ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และเผยแพร่อย่างรุ่งโรจน์ในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ของศาสนามีความยาวนานสืบทอดมาแต่ศาสนายิว แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากศาสนายิวในช่วงของการเผยแพร่ศาสนา คือ ในสมัยที่พระเยซูออกสั่งสอนประชาชน อย่างไรก็ตามศาสนาคริสต์ยังคงยืนหยัดต่อสู่กระแสต้านของสังคมตะวันตกในสมัยนั้นมาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มีจิตใจศรัทธาพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความ เสียสละ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้พวกตะวันตกในสมัยต่อมาได้เข้าสู่กระแสศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า
ศาสนาคริสต์ได้เข้ามามีอิทธิพลในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของชาวโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกลางของยุโรป ศาสนจักรได้เข้ามามีบทบาทแทนอาณาจักรโรมันทั้งในด้านศาสนา การเมือง การปกครอง ประเพณีและวัฒนธรรม พระสันตะปาปาได้รับการยกย่องให้เป็นราชาแห่งราชาทั้งหลาย มีอำนาจเต็มที่ในการกำหนดบทบาทวิถีชีวิตของคนในสมัยนั้น ต่อมาในตอนปลายยุคกลางสืบต่อจนกระทั่งยุคแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ แม้นว่าศาสนจักรจะถูกลดบทบาททางการเมืองและการปกครอง แต่ศาสนาคริสต์ยังคงมีอิทธิพลครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรป อเมริกา และอาฟริกา ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ศาสนาคริสต์ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่ว ๆ ไปในฐานะ ที่เป็นศาสนาหนึ่ง ซึ่งมีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์กับศาสนายิวอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งสองศาสนานี้มีลักษณะเป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดมรรคาแห่งชีวิตที่ทุกคนจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง บุคคลในประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนานี้ อาทิเช่น อับราฮัม (Abraham) โยเซฟ (Joseph) โมเสส (Moses) และกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) ฯลฯ ล้วนเป็นบุคคลที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดให้เป็นไปตามแผนที่พระองค์ได้วางไว้เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ให้ถึงความรอด (Salvation) คัมภีร์ไบเบิลทั้งสองภาค พันธสัญญาจึงเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนา
ประวัติศาสตร์ศาสนายูดายของพวกยิว ทำให้เราเห็นว่า พวกเขามีความผูกพันกับ พระเจ้ามาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองเป็นชาติที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พระองค์ได้สัญญากับพวกเขา ที่จะให้ดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม พวกเขาจึงเดินทางเร่ร่อนเพื่อจะหาดินแดนที่พระเจ้าได้สัญญาไว้นี้ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานในการเดินทางของพวกยิว พวกเขาต้องประสพกับความทุกข์ยาก การกดขี่ และภัยจากสงครามของชนชาติ มหาอำนาจ ทำให้พวกเขาต่างรอคอยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าจะส่งมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์ และเป็นผู้ที่จะนำสันติสุขที่แท้จริงมาสู่พวกเขา
ศาสดาประกาศกหลายคนได้ทำนายเกี่ยวกับการมาของ พระเมสสิยาห์ ยิ่งทำให้ชาวยิวมีความหวังมากขึ้น แม้ในปัจจุบันนี้ชาวยิวในศาสนายูดายยังคง รอคอยอยู่ แต่สำหรับชาวคริสต์พระเมสสิยาห์ คือ พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) บังเกิดขึ้นมาในตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อเบธเลเฮม(Bethlehem)ในแคว้นยูดาห์ ตรงกับปีพุทธศักราช 543วันที่บังเกิดขึ้นไม่มีการบันทึกแน่นอน แต่ศาสนจักรได้กำหนดเอาวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันเริ่มคริสตศักราชที่ 1 มารดามีนามว่า มารีอา (Maria) ชาวคริสต์เชื่อกันว่า นางมารีอานั้นตั้งครรภ์ไม่เหมือนสตรีอื่น เพราะเป็นการตั้งครรภ์โดยอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นพระเยซูจึงเป็นบุตรของพระเจ้า ส่วนโยเซฟ (Joseph) นั้นเป็น บิดาเลี้ยงที่มีสายเลือดสืบมาแต่กษัตริย์ดาวิด
พระเยซูในวัยเด็กนั้นมีจิตใจที่ใฝ่ในธรรม มีความชอบใจที่จะพูดถึงเรื่องธรรมกับ นักศาสนา ครั้นมีอายุได้ 30 ปี จึงรับบัพติศมา (Baptism) หรือการรับศีลล้างบาปจากยอห์น (John) ซึ่งเป็น นักบุญในสมัยนั้น การรับศีลล้างบาปนี้กระทำที่แม่น้ำจอร์แดน ต่อมาพิธีนี้ได้กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ของชาวคริสต์ทุกคนที่จะต้องกระทำเพื่อประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน หลังจากนั้นพระเยซูได้ออกเทศนาทั่วประเทศเพื่อประกาศ "ข่าวดี" อันเป็นหนทางแห่งความรอดพ้นจากบาปไปสู่ชีวิตนิรันดร์ การประกาศศาสนาของพระเยซูนั้นไม่ใช่เพื่อล้มล้างศาสนายูดาย แต่เป็นการปฏิรูปศาสนาเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะนั้นได้มีผู้สนใจคำสอนของพระเยซู แต่ส่วนมากเป็นชนชั้นชาวบ้าน ที่ยากจนและชาวประมง พระเยซูได้คัดเลือกสาวกจากบุคคลเหล่านี้ได้ทั้งหมด 12 คน
สาวกทั้ง 12 คนนี้ ได้ติดตามรับใช้พระเยซูอย่างใกล้ชิดเพื่อเผยแพร่ศาสนา แต่กระนั้นก็ยังมีสาวกที่มีจิตใจดื้อดึง คือ ยูดาส อิสคาริออท (Judas Iscariot) ยอมทรยศเพื่อเห็นแก่เงินสินบน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคำสอนของพระเยซูมีส่วนทำให้ผู้นำศาสนา ยูดาย ขุนนางและคน ร่ำรวยบังเกิดความไม่พอใจ เพราะถูกตำหนิจึงโกรธแค้นคิดหาทางทำร้าย ด้วยการจับตัวไปขึ้นศาลของเจ้าเมืองชาวโรมัน โดยยูดายรับอาสาชี้ตัวพระเยซู เมื่อวันที่ผู้นำศาสนา ยูดายมาจับตัวพระเยซูไป สาวกทั้ง 11 คน ได้รีบหลบหนีทิ้งให้พระเยซูถูกจับไปลงโทษ โดยการตรึงกับไม้กางเขนพระเยซูถูกทรมานอย่างโหดร้ายทารุณจนถึงแก่ชีวิตในขณะที่มีอายุได้ 33 ปี เท่านั้น จึงใช้เวลาประกาศศาสนาเพียง 3 ปี
ชาวคริสต์เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเยซูได้สิ้นไป 3 วันแล้วได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยปรากฏแก่สาวกทั้ง 11 คน พวกเขาได้ทดสอบพระเยซูหลายครั้งจนมั่นใจว่าการฟื้นคืนชีพของพระเยซูนั้นไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแต่เป็นจริง ประกอบกับการเทศนาสั่งสอนย้ำให้สาวกทั้งหลายมีความเข้าใจในพระคัมภีร์ พวกเขาทั้ง 11 คน ได้กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม จึงร่วมกันอธิษฐานอย่างขะมักเขม้น นับแต่นั้นมาอัครสาวกทั้ง 11 คน และมัทธีอัส (Matthias) ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาในภายหลังรวมเป็น 12 คน ได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาอย่างมั่นคงทำให้มีผู้เข้ามาเป็นสาวกของพระเจ้ามากมาย แต่ในขณะเดียวกันการเผยแพร่ศาสนามีความลำบากเป็นอย่างมาก เพราะถูกต่อต้านอยู่เสมอจากพวกที่นับถือศาสนายูดาย
ในบรรดาสาวกของพระเยซูนักบุญเปโตร (Petro) ได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูให้เป็น หัวหน้าโดยนัยนี้ท่านจึงเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เป็นคนแรก นักบุญเปโตรได้เผยแพร่ศาสนาถึงกรุงโรม และได้เลือกกรุงโรมเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของศาสนจักร ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้นได้ถูกพวกทหารโรมันจับทรมานและประหารชีวิต ความเจริญของศาสนาคริสต์ได้มีมายาวนาน จนกระทั่งถึงยุคล่าอาณานิคมของพวกจักรวรรดิ์นิยมชาวยุโรปและอเมริกัน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ศาสนาคริสต์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ ที่นักล่าอาณานิคมเหล่านี้ไปถึง ทำให้คริสต์ศาสนิกชน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทั้งในทวีปยุโรป อาฟริกา อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยได้มีนักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ โดยเดินทางมาพร้อมกับพวกทหารและพ่อค้าของประเทศเหล่านั้น ทำให้มีคนไทยนับถือศาสนาคริสต์กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ
ในรัชสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine the Great) พระองค์ได้ตั้ง ราชธานีใหม่ในภาคตะวันออก แถบประเทศตุรกีในปัจจุบัน และได้พระราชทานนามราชธานีนี้ว่า "คอนสแตนติโนเปิล" (Constantinople) หรือโรมันตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไบแซนทีน (Byzantine) อาณาจักรนี้มีความอิสระแยกออกจากโรมันตะวันตก ซึ่งมีโรม (Rome) เป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อนานวันอาณาจักรโรมันตะวันออกมีความเข้มแข็งและเป็นอิสระในทุกด้าน จึงตีตนออกห่างและแยกการปกครองเป็นเอกเทศรวมไปถึงการปกครองทางศาสนา มีความเป็นอิสระจากกรุงโรม ไม่ยอมรับในพระราชอำนาจของพระสันตะปาปา จึงทำให้เกิดการแตกแยกออกเป็นนิกาย กล่าวคืออาณาจักรโรมันตะวันตกนั้นได้รับอิทธิพลคำสอนของปีเตอร์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนผสมกลมกลืนกับบทบาททางสังคมและการเมือง ส่วนอาณาจักรโรมันตะวันออกได้รับอิทธิพลทาง วัฒนธรรมของเอเชีย จากจุดนี้เองทำให้ศาสนาคริสต์ต้องแยกออกเป็น หลายนิกาย คือ
นิกายโรมันคาทอลิก (Roman Catholic) อาจารย์เสฐียร พันธรังษี (2527 : 347) กล่าวว่า คำว่า "คาทอลิก" นี้แปลว่า "สากล" ได้แก่ ปฏิปทาของคนทั่วไป คริสตศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก จึงไม่ถือว่าตนเองคือ นิกายหนึ่งของคริสตศาสนาแต่เป็นคริสตศาสนาที่สืบเนื่องมาจากต้นกำเนิด และถือว่าพวกตนเป็นผู้อนุรักษ์คำสั่งสอนที่ได้รับมาจากพระเยซูอย่างซื่อสัตย์ อีกทั้งเป็นผู้ปกป้องพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นิกายโรมันคาทอลิกมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่เปโตร ได้รับการสถาปนาจากพระเยซูให้เป็นผู้ดูแลพระศาสนจักร เราอาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นสันตะปาปาคนแรกที่ทุกคนต้องยอมรับนับถือและมีศรัทธาเชื่อฟังอย่างเดียวในฐานะที่เป็น "ผู้ดูแลฝูงแกะ" ของพระเจ้า ความคิดแบบนี้ได้สืบทอดกันต่อมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้ พระสันตะปาปาจึงมิได้อยู่ในฐานะนักบวชเท่านั้น แต่เป็นประมุขสูงสุดของศาสนจักรที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสั่ง นิกายโรมันคาทอลิกจึงเป็นนิกาย ที่มุ่งมั่นให้สัตบุรุษมีศรัทธา และปฏิบัติตามพระศาสนจักร เพราะพระศาสนจักรเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแห่งสวรรค์ และเป็นองค์การที่สามารถนำประชาชนไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามภาระกิจ ที่พระเจ้าได้มอบไว้
การเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย คริสต์ศาสนาได้เข้ามาในยุคจักรวรรดินิยมของชาติมหาอำนาจที่ชอบล่าเมืองขึ้น อันเป็นการแผ่ขยายดินแดนและแสวงหาทรัพยากรให้กับประเทศของตน แต่การที่ชาติมหาอำนาจจะรุกรานไทยดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยในสมัยนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองมีกองทหารที่เข้มแข็ง และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถมาก ทำให้ประเทศไทยพ้นจากความเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจ
ในบรรดานักล่าอาณานิคมรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางเข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พวกโปรตุเกส สเปน เนเธอร์แลนด์ หรือพวกดั๊ช โดยเฉพาะพวกโปรตุเกสและสเปนนั้น นอกจากจะหาเมืองขึ้นแล้วยังนำเอาคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้ฟิลิปปินส์ และมาเก๊า ฯลฯ ยอมรับ นับถือคริสต์ศาสนา ต่อมาพวกฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าอาณานิคมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เมืองขึ้น เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และได้ปฏิบัติเช่นเดียวกับพวกโปรตุเกสและสเปน คือ ล่าเมืองขึ้นด้วยและเผยแพร่ศาสนาด้วย แต่ไม่ใคร่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทำให้อิทธิพลของคริสต์ศาสนาในประเทศเหล่านี้มีน้อย ส่วนประเทศไทยนั้นแม้ได้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่ต้องใช้อิสระเสรีแก่พวกตะวันตกในการเผยแพร่ศาสนาได้ทำให้ความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลง คริสต์ศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณปี ค.ศ. 1584 นิกายแรกที่เข้ามาเผยแพร่ คือ นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีทั้งคณะโดมินิกัน (Dominican) คณะฟรันซิสกัน (Franciscan) และคณะเยซูอิต (Jesuit) บาทหลวงเหล่านี้ส่วนมากเป็นพวกโปรตุเกส เมื่อเผยแพร่ศาสนาไม่ใคร่สำเร็จจึงเอาใจใส่เฉพาะพวกของตน จวบจนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จรพระนารายณ์มหาราช ประเทศไทยได้มีสัมพันธภาพอันดีกับประเทศฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้พวกบาทหลวงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และมีบทบาทมากขึ้นจนถึงแก่ ตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรเพื่อผลิตนักบวชพื้นเมือง และมีการโปรดศีลบวชให้นักบวชไทยรุ่นแรก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาล และจัดตั้ง คณะภคิณี คณะรักไม้กางเขน
อย่างไรก็ตามเมื่อสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิกกลับไม่ได้รับความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาดังที่เคยเป็นมาเพราะถูกจำกัดขอบเขต ถูกห้ามประกาศศาสนา ถูกห้ามเขียนหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาบาลี ประกอบกับเมื่อพม่าเข้ามารุกรานประเทศไทย บาทหลวงถูกย่ำยี โบสถ์ถูกทำลาย พวกสอนศาสนาทั้งหลายจึงรีบหนีออกนอกประเทศ ในสมัยนี้คนไทยกำลังเผชิญชะตากรรมกับพวกพม่า จนในที่สุดพระเจ้าตากสินมหาราชได้กู้เอกราช ประเทศชาติกำลังอยู่ในภาวะสร้างเมือง การเผยแพร่ศาสนาไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เมื่อเปลี่ยนเป็นราชวงศ์จักรีแล้ว พวกคริสต์ได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ให้อิสระในการนับถือศาสนาและทรงประเทศพระราชกฤษฎีกาให้ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้นว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไม่ดีนัก แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงรับรองมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นนิติบุคคล ในรัชสมัยนี้ได้เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญขึ้นในปี ค.ศ.1877 และได้รับพระราชทาน เงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน ต่อมาก็มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง คือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ และมีโรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
นิกายออร์ธอด็อกซ์ (Orthodox) ความเป็นมาสืบย้อนได้ถึงศตวรรษแรกในคริสต์ศาสนา อันเป็นช่วงระยะเวลาที่จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกเป็นสองอาณาจักร คือ โรมันตะวันตกมีศูนย์กลางที่กรุงโรม (Rome)ใช้ภาษาละตินเป็นภาษากลาง ส่วนโรมันตะวันออกซึ่งนิยมเรียกกันว่า ไบแซนทีน (Byzantine) มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) มีสหมิตรที่เป็นแนวร่วมเดียวกัน คือ เมืองอาเล็กซานเดรีย (Alexandria) อันติอ็อค (Antioch) และเยรูซาเล็ม (Jerusalem) ใช้ภาษากรีกเป็นภาษากลางสื่อสาร
แม้นว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยทั่วไปเป็นของพวกเตอร์ก แต่ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์ยังคงมีอยู่บ้าง ส่วนมากแพร่หลายในแถบยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ทำให้เกิดนิกายออร์ธอด็อกซ์แบบสลาฟ (Slavic Orthodox) และนิกายออร์ธอด็อกซ์แบบรัสเซีย (Russia Orthodox) ซึ่งแต่เดิมมาทั้งหมดนี้เคยเป็นแบบนิกายกรีก ออร์ธอด็อกซ์ (Greek Orthodox) โดยเฉพาะที่รัสเซียนั้น ศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากอาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรโรมันแห่งที่สาม มีศูนย์กลางที่มอสโคว์ (Moscow) อย่างไรก็ตาม พอสิ้นสุดระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เข้าสู่ยุคการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ความรุ่งเรืองของศาสนาได้ลดลงไปแต่ยังไม่ถึงกับศูนย์สลาย
ปัจจุบันนี้ นิกายออร์ธอด็อกซ์มีอิสระภาพในด้านความเชื่อและการปกครองของตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นต่อสำนักวาติกันของโรม มีปาตริอาร์ค เป็นประมุข แต่ก็มีออร์ธอด็อกซ์บางกลุ่มที่ยังขึ้นต่อสำนักวาติกันเรียกว่า ออร์ธอด็อกซ์คาธอลิค พวกนี้มีพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นแบบตะวันออกแต่ระบบการปกครองอยู่ภายใต้การชี้นำของสำนักวาติกัน ประเทศที่นับถือนิกาย ออร์ธอด็อกซ์ส่วนมากเป็นพวกยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย ฮังการี โปแลนด์ ยูโกสลาเวีย รัสเซีย ฯลฯ
สรุปได้ว่า นิกายออร์ธอด็อกซ์เป็นนิกายแรก ที่แยกตัวออกมาเป็นอิสระจากสำนัก วาติกันในกรุงโรม โดยมีสาเหตุใหญ่ที่สุดคือ การปฏิเสธในอำนาจของพระสันตะปาปา ประกอบกับ มีพื้นภูมิประเทศที่ห่างไกลจากอำนาจของโรมันตะวันตก จึงเป็นการง่ายที่จะตั้งตนเป็นอิสระ และปฏิบัติพิธีกรรมความเชื่อไปตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนผสมผสมผสานกับความเชื่อในคริสตศาสนา ดังนั้นนิกายออร์ธอด็อกซ์จึงมีลักษณะที่ค่อนข้างแปลกแยกจากพวกคาทอลิคและพวกโปรเตสแตนด์
อย่างไรก็ตาม ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์นี้มีศรัทธาที่เหนียวแน่นในศาสนามาก เราจะเห็นได้ว่า แม้นประเทศทางแถบยุโรปตะวันออกหลายประเทศ ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์และประชาชนประเทศตุรกีเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ผู้นับถือนิกายออร์ธอด็อกซ์หลายคนยังคงมีศรัทธาที่เหนียวแน่นและปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ไม่ถูกหลอมเหลาได้ง่ายจาก สภาพแวดล้อมจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังคงมีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ในบริเวณ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่น่าจะถูกทำลายจนหมดสิ้นโดยผู้รุกราน
นิกายโปรเตสแตนด์ (Protestantism) นิกายนี้มีกำเนิดมาจากความคิดเห็นที่แตกแยกกันในเรื่องความเชื่อและชีวิต คริสตชน โดยเรียกพวกที่ไม่ใช่คาทอลิค หรือออร์ธอด็อกซ์ว่า "โปรเตสแตนด์" (Protestant) ซึ่งแปลว่า "ประท้วง" อาจารย์เสรี พงศ์พิศ (2531 : 71-74) ได้กล่าวถึงนิกายนี้ว่า เป็นกลุ่มที่แยกตัวออกมาจากพระศาสนจักร คาทอลิคประมาณศตวรรษที่ 14-15 โดยเริ่มจากกลุ่มใหญ่ที่มีการเคลื่อนไหวอย่าง ต่อเนื่อง กลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อนิกายเล็ก ๆ ในภายหลัง กลุ่มที่เป็นตัวเคลื่อนไหวนี้มี 3 กลุ่ม คือ
  • นิกายลูเธอรัน (Luthheran)
    ผู้นำคนสำคัญ คือ มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1483 - 1546 เกิดที่แซกซอนมี (Saxony) ประเทศเยอรมันได้รับการศึกษาสูงจนจบปริญญาเอกและได้ศึกษาเทวศาสตร์เกิดสถาบันต่าง ๆ จากนั้นได้เข้าสู่ชีวิตนักบวชและแสวงบุญที่กรุงโรมทำให้เห็นสภาพต่าง ๆ ในศาสนจักร ต่อมาท่านได้ตีความพระคัมภีร์ไบเบิล และวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาศาสนาของยุคกลาง ความคิดเลยต่อเนื่องมาวิจารณ์พระศาสนจักรซึ่งในขณะนั้นมีการขายใบบุญกันมาก ความคิดของมาร์ติน ลูเธอร์ ได้รับการสนับสนุนจากมหาชนเยอรมันเป็นจำนวนมาก แล้วแพร่หลายออกไปทั่วยุโรป ทำให้พระสันตะปาปาไม่พอพระทัย มาร์ติน ลูเธอร์ รับหมายขับออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร (excommunication) ในปี ค.ศ. 1521 ตรงจุดนี้ได้นำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายใหม่ในเวลาต่อมา ชีวิตของลูเธอร์ในระยะนี้ต้องหลบลี้ตลอดเวลา แต่ก็ทำให้ท่านมีเวลาแปลพันธสัญญาใหม่เป็นภาษาเยอรมัน และได้เขียนเกี่ยวกับพิธีกรรมรวมทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์เป็นภาษาเยอรมัน เพื่อให้ชาวบ้านและคนทั่วไปสามารถเข้าใจหลักคำสอนและพิธีกรรม ซึ่งแต่เดิมมาเขียนเป็นภาษาละติน จึงยากแก่การสื่อความหมายให้เข้าถึงได้ จึงรู้ได้เฉพาะปัญญาชน นักบวชและ นักศาสนาเท่านั้น ผลงานของลูเธอร์นี้ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือละตินได้มีโอกาสเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาได้ด้วยตนเอง ซึ่งตรงกับจุดประสงค์ของลูเธอร์ที่ต้องการให้บุคคลสามารถ รับผิดชอบในความเชื่อของตน โดยไม่ต้องอาศัยบุคคลที่ 3 เช่น พระหรือนักบวช กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในศาสนาเป็นเพียงสิ่งเปลือกนอกที่ไม่สำคัญเท่ากับการที่บุคคลนั้นได้เผชิญหน้าต่อพระพักตร์พระเจ้าด้วยตนเอง นิกายนี้จึงได้ตัดประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนศีลศักดิ์สิทธิ์บางเรื่องออกไปเหลือแต่ศีลล้างบาปและศีลมหาสนิท และสนับสนุนให้บุคคลเอาใจใส่ต่อพระคัมภีร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระวจนะของพระเจ้า ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความรอดส่วนบุคคลภายในโบสถ์ของโปรเตสแตนต์จึงไม่มีรูปเคารพและศิลปกรรมที่ตกแต่งดังเช่นโบสถ์คาทอลิค บนแท่นบูชามีเพียงพระคัมภีร์เท่านั้นที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เป็นเพียงเปลือกนอกที่มาจากตัณหาของมนุษย์ และทำให้เราเกิดความยึดถือยึดติดไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้
  • กลุ่มคริสตจักรฟื้นฟู (Reformed Christianity)
    ผู้นำคนสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวมากได้แก่ สวิงลี (Ulrich Zwingli) และคาลวิน
    อูลริช สวิงลี (Ulrich Zwingli)
    เกิดที่สวิสเซอร์แลนด์ มีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1848 - 1531 ได้รับแนวความคิดจากลูเธอร์ และปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) อูลริชไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าพิธีล้างบาป และพิธีศีลมหาสนิท เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อภายนอก เท่านั้น หาใช่ความเชื่อในพระเจ้าอย่างแท้จริง เพราะพิธีล้างบาปก็คือการปฏิญาณตน และพิธีศีล มหาสนิทหรือมิสซาก็คือการระลึกถึงวันเลี้ยงมื้อสุดท้ายของพระเยซูเท่านั้น พิธีเหล่านี้ไม่ใช่พิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวของมันเองดังที่เชื่อกันในสมัยนั้น จนทำให้คนส่วนมากละเลยที่จะศึกษา พระวจนะ เขาได้ปรับพิธีกรรมให้เรียบง่าย และเน้นที่แก่นแท้ของคำสอน
    นิกายคาลวิน (Calvinism)
    ผู้ริเริ่มและบุกเบิกนิกายนี้ คือ จอห์น คาลวิน (John Calvin) หรือคาลแวงเป็นชาวฝรั่งเศส ได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยปารีส ต่อมาได้สนใจ แนวคิดทางศาสนาของลูเธอร์และสวิงลี จึงได้รับคำสอนเหล่านั้นมาปรับปรุง คำสอนของเขาแพร่หลายเข้าไปถึงประเทศอังกฤษ ซึ่งเรียกว่า เปรสไบทีเรียน (Presbyterian) คาลวินมีอิทธิพลในกรุงเจนีวา เขาถูกเชิญไปที่นั่นหลายครั้งจนกระทั่งได้อาศัยอยู่ที่เจนีวา จนสิ้นใจในปี ค.ศ. 1564 ผลงานที่สำคัญ คือ หนังสือศาสนาที่ต่อมาได้กลายเป็นหลักเทวศาสตร์ของโปรเตสแตนต์ ชื่อ "สถาบันทางศาสนาคริสต์" (The Institutes of the Christian Religion) แต่เดิมเขียนเป็นภาษาละตินแต่ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสในเวลาต่อมา และถูกพิมพ์ถึง4 ครั้ง ในช่วงที่คาลวินมีชีวิตอยู่ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้เราสามารถเข้าใจศรัทธาของชาวคริสต์ คำสอนของนักบุญออกัสติน (St.Augustin) อีกทั้งทำให้เราเข้าใจอำนาจของพระเจ้า เข้าใจในเรื่องบาปกำเนิด และชะตาที่ถูกลิขิตโดยพระเจ้า นอกจากนี้คาลวินได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเจนีวา และทำให้กรุงเจนีวาเป็นศูนย์นัดพบของชาวโปรเตสแตนต์ทั่วยุโรป
นิกายเชิร์ช ออฟ อิงแลนด์ (Church of England) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แองกลิคัน" (Anglicanism) มีกำเนิดในประเทศอังกฤษ โดยมีสาเหตุมาจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ต้องการให้พระสันตะปาปาที่กรุงโรมอนุญาตให้หย่าร้าง และอภิเษกสมรสใหม่ แต่ได้รับการปฏิเสธจากพระสันตะปาปา จึงไม่พอพระทัยประกาศตั้งนิกายใหม่ที่เรียกว่า เชิร์ช ออฟอิงแลนด์ (Church of England) ไม่ขึ้นต่อกรุงโรม และทรงแต่งตั้ง โธมัส แคลนเมอร์ (Thomas Cranmer) เป็นอาร์คบิชอป (Archbishop) แห่งแคนเทอเบอรี่ (Canterbury)
นิกายต่าง ๆ ในโปรเตสแตนด์ กลุ่มฟื้นฟูศาสนาตามที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ทั้ง 3 กลุ่ม ได้ทำได้เกิดนิกายเล็ก ๆ ต่อมา ซึ่งล้วนแต่รับโครงสร้างของโปรเตสแตนต์ ในที่นี้จะกล่าวถึงบางกลุ่มและบางนิกายเท่านั้น คือ
  • นิกายเพรสไบทีเรียน (Presbyterian)
    เป็นกลุ่มที่ต้องการจัดระบบการปกครองของพระเจ้าให้เป็นระเบียบแบบแผนและให้คงที่ตามหลักของลูเธอร์ โดยมีบิชอปเป็นประธาน ความเชื่อของนิกายนี้มุ่งเน้นศรัทธา เพราะถือว่าพรของพระเจ้าสามารถปลดเปลื้องทุกข์ของมนุษย์ได้ ไม่ใช่พระ พระเป็นเพียงผู้ทำพิธีกรรมเท่านั้น
  • นิกายเมธอดิสต์ (Methodism)
    เกิดขึ้นโดยจอห์น เวสลีย์ (John Wesley : ค.ศ. 1703 - 1791) เป็นชาวอังกฤษที่มีจุดประสงค์ต้องการให้ผู้นับถือพระเจ้ามีอิสระภาพมากขึ้น สามารถปฏิบัติศาสนาไปตามหลักของเหตุผลให้เหมาะแก่ชีวิตของตน
  • นิกายเซเวนเดย์ แอดเวนติสต์ (Seven Day Adventists)
    เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของกลุ่มแอดแวนติสต์ นิกายนี้เน้นวันสุดท้ายของโลก และการเสด็จมาของพระคริสต์ในวันพิพากษาโลกเพื่อทำนี้บริสุทธิ์อีกครั้งสมาชิกผู้นับถือมีทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศไทยนั้น นิกายนี้ได้ส่งศาสนฑูตเข้ามาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1918 ศาสนทูตหลายท่านมีส่วนสร้างความเจริญให้แก่ประเทศไทย เช่น ตั้งโรงเรียน ตั้งสุขศาลา และโรงพยาบาล โรงพยาบาลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ โรงพยาบาลมิชชัน ที่สะพานขาว เมื่องานพยาบาลเจริญก้าวหน้าถึงกับต้องขยายเปิดโรงเรียนพยาบาล
  • นิกายเควกเกอร์ (Quaker)
    หรือสมาคมมิตรภาพ (Society of Friends) เป็นนิกายที่เกิดในอังกฤษ โดยยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox : 1624 - 1691) แต่แพร่หลายในอเมริกาโดย วิลเลี่ยม เพน (William Penn : 1644-1718) โดยเฉพาะในรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เป็นดินแดนแห่งแรกที่เพน ได้มาตั้งรกรากและทำการเผยแพร่ศาสนา นิกายนี้ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม จึงเน้นประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงพระเจ้าโดยใช้แสงสว่างที่เกิดขึ้นภายใน (inner light)
  • นิกายพยานพระยะโฮวา (Jehovah's Witnesses)
    นิกายนี้เกิดจากการรวมกลุ่มของพวกโปรแตนแตนต์ที่ต้องการปฏิรูปคำสอนให้เป็นไปในแบบเดิม โดยเฉพาะแบบอย่างในการนมัสการพระเจ้า คือ พระยะโฮวา ทั้งนี้เพราะพวกโปรเตสแตนต์ส่วนมากได้แตกกลุ่มออกไปเป็นหลายพวก เพราะความสับสนในคำสอน และความไม่ชัดแจ้งของหลักคำสอน ชาร์ล รัสเซลล์ (Charles Russell)ซึ่งเป็นชาวอเมริกันได้ริเริ่มตั้งนิกายนี้ขึ้นมาโดยเริ่มแรกมีการรวมกลุ่มกันที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย และขยายตัวออกไปทั่ว มีผู้สนใจกันมากโดยเฉพาะชนชั้นกรรมกรและคนชั้นกลางถึงกับมีการตั้งสมาคมเผยแผ่ลัทธิที่เรียกว่า "หอสังเกตการณ์" (Watch Tower) และมีการพิมพ์หนังสือออกเผยแพร่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
  • นิกายมอร์มอน (Mormonism)
    หรือศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (The Church of Jesus Christ of Latter-Day Saints) ผู้ก่อตั้งคือ โจเซฟ สมิธ (Joseph Smith) ผู้เติบโตท่ามกลางบรรยากาศทางศาสนาแบบกลุ่มฟื้นฟูชีวิต (Revivalists) ในนิวยอร์ค (New York) หลักคำสอนของศาสนาเหมือนคำสอนทั่ว ๆ ไปของศาสนาคริสต์ เพียงแต่เพิ่มความเชื่อในคัมภีร์มอร์มอน (Book of Mormon) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับมาจากมอร์มอน และเชื่อกันว่าคัมภีร์นี้เป็นพระวจนะของพระเจ้าเดิมจารึกในภาษาโบราณ
การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย
คณะเผยแพร่ของนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้เข้ามาประเทศไทย ได้แก่ พวกมิชชันนารี 2 คน คือ ศาสนาจารย์ของเนเธอร์แลนด์ มิชชันนารี (Netherland Missionary Society) คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ เอ็ม.ดี (Rev. Carl Frildrich Augustus Gutzlaff) ชาวเยอรมัน และศาสนาจารย์ จาคอบทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษมาจากลอนดอน มิชชันนารี (London Missionary Society) มาถึงประเทศไทย วันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1828 ทั้งสองท่านได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาด้วยความเข้มแข็ง ต่อมาได้มีศาสนาจารย์ท่านอื่น ๆ ซึ่งเป็นพวกอเมริกันบอร์ดได้เข้ามาเผยแพร่อีก ในบรรดานักเผยแพร่ศาสนานั้น ผู้เริ่มต้นสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานที่สุดระหว่างคนไทยกับศาสนาคริสต์ คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม.ดี (Rev. Dan Beach Bradley, M.D.) ซึ่งเป็นเพรสไบทีเรียนในคณะอเมริกันบอร์ด (The American Board of Commissioners for Fcreign Missions) หรือ A.B.C.F.M ท่านได้เข้ามากรุงเทพฯ พร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1835 ตลอดเวลาที่ท่านอาศัยอยู่ในเมืองไทยนั้นท่านได้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในการรักษาพยาบาลคนไข้ไทย และคนจีนที่ป่วยด้วยโรคไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค การผ่าตัดช่วยชีวิตผู้คนในสมัยนั้น จากการระเบิดของปืนใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดครั้งแรกในไทยที่ประสพผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม การทดลองปลูกฝีดาษในประเทศไทยซึ่งประสพผลสำเร็จมากทำให้คนไทยรอดตายจากโรคนี้หลายคน นอกจากนี้ยังริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์และจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่นเป็นเรื่องแรก โดยพิมพ์ทั้งหมด 9,000 ฉบับ จากนั้นได้จัดพิมพ์หนังสือชื่อ "บางกอกกาลันเดอร์" ซึ่งเป็นบันทึกรายวันที่ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวรรณคดีไทยที่ปรากฏเป็นเล่ม (McFarland. 1928 : 10 - 26)
นอกจากพวกสมาคมอเมริกันมิชชันนารีจะนำความเจริญมาให้ประเทศไทยควบคู่ไปกับการเผยแพร่ศาสนาแล้ว ยังมีนักเผยแพร่ศาสนากลุ่มอื่น ๆ อีก เช่น กลุ่มอเมริกันแบพติสมิชชัน (The American Baptist Mission) ซึ่งเป็นพวกที่สร้างคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ประมาณกลางปี ค.ศ. 1837 และได้จัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งออก หนังสือพิมพ์ "สยามสมัย" (McFarland.1928 : 27-34)
กลุ่มเพรสไบทีเรียนอเมริกัน (The American Presbyterian Board) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สร้างความเจริญให้กับประเทศไทยไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ดร.เฮ้าส์ (Samuel R.House) ซึ่งเป็นแพทย์ผ่าตัดคนแรกในประเทศไทยที่ใช้อีเทอร์เป็นยาสลบ และเป็นแพทย์ผู้ช่วยชีวิตคนไทยจากโรคอหิวาต์ นายและนางแมตตูน (Rev. and Mrs. Stephen Mattoon) เป็นผู้ที่มีความสำคัญอีกเช่นกัน เพราะเป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งต่อมาโรงเรียนนี้ได้ร่วมกับโรงเรียนประจำของมิชชัน และได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน
พระเจ้าในศาสนาคริสต์
พระเยโฮวาห์ พระยาเวห์ หรือพระยะโฮวา เป็นพระนามของพระเจ้าองค์สูงสุดที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคภาษาฮีบรูหรือที่พระศาสนจักรเรียกว่าพันธสัญญาเดิม ในพระคัมภีร์ฉบับแปลในภาษาไทยเล่มเก่านั้นปรากฏพระนามนี้อยู่มากทีเดียว ในคัมภีร์ดั้งเดิมเขียนด้วยอักษร 4 ตัวแต่เนื่องจากอักษร 4ตัว (ยฮวฮ.) นั้นผู้เขียนไม่ได้ใส่สระไว้ทำให้การออกเสียงที่ถูกต้องจึงถูกถ่ายทอดต่อกันมาโดยการพูด พระคัมภีร์ดังเดิมหรือต้นฉบับนั้นมีปรากฏพระนามนี้หลายพันครั้งหรือแม้แต่ในฉบับภาษาไทยเล่มเก่าๆยังปรากฏพระนามนี้อยู่ การแปลในยุคต่อๆมาได้ตัดพระนามนี้ทิ้งแล้วเปลี่ยนเป็นคำพระเจ้าแทนถ้ายังมีปรากฏอยู่บ้างจะสะกดว่าพระยาเวห์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Yaweh ยาเวห์ คือพระนามของพระเจ้าองค์สูงสุดซึ่งปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล แต่ถึงอย่างไรก็ตามในต้นฉบับดั้งเดิมนั้นปรากฏพระนามนี้ประมาณ 7 พันครั้ง* ความหมาย : ในภาษาฮีบรู ยาเวห์ แปลว่า ผู้ทรงบันดาลให้เป็น ซึ่งก็คือ พระองค์ทรงฤทธิ์ที่จะเป็นอะไรก็ได้ตามพระประสงค์ของพระองค์
  • ความเป็นลักษณะ : พระองค์มีคุณลักษณะที่เด่นหลายประการ เช่น ความรัก,อำนาจ,ยุติธรรม,สติปัญญา ฯลฯ
  • ราชกิจของพระเจ้า : ตามบันทึกในพระคัมภีร์ ไบเบิล ในหนังสือปฐมกาล
    - 1:1 กล่าวว่า เมื่อเดิม พระเจ้าได้ทรงเนรมิตสร้างฟ้าและดิน
    - ข้อ 11 กล่าวว่า ได้ทรงให้มีต้นไม้เกิดผลต่าง ฯ เกิดขึ้น
    - ข้อ 16 พระองค์สร้างดวงสว่างไว้ 2 ดวง ดวงใหญ่รักษาวัน ดวงเล็กรักษาคืน
    - ข้อ 20 ทรงสร้างฝูงสัตว์ให้มีอยู่ในน้ำ
    - ข้อ 24 ทรงสร้างฝูงสัตว์ให้เกิดขึ้นที่แผ่นดิน
    - ข้อ 27 ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นให้เป็นชายและหญิง
    - บท 2:8 พระองค์ได้ทรงสร้างสวนเอเดนให้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์คู่แรก คืออาดัมและเอวา
ศาสดาในศาสนาคริสต์
พระเยซู พระเยซู (Jesus) หรือ เยซูแห่งนาซาเรธ (อังกฤษ: Jesus of Nazareth; 4 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ. 30) เป็นชาวยิวซึ่งเป็นศาสดาของคริสต์ศาสนา ชาวคริสต์เรียกเยซูแห่งนาซาเร็ธว่า พระเยซูคริสต์ และถือว่าพระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอด เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเจ้าเอง และเป็นหนึ่งในพระตรีเอกานุภาพ คำว่า "เยซู" มาจากคำในภาษากรีกคือ "อิเอซูส" Ιησους [Iēsoûs] ซึ่งมาจากการถ่ายอักษรชื่อ Yeshua [เยชูวา] ในภาษาอาราเมกหรือฮีบรูอีกทอดหนึ่ง คริสตชนอาหรับเรียกเยซูว่า "ยาซูอฺ" ตามภาษาซีเรียค ส่วนชาวอาหรับมุสลิมเรียกว่า "อีซา" ตามอัลกุรอาน ความหมายคือ "ผู้ช่วยให้รอด" เป็นชื่อที่ใช้กันมากในหมู่ชาวยิวตั้งแต่สมัยโยชูวาเป็นต้นมา ภาษาละตินแผลงเป็นเยซูส ภาษาโปรตุเกสแผลงต่อเป็นเยซู ภาษาไทยทับศัพท์ภาษาโปรตุเกสมาจนทุกวันนี้ ส่วนคำว่า "คริสต์" เป็นสมญาซึ่งมาจากคำในภาษากรีกว่า "คริสตอส" Χριστός [Christos] ซึ่งเป็นคำแปลของคำภาษาฮีบรู Messiah อันหมายถึง "ผู้ได้รับการเจิม" ชาวอาหรับเรียกว่า "มะซีฮฺ" ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่สูงส่ง เช่น กษัตริย์มหาปุโรหิต ศาสดาประกาศก เป็นต้น เมื่ออาณาจักรยูดาห์เสียแก่บาบิโลน ก็สิ้นกษัตริย์ที่ได้รับการเจิม ต่อจากนั้น ชาวยิวก็โหยหาพระเมสสิยาห์ที่จะมาสร้างอาณาจักรใหม่ของพระเจ้า "คริสต์" จึงเป็นชื่อตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อตัว ผู้นิพนธ์พระวรสารชอบเรียกพระผู้ไถ่ว่า "เยซู" และเพื่อให้แตกต่างจากคนอื่นๆที่ชื่อเหมือนกัน ก็เรียกเป็น "เยซูชาวนาซาเร็ธ" หรือ "เยซูบุตรของโยเซฟ" แต่นักบุญเปาโลหรืออัครทูตเปาโลชอบเรียกว่า "พระคริสต์" หรือ "พระเยซูคริสต์" ที่เรียกว่า "พระคริสต์เยซู" ก็มีบ้าง
ประวัติของพระเยซู ประสูติเมื่อ 4 ปีก่อนคริสตกาล ในเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี หญิงพรหมจารีคนหนึ่งชื่อมารีย์ ได้หมั้นหมายไว้แล้วกับชายคนหนึ่งชื่อโยเซฟ ก่อนที่จะได้อยู่กินด้วยกัน ได้มีทูตสวรรค์กาเบรียลเข้าบ้านมาหามารีย์แล้วว่า “ดูเถิด เธอจะตั้งครรภ์และคลอดบุตรชาย จงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซู” ฝ่ายโยเซฟเมื่อทราบว่ามารีย์ตั้งครรภ์แล้ว ก็ไม่คิดจะแพร่งพรายเรื่องนี้ จึงคิดจะถอนหมั้นอย่างลับๆ แต่มีทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “โยเซฟบุตรดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของเจ้าเลย เพราะว่าผู้ซึ่งปฏิสนธิ์ในครรภ์ของเธอเป็นโดยเดชพระวิญญาณบริสุทธิ์” โยเซฟจึงทำตามคำนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่มิได้สมสู่กับเธอ
ขณะที่มารีย์กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น มหาจักรพรรดิซีซาร์ ออกัสตัส ได้มีรับสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน คนทั้งปวงต่างต้องเดินทางกลับไปขึ้นทะเบียนยังเมืองของตน โยเซฟกับมารีย์จึงต้องเดินทางจากเมืองนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลีไปยังเมืองของดาวิดเมืองหนึ่งชื่อเบธเลเฮม ในแคว้นยูเดีย เพราะโยเซฟเป็นเชื้อสายของดาวิด เมื่อเขาทั้งสองอยู่ที่นั่น ก็ถึงเวลาที่มารีย์ประสูติ “นางจึงประสูติบุตรชายหัวปี เอาผ้าอ้อมพันและวางไว้ในรางหญ้า เพราะว่าไม่มีที่ว่างให้เขาในโรงแรม”
ต่อมามีทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันแล้วบอกว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดาหนีไปประเทศอียิปต์ และคอยอยู่ที่นั่นจนกว่าเราจะบอกเจ้า เพราะว่าเฮโรดจะแสวงหากุมาร เพื่อจะประหารชีวิตเสีย” โยเซฟจึงพากุมารและมารดาหนีไปยังประเทศอียิปต์ เนื่องจากกษัตริย์เฮโรดทราบว่าได้มีกุมารผู้ที่บังเกิดมาเพื่อจะเป็นกษัตริย์ของชนชาติยิว และทราบจากบรรดามหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ว่า กุมารนั้นอยู่ที่เบธเลเฮม จึงใช้ให้คนไปฆ่าเด็กผู้ชายทั้งหลายในบริเวณนั้นที่มีอายุตั้งแต่สองขวบลงมา ครั้นเฮโรดสิ้นพระชนม์แล้ว ทูตองค์หนึ่งปรากฏแก่โยเซฟในความฝันว่า “จงลุกขึ้นพากุมารกับมารดามายังแผ่นดินอิสราเอล เพราะผู้ที่เป็นภัยต่อชีวิตของกุมารนั้นตายแล้ว” โยเซฟจึงพากุมารกับมารดากลับมาอยู่เมืองนาซาเร็ธ
เรื่องราวในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ ที่บันทึกเกี่ยวกับชีวิตของพระเยซูเจ้าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่อายุ 12 ปีจนถึงตอนที่รับพิธีบัพติสมาในน้ำที่แม่น้ำจอร์แดนไม่ได้ถูกบันทึกไว้มากนัก ชาวคริสต์เรียกช่วงเวลานี้ว่า พระชนม์ชีพเร้นลับของพระเยซูเจ้า แต่เรื่องราวของพระเยซูตั้งแต่รับบัพติสมาจนสิ้นพระชนม์ที่กางเขน แล้วกลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพอีกครั้งถูกบันทึกไว้อย่างละเอียด เมื่อพระเยซูอายุได้ 30 ปี ก็ทรงรับพิธีบัพติสมาในน้ำจากนักบุญยอห์น บัพติสโตที่แม่น้ำจอร์แดน “ครั้นพระองค์ทรงรับพิธีบัพติสมาในน้ำแล้วในทันใดนั้นก็เสด็จขึ้นจากน้ำ และท้องฟ้าก็แหวกออก และพระองค์ได้ทรงเห็นพระวิญญาณของพระเจ้าดุจนกพิราบ ลงมาสถิตอยู่บนพระองค์” หลังจากนั้นพระเยซูเสด็จไปในถิ่นทุรกันดาร เป็นเวลาถึงสี่สิบวันสี่สิบคืนโดยไม่ได้เสวยอะไรเลย แต่กลับมีมารมาผจญพระองค์โดยการล่อลวงต่างๆนาๆ เพื่อหวังให้พระเยซูกราบลงนมัสการมาร แต่พระเยซูได้ตอบโต้มารด้วยพระธรรมจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม จนมารเห็นว่ามิอาจล่อลวงพระองค์ได้จึงละพระองค์ไป
พระองค์ทรงเริ่มพระราชกิจจานุกิจโดยออกสั่งสอนชนทั้งปวงให้กลับใจจากความบาป แล้วเดินตามทางของพระเจ้าอย่างแท้จริง อย่าแสร้งทำเป็นนับถือพระเจ้าแต่ปาก “ประชาชนนี้ให้เกียรติเราแต่ปาก ใจของเขาห่างไกลจากเรา” ทรงสอนมิให้ทำตนเป็นเหมือนพวกหน้าซื่อใจคด “เหตุฉะนั้น ทุกสิ่งซึ่งเขาสั่งสอนพวกท่าน จงถือประพฤติตาม เว้นแต่การประพฤติของเขาอย่าได้ทำตามเลย เพราะเขาเป็นแต่ผู้สั่งสอน แต่เขาเองหาทำตามไม่” พระองค์ยังตรัสพระธรรมคำสั่งสอนและทรงพระราชกิจไว้อีกมากมาย ซึ่งถูกบันทึกไว้ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือ 4 เล่มแรก ได้แก่ มัทธิว, มาระโก, ลูกา, และยอห์น
ในการทรงพระราชกิจของพระเยซูนั้น พระองค์ได้ทรงเรียกบุคคลต่างๆเข้ามาเป็นสาวก เพื่อสั่งสอนและมีส่วนช่วยพระองค์อีก 12 คน ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่าอัครทูต ได้แก่ ซีโมน (ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า เปโตร), อันดรูว์ (น้องชายของซีโมน), ยากอบบุตรเศเบดี, ยอห์น (น้องชายของยากอบ), ฟีลิป, บารโธโลมิว, โธมัส, มัทธิว, ยากอบบุตรอัลเฟอัส, เลบเบอัส (ที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ธัดเดอัส), ซีโมนพรรคชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท (ผู้ที่อายัดพระเยซู)
ผลของการที่พระเยซูออกประกาศ, สั่งสอน, รักษาโรค และทำการต่างๆมากมาย ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากติดตามพระองค์ไป “กิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทั่วประเทศซีเรีย เขาจึงพาคนป่วยเป็นโรคต่างๆ คนที่ทนทุกข์เวทนา คนผีเข้า คนเป็นลมบ้าหมูและคนเป็นอัมพาตมาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงรักษาเขาให้หาย และมีคนหมู่ใหญ่มาจากแคว้นกาลิลี และแคว้นทศบุรีและกรุงเยรูซาเล็ม และแคว้นยูเดีย และแม่น้ำจอร์แดนฟากตะวันออกติดตามพระองค์ไป” “ครั้นพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้ว ก็ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ พระองค์ทรงสงสารเขา จึงได้ทรงรักษาคนป่วยของเขาให้หาย” “และประชาชนเป็นอันมากมาเฝ้าพระองค์ พาคนง่อย คนแขนขาพิการ คนตาบอด คนใบ้ และคนเจ็บอื่นๆหลายคน มาวางแทบพระบาทของพระเยซู แล้วพระองค์ทรงรักษาเขาให้หาย” ในทางตรงกันข้ามคำสั่งสอนของพระองค์ต่อว่าพวกฟาริสีและพวกธรรมาจารย์โดยตรง “เขาชอบที่อันมีเกียรติในการเลี้ยงและในธรรมศาลา กับชอบรับการคำนับที่กลางตลาด และชอบให้เขาเรียกว่า ‘ท่านอาจารย์’” “วิบัติแก่เจ้า คนนำทางตาบอด เจ้าสอนว่า ‘ผู้ใดจะสาบานอ้างพระวิหาร คำสาบานนั้นไม่ผูกมัด แต่ผู้ใดจะสาบานอ้างทองคำของพระวิหาร ผู้นั้นจะต้องกระทำตามคำสาบาน’ โอ คนโฉดเขลาตาบอด สิ่งไหนจะสำคัญกว่า ทองคำหรือพระวิหารซึ่งกระทำให้ทองคำนั้นศักดิ์สิทธิ์” “วิบัติแก่เจ้า พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสี คนหน้าซื่อใจคด เพราะว่าเจ้าเป็นเหมือนอุโมงค์ฝังศพซึ่งฉาบด้วยปูนขาว ข้างนอกดูงดงาม แต่ข้างในเต็มไปด้วยกระดูกคนตาย และสารพัดโสโครก เจ้าทั้งหลายก็เป็นอย่างนั้นแหละ ภายนอกแลดูเหมือนว่าเป็นคนชอบธรรม แต่ภายในเต็มไปด้วยความเท็จเทียมและอธรรม” พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีจึงคิดหาช่องทางจะฆ่าพระองค์เสีย “ฝ่ายพวกฟาริสีก็ออกไปปรึกษากันว่า จะทำอย่างไรจึงจะฆ่าพระองค์ได้”
อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงทราบว่า พระองค์จะต้องทนทุกข์ทรมานจากพวกมหาปุโรหิตและพวกธรรมาจารย์ จนต้องถูกประหารชีวิต แต่ในวันที่สามพระองค์จะทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ ดังที่พระองค์ได้ทรงทำนายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวล่วงหน้าไว้สามครั้ง หลังจากนั้นหนึ่งในสาวกสิบสองคน ชื่อยูดาสอิสคาริโอท ได้ไปหาพวกมหาปุโรหิตแล้วตกลงว่าจะคอยหาช่องที่จะชี้พระองค์ให้จับ เพื่อแลกกับสามสิบเหรียญเงิน ซึ่งเรื่องที่ยูดาสคิดจะทรยศต่อพระองค์นั้น พระองค์ก็ทรงทราบเช่นกัน
เมื่อถึงวันต้นเทศกาลกินขนมปังไร้เชื้อ พระองค์กับเหล่าสาวกได้เข้าไปในบ้านหลังหนึ่งในกรุงเยซูซาเล็ม เพื่อร่วมเสวยปัสกาด้วยกัน อาหารที่พระองค์ได้เสวยในคืนนั้นประกอบด้วยขนมปังและน้ำองุ่น ซึ่งก็เป็นอาหารมื้อสุดท้ายที่พระองค์ได้เสวยก่อนสิ้นพระชนม์ เพราะหลังจากที่ได้เสวยอาหารแล้ว ยูดาสสาวกคนหนึ่งในสิบสองคนนั้นได้ออกจากบ้านไป พวกสาวกที่เหลือไม่ทราบว่ายูดาสไปไหน แต่พระเยซูทราบว่ายูดาสจะไปหาพวกปุโรหิตและพวกฟาริสี เพื่อพาทหารมาจับพระองค์
