มาดำรงชีวิต และเราจะประกอบอาชีพได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้ความสามารถ ไม่ว่างานที่ทำเราทำจะใหญ่หรือเล็กก็ต้องการความสามารถระดับใดระดับหนึ่งเสมอ แต่คนที่มีความรู้ความสามารถอย่างเดียว หากปราศจากจริยธรรมเป็นหลักในการประพฤติตนแล้ว ความสามารถที่มีอยู่ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร อาจกลายเป็นโทษด้วยซ้ำ เช่น มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่แทนที่จะใช้ความรู้นี้ไปประกอบการงาน กลับใช้ความรู้ที่เรียนมาไปทำระเบิดขวดปาใส่ฝูงชนก็ย่อมได้รับโทษจากความรู้ความสามารถของตนเอง หรือการรู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายหลอกโกงผู้อื่นก็ดี รู้วิชาแพทย์แต่นำไปใช้ทำร้ายคนก็ดี ล้วนเป็นตัวอย่างของการมีความรู้แต่ขาดจริยธรรมทั้งสิ้น จึงทำให้ชีวิตเป็นปัญหา ดังโบราณท่านว่า “ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด”
คนที่มีความสามารถหากขาดจริยธรรมไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองเดือดร้อนเท่านั้น ยังก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้อื่นด้วย เพราะความรู้ความสามารถเป็นดาบสองคม ถ้าเจ้าของเป็นผู้มีจริยธรรมก็ก่อให้เกิดประโยชน์ ถ้าเจ้าของไร้จริยธรรม ความวิบัติชั่วร้ายที่จะเกิดขึ้นก็ยิ่งมาก
คนที่ขาดจริยธรรมจะมีปัญหาในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น หากคนคนหนึ่งมีนิสัยฉ้อโกงใจอำมหิต ขาดความจริงใจ ไม่มีความกตัญญูกตเวทีก็ย่อมเป็นการยากที่จะได้รับความอบอุ่นและการยอมรับนับถือจากผู้อื่น ใครๆก็คงไม่อยากคบค้าสมาคมกับคนประเภทนี้ ไม่เพียงแต่จะมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นเท่านั้น แม่กับครอบครัวและญาติสนิทของตนก็คงจะหาความสุขมิได้ ครอบครัวใดมีคนขาดจริยธรรมแม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายก็ไม่อาจมีชีวิตที่ราบรื่นได้
จริยธรรมจึงเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและครอบครัว เพราะจริยธรรมเป็นหลักสำหรับยึดเหนี่ยวของคนเราไม่ให้หันเหไปทำสิ่งชั่ว แต่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อไปสู่ความถูกต้องดีงามเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งมิให้เราสร้างปัญหาให้แก่ชีวิตของตนเองและครอบครัว แต่เป็นแรงจูงใจให้กระทำในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา จริยธรรมจะช่วยให้เราได้ใช้ความรู้ความสามารถเป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น จะให้กำลังใจเมื่อเราเผชิญอุปสรรค จะช่วยปลอบประโลมใจเมื่อเราสิ้นหวัง จริยธรรมเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับชีวิตตนและครอบครัว
นอกจากนี้จริยธรรมยังมีประโยชน์สำหรับสังคมด้วย คนเราไม่อาจอยู่โดดเดี่ยวได้แต่ในการอยู่ร่วมกันนั้นอาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ เพราะความต้องการและความคิดเห็นของคนเราไม่เหมือนกัน ทุกสังคมจึงมีข้อบังคับให้คนปฏิบัติ เช่น กฎหมาย ระเบียบ จารีตประเพณี เป็นต้น ผู้ที่ถูกทำผิดข้อบังคับเหล่านี้จะถูกลงโทษ เช่น ถูกจำขังหรือถูกเพื่อนร่วมสังคมเหยียดหยามข้อบังคับเหล่านี้มีส่วนช่วยให้สังคมอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบพอควร แต่ข้อบังคับนี้เป็นการบังคับคนเราจากภายนอก และโดยทั่วไปคนมักจะหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ หากมนุษย์ไม่สามารถบังคับใจตนเองแล้ว การหลีกเลี่ยงข้อบังคับจากภายนอกย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้คนบังคับใจตัวเอง แต่จริยธรรมคือหลักคำสอนที่จะอบรมให้มนุษย์รู้จักบังคับตัวเองจากภายใน คนที่มีจริยธรรมย่อมไม่หาทางหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่มีไว้ โดยเห็นว่าการทำตามกฎต่างๆก็เพื่อความสงบสุขของส่วนรวม นับว่าเขาทำความดีเพราะความดี มิใช่เพราะกลัวจะถูกลงโทษ ดังนั้นจริยธรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมทุกแห่ง
