ความหมายของระบบเศรษฐกิจพอเพียง
ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง (Self Sufficiency Economic) เป็นระบบเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงดำริขึ้นมา เพื่อแสวงหาทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจให้กับสังคมไทย ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงต่างจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ในประเทศต่าง ๆ อย่างไร เราจะพบคำอธิบายได้จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังต่อไปนี้
๑. “...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ขอย้ำว่าเป็นทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผล โดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลนั้นมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดี ผลที่ออกมาคือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้นก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดี แปลว่ามีประสิทธิผล ดี แปลว่ามีประโยชน์ ดี แปลว่าทำให้มีความสุข”
๒. “...เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self Sufficiency (พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่า พอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางมาก Self Sufficiency คือ Self Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรที่มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”
๓. “...ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล...”
๔. “...พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก (คือกว้างกว่าการพึ่งตนเอง คือคำว่า ”พอ” ก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดั้งนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด- อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ- มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะเป็นของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”
๕. “ความจริงเคยพูดอยู่เสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง...”
จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ยกมาประกอบข้างต้นนั้น ทำให้เราสรุปความหมายของเศรษฐกิจแบบพอเพียงได้ว่า
เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชน เมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในการผลิตสินค้า และบริการทุกชนิดเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่าง ๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ
เศรษฐกิจแบบพอเพียงในระดับบุคล คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตนตามฐานะ ตามอัตภาพ ที่สำคัญไม่หลงไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจากระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริและพระราชทานไว้ให้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศแก่คนไทยนั้น หากวิเคราะห์โดยละเอียดก็จะพบว่า ทรงประยุกต์มาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนานั่นเอง จากพระราชดำรัสอธิบายขยายความหมายของระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทำให้เราพบว่ามีหลักธรรมต่อไปนี้ปรากฏเป็นรากฐานอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
๑. หลักธรรมเรื่องการพึ่งตนเอง (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ)
๒. หลักธรรมเรื่องความสันโดษ (สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธนํ)
๓. หลักธรรมเรื่องความรู้จักประมาณตน (มตฺตญฺญุตา)
๔. หลักธรรมเรื่องความเป็นคนที่รู้จักใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต (ธมฺมญฺญุตา,อตฺถญฺญุตา)
๕. หลักธรรมเรื่องทางสายกลาง (มชฺฌิมาปฏิปทา)
ขอบเขตของระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงนั้นไม่ได้หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่เน้นในเรื่องของการผลิตเพื่อให้พึ่งตัวเองได้ในทางปัจจัย ๔ หรือในทางทรัพยากรที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ยังกินความกว้างไปถึง “ระบบวิถีชีวิต” ของบุคคลด้วย หมายความว่า ในการดำรงชีวิตของผู้ผลิตในระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงเองก็ต้องมีธรรมะเป็นหลักในการพัฒนาชีวิตด้วย หลักธรรมที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง ก็คือ การนำเอาพุทธธรรมไปปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ทำให้สังคมไทยมีทางออกจากระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ที่นับวันมีแต่จะทำให้ประเทศชาติมุ่งไปสู่ความเสื่อมมากยิ่งขึ้นทุกที ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงนี้อาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการนำเอาหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธมาประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติจริง ๆ ก็คงไม่ผิด เพราะในระบบเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธนั้น มุ่งสอนให้คนจำกัดความต้องการของตัวเอง และบริโภคปัจจัย ๔ โดยคำนึงถึง “คุณค่าแท้” หรือคำนึงถึง “ความเหมาะสมกับอัตภาพ” ของตนเองเป็นสำคัญ
ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับพระพุทธศาสนา
กล่าวโดยสรุปได้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับพระพุทธศาสนา คือ ระบบที่เอื้อต่อกันหรือไปด้วยกันได้ เพราะ
๑. เป็นระบบเศรษฐกิจที่วางพื้นฐานอยูบนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
๒. เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งพัฒนาทั้งคนและทั้งกระบวนการทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าคนไทยปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงก็จะส่งผลให้เกิดภาวะ “เศรษฐกิจก็งอกงาม ธรรมก็งอกเงย คนก็มีความสุข”
๓. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน ไม่มุ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนกลายเป็นการทำร้ายธรรมชาติ
๔. เป็นระบบเศรษฐกิจที่ฝึกให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงศักยภาพในด้านการสามารถพึ่งตนเองได้ของมนุษย์
๕. เป็นระบบเศรษฐกิจที่นำเอาหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา (ทางสายกลาง) มาประยุกต์ใช้ในภาคสนามอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม
แนวทางการปฏิบัติตามระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง
การดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” เป็นการเข้าสู่มาตรฐาน “พออยู่ พอกิน” ตามพระราชดำริ อาจปฏิบัติตนดังนี้
๑. ประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือย ดังพระราชดำรัสว่า
“...ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง…”
๒. ประกอบอาชีพด้วยความสุจริต ดังพระราชดำรัสที่ว่า “...ความเจริญของคนทั้งหลายย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นสำคัญ...”
๓. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าขายกันอย่างรุนแรงดังอดีต ดังพระราชดำรัสว่า “...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำที่ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”
๔. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้จนถึงขั้นพอเพียง ดังพระราชดำริว่า “...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไป ก็คือ ให้เกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...”
๕. ลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัวทำลายผู้อื่น พยายามลด พยายามละความชั่วที่ตนเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้นให้งอกงามสมบูรณ์ยิ่งขึ้น...”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น