หลังจากยูดาสออกไปจากบ้านแล้ว พระองค์ตรัสคำสอนแก่พวกสาวกอีกหลายข้อ ก่อนที่จะเสด็จพาพวกเขาออกจากบ้านข้ามห้วยขิดโรนไปยังสวนเกทเสมนี ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนพระองค์เสด็จห่างจากพวกสาวกออกไปไกลประมาณขว้างหินตกแล้วอธิษฐานต่อพระเจ้า เมื่อกลับมาพบว่าพวกสาวกต่างหลับกันหมด พระองค์จึงปลุกพวกเขาให้ตื่นขึ้นอธิษฐาน แล้วพระองค์ทรงกลับไปอธิษฐานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับมาทรงเห็นสาวกนอนหลับกันอีก พระองค์จึงเสด็จกลับไปอธิษฐานอีกเป็นครั้งที่สาม เมื่อกลับมาครั้งนี้พระเยซูทรงปลุกพวกสาวกให้ตื่นขึ้น ทันใดนั้น ยูดาสได้พาทหารกับเจ้าหน้าที่ของพวกปุโรหิตและฟาริสีพร้อมอาวุธเข้ามา ยูดาสตรงมาหาพระเยซูแล้วจุบคำนับพระองค์ คนเหล่านั้นก็เข้ามาจับพระองค์ เปโตรมีดาบจึงชักออกฟันถูกหูข้างขวาของมัลคัส ซึ่งเป็นทาสคนหนึ่งของมหาปุโรหิต พระเยซูตรัสว่า “จงเอาดาบของท่านใส่ฝักเสีย ด้วยว่าบรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ ท่านคิดว่าเราจะขอพระบิดาของเราไม่ได้หรือ และในครู่เดียวพระองค์จะประทานทูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกอง แต่ถ้าเช่นนั้นพระคัมภีร์ที่ว่า จำจะต้องเป็นอย่างนี้ จะสำเร็จได้อย่างไร” แล้วสาวกทั้งหมดก็ได้พากันหนีไป
พระเยซูถูกพาไปบ้านของคายาฟาส ซึ่งเป็นมหาปุโรหิตประจำการ ทั้งพวกธรรมาจารย์และมหาปุโรหิตต่างพยายามหาพยานเท็จมาปรักปรำพระองค์ แต่ถึงแม้มีพยานเท็จหลายคนให้การก็ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ในที่สุดมหาปุโรหิตจึงถามถึงความเป็นพระคริสต์ของพระองค์ เมื่อพระองค์ยอมรับว่าทรงเป็นพระคริสต์ มหาปุโรหิตจึงยุยงคนทั้งปวงว่า พระเยซูพูดหมิ่นประมาทพระเจ้าเพราะยกตนเองขึ้นเป็นพระคริสต์ คนทั้งปวงจึงต้องการให้ปรับโทษพระเยซูถึงตาย
เมื่อยูดาสเห็นว่าตนเองทำบาป โดยอายัดพระเยซูผู้บริสุทธิ์ให้ถึงแก่ความตาย ยูดาสก็เกิดสำนึกกลับใจนำเงินที่ได้ไปคืนให้พวกมหาปุโรหิต แต่คนเหล่านั้นไม่สนใจ ยูดาสจึงทิ้งเงินไว้แล้วออกไปผูกคอตาย
พอรุ่งเช้า พวกเขาได้พาพระเยซูไปหาปีลาต ซึ่งเป็นเจ้าเมืองในขณะนั้น พวกเขาได้ฟ้องพระเยซูด้วยข้อกล่าวหาต่างๆ แต่หลังจากปีลาตได้สอบถามพระองค์แล้ว ไม่พบว่ามีความผิดประการใดจึงคิดจะปล่อยพระองค์ แต่พวกเขายืนยันว่า คนนี้ยุยงพลเมืองให้วุ่นวาย เมื่อปีลาตทราบว่าพระองค์เป็นชาวกาลิลี ซึ่งอยู่ในท้องที่ของกษัตริย์เฮโรด ปีลาตจึงส่งพระเยซูไปหาเฮโรดเพื่อให้ตัดสินความแทน ฝ่ายเฮโรดมีความยินดีเป็นอันมากที่จะได้พบพระเยซูเพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์มานาน หวังว่าพระเยซูจะแสดงอิทธิฤทธิ์หรือปาฏิหาริย์ให้ชมบ้าง แต่เมื่อพระเยซูไม่ได้ทำการใด เฮโรดและพวกทหารจึงได้แต่ดูหมิ่นเยาะเย้ยและส่งพระองค์กลับมาหาปีลาตอีก ปีลาตจึงสั่งมหาปุโรหิต พวกขุนนางและราษฎรให้ประชุมพร้อมกัน และกล่าวแก่เขาว่า “ท่านทั้งหลายได้พาคนนี้มาหาเรา ฟ้องว่าเขาได้ยุยงราษฎร ดูเถิด เราได้สืบถามต่อหน้าท่านทั้งหลาย และไม่เห็นว่าคนนี้มีความผิดในข้อที่ท่านทั้งหลายฟ้องเขานั้น และเฮโรดก็ไม่เห็นว่าเขามีความผิดด้วย เพราะเฮโรดได้ส่งตัวเขากลับมายังเราอีกแล้ว ดูเถิด คนนี้ไม่ได้ทำผิดอะไรซึ่งสมควรจะมีโทษถึงตาย เหตุฉะนั้นเมื่อเราเฆี่ยนเขาแล้ว เราก็จะปล่อยเสีย”
ในตอนนั้นเป็นช่วงเทศกาลปัสกา เป็นธรรมเนียมที่เจ้าเมืองจะปล่อยนักโทษคนหนึ่งให้แก่หมู่ชนตามใจชอบ คราวนั้นมีนักโทษคนหนึ่งชื่อ บารับบัส ต้องโทษเพราะฆ่าคน ปีลาตถามพวกเขาว่า ต้องการให้ปล่อยผู้ใดระหว่างพระเยซูกับบารับบัส มหาปุโรหิตก็ยุยงหมู่ชนให้ขอให้ปล่อยบารับบัส พวกเขาจึงตอบว่า บารับบัส และให้ตรึงพระเยซูที่กางเขน ส่วนปีลาตยังพยายามจะปล่อยพระเยซูอีกถึงกับถามพวกเขาซ้ำอีกสามครั้ง เมื่อพวกเขายืนยันตามเดิม ปีลาตก็เอาน้ำล้างมือต่อหน้าหมู่ชน เพื่อแสดงว่าเขาไม่มีส่วนรับผิดชอบด้วยกับการประหารพระเยซู แล้วปีลาตได้สั่งปล่อยบารับบัสและให้โบยตีพระเยซูก่อนนำไปตรึงที่กางเขน
พระเยซูทรงถูกพวกทหารของปีลาตโบยตีและหยามพระเกียรติหลายประการ หลังจากนั้นพวกทหารบังคับให้พระองค์แบกกางเขนเดินทางไปยังตำบลหนึ่งชื่อกลโกธา เพื่อตรึงพระองค์บนกางเขนที่นั่น ระหว่างทางพระองค์ไม่สามารถเดินแบกกางเขนต่อไปไหว เพราะไม่ได้เสวยอะไรเลยและบาดเจ็บจากการถูกทรมาน พวกทหารพบชาวไซรีนคนหนึ่งชื่อซีโมน จึงบังคับให้เขาแบกกางเขนของพระองค์ไป เมื่อมาถึงกลโกธาพระองค์ทรงถูกตรึงที่กางเขนพร้อมกับผู้ร้ายสองคน ข้างขวาคนหนึ่งและข้างซ้ายอีกคนหนึ่ง พวกขุนนางต่างกล่าวคำเยาะเย้ยพระองค์ ฝ่ายพวกทหารจับฉลากกันว่า ใครจะได้ฉลองพระองค์ไป (ยอห์น 19:24) หลังจากนั้น พระเยซูทรงทราบว่าทุกสิ่งสำเร็จแล้ว จึงตรัสว่า 'พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์' ตรัสอย่างนั้นแล้วก็สิ้นพระชนม์"
ในวันนั้นเป็นวันศุกร์ พวกยิวไม่ต้องการให้ศพค้างอยู่บนกางเขนจนถึงวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันสะบาโต จึงมาขอให้ปีลาตทุบขาของผู้ที่ถูกตรึงให้หัก แล้วจะได้เอาศพลงจากกางเขน พวกทหารจึงมาทุบขาของผู้ร้ายทั้งสองคนที่ถูกตรึงอยู่กับพระเยซูจนเสียชีวิต เมื่อมาถึงพระเยซูและเห็นว่าเสียชีวิตแล้ว พวกทหารไม่ได้ทุบขาพระองค์ แต่ใช้ทวนแทงที่สีข้างของพระองค์ โลหิตและน้ำก็ไหลออกจากร่างกายของพระองค์
ชายชาวอาริมาเธียคนหนึ่งชื่อ โยเซฟ ได้ขอพระศพพระเยซูจากปีลาต เอาผ้าป่านกับเครื่องหอมพันพระศพของพระองค์ตามธรรมเนียมชาวยิว แล้วเชิญพระศพไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ฝังศพใหม่ที่ยังไม่ได้ฝังศพผู้ใดเลย ซึ่งอยู่ในสวนแห่งหนึ่งในตำบลที่พระองค์ถูกตรึงนั้น แล้วกลิ้งก้อนหินขนาดใหญ่ปิดปากอุโมงค์ไว้ ส่วนพวกมหาปุโรหิตและพวกฟาริสีไปหาปีลาต ขอให้วางยามเฝ้าหน้าอุโมงค์ให้แข็งแรง เพราะกลัวว่าสาวกจะมาลักพระศพพระเยซูไป ปีลาตจึงสั่งให้ทหารไปประทับตราที่หินและเฝ้ายามหน้าอุโมงค์ไว้
ครั้นวันที่สามผ่านไป เหล่าพวกผู้หญิงได้มาที่อุโมงค์ ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ยิ่งนัก ทูตของพระเจ้าองค์หนึ่งได้กลิ้งก้อนหินออกจากปากอุโมงค์ แล้วกล่าวแก่หญิงนั้นว่า พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์ชีพจากความตายแล้ว และให้ไปยังแคว้นกาลิลีจะได้พบพระองค์ที่นั่น หญิงเหล่านั้นจึงไปจากอุโมงค์โดยเร็ว วิ่งไปบอกสาวกของพระเยซู ฝ่ายทหารที่เฝ้าอุโมงค์ได้เข้าไปในเมืองแล้วเล่าเหตุการณ์นั้นให้มหาปุโรหิตฟัง เมื่อพวกเขาปรึกษากันแล้วก็แจกเงินเป็นอันมากให้พวกทหาร โดยสั่งให้พูดกันทั่วไปว่า พวกสาวกแอบมาลักเอาศพไปในตอนกลางคืน ครั้นพวกทหารได้รับเงินแล้วก็ทำตามนั้น บรรดาพวกยิวจึงเชื่อตามคำของทหารเหล่านั้น
หลังจากที่พระเยซูทรงเป็นขึ้นจากความตายแล้ว พระองค์ทรงปรากฏให้เหล่าสาวกและคนเป็นจำนวนมากได้เห็นเพื่อจะได้เชื่อ เป็นพยานและวางใจในพระองค์ ก่อนที่จะเสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าพวกเขา "เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา" ปาฏิหาริย์แห่งพระเยซู
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ได้บันทึกว่า พระเยซูได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ในจำนวนนั้นคือ การรักษาคนเป็นโรคเรื้อนให้หาย, การรักษาคนตาบอด, รักษาคนง่อยให้เดินได้, รักษาคนหูหนวกให้ได้ยิน, รักษาหญิงตกโลหิตให้หาย, ทรงขับผีออก (มาระโก 7:24-30), การชุบชีวิตคนตาย, การทวีขนมปังและปลา, เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นในงานแต่ง, การเดินบนน้ำ, การทรงทราบล่วงหน้าถึงอนาคตและสิ่งต่างๆ และการกลับคืนพระชนม์ชีพหลังสิ้นพระชนม์ไปครบ 3วัน
การตรึงที่กางเขนและการเสด็จขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ พระคริสตธรรมคัมภีร์ ภาคพันธสัญญาใหม่ ระบุว่า พระเยซูถูกตรึงบนไม้กางเขนตั้งแต่เช้า "เมื่อเขาตรึงพระองค์ไว้นั้นเป็นเวลาเช้าสามโมง" และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในเวลาบ่าย "เวลานั้นประมาณเวลาเที่ยง ก็บังเกิดมืดมัวทั่วแผ่นดิน จนถึงบ่ายสามโมง ดวงอาทิตย์ก็มืดไป ม่านในพระวิหารก็ขาดตรงกลาง พระเยซูทรงร้องเสียงดังตรัสว่า 'พระบิดาเจ้าข้า ข้าพระองค์ฝากวิญญาณจิตของข้าพระองค์ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์' ตรัสอย่างนั้นแล้วก็สิ้นพระชนม์" หลังจากนั้นพระองค์ทรงเสด็จกลับฟื้นคืนพระชนม์ในวันที่ 3 "แต่เช้ามืดในวันต้นสัปดาห์ ผู้หญิงเหล่านั้นจึงนำเครื่องหอมที่เขาได้จัดเตรียมไว้มาถึงอุโมงค์ เขาเหล่านั้นเห็นก้อนหินกลิ้งพ้นจากปากอุโมงค์แล้ว และเมื่อเข้าไปมิได้เห็นพระศพของพระเยซูเจ้า" "หญิงเหล่านั้นก็ไปจากอุโมงค์โดยเร็ว ทั้งกลัวทั้งยินดีเป็นอันมาก วิ่งไปบอกพวกสาวกของพระองค์ ดูเถิด พระเยซูได้เสด็จพบเขาและตรัสว่า 'จงจำเริญเถิด' หญิงเหล่านั้นก็มากอดพระบาทนมัสการพระองค์ พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า 'อย่ากลัวเลย จงไปบอกพวกพี่น้องของเราให้ไปยังกาลิลี จะได้พบเราที่นั่น'" บุคคลที่พระเยซูทรงปรากฏให้เห็นก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ได้แก่ มารีย์ชาวมักดาลา, เคลโอปัสและศิษย์อีกคนหนึ่งซึ่งในพระคัมภีร์ไม่ได้ระบุชื่อ, สาวกทั้งสิบเอ็ดคน, สาวกเจ็ดคน พระเยซูทรงประทับอยู่กับเหล่าสาวกราว40วัน และเสด็จขึ้นสวรรค์ต่อหน้าพวกเขา "เมื่อพระองค์ตรัสเช่นนั้นแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นไปต่อหน้าต่อตาเขา และมีเมฆคลุมพระองค์ให้พ้นสายตาของเขา"
ปีคริสต์ศักราช การกำหนดคริสต์ศักราชเกิดขึ้นหลายร้อยปีหลังจากพระเยซู เสด็จขึ้นสวรรค์ แต่วิจัยในเชิงวิชาการพบว่า มีองค์ประกอบบางอย่างที่บ่งบอกว่าวันที่พระเยซูคริสต์ถือกำเนิดนั้น อาจไม่ใช่วันที่ 25 ธันวาคม และอาจไม่ใช่แม้แต่เป็นเดือนธันวาคม ทั้งตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า และภูมิอากาศหลาย ๆ อย่าง จากการวิเคราะห์โดยนักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์และนักคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ พบว่า วันที่พระเยซูคริสต์ประสูตินั้น จริง ๆ อาจจะ เป็นวันที่ 17 เมษายน 6 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 538) ตามปฏิทินเกรกอเรียน
พระเยซูในทัศนะของอิสลาม ชาวมุสลิมถือว่า อีซา ไม่ใช่บุตรของพระเจ้า แต่เป็นวิญญาณหนึ่งซึ่งพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้บังเกิดในครรภ์มาเรียโดยมิได้มีความสัมพันธ์กับบุรุษ ในวัยเด็กของพระเยซู คัมภีร์อัลกุรอานเล่าเพียงช่วงที่มะลักตนหนึ่งจำแลงกายเป็นบุรุษเข้ามาพบกับมัรยัม (พระแม่มารีย์) และบอกนางว่า นางจะได้บุตรโดยปราศจากบิดา เมื่อนางจะคลอดก็ได้หนีออกไปคลอดนอกเมือง ไปที่โคนต้นอินทผาลัม เมื่อคลอดเสร็จแล้ว พระผู้เป็นเจ้าไดทรงบรรดาลให้มีตาน้ำไหลออกมาให้มัรยัมได้ดื่ม เมื่อพาบุตรกลับมา นางก็ถูกถามและกล่าวหาว่านางได้ผิดประเวณีได้บุตรไร้บิดา นางไม่ยอมพูดแต่อีซาพูดออกมาว่า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้ประทานคัมภีร์ และแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นนบี อัลกุรอานไม่ได้บอกเล่าชีวประวัติในวัยเด็กอีกเลย
คัมภีร์อัลกุรอานและ พระวรสารนักบุญบาร์นาบาส ได้บันทึกว่า เยซูได้แสดงปาฏิหาริย์หลายครั้ง ในจำนวนนั้นคือ การรักษาคนเป็นโรคเรื้อน การชุบชีวิตคนตาย การเรียกสำรับอาหารจากฟ้า และการเป่าก้อนดินเหนียวให้เป็นสัตว์มีปีกบินได้
พระคริสตธรรมคัมภีร์ บันทึกว่า พระเยซูสิ้นพระชนม์บนกางเขนและกลับคืนพระชนม์ชีพ ในขณะที่อัลกุรอาน และพระวรสารนักบุญบาร์นาบัส ระบุว่า เยซูยังไม่ได้ตาย ผู้ที่ถูกตรึงทีไม้กางเขนเป็นผู้อื่น พระวรสารนักบุญบาร์นาบาสระบุว่า ผู้ที่ถูกตรึงนั้นคือ เยฮูดาห์
พระนามอื่นของพระเยซู
พระมหาไถ่ เป็นพระคุณนามของพระเยซูคริสต์เจ้า ในฐานะที่พระองค์เป็นบุตรของพระเจ้าและลงมาในนามของพระยาเวห์ เพื่อประกาศแนวทางอันเป็นหลักคำสอนในศาสนาคริสต์ เพื่อให้ผู้ปรารถนาชีวิตนิรันดร์และมีโอกาสอยู่ร่วมในดินแดนของพระเจ้าภายหลังวันสุดท้ายของโลก หรือวันตัดสินผู้ที่เชื่อในพระเยซูและพระเจ้าเพื่อเข้าสู่ดินแดนสวรรค์กับผู้ไม่เชื่อและเพิกเฉยในคำสอนเพื่อไปยังขุมนรก
พระเจ้าผู้เป็นอันติมสัจจ์ ศาสนาคริสต์มีพระเจ้าองค์เดียวกับพระเจ้าของศาสนายิว คือ พระยะโฮวา พระผู้ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่ ทรงเป็นจิตบริสุทธิ์ ไม่มีรูปร่าง มีอยู่นิรันดร จึงไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ทรงสถิตอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ทรงสามารถทุกอย่าง ไม่มีใครสร้างพระองค์ แต่พระองค์เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลพิภพนี้ ชาวคริสต์เชื่อกันว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นไปตามแผนการของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมีน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ปรารถนาจะช่วยมนุษย์ให้พ้นจากบาปกำเนิดที่สืบกันมาแต่บรรพบุรุษคู่แรก คือ อาดัมและอีวา พระองค์จึงส่งพระบุตรมาเกิดในโลกมนุษย์ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทางแห่งความรอด
พระเจ้าผู้เป็นพระบิดาและพระเยซูซึ่งเป็นพระบุตร จึงเป็นหนึ่งเดียวกันคือความสัมพันธ์แห่งความรัก เมื่อพระเยซูได้จากสาวกไปแล้ว โดยไปอยู่กับพระบิดาในอาณาจักรแห่งพระเจ้า พระองค์ก็ยังทรงเมตตาต่อมนุษย์ พระเจ้าผู้เป็นพระบิดาและพระเยซูผู้เป็นบุตร ได้ส่งพระจิตของพระองค์มายังโลกเพื่อมนุษย์จะได้รู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าได้ทรงโปรดประทานมาให้แก่พวกเขา
เราอาจกล่าวได้ว่าสิ่งสูงสุดของชาวคริสต์ คือ พระบิดา พระบุตร และพระจิต ซึ่งเรียกว่า "ตรีเอกภาพ" (Trinity) คือ สามภาคของพระเจ้าที่เป็นหนึ่งเดียวกัน การที่จะเข้าถึงสิ่งสูงสุดนี้จะต้องมีความรักและศรัทธาในพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว และรักเพื่อนมนุษย์ให้เหมือนกับรักตนเอง ผู้ใดที่สามารถปฏิบัติตามได้เช่นนี้แล้ว เขาจะได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่ในแผ่นดินสวรรค์ ผู้ใดที่ได้อยู่ที่แห่งนี้จะมีชีวิตนิรันดรซึ่งจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อตายแล้ว บุคคลที่สามารถสละความสุขทางโลก และสละสมบัติทางโลกได้เท่านั้น จึงสามารถเข้าถึงอาณาจักรของพระเจ้าได้เพราะคนเราจะมีนาย 2 คนไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าจะเลือกพระเจ้าก็ต้องสละสมบัติทางโลก และถ้าจะเลือกสมบัติทางโลกก็ต้องสละพระเจ้า ผู้ฝ่าฝืนพระบัญญัติจะถูกตัดสินให้ลงนรก ถูกไฟเผาผลาญได้รับความทุกข์ทรมานตลอดไป
ศาสนาคริสต์ได้กล่าวถึง "วันพิพากษาโลก" (The Last of Judgement) เพื่อให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า และเกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว วันนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาคริสต์ที่พระบุตรจะเสด็จกลับมาโลกนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิพากษามนุษย์ในมาระโกบทที่ 13 ข้อ 24-27 ของหนังสือพระคริสตธรรมคัมภีร์ (พระคริสตธรรมคัมภีร์. 1993 : 108) ได้กล่าวถึง วันสิ้นพิภพและการเสด็จมาพิพากษาโลกของพระเยซูคริสต์เจ้า ความว่า
"............ภายหลังเมื่อคราวลำบากนั้นพ้นไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะมืดไป และดวงจันทร์จะไม่ส่องแสงดวงดาวทั้งปวงจะตกจากฟ้า และบรรดาสิ่งซึ่งมีอำนาจในท้องฟ้าจะสะเทือนสะท้าน เมื่อนั้นเขาจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาในเมฆ ทรงฤทธานุภาพ และพระสิริเป็นอันมาก เมื่อนั้นพระองค์จะทรงใช้เหล่าทูตสวรรค์ทั้งสี่ทิศนั้น ตั้งแต่ที่สุดปลายแผ่นดินโลกถึงที่สุดของฟ้า................" เราอาจกล่าวได้ว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์การที่พระเยซูคริสต์เจ้าจะเสด็จกลับมาพิพากษาโลกอีกครั้งหนึ่งในวันสิ้นโลก ผู้ชอบธรรมเท่านั้น ที่จะถูกตัดสินให้ขึ้นสวรรค์ตลอดชั่วนิรันดร ส่วนคนอธรรมจะถูกปรับโทษให้ลงนรกนิรันดร
ประวัติพระแม่มารี
ท่านนักบุญอากิม(Saint Joachim) และนักบุญอันนา(Saint Anna) เป็นบิดาและมารดาของพระนางมารีอา เดิมไม่มีบุตร เนื่องจากนักบุญอันนาเป็นหมัน ท่านทั้งสองภาวนาต่อพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงฟังคำภาวนาของท่านทั้งสอง จึงได้ให้นักบุญอันนาบังเกิดบุตรี ชื่อว่า มารีอา (แปลว่า "ผู้มีพระคุณอานิสงส์")พระนางมารีอาถวายตัวแด่พระเป็นเจ้า โดยตั้งใจจะถือพรหมจรรย์ เมื่อถึงเวลาอันควรก็ต้องแต่งงานกับชายคนหนึ่งเพื่อเป็นคู่อุปถัมภ์ พระนางมารีอาได้หมั้นกับนักบุญยอเซฟ ซึ่งเป็นเวลาที่เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่พระนางว่าจะตั้งครรภ์ เมื่อนักบุญยอเซฟทราบท่านก็ไม่เข้าใจ และคิดจะถอนหมั้นเงียบๆเพราะท่านเป็นคนชอบธรรม แต่เทวดาได้มาแจ้งแก่ท่านในฝันว่า ให้รับพระนางมารีอาไว้เป็นภรรยา เพราะบุตรที่เกิดมาคือองค์พระมหาไถ่ เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นไปโดยอาศัยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า
บทความต่อๆไป จะทำให้เราเห็นถึงความรักต่อพระเป็นเจ้าที่พระนางมารีอาแสดงออกในชีวิตอันเป็นแบบอย่างดีแก่เรา ในการรับใช้พระเป็นเจ้าด้วยการทำตามน้ำพระทัยของพระในชีวิตของเรา แม้ท่ามกลางความทุกข์ลำบาก
"แม่พระมหาทุกข์ 7 ประการ" คือวันฉลองวันหนึ่งในพิธีกรรมคาทอลิกที่พิจารณาถึงความทุกข์ในชีวิตของแม่พระ อันมีเหตุการณ์ยากลำบาก 7 ประการใหญ่ คริสตชนใช้รำพึง และใคร่ครวญถึงชีวิตที่รักพระ ด้วยการร่วมทุกข์ในแผนไถ่บาปอย่างที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ไถ่บาปมนุษย์ หากเราเข้าใจความทุกข์ในแง่นี้ เราก็จะสามารถมีชีวิตและบรรลุถึงเมืองสวรรค์ได้ การยอมรับน้ำพระทัยของพระเพื่อเข้าร่วมส่วนในมหาทรมานของพระเยซูเจ้าชดเชยบาป และไถ่บาปมนุษย์ทุกคน หัวใจของแม่พระผู้เสด็จขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ เป็นหัวใจที่มีกระบี่เสียบแทงถึง 7 เล่ม หัวใจของแม่พระเป็นหัวใจของผู้ทุกข์ทนอย่างแท้จริง แม่พระมีค่านิยมของพระนางในการเป็นพรหมจารีตลอดชีวิต ค่านิยมนี้ได้รับการปฏิเสธจากพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน แม่พระก็รับทันทีเพียงเพราะรู้ว่าเป็นน้ำพระทัย พระนางยอมสละสิ่งที่นางนิยมที่สุด ทั้งๆที่เป็นสิ่งดีงามถวายแก่พระอยู่แล้ว แต่ไม่ตรงกับพระประสงค์….
เมื่อยอมแล้วพระบอกกับพระนางว่า เรื่องการตั้งครรภ์นั้น มิใช่แบบมนุษย์ แต่เป็นไปด้วยฤทธิ์เดชของพระจิต… ฉะนั้นพระนางได้รับความเป็นพรหมจารีคืนจากพระ แต่นั่นหลังจากได้ตัดสินใจยอมรับแล้ว พระเยซูตรัสว่า
"ก่อนอื่นท่านจงแสวงหาพระราชัยของพระเจ้า อย่างอื่นพระองค์จะแถมให้" แม่พระยอมทนเสียงนินทาว่าตั้งครรภ์ก่อนจะแต่งงานกับนักบุญยอแซฟ และยอแซฟก็พยายามให้แม่พระพ้นจากความอับอาย ไม่ทำลายชื่อเสียงโดยการป่าวประกาศที่โน่นทีที่นี่ทีให้แม่พระเสียชื่อ และรับเป็นสามีตามบัญชาของเทวดาอีกด้วย ทั้ง 2 ท่านร่วมมือในความดีจากพระอย่างเข้าใจ ใช้ความเชื่อก่อนใช้ปาก ใช้สมองก่อนใช้สัญชาตญาณ ทั้ง 2 ท่านเป็นคนยากจน พระเยซูเจ้าตรัสว่า
"บุญลาภแก่ผู้มีจิตใจยากจน เหตุว่าเมืองสวรรค์เป็นของเขาแล้ว, ผู้ใดปรารถนาทำตามพระประสงค์ของพระเจ้ายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดก็เป็นสุข, พระเป็นเจ้าจะทรงให้เขาสมปรารถนา, เมื่อคนทั้งหลายเกลียดชังพวกท่าน ดูหมิ่นเหยียดหยาม และหาว่าท่านชั่วช้าสารเลว เพราะท่านจงรักภักดีต่อบุตรแห่งมนุษย์ จงชื่นใจเถิด เพราะพระเป็นเจ้าทรงเก็บบำเหน็จรางวัลไว้ให้ท่านในสวรรค์แล้ว" แม่พระขณะตั้งครรภ์ลำบากเพียงใด ยังคิดถึงคนอื่นที่ลำบากกว่า เดินทางผ่านหุบเขาหลายลูกไปเยี่ยมและเอาใจใส่นางเอลีซาเบ็ธ ซึ่งตั้งครรภ์แก่กว่า ก่อนจะให้กำเนิดนักบุญยวง บัปติสตา ที่นั่นแม่พระได้สวดบทภาวนาแห่งผู้รับใช้พระ พระได้เหลียวแลความต่ำต้อยแห่งข้ารับใช้ ถึงกับยกให้เป็นแม่ของพระบุตร พระเยซูตรัสว่า
"เราผู้ที่ท่านเรียกว่าอาจารย์และเจ้านาย ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็จงล้างเท้าให้แก่กันและกัน ผู้ใดสำแดงความเมตตาต่อผู้อื่นก็เป็นสุข พระเป็นเจ้าทรงเมตตาเขา" แม่พระออกเดินทางขณะจะคลอดพระบุตรไปเบธเลแฮม เพื่อจดทะเบียนสำมะโนครัว ความยากจนทำให้ไม่ได้รับการเอื้อเฟื้อต้อนรับ เพราะที่พักเต็มหมดสำหรับคนยากจน ความยินดีในสิ่งที่มีที่ทั้งสองแสดงออกในค่ำคืนที่ถูกลืมนั้นเอง พระบุตรได้บังเกิดมาอย่างสงบใต้ดวงดาวอันยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แม่พระมีเพียงผ้า 1 ผืน และฟางหญ้าแก่ลูกน้อยของเธอเป็นของขวัญ แต่พระกุมารน้อยคงพึงพอใจในรอยยิ้มของคนยากจนอย่างแม่พระมากกว่า พระองค์ตรัสว่า
"ถึงพวกท่านยากจนก็มีความสุข เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงเข้าปกครองใจท่านแล้ว จะมีประโยชน์อะไรหากท่านได้โลกทั้งโลกมาเป็นกรรมสิทธิ์ แต่สุดท้ายต้องเสียวิญญาณไป ,ท่านสะสมทรัพย์สมบัติในสวรรค์เถิด, มนุษย์มิได้ดำรงชีวิตด้วยขนมปังเท่านั้น" แม่พระถวายพระกุมารในพระวิหารผู้เฒ่าซีเมโอนได้พูดถึงกระบี่ที่จะเสียบแทงดวงหทัยของพระนาง ทำให้แม่พระต้องคิดวิตก เมื่อมีคนศักดิ์สิทธิ์มาทักเช่นนี้ หัวใจของหญิงตัวเล็กๆยังคงโอบอ้อม และสองแขนของเธอยังคงกอดลูกน้อยแนบอกไม่ยอมปล่อย กระบี่สักกี่เล่มก็ได้ แต่นี่ลูกของฉัน ฉันทนได้ทั้งนั้น พระองค์ตรัสว่า
"ผู้ใดทุกข์ทรมานใจ เพราะสภาพของโลกก็เป็นสุข พระเป็นเจ้าจะทรงปลอบโยนเขา" แม่พระระหกระเหินหนีเพชฌฆาตเฮร้อดไปเมืองอียิปต์ ภาษาพูดใหม่ก็ไม่รู้ ขนบธรรมเนียมต่างแดนก็ไม่คุ้น ฐานะคนต่างด้าวต่างเมืองของตนกับครอบครัว อาชีพช่างไม้ของสามีก็เท่านั้น เด็กน้อยเยซูจะวิ่งเล่นที่ไหนได้กับเด็กๆชาวอียิปต์ พระเจ้าตรัสใน สดด. 121 ว่า
"ยามเมื่อข้าทอดสายตาแลดูภูผา ความอุปถัมภ์มาจากไหน จากพระเจ้าผู้ทรงฤทธิไกรสร้างโลกกว้างใหญ่ รวมหล้าทั้งหมดจรดสวรรค์ ทั้งทรงคุ้มครองป้องกัน มิเคยเคลิ้มฝัน หรือทรงเผลอสนิทนิทร์ไป พระองค์ปกป้องผองภัยแก่อิสราแอลอย่างไร แก่ท่านก็เช่นเดียวกัน พระอาทิตย์ไร้พิษกลางวัน ถึงแม้พระจันทร์ไม่ทำร้ายยามค่ำคืน ปลอดภัยทั้งหลับและตื่น ท่านจะสดชื่น ในยามดำเนินไปมา พระเจ้าทรงพิทักษ์รักษา ด้วยพระทัยเมตตา บัดนี้เบื้องหน้านิรันดร"
แม่พระได้ข่าวว่าลูกชายถูกจับ และทรมาน จะถูกตรึงไม้กางเขน พระนางไปแสดงตัวเป็นแม่ โดยไม่ลังเลด้วยความห่วงสุดชีวิต ในขณะที่เพื่อนๆของพระองค์หนีหมด แม่พระปรากฎออกมาในขณะที่ไม่มีใครเหลียวแลลูกของพระนาง ในขณะที่คนห้อมล้อมพระองค์มากมายไม่ได้ถูกกล่าวถึงเลย เป็นแม่ที่รับศพลูกมาพิจารณาบนตักของตน เป็นแม่ที่นอบน้อมคำสุดท้ายของพระบุตร ให้รับทุกคนเป็นลูกของพระนาง แม่พระอยู่ท่ามกลางเหล่าสานุศิษย์ตั้งแต่นั้น แม้ในวันรับพระจิต "ใครที่เป็นพี่น้องพ่อและแม่ของเรา ก็คือบุคคลที่กระทำตามน้ำพระทัยของพระบิดา เป็นญาติพี่น้อง พ่อและแม่ของเรา"
คริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก มีความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารี หรือคริสตชนเรียกว่า "แม่พระ" คำว่า "แม่พระ" เป็นคำที่ยกย่องพระนางมารีอามาตั้งแต่สมัยศตวรรษแรกๆ บรรดาคริสตชนถึงกับถวายพระนามว่า "มารดาพระเจ้า" (Mater Dei) นักเทววิทยาได้อธิบาย และอ้างข้อความในพระคัมภีร์ สนับสนุนข้อความเชื่อนี้ และข้อความเชื่ออื่นๆอีกหลายประการเกี่ยวกับพระนางมารีอา เช่น "แม่พระเป็นผู้ปฏิสนธินิรมล"
หมายถึงพระนางมารีอาบังเกิดมาในโลกโดยปราศจากบาปกำเนิด, ได้รับการยกเว้นจากพระเป็นเจ้า มิให้ต้องแปดเปื้อนด้วยบาปความผิดพลาด ที่ตกทอดมาจากอาดัมและเอวา "แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ" เป็นความเชื่อว่าเมื่อพระนางมารีอาสิ้นใจ ได้รับเกียรติจากพระเป็นเจ้าให้ออกจากโลกนี้พร้อมทั้งร่างกายและวิญญาณไปสู่สวรรค์ คริสตชนยุคแรกๆเชื่อกันมาดังนี้เป็นเวลายาวนาน.. ก่อนที่พระสันตะปาปาจะประกาศเป็นข้อความเชื่อที่คริสตชนต้องเชื่อเสียอีก "พระนางมารีอามารดาแห่งสากลโลก" ฯลฯ
แต่ที่คริสตชนมีความศรัทธาภักดีต่อแม่พระ ก็เนื่องจากชีวิตและฤทธิ์กุศลความดีงามต่างๆในชีวิตของพระนาง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในการดำเนินชีวิตคริสตชน ฤทธิ์กุศลที่สำคัญในชีวิตแม่พระคือ
ความบริสุทธิ์ หมายถึงพระนางมารีอาบังเกิดมาไม่มีบาปกำเนิด และยังดำเนินชีวิตถือพระบัญญัติของพระเป็นเจ้าอย่างครบถ้วน ไม่กระทำบาป อีกทั้งได้ถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าตั้งแต่ยังเด็ก โดยตั้งใจว่าจะถือ พรหมจรรย์ แต่พระเป็นเจ้าก็ทรงมีแผนการโดยการใช้ให้เทวดาคาเบรียลมาแจ้งแก่แม่พระว่า พระนางจะตั้งครรภ์และกำเนิดบุตรชาย และให้ตั้งชื่อว่า "เยซู" พระนางมารีอาถามว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะพระนางยังเป็นพรหมจารีอยู่ เทวดาตอบว่าการตั้งครรภ์นั้นมิได้เกิดตามธรรมชาติฝ่ายเนื้อหนัง แต่เกิดจากฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้า เด็กที่เกิดมาจะเป็นพระผู้ไถ่โลก พระนางมารีจึงตอบว่า "ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเป็นเจ้า จงเป็นไปแก่ข้าพเจ้าตามวาทะของท่าน" (ลก. 1:38) แล้วนั้นพระวจนาตถ์ก็ทรงรับเอากาย และมาประทับอยู่ท่ามกลางเรา (ยน. 1:14) ความสุภาพนอบน้อมเชื่อฟัง พระนางมารีอามีความสุภาพนอบน้อมเชื่อฟังน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า อันเป็นฤทธิ์กุศลที่บรรดาคริสตชนพึงมี พระเยซูเจ้าสอนเราให้แสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าก่อนอื่นใดแล้วที่เหลือพระเป็นเจ้าจะแถมให้แก่เราเอง หมายถึงจัดการทุกสิ่งทุกอย่างแก่เราเอง คริสตชนยินดีรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตด้วยความนอบน้อมราบเรียบ ด้วยความไว้วางใจในพระเป็นเจ้า ความรัก การยินดีเสียสละน้ำใจตนเอง เพื่อรับน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เพราะรักพระของพระนางมารีอา เป็นตัวอย่างในเรื่องการเลือกเอาพระเป็นเจ้ามาเป็นอันดับหนึ่งในชีวิตคริสตชน เพราะรักพระเป็นเจ้า พระนางจึงยอมรับทุกอย่าง เพื่อให้สำเร็จตามแผนการณ์ไถ่บาปมนุษย์ของพระเป็นเจ้า
คริสตชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกอบกู้มนุษยชาติให้กลับมาเป็นลูกของพระ พระนางมารีอาได้ร่วมมือกับพระเป็นเจ้าในการให้กำเนิดพระมหาไถ่ คือพระเยซูเจ้า ไม่ว่าจะมีความยากลำบากสักเพียงใดอยู่ในเหตุการณ์นี้ ฯลฯ ความดีและฤทธิ์กุศลที่พระนางมารีอาเสียสละ พระเยซูเจ้าทรงตอบแทน และคืนความดีทุกอย่างแด่แม่ของพระองค์ นั่นคือ โดยการยกเอาพระนางมารีอาไปสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ บัดนี้เราเชื่อว่า พระนางมารีอาประทับอยู่บนสวรรค์กับพระเยซูเจ้า พระบุตรของพระนาง แต่พระนางก็ยังรักและเมตตาพวกเราทุกคน, ลูกๆของพระนาง ด้วยว่าแทบเชิงกางเขน ก่อนพระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์ บรรดาสานุศิษย์ต่างกลัว และหนีไปหมด แต่พระแม่กลับยืนอยู่ที่แทบเชิงกางเขนกับนักบุญยอห์น ณ ที่นั่น พระเยซูเจ้ามองลงมาจากกางเขน แล้วตรัสว่า "สตรีเอ๋ย นี่แน่ะ ลูกของท่าน" และตรัสแก่ศิษย์นั้นว่า "นี่แน่ะ แม่ของเจ้า" ตั้งแต่นั้นมาศิษย์ผู้นั้นก็รับพระนางไปอยู่ที่บ้านของตน เป็นเสมือนคำที่พระเยซูเจ้า มอบชาวเราทุกคนให้เป็นลูกของแม่พระ และให้แม่พระดูแลรักเราเป็นลูกของพระนาง เป็นผู้เสนอวิงวอนตามคำภาวนาของเราที่มีต่อพระเป็นเจ้า
แท้จริงคริสตชนมิได้นมัสการพระนางมารีอาแทนพระเป็นเจ้า แต่ใช้คำว่า "ศรัทธาภักดี" ด้วยความเชื่อเก่าแก่ที่สืบทอดมาทางธรรมประเพณี (Tradition) ว่าพระนางเป็นผู้นำคำภาวนาของเราไปทูลขอต่อพระเป็นเจ้าเพื่อเรา ด้วยว่าคริสตชนรำลึกถึงความต่ำต้อย และไม่สมควรของเรา คำภาวนาอาศัยพระนางมารีอาย่อมสมควรกว่า ความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอาที่ถูกต้องก็คือ พระนางจะพาลูกๆของพระนางทุกคนไปหาพระเป็นเจ้า "เข้าหาพระเยซูเจ้าผ่านทางแม่พระ" เป็นคำพูดเตือนใจเราคริสตชนอยู่เสมอ การแสดงความศรัทธาภักดีต่อพระนางมารีอาสมารถแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น
  1. การสวดสายประคำ เป็นการสวดภาวนาบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย และบทวันทามารีอาหลายๆครั้ง บทหนึ่งก็นับตามจำนวนเม็ดประคำที่กำหนดไว้ ขณะสวดก็รำพึงพระชีวประวัติแต่ละขั้นตอนของพระเยซูเจ้า และพระนางมารีอา ตั้งแต่เทวดาคาเบรียลมาแจ้งสารแด่แม่พระ จนกระทั่งแม่พระเสด็จรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ และได้รับมงกุฎในเมืองสวรรค์ ทั้งนี้มิใช่เป็นเพียงการคิดถึงประวัติแบบธรรมดา แต่เป็นการรำพึงแผนการณ์ไถ่บาปของพระเป็นเจ้า, รหัสธรรมการมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้า (Incarnation) รหัสธรรมการสิ้นพระชนม์ไถ่บาปของพระเยซูเจ้า (Salvation) ตลอดจนการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ฯลฯ การสวดสายประคำเป็นการสวดที่ง่าย และช่วยผู้ที่สามารถอ่านพระคัมภีร์ได้ เช่น ผู้ที่ไม่รู้หนังสือ ผู้ที่ไม่เข้าใจพระคัมภีร์ก็สาสรถใคร่ครวญถึงเรื่องราวของพระเป็นเจ้าได้ อีกทั้งยังสามารถสวดได้ทุกเวลา
  2. การทำนพวารพระมารดานิจจานุเคราะห์
  3. การแห่พระรูปแม่พระ
  4. การประพฤติเลียนแบบฤทธิ์กุศลอันดีงามต่างๆของแม่พระ
คัมภีร์ของศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย ต่างให้ความเคารพในคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยถือว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหนทางแห่งความรอดจากทุกข์ทั้งปวง อาจารย์เสรี พงศ์พิศ (เสรี พงศ์พิศ. 2531 : 102) ได้ให้ความหมายของ "ไบเบิล" (Bible) ว่า "หนังสือหลายเล่ม" เพราะเป็นความหมายที่ได้มาจากศัพท์ภาษาละตินและภาษากรีก คือ "บีบลีอา" (Biblia) ซึ่งเป็นพหูพจน์ของ "บีบลีออน" (Biblion) แต่ภาษาอังกฤษใช้ไบเบิล (Bible) และการที่เรียกว่าไบเบิลนี้ อาจเป็นเพราะคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยหนังสือหลายเล่มแล้วนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ในเล่มเดียวกันนี้ต่อมาแบ่งเป็นสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ซึ่งเขียนเป็นภาษาฮิบรูเกือบทั้งหมด มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาอารามาอิคและภาษากรีก ไบเบิลในภาคนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั้งสองศาสนานี้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมบูรณ์
  1. คัมภีร์เก่า ( Old Testament ) หรือพันธสัญญาเดิมเป็นบันทึกเรื่องราวก่อนพระเยซูประสูติ
  2. คัมภีร์ใหม่ ( New Testament ) หรือพันธสัญญาใหม่เป็นบันทึกเรื่องราวหลังจากที่พระเยซูประสูติ
 ในภาคพันธสัญญาเดิมนี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งหมด 46 เล่ม (แต่ในคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์หลายนิกายยอมรับเพียง 39 เล่ม) สำหรับภาคพันธสัญญาใหม่ (The new Testament) เป็นส่วนที่ยอมรับกันในหมู่ชาวคริสต์เท่านั้น ประกอบไปด้วยหนังสือหรือข้อเขียน27 เล่ม ซึ่งเป็นบันทึกประวัติและคำสอนของพระเยซูที่เรียกว่า "พระวรสาร" (The Gospels) มีจำนวน 4 เล่ม หนังสือกิจการอัครธรรมทูต 1 เล่ม จดหมายของบรรดาสาวกถึงคริสตชนในที่ต่าง ๆ 21 เล่ม และหนังสือวิวรณ์ 1 เล่ม พระวรสาร 4 คัมภีร์ (The Gospels) คัมภีร์ไบเบิลในส่วนที่เป็นพระวรสาร 4 คัมภีร์ เป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดและ มีผู้วิจารณ์กันมากที่สุด ซึ่งมีดังนี้คือ
  1. พระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ.) มีจำนวน 28 บท
  2. พระวรสารของนักบุญมาระโก (มก.) หรือมาร์ค (Mark) มีจำนวน 16 บท
  3. พระวรสารของนักบุญลูกา (ลก.) หรือลูค (Luke) มีจำนวน 24 บท
  4. พระวรสารของนักบุญยอห์น (ยน.) มีจำนวน 21 บท
เนื้อหาในพระวรสารเกี่ยวกับการเทศน์สอนสาวก เพื่อยืนยันสิ่งที่พวกเขาได้ประสบมาในขณะที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระเยซู และยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์บุตรของพระเจ้า ดังนั้นพระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิต และคำสอนของพระเยซูที่ไม่ธรรมดาเหมือนหนังสือประวัติบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่เป็นหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าจริง พระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ เฉพาะของนักบุญมัทธิวที่เขียนด้วยภาษาอารามาอิค (Aramaic) ถูกยกย่องให้เป็นเล่มแรก ส่วนฉบับปัจจุบันที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลนั้น ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่ใช้ภาษาอารามาอิคแต่เป็นฉบับที่มีผู้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยนำเอาฉบับที่เป็นภาษากรีกมารวมกับฉบับของนักบุญมัทธิว และของนักบุญมาร์คหรือมาระโก รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏนาม ทั้งหมดนี้ถูกเรียบเรียงใหม่แต่ยังคงเรียกว่าพระวรสารของนักบุญมัทธิว ในพระวรสารเล่มนี้ได้กล่าวถึงกำเนิดของพระเยซู การเทศนาสั่งสอนโดยเฉพาะ "การเทศนาบนภูเขา" (Sermon on the Mount) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นแถลงการณ์ฉบับแรกของพระเยซูที่ประกาศโครงการปฏิรูปแนวทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเชื่อกันว่าเทศนาบทนี้เป็นตอนที่ไพเราะที่สุดในงานนิพนธ์ของนักบุญมัทธิว สำหรับพระวรสารของนักบุญมาระโกหรือมาร์ค (Mark) นั้น มีเนื้อหาที่เน้นเฉพาะการเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูมากกว่าเน้นเสนอคำสอน
ส่วนพระวรสารฉบับของนักบุญลูกาหรือลุค (Luke) เป็นพระวรสารที่เน้นเฉพาะ ในเรื่องคำสอนของพระเยซู แต่มีการจัดลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามแบบพระวรสารของนักบุญมัทธิว พระวรสารของนักบุญยอห์นนี้มีเนื้อหาเน้นหนักการประกาศว่า พระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ เพื่อมาไถ่บาปมนุษย์ด้วยการรับทรมานต่าง ๆ จนต่อมาได้กลับคืนชีพ และได้ส่งสาวกออกไปประกาศคำสอนพร้อมด้วยพระจิตของพระเจ้า และอำนาจในการยกบาป นักบุญยอห์นจึงเป็นพยานสำคัญที่ยืนยันความเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูเจ้า
คัมภีร์ไบเบิล
ไบเบิล ( Bible) (มาจากภาษากรีกว่า บิบลิออน แปลว่า หนังสือ) พระคริสตธรรมคัมภีร์ เป็นหนังสือที่บอกเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า, มนุษย์, ความบาป และแผนการของพระเจ้าในการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจากความพินาศอันเนื่องจากความบาป สู่ชีวิตนิรันดร์ เป็นหนังสือที่บันทึกหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์ ซึ่งในบางเล่มมีพื้นฐานมาจากหลักคำสอนของศาสนายูดายของชาวยิว ชาวคริสต์เรียกคัมภีร์ไบเบิลในชื่ออื่น ๆ อีกหลายชื่อเช่น พระวจนะของพระเจ้า (Word of God) หนังสือดี (Good Book) และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Scripture)
คัมภีร์ไบเบิลฉบับภาษาเดนมาร์กของคริสเตียนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก พิมพ์ในกรุงโคเปนเฮเกน ในปี ค.ศ. 1550 จำนวน 3,000 เล่ม คริสตชนทุกคนเชื่อว่า พระคัมภีร์ทุกข้อทุกตอนนั้นได้รับการดลใจจากพระเจ้า ผ่านทางมนุษย์ที่ถูกเลือกให้เขียนพระคัมภีร์ในบทนั้นๆมีจำนวน 73 เล่ม ประกอบด้วยภาคพันธสัญญาเดิม กับพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาเดิมถูกเขียนขึ้นก่อนที่พระเยซูเจ้าประสูติ ส่วนใหญ่เขียนเป็นภาษาฮีบรู มีบางส่วนถูกเขียนด้วนภาษากรีก และภาษาอิยิปต์ ส่วนพันธสัญญาใหม่ ถูกเขียนขึ้นหลังจากพระเยซูเจ้าประสูติแล้ว โดยบันทึกถึงเรื่องราวของพระเยซูเจ้าตลอดพระชนม์ชีพ รวมทั้งคำสอน และการประกาศข่าวดีแห่งความรอด การยอมรับการทรมานและการไถ่บาปของมนุษย์โดยพระเยซูเจ้า การกลับคืนชีพอย่างรุ่งโรจน์ การส่งพระจิตเจ้ามายังอัครสาวก ประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในยุคแรกเริ่ม ภายหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว การเบียดเบียนพระศาสนจักรในรูปแบบต่างๆ พันธสัญญาใหม่ทั้งหมดเขียนเป็นภาษากรีก โดยเหล่านักบุญอัครสาวก
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมถูกนำมารวมเล่มเมื่อใดและอย่างไร แต่ในสมัยของพระเยซู พระคัมภีร์เดิมก็ได้ถูกรวบรวมไว้อย่างครบถ้วนแล้ว แต่ถึงแม้จะไม่ทราบความเป็นมา ก็ยังมีเหตุผลเชื่อถือได้ว่าพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่มีอยู่ทุกวันนี้ คงความถูกต้องทุกคำพูดมาจากสมัยแรกของอิสราเอล เนื่องจากขั้นตอนการคัดลอกพระคัมภีร์ของชาวยิวมีความเคร่งครัดมาก หากพบข้อผิดพลาดหรือตำหนิอย่างใด จะไม่แก้ไขแต่ทำลายทิ้งแล้วเริ่มคัดลอกใหม่หมด
ส่วนพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ประกอบด้วยข้อเขียนของบุคคลสำคัญหลายคน ซึ่งเริ่มแรกมีวัตถุประสงค์ในการเขียนแตกต่างกันออกไป เช่น พระวรสารนักบุญมัทธิว เขียนขึ้นเพื่อคริสตชนที่มีภูมิหลังเป็นชาวยิว พระวรสารนักบุญมาระโก เขียนให้คริสตชนที่ส่วนใหญ่เป็นกรีก ในขณะที่พระวรสารนักบุญลูกา เจาะจงเลยว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราวของพระเยซูให้กับชายคนหนึ่งที่ชื่อ เธโอฟิลัส จดหมายเหตุของนักบุญเปาโล ส่วนมากถูกเขียนเพื่อส่งถึงพระศาสนจักรบางแห่ง เป็นต้น แม้ว่าจุดประสงค์ในการเขียนหนังสือแต่ละเล่มมีที่หมายแน่ชัด แต่ในไม่ช้าก็กลายเป็นสมบัติส่วนรวม เช่น เมื่อพระศาสนจักรแห่งหนึ่งได้รับจดหมายจากนักบุญเปาโลก็ได้คัดลอกส่งต่อไปให้พระศาสนจักรอื่นได้อ่านด้วย เวลาผ่านไปฉบับเดิมก็เปื่อยหรือสูญหายไป จึงไม่เหลือต้นฉบับดั้งเดิม แต่จากการเปรียบเทียบกับฉบับที่ถูกคัดลอกไว้มากมาย สามารถยืนยันได้ว่าตรงกับต้นฉบับจริงแน่นอน
ภาคพันธสัญญาเดิม
พระคริสตธรรมคัมภีร์ ประกอบด้วย ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) มีหนังสือทั้งหมดจำนวน 46 เล่ม แบ่งได้เป็นสี่ส่วนใหญ่คือ
  • ปัญจบรรพ ประกอบด้วยหนังสือปฐมกาล จนถึง หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ
  • ประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยหนังสือโยชูวา จนถึง หนังสือเอสเธอร์
  • เพลง ประกอบด้วยหนังสือโยบ จนถึง หนังสือเพลงโซโลมอน
  • ประกาศก ประกอบด้วยหนังสืออิสยาห์ จนถึง หนังสือมาลาคี
  1. หนังสือปฐมกาล กล่าวถึงการทรงสร้างโลกของพระเจ้า ประวัติของมนุษย์รุ่นแรกๆ บนโลก
  2. หนังสืออพยพ กล่าวถึงการอพยพของชาวอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ มาตั้งถิ่นฐาน ซึ่งมีการนำโดยโมเสส
  3. หนังสือเลวีนิติ กล่าวถึงบัญญัติของพระเจ้าที่ให้กับชาวอิสราเอล กฎเกณฑ์ต่างๆในการดำเนินชีวิตของชาวอิสราเอล โดยผ่านทางโมเสส
  4. หนังสือกันดารวิถี กล่าวถึงการที่ชาวอิสราเอล ต้องผจญความทุกข์ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งนำโดยโมเสส
  5. หนังสือเฉลยพระธรรมบัญญัติ เป็นการสรุปพระธรรมบัญญัติและกล่าวตักเตือนประชากรอิสราเอลให้เชื่อฟังพระเจ้าโดยโมเสส ก่อนที่โมเสสจะเสียชีวิต
  6. หนังสือโยชูวา กล่าวถึงประวัติอิสราเอล ในสมัยที่ โยชูวา ซึ่งเป็นผู้เผยวจนะต่อจากโมเสส
  7. หนังสือผู้วินิจฉัย
  8. หนังสือนางรูธ กล่าวถึงหญิงสาวนางหนึ่งที่มีความประพฤติดี
  9. หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 1
  10. หนังสือซามูเอล ฉบับที่ 2
  11. หนังสือพงษ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 ประวัติของประเทศอิสราเอลและกษัตริย์อิสราเอลรวมทั้งราชวงศ์ ฉบับที่ 1
  12. หนังสือพงษ์กษัตริย์ ฉบับที่ 2 ประวัติของประเทศอิสราเอลและกษัตริย์อิสราเอลรวมทั้งราชวงศ์ ฉบับที่ 2
  13. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 1 เนื้อหาเดียวกับพงษ์กษัตริย์ แต่ถูกเขียนจากบุคคลที่ต่างกัน และมุมมองต่างกัน (ฉบับที่ 1)
  14. หนังสือพงศาวดาร ฉบับที่ 2 เนื้อหาเดียวกับพงษ์กษัตริย์ แต่ถูกเขียนจากบุคคลที่ต่างกัน และมุมมองต่างกัน (ฉบับที่ 2)
  15. หนังสือเอสรา
  16. หนังสือเนหะมีย์
  17. หนังสือเอสเธอร์ *
  18. หนังสือโยบ
  19. หนังสือสดุดี รวบรวมบทเพลง และคำสรรเสริญพระเจ้า จากกษัตริย์หลายพระองค์ของอิสราเอล เช่นกษัตริย์ดาวิด
  20. หนังสือสุภาษิต รวบรวมคำสอน คำสุภาษิต ของชาวอิสราเอลจากบุคคลหลายคนที่สำคัญ เช่นกษัตริย์โซโลมอน
  21. หนังสือปัญญาจารย์
  22. หนังสือเพลงซาโลมอน
  23. หนังสือประกาศอิสยาห์ เป็นพยากรณ์การมาบังเกิดของพระเยซู
  24. หนังสือประกาศเยเรมีย์
  25. หนังสือเพลงคร่ำครวญ
  26. หนังสือประกาศเอเสเคียล
  27. หนังสือประกาศดาเนียล*
  28. หนังสือประกาศโฮเซยา
  29. หนังสือประกาศโยเอล
  30. หนังสือประกาศอาโมส
  31. หนังสือประกาศโอบาดีห์
  32. หนังสือประกาศโยนาห์
  33. หนังสือประกาศมีคาห์
  34. หนังสือประกาศนาฮูม
  35. หนังสือประกาศฮาบากุก
  36. หนังสือประกาศเศฟันยาห์
  37. หนังสือประกาศฮักกัย
  38. หนังสือประกาศเศคารียาห์
  39. หนังสือประกาศมาลาคี
  40. หนังสือโทบิต **
  41. หนังสือยูดิธ **
  42. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 1 **
  43. หนังสือมัคคาบี ฉบับที่ 2 **
  44. หนังสือปรีชาญาณ **
  45. หนังสือบุตรสิรา **
  46. หนังสือประกาศบารุค **
ในเครื่องหมาย * จำนวนบทและข้อพระคัมภีร์ของนิกายโปรแตสแตนท์จะมีน้อยกว่าของนิกายโรมันคาทอลิก และนิกายออโธด็อก ในเครื่องหมาย**เป็นพระคัมภีร์สารบบที่2 มีใช้ในนิกายโรมันคาทอลิกกับนิกายออโธด็อกซ์ โปรแตสตันท์ จะไม่ยอมรับหนังสือ 7 เล่มนี้ และได้ตัดออกไป(นักบุญเยโรมผู้จัดสารบบพระคัมภีร์ได้จัดให้มีไว้ 73 เล่ม แต่โปรแตสตันท์มาตัดออกเองในภายหลัง)
พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาใหม่ (The New Testament)
เป็นพระธรรมที่ถูกเขียนขึ้นภายหลังจากการประสูติของพระเยซู มีจำนวน 27 เล่ม ดังนี้
  1. พระวรสารนักบุญมัทธิว - นักบุญมัทธิวอีแวนเจลลิส
  2. พระวรสารนักบุญมาระโก - นักบุญมาระโกอีแวนเจลลิส
  3. พระวรสารนักบุญลูกา - นักบุญลูกาอีแวนเจลลิส
  4. พระวรสารนักบุญยอห์น - นักบุญยอห์นอีแวนเจลลิส
  5. หนังสือกิจการอัครสาวก ในหนังสือนี้ ได้เน้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรในยุคแรกเริ่ม ภายหลังการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้าแล้ว อัครสาวกได้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ต่อมา โดยได้เล่าถึงการต้อนรับบ้าง การกีดกันบ้าง การเบียดเบียนพระศาสนจักรในรูปแบบต่างๆบ้าง นอกจากนั้น จะได้พบเรื่องราวของบุคคลสำคัญในศาสนาบางคนเช่น การเป็นปฐมมรณสักขีของ นักบุญสเทเฟน และที่สำคัญคือ การเบียดเบียนพระศาสนจักร และการกลับใจของนักบุญเปาโล
  6. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวโรม
  7. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 1
  8. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวโครินธ์ ฉบับที่ 2
  9. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวกาลาเทีย
  10. จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเอเฟซัส
  11. จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวฟีลิปปี
  12. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงชาวโคลิสี
  13. จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 1
  14. จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวเธสะโลนิกา ฉบับที่ 2
  15. จดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 1
  16. จดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉบับที่ 2
  17. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงทิตัส
  18. จดหมายนักบุญเปาโล ถึงฟิโลโมน
  19. จดหมายถึงชาวฮิบรู
  20. จดหมายของนักบุญยากอบ
  21. จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 1
  22. จดหมายของนักบุญเปโตร ฉบับที่ 2
  23. จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 1
  24. จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 2
  25. จดหมายของนักบุญยอห์น ฉบับที่ 3
  26. จดหมายของนักบุญยูดา
  27. หนังสือวิวรณ์ โดยนักบุญยอห์น นิพนธ์โดยนักบุญยอห์น อัครสาวก ตามพระคัมภีร์กล่าวว่า นักบุญยอห์นได้นิพนธ์ขึ้นตามนิมิตของท่าน และเป็นภาษาสัญลักษณ์ทั้งหมด