โดยสรุปแล้วจริยธรรมจะมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตดังนี้ คือ
1. จริยธรรมเป็นประโยชน์ต่อตนเอง การปฏิบัติตามหลักจริยธรรมย่อมก่อให้เกิดผลดีแก่ตนเอง ความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่ก็จะถูกนำมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ จริยธรรมบางข้อ เช่น ความมัธยัสถ์ ความรับผิดชอบ การรู้จักประมาณตน ฯลฯ เมื่อเราปฏิบัติตามแล้วย่อมทำให้ตัวเองได้รับความสำเร็จและความเจริญในชีวิต
2. จริยธรรมเป็นประโยชน์ต่อสังคม การปฏิบัติตามหลักจริยธรรม นอกจากผู้ปฏิบัติเองจะได้รับประโยชน์แล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วย หรืออย่างน้อยผู้อื่นก็ไม่เสียประโยชน์อะไร จริยธรรมทำให้ครอบครัวและสังคมอยู่ด้วยกันได้ด้วยความสงบสุข อันที่จริงประโยชน์และความสงบสุขของครอบครัวและสังคมแยกไม่ออกจากผลประโยชน์และความสงบสุขของตัวเราเอว จริยธรรมบางข้อ เช่น ความมีวินัย ความกตัญญูกตเวที การรู้จักเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น การไม่เบียดเบียน เหล่านี้ล้วนเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้คนในครอบครัวและสังคมอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข
3. จริยธรรมให้อาหารทางใจ การปฏิบัติตามจริยธรรมนอกจากจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จความสำเร็จด้านความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพการงาน และก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมแล้วยังทำให้ตัวเองอิ่มใจด้วย เช่น ความละอายต่อความชั่ว การเสียสละ ความบริสุทธิ์ใจ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้เราเป็นสุขใจ ทำให้จิตใจเป็นอิสระปราศจากความเร่าร้อน คนที่ทำความชั่วนั้นผลประโยชน์ก็ได้เพียงชั่วคราว และจิตใจก็ต้องวิตกกังวล แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองก็หาความสุขมิได้เพราะใจไม่อิสระ คนที่ปฏิบัติตามจริยธรรมเป็นประจำนานๆ เข้าก็เกิดความเคยชิน จิตใจก็สว่างและปลอดโปร่ง นี่เป็นประโยชน์ระดับสูงสุดของจริยธรรม
การศึกษาเรื่องจริยธรรมนั้น ถ้าเราได้ศึกษาจากชีวิตจริงที่กอปรด้วยจริยธรรม เราก็จะได้แบบอย่างทางใจที่จะเจริญรอยตามท่านเหล่านั้น หนังสือเล่มนี้จึงได้เสนอเรื่องจริงของบุคคลที่ดำเนินชีวิตตามแนวจริยธรรม บุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม อย่างไรก็ตามท่านทั้งหลายที่กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ต่างก็ยังเป็นปุถุชน ยังต้องมีโลภ โกรธ หลง บ้างเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องนับว่ายังน้อยกว่าคนทั่วไป
อนึ่ง ผู้ที่มีจริยธรรมนั้นยังมีอีกเป็นจำนวนมากในสังคมไทยเรา แต่ไม่อาจน้ำมาเสนอทุกคนได้ เราจึงได้เลือกผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพที่ต่างกันมาจำนวนหนึ่งให้พอเหมาะกับเนื้อที่ของหนังสือเล่มนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น