หลักคำสอนของศาสนาคริสต์

บรรดาคำสอนทั้งหลายของพระเยซูนั้นเทศนาบนภูเขา (Sermon on the Mount) เป็นคำสอนที่จัดเป็นระบบมากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่ต้องการปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นหลักจริยธรรมที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ปฏิบัติเพื่อความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งควรแก่การศึกษา โดยตัดมาบางข้อพอเป็นสังเขปและจัดเรียงหัวข้อตามที่ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ
  1. ผู้เป็นสุข หรือบรมสุข 8 ประการ คำสอนนี้มีลักษณะส่งเสริมการให้กำลังใจแก่คนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้นว่าตนเองจะรู้สึกว่ามีความบกพร่องไม่ดีพอ เป็นคนมีทุกข์โศกเศร้า เป็นคนจิตอ่อนโยน เป็นคนรักความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นคนจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้งข่มเหง บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องยินดียินร้ายต่อคำนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มเหงของผู้ข่มเหงเหล่านั้น
  2. เกลือแห่งแผ่นดินโลก คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไม่ หาคุณค่าใดไม่ได้เลย
  3. ความสว่างของโลก คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก
  4. พระธรรมบัญญัติใหม่ (The New Testament) คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  5. ความโกรธ คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน
  6. การล่วงประเวณี คำสอนได้แสดงให้เห็นถึง การปฏิรูปทางความคิดแต่เดิมที่มุ่งหมายเฉพาะการล่วงประเวณีที่เกิดขึ้นทางกายแต่พระเยซูได้สอนให้ลึกซึ้งไปกว่านี้ โดยเตือนให้ทุกคนระวังการล่วงประเวณีทางใจ ซึ่งเกิดจากความพอใจในทางจิตวิญญาณ ดังนั้นถ้าร่างกายเราส่วนใดส่วนหนึ่งทำผิด ทำบาป ควรทำลายส่วนนั้นทิ้งเสีย เพราะถึงจะเสียอวัยวะไปก็ดีกว่าตัวเราจะต้องลงนรก
  7. การหย่าร้าง คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงโลกทัศน์อันยาวไกลของพระเยซูที่เห็นว่า แต่เดิมมาที่มีการอนุญาตให้บุคคลทั้งหลายหย่ากันอย่างง่าย เพียงแค่ทำหนังสือหย่ากันก็เป็นการเพียงพอแล้วนั้น เท่ากับเปิดโอกาสให้บุคคลไม่เกรงกลัวต่อบาป การแต่งงานก็จะเกิดขึ้นเพราะความพอใจแต่ขาดความรับผิดชอบและการหย่าร้างก็จะมีมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ชี้นำและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ก่อนที่สังคมจะเต็มไปด้วยคนทำชั่วเพราะความไม่รู้จริง
  8. การสบถสาบาน คำสอนนี้ได้ทำให้เห็นว่า ให้บุคคลยึดถือสัจจะและความจริงใจอย่างมั่นคง โดยไม่จำเป็นต้องไปอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักประกันคำพูดของตนเอง คนที่มีจิตใจมั่นคงในคำสอนของศาสนาย่อมไม่กล่าวคำเท็จ และมีความเชื่อมั่นในตนเองทำทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์
  9. การตอบแทน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูไม่ต้องการให้บุคคลทั้งหลายมีจิตใจอาฆาตแค้นต่อกัน คำสอนในตอนนี้ทำให้นึกถึงการละอัตตาในพุทธศาสนา ตราบใดที่คนเรายังมีความ ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นและพระเจ้าได้
  10. รักศัตรู คำสอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงหลักแห่งความเมตตากรุณาต่อสัตว์โลกทั้งหลาย แม้แต่ศัตรูผู้ที่คิดร้าย บุคคลนั้นได้ชื่อว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เพราะสามารถต้านทานกิเลสในจิตใจได้
  11. การทำทาน คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูต้องการให้บุคคลทำดีจนเคยชินเป็นนิสัย มากกว่าที่จะทำบุญเพื่อหวังบำเหน็จรางวัล เพราะความดีที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ
  12. การอธิษฐาน คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่าการสวดมนต์อธิษฐานด้วยความเคารพอย่างแท้จริงนั้น ต้องไม่อวดตัวว่าเป็นผู้เคร่งศาสนาและเป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ผู้ปฏิบัติต่อศาสนาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ
  13. การถืออดอาหาร คำสอนนี้ สะท้อนให้บุคคลปฏิบัติทางศาสนาด้วยความเชื่อมั่น การถืออดอาหารเป็นการปฏิบัติทางศาสนาที่ทุกคนควรเต็มใจทำ แต่ไม่ใช่จำใจทำ เพราะนั่นไม่ใช่ความดีที่แท้จริง
  14. ทรัพย์สมบัติในสวรรค์ คำสอนนี้ ทำให้เกิดแนวคิดในเรื่องการทำจิตให้หมดความยึดถือในทรัพย์สมบัติ ภายนอกกาย แต่ความดียิ่งทำมากเท่าใดสวรรค์ย่อมเป็นที่ไปสำหรับบุคคลนั้น
  15. ประทีปของร่างกาย คำสอนนี้ทำให้เราคิดได้ว่าความสว่างในจิตใจนั้นเกิดจากมุมมองอันถูกต้องถ้าดวงตา สามารถหยั่งเห็นสัจธรรมของชีวิตได้ การดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปตามปกติ
  16. พระเจ้าและเงินทอง คำสอนนี้สะท้อนแนวคิดที่ว่า คนเราไม่สามารถยึดถือเงินตราหรือพระเจ้าเป็น ที่พึ่งอาศัย โดยพร้อมกันทั้งสองอย่าง แต่จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความรักและสัตย์ซื่ออย่างหมดหัวใจ และจะต้องหมิ่นประมาทอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะนายทั้งสองนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
  17. ความกระวนกระวาย คำสอนนี้ทำให้เห็นว่า มนุษย์รักและศรัทธาในพระเจ้าก็ควรจะวางใจเชื่อ พระองค์ ให้คำนึงถึงแต่ปัจจุบันเท่านั้น และทำดีให้ถึงที่สุดของความดีนั้น
  18. การกล่าวโทษผู้อื่น คำสอนนี้ทำให้เกิดความคิดที่ว่า "บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผล อย่างนั้น" เรากล่าวโทษผู้อื่นอย่างไร และเราก็จะถูกกล่าวโทษเช่นนั้นบ้าง คนส่วนมากไม่ใคร่มอง ตนเอง แต่มักเพ่งโทษของผู้อื่น จึงมองไม่เห็นความชั่วของตนทำให้เป็นผู้ที่โลกทัศน์มืดมัวและปัญญามืดบอด
  19. ขอหาเคาะ คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ย่อมมีน้ำพระทัยเมตตาแก่ผู้ทุกข์ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือพระเจ้าย่อมไม่ทอดทิ้ง พระองค์ดีต่อพวกเขาอย่างไร พวกเขาก็ควรที่จะดำเนินตามรอยพระองค์ ด้วยการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติ เช่นนั้นต่อพวกเขา
  20. ประตูคับแคบ คำสอนนี้เป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาทคนส่วนมากชอบความง่าย ความสะดวกสบาย จึงพลาดต่อการทำผิดทำชั่ว จิตที่ชอบความสะดวกสบาย จึงมีคนน้อยมากที่จะยอมประพฤติปฏิบัติความดีงามและยอมต้านกระแสความต้องการของโลก คนส่วนมากเลือกประตูกว้างซึ่งเป็นทางที่สะดวกกว่าประตูที่คับแคบเช่นเดียวกับคนส่วนมากเลือกที่จะทำชั่วมากกว่าที่จะทำความดีเพราะการทำดีนั้นยากลำบาก ต้องใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง
  21. รู้จักต้นไม้ด้วยผลของมัน คำสอนนี้เป็นการเตือนใจบุคคลให้รู้จักเฟ้นบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ศรัทธา เพียงเพราะเห็นว่ามีท่าทีน่าเลื่อมใส แต่ให้ดูผลงานของบุคคลที่บอกถึงคุณค่าที่แท้จริงของเขา
  22. เราไม่เคยรู้จักเจ้าเลย คำสอนนี้ได้แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่เอ่ยเรียกพระเจ้าบ่อยครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิอยู่ในอาณาจักรสวรรค์ เพราะปากที่เคยพร่ำถึงอยู่เสมอแต่ไม่เคยปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นคนดีที่แท้จริง และเป็นคนที่พระเจ้าไม่เคยรู้จัก
  23. รากฐานสองชนิด คำสอนนี้เป็นตอนสุดท้ายที่ย้ำเตือนให้บุคคลทั้งหลาย นำคำสอนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นไปปฏิบัติซึ่งจะเกิดผลดีแก่เขาทั้งโลกนี้และโลกหน้า อีกทั้งเป็นการเตือนสติบุคคลให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท
คำสอนคาทอลิกเบื้องต้น
คือหนังสือบันทึก ประวัติความสัมพันธ์ ระหว่างพระ กับมนุษย์ ข้อพึงระวังในการอ่านพระคัมภีร์คือ พระธรรมคัมภีร์นั้นเป็นพระวจนะ (พระวาจา)ของพระเป็นเจ้า ตรัสเล่าความจริงใน แง่ศาสนา มุ่งสอนมนุษย์ให้เข้าใจ ประวัติความรอดของมนุษย์ พระธรรมคัมภีร์แบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคพันธสัญญาเดิม (เคยใช้ว่า "พระธรรมเก่า - Old Testament") เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นก่อนพระเยซูทรงสมภพ ประกอบด้วยหนังสือต่างๆ 46 เล่ม เช่น หนังสือปฐมกาล, อพยพ, พงศ์กษัตริย์ ฯลฯ ที่จริงข้อความในพันธสัญญาเดิมเป็นแผนการของพระเป็นเจ้า เพื่อเตรียมมนุษยชาติต้อนรับพระผู้ไถ่ (พระแมสสิยาห์) นั่นเอง ภาคพันธสัญญาใหม่ (เคยใช้ "พระธรรมใหม่ - New Testament") เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นภายหลังพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ ประกอบด้วยหนังสือต่างๆ 27 เล่ม ได้แก่ พระวรสาร 4 ฉบับ, หนังสือกิจการอัครสาวก และจดหมายต่างๆถึงกลุ่มคริสตชนรุ่นแรก ภาคพันธสัญญาใหม่คือพระชีวประวัติ และคำสั่งสอนโดยย่อของพระเยซูนั่นเอง
จากพระคัมภีร์ เราทราบว่า พระเป็นเจ้าทรงปรากฏพระองค์ หรือมีพระสุรเสียงตรัสกับมนุษย์หลายครั้ง เช่น กับอดัมและอีฟ (พ่อแม่คู่แรกของมนุษย์), กับคาอิน, กับโนอาห์, กับอับราฮัม, อิสอัก, ยากอบ, โมเสส ฯลฯ และโดยองค์พระเยซูคริสตเจ้าเอง พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในโลกประมาณ 33 ปี ทรงประทานแบบฉบับ และพระโอวาทอันบันดาลชีวิต และที่สุดทรงสมัครพระทัยรับทรมานแสนฉกรรจ์ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน เพื่อกอบกู้มนุษยชาติ สามวันต่อมา พระองค์ทรงกลับฟื้นคืนพระชนม์ แล้วเสด็จสู่สวรรค์ต่อหน้าคณะอัครสาวก และสานุศิษย์ นอกจากทรงปรากฏพระองค์โดยตรงแล้ว พระเป็นเจ้ายังทรงดลใจมนุษย์บางคนให้ พูด สอน แทนพระองค์ ท่านเหล่านี้เราเรียกว่า "ประกาศก" เช่น ซามูเอล, เยเรมีย์, อิสยาห์, ดาวิด, ดาเนียล ฯลฯ อาศัยพระคัมภีร์ มนุษย์สามารถรู้จักพระเป็นเจ้า และน้ำพระทัยของพระองค์ สามารถประพฤติตนสมเป็นลูกที่ดีของพระองค์ได้ จากหลักเหตุผล
นอกจากพระเป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยพระองค์ทางพระคัมภีร์แล้ว มนุษย์อาศัยตรรกญาณ หรือความคิดหาเหตุผล ก็สามารถยืนยันว่า มีพระเจ้า หรือท่านผู้สร้าง หรือผู้เป็นใหญ่ในสกลโลกได้ หลักเหตุผลที่สำคัญคือ
  • เราเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกล้วนอนิจจัง มีเริ่มต้น แปรปรวนไป และแตกดับในที่สุด ปัญหามีอยู่ว่า สรรพสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นอย่างไร อยู่ดีๆก็ออกมาจากความว่างเปล่ากระนั้นหรือ? เป็นไปไม่ได้ เพราะความว่างจะเกิดได้แต่ความว่างเปล่า 0+0=0 สรุปว่า "สรรพสิ่งที่อนิจจัง" ต้องได้รับความเป็นอยู่จาก "สิ่งที่คงอยู่ถาวร"
  • หากพิจารณาต่อไป จะเห็นว่าสรรพสิ่งประกอบด้วยอำนาจและพลังต่างๆซึ่งเคลื่อนไหวอย่างมีระบบน่าพิศวง แสดงว่าต้องมี"วิศวกรผู้ทรงปัญญาลึกล้ำ" ได้ออกแบบ และวางกฏเกณฑ์ไว้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ
  • เรายังเห็นว่า สิ่งที่มีชีวิต ล้วนแต่เกิดต่อๆกันมาจากสิ่งที่มีชีวิตอยู่ก่อนแล้ว เช่น เราเกิดมาแต่พ่อแม่ พ่อแม่เกิดมาแต่ปู่ย่าตายาย ฯลฯ แต่จะถอยหลังขึ้นไปเช่นนี้มิรู้จบก็ไม่ได้ จำต้องไปถึงมนุษย์คนแรก…..ถ้าเป็นข้าวก็เป็นข้าวต้นแรก หรือเมล็ดแรก…..ถ้าเป็นไก่ก็เป็นไก่ตัวแรก หรือไข่ฟองแรก ฯลฯ
แต่สิ่งแรกเหล่านี้มิได้ดำรงอยู่ตลอดนิรันดร ล้วนได้รับชีวิตจากสิ่งอื่น สิ่งนั้นต้องมีชีวิตอยู่ก่อนสิ่งทั้งหลาย สิ่งนั้นต้อง "เป็นอยู่โดยจำเป็น" ไม่ขึ้นแก่ใคร ไม่ได้รับชีวิตจากใคร สรุปว่า "สิ่งที่คงอยู่ถาวร" ที่ให้ความเป็นอยู่แก่ สรรพสิ่งอนิจจังก็ดี "ผู้ประสาทชีวิตแรก" แก่สิ่งทั้งหลายก็ดี เราคริสตังถวายพระนามว่า "พระเป็นเจ้า" หรือ "พระผู้สร้าง
จากหลักประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าประชาชาติทั้งหลาย แม้ที่ป่าเถื่อนล้าหลัง ก็เชื่อว่ามี"พระ" หรือ "สิ่งศักดิสิทธิ์" ที่เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ เห็นได้จาก แท่นบูชา รูปเคารพ การบวงสรวง การเซ่นไหว้ ฯลฯ อนึ่ง, ตลอด 3 ศตวรรษหลังที่ผ่านมา โลกมีปราชญ์คนสำคัญๆถึงกว่า 200 คน ปราชญ์เหล่านี้ร้อยละ 92 เชื่อว่ามีพระเจ้า ถ้าเป็นเรื่องเหลวไหลงมงาย ก็ต้องแสดงว่าปราชญ์ส่วนมากช่างโง่เง่าเสียนี้กระไร
จากมโนธรรม ของแต่ละคน ในตัวเราแต่ละคน ต่างตระหนักแน่ว่ามี กฎหมายอย่างหนึ่งจารึกอยู่ในส่วนลึกของหัวใจ….กฎหมายนี้คริสตังเราเรียกว่า "มโนธรรม (Conscience)" คือธรรมะประจำใจของทุกคน เมื่อมี "กฎ" ก็ต้องมี "ผู้ตรา" ขึ้น และ "บังคับ" ให้เป็นไปตามกฎนั้น กฏมโนธรรมซึ่งเป็นทั้งพยาน ทั้งตุลาการ สนองให้เป็นไปตามกฎ เป็นผู้อยู่นอก และอยู่เหนือมนุษย์ ก็ต้องต้องมีผู้ตราขึ้น ผู้นั้นคือ พระเป็นเจ้า นั่นเอง
พระเป็นเจ้าทรงเป็นจิต ซึ่งเป็นพระธรรมชาติเฉพาะของพระองค์ เช่นเดียวกับมนุษย์ก็มีธรรมชาติของมนุษย์ (คือ กายและวิญญาณ ร่วมสนิกกันเรียกว่า มนุษย์) พระธรรมชาติของพระเป็นเจ้า คือ ทรงเป็นจิตเดียว ไร้ขอบเขต และแบ่งแยกไม่ได้ จิต คือไม่มีรูปร่างทางวัตถุ สัมผัสด้วยประสาททั้ง 5 มิได้ จิตจึงแบ่งแยกไม่ได้ แต่จิตสามารถคิดได้ รัก และทำงานด้วยตนเองได้ พระเป็นเจ้าจำเป็นต้องเป็นจิต เพราะกายมีขนาดจำกัด ซึ่งขัดกับความเป็นจิตไร้ขอบเขตของพระองค์ เพื่อแสดงพระสรรพานุภาพ และแผ่ความรักหาที่เปรียบมิได้ของพระองค็ พระองค์ทรงสร้างนิกรเทวดา และสกลจักวาล (เอกภพ) รวมทั้งมนุษย์ การสร้างสรรค์ (Creation) ของพระ ผิดแผกกับมนุษย์สร้างบ้าน หรือประดิษฐ์คิดค้นสิ่งไดขึ้นมา พระเป็นเจ้าทรงสรรพานุภาพ เมื่อประสงค์จะทำสิ่งใด เพียงแต่ทรงคิด (ดำริ) สิ่งนั้นก็จะเป็นอันสำเร็จทันที โดยที่พระองค์ทรงเป็น องค์ปฐมเหตุ (เหตุแรก) ของสิ่งสร้างทั้งหลาย เหตุแรกแท้ อันจำเป็นต้องมีนั้น จึงมีหลายเหตุมิได้ เราเรียกเหตุแรกนั้นว่า พระ (พระเป็นเจ้า) พระที่ทรงความสมบูรณ์ไร้ขอบเขต จึงจำเป็นมีได้แต่เพียง องค์เดียว พระเป็นเจ้าทรงยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต แต่สติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ (ซึ่งเป็นสิ่งสร้าง)มีขอบเขตจำกัด เราจึงมิอาจล่วงรู้ และเข้าใจพระธรรมชาติ และแผนการของพระเป็นเจ้า โดยทะลุปรุโปร่งได้เลย ดุจภาชนะน้อยมิอาจบรรจุน้ำทะเลได้หมด
ข้อที่พระองค์ทรงเปิดเผยให้รู้ เราก็รู้ แต่มิอาจเข้าใจได้ตลอด เรียกว่า "อัตถ์ลึกซึ้ง" หรือ"พระธรรมล้ำลึก" การที่มีอัตถ์ลึกซึ้งในพระศาสนา มิใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย ในธรรมชาติเองก็มีสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจอีกมากมาย เช่น ชีวิต, ไฟฟ้า, วิทยุ เป็นอะไร? เราไม่รู้ รู้แต่ลักษณะ หรือคุณสมบัติ ของมันบ้างเท่านั้น ฉะนั้น เรื่องที่พระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต ถ้ามนุษย์สามารถรู้จักพระองค์โดยทะลุปรุโปร่งได้ เรื่องของพระองค์ก็จะเป็นเพียงธรรมชาติวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ หรืออย่างมากก็แค่ปรัชญา เท่านั้น หาใช่ ศาสนา ไม่
พระธรรมล้ำลึกขั้นพื้นฐาน ของคาทอลิกมี 3 ข้อ
  1. เรื่องพระตรีเอกภพ คือพระเป็นเจ้าหนึ่งเดียว ทรงเป็น 3 พระบุคคล ต่างกัน และเท่าเสมอกันทุกประการ ได้แก่ พระบิดา พระบุตร และพระจิต
  2. การที่พระบุตร (พระบุคคลที่ 2 ) เสด็จมารับสภาพมนุษย์ ทรงพระนามว่า "พระเยซูคริสตเจ้า"
  3. การไถ่บาปมนุษย์ ทำให้มนุษยชาติสามารถไปร่วมเสวยนิรันดรสุขกับพระองค์ในสวรรค์ได้
บทสรุปพระธรรมล้ำลึกทั้งสามข้อนี้ คือบทสำคัญมหากางเขน : "เดชะพระนาม พระบิดา และพระบุตร และพระจิต อาเมน" ถือเป็น "เครื่องหมายภายนอกของคริสตัง" สิ่งที่พระเป็นเจ้าทรงสร้าง แบ่งกว้างๆได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
  1. สิ่งที่แลเห็นไม่ได้ ได้แก่ พลังงาน และจิตต่างๆ
  2. สิ่งที่แลเห็นได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 อย่างคือ
    - ไม่มีชีวิต เช่น ดิน ทราย แร่ธาตุต่างๆ
    - มีชีวิต ได้แก่ พวกพืช สัตว์ และมนุษย์
ทรงสร้างเทวดา (Angels) ก่อนจะทรงสร้างสกลจักรวาล (เอกภพ) พระเป็นเจ้าทรงสร้าง "เทวดา" ซึ่งเป็นจิตล้วน เพื่อรับใช้พระองค์ในสวรรค์
การทดลองเทวดา ก่อนที่พระเป็นเจ้าจะให้เทวดา รับความสุขนิรันดร(สวรรค์) พระองค์ทรงทดลองน้ำใจของเทวดาด้วย น่าเสียดายเทวดาบางพวกซึ่งมีลูซีแฟร์ (Lucifer) เป็นหัวหน้า ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระ จึงถูกลงโทษสู่นรก กลายเป็นผีปีศาจ (Devils) ในทันที หัวหน้าเทวดากบฏนี้บางทีเรียกว่า "ซาตาน (Satan)" ปีศาจริษยามนุษย์ ไม่อยากให้มนุษย์ทำดี จะได้ไปสวรรค์ ปีศาจจึงมาล่อลวงมนุษย์ให้เห็นผิดเป็นชอบ ให้ทรยศต่อพระ (ทำบาป) จะได้ตกนรกไปเป็นบริวารของมัน
เทวดารักษาตัว หรือ อารักขเทวดา หลังจากการทดลองแล้ว เทวดาที่จงรักภักดีต่อพระ ก็ได้ร่วมเสวยนิรันดรสุขกับพระ รับใช้พระองค์ เช่นอัครเทวดากาเบรียล ถือสารมาแจ้งแก่พระแม่มารีย์ เป็นต้น นอกจากนั้น พระเป็นเจ้ายังโปรดให้มนุษย์แต่ละคน มีเทวดาองค์หนึ่ง คอยพิทักษ์รักษา เรียกว่า "เทวดารักษาตัว (อารักขเทวดา)"
การสร้างมนุษย์ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเล่มแรก (ปฐมกาล) เล่าเรื่องการสร้างสรรค์ว่า หลังจากทรงสร้างสิ่งต่างๆในเอกภพแล้ว ที่สุดทรงสร้างมนุษย์ เป็นชาย-หญิง คู่แรกชื่อ อดัม และเอวา พระองค์ทรงประสาทพรให้ท่านทั้งสอง บังเกิดบุตรหลานสืบต่อๆไปจนทั่วแผ่นดิน และทรงมอบให้ท่านปกครองดูแลสรรพสิ่งในโลกด้วย
ทำไมจึงว่า มนุษย์เป็นยอดของสิ่งสร้างทั้งหลายในโลก เพราะมนุษย์ประกอบด้วย ร่างกาย ภายนอกที่แลเห็นได้ และวิญญาณ (Soul) เป็นจิต ที่สามารถคิดหาเหตุผลได้ (มีสติปัญญา) และมีอำเภอใจ (อิสระเสรี) ที่จะเลือกทำดีได้ ทำชั่วได้
จุดประสงค์ของการสร้างมนุษย์ พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์สำหรับพระองค์เอง คือให้มนุษย์ใช้สติปัญญาศึกษา ให้รู้จักพระ รู้แล้วจะได้รัก และปฏิบัติพระองค์ สุดกำลังความสามารถ นอกนั้นยังทรงประสงค์ "ให้มนุษย์รัก และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันด้วย" ถ้ามนุษย์ปฏิบัติได้ครบถ้วนตามพระประสงค์นี้ ก็สมจะได้สวรรค์ในโลกหน้า 1. สิ่งสร้างที่ไร้สติปัญญา ต้องเดินตาม "กฎธรรมชาติ" ที่พระองค์ทรงตราไว้อย่างเข้มงวดตายตัว เช่น พระอาทิตย์ไม่เดินถอยหลัง ต้นขนุนไม่ออกผลเป็นมังคุด ฯลฯ 2. ส่วนมนุษย์ ที่กอบด้วยสติปัญญา พระองค์ทรงวาง "กฎศีลธรรม (พระบัญญัติ)" ให้ถือตาม
กฎศีลธรรม ไม่ข่มบังคับจนกระดิกตัวมิได้ คือพระองค์ทรงปล่อยให้มนุษย์มีอิสระเสรีในพฤติกรรมนั้นๆเอง ถ้าสมัครใจทำดีตามระเบียบ(น้ำพระทัย หรือพระบัญญัติ) ที่วางไว้ก็เป็นบุญกุศล (ความดี) ถ้าสมัครใจทำชั่ว ขัดขืนน้ำพระทัยของพระ ก็เป็น บาปอกุศล (ความชั่ว)
พระเป็นเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาใน "สถานะความสุข" ให้ท่านทั้งสองเจริญชีวิตสุขสบาย ในสวนเอเดน(อุทยานสวรรค์ ณ แผ่นดิน) ท่านทั้งสองได้รับชีวิต 2 อย่าง คือ
  1. ชีวิตตามธรรมชาติ คือ การที่กาย และวิญญาณร่วมสนิทกัน
  2. ชีวิตเหนือธรรมชาติ คือ การมีส่วนในชีวิตพระ ทำให้เป็นบุตรบุญธรรมของพระ มีสิทธิ์มีส่วนในมรดก(ทายาท)สวรรค์
นอกนั้นอาดัมและเอวายังได้รับเอกสิทธิ์พิเศษ หรือพระคุณนอกธรรมชาติ คือ
  • ทางกาย ไม่เจ็บไข้ ไม่เหน็ดเหนื่อยลำบาก ไม่ตาย (อมร)
  • ทางวิญญาณ มีสติปัญญาเฉียบแหลม มีเจตนาซื่อตรง ไม่เอนเอียงไปทางบาปอกุศล
"นี่แหละแผนการแรกของพระ ในการสร้างมนุษย์"
อาดัมและเอวาตลอดจนลูกหลานจะดำรงสถานะดังกล่าวนี้ทั้งหมด ก็ต้องเคารพเชื่อฟังพระเป็นเจ้า อาดัมและเอวาดำรงอยู่ในสถานะความสุขดังกล่าวเพียงชั่วระยะหนึ่ง แล้วท่านก็ทำให้สถานะเดิมเสียไป โดยหลงเชื่อปีศาจ คิดมักใหญ่ใฝ่สูง จะใคร่เป็นใหญ่เท่าพระเป็นเจ้า
บาปกำเนิด (Original Sin)
หมายถึงบาปแรกที่มนุษย์คู่แรกกระทำ และมลทินบาปนี้ยังสืบเนื่องตกทอดมาถึงมนุษยชาติที่เป็นลูกหลานด้วย โทษของบาปกำเนิด อาดัมและเอวาถูกขับออกจากสวนเอเดน ต้องทำมาหากินด้วยความยากลำบาก เกิดโรคภัยเบียดเบียน และสุดท้ายต้อง "ตาย"
  1. เสียชีวิตเหนือธรรมชาติ คือเสียสิทธิ์เป็นทายาทสวรรค์
  2. ลูกหลานเกิดต่อมาก็พลอยมีส่วนในมลทินโทษนี้ด้วย เรียกว่าติดมลทิน "บาปกำเนิด"
"แต่พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษยชาติ ทรงสัญญาว่าต่อไปภายหน้าจะทรงใช้ พระบุตรเสด็จมากอบกู้ (ไถ่) มนุษย์ให้สามารถไปสวรรค์ได้" "มนุษย์มิอาจลุกขึ้นด้วยตนเองได้"
บาปที่อาดัมและเอวาทำนั้นร้ายแรงมาก เพราะทำผิดต่อพระเป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ไร้ขอบเขต ฉะนั้นลำพังแต่มนุษย์สิ่งสร้างมีขอบเขต จะขอโทษชดเชยบาปสักเพียงไร ก็มิอาจสาสม จำต้องให้ "ผู้ไม่มีขอบเขต" มาทำชดเชย พระเป็นเจ้าพระบิดา จึงทรงใช้พระบุตร (เท่าเสมอพระบิดา) มารับสภาพมนุษย์ ทรงพระนามว่า "พระเยซูคริสตเจ้า" พระเยซูเจ้าจึงทรงเป็นทั้ง พระแท้ และ มนุษย์แท้ (มนุษย์-พระ) กิจการของพระเยซูเจ้าจึงมีคุณค่ามหาศาลหาขอบเขตมิได้ของพระ พระนาม "เยซู" แปลว่า "ผู้ไถ่" "ผู้กอบกู้" "ผู้ช่วยให้รอด"
  • ทรงสมภพที่ตำบลเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ (ปัจจุบันคือ อิสราเอล)
  • พระมารดาทรงพระนามว่า "มารีย์"พระนางทรงปฏิสนธิพระเยซูเจ้าด้วยพระสรรพานุภาพของพระจิตเจ้า นักบุญยอเซฟ (ยอแซฟ) เป็นบิดาเลี้ยงของพระองค์
  • พระเยซูเจ้าทรงเจริญชีวิตในโลกประมาณ 33 ปี 30 ปีแรกทรงเจริญพระชนม์เยี่ยงสามัญชน อยู่กับพระมารดา และนักบุญโยเซฟ ที่ตำบลนาซาเร็ธ แคว้นกาลิลี ประเทศปาเลสไตน์
  • 3 ปีหลัง พระองค์ทรงจาริกเทศนาประกาศ "พระวรสาร" (หรือ "ข่าวดี, "ข่าวประเสริฐ") เรื่องเมืองสวรรค์ และทรงเลือกศิษย์ 12 คน (อัครสาวก) เพื่อสืบพระศาสนาของพระองค์ต่อไป
  • พระเป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้าง และเป็นพระบิดาพระทัยดี ทรงรัก และเมตตาเรามนุษย์ มนุษย์จึงต้องสนองความรักของพระ โดยพยายามถือตามพระบัญญัติ สุดกำลังความสามารถ
  • พระเยซูเจ้าทรงประกาศยืนยันว่า พระองค์ทรงเป็นพระบุตรพระเจ้า เป็นพระผู้ไถ่ (พระแมสสิยาห์) ที่พระเป็นเจ้าทรงสัญญาไว้ และที่มนุษยชาติกำลังรอคอย
  • พระองทรงเน้นว่า มนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกัน ร่วมพระบิดาเดียวกัน (สืบจากอาดัมและเอวา) จึงต้องรัก และช่วยเหลือกัน ทั้งฝ่ายกาย และวิญญาณ
ตลอดพระชนม์ชีพของพระเยซูเจ้า คือ กางเขน เพราะพระองค์ทรงยอมรับความยากลำบากเหน็ดเหนื่อย เสียสละอย่างสูง แต่ที่เห็นเด่นชัดคือ 3 วันสุดท้าย เริ่มแต่ค่ำวันพฤหัสบดี วันศุกร์ วันเสาร์ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ พระองค์ทรงยอมให้ถูกจับกุม ขึ้นศาลทางศาสนา ศาลบ้านเมือง ถูกเฆี่ยนตี ถูกสวมมงกุฎหนาม ถูกสบประมาทเย้ยหยัน ถูกตรึงกางเขน และสิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ ตอบสั้นๆก็เป็นอัตถ์ล้ำลึกข้อหนึ่ง แต่เหตุผลที่พอจะเข้าใจได้บ้างคือ เพื่อแสดงว่า
  1. บาป ทำเคืองพระทัยพระเป็นเจ้าสุดประมาณ เจ้าจึงต้องเกลียด และหลีกเลี่ยงบาปยิ่งกว่าภยันตรายใดๆ
  2. พระทรงรัก และหวังดีต่อมนุษย์สักเพียงไร รักจนกระทั่งยอมอุทิศชีวิตตายบนกางเขน เพื่อกอบกู้ชาวเราให้พ้นจากบาป
พระเยซูเจ้าเองตรัสว่า "ไม่มีความรักใดใหญ่ยิ่ง เท่ากับการพลีชีพเพื่อสหาย" (ยน.15:13) พระองค์ตรัสสอน และทรงกระทำเช่นนั้นด้วย ระหว่างเวลา 40 วัน หลังจากทรงคืนพระชนม์ชีพ พระเยซูเจ้าทรงประจักแก่คณะอัครสาวก และศิษย์หลายครั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าทรงคืนชีพจริง และเพื่อปรับปรุงพระศาสนจักรที่ทรงตั้งขึ้น ครั้นครบ 40 วันแล้วพระองค์เสด็จเหาะขึ้นสวรรค์ต่อหน้าคณะอัครสาวก และศิษย์ทั้งหลาย
บัญญัติประการที่ 1 จงนมัสการพระเป็นเจ้าแต่องค์เดียว ศัพท์ "นมัสการ" นี้ คริสตังควรสงวนไว้ใช้เรียกเคารพชั้นพิเศษ ถวายแด่พระเป็นเจ้าผู้เดียว คือ รัก เคารพพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้าง และเจ้านายสูงสุดของสรรพสิ่ง ในขณะเดียวกัน พระองค์ยังเป็น พระบิดาผู้ใจดี เอาพระทัยสอดส่องดูแลเราทุกคนอย่างใกล้ชิด เราจึงครองชีพร่วมกับพระบิดา และเพื่อพระองค์ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ ความไว้ใจ ความหวัง และความรักต่อพระองค์ เรานมัสการพระองค์ ด้วยการสวดภาวนา และกิจแสดงความเคารพ(คารวกิจ) ทั้งภายในภายนอก และร่วมกับบุคคลอื่น (สังคม) เช่น การไปร่วมศาสนพิธีกรรม
บัญญัติประการที่ 2 อย่าออกพระนามพระเจ้าโดยใช่เหตุ คือ รัก เคารพพระนามของพระเป็นเจ้า ซึ่งเป็นพระนามศักดิ์สิทธิ์กว่านามทั้งหลาย และห้ามนำพระนามของพระองค์มาใช้ในทางที่ผิด ที่ไม่สมควร เช่น การสาบานในเรื่องเบ็ดเตล็ด และสาบานเท็จเป็นต้น
บัญญัติประการที่ 3 วันพระเจ้า อย่าลืมฉลองวันศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญคือ การถือวันอาทิตย์.. พระเป็นเจ้าทรงเป็นเจ้าของวันเวลา พระองค์โปรดให้เราทำมาหากิน 6 วัน และให้ฉลองวันอาทิตย์ คือ งดธุระฝ่ายโลก หันมาเอาใจใส่เรื่องฝ่ายวิญญาณเป็นพิเศษ โดยไปร่วมพิธีมิสซา และงดเว้นงานหนัก
บัญญัติประการที่ 4 จงนับถือบิดามารดา พระเป็นเจ้า ทรงพอพระทัยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคม (คือ เป็นครอบครัว, หมู่บ้าน, ตำบล ประเทศ) และ เพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมดำเนินไปเป็นปรกติสุข บัญญัติประการที่ 4 จึงกำหนดสิทธิ์ และ หน้าที่อันพึงมีต่อกัน เริ่มแต่ภายในครอบครัว คือระหว่างพ่อแม่ลูก วงศ์ญาติ แล้วขยายกว้างออกไปในสังคมภายนอก ระหว่างครูกับนักเรียน วัดกับสัตบุรุษ นายจ้างกับลูกจ้าง รัฐบาลกับประชาชน..ตลอดจนประชาโลกทั้งมวล
บัญญัติประการที่ 5 อย่าฆ่าคน เราต้องเคารพชีวิตร่างกายของตนเอง (โดยเอาใจใส่ถือหลักสุขภาพตามสมควร) และของผู้อื่น ด้วยกาย วาจา ใจ ไม่คิดเกลียดชัง อาฆาตพยาบาท พูดให้เจ็บช้ำน้ำใจ สบประมาทด่าว่า ตลอดจนทุบตี ทำร้ายร่างกาย และปลิดชีวิต (รวมทั้งการจงใจทำแท้ง) เราต้องเคารพชีวิตร่างกายของตนเอง (คือละเว้นการทำบาป และโอกาสบาป) และของผู้อื่น โดยละเว้นทุกสิ่งที่อาจทำให้ผู้อื่นตกในบาป (ภาษาคริสตังว่า "เป็นที่สะดุด (Scandal)" )เป็นการเสียชีวิตเหนือธรรมชาติ
บัญญัติประการที่ 6 และ 9 อย่าทำอุลามก, อย่าปลงใจในความอุลามก ปรกติวิญญาณต้องเป็นปกครองร่างกาย… แต่อนิจจา! นับแต่บาปกำเนิด ร่างกายเป็นนาย อยากปล่อยตัวตามราคตัณหา บัญญัติ 2 ประการนี้จึงห้ามการสนุกทางเนื้อหนัง ด้วยกาย วาจา ใจ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การหาความสุขทางเพศที่อยู่นอกขอบข่ายวัตถุประสงค์ของศีลสมรส (ศีลแต่งงาน)ล้วนเป็นความอุลามก เพราะเป็นสิ่งที่ขัดต่อระเบียบที่พระทรงวางไว้ เป็นการทำให้มนุษย์ลดศักดิ์ศรีตนเอง เยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน
บัญญัติประการที่ 7 และ 10 อย่าลักขโมย อย่ามักได้ทรัพย์ของเขา บัญญัติ 2 ประการนี้สอนเราให้เคารพสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น เวลาเดียวกันก็กำชับเรามิให้ผูกใจหมกหมุ่นกับทรัพย์สินฝ่ายโลกจนเกินควร เรามีสิทธิ์เป็นเจ้าของโดยชอบธรรม ด้วยการทำงาน, ประหยัดการใช่จ่ายเก็บหอมรอมริบไว้, ด้วยการรับมรดก, ด้วยการซื้อขาย, ด้วยการรับค่าจ้าง เป็นต้น เราอาจผิดต่อความยุติธรรมเรื่องทรัพย์สินของผู้อื่น เช่น ลักขโมย, เรียกดอกเบี้ยเกินควร, ไม่จ่ายค่าจ้างที่เป็นธรรม, ลูกจ้างไม่ถือตามข้อตกลงว่าจ้าง, เป็นหนี้แล้วไม่พยายามชดใช้, ไม่คืนของที่เก็บได้ หรือฝากไว้
บัญญัติประการที่ 8 อย่าใส่ความนินทา มนุษย์มีสิทธิ์รู้ความจริง, จะรักษาชื่อเสียง, วาจาของเรามีอิทธิพลมากทั้งในทางสร้างสรรค์ และทำลาย บัญญัติประการนี้จึงห้ามมุสา (โกหก คือปากกับใจ ไม่ตรงกัน), การใส่ความ (หมิ่นประมาท และการนินทา เป็นต้น
  1. อำนวย เช่นปรารถนาจะขโมยนาฬิกาของเพื่อน
  2. ด้วยวาจา เช่น พูดปด (ประการ 8)
  3. ด้วยกิจการ เช่น ขโมย, ทำร้ายร่างกายเขา ฯลฯ
  4. ด้วยการละเว้น เช่น จงใจไม่ไปร่วมถวายบูชามิสซาวันอาทิตย์ (โดยไม่มีเหตุผลอันควร)บาป คือการจงใจฝ่าฝืน หรือละเมิดพระบัญญัติ (คือทำผิดต่อน้ำพระทัยของพระ) โดยรู้ว่าเป็นบาป และยินยอมทำ เช่น รู้ว่าลักขโมยไม่ดี ผิดบัญญัติประการ 7 แล้วยังเต็มใจขโมย ก็เป็น บาป
  5. ด้วยความคิด เช่น คิดพิพากษาเขาด้วยเบาความ (ประการ 8), เกลียดชังท่าน (ประการ 5)
  6. ด้วยความปรารถนา เมื่อน้ำใจ (เจตนา) หันไปสู่สิ่งชั่ว และตั้งใจจะทำเมื่อโอกาส
บาปที่ทำเองมี 2 ประเภทคือ
  1. บาปเบา (Venial sin) เมื่อทำผิดในข้อเบาโดยรู้ตัวและเต็มใจ หรือทำผิดในข้อหนักที่ไม่สู้รู้ตัวและไม่เต็มใจ
  2. บาปหนัก (Mortal sin) เมื่อจงใจทำผิดในข้อหนัก โดยรู้ว่าเป็นข้อหนัก และยินยอมทำ
 ท่าทาง หรือ โอกาสบาป หมายถึง ทุกสิ่งที่ชักนำให้ทำบาป อาจเป็นสถานที่ เช่น ไนต์คลับ, อาจเป็นบุคคล เช่น เพื่อนชั่ว, อาจเป็นสิ่งของ เช่น หนังสือลามก เราตั้งใจไม่ทำบาปก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงโอกาสบาปด้วย มนุษย์แต่ละคนมีความโน้มเอียงทางชั่วไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ความโน้มเอียงที่ทำให้เราตกในบาปบ่อยๆจนเกิดเป็นนิสัยชั่ว (ศัพท์คริสตังว่า พยศชั่ว :Vice) เรียกว่า "บาปต้น (Capital Sin)"พยศชั่ว (เทียบอกุศลมูล) ตรงข้ามกับฤทธิ์กุศล ฤทธิ์กุศลโน้มนำให้ทำดีหนีความชั่วจนเคยชินเป็นนิสัยดี ส่วนพยศชั่วมีแต่โน้มนำให้ทำชั่ว
  1.  ความจองหอง คือการยกตนข่มท่าน ทะนงตนเกินขอบเขตที่เป็นจริง ดังเช่น พวกฟาริสีที่กล่าวในพระวรสาร บาปจองหองนำไปสู่ความมักใหญ่ใฝ่สูงเกินประมาณ, โอ้อวดเกินเหตุ
  2. ความตระหนี่ คือการผูกใจอยู่กับทรัพย์สมบัติต่างๆเป็นต้นเงินทอง บูชาเงินเป็นพระเจ้า จนลืมคิดถึงพระ ไม่ยอมเหลียวแลช่วยเหลือผู้ตกยาก ไม่สนใจความรอดวิญญาณของตน (เช่น ไม่ไปวัด เพราะเสียดายเวลาหากิน) บาปตระหนี่นำไปสู่การขโมย, การฉ้อฉลกลโกง, การทะเลาะวิวาท ฯลฯ
  3. ความอุลามก คือการใฝ่หาความสนุกฝ่ายเนื้อหนัง (ทางเพศ) กับตนเอง หรือผู้อื่น นอกขอบข่ายวัตถุประสงค์ของศีลสมรส พระเป็นเจ้าเคยลงโทษมนุษย์ที่ปล่อยตัวเป็นทาสของบาปอุลามก เช่น เรื่องน้ำมหาวินาศยุคโนอาห์ และเรื่องเมืองโซดมถูกฝนกำมะถันถล่มพินาศกลายเป็นทะเลตาย (Dead Sea)
  4. ความริษยา คือ เสียใจเมื่อคนอื่นได้ดี และยินดีเมื่อเห็นคนอื่นได้ร้าย พระคัมภีร์เล่าเรื่องคาอินริษยาอาเบล น้องชายของตน; ยอแซฟถูกพี่ๆขายไปประเทศอียิปต์ บาปริษยานำไปสู่ความเกลียดชัง การหมิ่นประมาทใส่ร้าย การผูกพยาบาททะเลาะวิวาท
  5. ความโลภอาหาร คือชอบกินเกินขนาด หรือเพราะเห็นแก่ความสนุก ปรกติเราต้องกินเพื่ออยู่ มิใช่อยู่เพื่อกิน
  6. ความโกรธ คือความวุ่นวายใจนอกลู่นอกทาง ทำให้ชิงชังบุคคล หรือสิ่งที่มาขัดอารมณ์ เมื่อโกรธก็ขาดสติ จึงอาจก่ออาชญากรรมได้มากมาย เช่น ด่าแช่ง. ทุบตี, ฆ่า
  7. ความเกียจคร้าน คือไม่อยากทำงาน หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ ในพระวรสารพระเยซูทรงตำหนิคนใช้ที่นำเงินไปฝังดิน (มธ. 25, 14-30) บาปเกียจคร้านเปิดช่องให้แก่การประจญล่อลวงทุกชนิด มันนำไปสู่ความเฉื่อยชา, ความยากจน, ความเสียใจ และความหน่ายแหนงชีวิต
บทบัญญัติแห่งพระศาสนจักร เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตั้งพระศาสนจักรก็ได้แต่งตั้งเปโตร หัวหน้าคณะอัครสาวก ให้เป็นประมุข:"จงเลี้ยงลูกแกะ และแม่แกะของเรา" (ยน.21:15-17)และเมื่อทรงใช้สาวกไปเทศน์สอนก็ได้ตรัสว่า "ผู้ใดฟังท่าน คือฟังเรา ผู้ใดดูหมิ่นท่าน คือดูหมิ่นเรา" (ลก. 10:2-16) พระศาสนจักรผู้รับมอบฉันทะจากพระเยซูเจ้า จึงมีอำนาจตราบทบัญญัติให้คริสตังทั้งหลายถือปฏิบัติ บทบัญญัติพระศาสนจักรที่สำคัญ 4 ประการ
บทบัญญัติในการปกครองพระศาสนจักรทั่วโลกมีอยู่นับพันมาตรา รวมเรียกว่า "ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร (The Code of Canon Law)" แต่ที่เกี่ยวกับสัตบุรุษทั่วไปมี 4 ประการคือ 1. จงร่วมถวายบูชามิสซา และอย่าทำงานหนักในวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ 2. จงอดอาหาร และเนื้อในวันบังคับ 3. จงรับศีลแก้บาปอย่างน้อยปีละครั้ง และจงรับศีลมหาสนิอย่างน้อยปีละครั้งในกำหนดปัสกา 4. จงบำรุงพระศาสนาตามความสามารถ
"ฤทธิ์กุศล" เป็นศัพท์คริสตัง หมายถึง คุณธรรมเหนือธรรมชาติ ที่โน้มนำไปในทางดี เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งโน้มนำเราให้ถือพระบัญญัติ หรือทำตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า) เมื่อรับศีลล้างบาป เราได้รับชีวิตพระหรรษทาน เป็นบุตรบุญธรรมของพระ พร้อมกับได้รับ ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติด้วย ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าโดยตรงมี 3 ประการ คือ ความเชื่อ, ความไว้วางใจ (ความหวัง) และความรัก
  • ฤทธิ์กุศลความเชื่อ (หรือ ศรัทธา)
    โน้มนำเราให้เชื่อทุกข้อที่พระองค์ทรงเปิดเผย และที่พระศาสนจักรสั่งสอน เพราะพระองค์ไม่รู้จักผิดหลง ไม่หลอกลวง หรือถูกหลอกลวงเลย เช่น เชื่อว่ามีพระสถิตอยู่ทั่วไป ทรงรู้แม้ความคิดในใจ ก็เป็นกำลังใจให้ทำความดีหนีความชั่ว ตามพระบัญญัติ แม้ในที่ลับไม่มีคนเห็น แต่พระทรงเห็น เชื่อถึงชีวิตนิรันดร ก็ทำให้เราเข้มแข็ง พากเพียร เสียสละทุกอย่างในโลกอนิจจังนี้ ดีกว่าทำบาปให้ขัดเคืองพระทัยของพระเป็นต้น
  • ฤทธิ์กุศลความไว้วางใจ (ความหวัง)
    โน้มนำเราให้หวังไว้ใจว่า อาศัยพระบารมีของพระเยซูเจ้า พระองค์จะประทานพระหรรษทานช่วยเราอย่างเพียงพอในการถือพระบัญญัติ และถ้าเราสัตย์ซื่อถือธรรมตลอดไป หกล้มตกในบาปก็ตั้งใจลุกขึ้นมาใหม่ ขอโทษพระ ก็เป็นที่หวังได้ว่า เราจะได้สวรรค์อันจุใจเรา ความหวังของชาวคาทอลิกมั่นคง เพราะฤทธิ์กุศลนี้ทำให้เราคิดพึ่งพระ มากกว่าหมายพึ่งมนุษย์ที่อ่อนแอไม่แน่นอน เป็นต้น ในยามประสบทุกข์ลำบาก, เจ็บไข้ได้ป่วยมิรู้หาย, หรือเมือถูกปีศาจมาประจญล่อลวงเราอย่างหนัก ฯลฯ ข้อพึงระวังเรื่องความไว้ใจ คือ เราไม่ควรประมาทตั้งตนอยู่ในโอกาสบาป
  • ฤทธิ์กุศลความรัก
    โน้มนำเราให้รักพระเหนือทุกสิ่ง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง ทั้งนี้เพราะเห็นแก่ความรักพระ ถ้าเรารักพระจริง ก็ต้องพยายามถือพระบัญญัติสุดสามารถ ไม่อยากทำบาปให้เป็นที่ขัดเคืองพระทัยพระองค์ ส่วนความรักเพื่อนมนุษย์ ได้แก่ปรารถนาดีต่อทุกคน, เคารพต่อสิทธิและหน้าที่อันพึงมีต่อกัน, พากเพียรทนต่อข้อบกพร่องล่วงเกินกัน, ให้อภัยกัน และช่วยเหลือกันทั้งฝ่ายกาย และวิญญาณ
"เพื่อนมนุษย์" หมายถึง ทุกคน นอกจากตัวเรา อย่างไรก็ดี เราต้องแสดงความรักต่อบุคคลที่พระญาณสอดส่องทรงจัดไว้ให้เกี่ยวข้องกับเราไปตามลำดับ จนกระทั่งเพื่อนร่วมโลก พูดง่ายๆคือ เริ่มจากบุคคลในครอบครัว, ญาติพี่น้อง, เพื่อนบ้าน, ผู้มีพระคุณ, ที่วัด, ที่โรงเรียน, ที่ทำงาน, เพื่อนร่วมตำบล, ร่วมชาติ, แผ่ไปจนร่วมโลกรวมทั้งผู้ที่เป็นอริกับเราด้วย (มธ. 5:44) มโนธรรม (Conscience) คือธรรมะในใจที่คอยชี้บอกถึงกิจการกระทำแต่อันที่เราทำคือ
-ก่อนจะทำ มโนธรรมเป็นผู้ตรากฎหมาย และตัดสินว่าดี หรือชั่ว
-ขณะกำลังทำ มโนธรรมเป็นพยาน และเตือนให้ทำ หรือให้ละเว้น
-หลังการกระทำ มโนธรรม จะเป็นตุลาการ ชมเชย หรือติเตียน
ดังนั้น เราจะทำอะไรขัดต่อมโนธรรมมิได้ และเมื่อถือตามเสียงมโนธรรม เราจะรู้สึกสบายใจ (สวรรค์อยู่ในอก) ตรงกันข้าม…คนบาปที่ทำฝืนมโนธรรม แม้ภายนอกจะเห็นว่าเขาสุขสบาย แต่ความจริงเขาไม่สบายใจเลย เพราะมโนธรรมคอยติเตียนเขาเสมอ ชมเชย หรือติเตียน
พระหรรษทานคือ พระคุณที่พระเป็นเจ้าให้เปล่า เพราะพระทัยดีของพระองค์ โดยอาศัยพระบารมีของพระเยซูเจ้า เพื่อช่วยเราให้สามารถดำรง ชีวิตคริสตัง และบรรลุถึงสวรรค์ได้ พระหรรษทานมี 2 ชนิด คือ
  1. พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร (Sanctifying Grace)
  2. พระหรรษทานปัจจุบัน (Actual Grace )
พระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร (พระหรรษทานประจำ) คือพระคุณที่พระเป็นเจ้า มาประทับอยู่ในวิญญาณของเรา บันดาลให้เรามีชีวิต และฤทธ์กุศลเหนือธรรมชาติ อาจพูดอีกอย่างหนึ่งว่า พระหรรษทานศักดิ์สิทธกรบันดาลให้เรามีส่วนในชีวิตพระ เป็นสหายกับพระ สมที่จะไปอยู่กับพระ และทำให้สามารถประกอบกรรมดีสมรับบำเหน็จสวรรค์
เราได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร เมื่อเราได้รับศีลล้างบาป และพระหรรษทานนี้จะดำรงอยู่ในวิญญาณตลอดเวลาที่ไม่ทำบาปหนัก บาปหนัก(สำหรับคริสตัง)จึงเป็นภัยร้ายกาจยิ่งกว่าภยันตรายใดๆ เพราะทำให้เราสูญเสียสิทธิ์เป็นบุตรบุญธรรมของพระ และถ้าตายในขณะติดบาปหนัก ก็สมโทษนรก อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังเป็นเวลาแห่งพระมหากรุณา เราอาจได้รับพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกรกลับคืนมา โดยเป็นทุกข์ถึงบาปอย่างสมบูรณ์ หรือโดยทางรับศีลแก้บาป
พระหรรษทานปัจจุบัน คือพระคุณที่พระเป็นเจ้าโปรดประทาน เป็นครั้งคราว บันดาลให้สติปัญญารู้จักทางดีไปสวรรค์ และให้ น้ำใจของเรามีกำลัง เดินในทางดี และหนีความชั่วได้ พระเป็นเจ้าประทานพระหรรษทานปัจจุบันแก่ทุกคน เพราะ "พระองค์ทรงประสงค์ ให้มนุษย์ทุกคนเอาตัวรอด (1 ทิโมธี 2:4) "พระเยซูเจ้าทรงไถ่บาปของทุกคน ตั้งแต่มนุษย์คนแรกจนกระทั่งคนสุดท้ายเมื่อสิ้นโลก(สิ้นพิภพ) พระบุญญาบารมีของพระองค์มิรู้หมดสิ้น จึงเพียงพอสำหรับทุกคน อย่างไรก็ดี พระเป็นโปรดให้มนุษย์มีอิสรเสรี จะเชื่อฟังพระหรรษทานก็ได้ จะขัดสู้ก็ได้… แต่ผู่ที่ขัดสู้พระหรรษทานนี้บ่อยๆ ก็จะได้รับพระหรรษทานยิ่งทียิ่งน้อยลง จิตใจจะมืดมัวลง และแข็งกระด้างในความชั่ว เพลงสดุดีบท 94 ข้อ 4 จึงว่า "วันนี้ ถ้าท่านได้ยินพระสุรเสียงของพระเป็นเจ้า ก็อย่าทำใจแข็งกระด้างเลย"
วิธีการรับพระหรรษทานตามปรกติ เราได้รับพระหรรษทาน 3 วิธีคือ
  1. การสวดภาวนา
  2. รับศีลศักดิ์สิทธิ์
  3. การบำเพ็ญกุศลกิจ
เช้าวันหนึ่ง ขณะที่บรรดาอัครสาวกตื่นขึ้นมา และไม่พบพระเยซู ก็เดินตามหาพระองค์ และพบพระองค์บนภูเขา จึงถามว่าพระองค์เสด็จมาทำอะไร พระเยซูจึงตรัสตอบว่ามาสวดภาวนา บรรดาอัครสาวกจึงขอพระเยซูเจ้าสอนพวกเขาให้รู้จักสวดภาวนาบ้าง…. พระเยซูจึงสอนให้เขาสวด ซึ่งต่อมาบทสวดนี้ได้กลายเป็นบทภาวนาที่สำคัญ ที่คริสตชนทั่วโลกยังคงสวดอยู่เสมอในทุกวันนี้นั่นคือ "บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย"
มิใช่เพียงเช้านั้นเช้าเดียว แต่ในพระคัมภีร์มีเขียนเล่าว่า พระเยซูเจ้ามักใช้เวลาเงียบๆคนเดียวสวดภาวนาเสมอ แม้พระองค์จะมีภารกิจมากเพียงใดในการเทศน์สอน และรักษาคนเจ็บป่วย แต่ก็ยังคงใช้เวลาในช่วงวันในการสวดภาวนาบ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้
การภาวนา
คือการยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้า เพื่อสนทนากับพระองค์ มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
  1. การภาวนาจากใจ หมายถึงการสวดภาวนาส่วนตัว โดยการพูดกับพระเป็นเจ้าในใจ คิดถึงพระองค์ บางครั้งออกมาในรูปแบบการอ่านพระคัมภีร์ และรำพึงไตร่ตรองพระวาจาของพระที่ตรัสกับเราในพระคัมภีร์ การภาวนาจากใจเช่นนี้ต้องมีการฝึกหัด และพัฒนาจิตใจให้จดจ่ออยู่กับพระเป็นเจ้าเสมอ ผู้ที่พัฒนาจิตใจ และหมั่นสวดภาวนาอยู่เสมอในชีวิตประจำวัด จะภาวนาได้ง่ายขึ้น แม้ในเวลาทำงาน, บนรถเมล์ หรือที่ไหนก็สามารถยกจิตใจขึ้นหาพระเป็นเจ้าได้เสมอ
  2. การภาวนาตามบทสวดที่พระศาสนจักรแต่งขึ้น หมายถึงการภาวนาที่บางครั้งเราไม่ทราบว่าจะพูดอะไร หรือสวดอย่างไรกับพระเป็นเจ้า ก็มีบทภาวนาที่พระศาสนจักรได้แต่งไว้ ให้เราได้สวดตามบทสวดนั้น ขณะสวดก็คิดตามความหมายของเนื้อหาของบทสวดที่แต่งไว้เช่น "บทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย" เป็นบทที่พระเยซูเจ้าสอนเราในพระคัมภีร์, "บทวันทามารีอา" เป็นบทที่เราใช้สรรเสริญพระเป็นเจ้าผ่านทางพระนางมารีอา, "บทเยซูมารีอายอแซฟ "ฯลฯ คริสตชนจะสวดบทภาวนาต่างๆเหล่านี้ได้ขึ้นใจ ตั้งแต่เป็นเด็ก และมีโอกาสสวดภาวนาร่วมกับคริสตชนอื่นๆ เมื่อประกอบศาสนกิจร่วมกัน ก็จะเปล่งเสียงสวดภาวนาเหล่านี้ด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง
การภาวนาเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างพระ และมนุษย์ หากจะถามว่าคริสตชนเลิกเป็นคริสตชนเมื่อใด? คำตอบคือ เมื่อใดที่คริสตชนเลิกสวดก็เริ่มที่จะเลิกเป็นคริสตชน เพราะคำภาวนาคือความสนิทสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าตลอดเวลา แม้ก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังรับประทานอาหาร ก็สวดโมทนาคุณพระเช่นเดียวกัน ชีวิตคริสตชนจึงมองพระเป็นเจ้าในแง่ความสัมพันธ์ อาจกล่าวได้ว่าศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ที่พูดถึงศาสนกิจมาทั้งหมดนั้น มองว่า ความสัมพันธ์กับพระเป็นเจ้าที่คริสตชนมีกับพระองค์วันละเล็กวันละน้อยไม่เคยลืมเลือนกัน คริสตชนมิอาจเอาศาสนามารับใช้ชีวิตเราได้ หมายความว่าพอมีปัญหาทีหนึ่ง ก็วิ่งเข้ามาสวดขอทีหนึ่ง พอได้แล้วก็เลิกกัน การมาสวดขอความช่วยเหลือจากพระเป็นเจ้าสำหรับคริสตชนเป็นไปในแง่ที่ว่า เรากับพระเป็นเจ้ามีความสัมพันธ์อยู่เสมอ รักกันคิดถึงกันตลอดเวลา และเมื่อวันที่เรามีปัญหามีอุปสรรคในชีวิต เรานึกถึงคนที่เราใกล้ชิดที่สุดคนแรก นั่นก็คือพระเป็นเจ้าผู้ที่เรารัก และมีความสัมพันธ์กับพระองค์เสมอทุกวันเวลาอยู่แล้ว คริสตชนยังเชื่ออีกว่า ความเชื่อมีการพัฒนา ความเชื่อของผู้ที่มาสวดขออาจเป็นความเชื่อแบบเด็กๆ ที่เมื่อเป็นเด็ก ก็ได้แต่ขอผู้ใหญ่ สวดครั้งใดก็ขอในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่เมื่อเราปฏิบัติศาสนกิจ, อ่านพระคัมภีร์, รำพึงภาวนาและใส่ใจในคำสอนมากขึ้น ความเชื่อก็ค่อยๆเติบโตขึ้น คล้ายกับเมล็ดพืชที่เริ่มหยั่งราก และแตกออกเป็นลำต้น สักวันหนึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งความเชื่อที่พระได้หว่านลงในจิตใจของเราโตขึ้น คำภาวนาของเราก็เปลี่ยนไป เรามิได้สวดเพื่อขอเพียงข้าวของเงินทองอีกต่อไป แต่เราสวดขอให้ชีวิตเราเป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า เพราะไม่มีสักสิ่งเดียวที่พระประทานมาให้เราเป็นสิ่งเลว คริสตชนจึงมิได้สวดขอให้เราสบาย " แต่สวดขอให้เรามีหัวใจที่แข็งแกร่งสามารถรับเรื่องทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ "
  1. ศีลล้างบาป (Baptism)
    เป็นเครื่องหมายภายนอกที่โปรดให้แก่ผู้รับ เพื่อประทานพระหรรษทานศักดิ์สิทธิกร ลบล้างผลร้ายของบาปที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิด หรือเรียกว่า "บาปกำเนิด" จนหมดสิ้น ทำให้เรากลับกลายเป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้า มีสิทธิ์ในมรดกสวรรค์ และได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ขณะดำเนินชีวิตบนโลกนี้ คริสตชนนำทารกแรกเกิดเมื่อแข็งแรงแล้ว มารับศีลล้างบาปกับพระสงฆ์ที่วัดท่ามกลางกลุ่มคริสตชนที่มาร่วมยินดีต้อนรับเด็กน้อย แล้วเด็กนั้นก็โตขึ้นโดยอาศัยกลุ่มคริสตชนช่วยเหลือประคับประคองความเชื่อ เมื่อถึงวัยรุ่นก็จะได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์อีกประการหนึ่งคือ "ศีลกำลัง"
  2. ศีลกำลัง (Confirmation)
    ศีลกำลังเป็นการต่อเนื่องศีลล้างบาป ด้วยว่าเมื่อทารกได้กลับกลายเป็นคริสตชน เขาจะค่อยๆโตขึ้นเพื่อพัฒนาความเชื่อ และเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตคริสตชน จนเขาเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะได้รับพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ให้มีกำลังในการจะเป็นพยาน และแพร่ธรรมอีกทั้งปกป้องช่วยเหลือเมื่อพระศาสนจักรพบอุปสรรค และความยากลำบาก การจะพร้อมช่วยเหลือนี้ องค์พระจิตเจ้าจะประทานพระคุณ 7 ประการแก่เขา ให้กลับกลายเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ เป็นผู้ใหญ่ทางความเชื่อ และทำงานตามฐานะของตนอย่างไม่ย่อท้อ พระคุณทั้ง 7 ประการคือ
    1. พระดำริ พระคุณที่ช่วยให้เราซาบซึ้งในความดีงามของพระเป็นเจ้า ได้ลิ้มรสความดีงามอันเหนือธรรมชาติของพระเป็นเจ้า
    2. สติปัญญา เพื่อเข้าใจข้อคำสอนอันลึกซึ้งของพระศาสนจักร
    3. ความคิดอ่าน เพื่อแยกแยะตัดสินคุณค่าสิ่งต่างๆได้อย่างแม่นยำ
    4. ความรู้ ความสามารถในการเรียน ทั้งทางโลก, ทางธรรม, การพัฒนาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรโลก
    5. ความยำเกรง ความรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า และตั้งพระองค์ไว้ต่อหน้าเสมอ
    6. ความเลื่อมใสศรัทธา เป็นพระคุณ ที่ช่วยให้คริตชนร้อนรนในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเข้าใจ และรู้ความหมาย
    7. กำลัง เป็นพระคุณความเข้มแข้ง ที่จะต่อสู้การประจญล่อลวง และความโน้มเอียงฝ่ายต่ำ ที่เราเรียกว่าทำชั่ว
  3. ศีลอภัยบาป (Penance)
    ขณะรับศีลล้างบาปเราได้ยกบาปทั้งสิ้น, ผลของบาปที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดทุกประการ แต่เมื่อเราโตขึ้นเราก็พลาดพลั้งทำบาปอีก ทุกครั้งที่ทำบาปหนัก ผลของบาปทำให้เรากับพระตัดสัมพันธ์กัน เราสูญเสียพระหรรษทานศักด์สิทธิกร มิได้เป็นบุตรบุญธรรมของพระเป็นเจ้าอีกต่อไป ไม่มีสิทธ์รับมรดกในเมืองสวรรค์ พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลอภัยบาปเพื่อให้มนุษย์ได้กลับมามีความสัมพันธ์ และกลับมาคืนดีกับพระเสียใหม่ อีกชื่อหนึ่งของศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้คือ "ศีลแห่งการคืนดี" เด็กๆที่เติบโตมาจึงเรียนรู้ที่จะกลับมาขอโทษพระเป็นเจ้าทุกครั้งที่กระทำบาป และได้รับการอภัยโทษ โดยเข้าไปขอสารภาพบาปกับพระสงฆ์ผู้เป็นคนกลางระหว่างพระกับมนุษย์ ท่านให้อภัยในนามของพระเป็นเจ้า เนื้อแท้ของศีลอภัยบาปจึงมิใช่การปลดเปลื้องบาปออกจาก ตัวเราด้วยความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการเห็นแก่พระเป็นเจ้า เพราะพระองค์เป็นความดีงาม, องค์ความรัก แต่ทำไมเราจึงกระทำบาปให้พระองค์เสียใจ และตัดความสัมพันธ์กับองค์ความดีนั้น เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของศีลอภัยบาปคือต้องเสียใจ เพราะเราได้กระทำบาปนั้น และตั้งใจว่าจะไม่กระทำอีก ความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อคริสตชน และมนุษย์ทุกคน เปรียบได้กับความรักของพ่อที่มีต่อลูกผู้สำนึกผิดกลับมาขอโทษ และพ่อให้อภัย จึงเป็นความชื่นชมยินดี และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ทุกครั้งที่เราพลาดไป
  4. ศีลมหาสนิท (Holy Eucharist)
    เราจัดอันดับศีลมหาสนิทไว้อันดับที่สี่ เพื่อบ่งว่าศีลนี้ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุด เป็นหัวใจของศีลศักดิ์ทุกประการ เราจึงนำมาวางไว้ตรงกลาง เพราะศีลมหาสนิทเป็น องค์พระเยซูเจ้าเองที่ประทับอยู่ท่ามกลางมนุษย์ทุกคน ภายใต้รูปปรากฎของแผ่นปังและเหล้าองุ่น เมื่อได้รับการอภิเษกในบูชาแผ่นปัง และเหล้าองุ่นก็กลับเปลี่ยนเป็นพระกาย และพระโลหิตของพระเยซูเจ้า แม้สายตาจะเห็นภาพเป็นแผ่นปังและเหล้าองุ่น แต่เนื้อแท้ได้เปลี่ยนเป็นพระวรกายทั้งครบของพระเยซูเจ้า เมื่อคริสตชนได้รับศีลมหาสนิทก็เชื่อมั่นคงว่าเป็นองค์พระเยซูเจ้าเองที่มาประทับในชีวิตของคริสตชน เพื่อเราจะได้ชิดสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์
     
    คำพูดของไทยเราที่ว่า "รักกันปานจะกลืนกิน" หมายถึงความรักของคนที่มีความรักใกล้ชิดสนิทสนม และผูกพันกันมิได้เหินห่าง บัดนี้พระเยซูเจ้าก็ได้กระทำอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ตั้งศีลมาหสนิท อันเป็นมรดกสุดท้ายที่พระองค์มอบให้แก่อัครสาวก และคริสตชนทั้งปวง
     
    ในค่ำวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ก่อนวันที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าได้รับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวก และทรงหยิบแผ่นขนมปังอันเป็นอาหารพื้นๆประจำวันของชาวยิว บิออกและส่งให้พวกเขารับไปกินจากปังก้อนเดียวกันนั้นเอง หากเทียบกับบ้านเราก็คงคล้ายกับคดข้าวจากหม้อเดียวกัน และพระเยซูเจ้าตรัสว่า "จงรับไปกินให้ทั่วกันเถิด นี่เป็นกายของเรา" จากนั้นทรงหยิบถ้วยเหล้าองุ่นอันเป็นเครื่องดื่มในมื้ออาหารธรรมดาของชาวยิว และส่งให้บรรดาอัครสาวกดื่มจากถ้วยเดียวกัน และตรัสว่า "จงรับเอานี่ไปดื่มให้ทั่วกันเถิด นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาใหม่อันยืนยง โลหิตซึ่งหลั่งออกเพื่อยกบาปเพื่อพวกท่านและมนุษย์ทั้งหลาย จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด"
     
    เฉพาะเรื่องศีลมหาสนิท บรรดานักเทววิทยาจัดเป็นวิชาหนึ่งเลยทีเดียว ผู้เขียนเชื่อว่าคงยากที่จะอธิบายเรื่องศีลมหาสนิทให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในโอกาสนี้ คริสตชนรับศีลมหาสนิททุกครั้งในพิธีกรรมบูชามิสซา และมีความเชื่อศรัทธาภักดีต่อศีลมหาสนิทว่า เป็นองค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ภายใต้เพศปัง และคริสตชนเก็บรักษาศีลมหาสนิทไว้ในตู้ศีล ซึ่งอยู่ในวัด เพื่อเปิดโอกาสให้คริสตชน และทุกคนได้มาเฝ้าสนทนากับพระเยซูเจ้าได้ทุกเวลาที่ต้องการ เรียกว่า "การเฝ้าศีลมหาสนิท"
  5. ศีลสมรส (Matrimony)
    ความรักของพระเป็นเจ้าติดตามเราไปทุกขณะจิต ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญต่อชีวิตหนุ่มสาวก็คือ เวลาแต่งงาน และเริ่มต้นชีวิตครอบครัว มันไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังเป็นเรื่องสำคัญ ใครช่วยแนะนำ และอธิบายถึงสภาพครอบครัว และธรรมชาติอันถ่องแท้ของมันให้แก่หนุ่มสาวฟังว่า แท้จริงการแต่งงานมีอะไรมากกว่าการเตรียมงานภายนอกอย่างหรูหรามีหน้ามีตา คู่แต่งงานที่รักกัน และตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน จึงจูงมือกันมาหาพระสงฆ์ที่วัด เพื่อรับการอบรมคำสอนเตรียมแต่งงาน ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้จึงเริ่มตั้งแต่เขามารับฟังคำสอนกับพระสงฆ์ด้วยกันทั้งคู่ มิใช่จู่ๆก็มาทำพิธีกันในโบสถ์ได้เลย เมื่อชายหญิงพบว่ารักกันและกัน จนสามารถมอบความรักให้แก่กันจนหมดสิ้น และมั่นใจด้วยว่าอีกฝ่ายก็จะรับรักของเขาไว้ทั้งหมดด้วยเช่นกัน มิใช่รับไว้เพียงครึ่งๆกลางๆ เผื่อเลือก หากได้พบคนเช่นนี้เราจึงแต่งงาน คริสตชนเรียกว่า "การตกลงปลงใจ" ยอมรับกันและกัน และมอบความรักแก่กันและกันจนหมดสิ้น
     
    การมาประกอบพิธีสมรสในวัด จะมีการกล่าวรับเป็นสามีภรรยากันต่อหน้าเพื่อนพี่น้อง และต่อหน้าพระเป็นเจ้า ชายและหญิงผู้เป็นคริสตชนทั้งสองฝ่ายเป็นผู้โปรดศีลศักดิ์สิทธ์ประการนี้แก่กันและกัน พระสงฆ์เป็นเพียงพยานในพิธี ศีลศักดิ์สิทธ์ประการนี้ผูกพันเขาทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จะหย่าร้างกันไม่ได้จนกว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะตายไป พระเป็นเจ้าทรงยกเรื่องแต่งงานเป็นเรื่องสูง การใช้ชีวิตร่วมหลับนอนกันฉันท์สามีภรรยาก็คือ การมอบความรักให้แก่กันและกันอย่างมากที่สุดเท่าทีมนุษย์ที่รักกันจะให้กันได้ และผลพวงของความรักอันยิ่งใหญ่นี้ก็คือลูกที่น่ารักที่ถือกำเนิดมาจากพ่อแม่ซึ่งแต่งงานกัน คริสตชนจึงห้ามทำหมัน, การทำแท้ง, การวางแผนครอบครัวด้วยอุปกรณ์ภายนอกด้วยความคิดเห็นแก่ตัวไม่ต้องการลำบากเพราะมีลูก เพราะลูกเป็นพระพรของพระเป็นเจ้า และการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันกับพระเป็นเจ้าในการสร้างโลก คริตชนจึงรัก และเอาใจใส่อบรมลูกให้เป็นคนดีทั้งทางโลก และทางธรรม เพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์เมื่อเขาพร้อมจะออกไปอยู่ในสังคม และทำให้โลกที่พระเป็นเจ้าสร้างมาสวยงามอย่างที่มันควรเป็น
  6. ศีลอนุกรม หรือ ศีลบวช (Holy Orders)
    ในค่ำวันพฤหัสสบดีศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูทรงตั้งศีลมหาสนิท พระองค์ทรงตั้งศีลอนุกรม เพื่อมอบอำนาจ และบวชชายหนุ่มให้เป็นพระสงฆ์ เพื่อสืบงานและอำนาจโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่อไปในพระศาสนจักรของพระองค์ ในเวลานั้นพระองค์ตรัสกับอัครสาวกเวลาบิปัง และส่งถ้วยเหล้าองุ่นให้แก่พวกเขาพระองค์กำชับว่า"จงทำดังนี้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเราเถิด" ก็คือให้อัครสาวกทำสืบต่อกันมา เป็นผู้ประกอบบูชามิสซา และศีลศักดิ์สิทธิ์ประการอื่นๆ เพื่อบรรดาคริสตชนต่อมา 2,000 ปีมาแล้ว
    ศีลอนุกรม ก็คือศีลบวชพระสงฆ์ ในศักดิ์สงฆ์นี้เองมีลำดับ 3 ขั้น
    1. สังฆานุกร เป็นการบวชเมื่อเริ่มเข้าสู่สังฆภาพ ยังไม่มีอำนาจเต็มในการเป็นศาสนบริการ
    2. พระสงฆ์ เป็นการรับศีลบวชเข้าสู่สังฆภาพที่ครบถ้วนแล้ว แต่ยังต้องเชื่อฟังพระสังฆราชผู้บวชตน และอำนาจบางอย่างแม้มีศักยภาพประกอบกิจได้ แต่ยังสงวนไว้จนกว่าพระสังฆราชจะอนุญาตให้ประกอบได้
    3. พระสังฆราช เป็นการเข้าสู่สังฆภาพที่ครบถ้วนบริบูรณ์ พระสังฆราชจะเป็นผู้โปรดศีลบวชพระสงฆ์
     
     ในเรื่องศีลอนุกรมนี้ยังมีแง่มุมทางด้านการปกครอง, ทางเทววิทยาความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระสังฆราชและพระสงฆ์ และพระสงฆ์กับองค์พระคริสตเจ้า คริสตชนถือว่าพระสงฆ์แบ่งเอาความเป็นสงฆ์มาจากองค์พระเยซูเจ้า พระองค์เป็นพระสงฆ์ในความใหม่นี้เป็นบุคคลแรก เป็นสงฆ์ผู้บูชาถวาย และทั้งเป็นเครื่องบูชาในเวลาเดียวกัน ผู้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์จะเป็นพระสงฆ์ตลอดไปนิรันดร หมายความว่าแม้ตายไปไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดก็ยังคงเป็นพระสงฆ์เช่นนี้ตลอดไป ความเป็นสงฆ์ของพระเยซูคริตเจ้าได้เข้าอยู่ในตัวผู้รับศีลบวชอย่างไม่มีวันลบเลือน หน้าที่สำคัญ 3 ประการของพระสงฆ์ก็คือ
    1. สงฆ์ คือหน้าที่ประกอบพิธีเพื่อโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์แก่มวลประชาสัตบุรุษ เป็นคนกลางระหว่างพระและมนุษย์ เป็นศาสนบริกรในพระศาสนจักร
    2. ประกาศก หมายถึงทำหน้าที่เทศน์สอนสิ่งที่พระเป็นเจ้าได้ตรัสในพระคัมภีร์แก่คริสตชนได้ทราบและเข้าใจ เทศน์เตือนใจให้ละทิ้งหนทางบาป และสอนพระธรรมคำสอนแก่ทุกคน
    3. กษัตริย์ หมายถึงการทำหน้าที่ปกครองมวลประชาสัตบุรุษฝ่ายวิญญาณ โดยเริ่มตั้งแต่พระสังฆราชจะมีเขตปกครองมวลประชาสัตบุรุษของตนเรียกว่า "สังฆมลฑล" และมอบอำนาจแก่พระสงฆ์ให้ช่วยดูแลวัดต่างๆที่อยู่ในสังฆมณฑลของท่าน
     
    การสมัครเข้ารับการอบรมเพื่อรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์สำหรับพระศาสนจักรในประเทศไทย จะเริ่มตั้งแต่เด็กชายจบการศึกษาชั้นป.6 เป็นอย่างน้อย และใช้เวลาศึกษาอบรมประมาณ 15 ปี จึงได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ จากพระสังฆราชผู้ปกครองตน
  7. ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
    เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นเพื่อโปรดให้แก่ผู่ป่วยหนักจวนจะสิ้นใจ หรือผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง แม้แต่ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดสำคัญ และไม่แน่ใจว่าจะรอดหรือไม่ ศีลศักดิ์สิทธิ์ประการนี้ประทานพระหรรษทานให้แก่ผู้รับ เพื่อฟื้นฟูกำลังยามป่วยไข้และปฏิสังขรณ์สภาพร่างกาย และวิญญาณเพื่อเตรียมตัวจากโลกนี้เดินทางกลับไปหาพระเป็นเจ้า พระสงฆ์มักฌปรเศีลเจิมคนไข้พร้อมทั้งศีลอภัยบาป และศีลมหาสนิทด้วยในคราวเดียวกัน เมื่อรับศีลมหาสนิทเช่นนี้คริสตชนเรียกว่า "ศีลเสบียง"
ศีลศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวทั้ง 7 ประการจึงแสดงให้เห็นพระเมตตา และความรักของพระเป็นเจ้าที่มีต่อคริสตชน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตามระยะเวลาอันสำคัญช่วงต่างๆของชีวิตเป็นกิจศรัทธาที่คริสตชนปฏิบัติทุกวันอาทิตย์ หากจะให้คำจำกัดความว่า มิสซาคืออะไร มหาบูชามิสซาคือ
  1. งานเลี้ยง ที่พระเยซูเจ้าเชื้อเชิญบรรดาคริสตชนมาร่วมเลี้ยงฉลองและรับประทานร่วมกัน นั่นคือเลี้ยงฉลองศีลมหาสนิท มาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงวิญญาณของเรา
  2. บูชา โดยมีพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้ถวายในนามของพระเยซูเจ้า มีองค์พระเยซูเป็นเครื่องบูชาไถ่บาปถวายแด่พระบิดา เมื่อพระสงฆ์เสกปังและเหล้าองุ่น ทั้งสองได้กลับเปลี่ยนเป็นพระกายและพระโลหิตของพระเยซูเจ้า องค์พระเยซูเจ้าเป็นเหมือนลูกแกะปัสกาแห่งความรอด, เครื่องบูชาอันประเสริฐที่ถูกฆ่าเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาปแก่มนุษย์ทั้งมวล ในพิธีบูชามิสซาแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ
    ภาควจนพิธีกรรม
    จะมีการอ่านพระวาจาของพระเป็นเจ้าจากพระคัมภีร์ ซึ่งพระศาสนจักรได้จัดไว้แล้วตลอดปี และพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธี จะเทศน์อธิบายเพื่อสัตบุรุษจะได้นำเอาพระวาจาไปปฏิบัติ และเป็นเสมือนอาหารฝ่ายจิต ที่เราอิ่มใจเมื่อได้ฟังพระวาจาของพระเป็นเจ้า
    ภาคบูชาขอบพระคุณ
    เป็นการเสกปัง และเหล้าองุ่นเป็นพระวรกายของพระเยซูเจ้า และยกถวายแด่พระบิดาเป็นเครื่องบูชาอันประเสริฐเพื่อชดเชยบาป สัตบุรุษก็จะร่วมถวายชีวิต, วิญญาณ, คำภาวนาร่วมไปกับองค์พระเยซูเจ้า ผู้เป็นเครื่องบูชาอันประเสริฐแด่พระบิดาเช่นกัน การไปวัดทุกวันอาทิตย์ของคริสตชนจึงเป็นไปเพื่อร่วมในสุดยอดแห่งพิธีกรรม เพราะในพิธีบูชามิสซานี้จะมีส่วนปลีกย่อยทั้งสองภาค ซึ่งรวมกันแล้วคริสตชนได้ทำ 4 อย่างใหญ่ๆ คือ
    1. ได้สรรเสริญ
    2. ขอษมาโทษ
    3. ขอบพระคุณ
    4. วิงวอนขอ
การขับร้องบทเพลง เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ก่อให้เกิดบรรยากาศของการสวดภาวนา และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะบทเพลงที่ขับร้องก็เป็นเนื้อเพลงที่คัดมาจากพระคัมภีร์ และเพลงที่ร้องอย่างไพเราะในวัดด้วยความพร้อมเพรียงกัน ก็เป็นคำภาวนาอันประเสริฐ ที่ออกมาจากใจถวายแด่พระบิดา

หลักคำสอนสำคัญ

1. หลักตรีเอกานุภาพ พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นสามพระบุคคล (Person) หรือสามสภาวะ (State) คือ
  1. พระบิดา (God, the fater)
  2. พระบุตร หรือพระเยซู (Jesus, Son of God)
  3. พระวิญญาณบริสุทธิ์ (Holy Spirit หรือ Holy Ghost)
แต่ละบุคคลเป็นพระเจ้าสมบูรณ์ในตนเองเสมอกัน พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ แม้จะมีนามต่างกัน มีฐานะต่างกัน แต่โดยอานุภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งสามบุคคลรวมกันเป็นหนึ่งหรือสามเท่ากับหนึ่ง เรียกว่าตรีเอกานุภาพ หรือตรีเอกภาพ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Trinity (มาจาก Tri-unity) หลักคำสอนนี้ถือว่าทั้งพระบิดา พระบุตร และพระจิต ความจริงก็คือ พระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกันนั่นเอง
ตรีเอกานุภาพ
ตรีเอกานุภาพ หรือ ตรีเอกภาพ (ภาษาอังกฤษ: Trinity) เป็นปรัชญาทางคริสต์ศาสนาซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าผู้เป็นเอกานุภาพผู้เป็นตัวตนในขณะเดียวกันและตลอดไปภายในรูปของพระภาคสามพระภาค: พระเจ้าผู้เป็นพระบิดา, พระบุตรผู้มาเกิดเป็นพระเยซู และพระวิญญาณบริสุทธิ์ (Holy Spirit) ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 4 ปรัชญาทางคริสต์ศาสนาทั้งทางตะวันออกและตะวันตกก็ยอมรับว่า “สามพระภาค ในพระเจ้าองค์เดียว” สามสิ่งนี้แตกต่างกันแต่อยู่ภายใต้ผู้เป็นเทพองค์เดียว และปรัชญายังกล่าวต่อไปว่าพระบุตรหรือพระเยซูเป็นสองภาคในขณะเดียวกันคือเป็นพระเจ้าและขณะเดียวกันก็เป็นมนุษย์ (hypostatic union)
ผู้ที่เชื่อในปรัชญา “ตรีเอกานุภาพ” เรียกกันว่า “Trinitarianism” ลัทธิเกือบทุกลัทธิในคริสต์ศาสนามีความเชื่อในปรัชญา “ตรีเอกานุภาพ” และถือว่าเป็นรากของคำสอนของคริสต์ศาสนา[2][3] ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ปรัชญา “ตรีเอกานุภาพ” ก็มีเช่นปรัชญา “ทวิเอกานุภาพ” (Binitarianism) ซิ่งเชื่อในความเป็นสองภาคของพระเจ้า และปรัชญา “เอกานุภาพ” (Unitarianism) ที่เชื่อว่ามีพระเจ้าเพียงองค์เดียว
ปรัชญาตรีเอกานุภาพหลังพันธสัญญาใหม่ เป็นปรัชญาที่สำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกับปรัชญาเอเรียนนิสม์ (Arianism) ผู้เชื่อว่าพระเยซูเป็นสิ่งที่สร้างโดยพระเจ้า และสิ่งทั้งสามมิได้คงอยู่ร่วมกันตลอดกาลเช่นในความเชื่อของปรัชญาตรีเอกานุภาพ ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งสำคัญครั้งแรกในประวัติคริสต์ศาสนาและมีผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันคริสต์ศาสนาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผลให้เจอร์มานิคผู้สนับสนุนปรัชญาเอเรียนนิสม์ (Germanic Arians) แยกตัวจากผู้นับถือศาสนาคริสต์ตามปรัชญานิเซียน (Nicene Christians)
ตรีเอกานุภาพในศิลปะ “ตรีเอกานุภาพ” ที่มหาวิหารเซนตเดนนิสที่ปารีส แสดงพระบุตรในรูปของแกะ “ตรีเอกานุภาพ” เป็นรูปสามเหลี่ยมซ้อนกับรูปจิก “ตรีเอกานุภาพ” เป็นหัวข้อที่มักจะพบในคริสต์ศาสนศิลป์โดยใช้นกพิราบเป็นของพระวิญญานบริสุทธิ์ ตามที่กล่าวในพระวรสารจากเหตุการณ์ “พระเยซูรับศีลจุ่ม” (Baptism of Christ) รูปนกพิลาบส่วนใหญ่จะกางปีก การแสดง “ตรีเอกานุภาพ” เป็นมนุษย์สามคนก็ใช้ในศิลปะทุกสมัย
ภาพพระบิดาและพระบุตรจะเป็นปรากฏเป็นชายที่มีอายุต่างกัน และต่อมาก็จะแตกต่างกันจากการแต่งกายด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป โดยทั่วไปพระบิดาจะเป็นชายสูงอายุมีหนวดขาวซึ่งอาจจะนำมาจากตำนานไบเบิล Ancient of Days ซึ่งมักจะใช้อ้างเมื่อมีข้อขัดแย้งในการแสดงภาพเช่นนี้ แต่ในนิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ตำนาน Ancient of Days เชื่อว่าชายคนเดียวกันนีคือพระบุตรมิใช่พระเจ้าผู้เป็นพระบิดา บางครั้งเมื่อแสดงภาพของพระบิดาในงานศิลปะศิลปินจะใช้รัศมีเหนือพระเศียรที่เป็นสามเหลื่ยมแทนที่จะกลมเช่นรัศมีทั่วไป พระบุตรมักจะอยู่ทางขวาของพระบิดา (Acts 7:56) บางครั้งก็จะใช้สัญลักษณ์เป็นลูกแกะ หรือ กางเขน แทนพระบุตร หรือพระบุตรบนกางเขน ฉะนั้นพระบิดาจะแสดงเป็นมนุษย์ขนาดเต็มตัว ในสมัยยุคกลางตอนต้นพระเจ้าจะเป็นเพียงมือที่ยื่นออกมาจากก้อนเมฆคล้ายประทานพรเช่นในการให้พรเมื่อ “พระเยซูรับศีลจุ่ม” ต่อมาก็มีการสร้างศิลปะที่เรียกว่า “บัลลังก์แห่งความกรุณา” (Throne of Mercy หรือ Throne of Grace) ซึ่งเป็นที่นิยมกัน ในศิลปะแบบนี้พระบิดาบางครั้งจะนั่งบนบัลลังก์ถือไม่ก็กางเขน[5] ก็ประคองร่างพระบุตร ซึ่งโครงการจัดภาพหรือรูปปั้นจะคล้ายคลึงกับทรงปีเอต้าซึ่งที่เยอรมนีเรียกว่า “Not Gottes” ในขณะที่นกพิลาบจะกางปีกอยู่เหนือพระเศียรหรืออยู่ระหว่างพระบิดาและพระบุตร ทรงนี้เป็นที่นิยมทำกันจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18
ปลายสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 การแสดง “ตรีเอกภาพ” ก็เริ่มใหญ่ขึ้น และมีโครงลักษณะแบบอื่นๆ นอกเหนือไปจากทรง “บัลลังก์แห่งความกรุณา” การแสดงตรีเอกภาพก็เริ่มใช้กันเป็นมาตรฐานโดยแสดงพระบิดาเป็นชายใส่เสื้อคลุมเรียบๆ ร่างท่อนบนของพระบุตรจะเปลือยแสดงให้เห็นแบบพระสันตะปาปา
การแสดง “ตรีเอกานุภาพ” จะหายากในศิลปะในนิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ไม่ว่าจะเป็นสมัยใด การไม่นิยมแสดงรูปสัญลักษณ์ของพระบิดาจนกระทั่งสมัยยุคกลางตอนปลาย หลังจากการประชุมสังคายนาที่นิเซียครั้งที่ 2 (Second Council of Nicea) เมื่อปี ค.ศ. 787 อนุญาตให้มีการแสดงรูปสัญลักษณ์ของพระเยซูได้เพราะพระเยซูเป็นมนุษย์ แต่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงรูปพระเจ้าไม่มีหลักฐานแน่นอน การแสดง “ไอคอนตรีเอกภาพ” จะใช้ “ตรีเอกภาพ” จากพันธสัญญาเดิม ซึ่งเป็นเทวดาสามองค์ที่มาปรากฏตัวต่อเอบราฮัม และกล่าวว่าเป็น “the Lord” (ปฐมกาล:18.1-15) การประชุมสภาสงฆ์ที่มอสโคว์ (Great Synod of Moscow) ในปี ค.ศ. 1667 ประกาศห้ามการแสดงรูปสัญลักษณ์ของพระบิดาในรูปเหมือนมนุษย์
การแสดง “ตรีเอกานุภาพ” ในศิลปะคริสเตียนจะมีไม่กี่ฉากนอกจากภาพพระเยซูรับศีลจุ่มซึ่งจะแสดงทั้งสามองค์ประกอบในบทบาทที่ต่างกัน หรือภาพ “การสมมงกุฏของแมรี” (Coronation of the Virgin) ซึ่งเป็นที่นิยมกันทางตะวันตกก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่มักจะแสดง “ตรีเอกภาพ” แต่ภาพเช่น “พระเยซูผู้ทรงเดชานุภาพ” (Christ in Majesty) หรือ “การตัดสินครั้งสุดท้าย” (Last Judgement) ซึ่งตามเหตุผลน่าจะแสดง “ตรีเอกภาพ” แต่กลับแสดงเพียงพระเยซู
การแสดง “ตรีเอกานุภาพ” ที่เป็นคนสามคนเหมือนกันจะหายากเพราะแต่ละภาคของตรีเอกภาพมีบทบาทต่างกัน แต่ที่หายากกว่าคือการแสดงเหมือนมนุษย์คนเดียวที่มีสามหน้า เพราะคำบรรยายของ “ตรีเอกภาพ” เป็นคนสามคนที่มีหัวพระเจ้าหนึ่งหัวไม่ใช่คนคนเดียวที่มีสามบทบาท ซึ่งกลายเป็นการสนับสนุนปรัชญา Modalism ซึ่งเป็นปรัชญาที่ถูกประนามว่าเป็นปรัชญานอกรีต (heresy) โดยนิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ และ นิกายโอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์
การแสดง “ตรีเอกานุภาพ” อาจจะเป็นแบบนามธรรมโดยใช้สัญลักษณ์เช่นสามเหลื่ยม หรือสามเหลี่ยมสองอันซ้อนกัน, ดอกจิก, หรือผสมสิ่งที่กล่าวมา บางครั้งก็จะมีรัศมีในรูปด้วย สัญลักษณ์เหล่านี้ไม่แต่จะพบในงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมแต่ยังพบในงานปัก, พรมทอแขวนผนัง, เครื่องแต่งตัวของพระ, ผ้าคลุมแท่นบูชา, หรือรายละเอียดในสถาปัตยกรรม
พระเจ้าตรีเอกภาพ โครงร่าง
1. พระเจ้ามีองค์เดียว (1กธ.8:4 , ยซย. 45:5)
2. พระเจ้ามีแง่พิจารณา 3 ด้านคือพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ
  1. พระเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่า “เรา”และ “พวกเรา” (ยซย. 6:8; ยนซ.1:26)
  2. แง่พิจารณาของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ (มธ.28:19)
3. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ ดำรงอยู่ในเวลาเดียวกันตั้งแต่นิรันดร์กาลก่อนจนถึง นิรันดร์กาลในอนาคต
  1. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณล้วนเป็นพระเจ้า
    - พระบิดาเป็นพระเจ้า (1 ปต.1:2; อฟ.1:17)
    - พระบุตรเป็นพระเจ้า (ฮร.1:8; ยฮ.1:1; รม.9:5)
    - พระวิญญาณเป็นพระเจ้า (กจ.5:3–4)
  2. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณล้วนดำรงอยู่นิรันดร์
    - พระบิดาดำรงอยู่นิรันดร์ (ยซย.9:6)
    - พระบุตรดำรงอยู่นิรันดร์ (ฮร.1:12)
    - พระวิญญาณดำรงอยู่นิรันดร์ (ฮร.9:14)
  3. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน (ยฮ.14:16 –17; อฟ.3:14 –17)
     
4. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณร่วมอยู่ในกันและกันไม่แบ่งแยกกัน (ยฮ.6:46;5:43; 14:10; 15:26; 14:26; 8:29)
5. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทั้งสามได้เป็นหนึ่ง
  1. พระบุตรคือพระบิดา (ยซย.9:6, ยฮ.14:7–11)
  2. พระบุตรกลายเป็นวิญญาณผู้ประสาทชีวิตให้ (1กธ.15:45; ยฮ.14:16–20)
  3. องค์พระผู้เป็นเจ้า (พระบุตร) ก็คือพระวิญญาณนั้น (2กธ. 3:17)
6. สาเหตุแห่งตรีเอกภาพของพระเจ้า (2กธ.13:14)
ในพระคัมภีร์ได้เปิดเผยให้เห็นว่า พระเจ้าทรงเป็นตรีเอกภาพ นี่เป็นการเปิดเผยที่สำคัญและยิ่งใหญ่ พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว พระนามของพระองค์มีนามว่า “ยะโฮวา” และพระเจ้าองค์นี้ทรงมีสามพระภาคด้วย ทรงเป็นพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณ นี่เป็นข้อลับลึกประการหนึ่งและเป็นข้อลับลึกในข้อลับลึก เราเป็นมนุษย์ที่เล็กน้อยและมีข้อจำกัด ไม่อาจเข้าใจได้ถี่ถ้วน ยิ่งกว่านั้นย่อมไม่อาจใช้ถ้อยคำของเราบรรยายได้ครบถ้วนด้วย มีหลายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิต ซึ่งมนุษย์ไม่อาจเข้าใจได้ถี่ถ้วน เราสามารถรู้เพียงพอสังเขปเท่านั้น เช่น ชีวิตในร่างกายของมนุษย์ ไม่มีมนุษย์ผู้ใดสามารถอธิบายได้ทะลุปรุโปร่งเพราะว่าชีวิตนี้เป็นข้อลับลึกและภายในมนุษย์เรายังมีวิญญาณ นี่ยิ่งเป็นข้อลับลึก ชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งของอะไรกันแน่? และวิญญาณของเราเป็นอะไรกันแน่? ไม่มีผู้ใดอาจบรรยายได้ถี่ถ้วน ฉะนั้นเราจะพูดถึงพระเจ้าตรีเอกภาพ พระบิดา พระบุตร พระวิญญาณ ซึ่งเป็นข้อลับลึกที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร แม้แต่มนุษย์ซึ่งเป็นข้อลับลึกที่เล็กน้อย เราก็ไม่อาจเข้าใจได้แล้ว เมื่อมนุษย์เราไม่อาจเข้าใจได้ถ่องแท้ ยิ่งกว่านั้นเราจะเข้าใจถึงพระเจ้าตรีเอกภาพได้อย่างไร? แม้จะเป็นเช่นนี้ แต่เราก็ยังสามารถต้อนรับและรับสุขพระเจ้าผู้ลับลึกนี้ แม้เราไม่อาจเข้าใจ แต่สามารถ รับสุขได้ คนสมัยโบราณเขาไม่รู้เลยว่าอะไรคือ วิตามิน แต่เขาก็ได้รับสุขสิ่งเหล่านี้มากมาย สรรเสริญขอบคุณพระเจ้า พระเจ้าตรีเอกภาพไม่ใช่มีไว้สำหรับทำความเข้าใจ แต่มีไว้ให้เรารับสุข ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเป็น ล้วนมีไว้ให้เรารับสุข สิ่งเหล่านี้ล้วนได้เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์แล้ว เราสามารถต้อนรับได้ตามการเปิดเผยในพระคัมภีร์ แม้ว่าเราไม่อาจเข้าใจได้อย่างทั่วถึง แต่สามารถต้อนรับตามที่ได้ตรัสไว้ในพระคัมภีร์ ในพระคัมภีร์แม้จะไม่เจอคำว่าพระเจ้าตรีเอกภาพ แต่เราสามารถมองเห็นความจริงของตรีเอกภาพแห่งพระเจ้า ตอนนี้เรามาพิจารณาดูข้อพระคัมภีร์บางข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
1. พระเจ้ามีองค์เดียว ในพระคัมภีร์ได้กล่าวหลายครั้งและหลายวิธีว่า พระเจ้ามีองค์เดียว ไม่ว่าในพันธสัญญาเดิมและใหม่ ล้วนได้บอกเราอย่างชัดเจนและแน่นอนว่า พระเจ้ามีองค์เดียวใน 1โกรินโธ 8:4 ว่า “ และรู้ว่าพระเจ้า มีองค์เดียวไม่มีพระเจ้าองค์อื่นอีก” ใน ยะซายา 45:5 กล่าวว่า “เราคือยะโฮวาและไม่มีพระอื่นอีกแล้วนอกจากเราไม่มีพระเจ้าองค์อื่นอีก” ในข้อ 6, 21–22; 46:9; 44:6, 8 ล้วนได้กล่าวในทำนองเดียวกันในข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ พระเจ้าได้ตรัสครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “นอกจากเราแล้วไม่มีพระเจ้าองค์อื่นอีก” ไม่ได้กล่าวว่า “นอกจากพวกเราแล้วไม่มีพระเจ้าองค์อื่นอีก” แต่กล่าวว่า “นอกจากเราแล้ว ไม่มีพระเจ้าองค์อื่น” คำว่าเราเป็นเอกพจน์คือมีเพียงองค์เดียว พระเจ้าได้ตรัสหลายครั้งด้วยการยืนยันอย่างเข้มแข้งว่า พระเจ้ามีเพียงองค์เดียว ในบทเพลงสรรเสริญ86:10 กล่าวว่า “พระองค์ผู้เดียวเป็นพระเจ้า” คำว่าพระองค์ในที่นี้ก็เป็นเอกพจน์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าพระเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้นนี่เป็นการเปิดเผยในพระคัมภีร์ และก็เป็นหลักการพื้นฐานและการสรุปอย่างหนึ่ง อาจจะมีบางคนถามว่า ถ้าท่านว่าพระเจ้ามีเพียงองค์เดียวแล้วใน เยเนซิศ 1:26 ทำไมพระเจ้าจึงเรียกพระองค์เองว่า “เรา” และกล่าวว่า “ฉายาของเรา” แท้จริงมีองค์เดียวหรือมีมากกว่านั้น? คำตอบก็คือพระองค์เป็นพระเจ้าตรีเอกภาพ เป็นพระเจ้าองค์เดียว แต่มีแง่พิจารณาสามด้านคือพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ
2. พระเจ้ามีแง่พิจารณา 3 ด้านคือ พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ
  1. พระเจ้าตรัสเรียกพระองค์เองว่า “เรา” และ “พวกเรา”
    ในยะซายา 6:8 กล่าวว่า “เราจะใช้ผู้ใดไปและผู้ใดจะไปแทนพวกเรา” ในด้านหนึ่งพระเจ้าทรงเรียกพระองค์เองว่า เราและพวกเรา กรณีนี้พิสูจน์ว่า “เรา” ก็คือ “พวกเรา”และ “พวกเรา” ก็คือ “เรา” เมื่อเป็นเช่นนี้พระเจ้าในที่นี้เป็นเอกพจน์หรือเป็นพหูพจน์กันแน่ ถ้าหากเราว่าพระเจ้าคือพหูพจน์ พระองค์ก็จะตรัสว่า “เรา” ถ้าท่านว่าพระเจ้าเป็นเอกพจน์ พระองค์ก็คงตรัสว่า “พวกเรา” นี่ช่างลับลึกจริงๆ ยากต่อการเข้าใจ ขอเพียงเราต้อนรับการเปิดเผยตามพระคัมภีร์ ในเยเนซิศ 1:26ก พระเจ้าตรัสว่า “จงให้เราสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของเรา” พระเจ้าองค์เดียวผู้ทรงตรัสไว้ในพระคำอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ หลายครั้งที่เรียกพระองค์เองว่า“เรา” นี่ช่างเป็นข้อลับลึกที่ยากต่อการอธิบายแต่เราควรเชื่อ กรณีนี้ก็คือสาเหตุแห่งพระเจ้าที่มีแง่พิจารณา 3 ด้านคือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ
  2. แง่พิจารณาของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ
    ในมัดธาย 28:19 องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “...ให้พวกเขารับบัพติศมาเข้าสู่ในพระนามแห่งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณบริสุทธิ์” ในที่นี้องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสอย่างชัดเจนถึงพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ ทั้งสามพระองค์ ยิ่งกว่านั้นในที่นี้ก็ได้กล่าวถึงพระนามของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ พระนามในที่นี้เป็นเอกพจน์ กรณีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณแม้เป็นสาม แต่มีพระนามเดียวเท่านั้น ช่างเป็นข้อลับลึก ทั้งสามพระภาคนี้มีพระนามเดียว แน่นอนนี่ก็คือตรีเอกภาพ ขอถามประเด็นหนึ่งว่า “พระนามของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ” พระนามนี้คือ พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณกันแน่ นี่เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เราได้แต่พูดว่า พระนามของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณก็คือ “พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ” พระนามนี้ครอบคลุมถึงพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทั้งสามพระภาค กรณีนี้ได้พูดถึงพระเจ้าตรีเอกภาพ แม้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าองค์เดียว แต่มีแง่พิจารณาของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทั้งสามพระภาค
3. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ ดำรงอยู่ในเวลาเดียวกันตั้งแต่นิรันดร์กาลก่อนจนถึงนิรันดร์กาลในอนาคต
  1. พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณล้วนเป็นพระเจ้า
    พระบิดาเป็นพระเจ้า
    ไม่ต้องสงสัยพระบิดาเป็นพระเจ้า ในพันธสัญญาใหม่มีหลายครั้งที่กล่าวถึงพระบิดาพระเจ้า เช่นใน 1 เปโตร 1:2 “...ตามที่พระเจ้าพระบิดาพระเจ้าได้ทรงล่วงรู้ไว้ก่อน...” และในเอเฟโซ 1:17 “เพื่อพระเจ้าแห่งองค์พระเยซูคริสต์เจ้าของเราคือพระบิดาแห่งสง่าราศี...”
    พระบุตรเป็นพระเจ้า พระบุตรทรงเป็นพระเจ้าด้วย ในเฮ็บราย 1:8 เมื่อกล่าวถึงพระบุตรตรัสว่า “ข้าแต่พระเจ้า พระที่นั่งของพระองค์…” ในที่นี้ได้เรียกพระบุตรว่าพระเจ้า ในโยฮัน 1:1 ว่า “เมื่อเดิมนั้นพระคำเป็นอยู่แล้วและพระคำนั้นได้อยู่กับพระเจ้าและพระคำนั้นเป็นพระเจ้า” พระคำนี้ก็คือพระคริสต์หรือคือพระบุตร เพราะว่าพระคำเป็นพระเจ้า ฉะนั้นพระบุตรก็คือพระเจ้า ไม่เพียงแค่นี้ ในโรม 9:5 “...พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าอยู่เหนือสิ่งสารพัดและควรได้รับการสรรเสริญนิรันดร์” พระคริสต์–พระบุตรไม่เพียงแต่เป็นพระเจ้า แต่เป็นพระเจ้าผู้อยู่เหนือสิ่งสารพัดที่สมควรได้รับการสรรเสริญนิรันดร์
    พระวิญญาณเป็นพระเจ้า ในกิจการ 5:3–4 เราได้มองเห็นพระวิญญาณเป็นพระเจ้า ในข้อ 3 เปโตรได้กล่าวแก่ อะนาเนีย ว่าได้หมิ่นประมาทพระวิญญาณและในข้อถัดไปบอกว่าเขาได้หมิ่นประมาทต่อพระเจ้า ในทั้งสองข้อนี้พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คือพระเจ้า ดังนั้นพระคัมภีร์ได้เปิดเผยแก่เราอย่างชัดเจนว่า พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณล้วนเป็นพระเจ้า แต่ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าสามพระองค์เพราะเราได้มองเห็นชัดเจนจากพระคัมภีร์แล้วว่าพระเจ้ามีองค์เดียวแม้ว่าจะมีสามพระภาคคือพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณก็ตาม แต่ทั้งสามพระภาคนี้ไม่ใช่พระเจ้าสามองค์ แต่เป็นพระเจ้าองค์เดียวนี่ช่างเป็นข้อลับลึกเราไม่อาจเข้าใจได้ถี่ถ้วนแต่ขอบคุณสรรเสริญพระเจ้าเราสามารถต้อนรับและรับสุขผู้ลับลึกนี้ตามที่พระคัมภีร์ได้เปิดเผยนั้น
  2. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณล้วนดำรงอยู่นิรันดร์
    พระบิดาทรงดำรงอยู่นิรันดร์ ในยะซายา 9:6 กล่าวว่า พระบิดาองค์ถาวร คำนี้ถ้าแปลตามตัวอักษรในภาษาเฮ็บรายหมายถึง พระบิดาผู้คงอยู่กาลนาน หรือพระบิดาผู้ดำรงอยู่นิรันดร์ ดังนี้พระบิดาจึงดำรงอยู่นิรันดร์
    พระบุตรทรงดำรงอยู่นิรันดร์ พระบุตรทรงดำรงอยู่นิรันดร์ในเฮ็บราย 1:12 เมื่อกล่าวถึงพระบุตร “…แต่พระองค์เองยังคงเหมือนเดิมและ ปี เดือนของพระองค์จะไม่สิ้นสุด” และในเฮ็บราย 7:3 ก็กล่าวว่า พระองค์ไม่มีวันเกิด (ไม่มีวันเริ่มต้น) และไม่มีวันตาย (การสิ้นสุด) นั่นก็หมายความว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่นิรันดร์
    พระวิญญาณทรงดำรงอยู่นิรันดร์ พระวิญญาณก็ทรงดำรงอยู่นิรันดร์ เพราะในเฮ็บราย 9:14 กล่าวว่า “...พระวิญญาณที่นิรันดร์นั้น...” ดังนั้นเราต้องให้ทุกคนทราบและปฏิบัติตามพระคัมภีร์เราขอประกาศว่า พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทั้งสามพระภาคนี้ล้วนดำรงอยู่นิรันดร์
  3. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน
    ในโยฮัน 14:16–17 “เราจะขอพระบิดาและพระองค์จะทรงประทานองค์ผู้ช่วยอีกผู้หนึ่งแก่ท่าน เพื่อจะอยู่กับท่านเป็นนิตย์ คือพระวิญญาณแห่งความเที่ยงแท้...” ในสองข้อนี้ พระบุตรอธิษฐานต่อพระบิดา เพื่อพระบิดาจะใช้พระวิญญาณมา ดังนั้น พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ จึงดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ในเอเฟโซ 3:14–17 เปาโล กล่าวว่า “ท่านจะอธิษฐานต่อพระบิดา... เพื่อท่านจะได้รับการเพิ่มกำลังเข้าสู่มนุษย์ภายในด้วยฤทธิ์เดชโดยพระวิญญาณของพระองค์ เพื่อพระคริสต์จะได้พักพิงอยู่ในใจของท่านโดยความเชื่อ” ในข้อนี้ให้เรามองเห็นพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณดำรงอยู่ในเวลาเดียวกันทั้งสามพระภาค พระคัมภีร์ไม่ได้กล่าวว่า พระบิดาดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง จากนั้นพระบุตรได้เสด็จมาและเมื่อผ่านไปอีกระยะหนึ่งพระวิญญาณก็เสด็จมาแทนที่พระบุตรและพระบุตรไม่ดำรงอยู่แล้วกรณีเช่นนี้ ไม่มีพระคัมภีร์กล่าวไว้ แต่ในพระคัมภีร์ข้อนี้ให้เราเห็นว่า พระบิดาฟังคำอธิษฐานพระวิญญาณประทานความเข้มแข็งแก่เราและพระคริสต์พักพิงอยู่ในใจของเราและในที่นี้ก็ได้ให้เราเห็นอย่างชัดเจน ทั้งสามพระภาคดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ใน 2 โกรินโธ 13:14 ว่า “ขอให้พระคุณแห่งพระเยซูคริสต์เจ้า ความรักแห่งพระเจ้าและการสามัคคีธรรมแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ข้อนี้ได้กล่าวถึงพระคุณของพระบุตร ความรักของพระบิดาและการสามัคคีธรรมหรือการหลั่งไหลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ทั้งสามพระภาคนี้ได้ดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเราจึงไม่เชื่อว่าพระบิดาไม่ดำรงอยู่แล้ว แต่พระบุตรมาแทนที่พระบิดาและผ่านไปอีกช่วงหนึ่ง พระวิญญาณก็มาแทนที่พระบุตร แต่เราเชื่อว่าทั้งพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณสามพระภาคนี้ดำรงอยู่นิรันดร์และดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน
4. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณร่วมอยู่ในกันและกัน ไม่แบ่งแยกจากกัน ความสัมพันธ์ของพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณ ไม่เพียงแต่ดำรงในเวลาเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นและยังอยู่ในกันและกัน ดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ก็คือดำรงอยู่พร้อมกัน แต่คำว่าอยู่ในกันและกันที่ใช้กับพระเจ้าตรีเอกภาพก็คือพระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ ดำรงอยู่โดยร่วมอยู่ในกันและกัน ในพระคัมภีร์ได้เปิดเผยอย่างชัดเจน เมื่อพระบุตรมาแล้ว พระบิดาร่วมมาด้วย ทำนองเดียวกัน พระวิญญาณมาแล้ว พระบิดากับพระบุตรร่วมมาด้วยและเมื่อพระบุตรมานั้น พระบิดาไม่ใช่ร่วมมาทางภายนอกแต่ร่วมมากับพระบุตร โดยอยู่ภายในพระบุตรอันเป็นทัศนะภายใน โยฮัน 6:46 กล่าวว่า“มิใช่ว่ามีผู้ใดได้เห็นพระบิดาเว้นแต่พระองค์ที่มาจากพระเจ้า ท่านนั้นแหละได้เห็นพระบิดาแล้ว” คำว่ามาจากในที่นี้ ตามภาษาเดิมหมายถึง“ร่วม”ด้วย พระบุตรไม่เพียงแต่มาจากพระบิดา แต่ร่วมมากับพระบิดา
โยฮัน 5:43 กล่าวว่า “เราได้มาในนามพระบิดาของเรา...” พระบุตรเสด็จมาในนามของพระบิดาก็เท่ากับพระบิดามา กรณีนี้ยืนยันว่าพระบุตรมาก็คือพระบิดามา โยฮัน 14:10 ว่า “…เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาอยู่ในเรา...” ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าพระบิดามิได้อยู่ภายนอกพระบุตร แต่ร่วมเสด็จมากับพระบุตร โดยอยู่ในพระบุตร ดังนั้นพระบุตรจึงสามารถเป็นพยานได้ว่า “…ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา...” (ยฮ.14:9)
โยฮัน 15:26 ว่า “แต่เราจะใช้องค์ผู้ช่วยจากพระบิดามาหาท่านทั้งหลายคือพระวิญญาณแห่งความเที่ยงแท้ที่มาจากพระบิดา...” คำว่า “มา” ในวรรคที่สองนั้น ตามภาษาเดิมมีความหมายว่า “ร่วม” เมื่อพระวิญญาณนั้นเสด็จมาก็ร่วมมากับพระบิดาด้วย
โยฮัน 14:26 ว่า “แต่องค์ผู้ช่วยนั้นคือ พระวิญญาณบริสุทธิ์ที่พระบิดาจะทรงใช้มาในนามของเรา...” ผู้ช่วยนี้ก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์จะถูกพระบิดาใช้มาในนามของพระบุตร มาในนามของพระบุตรก็เท่ากับพระบุตรมา พระวิญญาณเสด็จมาก็คือพระบุตรมาด้วย
นอกจากนี้โยฮัน 8:29 ว่า “พระองค์ที่ทรงใช้เรามา สถิตอยู่กับเรา พระองค์มิได้ละเราไว้ผู้เดียว...” ลูกา 4:1 ก็ว่า “พระเยซูเต็มด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์...” ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าขณะที่พระบุตรอยู่บนโลกนี้ พระบิดาและพระวิญญาณก็ทรงสถิตอยู่กับพระองค์ด้วย ทั้งสามพระภาคนี้ไม่ได้แยกจากกัน กรณีเหล่านี้ชี้แจงว่า ทั้งสามพระภาคนี้ไม่เคยแยกจากกัน เมื่อพระภาคหนึ่งเคลื่อนไหว อีกสองพระภาคก็เคลื่อนไหวตามด้วย พระภาคหนึ่งถูกใช้มา อีกสองพระภาคก็ร่วมมาด้วย เมื่อพระบุตรเสด็จมา พระองค์เสด็จมาในนามของพระบิดา พระองค์เสด็จมาก็คือพระบิดามา เมื่อพระวิญญาณถูกใช้มา พระองค์ถูกใช้มาในนามของพระบุตรนั่นก็คือ พระวิญญาณถูกใช้มาก็คือพระบุตรถูกใช้มาด้วย ฉะนั้นพระบุตรมาก็คือพระบิดามา พระวิญญาณถูกใช้มาก็คือพระบุตรถูกใช้มา สรุปได้ว่าทั้งสามพระภาคเป็นหนึ่ง พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทรงเป็นหนึ่ง เราไม่อาจแยกจากกันได้
 5. พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณทั้งสามเป็นหนึ่ง
  1. พระบุตรก็คือพระบิดา ในยะซายา 9:6 ว่า “ด้วยว่าจะมีทารกคนหนึ่งเกิดขึ้นในพวกเรา คือทรงประทานพระบุตรคนหนึ่งให้แก่พวกเราและเขาจะขนานนามของท่านว่า พระเจ้าทรงอานุภาพ พระบิดาองค์ถาวร” ในวันนี้ พระเจ้าทรงอานุภาพกล่าวเล็งถึงทารก พระบิดาองค์ถาวรกล่าวเล็งถึงบุตร ทารกที่เกิดในเบ็ธเลเฮ็มก็คือพระเจ้าทรงอานุภาพ ทารกนั้นกับพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างไร พระบุตรกับพระบิดาองค์ถาวรก็เป็นหนึ่งเดียวได้อย่างนั้น พระบุตรก็คือพระบิดาองค์ถาวร กรณีนี้ยากที่จะพูดให้เข้าใจ แต่พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้เช่นนั้นคือ “ทรงประทานพระบุตรองค์หนึ่งแก่พวกเรา และจะขนานนามของท่านว่าพระบิดาองค์ถาวร” นี่เป็นพระคำที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าคือพระบิดาไม่ใช่หรือ? หากพระบุตรนี้ไม่ใช่พระบิดาแล้วพระบุตรนี้จะถูกเรียกว่าพระบิดาได้อย่างไร ถ้าหากเรายอมรับว่าทารกนี้ก็คือพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพ เราก็ต้องยอมรับว่าพระบุตรในข้อนี้ก็คือพระบิดาองค์ถาวร ถ้าไม่แล้วเราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เชื่อคำตรัสในพระคัมภีร์ แต่เราเชื่อตามพระคัมภีร์นี้ว่า พระเยซูที่เป็นทารกนั้นก็คือพระเจ้าผู้ทรงอานุภาพและพระเยซูที่เป็นพระบุตรนั้นก็เป็นพระบิดาองค์ถาวรด้วย องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทรงเป็นทั้งพระบุตรและพระบิดา โยฮัน 14:7–11 ว่า “ถ้าท่านทั้งหลายได้รู้จักเราแล้ว ท่านก็คงจะได้รู้จักพระบิดาของเราด้วย ตั้งแต่นี้ไป ท่านก็รู้จักพระองค์และได้เห็นพระองค์ ฟิลิปจึงทูลพระองค์ว่า พระองค์เจ้าข้า ขอสำแดงพระบิดาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็น ข้าพเจ้าจึงจะอิ่มใจ พระเยซูตรัสแก่เขาว่า “ฟิลิปเอ๋ย เราได้อยู่กับพวกท่านนานเช่นนี้แล้ว และท่านยังไม่รู้จักเราหรือ? ผู้ที่ได้เห็นเราก็ได้เห็นพระบิดา เหตุไฉนท่านจึงว่าขอสำแดงพระบิดาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็น? ท่านไม่เชื่อหรือว่าเราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาอยู่ในเรา? ถ้อยคำซึ่งเรากล่าวแก่ท่านทั้งหลาย เรามิได้กล่าวจากตัวเราเอง แต่พระบิดาที่อยู่ในเรา พระองค์นั้นทรงกระทำการงานของพระองค์ จงเชื่อเราว่า “เราอยู่ในพระบิดาและพระบิดาอยู่ในเรา...” ในที่นี้พระองค์ได้ทรงเปิดเผยข้อลับลึกที่พระองค์ได้เป็นหนึ่งกับพระบิดา พระองค์ทรงอยู่ในพระบิดาและพระบิดาก็อยู่ในพระองค์ พระองค์ตรัสก็คือพระบิดาที่ทรงทำการ มนุษย์ได้เห็นพระองค์ ก็ได้มองเห็นพระบิดาและผู้ที่รู้จักพระองค์ก็รู้จักพระบิดา เพราะพระองค์ก็คือพระบิดาและเป็นหนึ่งกับพระบิดา(ยฮ.10:30)
  2. พระบุตร (อาดามคนสุดท้าย) กลายเป็นพระวิญญาณผู้ประทานชีวิต ใน 1 โกรินโธ 15:45ข ว่า “...แต่อาดามคนสุดท้ายได้กลายเป็นพระวิญญาณผู้ประทานชีวิต” อาดามคนสุดท้ายก็คือพระเยซูที่อยู่ในรูปกายเลือดเนื้อ และพระวิญญาณผู้ประทานชีวิตก็ต้องเป็นพระวิญญาณ จะต้องไม่เป็นผู้ประทานชีวิตให้อีกองค์หนึ่งต่างหาก ดังนั้นพระคัมภีร์นี้ได้บอกเราอย่างชัดเจน พระเยซูก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ องค์พระผู้เป็นเจ้าได้กลายเป็นรูปกายเลือดเนื้อ คืออาดามคนสุดท้าย จากนั้นได้ผ่านการตายและเป็นขึ้นกลายเป็นวิญญาณผู้ประทานชีวิต ถ้อยคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในโยฮัน 14:16-20 ก็ได้ยืนยันถึงจุดนี้ ในที่นี้หมายถึงพระองค์ต้องผ่านการตายและเป็นขึ้นกลายเป็นผู้ช่วยอีกผู้หนึ่ง ก็คือพระวิญญาณแห่งความจริงมาสถิตอยู่กับเราและจะอยู่ภายในเรา ในข้อ 17 พระองค์ได้ตรัสไว้ก่อนว่า “พระวิญญาณแห่งความเที่ยงแท้...พระองค์จะอาศัยอยู่กับท่านและอยู่ภายในท่าน” 30 กว่าปีก่อน พี่น้องนีได้กล่าวที่เซี่ยงไฮ้อย่างหนักแน่นว่า พระองค์ในข้อ 17 ซึ่งเป็นพระวิญญาณก็คือเรา ในข้อ 18 ซึ่งก็คือองค์พระผู้เป็นเจ้า พระองค์เสด็จมาก็คือเรามา พระองค์นั้นก็คือเราและเราก็คือพระองค์ พระวิญญาณก็คือพระเยซู พระเยซูก็คือพระวิญญาณ และในข้อ 17 ว่า “พระวิญญาณแห่งความเที่ยงแท้จะอยู่ภายในท่านทั้งหลาย” ในข้อ 20 กล่าวว่า“...เราอยู่ในท่านทั้งหลาย...” นี่ก็ยืนยันว่าพระวิญญาณที่อยู่ในเราทั้งหลาย ก็คือพระองค์ที่ผ่านการตายและเป็นขึ้นเข้ามาอยู่ภายในของเรา
  3. องค์พระผู้เป็นเจ้า พระบุตรก็คือพระวิญญาณนั้น ใน 2 โกรินโธ 3:17 ว่า “...องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระวิญญาณนั้น…” องค์พระผู้เป็นเจ้าในที่นี้ก็คือพระเยซู และพระวิญญาณนั้นก็คือพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระองค์ทรงเป็นพระบิดาและเป็นพระวิญญาณด้วย พระองค์ทรงเป็นทุกสิ่ง
6. สาเหตุแห่งตรีเอกภาพของพระเจ้า โกรินโธ 13:14 ว่า “ขอให้พระคุณแห่งองค์พระเยซูคริสต์เจ้า, ความรักแห่งพระเจ้า และการสามัคคีธรรมแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ดำรงอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” ในที่นี้กล่าวถึง 3 สิ่ง พระคุณ ความรักและการสามัคคีธรรมนี่ได้ถึงสาเหตุแห่งตรีเอกภาพของพระเจ้า ก็เพื่อที่จะแจกจ่ายพระองค์เองเข้าสู่ภายในเรา ให้เรารับสุขและเป็นทุกสิ่ง ความรักของพระเจ้าก็คือความรักแห่งพระบิดาซึ่งเป็นต้นกำเนิดพระคุณของพระคริสต์ ก็คือพระคุณแห่งพระบุตร ซึ่งออกมาจากความรักแห่งพระบิดา และการสามัคคีธรรมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ก็คือพระคุณแห่งพระบุตร ได้นำเอาความรักแห่งพระบิดาหลั่งไหลเข้าสู่ภายในเรา ให้เรารับสุข นี่เป็นสิ่งที่เราสามารถยืนยันได้จากประสบการณ์ของเรา การสามัคคีธรรมของพระวิญญาณซึ่งอยู่ภายในเรา นั่นก็คือพระคุณของพระบุตรถ่ายเทเข้าสู่ภายในเราให้เราได้รับสิ่งนี้ พระคุณของพระบุตรซึ่งอยู่ในเราก็คือการลิ้มรสรับสุขความรักแห่งพระบิดาที่แท้จริง
สรุปได้ว่าความรักแห่งพระบิดาเป็นต้นกำเนิด พระคุณแห่งพระบุตรเป็นการสำแดงออก การสามัคคีธรรมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ก็คือการถ่ายเท คือได้นำเอาพระคุณแห่งพระบุตร รวมทั้งความรักแห่งพระบิดาถ่ายเทเข้าสู่ภายในเรา ผลที่สุดทุกสิ่งของพระเจ้าตรีเอกภาพได้อยู่ภายในเราเป็นการรับสุขของเรา ภายในของเรามีการสามัคคีธรรมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้าท่านยิ่งอยู่ในการสามัคคีธรรมนี้ ก็ยิ่งมีพระคุณของพระคริสต์ ยิ่งมีพระคุณของพระคริสต์ ก็ยิ่งรับสุขความรักของพระเจ้า การสามัคคีธรรมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้นำมาซึ่งพระคุณแห่งพระคริสต์ พระคุณแห่งพระคริสต์นี้ก็คือความรักแห่งพระเจ้า ฉะนั้นความรักแห่งพระเจ้า พระคุณแห่งพระบุตร การสามัคคีธรรมแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของสามสิ่งที่แตกต่างกัน แต่เป็นของอย่างเดียวที่มีสามขั้นตอนเพื่อให้เรารับสุข ทำนองเดียวกัน พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ ไม่ใช่พระเจ้าสามพระองค์ แต่เป็นพระเจ้าองค์เดียว ที่มีสามขั้นตอนเพื่อให้เราได้รับสุข
2. หลักความรัก ศาสนาคริสต์ได้ชื่อว่าเป็น "ศาสนาแห่งความรัก" ดังมีคำอธิบายว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาแห่งความรักของพระเจ้า ศาสนาแห่งความรักของมนุษย์ อันพระเยซูคริสต์ได้ทรงเป็นผู้นำมาเผยแพร่แก่โลก
ปรัชญาในคำสอนของพระเยซู คือปรัชญาแห่งความรัก ความรักเป็นหลักธรรมสำคัญที่สุดที่พระเยซูทรงสั่งสอนเริ่มต้นตั้งแต่ทรงสอนว่า พระเจ้าทรงรักโลก จนได้ทรงส่งพระบุตรของพระองค์มาสู่โลกนี้ เพื่อทรงใช้หนี้บาปแทนมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์รอดพ้นบาป สอนให้มนุษย์รักพระเจ้า รักครอบครัว รักเพื่อนบ้าน และรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายทั่วไป เมื่อมีผู้ถามว่า ข้อบัญญัติอันใดของพระองค์ที่ทรงถือเป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่ที่สุด พระเยซูทรงตอบว่า ความรัก และทรงอธิบายต่อไปว่าให้รักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์
คำว่า "ความรัก" ในคริสต์ศาสนา มิได้หมายถึงความรักใคร่หรือความรักที่ประกอบด้วยตัณหา แต่เป็นความรักอันบริสุทธิ์ ซึ่งในภาษากรีกอันเป็นภาษาที่จารึกพระคัมภีร์พระคริสต์ธรรมภาคพันธสัญญาใหม่ใช้คำว่า Agape (อกาเป) คือความปรารถนาที่จะเห็นผู้อื่นมีความสุข ความเสียสละเพื่อช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ และความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ความรักชนิดนี้ตรงกับคำว่า เมตตา กรุณา และมุทิตา ในทางพระพุทธศาสนา คำสอนของพระเยซูที่สอนให้มีความรักความรารถนาดีต่อกันนั้นมีมาก ดังจะยกตัวอย่างมาดังนี้
  1. "เพราะว่าพระเจ้าทรงรักโลก จึงได้ทรงประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่วางใจในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร"
  2. "จงรักพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของเจ้าด้วยสุดกำลังและสิ้นสุดความคิดของเจ้า และจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง"
  3. "ถ้าผู้ใดว่า "ข้าพเจ้ารักพระเจ้า" แต่ใจยังเกลียดชังพี่น้องของตน ผู้นั้นก็เป็นคนพูดมุสา เพราะว่าผู้ที่ไม่รักพี่น้องของตนที่แลเห็นแล้ว จะรักพระเจ้าที่ไม่เคยเห็นไม่ได้ พระบัญญัตินี้เราทั้งหลายก็ได้มาจากพระองค์ คือว่าให้เห็นคนที่รักพระเจ้านั้นรักพี่น้องของตนด้วย"
  4. "จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้วท่านทั้งหลายจะเป็นบุตรของพระบิดาของท่านผู้ทรง "สถิตในสวรรค์"
3. หลักอาณาจักรพระเจ้า คำว่า "อาณาจักรพระเจ้า" ซึ่งในพระคัมภีร์พระคริสต์ธรรมใหม่ใช้คำว่า "Kingdom of God" นั้น ได้มีการกล่าวถึงตลอดมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน แต่มีการตีความหมายของคำนี้แตกต่างกันไป คือ
  1. อิสยาห์ หรือ ยะซายา (Isaiah) ศาสดาพยากรณ์ของยิวได้ทำนายว่า พระมาซีฮา พระผู้ช่วยให้รอดจะเสด็จมาเผด็จศึก ทำลายล้างศัตรูและตั้งอาณาจักรแห่งพระเจ้าขึ้นในโลกนี้ และจะทรงใช้กรุงเยรูซาเลมเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมือง และการศาสนาชนชาติอิสราเอลจะกลับคืนมาสู่ความเจริญรุ่งโรจน์ โลกจะประสบสันติสุข พระมาซีฮาจะเป็นผู้ปกครองโลกด้วยฤทธิ์อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า
  2. ยอห์นหรือโยฮัน ผู้ให้ศีลจุ่ม (John the Baptist) ได้ประกาศคำสอนในแคว้นยูเดีย คำสอนหลักของยอห์นคือ "จงกลับใจเสียใหม่ จงเลิกกระทำบาปเสีย เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์อยู่ใกล้ท่านแล้ว" เมื่อพระเยซูทรงรับศีลล้างบาปจากยอห์นแล้ว พระองค์เริ่มประกาศคำสอนในแคว้นกาลิลี ตรัสว่า "เวลากำหนดมาถึงแล้ว และอผ่นดินของพระเจ้าก็ใกล้แล้ว จงกลับใจเสียใหม่ จงเลิกกระทำบาปเสียและเชื่อข่าวประเสริฐเถิด" จากข้อความในพระคัมภีร์ทั้งสองแห่งนี้ ในสมัยโบราณเคยมีชาวคาทอลิกบางคนตีความว่า อาณาจักรของพระเจ้า (theKingdom of God) กับแผ่นดินสวรรค์ (the Kingdom of heaven) มีความหมายอย่างเดียวกันนั่นคือ อาณาจักรของพระเจ้า ได้แก่ แผ่นดินสวรรค์ อันเป็นที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้าและทูตสวรรค์
  3. นิกายออร์ธอดอกซ์ เชื่อว่าโบสถ์วิหารทั้งหลายอันเป้นที่บำเพ็ญพรตนั้น คืออาณาจักรของพระเจ้า (Kingdom of God) หมายความว่าอาณาจักรของพระเจ้าไม่ใช่อยู่บนสวรรค์ที่คาทอลิกเข้าใจกัน
  4. ในปัจจุบันได้มีการอธิบายว่า อาณาจักรของพระเจ้า คือ พระศาสนจักร ศาสนจักรคือหมู่คณะ หรือชุมนุมของคริสต์ศาสนิกชน หมู่คณะดังกล่าวร่วมกันอยู่เป็นกลุ่มทางสังคม มีกฎเกณฑ์ มีการปกครอง แต่ทั้งหมดก็อยู่บนความเชื่อที่ทำให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน
ในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ที่กรุงโรม ปี ค.ศ. 1962 ได้มีประกาศธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร มีข้อความตอนหนึ่งว่า "พระเป็นเจ้าทรงเลือกสรรอิสราเอลขึ้นเป็นประชากร ทรงกำลังสัมพันธไมตรีกับเขา...พระคริสต์เจ้าทรงตั้งสัมพันธไมตรีใหม่ หรือพันธสัญญาใหม่ด้วยพระโลหิตของพระองค์จากบรรดาชาวยิวและนานาชาติ ทรงเรียกประชากรมนุษย์ให้มาเป็นหนึ่งเดียวกัน...นี่แหละคือ ประชากรของพระเจ้า.... พระศาสนจักรมีความมุ่งหมายเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางของมนุษย์ ความมุ่งหมายนั้นจะบรรลุผลสำเร็จบริบูรณ์ได้ก็แต่ในโลกหน้า แต่ศาสนจักรดำรงอยู่ในโลกนี้แล้วประกอบด้วยมนุษย์ ประกอบด้วยสมาชิกของพลโลก ตั้งครอบครัวของพระเป็นเจ้าขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลก และครอบครัวนั้นจะต้องทวีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าพระคริสต์เจ้าจะเสด็จมา..." ประกาศนี้มีความหมายว่า อาณาจักรพระเจ้าที่พระเยซูทรงนำมาปลูกฝังให้แก่ประชาชนนั้นอาจนับได้เป็น 2 ชั้น ชั้นแรก หมายถึง อาณาจักรแห่งพระเจ้าบนโลกนี้ อันจะเป็นรากฐานสำหรับชั้นสุดท้าย คืออาณาจักรแห่งพระเจ้าที่สมบูรณ์บนสวรรค์
4. บาปกำเนิด คือ บาปที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด Genesisปฐมกาล :บาปกำเนิด Original sin พระเยซูเจ้าทรงทำให้เรา ประสานมิตรภาพระหว่างเรากับพระเป็นเจ้าโมเสส
ขั้นแรก โมเสสอธิบายเรื่องสร้างโลก ถ้าโมเสสจะเล่าอย่างรวบรัดแบบตำราวิทยาศาสตร์ ชาวอิสราเอลคงไม่เข้าใจ ฉะนั้นท่านได้เล่าทำนองเปรียบเทียบเพื่อความเข้าใจ ดังนั้น ท่านก็แน่ใจว่า ชาวอิสราเอลจะเข้าใจในสิ่งสำคัญในเรื่องหนึ่งๆๆ ก่อนเล่า ท่านรำพึงอยู่นาน และพระเป็นเจ้าก็ทรงดลใจให้ท่านเล่าทุกอย่างโดยถูกต้อง ประวัติของโลกแบ่งเป็น 3 ภาค
ภาคแรกคือ การสร้างโลก
ภาคที่สองคือ มนุษย์ได้ทำบาป
ภาคที่สามคือ ยังไม่เสร็จ คือการสร้างโลกใหม่
โมเสสเริ่ม : หะแรกพระเป็นเจ้าทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน เวลานั้นยังมิใช่โลกสวยงามอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นก้อนหินมหึมาที่ไม่มีรูปแน่นอน พระเป็นเจ้าตรัสให้มีแสงสว่าง ความสว่างก็มีขึ้น นี่เป็นวันแรก เมื่อโลกยังเป็นแต่ของเหลว พระเป็นเจ้าตรัส ให้น้ำแยกออกเป็นหลายแห่ง และก็ได้เป็นเช่นนั้น วันที่ 2 วันต่อมาพระเป็นเจ้าตรัสว่า "ให้น้ำบนแผ่นดินไปรวมแห่งเดียวกัน" ดังนี้ จึงได้มีทะเลและทวีป พระองค์ตรัสอีกว่า "ให้แผ่นดินเกิดหญ้า ผัก ผลไม้ และทวีแพร่หลาย "ทุกสิ่งก็เป็นมาตามรับสั่ง นี้เป็นวันที่ 3 วันต่อมา พระเป็นเจ้าตรัส "ให้มีดาวต่างๆๆในท้องฟ้า" จึงได้มีดวงอาทิตย์ฉายแสงกลางวัน มีเดือนส่องแสงกลางคืน มีดาวเคราะห์ และดาวอื่นๆๆนับอนันต์
นับเป็นวันที่ 4 วันต่อมา พระเป็นเจ้าตรัส "ให้มีสัตว์ในน้ำและในอากาศ"จึงมีปลาและนกต่างๆๆ ซึ่งแผ่นลูกหลานต่อๆๆไป นับเป็นวันที่ 6 วันต่อมาพระเป็นเจ้าตรัส "ให้แผ่นดินบังเกิดสัตว์บกทุกชนิด" แผ่นดินก็ปกคลุมด้วยสัตว์ต่างๆๆโดยลำดับ โมเสสก็หยุดเล่า
ชาวอิสราเอลเข้าใจดีว่า โลกมิได้สำเร็จขึ้นภายใน 6 วัน วันหนึ่งมี 24ชม แต่ดลกค่อยๆๆสมบูรณ์ขึ้นอย่างช้าๆๆ ที่สำคัญ เขาเข้าใจใจความที่โมเสสเล่าคือ พระเป็นเจ้าทรงสร้างทุกสิ่ง และทรงเป็นเจ้านายของโลก
แล้วโมสสเล่าถึงการสร้างชายหญิงคู่แรก ท่านชี้ให้ชาวอิสเราเอลรู้ว่าพระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ด้วยความรักเป็นพิเศษเพระต้องการให้มนุษย์ดูแลโลก ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาของพระองค์ ทรงสร้างกายด้วยดิน แล้วเป่าลมแห่งชีวิต มนุษย์ก็มีชีวิต และอยู่ใน "สถานะพระหรรษทาน" ชายคนแรกนี้มีความสุขอย่างสมบูรณ์ เพราะว่าชายคนนั้นไม่อาจเจริญชีวิตได้โดยลำพังพระเป็นเจ้าก็ประทานหญิงคนหนึ่งให้เป็นเพื่อนพระองค์ประสานเขาทั้งสองให้สนิทกัน เหมือนหนึ่งใจเดียวกายเดียวกัน ชายนั้นคือ อาดัม แปลว่า เกิดจากดิน หญิงชื่อ เอวา แปลว่า แม่ของผู้มีชีวิต ทั้งสองเป็นเจ้านายสิ่งสร้าง ดูแลโลกให้สำเร็จตามแผนที่พระเจ้าทรงจัดไว้ แผ่นดินเป็นดังอุทธยาน
เมื่อคิดถึงทุกสิ่งที่โมเสสเล่า ชาวอิสราเอลก็เข้าใจว่า พระเป็นเจ้าทรงยิ่งใหญ่ มีฤทธิ์ ทรงปัญญา และใจดีหาที่สุดมิได้ โมเสสเสริมว่า "นี่แหละพระเป็นเจ้าแท้แต่ผู้เดียว" ท่านจงออกพระนามโดยเคารพ เรียกพระองค์ซื่อๆๆว่า "อาโดนาย" คือ "พระเป็นเจ้า" ต่อมาเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงมาแล้ว เราจึงจะรู้ว่า พระเป็นเจ้าทรงเป็น "บิดาของเรา"ด้วย

เรื่องบาปกำเนิด

ท่านหยุดรำพึงอย่างลึกซึ๊ง เพราะสิ่งที่จะเล่านี้ รู้สึกน่ากลัว ท่านเล่าว่า แผ่นดินที่อาดัมและเอวาอาศัยอยู่ เป็นสวนเต็มไปด้วยไม่ผล ทั้งสองมีสิทธิ์เก็บกินไม้ผลทุกชนิด เว้นแต่ "ต้นแห่งชีวิต"ที่อยู่กลางสวน พระเป็นเจ้าตรัสว่า "ถ้าเจ้ากินเมื่อไร เจ้าจะต้องตาย" ปีศาจได้จำแลงเป็นงูมาล่อลวงเอวาว่า "ทำไมไม่กินผลไม้ต้นนี้" เพราะพระเป็นเจ้าสั่งว่า กินแล้วต้องตาย "ไม่จริง" ปีศาจพูด " ตรงข้าม เธอจะมีฤทธิ์เหมือนพระเป็นเจ้า พระองค์กลัวจีงมิให้กิน " เอวามองลูกไม้อยู่นาน ที่สุดก็เก็บมากิน แล้วเอาไปให้อาดัมกินด้วย พระเป็นเจ้าทรงเรียกที้งสองมาถามว่า "ได้กินผลไม้ที่ห้ามหรือ" อาดัม เอวา แทนที่จะช่วยกัน กลับซัดกันเอง อาดัมว่า "เอวาทำผิด และเอามาให้ฉันกิน" เอว่าซัดไปถึงปีศาจ วว่า "งูมาล่อลวงให้ฉันกิน" พระเป็นเจ้าลงโทษงูให้เป็นสัตว์น่าแสยง ตรัสแก่เอว่า ว่า "เจ้าจะลำบากมากเมื่อมีบุตร" ตรัสแก่อดัมว่า "เจ้าจะหากินด้วยความยากลำบาก" เจ้าเป็นฝุ่นดินก็จะกลับเป็นดินใหม่" แผ่นดินก็ไม่เป็นอุทธยานอีก
ชาวอิสราเอลจำคำบอกเล่าของโมเสสไว้ เขารู้ว่า เรื่องผลไม้นี้เป็นวิธีเล่าความจริงที่อาดัมและเอวาทำคือ บาปจองหอง ไม่เคารพเชื่อฟังพระเป็นเจ้า พระองค์ต้องลงโทษ ชาวอิสราเอลรู้ว่า ทุกคนสืบาจาก อาดัม เอวา ก็พลอยติดบาปกำเนิดด้วย เมื่อมนุษย์ไม่เป็นไมตรีกับพระ เข้าก็ไม่เป็นายของโลก ไม่รู้หันไปพึ่งใคร ต้องลำบาก
เมื่อโมเสสพูดจบ ชาวอิสราเอลนิ่งอยู่นานเขาคิดถึงมหันตภัยบาป โมเสสเตือนเขาว่า พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษย์ แต่สักวันหนึ่ง พระองค์จะเลือกสตรีผู้หนึ่งซึ่งโอรสของพระนางบดขยี้ปีศาจ และบรูณะแผนการของพระเสียใหม่สตรีนั้นคือ พระนางพรมจารีมารีอา และพระโอรสคือ พระเยซูเจ้า
ของคาทอลิก
ทุกสิ่งที่พระเป็นเจ้าสร้าง พระองค์ทรงทำอย่างดี พระองค์ทรงให้อดัม และเอวา อยู่ในโลก อยู่ในสถานที่สวยงาม ชีวิตพระหรรษทาน เขาเรียกที่นั้นว่า สวนสวรรค์ ณ แผ่นดิน อดัม และเอว่า เป็นคนดีทุกอย่าง วิญญาณของเขายังไม่มีตัญหาชักจูง ไม่เจ็บไม่ไข้ และถ้าเขายั่งคงซื่อสัตย์เสมอไป เขาจะไปสวรรค์ทั้งเป็นทีเดียว แต่พระเป็นเจ้า ได้ประทานของขวัญดีเลิศกว่านั้น คือพระเป็นเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ ของวัญญาณท่านทั้งสอง ความปรารถนายิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้าคือ มาประทับอยู่ในวิญญาณของเรา เพื่อทำให้เราเป็นบุตรของพระองค์ เป็นบุตรของพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าสั่งสอนให้อาดัมและเอวาเชื่อฟังพระองค์ แต่อนิจจา อาดัมและเอวา เมื่อเห็นว่าสุขสบายทุกอย่าง มีปัญญาเฉียบแหลม ก็ได้เชื่อปีศาจที่มาชักชวนให้เกิด ความจองหอง ไม่ยอมนบนอบต่อพระเป็นเจ้า เอวา เกิดความจองหองบ้าบิ่น ปรารถนาจะเหมือนพระเป็นเจ้า ได้เชื่อฟังคำล่อลวงของปีศาจ และมิได้นบนอบเชื่อฟังพระบิดาในสวรรค์ และอาดัมก็ทำอย่างเอวาด้วย ทันทีที่กินผลไม้รู้ดีรู้ชั่วเข้าไป ทั้งสองรู้สึกอายเหลือเกิน และเป็นต้น เมื่อเขาทำบาปหนัก พระเป็นเจ้าก็ได้ ออกจากวิญญาณเขา พระองค์ ทรงขับไล่เขาที้งสองออกจาก ชีวิตพระหรรษทาน เขาต้องทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำ จิตใจเอียงข้างบาป ต้องเจ็บไข้ ต้องตาย ยิ่งกว่านั้น เมื่ออาดัมและเวาได้ทำลายมิตรภาพ กับพระเป็นเจ้า และความสุขทั้งฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณแล้ว ผลร้ายมาถึงลูกหลานของเขาด้วย ฉะนั้นเมื่อเธอเกิดมา เธอต้องตาย จึงไม่มีชีวิตพระหรรษทาน และความทุกข์ยากต่างๆๆ เพราะทุกคนมีบาปกำเนิด มีแต่พระนางมารีพรมจารี มารีอา พระมารดาพระเยซูเจ้าพ้นจากบาปกำเนิด แต่พระเป็นเจ้าทรงพระทัยดี สัญญาว่า สักวันหนึ่งจะมีผู้หนึ่งมาช่วยอาดัม และเอวาให้รอด ช่วยทุกคนให้รอด ช่วยเราเอาตัวรอดด้วย พระเยซูเจ้าทรงทำให้เรา ประสานมิตรภาพระหว่างเรากับพระเป็นเจ้า
อาดัมและเอวา ได้นอบน้อมเชื่อฟังพระเป็นเจ้าหรือ? - อาดัมและเอวามิได้เชื่อฟังพระเป็นเจ้า แต่ได้เชื่อฟังปีศาจมุ่งเป็นใหญ่เสมอเท่าพระเป็นเจ้า
ทำบาปแล้ว อาดัมและเอวา ได้รับความเสียหายอะไรบ้าง? - อาดัมและเอวา แม้ไม่เสียชีวิตตามธรรมชาติ แต่ก็เสียชีวิตเหนือธรรมชาติ และพระคุณนอกธรรมชาติ
เสียชีวิตเหนือธรรมชาติ มีผลร้ายอะไรบ้าง? - อาดัมและเอวาเสียพระหรรษทาน ทำให้ไม่เป็นบุตรบุณธรรมของพระเป็นเจ้า มีบาปหนักติดวิญญาณ
เสียพระคุณนอกธรรมชาติ ให้โทษอะไรบ้าง? - ฝ่ายวิญญาณ สติปัญญามืดมัว เจตนา น้ำใจ อ่อนเปลี๊ย เอียงไปทางความชั่ว
- ฝ่ายกาย ต้องทำมาหากินด้วยความลำบาก ต้องเจ็บป่วยและตาย
บาปที่อาดัมและเอวาทำนั้น ติดมนุษย์เราด้วยหรือ? - ผลร้ายต่างๆๆจากบาปของอาดัมและเอวาติดมนุษย์เราทุกคน เพราะเราเป็นลูกหลานของท่าน บาปนั้นเรียกว่า บาปกำเนิด
มีใครได้รับการยกเว้นจากบาปกำเนิดหรือไม่? - พระนางมารีย์พรมจารีมารีอาผู้เดียว ได้รับการยกเว้นบาปกำเนิด เพราะเห็นแก่พระบารมีของพระเยซูคริสเจ้า พระนางเป็นผู้ปราศจากมลทิน นิรมล
หลังบาปกำเนิด พระเป็นเจ้าได้ทิ้งมนุษย์หรือไม่? - พระเป็นเจ้ามิได้ทรงทอดทิ้งมนุษย์ แต่ทรงสัญญาว่า เราจะประทานพระผู้ไถ่ มาช่วยให้พ้นบาป
(ปฐมกาล 3,9-18)
พระผู้ไถ่คือผู้ใด? - พระผู้ไถ่ คือพระบุตร พระบุคคลที่สองในพระตรีเอกภาพที่ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์
พระบุตรของพระเป็นเจ้า ทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร? - พระบุตรได้ทรงรับเอาวิญญณ และกายเหมือนเราจากพระนางพรมจารีย์มารีอา ด้วยฤทธิเดชของพระติต
พระบุตรของพระเป็นเจ้าทรงยอมบังเกิดเป็นมนุษย์ทำไม - พระบุตรของพระเป็นเจ้า ทรงยอมบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อไถ่บาปเรา และเพื่อสอนเราด้วยพระวาจา และด้วยแบบฉบับของพระองค์
บาปกำเนิด การทดลองเรื่องเสรีภาพ พระเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ และได้สถาปนามนุษย์ไว้ในมิตรภาพของพระองค์ เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งสร้างฝ่ายจิต มนุษย์จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในมิตรภาพอันนี้ได้ ก็แต่ในแบบของการนอบน้อมอย่างอิสระต่อพระเจ้า นี่คือสิ่งที่แสดงออกอยู่ในคำสั่งห้ามมนุษย์รับประทานจากต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว "เพราะในวันใดที่เจ้าขืนกิน เจ้าจะต้องตาย" (ปฐก.2:17) "ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว" (ปฐก.2:17) คือสัญลักษณ์ชวนใหัระลึกถึงขอบเขตจำกัดอันจะข้ามไปมิได้ ซึ่งมนุษย์ในฐานะสิ่งสร้าง จักต้องยอมรับอย่างอิสระและให้ความเคารพด้วยความไว้วางใจ มนุษย์ขึ้นอยู่ต่อพระผู้สร้าง มนุษย์ต้องอยู่ใต้กฎแห่งการสร้างสรรค์ และเกณฑ์บรรทัดฐานเชิงจริยธรรม ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดวิธีใช้เสรีภาพ
บาปแรกของมนุษย์ มนุษย์ -เมื่อถูกปีศาจล่อลวง- ก็ปล่อยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อพระผู้สร้างตนขึ้นมาตายไปจากใจ และโดยการละเมิดเสรีภาพแห่งตน ก็ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ในทำนองนี้เองที่บาปแรกของมนุษย์เกิดขึ้น (เทียบ ปฐก.3:1-11; รม.5:19) บาปทุกชนิด ในระยะต่อมา ก็จะเป็นการขัดขืนไม่ยอมเคารพเชื่อฟังต่อพระเจ้า และขาดความวางใจในพระมหากรุณาของพระองค์เช่นกัน ในบาปประการนี้ มนุษย์เลือกเอาตัวเองสำคัญกว่าพระเจ้า และจากการคิดดังนี้ มนุษย์ก็ได้หมิ่นประมาทพระเจ้า มนุษย์ได้เลือกตัวเขาเองในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์กับพระเจ้า ไม่ยอมทำตามข้อกำหนดในสภาวะของสิ่งสร้าง ดังนั้น จึงเป็นการขัดขืนต่อสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตนเอง พระเป็นเจ้าสร้างมนุษย์มาให้อยู่ในสภาพศักดิ์สิทธิ์ พระองค์กำหนดล่วงหน้าให้มนุษย์มีสภาวะพระองค์อย่างเต็มที่ในสิริโรจนา จากการล่องลวงของปีศาจ มนุษย์ก็ต้องการที่จะ "เป็นเหมือนพระเจ้า" แต่ "โดยปราศจากพระเจ้า และก่อนพระเจ้า และมิใช่ตามน้ำพระทัยของพระเจ้า" (St. Maximus the Confessor; PG 91,1156C; เทียบ ปฐก.3:5)
พระคัมภีร์ชี้ให้เห็นผลสืบเนื่องอันน่าสพรึงกลัวของการไม่เชื่อฟังครั้งแรกนั้น อาดัมและเอวาสูญเสียพระหรรษทานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมไปในทันที (เทียบ รม.3:23) เขาทั้งสองเกิดมีความกลัวพระเจ้า ซึ่งเขาได้ตั้งมโนภาพไว้อย่างผิด คือเป็นพระเจ้าที่หวงแหนในสิทธิอำนาจแห่งตน (เทียบ ปฐก.3:5-10)
ความประสานประสมกลมกลืน ซึ่งพวกเขาเคยมีอยู่ และซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นมา โดยอาศัยความชอบธรรมตั้งแต่เดิม ถูกทำลายไป อำนาจของวิญญาณในการควบคุมสมรรถภาพฝ่ายจิตเหนือร่างกายก็แตกสลาย ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชายและหญิงตกอยู่ในภาวะตรึงเครียด ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงจะเห็นชัดว่าเต็มไปด้วยความโลภ และการพยายามจะใช้อำนาจครอบครอง (เทียบ ปฐก.3:7-16) ความกลมกลืนกับสิ่งสร้างอื่นๆ ก็ขาดสะบั้นลง สิ่งสร้างที่เห็นได้ด้วยตา ได้กลายเป็นสิ่งแปลกหน้าและเป็นศัตรูสำหรับมนุษย์ (เทียบ ปฐก.3:17,19) เพราะมนุษย์เป็นต้นเหตุ สิ่งสร้างจึงต้องตกอยู่ในภาวะ "การเป็นทาสแห่งความเสื่อมสลาย" (รม.8:20) สุดท้าย ผลสืบเนื่องที่ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งในกรณีการไม่นบนอบ ครั้งนั้น จะปรากฏเป็นจริงขึ้นมา คือมนุษย์ "จะต้องกลับไปเป็นผงธุลีดินดังเดิม เพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาจากดิน" (ปฐก.3:19) ความตายก็ย่างเข้ามาในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติด้วยประการฉะนี้ (เทียบ รม.5:12)
นับตั้งแต่ได้มีการทำบาปเป็นครั้งแรกนั้นแล้ว "การบุกรุก" ของบาปอย่างจริงจังก็แผ่ท่วมไปทั่วโลก บาปของคาอินที่สังหารอาแบลผู้เป็นน้องชาย ความชั่วช้าแผ่ไปทั่วโลกเพราะการกระทำบาป ในทำนองเดียวกัน ในประวัติศาสตร์ชนชาติอิสราเอล บาปจะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในรูปของการไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแห่งพันธสัญญา และการละเมิดบัญญัติของโมเสส หลังจากที่พระคริสต์ได้ไถ่กู้โลกแล้วก็เช่นกัน ในบรรดาคริสตชน บาปก็ยังสำแดงให้เห็นในลักษณะต่างๆ มากมาย (เทียบ ปฐก.4:3-15;6:5,12 รม.1:18-32; 1คร.1-6; วว.2-3) พระคัมภีร์ และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรคอยเตือนอยู่เสมอให้สำนึกถึงการปรากฏอยู่ของบาปทั่วสากลโลกในประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์
สิ่งซึ่งการเผยแสดงของพระเจ้าเผยให้เราเห็นนั้น ประสบการณ์ของเราเองก็ยืนยันอยู่ เนื่องจากว่ามนุษย์นั้น -หากมองลึกลงไปในใจตนเอง- ก็จะพบเช่นกันว่าตนเองนั้นมีความโอนเอียงไปข้างความชั่ว จมอยู่ใต้ความเลวร้ายนานัปการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะมาจากพระผู้สร้างผู้เป็นองค์แห่งความดี จากการที่มนุษย์ปฏิเสธเสมอๆ ที่จะยอมรับพระเจ้าว่าเป็นหลักแรกเริ่มแห่งชีวิตตน -จากการทำอันนี้- มนุษย์ก็ได้ทำลายระเบียบที่คอยชี้ทิศทางให้มนุษย์ไปสู่จุดหมายสุดท้ายแห่งตน และในเวลาเดียวกัน มนุษย์ก็ได้ทำให้ความสนิทสนมกลมกลืนทั้งหมดหักสะบั้นลง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับตนเอง และที่เกี่ยวกับมนุษย์อื่น ตลอดจนสิ่งสร้างอื่นๆ ทั้งมวลอีกด้วย (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 13.1)
ผลจากบาปของอาดัมที่มีต่อมนุษยชาติ มนุษย์ทุกคนพลอยได้รับผลกระทบไปด้วยจากการทำบาปของอาดัม นักบุญเปาโลยืนยันว่า "มวลมนุษย์กลายเป็นคนบาป เพราะความไม่เชื่อฟังของคนคนเดียวฉันใด มวลมนุษย์ก็จะเป็นผู้ชอบธรรมเพราะความเชื่อฟังของคนคนเดียวฉันนั้น" (รม.5:19) "เช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะมนุษย์คนเดียว และความตายเข้ามาเพราะบาปฉันใด ความตายก็ได้แพร่กระจายไปถึงมนุษย์ทุกคน เพราะทุกคนได้กระทำบาปฉันนั้น..."(รม.5:12) ต่อสภาพความเป็นสากลของบาป ท่านอัครสาวกในเชิงตรงข้าม ก็เสนอความเป็นสากลของความรอดในพระคริสต์ "ด้วยเหตุนี้ การล่วงละเมิดของมนุษย์คนเดียวเป็นเหตุให้มนุษย์ทุกคนถูกลงโทษฉันใด กิจการชอบธรรมของมนุษย์คนเดียวก็นำความชอบธรรมที่บันดาลชีวิตมาให้แก่มนุษย์ทุกคนฉันนั้น" (รม.5:18)
ตามแบบฉบับของนักบุญเปาโล พระศาสนจักรได้สั่งสอนเสมอมาว่า ความทุกข์ยากอย่างใหญ่หลวงซึ่งบีบคั้นมนุษย์ และความโอนเอียงของมนุษย์ไปสู่ความชั่วและความตายนั้น จะเข้าใจไม่ได้เลย หากไม่มีการเชื่อมโยงไปถึงบาปของอาดัม และข้อเท็จจริงที่ว่า อาดัมไปถ่ายทอดบาปๆ หนึ่งมาให้เรา ซึ่งทำให้เราทุกคนเกิดมาในลักษณะที่ต้องกระทบกระเทือนเพราะบาปนี้ ซึ่งก็คือ "ความตายของวิญญาณ" (เทียบ DS 1512) เพราะความเชื่อมั่นในข้อความเชื่อประการนี้ พระศาสนจักรจึงโปรดศีลล้างบาปเพื่อเป็นการยกโทษบาป แม้สำหรับทารกน้อยซึ่งยังไม่ได้เคยทำบาปเป็นการส่วนตัวเลย (เทียบ DS 1514)
บาปของอาดัมได้กลายมาเป็นบาปของลูกหลานผู้สืบสายโลหิตของเขาอย่างไร มนุษยชาติทั้งมวลเป็น "ประดุจกายเดียวของมนุษย์คนเดียว" (น.โทมัส อไควนัส, De malo 4,1)ในตัวอาดัม จาก "ความเป็นหนึ่งเดียวแห่งมนุษยชาติทั้งมวล" นี้ มนุษย์ทุกคนก็มีส่วนพัวพันอยู่ในบาปของอาดัม เหมือนกับที่ทุกคนก็ข้องเกี่ยวอยู่ในความชอบธรรมของพระคริสต์ อย่างไรก็ดี การถ่ายทอดบาปกำเนิด เป็นธรรมล้ำลึกซึ่งเราไม่สามารถเข้าใจได้อย่างเต็มที่ แต่เรารู้จากการเผยแสดงของพระเจ้า ว่าอาดัมได้รับศีลศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมแต่ดั้งเดิม มิใช่สำหรับตัวเขาคนเดียว แต่สำหรับธรรมชาติความเป็นมนุษย์ทั้งหมด ในการยอมเชื่อฟังผู้มาล่อลวงอาดัมและเอวาได้กระทำบาปส่วนตัว แต่บาปนั้นมีผลกระทบมาถึงธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งเขาจะถ่ายทอดต่อไปในสภาพของคนที่ตกอับแล้ว (เทียบ DS 1511-1512) เป็นบาปซึ่งจะถูกถ่ายทอดโดยการแพร่ขยายออกไปยังมนุษยชาติทั้งมวล กล่าวคือ โดยการถ่ายทอดจากธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ซึ่งไร้ศักดิ์สิทธิภาพและความชอบธรรมดั้งเดิมแล้ว ด้วยเหตุนี้ บาปกำเนิดจึงถูกเรียกว่า "บาป" ในลักษณะของความอุปมาน คือเป็นบาปที่ "ติดมา" และมิใช่ "กระทำด้วยตนเอง" เป็นสภาพและมิใช่เป็นการกระทำ
แม้ว่าบาปกำเนิดจะเป็นของเฉพาะแต่ละคน (เทียบ DS 1513) แต่ก็มิได้มีลักษณะเป็นความผิดส่วนตัวแต่อย่างใด ในบรรดาลูกหลานของอาดัม เป็นการหมดสิทธิ์ในศักดิ์สิทธิภาพและความชอบแต่ดั้งเดิม แต่ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ยังมิได้เสื่อมสลายไปจนหมดสิ้น เพียงแต่ถูกทำร้ายให้บาดเจ็บในส่วนที่เป็นพลังโดยธรรมชาติ ต้องตกอยู่ในอวิชชา ความทุกข์ทรมาน และอยู่ใต้อำนาจแห่งความตาย และมีใจโน้มเอียงไปข้างบาป (ความโน้มเอียงไปทางความชั่วนี้ เรียกว่า "ราคะตัณหา") ศีลล้างบาป พร้อมกับการให้ชีวิตพระหรรษทานจากพระคริสต์ ก็ลบล้างบาปกำเนิดและคืนมนุษย์กลับสู่พระเจ้า แต่ผลสืบเนื่องสำหรับธรรมชาติมนุษย์ ซึ่งอ่อนแอลงและโน้มเอียงไปทางความชั่ว ก็ยังคงมีอยู่ในตัวมนุษย์ และเรียกร้องให้มนุษย์ต้องทำการต่อสู้ในเชิงจิตวิญญาณ
หลักคำสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับการถ่ายทอดบาปกำเนิด แสดงออกมาอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ภายใต้แรงดลใจจากข้อคิดของนักบุญออกัสติน ซึ่งต่อต้านลัทธิของฤาษีเปลาช และในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในลักษณะคัดค้านการปฏิรูปของลัทธิโปรแตสแตนท์ เปลาชถือว่ามนุษย์นั้น -อาศัยพลังตามธรรมชาติของความตั้งใจจริงโดยอิสระ โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลืออันจำเป็นจากพระหรรษทานของพระเจ้า สามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างดีในเชิงจริยธรรม การพูดเช่นนี้เป็นการลดอิทธิพลแห่งการผิดของอาดัมลง ว่าเป็นเพียงอิทธิพลของตัวอย่างที่ไม่ดี ฝ่ายนักปฏิรูปคนแรกๆ ของพวกโปรแตสแตนท์นั้น ตรงกันข้าม สอนว่ามนุษย์เลวทรามอย่างเด็ดขาด และเสรีภาพถูกเพิกถอนไปก็เพราะบาปกำเนิด พวกเขาชี้ให้เห็นว่าบาปที่มนุษย์แต่ละคนได้รับมรดกตกทอดมานี้ คือสิ่งเดียวกับการโน้มเอียงไปสู่ความชั่ว ซึ่งย่อมจะเอาชนะไม่ได้ พระศาสนจักรได้อธิบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษ เกี่ยวกับความหมายของประเด็นที่ได้เผยแสดงแล้ว ในเรื่องของบาปกำเนิด ในสภาสังคายนาสากลครั้งที่สองที่ออเรนจ์ ใน ค.ศ. 529 (DS 371-372) และในการประชุมสภาสังคายนาที่เตรนท์ ใน ค.ศ. 1546 (เทียบ DS 1510-1516)
การต่อสู้ที่ทารุณหลักคำสอนเกี่ยวกับบาปกำเนิด -เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับหลักคำสอนเรื่องการไถ่กู้โดยพระคริสต์- เป็นการทอดสายตาพินิจพิเคราะห์อย่างแจ่มแจ้งลงบนสภาพการณ์ของมนุษย์ และการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์ในโลก จากการทำบาปของบิดามารดาเดิม ปีศาจสามารถเข้ามามีอำนาจครอบงำมนุษย์อยู่พอสมควร แม้ว่ามนุษย์จะยังคงมีอิสรภาพอยู่บาปกำเนิดชักนำไปสู่ "การเป็นทาสอยู่ใต้อำนาจของมันผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรแห่งความตาย คือปีศาจ" (DS 1551 เทียบ ฮบ.2:14) การทำเป็นไม่รู้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่บาดเจ็บ โน้มเอียงไปทางความชั่ว เป็นเหตุให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรงในวงการด้านการศึกษา การเมือง กิจการสังคม (เทียบ พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2, CA 25) และศีลธรรม
ผลสืบเนื่องจากบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวทั้งหมดของมนุษย์ ทำให้โลกโดยทั่วไปตกอยู่ในสภาพเป็นคนบาป ซึ่งอาจจะเรียกได้ตามสำนวนของนักบุญยอห์น ว่า "บาปของโลก" (ยน. 1:29) จากถ้อยคำนี้ เรายังหมายถึงอิทธิพลในทางลบ ซึ่งสภาวการณ์ในชุมชนและโครงสร้างของสังคม มีอยู่เหนือตัวบุคคล อันเป็นผลจากบาปของมนุษย์อีกด้วย (เทียบ RP 16) สภาพการณ์อันน่าสะพรึงกลัวของโลก ซึ่ง "ทอดกายอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความชั่วโดยสิ้นเชิง" (1ยน.5:19 เทียบ 1ปต.5:8) ทำให้ชีวิตมนุษย์กลายเป็นการต่อสู้ การต่อสู้อย่างทารุณกับอำนาจมืด เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เมื่อได้เริ่มขึ้นแต่เดิมมาแล้ว ก็จะคงอยู่ต่อไปจนถึงวันสุดท้าย นี่คือสิ่งที่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสแก่เรา เมื่อผูกพันอยู่กับการสู้รบ มนุษย์ก็จำต้องต่อสู้ต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อยึดมั่นอยู่ในความดี และมิใช่โดยปราศจากการใช้ความพยายามเป็นอย่างยิ่ง อาศัยพระหรรษทานจากพระเป็นเจ้า มนุษย์ก็สามารถบรรลุความสำเร็จในการสร้างเอกภาพขึ้นภายในตน (พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ37.2)
บาปกำเนิด 7 ประการ ตามคติของคริสต์ศาสนา บาป 7 ประการ (อังกฤษ: seven deadly sins) เป็นหลักคำสอนของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคในอดีตกาล ให้มนุษย์ไม่ทำตามสัญชาตญาณของตนมากจนเกินไป ทางศาสนาคริสต์ได้แบ่งบาปออกเป็น 2 ประเภทคือ แบบที่สามารถยกโทษให้ได้ และ แบบรุนแรง ในต้นศตวรรษที่ 14 หลักคำสอนนี้เป็นที่นิยมในหมู่ศิลปิน (หรือแม้กระทั่งในปัจจุบัน) ผลงานศิลปะมากมายที่สื่อถึงบาป 7 ประการแพร่ไปทั่ววัฒนธรรมต่างๆทั่วโลก
บาปทั้ง 7 เรียงลำดับจากความรุนแรงน้อยไปหามาก ตามคำสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ในคริสต์ศตวรรษที่ 6
  1. ราคะ (ภาษาละติน: luxuria ลุกซุเรีย ; ภาษาอังกฤษ: lust) การคิดในทางเสื่อม ความต้องการเป็นที่สนใจจากผู้อื่น ความต้องการความเร้าใจ หมกมุ่นทางเพศที่มากจนเกินไป หรือที่ผิดมนุษย์ปกติ ความใคร่ที่เกิดขึ้นในทางทุจริต เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์ กับพ่อแม่หรือลูกหลานตัวเอง การข่มขืน การมีชู้ แอสโมดิวส์ ปีศาจที่หลงรักมนุษย์หญิงสาวคนอื่นและฆ่าชายที่จะแต่งงานกับนางทุกคน เป็นปีศาจประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์แห่งราคะคืองูหรือวัว สีประจำบาปนี้คือสีน้ำเงิน บทลงโทษผู้กระทำบาปข้อนี้คือ ถูกรมด้วยสารกำมะถันและไฟ และ ตัดอวัยวะเพศ ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดราคะคือ ความบริสุทธิ์ ความหวงแหนในพรหมจรรย์
  2. ตะกละ (ภาษาละติน: gula กูลา ; ภาษาอังกฤษ: gluttony) การสนองความต้องการโดยไม่ยั้งคิด มุ่งร้ายเอาของคนอื่น บริโภคสิ่งต่างๆจนขาดการการไตร่ตรอง บริโภคจนมากเกินไป มากจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหาร รวมถึงการบริโภคสิ่งๆ ต่างๆ โดยไม่คำนึงสนใจ หรือเห็นใจคนอื่น ทำให้เวลาสรรเสริญพระเจ้าน้อยลง และยังเป็นบาปที่สามารถชักจูงให้ทำบาปอื่นๆ ได้ เช่น ปรารถนาในความหิว (ราคะ) ฆ่าเพราะความหิว (โทสะ) เป็นต้น เบลเซบับ เจ้าชายแห่งนรกหรือเจ้าแห่งหมู่แมลงวัน เป็นปีศาจประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์ของตะกละคือหมูหรือกา สีประจำบาปคือสีส้ม บทลงโทษของผู้ที่ตะกละในนรกคือการที่ถูกกินทั้งเป็นโดยหนู คางคก และงู ตะกละสามารถแบ่งออกเป็น Praepropere
    - กินเร็วเกินไป Laute
    - กินแพงเกินไป Nimis
    - กินมากเกินไป Ardenter
    - กินอย่างกระตือรือร้นเกินไป Studiose
    - กินอย่างประณีตเกินไป Forente
    - กินอย่างแรงกล้าเกินไป ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดตะกละคือ ความพอดี การยับยั้งชั่งใจ
  3. โลภะ (ภาษาละติน: avaritia อวาริเทีย ; ภาษาอังกฤษ: greed/avarice) ความทะเยอทะยานอันแรงกล้าในการให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินและอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงแนวทางหรือคุณธรรมในการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการขโมย การขู่กรรโชกทรัพย์ ยักยอก การกักเก็บทรัพย์สินต่างๆ โดยไม่แบ่งปันหรือช่วยเหลือผู้อื่น ต่อมาโลภะรวมถึง การหาทรัพย์อย่างทุจริตมาใช้เพื่อประโยชน์ทางศาสนาด้วย ถือเป็นการมุ่งร้ายต่อศาสนา และเป็นการหักหลังต่อผู้นับถือคริสต์ศาสนาอีกด้วย แมมมอน ปีศาจแห่งความมั่งคังที่ไม่เป็นธรรม เป็นปีศาจประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์ของโลภะคือ กบ สีประจำบาปคือสีเหลือง บทลงโทษของผู้ที่โลภมากคือการถูกแช่ในน้ำมันเดือด ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดโลภะคือ ความเมตตา การแบ่งปัน
  4. เกียจคร้าน (ภาษาละติน: acedia อาซีเดีย ; ภาษาอังกฤษ: sloth/laziness) ความไม่สนใจใยดีต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อสิ่งรอบข้าง ใช้เวลาอย่างไร้ค่า ความไม่ต้องการที่จะทำอะไร โดยปล่อยให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำงานหนักเพื่อตนเองเท่านั้น การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเลยที่จะทำดีรวมถึงการละเลยที่จะเคารพต่อพระเจ้าด้วย ผู้ที่เกียจคร้านจะอยู่เฉยๆ รักษาสภาพความเป็นอยู่ของตนเองในภาวะเดิมตลอดเวลา ไม่ทำอะไรมาก แต่ก็ไม่ใช้อะไรมากเช่นกัน เบลฟีเกอร์ ปีศาจผู้ไม่ยอมทำอะไรเพียงแต่บอกให้มนุษย์คอยทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นปีศาจประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์ของเกียจคร้านคือแพะ สีประจำบาปคือสีคราม บทลงโทษของผู้เกียจคร้านคือการถูกโยนลงไปในบ่องูพิษ ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดเกียจคร้านคือ ความกระตือรือร้น ความทะเยอทะยาน
  5. โทสะ (ภาษาละติน: ira ไอรา ; ภาษาอังกฤษ: wrath) ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ในศีลธรรมในการล้างแค้น การมุ่งร้ายที่จะทำสิ่งต่างๆแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบ รวมถึงการไม่ชอบบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผล เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา นำไปสู่การฆ่าและฆาตกรรมผู้อื่น โมหะคือความโกรธที่ไม่ต้องการที่จะยกโทษ ซาตาน ปีศาจแห่งความมืดเป็นตัวแทนประจำบาปข้อนี้ สัญลักษณ์ของโมหะคือหมี สีประจำบาปคือสีแดง บทลงโทษของผู้ที่มีบาปโมหะคือ การถูกฉีกร่างทั้งเป็น (ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดโมหะคือ ความนอบน้อม การให้อภัย
  6. ริษยา (ภาษาละติน: invidia อินวิเดีย ; ภาษาอังกฤษ: envy) ความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่างๆ ดีกว่าตนเอง ทั้งด้านทรัพย์สมบัติ ลักษณะรูปร่างนิสัย และ การประสบความสำเร็จ ความอิจฉานำไปสู่การรังเกียจตัวเอง ต้องการอยากเป็นผู้อื่น นำไปสู่การขโมยและทำลายผู้อื่น ความอิจฉาริษยาเป็นการพัฒนาต่อจากตะกละและโลภะที่สุดขั้ว ลิวาธาน ปีศาจอสรพิษทะเลแห่งนรก ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านพระเจ้าถือเป็นปีศาจประจำบาปนี้ สัญลักษณ์ของริษยาคือสุนัข สีประจำบาปคือสีเขียว บทลงโทษผู้ที่มีความอิจฉาคือถูกเย็บตาอย่างทรมาน ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดอิจฉาคือ ความกรุณา ความเผื่อแผ่
  7. อัตตา (ภาษาละติน: superbia ซูเปอร์เบีย ; ภาษาอังกฤษ: Vanity/pride) อัตตาเป็นยอดแห่งบาปทั้งปวง หมายถึงความต้องการเป็นผู้ที่มีความสำคัญและอำนาจเหนือผู้อื่น (เช่นต้องการเป็นพระราชา) การที่รักตนเองมากจนเกินไป หลงในอำนาจและรูปลักษณ์ของตัวเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปรียบตนเองเทียบเท่ากับพระเจ้า) ซึ่งบาปประการนี้ทำให้ ลูซิเฟอร์ (ปีศาจประจำบาปนี้) ถูกขับไล่ออกจากสวรรค์ เนื่องจากลูซิเฟอร์เห็นว่าตนมีอำนาจเท่ากับพระเจ้าและสามารถสร้างพรรคพวกของตัวเองเพื่อต่อต้านและไม่เคารพพระเจ้า คนที่มีความโอหังจะสนใจเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สนใจว่าผู้อื่นจะเป็นเช่นไร สัญลักษณ์ของอัตตาคือ ม้า สิงโต หรือ นกยูง สีประจำบาปคือสีม่วง บทลงโทษของผู้ที่โอหังคือการถูกทรมานบนวงล้อ (มัดกับวงล้อแล้วให้วงล้อหมุนเรื่อยๆ ผู้ถูกทรมานจะถูกบดขยี้กับพื้น) ศีลธรรมที่ช่วยกำจัดโอหังคือ ความถ่อมตน การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ศาสนบุคคลในศาสนาคริสต์

นักบุญหรือเซนต์ นักบุญ หรือ เซนต์ คือบุคคลที่ขณะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ ได้ดำเนินชีวิต ที่แสดงออกถึงความเชื่อในพระศาสนา อย่างสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ และเมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว พระศาสนจักรก็ได้ยกย่อง สดุดีคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้กระทำไว้ โดยถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง ที่เราสามารถเลียนแบบได้ และถือว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ที่เราสามารถเคารพ นับถือ และสวดวิงวอนขอพรจากพระเจ้า ผ่านท่านได้ เพราะเชื่อว่าท่านมีชีวิตนิรันดร อยู่ร่วมกับพระคริสตเจ้า ในสรวงสวรรค์แล้วนั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของ คำว่า "นักบุญ" ใน 6 ศตวรรษแรกๆ ของพระศาสนจักรนั้น เซนต์คือผู้ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อของตน สาเหตุก็เพราะว่าในสมัยนั้น คริสต์ศาสนายังถูกเบียดเบียน และข่มแหงอยู่มาก บรรดาคริสตชนหลายต่อหลายคน ได้ถูกจับไปประหารชีวิต เพราะเป็นคริสตชนหรือไม่ยอมทิ้งศาสนา คริสตชนที่พลีชีพ เพื่อประกาศความเชื่ออย่างเด็ดเดี่ยวเช่นนี้ เรียกว่า "มรณสักขี หรือ มาร์ตีร์" (Christian martyrs) ถือว่าเป็นชีวิตคริสตชนตัวอย่าง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคริสตชนในยุคแรกๆ นั้น ต่างก็ยกย่องสดุดีให้ความเคารพ นับถือ และศรัทธาต่อท่านเหล่านั้นเป็นอันมาก จึงได้มีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเคารพ และระลึกถึงท่าน เช่น การเคารพหลุมฝังศพ การสวดวิงวอน และการประกอบพิธี บนหลุมฝังศพของท่าน เป็นต้น
ต่อมาเมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการยอมรับ และกลายเป็นศาสนาประจำชาติโรมัน การเบียดเบียนจึงลดลง คราวนี้คนที่จะพลีชีพเพื่อศาสนา ก็มีจำนวนลดน้อยตามไปด้วย ดังนั้น การเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์ไม่จำเป็นว่าต้องตายเพื่อศาสนาเสมอไป แต่ชีวิตที่แสดงออกถึงความเชื่อ และดำเนินไปตามพระบัญญัติ ด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีต่างๆ ก็น่าจะได้รับการยกย่อง ว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์ได้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมา การเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จึงเริ่มขยับขยายออกไปยังคริสตชนอื่นๆ ที่เจริญชีวิตอย่างศักดิ์สิทธิ์ ยึดมั่นในพระธรรมคำสอน และปฏิบัติคุณงามความดีอย่างเคร่งครัด บางคนเด่นในการบำเพ็ญพรตบำเพ็ญตบะ บางคนเด่นในการเผยแผ่พระศาสนา บางคนเด่นในด้านการมีความรอบรู้ ในพระสัจธรรม หรือเป็นนักปราชญ์ และบางคนก็เด่นในด้านมีเมตตาจิต อุทิศตนรับใช้เพื่อนมนุษย์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับยกย่องว่าเป็น "ธรรมสักขี" (Confessor)
วิวัฒนาการการแต่งตั้งเซนต์ ในช่วงศตวรรษที่ 6 - 10 ยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน เกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่ง เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือเซนต์วิธีที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคน ที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพ และได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความแคลงใจ ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอๆ ดังนั้น พระศาสนจักรจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์ ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่าย ได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างแท้จริง โดยในระยะแรกๆ นั้น ขึ้นอยู่กับพระสันตะปาปา หรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1642 สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกา ว่าด้วยกฎเกณฑ์และวิธี การดำเนินการแต่งตั้งเซนต์ขึ้น ต่อมาในสมัยของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ. 1930 พระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวง ว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจาก สมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแล เกี่ยวกับคำร้องและพิธีการ ดำเนินการประกาศแต่งตั้งเซนต์ทั่วพระศาสนจักรสากล โดยตรง
ขั้นตอนการแต่งตั้งเซนต์ ขั้นตอนการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญนั้น ละเอียดซับซ้อน ต้องกระทำอย่างรอบคอบถี่ถ้วน เพราะจะผิดพลาดไม่ได้ แบ่งออกได้เป็น 2 ขั้นตอนดังนี้ คือ
  1. "การตั้งเป็นบุญราศี" (beatification)
  2.  "การตั้งเป็นเซนต์" (canonization)
การตั้งเป็นบุญราศี (beatification)
พิธีแต่งตั้งบุญราศีที่ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ การตั้งเป็นบุญราศี (ภาษาอังกฤษ: Beatification) คือ บุคคลหนึ่งที่ประชาชนยอมรับว่าเป็นคริสตชนตัวอย่างที่ได้สิ้นชีวิตลง แล้วมีผู้ได้รับผลจากการสวดวิงวอนขอความช่วยเหลือจากท่าน พระสังฆราชในท้องถิ่น ก็จะดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ เช่น ประวัติของผู้ตายและอัศจรรย์ต่างๆ ที่มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ จากนั้นจึงรวบรวมเรื่องส่งไปยังสภาว่าด้วยการสถาปนานักบุญที่โรม ทางนั้นก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องราวบุคคลดังกล่าวอย่างละเอียด เมื่อได้ประกาศว่าหลักฐานทั้งหมดเป็นความจริงแล้ว ขึ้นต่อไปก็คือการพิสูจน์ว่าชีวิตของบุคคลที่จะได้รับการสถาปนานั้น เป็นชีวิตคริสตชนขั้นร้อนรนจริงๆ คือดำเนินชีวิตด้วยการปฏิบัติความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์อย่างเที่ยงแท้จริง ไม่ใช่เพราะอย่างอื่น
เมื่อทุกอย่างดำเนินไปจนทุกฝ่ายพอใจแล้ว ก็จะมีการประกาศว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคริสตชนตัวอย่าง ที่ควรแก่การเคารพยกย่องซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่จะต้องกระทำก่อนการประกาศเป็นบุญราศีหรือเซนต์ ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นบุญราศีนั้น พระศาสนจักรได้ตั้งเงื่อนไขว่า ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่ามีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของการประกาศว่าบุคคลดังกล่าวเป็นคริสตชนตัวอย่าง ซึ่งในการพิจารณารับรองอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น พระศาสนจักรก็จะพยายามทุกวิถีทางในการตรวจสอบว่าได้เกิดอัศจรรย์ขึ้น และอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ต้องเกิดโดยการวิงวอนของบุคคลที่เป็นคริสตชนตัวอย่างดังกล่าวก่อนจริงๆ หลังจากทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะนำเรื่องขึ้นกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อทรงรับรองอีกครั้ง และกำหนดวันสถาปนาคริสตชนตัวอย่างดังกล่าวขึ้นเป็น "บุญราศี"
แต่ก่อนที่จะได้รับประกาศเป็นนักบุญราศีนั้น ต้องมีการพิสูจน์ได้ว่า มีอัศจรรย์อย่างน้อย 2 ประการเกิดขึ้น โดยอาศัยบุญบารมีของ "คารวียะ" (ในกรณีของมรณสักขี หรือผู้ที่ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา ความตายของเขา ก็ถือว่าเป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้แทนอัศจรรย์สองประการที่กำหนดนี้ได้)
การตั้งเป็นเซนต์(canonization) หลังจากได้รับสถาปนาเป็นบุญราศีแล้ว ก่อนที่จะประกาศแต่งตั้งเป็น "เซนต์" จะต้องมีผู้ได้รับอัศจรรย์ โดยคำวิงวอนของท่านบุญราศีผู้นั้นอีก อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งการคอยอัศจรรย์ขั้นนี้ อาจจะยาวนานหลายปี บางรายกินเวลาเป็นศตวรรษก็มี
เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างแล้ว ก็จะมีพิธีการประกาศแต่งตั้งบุญราศีองค์นั้น ขึ้นเป็น "เซนต์" โดยพระสันตะปาปา ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม เป็นพิธีที่สง่างามน่าประทับใจที่สุดพิธีหนึ่ง ที่ทางพระศาสนจักรจัดขึ้น เพราะการประกาศ สถาปนาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเซนต์ย่อมหมายถึงเกียรติขั้นสูงสุด ที่คริสตชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยท่านผู้นั้น จะได้รับการประกาศ ชนิดที่พระศาสนจักรใช้เอกสิทธิ์ ความไม่รู้ผิดพลั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา มาเป็นหลักประกันความจริง ท่านจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวคาทอลิกทั่วโลก และชื่อของท่านผู้นั้น ก็จะได้รับการบันทึกไว้ ในบัญชีสารบบเซนต์ ตลอดไปชั่วกาลนาน
วิวัฒนาการการแต่งตั้งนักบุญเป็นมาอย่างไร ตามที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีการขยายการเคารพนับถือผู้ศักดิ์สิทธิ์ จากบุคคลที่พลีชีพเพื่อศาสนาอย่างเดียว มาเป็นบุคคลที่ปฏิบัติคุณงามความดีตามพระธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัดนั้น ก็ได้ทำให้ผู้ศักดิ์สิทธิ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 6-10 ประกอบกับสมัยนั้นยังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนเกี่ยวกับการแต่งตั้งใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญวิธี ที่ใช้ตัดสินก็คือ การดูจากจำนวนคนที่เคารพนับถือและศรัทธา จำนวนคนที่ไปเยี่ยมหลุมฝังศพและได้รับความช่วยเหลืออย่างอัศจรรย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตัดสินแบบนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดข่าวลือหรือการโจษจันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ ๆ
ดังนั้นทางพระศาสนจักรจึงได้คิดว่าน่าจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนขึ้นว่า บุคคลใดควรอยู่ในข่ายได้รับการยกย่อ งเทิดทูนอย่างแท้จริง จึงได้กฎเกณฑ์และระเบียบการแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญขึ้น ซึ่งก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆโดยในระยะแรก ๆ นั้นการจะอนุมัติให้เคารพคนนั้นคนนี้ในฐานะที่เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับพระสังฆราชหรือประมุขคริสตชนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 12 การอนุมัติเรื่องนี้ต้องขึ้นกับพระสันตะปาปาแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้เพื่อจะเป็นหลักประกันถึงความศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่บุคคลผู้นั้นนั่นเอง
วิวัฒนาการของการดำเนินการประกาศแต่งตั้งผู้ศักดิ์สิทธิ์หรือนักบุญนับวันก็มีระเบียบกฎเกณฑ์ซับซ้อนขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1642 สมเด็จพระสันตะปาปาอูบาโนที่ 8 จึงได้ออกสมณกฤษฎีกาว่าด้วยกฎเกณฑ์ และวิธีการดำเนินการแต่งตั้งนักบุญขึ้น ชื่อว่า "Decreta servanda in canonizatione et beatificatione sanctorum" ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระสัน ตะปาปาปีโอที่ 10 ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จนกระทั่งล่าสุด ในปี ค.ศ.1930 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 จึงได้ทรงโปรดให้มีการปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบันได้มีสมณกระทรวงว่าด้วยการประกาศแต่งตั้งนักบุญโดยเฉพาะ ซึ่งก็แยกส่วนออกมาจากสมณกระทรวงพิธีกรรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1969 ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับคำร้องและพิธีการดำเนินการประกาศแต่งตั้งนักบุญทั่วพระศาสนจักรสากลโดยตรงนั่นเอง

คริสต์ศาสนปราชญ์

คริสต์ศาสนปราชญ์ (ภาษาอังกฤษ: Doctor of the Church; ภาษาละติน: docere) “docere” หรือ“doctor” ในภาษาละตินหมายถึง “สอน” “คริสต์ศาสนปราชญ์ ” เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งให้ผู้ที่มีความสำคัญทางศาสนาโดยเฉพาะทางด้านคริสต์ศาสนวิทยาหรือคำสอนของคริสต์ศาสนา
คริสต์ศาสนปราชญ์ในนิกายโรมันคาทอลิก ในนิกายโรมันคาทอลิกตำแหน่งนี้จะมอบให้แก่นักบุญผู้เป็นเจ้าของงานประพันธ์ที่ทั้งสถาบันคริสต์ศาสนาถือว่ามีคุณค่าต่อการศึกษา โดยเป็นการประกาศจากพระสันตะปาปาหรือจากการประชุมสภาบาทหลวง (ecumenical council) การแต่งตั้งนี้นานๆ จึงทำกันครั้งหนึ่งและเป็นการแต่งตั้งหลังจากที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งเสียชีวิตไปแล้วและหลังจากที่ได้รับสถาปนาให้เป็นเซนต์แล้วเท่านั้น เกรกอรี, แอมโบรส, ออกัสตินแห่งฮิปโป และ เจอโรมเป็นเซนต์สี่ท่านแรกที่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นคริสต์ศาสนปราชญ์ เมื่อปึ ค.ศ. 1298 ทั้งสี่ท่านเป็นที่รู้จักรวมกันในนาม “คริสต์ศาสนปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนจักรตะวันตก” และ “คริสต์ศาสนปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศาสนจักรตะวันออก” สี่องค์คือ นักบุญจอห์น คริสซอสตอม, นักบุญเบซิลแห่งเซซาเรีย, นักบุญเกรกอรีแห่งนาเซียนซัส และ นักบุญอธาเนเซียสแห่งอเล็กซานเดรีย ผู้ได้รับแต่งตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1568 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 5
คริสต์ศาสนปราชญ์แต่ละองค์ก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ กัน เช่นนักบุญเกรกอรีหรือพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 และนักบุญแอมโบรสเป็นนักเขียนจดหมายและศาสตรนิพนธ์, นักบุญแคทเธอรินแห่งเซียนนา และ นักบุญจอห์นแห่งกางเขนจะเขียนเกี่ยวกับเทววิทยาแบบรหัสยิก นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโปและนักบุญโรเบิร์ต เบลลาร์มีนจะป้องกันศาสนาจากพวกนอกรีต นักบุญบีดเขียน “ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ” ซึ่งเป็นเอกสารที่ดีที่สุดในทางประวัติศาสตร์อังกฤษในยุคกลาง นักบุญแอนเซลมแห่งแคนเตอร์บรี, นักบุญอัลเบอร์ทัส แม็กนัส และ นักบุญโทมัส อควีนาส เป็นทั้งนักเทววิทยาคริสเตียนและนักปรัชญา
นิกายโรมันคาทอลิกได้แต่งตั้ง “คริสต์ศาสนปราชญ์” ทั้งหมดด้วยกัน 33 องค์ ในจำนวนนี้ 17 องค์เสียชีวิตก่อนที่จะมีการแยกตัวของนิกายทางตะวันออกในปี ค.ศ. 1054 ซึ่งทาง นิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ก็ยังนับถือปราชญ์ทั้ง 17 องค์นี้ ในบรรดา 33 องค์นี้ 25 องค์มาจากศาสนจักรตะวันตก และอีก 8 มาจากศาสนจักรตะวันออก 3 คนเป็นผู้หญิง 18 คนเป็นบาทหลวง 29 คนเป็นพระ 1 คนเป็นดีคอน 2 คนเป็นชี 1 เป็นหญิงฆราวาส; 24 คนมาจากยุโรป, 3 คนมาจากแอฟริกาและอีก 6 คนมาจากเอเชีย
พระสังฆราช แปลว่า ตำแหน่งผู้เป็นใหญ่ในสังฆมณฑล ซึ่งเป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หมายถึง ประมุขคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก มุขนายก หรือ พระสังฆราช เป็นผู้สืบตำแหน่งจาก อัครธรรมฑูต (ศิษย์ 12 คน ซึ่งติดตามพระเยซูเจ้าอย่างใกล้ชิดในสมัยที่พระองค์ยังคงดำรงชีพ เป็นมนุษย์เมื่อ 2000 ปีมาแล้ว)
มุขนายกหรือพระสังฆราช เป็นหัวหน้าปกครอง คณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชน ในเขตสังฆมณฑล มุขนายก หรือ พระสังฆราช จะต้องเป็นพระสงฆ์ หรือบาทหลวงมาก่อน และต่อมาได้รับการแต่งตั้ง จากสมเด็จพระสันตะปา ปาโดยได้รับการอภิเษกขึ้นสู่ตำแหน่ง พระสังฆราช ซึ่งเป็นศีลบวชขั้นสูงสุด (ศีลบรรพชา ศีลบวชในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก มี 3 ขั้นคือ ขั้นสังฆานุกร(Deacon) ขั้นพระสงฆ์(Priest) ขั้นพระสังฆราช(Bishop) พระสังฆราช เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก ประมุขสังฆมณฑล ซึ่งเป็นเขตการปกครองในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก พระคุณเจ้า เป็นสรรพนามที่ ชาวคริสต์ใช้เรียก พระสังฆราช หรือมุขนายก มุขนายก เป็นสรรพนามที่ใช้เรียก พระสังฆราชในทางราชการ )
สังฆมณฑล คือ เขตการปกครองของพระสังฆราชในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 10 เขต(สังฆมณฑล)
สมเด็จพระสังฆราช (คริสต์ศาสนา)
โยฮันน์ ออตโต ฟอน เกมมิงเกนสมเด็จพระสังฆราชแห่งออกสเบิร์กในบาวาเรีย สมเด็จพระสังฆราช (อังกฤษ: Prince-Bishop) สมเด็จพระสังฆราชของคริสต์ศาสนาคือสังฆราชที่มีอำนาจการปกครองอาณาจักรทั้งในกิจการทางศาสนาและทางการเมือง หลังจากที่อำนาจของจักรวรรดิโรมันเริ่มเสื่อมโทรมลงในคริสต์ศตวรรษที่ 4 ทางตะวันตกก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของบาร์บาเรียน บางครั้งสังฆราชคริสเตียนของเมืองก็ปกครองเมืองแทนผู้นำโรมันเดิมและบางครั้งก็จัดตั้งกองทหารของตนเองเมื่อมีความจำเป็น ต่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระสังฆราชและชาวเมืองก็อาจจะเลวลง เมื่อทางเมืองต้องการพระประกาศอนุญาตจากพระจักรพรรดิหรือพระมหากษัตริย์และประกาศตัวเป็นอิสระจากอำนาจของขุนนาง ความขัดแย้งระหว่างชาวเมืองและสังฆราชก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในสมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์พระจักรพรรดิบางครั้งก็ทรงออกประกาศมอบสิทธิบางอย่างให้สังฆราชการปกครองทางการเมืองในสังฆมณฑลที่สังฆราชปกครองอยู่ ซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้เป็นผู้ช่วยในการปกครองของพระจักรพรรดิ ที่ทำให้อำนาจของสมเด็จพระสังฆราชกลายมาเป็นคล้ายรัฐมนตรีในด้านการศาสนา ในจักรวรรดิรัสเซียการมอบอำนาจยิ่งไกลไปกว่านั้นเมื่อมีการยุบการปกครองสังฆจักรและนำสถาบันการปกครองทางศาสนาไห้ขึ้นโดยตรงต่อรัฐบาลฆราวาส
อาณาจักรสังฆราช
อาณาจักรสังฆราช อาจจะหมายถึงคริสต์ศาสนจักรตะวันตก
  •  สังฆมณฑลศักดิ์สิทธิ์ หรือ สันตะสำนัก (Holy See) - สังฆมณฑลที่ปกครองโดยสังฆราชแห่งโรมหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพระสันตะปาปา
  • สังฆมณฑล (Diocese) - อาณาบริเวณที่ปกครองโดยประมุขที่มีตำแหน่งเป็น “สังฆราช” (Bishop) หรือ “อัครสังฆราช” ของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก, ออร์โธด็อกซ์, อังกลิคัน หรือบางลัทธิในนิกายลูเธอรัน ตัวอย่างเช่น “สังฆมณฑลแคนเตอร์บรี” (Diocese of Canterbury) ที่มีศูนย์กลางที่มหาวิหารแคนเตอร์บรี ที่ปกครองโดย “อัครสังฆราชแห่งแคนเตอร์บรี” (Archbishop of Canterbury) หรือ “สังฆมณฑลเดอแรม” (Diocese of Durham) ที่มีศูนย์กลางที่มหาวิหารเดอแรม ที่ปกครองโดย “สังฆราชแห่งเดอแรม” (Bishop of Durham) 
  • อาณาจักรสังฆราช (Bishopric) - อาณาบริเวณที่ปกครองโดยประมุขที่มีตำแหน่งเป็น “สังฆราช” (Bishop) เป็นชื่อที่ใช้ในประวัติศาสตร์ที่มักจะใช้กันในสมัยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่สังฆราชนอกจากจะมีอำนาจการปกครองทางศาสนาแล้วก็ยังมีอำนาจการปกครองทางการเมืองในท้องถิ่นที่ปกครองด้วย ตัวอย่างเช่น “อาณาจักรสังฆราชแห่งฮิลเดสไฮม์” (Bishopric of Hildesheim) ที่ปกครองโดย “สังฆราชแห่งฮิลเดสไฮม์” (Bishop of Hildesheim)
  • อาณาจักรอัครสังฆราช (Archbishopric) - อาณาบริเวณที่ปกครองโดยประมุขที่มีตำแหน่งเป็น “อัครสังฆราช” (Archbishop) เป็นชื่อที่ใช้ในประวัติศาสตร์ที่มักจะใช้กันในสมัยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่สังฆราชนอกจากจะมีอำนาจการปกครองทางศาสนาแล้วก็ยังมีอำนาจการปกครองทางการเมืองในท้องถิ่นที่ปกครองด้วย ตัวอย่างเช่น “อาณาจักรอัครสังฆราชแห่งไมนซ์” (Archbishopric of Mainz) ที่ปกครองโดย “อัครสังฆราชแห่งไมนซ์” (Archbishop of Mainz)
  • อาณาจักรสมเด็จพระสังฆราช (Prince-Bishopric) - อาณาบริเวณที่ปกครองโดยประมุขที่มีตำแหน่งเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” (Prince-Bishop) เป็นชื่อที่ใช้ในประวัติศาสตร์ที่มักจะใช้กันในสมัยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่สังฆราชมีฐานะเป็น “Prince” ที่มีอำนาจการปกครองทั้งทางศาสนาและทางการเมืองในท้องถิ่นที่ปกครองด้วย ตัวอย่างเช่น “อาณาจักรสมเด็จพระสังฆราชแห่งแบมเบิร์ก” (Prince-Bishopric of Bamberg) ที่ปกครองโดย “สมเด็จพระสังฆราชแห่งแบมเบิร์ก” (Prince-Bishop of Bamberg) คริสต์จักรตะวันออก
  • อาณาจักรพาทริอาค (Patriarchate) - อาณาบริเวณที่ปกครองโดยประมุขที่มีตำแหน่งเป็น “สังฆราช” (Bishop หรือ Patriarch) ตัวอย่างเช่น “อาณาจักรพาทริอาคแห่งอันติโอค” (Patriarchate of Antioch) ที่ปกครองโดย “พาทริอาคแห่งอันติโอค” (Patriarch of Antioch)
พระคาร์ดินัล
คาร์ดินัล (Cardinal) เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูง รองจากพระสันตะปาปา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา ในการปกครองพระศาสนจักรสากล ตำแหน่งนี้ อาจเทียบเท่ากับพระชั้นพระราชาคณะในพุทธศาสนา หรือวุฒิสมาชิกในทางโลก. ในสมัยก่อน ตำแหน่งคาร์ดินัลมักเป็นฆราวาส แต่นับตั้งแต่ตรากฎหมายพระศาสนจักรฉบับล่าสุด (ค.ศ. 1917-1983) พระสงฆ์และพระสังฆราชเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เป็นพระคาร์ดินัลได้. หน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งของพระคาร์ดินัลคือ เข้าร่วมประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างลง และตนเองก็มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาได้
ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาพระสันตะปาปา ในการปกครองพระศาสนจักรสากล ตำแหน่งนี้ อาจเทียบเท่ากับพระชั้นพระราชาคณะ ในพุทธศาสนาหรือวุฒิสมาชิกในทางโลก สมัยก่อนตำแหน่งคาร์ดินัล มักเป็นฆราวาส นับตั้งแต่ตรากฎหมายพระศาสนจักรฉบับล่าสุด(1917-1983) พระสงฆ์และพระสังฆราชเท่านั้น มีสิทธิ์เป็นพระคาร์ดินัลได้ หน้าที่พิเศษอย่างหนึ่งของพระคาร์ดินัล คือ เข้าร่วมประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปา องค์ใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง และตนเองก็มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาได้พระคาร์ดินัล อาจมีตำแหน่ง มุขนายก หรือ พระสังฆราช เป็นหัวหน้าปกครอง คณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และ คริสต์ศาสนิกชน ในเขต สังฆมณฑล ที่ท่านเป็นผู้ปกครองด้วย พระคาร์ดินัลอาจมีตำแหน่งมุขนายกหรือพระสังฆราช เป็นหัวหน้าปกครองคณะบาทหลวง นักบวชชาย-หญิง และคริสต์ศาสนิกชน ในเขตสังฆมณฑลที่ท่านเป็นผู้ปกครองด้วย พระคาร์ดินัล ไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ที่อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯเป็นพระคาร์ดินัลยาวนานมาก ค.ศ. 1983
ที่มาของคำว่า Cardinal คำว่า cardinal มาจากคำในภาษาลาตินที่ใช้เรียกบานพับประตู (cardo) ในพระศาสนจักรยุคแรก ๆ เวลาที่คนคนหนึ่งบวชเป็นบาทหลวง ท่านผู้นั้นจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าชีวิตจะหาไม่ และหากบาทหลวงท่านใดท่านหนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ก็เปรียบเสมือนว่าเป็นการแซะเอาบาทหลวงท่านนั้น ออกจากประตูบานเดิม (ตำแหน่งเดิม) ไปขันนอตติดกับประตูบานใหม่ (ตำแหน่งใหม่) โดยในภาษาอังกฤษใช้การเปลี่ยนตำแหน่งในกรณีนี้ว่า "incardinated" ซึ่งก็มาจากรากศัพท์ในภาษาลาตินว่า "cardo"ซึ่งแปลว่าบานพับประตู การใช้คำดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายในพระศาสนจักรยุคแรก ๆ จนต่อมาในรัชสมัยของพระสันตะปาปา เกรกอรี่มหาราช (Pope Gregory the Great 590-604) ได้มีการบัญญัติคำศัพท์ดังกล่าวเป็นคำศัพท์เฉพาะในกฎหมายพระศาสนจักร
ในยุคนั้นบาทหลวงบางท่านมีความสามารถเฉพาะตัวสูง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยพระสังฆราช (และกลายเป็น "คาร์ดินัล" แทนที่จะเป็นบาทหลวงผู้ดำรงตำแหน่งปกติ) และในบางกรณี บาทหลวงบางท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้ประกอบพิธีกรรมอยู่ตามสักการสถานโบราณหลาย ๆ แห่งในกรุงโรม เช่น มหาวิหารเซ็นต์ ปีเตอร์, มหาวิหารเซ็นต์ปอล, มหาวิหารมารีย์ มาจีโอร่า และมหาวิหารเซ็นต์จอห์น ละเตอรัน ฯลฯ เป็นต้น และเนื่องจากภารกิจดังกล่าว มีวาระการแต่งตั้งเป็นการชั่วคราว จึงเรียกท่านเหล่านั้นว่า "คาร์ดินัล" และนี่คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลสงฆ์" ในปัจจุบัน(คาร์ดินัลที่มีศักดิ์เทียบเท่าพระสงฆ์ - "cardinal presbyters") ส่วนบรรดาพระสังฆราชที่ประจำตามเมืองต่าง ๆ รอบ ๆ กรุงโรมในยุคนั้น ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันประกอบพิธีในมหาวิหารละเตอรัน ซึ่งเป็นอาสนวิหารประจำกรุงโรม และถึงแม้ว่าท่านเหล่านั้นจะดำรงตำแหน่งประจำเป็นสังฆราชในสังฆมณฑลของตน แต่ท่านก็ได้กลายเป็น "คาร์ดินัล" ในขณะที่ท่านประกอบพิธีในมหาวิหารดังกล่าว และพระสันตะปาปาก็ได้ให้ความสำคัญต่อบรรดาพระคาร์ดินัลเหล่านั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการปรึกษากิจการงานของพระศาสนจักรอยู่เป็นประจำ นี่คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลสังฆราช" (คาร์ดินัลที่ศักดิ์เทียบเท่าพระสังฆราช - "cardinal bishops") ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆราชประจำสังฆมณฑลเจ็ดแห่งรอบ ๆ กรุงโรมในปัจจุบันและหลังจากที่พระสันตะสำนักได้อำนาจการปกครองกรุงโรม ก็จำเป็นต้องให้บริการต่าง ๆ ด้านสังคมแก่บรรดาประชาชน โดยบริการดังกล่าวนี้ แรกทีเดียวบรรดาสังฆานุกร (deacons) ซึ่งเป็นบุคลากรของพระสันตปาปาที่ประจำอยู่หาวิหารละเตอรันเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต่อมาก็ได้มีการส่งบุคลากรดังกล่าวไปประจำตามศูนย์บริการด้านสังคม (diaconiae) ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วกรุงโรม โดยที่ศูนย์แต่ละแห่งจะมีวัดน้อย (chapel) อยู่ด้วย ความสำคัญของท่านเหล่านั้นในการช่วยเหลือผู้ยากไร้คือที่มาของคำว่า "คาร์ดินัลสังฆานุกร" ในปัจจุบัน (คาร์ดินัลที่มีศักดิ์เทียบเท่าสังฆานุกร "cardinal deacons")
บรรดาพระคาร์ดินัลต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้เริ่มทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการช่วยพระสันตะปาปาปฏิบัติภารกิจในฐานะพระสังฆราชแห่งกรุงโรม และในฐานะประมุขของสภาพระสังฆราชทั่วโลก รวมทั้งการเป็นผู้แทนของพระองค์ในการปฏิบัติภารกิจพิเศษต่าง ๆ และการเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในการประชุมสังคายนาต่าง ๆ ด้วย พระสันตะปาปาหลายองค์ในคริสตศตวรรษที่ 11 ได้ทำการแต่งตั้งบุคคลากรหลาย ๆ ท่านให้มาช่วยในการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ที่กรุงโรม โดยทรงแต่งตั้งให้ท่านเหล่านั้นปกครองวิหารต่าง ๆ ในกรุงโรม โดยไม่ต้องไปประกอบพิธีกรรมเป็นประจำทุกวันตามวิหารเหล่านั้น บุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าวจึงดำรงตำแหน่ง "คาร์ดินัล" ไปด้วยและมีบทบาทสำคัญในการอภิบาลสัตบุรุษในกรุงโรม และในการฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตของบรรดาคริสตชนในพระศาสนจักรทั่วโลก
ยุคทองของสถาบันคาร์ดินัลมีจุดเริ่มต้นจากพระราชโองการของพระสันตะปาปานิโคลาสที่สอง เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1059 ซึ่งกำหนดให้คาร์ดินัลสังฆราช คาร์ดินัลสงฆ์ และคาร์ดินัลสังฆานุกร มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาแทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยที่พระสมณะ (clergy) อื่น ๆ และบรรดาสัตบุรุษมีบทบาทเพียงการให้สัตยาบันต่อผลของการเลือกตั้งเท่านั้น ต่อมาในปี ค.ศ. 1179 สังคายนาแห่งละเตอรันครั้งที่สาม ได้มีมติให้สถาบันคาร์ดินัลสามารถเลือกตั้งพระสันตะปาปาแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องได้รับสัตยาบันจากพระสมณะอื่น ๆ และบรรดาสัตบุรุษ
เครื่องหมายประจำตำแหน่งของพระคาร์ดินัลโดยเฉพาะคือ หมวกปีกกว้าง ( galero, ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้แล้ว ) และหมวก “บีเร็ตต้า” ( biretta - หมวกทรงสี่เหลี่ยมมีสันด้านบนเป็นสามแฉก) สีแดง ( เลือดนก ) ซึ่งเป็นสีของอาภรณ์อื่น ๆ ของพระคาร์ดินัลด้วย ( สีอาภรณ์ของพระสังฆราชคือสีม่วง ) สีแดงนี้เป็นสัญลักษณ์หมายถึงโลหิต ที่พระคาร์ดินัลจะต้องมีความกล้าหาญถึงกับยอมสละได้ เพื่อป้องกันและเทิดทูนคำสอนที่พระศาสนจักรสั่งสอน เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความสงบสุขของประชากรคริสตชน เพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนจักร ฉะนั้น ในพิธีแต่งตั้งพระสันตะปาปาจะกล่าวกับพระคาร์ดินัลใหม่ ขณะที่ทรงมอบหมวกแดงประจำตำแหน่งนี้ว่า “เพื่อเป็นเกียรติแด่พระเป็นเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ และเป็นอาภรณ์ประดับสันตะสำนัก ท่านจงรับหมวกแดงอันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งคาร์ดินัลอันสูงส่ง หมวกแดงนี้หมายความว่าท่านจะต้องแสดงตนกล้าหาญแม้กระทั่งจะต้องหลั่งโลหิตถึงแก่ชีวิตเพื่อยกย่องเทิดทูนความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์เพื่อสันติภาพ และความสงบสุขของประชากรคริสตชน เพื่อความเจริญมั่นคงของพระศาสนจักรโรมันอันศักด์ิสิทธิ์ เดชะพระนามพระบิดา และพระบุตร และพระจิต”
เนื่องจากตำแหน่งคาร์ดินัล เป็นสมณศักดิ์สูงสุดในพระศาสนจักรรองจากพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลแต่ละท่านจึงมีศักดิ์เทียบได้กับ “เจ้าชาย” ในราชวงศ์พระสันตะปาปา อูร์บัน ที่ 8 ( 1630 ) ทรงอนุญาตให้พระคาร์ดินัลใช้คำนำหน้าชื่อว่า “Eminence” พระสันตะปาปาใช้คำนำหน้าพระนามว่า “Holiness” เช่น “His Holiness Pope John Paul ll” ส่วนพระสังฆราชใช้ว่า “Excellency” นับแต่ศตวรรษที่ 12 พระคาร์ดินัลมีศักดิ์เหนือบรรดาพระสังฆราชและอัครสังฆราช และในศตวรรษที่ 15 ยังมีศักดิ์เหนือบรรดา “อัียกา” ด้วย ( “Patriarch” เป็นตำแหน่งประมุขของพระศาสนจักรสำคัญแต่โบราณ โดยเฉพาะจากพระศาสนจักรทางตะวันออก ( กลาง ) เช่น อเล็กซานเดรีย,เยรูซาเล็ม,คอนสแเตนติโนเปิล ,เวนิส,ลิสบอน ฯลฯ “ นอกจากนั้นพระคาร์ดินัลแม้เป็นเพียงพระสงฆ์ ยังมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการประชุมพระสังคายนาได้ด้วย สิทธิลงคะแนนเสียงในการประชุมพระสังคายนานี้เป็นสิทธิ์ของพระสังฆราชเท่านั้น
ในบรรดาหน้าที่และอภิสิทธิ์ต่าง ๆของพระคาร์ดินัล ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรนั้น หน้าที่ที่เห็นได้ชัดเจนกว่าเพื่อนก็คือ “ การเลือกตั้งและรับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปา” แต่เดิมที่เดียวพระสันตะปาปาในฐานะที่เป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม ได้รับเลือกจากบรรดาสัตบุรุษและคณะสงฆ์ของกรุงโรม ให้ดำรงตำแหน่งต่อมา บรรดาพระสังฆราชของสังฆมณฑลรอบๆ กรุงโรมก็มีสิทธิในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาด้วย และเมื่อตำแหน่งคาร์ดินัลเพิ่มความสำคัญในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของพระสันตะปาปา พระคาร์ดินัลก็มีสิทธิ์มากขึ้นในการเลือกพระสันตะปาปา
ในปี 1059 พระสันตะปาปา นิโคลสัสที่ 2 ทรงกำหนดให้พระคาร์ดินัลเท่านั้นมีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งพระสันตะปาปา ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดการแทรกแซงของผู้ปกครองบ้านเมือง และพระจักรพรรดิในการกำหนดผู้ที่จะขึ้นเป็นพระสันตะปาปา ตามกฎนี้ ทีแรกพระคาร์ดินัล- พระสังฆราชทั้ง 6 องค์ จะต้องเลือกและเสนอชื่อพระคาร์ดินัลจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสมน่าจะเป็นพระสันตะปาปาได้ ให้คณะพระคาร์ดินัลลงคะแนนตัดสินเลือกท่านหนึ่งจากรายชื่อนี้ แต่ต่อมาในปี 1139 พระสังคายนาลาเตรัน ที่ 2 ได้ยกเลิกการเสนอรายชื่อผู้ควรจะรับเลือกนี้เสีย และในปี 1179 พระสังคายนาลาเตรัน ที่ 3 ก็กำหนดให้ผู้ที่จะรับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนพระคาร์ดินัลที่ออกเสียงได้ เป็นพระสันตะปาปาทันที กฎนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้ แต่พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ยังกำหนดไว้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 1971 ด้วยว่า พระคาร์ดินัลที่มีอายุเกิน 80 พรรษา แล้วไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนและรับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาอีก และจะต้องพันจากตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ของพระศาสนจักรและของรัฐวาติกันด้วย
พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชูพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เกิดวันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 1930 ที่หมู่บ้านวัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม เป็นบุตรของยอแซฟ ยู่ฮง และมารีอา เคลือบ กิจบุญชู มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็น ชาย 7 คน เป็นหญิง 1 คน พระคุณเจ้าเป็นบุตรคนที่ 5 ของครอบครัว
การศึกษา
  • ปี ค.ศ. 1935-1940 เรียนที่โรงเรียนนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม จบชั้นประถมปีที่ 4 (เลขประจำตัว 718)
  • ปี ค.ศ. 1940 เรียนที่โรงเรียนดาราสมุทร (สามเณราลัยพระหฤทัย) ศรีราชา ชลบุรี ชั้นมัธยมปีที่ 1 (เรียนไม่จบ เนื่องจากเกิดสงครามอินโดจีน จึงย้ายไปเรียนที่บ้านเณรบางช้าง)
  • ปี ค.ศ. 1941-1944 เรียนที่บ้านเณรพระหฤทัยบางช้าง สมุทรสงคราม เป็นเวลา 4 ปี จบชั้นมัธยมปีที่ 4
  • ปี ค.ศ. 1945-1947 เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ชลบุรี จบชั้นมัธยมปีที่ 6
  • ปี ค.ศ. 1948-1953 เป็นครูเณรที่สามเณราลัยพระหฤทัย ศรีราชา ชลบุรี สอนเรียนที่โรงเรียนดาราสมุทร ได้รับตำแหน่งตั้งให้เป็นครูใหญ่โรงเรียนดาราสมุทร
  • ปี ค.ศ. 1953-1959 เรียนที่วิทยาลัยโปรปากันดาฟีเด กรุงโรม จบปริญญาโท สาขาปรัชญา และเทววิทยา ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์วันที่ 20 ธันวาคม 1959 ที่บ้านเณรปรอปากันดาฟีเด กรุงโรม โดยพระคาร์ดินัลเปโตร อากายาเนียน พร้อมกับพระสังฆราชยอแซฟ เอก ทับปิง (มรณภาพ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1985)
ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ (จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ)
  • วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960 ถึง วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1962ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระนามพระเยซู บ้านแป้ง สิงห์บุรี
  • วันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1962 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดนักบุญลูกา บางขาม ลพบุรี
  • กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965 ถึง เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1965ได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  • วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1965ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาพระสังฆราชของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
  • เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1965 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1973 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน นครปฐม
ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ(จากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย)
  • ปี ค.ศ. 1979-1982 ดำรงตำแหน่งประธานสภาพระสังฆราชฯ
  • ปี ค.ศ. 1986-1990 ดำรงตำแหน่งประธานสภาพระสังฆราชฯ
  • ปี ค.ศ. 1995-1997 ดำรงตำแหน่งประธานสภาพระสังฆราชฯ
  • นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ของสภาพระสังฆราชฯ อีกหลายฝ่ายด้วยกัน
ตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ (จากกรุงโรม) ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการของสมณกระทรวง ประกาศพระวรสารสู่ปวงชน (Member of the Pontifical of the Missionary Union of the Clergy in Thailand3 นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล พระคุณเจ้าได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการที่ปรึกษาของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาของสมณกระทรวงฯ แล้ววันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1994 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิก “สภาที่ปรึกษาด้านการเงิน และเศรษฐกิจของสันตะสำนัก4”
เหตุการณ์สำคัญในชีวิต
  • วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1973 ได้รับการอภิเษกเป็นพระอัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ฯ สืบตำแหน่งต่อจากพระอัครสังฆราชยอแซฟ ยวง นิตโย
  • วันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1982 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีพระสมณสาสน์แจ้ง เป็นการภายในให้ทราบว่า จะทรงแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกของพระคาร์ดินัลแห่งพระศาสนจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในวันที่ กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983
  • วันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1983 มีประกาศอย่างเป็นทางการ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะพระคาร์ดินัล นับเป็นพระคาร์ดินัลไทยองค์แรก
  • วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 พิธีสถาปนาสมณศักดิ์พระคาร์ดินัลท่ามกลางคณะพระคาร์ดินัล คณะทูตานุทูต และคริสตศาสนึกชน
  • วันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1984 ฉลองหิรัญสมโภชครบรอบ 25 ปี แห่งการบวชเป็นพระสงฆ์
แนวทางการปกครองและวิธีการ (Directive and Methodology) แนวทางที่กล่าวนี้ปรากฏชัดอยู่ในคำพูดของพระคุณเจ้า ที่ให้ไว้ในบทสัมภาษณ์ในหนังสือ “นิตยสารอุดมสาสน์” เป็นการจัดลำดับบทบาท พร้อมทั้งได้คำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ของการดำเนินงานไว้ด้วย ดังนี้
 “ภารกิจอันสำคัญของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นั้น ก็คืองานอภิบาล เพราะพระศาส นจักรได้รับมอบหมายจากพระเยซูเจ้าให้เป็นผู้ดูแล เป็นผู้เลี้ยงดูบรรดาสัตบุรุษ เพราะฉะนั้น ในด้านงานอภิบาลอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็จะพยายามให้งานด้านการอภิบาลก้าวหน้าต่อไปให้ได้รับผลยิ่งขึ้น เมื่อพูดถึงงาน ด้านการอภิบาล ก็ต้องมีบุคลากร อันนี้แน่นอน บรรดาผู้ที่มีหน้าที่โดยเจาะจงคือ พระสงฆ์ นักบวช ทั้งหลาย ต้องพยายามเน้นให้พระสงฆ์นักบวชที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงนี้ ได้เพิ่มความเอาใจใส่ออกแรงมากยิ่งๆ ขึ้น และเตรียม ผู้ซึ่งรับหน้าที่นี้ต่อไปในอนาคต นั่นก็คือ จะต้องส่งเสริมกระแสเรียกให้มากยิ่งๆ ขึ้น ส่วนในด้านสัตบุรุษเอง ก็มีแนวทางที่จะปลุกสำนึกให้บรรดาสัตบุรุษได้เข้าใจถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกัน”
แนวทางใหญ่ ๆ และสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในการสนทนาหรืองานเขียน รวมทั้งการปราศรัย การอภิบาลในที่ต่าง ๆ หรือตามวัดต่าง ๆ ในโอกาสฉลองวัดก็ดี ดังคำพูดเหล่านี้ “นอกจากแนวทางการอภิบาลและงานแพร่ธรรมแล้ว พระศาสนจักรมีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม” “หน้าที่ประการต่อไป คือ เราคริสตชนต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศชาติ ซึ่งเป็นที่รับรู้คาทอลิกมีบทบาทมิใช่น้อยในด้านการพัฒนาประเท ศชาติ อาทิเช่น การศึกษา ด้านเมตตาจิต ก็มีสถานเด็กกำพร้า คนพิการ คนตาบอด บ้านพักคนชรา ด้านสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ”
22 ตุลาคม ค.ศ. 2000 วันคล้ายวันสมณภิเษก ครบรอบ 22 ปี ที่พระคาร์ดินัลวอยตีวาคาร์ดินัลชาวโปแลนด์ ผู้ได้รับเลือกให้เป็นประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิก องค์ที่ 264 โดยทรงพระนามว่า พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 และเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียน ในรอบ 456 ปี
พระสันตะปาปาคือใครตำแหน่งพระสันตะปาปา (pope) เป็นพระสมณศักดิ์ที่สูงที่สุดในพระศาสนจักร(โรมมัน)คาทอลิก คือ เป็นประมุขสูงสุดของพระศาสนจักร(โรมัน)คาทอกลิก และทรงเป็นองค์ผู้นำของคริสตชนทั่วโลก คำว่า สันตะปาปา มาจากคำว่า “Santo” (สันโต) หรื อ “Satus” ซึ่งแปลว่า ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนคำว่า “Papa” (ปาปา) แปลว่า บิดา ดังนั้น คำว่า สันตะปาปา จึงแปลว่า “บิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” น อกจากนี้ ยังมีคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกพระสันตะปาปาได้อีกคือ คำว่า ปาตรีอาร์ต (Patriarch) ซึ่งคำว่า ปาตรี แปลว่า “บิดา” อาร์ต แปลว่า ใหญ่ ปาตรีอาร์ต จึงแปลว่า “บิดาผู้ยิ่งใหญ่” หรือ “อัครบิดร” ทางพระศาสนจักรตะวันออก และคาทอลิกนิกายออร์โธด๊อกซ์ ได้เรียกพระสันตะปาปาว่า ซุพรีม พอนทิฟ (Supreme Pontiff) ซึ่งแปลว่าพระสันตะปาปาผู้สูงสุด ผู้เชื่อมโยงเรากับพระเป็นเจ้า
ในสมัยก่อนคำว่าพระสันตะปาปา (Pope) เป็นคำที่ใช้เรียกพระสังฆราชทุกองค์ ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 6 พระสันตะปาปาในขณะนั้นได้กำหนดให้คำว่า สันโตปาปา ใช้เรียกเฉพาะพระสังฆราชที่กรุงโรมเท่านั้น คำว่าพระสันตะปาปา จึงเป็นคำที่ใช้เรียกประมุขสูงสุดของพระศาสนจักร แต่องค์เดียวนับแต่นั้นเป็นต้นมา
การสืบอำนาจของพระสันตะปาปาอำนาจของพระสันตะปาปา มี 2 ประการด้วยกัน คือ อำนาจในการอภิบาลสั่งสอน และ อำนาจในการปกครอง ซึ่งเป็น อำนาจที่เกิดจากการที่พระเยซูเจ้าทรงมอบอำนาจนี้ให้กับท่านนักบุญเปโตร ผู้เป็นพระสันตะปาปาองค์แรก ให้เป็นผู้ปกครองบรรดาคริสตชน ด้วยประโยคที่ว่า “ท่านคือศิลา และบนศิลานี้เราจะสร้างพระศาสนจักรของเราไว้ และประตูนรกจะไม่มีวันชนะพระศาสน จักรได้ เราจะมอบกุญแจอาณาจักรสวรรค์ให้ท่านไว้ สิ่งที่ท่านผูกในแผ่นดินนี้ ก็จะผูกในสวรรค์ด้วย และทุกสิ่งที่ท่านจะแก้ในโลกก็จะแก้ในสวรรค์ด้วย” (มธ. 16:18) ดังนั้นการคัดเลือกพระสันตะปาปาพระองค์แรกและพิธีอภิเษกจึงได้กระทำสำเร็จบริบูรณ์ในเวลาอันสั้น แต่การมอบอำนาจเดียวกันนี้ จะมอบสืบทอดให้กับผู้สืบตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ต่อ ๆ ไปจากท่านนักบุญเปโตร
ดังนั้น ท่านนักบุญเปโตรได้ออกไปประกาศ เทศนาสั่งสอน เป็นองค์พยานถึงความเชื่อ แก่ประชาชนทั่วไป ที่สุดท้ายที่นักบุ ญเปโตรทำการประกาศศาสนา และมีคนกลับใจเป็นจำนวนมาก คือกรุงโรม ประเทศอิตาลี ต่อมาเข้ายุคของการเบียดเบียนศาสนา ประมาณปี ค.ศ. 64 ทำให้ท่านนักบุญเปโตร ถูกจับและประหารชีวิตในที่สุด การสิ้นชีพของนักบุญเปโตรนั้น ทำให้ตำแหน่งพระสัน ตะปาปาว่างลง พระศาสนจักรท้องถิ่นขาดผู้นำ ประชาชนปราศจากผู้อภิบาลคอยดูแล จึงมีการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมที่จะสืบตำแหน่งต่อจากนักบุญเปโตร และผู้ที่สามารถถูกรับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ขั้นสมบูรณ์ คือ รับศีลบวชครบ 3 ขั้น 1. ศีลบวชสังฆนุกร 2. ศีลบวชพระสงฆ์ 3. ศีลบวชพระสังฆราช นั้นหมายความว่า ผู้ที่สืบต่อจะต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสงฆ์ขั้นสมบูรณ์ คือขั้นของพระสังฆราชนั้นเอง
วิธีการเลือกผู้สืบตำแหน่งพระสันตะปาปาการคัดเลือกพระสันตะปาปาในครั้งแรก หลังจากนักบุญเปโตร พระสันตะปาปาองค์แรกสิ้นชีพ การคัดเลือกยังไม่มีกฎระเบียบที่แน่นอน ผู้ทำการคัดเลือกพระสันตะปาปาคือ สังฆานุกร พระสงฆ์ ฆราวาส และผู้ใกล้ชิด มาประชุมตกลงกัน เพื่อคัดเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ การคัดเลือกพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ดำเนินการเช่นนี้เรื่อยมา
จนถึงสมัยของพระสันตะปาปา นิโคลัสที่ 2 ในปีค.ศ. 1059 พระองค์ทรงเห็นว่า การคัดเลือกพระสันตะปาปาในสมัยนั้น ถูกแทรกแซงจากผู้ปกครองบ้านเมือง จึงมีการตั้งกฎว่า “การเลือกตั้งพระสันตะปาปานั้น อนุญาติให้เฉพาะพระคาร์ดินัลเท่านั้น เป็น ผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง โดยจะเลือกจากพระคาร์ดินัลด้วยกัน หรือจะเลือกจากใครก็ได้ โดยกำหนดให้มีกลุ่มคาร์ดินัล 2 ถึง 5 คนเป็นผู้คัดเลือกผู้ที่เหมาะสม และเสนอชื่อให้พระคาร์ดินัลทั้งหมดเป็นผู้ลงคะแนนตัดสินเลือกท่านหนึ่งจากรายชื่อนี้ การคัดเลือกวิธีนี้ดำเนินต่อมาอีกร้อยปี
จนถึงสมัยของพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือก โดยยกเลิกการเสนอรายชื่อผู้ควรได้รับเลือกเสีย โดยให้พระคาร์ดินัลทุกท่านมีโอกาสเท่าเสมอกัน จะเสนอชื่อใคร หรือเลือกใครก็ได้ แต่ผู้ที่ได้รับเลือกจะต้องมีคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนพระคาร์ดินัลที่ออกเสียงได้ หากคะแนนเสียงยังไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ต้องทำการคัดเลือกกันใหม่ และในสมัยของพระสันตะปาปา เกโกลีที่ 10 พระองค์ทรงเห็นว่าวิธีการลงคะแนนเสียงแบบ 2 ใน 3 นี้ ใช้เวลานานและยืดเยื้อ พระองค์จึงหาวิธีที่ ทำให้การลงคะแนนสำเร็จโดยเร็ว จึงได้กำหนดห้อง ๆ หนึ่งขึ้น โดยเรียกห้องนี้ว่า คอนเคลฟ (Conclave) ซึ่งแปลว่าห้องที่ปิดกุญแจ โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง จะต้องประชุมกันที่ห้องนี้ ตัดการติดต่อกับคนภายนอก จนกว่าการลงคะแนนเสียงจะสิ้นสุดลง ซึ่งวิธีนี้ทำให้การลงคะแนนเสียงสำเร็จลงเร็วขึ้น กฎนี้จึงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ขั้นตอนการเลือกตั้งพระสันตะปาปาเมื่อพระสันตะปาปาพระองค์สิ้นพระชนม์ หัวหน้าพระคาร์ดินัล (dean of the Cardimal) จะเป็นผู้จัดพิธีปลงพระศพ ซึ่งตา มประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา พระศพจะถูกตั้งอยู่ที่วัดน้อยซิสติน เพื่อให้ประชาชนมาแสดงความเคารพ ต่อจากนั้นพระศพของสมเด็จพระสันตะปาปาจะถูกนำไปฝังไว้เคียงข้างผู้สืบตำแหน่งของพระสันตะปาปาองค์ก่อนพระองค์ ภายในอุโมงค์ใต้มหาวิหารนักบุญเปโตร หลังฝั่งพระศพพระสันตะปาปาพระองค์ก่อนเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าพระคาร์ดินัล จะออกหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการว่าพระสันตะปาปาทรงสิ้นพระชนม์ เชิญพระคาร์ดินัลจากทั่วโลกมาทำการเลือกตั้งพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ โดยการเลือกตั้งจะใช้วิธีลงคะแนนลับ ณ โบสถ์ซิสติน กรุงโรม ซึ่งระหว่างที่มีการประชุมลงคะแนนลับเพื่อคัดเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่นั้น ประชาชน จากทั่วทุกมุมโลกจะให้ความสนใจอยากทราบข่าวการลงคะแนน รวมทั้งประชาชนชาวอิตาลีก็จะพากันมารวมตัวอยู่หน้าจัตุรัส เพื่อรอดูสัญญาณควันทางปล่องไฟ ซึ่งสัญญาณควันนี้จะเป็นเครื่องหมายบอกให้ประชาชนทราบว่า การลงคะแนนเสียงลับของพระค าร์ดินัลนั้นสำเร็จหรือไม่ หากการลงคะแนนเสียงครั้งนั้น ไม่สำเร็จ คือ คะแนนที่ได้ไม่ถึง 2 ใน 3 ควันที่ลอยออกมาจากปล่อยไฟก็จะเป็นสีดำ โดยวัสดุที่นำมาเผานั้น คือบัตรที่ใช้ลงคะแนนเสียง และวัสดุอื่น ๆ ที่เผารวมกันแล้วก่อให้เกิดควันสีดำ ต่อเมื่อการลงคะแนนเสียงสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ได้พระสันตะปาปาพระอง ค์ใหม่ ควันที่ออกมาจากปล่อยไฟก็จะเป็นควันสีขาว ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำบัตรลงคะแนนเสียง และวัสดุอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดควันสีขาวมาเผารวมกัน ซึ่งการส่งสัญญาณควันนี้จะกระทำวันละ 2 ครั้ง
เมื่อการลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้นลงแล้ว หัวหน้าพระคาร์ดินัล จะถามความสมัครของผู้ได้รับเลือก ว่าจะยอมรับตำแหน่งนี้หรือไม่ หากผู้ได้รับเลือกรู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมที่รับตำแหน่งพระสันตะปาปานี้ ก็สามารถที่จะปฏิเสธ และทำการเลือกตั้งใหม่ หากเขาตัดสินใจที่จะรับ ตำแหน่งนี้ หัวหน้าพระคาร์ดินัล ก็จะนำผู้ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ไปนั่งเก้าอี้ เพื่อให้พระคาร์ดินัลทั้งหลายแสดงความคารวะ และพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่จะเสด็จออกไปที่เฉลียงมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่ออวยพรและทักทายชาวกรุงโร มและชาวโลกทั้งมวล
ความหมายของการขึ้นครองราชย์หลังจากได้รับคัดเลือกแล้ว ก็ถึงพิธีกรรมอันสำคัญ คือ พิธีสมณภิเษก รับตำแหน่งพระสันตะปาปา ซึ่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิท ธิ์นี้ จัดขึ้น ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร โดยในพิธี หัวหน้าพระคาร์ดินัลจะทำการมีการสวมมงกุฎ 3 ชั้น (Diadema) ให้กับพระสันตะ ปาปาองค์ใหม่ เพื่อเป็นเครื่องหมายอย่างเป็นทางการว่าได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองพระศาสนจักรสูงสุด แต่ในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 พระองค์ทรงไม่รับการสวมมงกุฎนั้น หากพระองค์เลือกใช้ หมวกทรงสูง (Mitra) ซึ่งเป็นหมวกแบบเดียวกับสังฆราขทั่ว ๆ ไป เป็นเครื่องหมายของการขึ้นครองราชย์ แทนมงกุฎ 3 ชั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นประมุข เป็นผู้ปกครองสูงสุดของพระศาสนจักร แต่พระองค์ก็ยังคงดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย
พระสันตะปาปาเท็จ (antipope)
พระสันตะปาปาเท็จ (antipope) หมายถึง ผู้ที่เป็น "พระสันตะปาปาโดยไม่ถูกต้อง" ทั้งที่อ้างตัวเอง หรือเกิดจากความสับสน, หรือได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาแล้ว แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ, หรือได้รับตำแหน่งโดยถูกต้องแล้ว แต่ถือกันว่าเป็น พระสันตะปาปาเท็จ
พระสันตะปาปาเท็จส่วนใหญ่ เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองของคริสต์ศาสนจักรระหว่างผู้ปกครองในขณะนั้น โดยเฉพาะกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งนี้ผู้ปกครองในหลายสมัยพยายามจะเข้ามาแทรกแซงศาสนจักร. ส่วนศาสนจักรเองนั้น ตามประวัติศาสตร์ ก็ปรากฏว่ามีการพยายามแทรกแซงทางโลกเช่นเดียวกัน เช่นการสนับสนุน antiking ในประเทศเยอรมนีสมัยก่อน
นอกจากความขัดแย้งกับทางโลกแล้ว ความสับสนและไม่ลงรอยภายในศาสนาจักรเอง ก็ทำให้เกิด antipope ขึ้นในระหว่างการเลือกพระสันตะปาปาเช่นเดียวกัน. กล่าวได้อีกอย่างก็คือ พระสันตะปาปาที่ถูกต้องนั้น ก็มีโอกาสเป็น “พระสันตะปาปาเท็จ” ได้เช่นเดียวกัน ถ้าการณ์กลับว่า พระสันตะปาปาเท็จ ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาที่ถูกต้อง ความไม่ลงรอยกันในการเลือกพระสันตะปาปาในศาสนจักรโรมันคาทอลิกนั้น ภายหลังนำไปสู่การปฏิรูปโปรแตสแตนท์ในที่สุด
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (Benedict XVI Papa Benedictus Sextus Decimus)

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 (ละติน: Benedictus XVI, อังกฤษ: Benedict XVI) มีพระนามเดิมว่า พระคาร์ดินัล โยเซฟ รัตซิงเกอร์ (ภาษาละติน Iosephus Ratzinger, ภาษาอังกฤษ Joseph Alois Ratzinger) เกิดเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) เป็นชาวเยอรมัน

ทรงเป็นบุตรชายของ โจเซฟ และมาเรีย รัตซิงเกอร์ ประสูติในหมู่บ้านมาร์เคลท์ อำ อินน์ (Marktl am Inn) ในแคว้นบาวาเรีย, ประเทศเยอรมนี ไม่ไกลจากชายแดนออสเตรีย ทรงมีพี่น้อง 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิงชื่อมาเรีย (เช่นเดียวกับพระมารดาของพระองค์) อีกคนหนึ่งเป็นพี่ชายคนโต ชื่อ จอร์จ (บวชเป็นบาทหลวงเช่นเดียวกับพระองค์) พระองค์ได้เข้าไปศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นบาทหลวงในบ้านเณร ในเมือง Traunstein เมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้น พระองค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ (เด็กชายทุกคนในปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ต้องเข้าร่วม) เมื่อกองทัพเยอรมันต้องการกำลังทหาร พระองค์ก็ถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นพลปืนต่อต้านอากาศยาน ซึ่งพระองค์มีหน้าที่ดูแลเครื่องบินและต่อมาทรงย้ายไปประจำที่ศูนย์สื่อสารทางโทรศัพท์ ต่อมาในปี 1944 (พ.ศ. 2487) พระองค์และเพื่อนร่วมชั้นก็ออกจากกองต่อต้านอากาศยาน แต่กลับถูกเกณฑ์อีกครั้งเพื่อไปประจำที่ชายแดนซึ่งติดต่อกับฮังการี พระองค์มีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ป้องกันกองทัพรถถังโซเวียต ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น พระองค์ก็ออกจากกองทัพและมุ่งหน้ากลับบ้าน สามสัปดาห์ผ่านไปพระองค์ก็ได้รับหมายเรียกให้รับการฝึกเป็นทหารราบ แต่ทรงไม่เคยต้องออกไปยังแนวหน้า ในเดือนเมษายน 1945 (พ.ศ. 2488) (ก่อนหน้านาซีจะยอมแพ้ไม่นาน) พระองค์ก็หนีทัพและกลับไปยังหมู่บ้านของพระองค์ แต่ภายหลังสงคราม พระองค์ถูกจับในฐานะเชลยเนื่องจากทัพฝ่ายพันธมิตรสรุปว่าพระองค์เป็นทหาร พระองค์ต้องไปเข้าค่ายกักกันเชลยศึก พระองค์ออกจากค่ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2488 พระองค์ได้เริ่มเดินด้วยเท้าเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตรเพื่อกลับหมู่บ้าน แต่ได้รับการช่วยเหลือจากรถส่งนมที่พาพระองค์ไปส่งที่เมืองเธราน์ชไตน์ (Traunstein) เมื่อพระองค์กลับถึงบ้าน ก็ได้พบกับพี่ชายซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากค่ายเชลยศึกในอิตาลีเช่นเดียวกัน

การศึกษาในปี 1945 (พ.ศ. 2488) หลังจากที่พระองค์กลับถึงบ้าน พระองค์ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่บ้านเณรแห่งหนึ่งในเมืองไฟรซิงก์ (Freising) หลังจากนั้นก็ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยลุดวิก-แม็กซิมิเลียน (Ludwig-Maximilian) ในเมืองมิวนิก ในที่สุด เมื่อปี 1951 (พ.ศ. 2494) พระองค์ก็ได้บวชเป็นบาทหลวงโดยมีผู้บวชให้คือ พระคาร์ดินัลเฟาฮาเบอร์ (Faulhaber) แห่งเมืองมิวนิก ระหว่างนั้นพระองค์ยังทรงเขียนวิทยานิพนธ์ขึ้น 2 ฉบับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักบุญออกัสติน (เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2496) และนักบุญโบนาเวงตูร์ (เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2500) ในปี 1958 (พ.ศ. 2501) พระองค์ก็ได้เป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยไฟรซิงก์

งานทางศาสนาต่อมาพระองค์เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2506 เมื่อพระองค์ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยมุนสเตอร์ ในปี 1966 (พ.ศ. 2509) พระองค์ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาเทววิทยา ณ มหาวิทยาลัยตูบิงเกน (Tübingen) (ระหว่างนี้เองที่พระองค์ได้เห็นขบวนการมากมายที่อาจทำให้คำสอนของคาทอลิกผิดเพื้ยนไป เช่นขบวนการเรียกร้องสิทธิของพวกรักร่วมเพศ) ในปี 1969 (พ.ศ. 2512) พระองค์ก็กลับไปยังบาวาเรีย แคว้นเกิดของพระองค์เพื่อไปสอนที่มหาวิทยาลัยรีเกนสบูรก์ (Regensburg)

ในปี 1972 (พ.ศ. 2515) พระองค์ได้ร่วมกับฮันส์ เอิร์ส วอน บาลธาซาร์, อองริ เดอ ลูบัค และวอลเตอร์ แกสแปร์ ก่อตั้งวารสารทางศาสนาขึ้นมาชื่อว่าคอมมูนิโอ (Communio, ปัจจุบันวารสารนี้ตีพิมพ์ใน 17 ภาษา และเป็นหนึ่งวารสารคาธอลิกที่สำคัญที่สุด) พระองค์ยังเป็นผู้ที่เขียนบทความลงในวารสารนี้อีกด้วย

ในเดือนมีนาคม 1977 (พ.ศ. 2520) ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสังฆราชแห่งเมืองมิวนิก และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 (ในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาใน พ.ศ. 2548 พระองค์เป็นหนึ่งในพระคาร์ดินัลที่มีสิทธิเลือก 3 คนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2) 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 แต่งตั้งให้เป็นสมณมนตรีของสมณกระทรวงว่าด้วยข้อความเชื่อ นอกจากนี้ยังทรงเคยดำรงตำแหน่ง
  • ประธานคณะกรรมการพระคัมภีร์
  • คณะกรรมการเทววิทยาระดับนานาชาติในสันตะสำนัก
  • ผู้ประสานงานสมัชชาพระสังฆราช ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2526)
  • ประธานของผู้แทน สมัชชาพระสังฆราช ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2526)
  • 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล
  • 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ได้รับเลือกเป็นหัวหน้า (Dean) คณะพระคาร์ดินัล
  • พ.ศ. 2529 – 2535 เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือคำสอนพระศาสนจักรคาธอลิก
  • 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมาเรียซานติสสิมาอัสสุนตา Maria Santissima Assunta
  • 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ในสันตะสำนัก (Pontifical Academy of Sciences)
  • ทรงเคยเป็นสมาชิกในคณะกรรมการสมณกระทรวงของสันตะสำนัก (Curial Membership)
  • พระศาสนจักรตะวันออก
  • พิธีกรรม
  • พระสังฆราช
  • การประกาศพระวรสารสู่ปวงชน
  • การศึกษาคาธอลิกและเลขาธิการของรัฐวาติกัน (Second Section) ด้านความสัมพันธ์กับรัฐอื่น
หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 2 เมษายน 2548 พระองค์ก็ทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาเมื่อวันที่ 19 เมษายนพ.ศ. 2548 เมื่ออายุ 78 ปี เป็นสมเด็จพระสันตะปาปาที่มีอายุมากที่สุดที่เคยได้รับเลือก นับตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 (พ.ศ. 2273) และเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาชาวเยอรมันพระองค์แรกตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 (1522–1523) (สมเด็จพระสันตะปาปาเอเดรียนที่ 6 ทรงเป็นชาวเยอรมันด้วย เพราะในสมัยของพระองค์ เนเธอร์แลนด์ถูกรวมอยู่ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) ซึ่งปกครองโดยบรรพบุรุษของชาวเยอรมันในปัจจุบัน) (สมเด็จพระสันตะปาปาองค์สุดท้ายก่อนหน้าพระองค์ที่มาจากดินแดนที่อยู่ในเขตเยอรมนีปัจจุบัน คือสมเด็จพระสันตะปาปาวิกเตอร์ที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งในปี 1055-1057) การเลือกตั้งพระสันตะปาปาคราวนี้ใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น และมีการลงคะแนนทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งถือว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปาครั้งที่ผ่านๆ มา

ศีลศักดิ์สิทธิ์วิถีชีวิตของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ศีลศักดิ์สิทธิ์ศีลศักสิทธิ์ทั้ง 7 (The Seven Sacraments) โดย โรเจียร์ ฟาน เดอ เวย์เด็น, ราว ค.ศ. 1448 ศีลศักดิ์สิทธิ์ (Sacraments) เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิก ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นเครื่องหมายภายนอกที่แสดงว่าบุคคลหรือที่ได้รับศีลศักสิทธิ์นี้แล้วคือผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า คริสตชน

ความเชื่อผู้นับถือศาสนาคริสต์ (คริสตชน) เชื่อว่าศีลศักสิทธิ์เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือนำความรอด เป็นพระคุณ หรือของประทานจากพระเป็นเจ้า เพื่อให้เราได้รับความรอดปลอดภัย อาศัยเครื่องหมายและสัญลักษณ์ภายนอกแบบมนุษย์ เพื่อเป็นสื่อนำความหมายสร้างความสัมพันธ์กับพระ โดยทางความเชื่อภายใน เป็นความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างพระกับมนุษย์ เพื่อช่วยให้ได้มีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์ และสัมผัสกับความรักของพระเจ้า

ศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้นโดยผ่านทางพระศาสนจักรที่ประทานให้แก่มนุษย์ เพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องมือของพระ นำมาซึ่งพระคุณ พระหรรษทานแห่งความรอด และความศักดิ์สิทธิ์ เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อภายใน เพื่อทำให้ผู้รับศีลศักสิทธิ์ ได้รับพระหรรษทานจากองค์พระเป็นเจ้า สำหรับประคับประคองการดำเนินชีวิตของคริสตชนคาทอลิก ตั้งแต่เกิดจนตาย

ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ
ศีลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญ มีอยู่ 7 ศีล ดังต่อไปนี้คือ
  1. ศีลล้างบาป (Baptism)
  2. ศีลมหาสนิท ( Eucharistic; Communion)
  3. ศีลอภัยบาป ( Penance ) หรือ ศีลแห่งการคืนดี
  4. ศีลกำลัง ( Confirmation )
  5. ศีลสมรส ( Matrimony ) หรือ ศีลกล่าว
  6. ศีลเจิมคนไข้ ( Anointing of the Sick )
  7. ศีลบวชพระสงฆ์ ( Holy Orders )
ศีลล้างบาป (Baptism)
ศีลล้างบาป (Baptism) ศีลจุ่ม หรือบัพติศมา เป็นเครื่องหมายภายนอกที่มาจากความเชื่อ เพื่อเป็นการชำระหรือลบล้างบาปกำเนิด อาศัยการช่วยให้รอดขององค์พระเยซูคริสตเจ้า
พิธีกรรมพิธีการรับศีลล้างบาปนี้ มีเครื่องหมายที่สำคัญคือการใช้น้ำ และการชำระล้างพร้อมกับคำกล่าวว่า ข้าพเจ้าล้างท่าน ในพระนามของ พระบิดา และพระบุตร และพระจิต ผลของศีลล้างบาปมีความเชื่อว่าทำให้ได้รับพระหรรษทานได้กลับเป็นลูกของพระ มีเกียรติและศักดิ์ศรีสมบูรณ์แบบ เพื่อดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายของความศักดิ์สิทธิ์ทั้งในชีวิตนี้และชีวิตนิรันดรในสวรรค์
ผู้รับศีลล้างบาปอาจกระทำได้ตั้งแต่เริ่มเกิดใหม่หรือกระทำตอนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะดีกว่า เพราะเป็นการกระทำด้วยความศรัทธาของตนอย่างแท้จริง ผู้ทำพิธี คือ คุณพ่ออธิการ (ภาษา ชาวบ้านเรียกคุณพ่อเจ้าวัดซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส) หรือผู้ที่คุณพ่ออธิการได้มอบหมาย แต่ในยามวิกฤตใกล้ตายก็โปรดศีลล้างบาปให้ได้ทั้งนั้น ผู้โปรดศีลล้างบาปจะต้องทำให้ถูกวิธี มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ ผู้รับศีลล้างบาปแล้วตามปกติจะมีพ่อแม่ทูนหัวซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ของตนเอง พ่อแม่ ทูนหัวนี้ คือ ผู้ประคองศีรษะผู้รับศีลล้างบาปขณะที่ผู้โปรดศีลล้างบาปจะเทน้ำลงบนศีรษะ ผู้ได้รับเกียรติเป็นพ่อแม่ทูนหัวนี้จะต้องดูแลลูกทูนหัวทางฝ่ายวิญญาณไปจนกระทั่งลูกทูนหัวสามารถช่วย ตนเองได้ และพ่อแม่ทูนหัวนี้จะแต่งงานกับลูกทูนหัวของตนไม่ได้เด็ดขาด การทำพิธีล้างบาปนี้อาจกระทำในวันคืนวันปาสกา หรือวันอาทิตย์ หรือวันที่เหมาะสม
ความสำคัญ
ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ทุกคนต้องผ่านพิธีรับศีลนี้ก่อน เพื่อแสดงว่าตนเองได้เข้ามาเป็นสมาชิกของศาสนจักรแล้ว จึงจะสามารถรับศีลอื่น ๆ ต่อไปได้อีก การรับศีลล้างบาปนี้กระทำได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตแม้ว่าจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่น แต่ถ้ากลับมานับถือศาสนาคริสต์อีกก็ไม่ต้องรับศีลนี้ เพราะถือได้ว่าทำการล้างบาปแล้ว ทั้งนี้เพราะชาวคริสต์เชื่อกันว่ามนุษย์มีบาปกำเนิดติดตัวมาตั้งแต่เกิดสืบมาแต่บรรพบุรุษ ซึ่งตามพระคัมภีร์เก่า ในศาสนาคริสต์บอกว่าบาบกำเนิดนี้มาจากมนุษย์คู่แรก คือ อาดัมและอีฟ
ประวัติ
พิธีล้างบาปสืบเนื่องมาจากความเชื่อของพวกอิสราเอลนับตั้งแต่ยุคพันธสัญญาเดิมที่เชื่อกันว่าการชำระล้างด้วยน้ำเป็นเครื่องหมายของการชำระทางจิตใจ การทำบัพติศมาหรือการทำพิธีล้างบาปนี้ นักบุญจอห์น ( John the Baptism ) เคยทำให้กับพระเยซูที่แม่น้ำจอร์แดนและพระเยซูเคยมีคำสั่งให้ผู้ที่จะเป็นสาวกนั้นต้องรับศีลล้างบาปในนามของพระบิดา พระบุตร และพระจิต ชาวคริสต์นับตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบันนี้จึงได้ถือปฏิบัติตามกันมา เพราะเชื่อว่าเป็นการชำระตนให้บริสุทธิ์จากบาป ยืนยันความเชื่อในพระคริสต์เจ้าผู้ทรงคืนชีพ
ศีลล้างบาปเป็นศีลแรกที่ทุกคนต้องรับเพื่อที่จะเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร ตามที่พระเยซูเจ้าได้อธิบายให้นิโคเดมุสฟังว่า.."ผู้ที่จะเป็นประชากรของอาณาจักรพระเจ้าจะต้องเกิดใหม่จากน้ำและพระจิต" (ยน.3:1-8)
คนที่จะรับศีลนี้ต้องแน่ใจว่า จะละทิ้งหนทางที่ไร้ความรัก ความเมตตาต่อมนุษยชาติ และหันมารับเอาหนทางของพระเยซูคริสต์ ตามที่ยอห์นได้ประกาศเป็นแนวทางว่า "จงกลับใจเสียใหม่...ใครมีเสื้อสองตัว จงเอาตัวหนึ่งให้คนที่ไม่มี และคนมีอาหาร จงแบ่งให้คนอดอยาก...ส่วนคนเก็บภาษีอย่าเก็บเกินพิกัด และพวกทหารอย่าบังคับขู่เข็ญเอาเงินจากผู้ใดหรือใส่ร้ายเขา จงพอใจกับค่าจ้างที่ตนได้รับ..." (ลก.3:7-17)

ศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ยังทำให้เขาเป็นสาวกของพระเยซู มีส่วนร่วมในบุญบารมีและศักดิ์ศรีของพระองค์คือการเป็น สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ (ผู้นำ) ในชีวิตประจำวันของเขา
  1. หน้าที่สงฆ์คือ ภาวนา และร่วมถวายบูชามิสซา
  2. หน้าที่ประกาศกคือ สั่งสอนด้วยคำพูดและตัวอย่างที่ดี
  3. หน้าที่ของผู้นำคือ ต้องรักและช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก
ศีลกำลัง (Confirmation)
สัญลักษณ์แสดงถึงพระจิตเจ้า

การโปรดศีลกำลังการรับศีลกำลังของเป็นการยืนยัน หรือเครื่องหมายบ่งบอกถึง "การบรรลุนิติภาวะทางความเชื่อ" หรือความศรัทธา คือการพัฒนาเติบโต มีกำลัง เข้มแข็งในความเชื่อ สามารถเป็นพยานถึงความเชื่อ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการปฏิบัติ

พิธีกรรม
พิธีกรรมของการรับศีลกำลังคือการทำเครื่องหมาย โดยการปกมือ และการเจิมน้ำมัน คริสมาที่หน้าผาก ผู้โปรดศีลกำลังนั้น โดยปกติจะเป็นพระสังฆราช (Bishop) ประจำท้องถิ่นประธานปกมือเหนือศีรษะผู้รับศีลกำลัง ส่วนบาทหลวงอื่น ๆ ที่ร่วมพิธีจะร่วมปกมือเพื่อ ร่วมโปรดศีลกำลังด้วยในขณะปกมือนั้น

ความสำคัญ
ผลของการศีลกำลังมีความเชื่อว่าผู้ที่รับศีลนี้จะได้รับพระคุณของพระจิต 7 ประการ ได้แก่
  1. พระดำริ หรือปรีชาญาน ให้เราได้สามารถเข้าใจถึงน้ำพระทัยของพระที่มีต่อเราอย่างผู้ที่ฉลาด
  2. สติปัญญา ให้เราได้สามารถเข้าใจถึงความลึกลับ และความจริงของข้อคำสอน
  3. ความคิดอ่าน ให้เรารู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ ตัดสิน และปฏิบัติอย่างเหมาะสมถูกต้อง
  4. พละกำลัง ให้เรามีพลังที่จะต่อสู้กับความยากลำบาก และการถูกประจญ
  5. ความรู้ ให้เราสามารถมีความเข้าใจในคำสอนและข้อความเชื่อทั้งทางโลกและทางธรรม
  6. ความศรัทธา ให้เรามีความรัก เลื่อมใสศรัทธา ผูกพัน และวางใจในพระเสมอ
  7. ความยำเกรงพระเจ้า ให้เรามีความเคารพ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบต่อหน้าพระเสมอ
การรับศีลนี้เป็นการแสดงสัมพันธภาพระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ อันเป็นการแสดงความมั่นคงทางจิตใจ หรือเป็นการ รับพระจิตให้มาอยู่ในตน ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ารับศีลนี้ควรอยู่ในวัยที่รู้เหตุผล นั่นคือ มีอายุประมาณ 9-14 ปี ในการโปรด ศีลกำลัง เป็นศีลที่พระศาสนจักรอัญเชิญพระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือผู้รับ และประทานพระพรพิเศษให้ผู้รับ และประทานพระพิเศษให้ผู้รับได้มีพลังและปรีชญาณในการทำหน้าที่ของคริสตชน ในฐานะที่มีภารกิจร่วมกับพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น สงฆ์ ประกาศก และกษัตริย์ เหมือนสมัยอัครสาวก

ประวัติห้าสิบวันหลังจากงานฉลองวันกู้ชาติ พวกสานุศิษย์ของพระเยซู มาชุมนุมในที่แห่งเดียวกัน ทันใดนั้นมีเสียงลมพัดจัด พัดกระโชกเข้ามาในบ้านที่กำลังชุมนุมกันอยู่ พวกสาวกเห็นเปลวไฟรูปร่างเหมือนลิ้นกระจายออกไปถูกทุกคน สาวกทุกคนได้รับพระจิต จึงเริ่มพูดภาษาอื่นตามที่พระจิตทรงบันดาลให้เขาพูด (กจ.2:1-4) ในสมัยก่อน ผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์ ประกาศกหรือกษัตริย์จะต้องได้รับการเจิมก่อนและในศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในปัจจุบัน พระสังฆราชจะเจิมผู้สมัครบวชด้วยน้ำมันคริสมา ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใช้เจิมผู้รับศีลกำลังด้วยเช่นกัน

ศีลมหาสนิท (Eucharist)
การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ในการกินอาหารค่ำมื้อสุดท้าย ศีลมหาสนิทเป็นศีลที่สำคัญที่สุดเป็นศูนย์กลางของชีวิตคริสตชน มีความเชื่อว่าองค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ในศีลมหาสนิทที่เข้ามาสนิทสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวในความรักของพระองค์ ทุกคนจึงเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว เป็นสมาชิกหรือส่วนต่างๆในพระกายทิพย์ของพระเยซู

พิธีกรรม
พิธีกรรมที่สำคัญคือการทำบูชามิซซา โดยมีเครื่องหมายที่สำคัญคือ แผ่นปังและเหล้าองุ่น ที่เป็นพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า ซึ่งชาวคริสต์จะได้รับจากพระสงฆ์ หรือผู้แทนของพระศาสนจักร ในบูชามิสซา หรือพิธีขอบพระคุณ ผู้ที่จะรับศีลมหาสนิทนี้ได้ต้องผ่านการเรียนคำสอน ในพระคัมภีร์ก่อน และต้องประกอบพิธีบูชามิซซาเพื่อรับศีลมหาสนิทครั้งแรกก่อน จึงจะสามารถรับศีลมหาสนิทได้ ความสำคัญ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ต้องไปโบสถ์เพื่อทำพิธีบูชามิซซาหรือพิธีของพระคุณทุกวันอาทิตย์ และจะได้รับศีลมหาสนิท ซึ่งรับได้เพียงครั้งเดียวใน 1 วัน
ประวัติศีลศักดิ์สิทธิ์ในข้อนี้สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ในสมัยที่พระเยซูยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งตรงกับคืนวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะถูกจับตัวไปตรึงไม้กางเขน คืนวันนั้นได้มีการรับประทานอาหารร่วมกับสาวกทั้ง 12 คน อันเป็นมื้อสุดท้าย ( The Last Supper) ในการรับประทานอาหารครั้งนี้ ขนมปัง และเหล้าองุ่นได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญแห่งพันธสัญญา ทั้งนี้เพราะในขณะ รับประทานอาหารนั้น พระเยซูได้ส่งขนมปังให้กับสาวกทั้ง 12 คน พร้อมกับกล่าวว่าขนมปังนี้แทนกายของท่าน จากนั้น พระเยซูได้ส่งเหล้าองุ่นให้กับสาวกและกล่าวว่าเหล้าองุ่นนี้แทนโลหิตที่หลังออกมาเพื่อยกบาปโทษให้แก่คนทั้งหลาย
เรื่องราวทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของ "ศีลมหาสนิท" และการประกอบพิธีกรรมนี้ เรียกว่า " มิสซา" อันเป็นกิจกรรมของชาวคริสต์ เพื่อร่วมสนิทกับพระเจ้าโดยการรับประทาน " พระกาย" และ "พระโลหิต" นี้ คือความหมายของ "มหาสนิท" ซึ่งแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวใน ประชาคมเดียวกันและอยู่ร่วมกันด้วยความรัก (Agape) อีกทั้งเป็นการประกาศยอมรับว่าพระเจ้าได้สถิตอยู่ในกายตน ศีลมหาสนิท เป็นศีลที่พระเยซูตั้งขึ้นระหว่างทานเลี้ยงมื้อสุดท้ายกับสาวก พระองค์ตรัสว่า เราปรารถนาเป็นอย่างมาก จะเลี้ยงฉลองกับพวกท่านก่อนที่เราจะถูกทรมาน แล้วพระองค์หยิบขนมปังขึ้นมาขอบคุณ พระองค์ทรงหักออกแล้วส่งให้บรรดาสาวกพลางตรัสว่า นี่เป็นกายของเรา ซึ่งได้อุทิศให้พวกท่าน จงทำอย่างนี้เป็นที่ระลึกถึงเรา (ลก.22:14-19) พระองค์ทรงหยิบถ้วยขึ้นมา กล่าวขอบพระคุณพระเจ้า แล้วส่งให้พวกเขา ตรัสว่า พวกท่านทุกคนดื่มเถิด นี่เป็นโลหิตของเราซึ่งประทับตราพันธสัญญาของพระเจ้า โลหิตของเราต้องไหลออกเพื่อคนเป็นอันมากจะได้รับการอภัยบาป (มธ.26:26-29) พระเยซูยังตรัสอีกว่า เราเป็นอาหารแท้ที่มาจากสวรรค์ คนที่กินอาหารนี้จะมีชีวิตนิรันดร (ยน.6:58)
ศีลอภัยบาป (Penance)
ศีลอภัยบาป (Penance) หรือศีลสารภาพบาป (Confession) เป็นการคืนดีกับพระและเพื่อนพี่น้อง มีความเสียใจ และตั้งใจที่จะกลับคืนดี เริ่มต้นชีวิตใหม่ในพระหรรษทานของพระเจ้า

พิธีกรรมศีลในข้อนี้เป็นการยกบาปที่ได้กระทำแล้ว หลังจากที่ทำการรับศีลล้างบาปมาแล้ว ผู้ที่มีอำนาจยกบาปให้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งระดับบิชอป ( Bishop ) หรือบาทหลวงที่ได้รับมอบอำนาจจากบิชอป ถ้ายังชำระหรือชดใช้ไม่หมดก็ต้องไปใช้ในโลกหน้าในแดนชำระ

ผู้ที่จะเข้ารับศีลมหาสนิทหากมีบาปอยู่ต้องแก้บาปก่อน จึงจะเข้ารับศีลมหาสนิทได้ โดยการบอกบาปของตนแก่บาทหลวงเพื่อว่าท่านจะได้ยกบาปให้ ในการสารภาพบาปนี้นิยมกระทำในห้องเล็ก ๆ ซึ่งจัดไว้ด้านข้างของโบสถ์ ภายในห้องเล็กมีม่านหรือฉากกั้นกลาง บางแห่งทำเป็นฝาปรุไว้เพื่อให้ได้ยินเสียงโดยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าผู้สารภาพบาป ผู้สารภาพบาปและบาทหลวงจะเข้ามาคนละด้านของห้อง เมื่อสารภาพแล้วบาทหลวงคาทอลิค จะกล่าวว่า "พระจิตได้รับบาปของท่านแล้ว บาปที่ท่านทำให้แก่ผู้อื่นก็ได้ยกโทษให้แล้ว" หลังจากนั้นผู้สารภาพแล้วจะต้องพยายามไม่ทำบาปที่ตนทำไว้ และจะต้องตั้งใจมั่นที่จะไม่กระทำผิดต่อพระเจ้าอีกต่อไป

ความสำคัญ
การชดใช้บาปนั้น อาจารย์กีรติ บุญเจือ (2530 : 97) ได้กล่าวว่า เป็นการเสริมแต่งคุณภาพชีวิตเพื่อให้ชีวิตพระเจ้าพัฒนายิ่งขึ้นตามลำดับทั้งในตนเองและผู้อื่น กิจการชดใช้บาปที่บาทหลวง กำหนดนั้น อาจเป็นการสวดบทบางบท หรือให้ทำดีอะไรบางอย่างตามแต่สะดวกและใจรัก แต่ถ้าเป็นการชดใช้ความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์จะต้องชดใช้ให้อย่างยุติธรรม มิฉะนั้นจะไม่พ้นบาปได้ การชดใช้บาป จึงเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ชีวิตใหม่ที่ตนเองจะต้องวางแผนชีวิตโดยอาศัยคำแนะนำจากผู้รู้ เพื่อให้ชีวิตของตนนั้น สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปไม่หยุดยั้ง

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่อาจสารภาพบาปเป็นส่วนตัวได้ เช่น คนไข้ พูดไม่ได้ เครื่องบินกำลังตก เรือกำลังล่ม หรือกำลังติดอยู่ในตึกที่ไฟไหม้ บาทหลวงจะอภัยบาปให้ ทันที คนที่อยู่ในสภาพจำเป็นนี้หากมีบาปแม้แต่นิดเดียวก็ได้รับการอภัยบาปทันทีโดยไม่ต้องมีพิธีอะไรเพิ่ม แต่ถ้ารอดชีวิตไปได้และมีโอกาสสารภาพบาปได้เมื่อใด จะต้องสารภาพทันทีกับบาทหลวงรูปใดก็ได้ทั้งนั้น ผลของศีลอภัยบาปคือ ทำให้ผู้รับได้กลับคืนดีกับพระ และอยู่ในชีวิตพระหรรษทาน สำนึกถึงความรักของพระ และตั้งใจที่จะปรับปรุงแก้ไข เริ่มต้นใหม่ให้สมกับความเป็นลูกของพระในความครบครัน เป็นอิสระจากบาป มีความบริสุทธิ์ และมีสันติในจิต

ประวัติพิธีสารภาพบาปนี้ ได้แบบอย่างมาจากพระจริยวัตรของพระเยซูเมื่อครั้งไปรักษาโรคให้แก่คนเป็นโรคเรื้อน และคนตาบอด คนเหล่านี้เมื่อได้รับการอภัยโทษจากพระเยซูแล้วก็หายจากโรคร้ายและคนตาบอดได้กลายเป็นคนตาดี การรักษาโรคของพระเยซู ก็คือ การใช้อำนาจจิตที่เต็มไปด้วยความรักและความเมตตาอันยิ่งใหญ่แก่คนทุกข์ยากเหล่านั้น เพราะพวกเขาเป็นผู้ที่มีบาปอันกระทำไว้แล้ว จึงถูกพระเจ้าลงโทษ และพระเยซูซึ่งเป็นพระเจ้าตามความเชื่อของชาวคริสต์สามารถยกบาปให้ได้เพียงกล่าวแก่คนบาปเหล่านั้นว่า บาปของเจ้า เราได้ยกโทษให้แล้ว นับแต่นั้นมาการสารภาพบาปเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญยิ่ง

ศีลอภัยบาป เป็นศีลที่อภัยบาปของมนุษย์ เมื่อได้ทำผิดพลาดไป ไม่ว่าจะหนักหนาแค่ไหน เพื่อจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามที่สัญญาไว้ในตอนรับศีลล้างบาป พระศาสนจักรได้รับอำนาจยกบาปจากพระเยซูเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสกับนักบุญเปโตรว่า "เปโตร ท่านคือศิลา บนศิลานี้เราจะสร้างศาสนจักรของเราไว้ แม้แต่ความตายก็ไม่อาจจะเอาชนะศาสนจักรของเราได้ เราจะมอบกุญแจเข้าอาณาของพระเจ้าให้ท่านไว้ สิ่งใดที่ท่านห้ามในโลกนี้ก็จะถูกห้ามในสวรรค์ และสิ่งใดที่ท่านอนุญาตในโลกนี้ก็จะได้รับอนุญาตบนสวรรค์ด้วย" (มธ.16:16-20 , ยน.20:19-23)

ศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
ศีลเจิมคนไข้เป็นศีลที่โปรดให้สำหรับผู้ป่วยที่อ่อนกำลัง ในสภาพที่น่าเป็นห่วง หรือกำลังจะสิ้นใจ เพื่อเขาจะได้รับพระหรรษทานในยามเจ็บป่วย และเป็นการเตรียมจิตใจให้ยึดมั่นใน ความเชื่อ และเพื่อการฟื้นฟูสภาพทั้งกายและจิตใจ

พิธีกรรมพิธีกรรมมีเครื่องหมายสำคัญคือ การเจิมน้ำมันที่หน้าผาก และฝ่ามือทั้งสองข้าง คนไข้ที่จะรับศีลเจิมนี้ส่วนมากเป็นพวกอยู่ในขั้นร้ายแรง บาทหลวงจะเป็นผู้ทำพิธีกรรม โดยเริ่มตั้งแต่อ่านบทอ่านจากพระคัมภีร์เทศน์เตือนใจ ปกมือศีรษะคนไข้แล้วเสกน้ำมัน เจิมน้ำมันที่หน้าผากและมือ หรืออาจเพิ่มเติมในที่อื่น ๆ แล้วแต่ความเหมาะสม แต่ถ้าคนไข้ตายแล้ว บาทหลวงจะไม่ประกอบพิธีนอกจากสวดภาวนาขอพระเจ้าอภัยบาปให้

ผู้ที่รับศีลนี้มีความเชื่อว่าจะได้รับพระหรรษทาน และเข้มแข็งมั่นคงในความเชื่อ พร้อมที่จะยอมรับความเจ็บปวด และเห็นถึงพระพรในยามเจ็บป่วย มีส่วนร่วมในพระทรมาน และการกลับคืนชีพของพระคริสตเจ้า ดังนั้น ควรจะให้ผู้ป่วยได้รับในขณะที่รู้ตัว เพื่อการเตรียมจิตใจได้อย่างดี ทั้งนี้ผู้รับก็จะสามารถรับศีลอภัย และศีลมหาสนิท ซึ่งถือว่าเป็นศีลเสบียงที่ให้สำหรับผู้ป่วยเพื่อเป็นการเตรียมกลับไปหาพระเป็นเจ้าในสภาพของชีวิตพระหรรษทานและในความพร้อมของผู้ป่วย

ความสำคัญ
ศีลเจิมคนไข้เป็นศีลที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสุขภาพดีคืนมา หรือรับการยกบาป ตามที่นักบุญยากอบเขียนไว้ว่า "มีใครในพวกท่านป่วยหรือ ? เขาควรจะเชิญผู้อาวุโสในศาสนจักรมาอธิษฐานเพื่อเขาแล้วให้ผู้อาวุโสนั้นชโลมน้ำมันให้ในนามพระเจ้า คำอธิฐานที่กล่าวมาด้วยความเชื่อจะช่วยคนป่วยได้ พระเจ้าจะให้เขากลับมีสุขภาพดีดังเดิม และจะทรงอภัยบาปที่ได้กระทำไปแล้ว ฉะนั้น จงสารภาพบาปต่อกันและอธิฐานเพื่อกัน เพื่อท่านจะได้หายโรค คำอธิฐานของคนดีมีพลังยิ่งนัก"

ประวัติแต่เดิมมาสาวกของพระเยซูได้รักษาคนไข้โดยใช้น้ำมันชโลมเพื่อให้หายจากไข้ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พิธีชโลมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Unction) ซึ่งคุณพ่อบาทหลวงผู้ทำพิธี อย่างไรก็ตามคนไข้ที่จะทำศีลเจิมนี้ ส่วนมากเป็นพวกที่กำลังจะตายหรือเจ็บหนัก การทำพิธีนี้จะช่วยฟื้นฟูจิตใจของพวกเขาให้ระลึกถึงพระเยซูคริสต์ที่สามารถชนะความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน

ศีลสมรส (Martrimony)

ศีลศักดิ์สิทธิ์ในข้อนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"พิธีรับศีลกล่าว"เป็นศีลที่ใช้ในการประกาศความรักที่ ชายและหญิงมีต่อกัน ต่อหน้าพระพักตร์ของพระเจ้า และพร้อมที่จะกล่าวประกาศว่าเขาทั้งสองรักกัน ด้วยความสมัครใจ มีอิสระอย่างเต็มที่ โดยไม่ได้ถูกบังคับ และพร้อมที่จะร่วมชีวิตคู่ เพื่อเป็นของกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวในความรักที่หย่าร้างไม่ได้ ที่จะซื่อสัตย์ต่อกันจนตลอดชีวิต เพื่อเป็นเครื่องหมาย เป็นพยานถึงความรักของพระ และพร้อมที่จะมอบครอบครัวใหม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระ และอนาคตของลูกหลานซึ่งพระเจ้าให้มา และเด็กที่เกิดมาเหล่านี้จะต้องถูกนำมาประกาศความเป็น สัตบุรุษ โดยการรับศีลล้างบาป

พิธีกรรม
พิธีกรรมมีเครื่องหมายสำคัญคือ คำกล่าวของคู่บ่าวสาว ต่อหน้าพระสงฆ์ผู้แทนของพระศาสนจักร รวมทั้งบรรดาสักขีพยาน ว่าเขาทั้งสองรักกันและจะซื่อสัตย์ต่อกันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ พิธีส่วนใหญ่ประกอบกันในโบสถ์ พร้อมกับทำพิธีมิซซาด้วย

ความสำคัญ
ศีลกล่าวจัดเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่รวมชาย หญิง สองคนเป็นหนึ่งเดียวกันและเป็นการสัญญา ต่อกันว่าจะมีความรัก ความซื่อสัตย์ต่อกัน ช่วยกันสร้างครอบครัวของชาวคริสต์ให้สมบูรณ์ และการหย่าร้างเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาดนอกเสียจากมีเหตุจำเป็น ดังนั้นการแต่งงานจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อคู่สมรสทั้งสองมีความสมัครใจที่จะแต่งงานกัน ไม่มีอุปสรรคมาขัดขวางทำให้การแต่งงานเป็นโมฆะ และจะต้องกระทำพิธีต่อหน้าคุณพ่ออธิการหรือผู้แทนและต่อหน้าสักขีพยานอีก 2 คน ในการทำพิธีนี้ต้องสาบานว่าจะสัตย์ซื่อต่อกัน และช่วยเหลือกันตลอดชีวิต

ศีลสมรส เป็นศีลที่คู่บ่าวสาวได้แสดงความรักและสมัครใจ ต่อหน้าพระศาสนจักรว่า จะรัก ยกย่องให้เกียรติแก่กันและกัน และใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยาจนกว่าชีวิตจะหาไม่ โดยไม่ถูกบังคับหรือมีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

ผลของศีลสมรส ทำให้คู่บ่าวสาวเป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องต่อหน้าพระ และต่อพระศาสนจักร อยู่ในชีวิตพระหรรษทาน และเป็นครอบครัวคริสตชนใหม่ที่พร้อมจะให้กำเนิดบุตร อบรมเลี้ยงดู ในชีวิตคริสตชน เป็นพยานประกาศความรักของพระในความสมบูรณ์ครบครันของชีวิตครอบครัวของเขาเพื่อช่วยกันและกันในความบกพร่อง หรือที่ขาดไปให้แก่กันและกัน ทั้งนี้คู่บ่าวสาวจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพระศาสนจักรเพื่อความดีและความรอดของวิญญาน

ประวัติพระเยซูเจ้าได้ตรัสสอนเกี่ยวกับการสมรสว่า "แรกเริ่มเดิมทีนั้นพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้น เป็นชายและหญิง เพราะเหตุนี้ชายจะละบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และทั้งสองจะเป็นดุจคน ๆ เดียวกัน ดังนั้นมนุษย์ต้องไม่แยกสิ่งที่พระเจ้าทรงผูกพันเข้าด้วยกัน...ถ้าชายใดหย่าภรรยาของตนชายนั้นไปแต่งงานใหม่ เขาก็ผิดประเวณี" (มธ.19:1-9) ดังนั้น เมื่อรับศีลนี้แล้วจะหย่าแล้วแต่งงานใหม่ไม่ได้ จนกว่าฝ่ายหนึ่งจะตายจากไป

ศีลบวชเป็นพระสงฆ์ (Ordination)
ศีลบวชเป็นพระสงฆ์นี้ ผู้ที่จะสมัครบวช หรือถวายตัวแด่พระ เป็นพระพรแห่งกระแสเรียกที่พระทรงเรียก และเลือกบุคคลหนึ่งให้ดำเนินชีวิต และมีภารกิจในการเป็นศาสนบริการ ผู้แทนสงฆ์ของพระคริสตเจ้า ในการประกาศสอนคำสอน การประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ และการปกครองดูแลคริสตชน

พิธีกรรม
พิธีกรรมมีเครื่องหมายที่สำคัญคือ การปกมือของพระสังฆราชเหนือผู้รับศีลบวช ตลอดจนการเจิมน้ำมันคริสมา เพื่อเป็นเครื่องหมายถึงการประทานองค์พระจิตเจ้า เป็นการอภิเษก และมอบอำนาจของการเป็นสงฆ์แห่งศาสนบริกร เพื่อสานต่องานของพระคริสตเจ้า และการถูกส่งไปเพื่อรับใช้เป็นผู้ประกาศข่าวดีแห่งความรอด ศีลบวช มีลำดับ 3 ขั้น คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และ สังฆานุกร

ความสำคัญ
ศีลบวชนี้จะเกี่ยวข้องกับการบวช เป็นพิธีใหญ่ที่คุณพ่ออธิการจะต้องกระทำให้แก่ผู้ประสงค์เข้ามาบวชอันเป็นการมอบอำนาจให้ ทำหน้าที่นักบวชต่อไป พิธีนี้เข้าใจว่าน่าจะกระทำขึ้นมาในภายหลังเพื่อให้เป็นระบบมากขึ้น แต่เดิมมา การบวชจึงเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่สำหรับสัตบุรุษคาทอลิคซึ่งบวชได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต ต้องตัดสินใจให้รอบคอบก่อน เพราะจะไม่มีการบวชเป็นครั้งที่สอง ผู้บวชเมื่อบวชแล้วจะมีหน้าที่พิเศษที่แตกต่างจากคนทั่วไปเพราะเชื่อกันว่าเป็นผู้ได้รับพระหรรษทานพิเศษที่แตกต่างจากคนทั่วไป คือ ได้รับพระหรรษทานพิเศษจากพระจิตเจ้า ดังนั้นพวกท่านเหล่านี้จึงสามารถประกอบพิธีกรรมในศาสนา การโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ คำสอน และการสวดบทสวดประจำวัน พระสงฆ์หรือบาทหลวง มีหน้าที่ปกครองสัตบุรุษในเขตวัดที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราช มีหน้าที่ให้การอภิบาลสัตบุรุษโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านศีลศักดิ์สิทธิ์ สอนคำสอนของพระศาสนจักรและถวายบูชามิสซา

ประวัติ
พระเยซูทรงเลือกสาวก 12 คน เท่ากับจำนวนตระกูลอิสราเอล 12 ตระกูล จึงเท่ากับว่าสาวกทั้ง 12 คนนี้เป็นต้นกำเนิดของ ประชากรใหม่ของพระเจ้าเพื่อช่วยพระเยซูคริสต์ในการประกาศอาณาจักร แต่ก่อนมาในสมัยของพระเยซูคริสต์ยังไม่มีการบวช ถ้าจะเลือกใครเป็นสาวกก็กระทำขึ้นมาโดยไม่มีพิธีรีตองแต่การบวชที่ปรากฏในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่เริ่มกันขึ้นมาเองในภายหลังเพื่อความเป็นระบบและเพื่อเป็นเครื่องเตือนย้ำผู้บวชให้ตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องนำพาชีวิตจำนวนมากให้ถึงซึ่งความรอด

ศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เป็นศีลที่พระศาสนาจักรเจิมให้ผู้ที่ได้รับการอบรมมาดีแล้วเป็นพระสงฆ์ เพื่อรับใช้พระศาสนจักรตามที่พระเยซูเจ้าได้สั่งสอนไว้ "กษัตริย์ในโลกนี้ มีอำนาจเหนือประชากรของเขาแต่พวกท่านต้องไม่เป็นเช่นนั้น ผู้นำตัองรับใช้ปวงชน เหมือนอย่างที่เรามาอยู่ท่ามกลางพวกท่านดังผู้รับใช้" (ลก.22:24-27; เทียบ ยน.13:13-14)

พิธีกรรมและแนวความเชื่อของนิกายออร์ธอด็อกซ์

นิกายออร์ธอด็อกซ์ มีแนวความเชื่อที่ต่างจากนิกายโรมันคาทอลิคบางประการ ตามที่ฮอพฟ์ (Hopfe. 1983 : 398 - 399) ได้จำแนกไว้มีดังนี้ คือ
  1. การรับศีลล้างบาปของนิกายออร์ธอด็อกซ์ยังคงกระทำกับทารก และใช้วิธีการดำน้ำ ส่วนนิกายคาทอลิคนั้นใช้วิธีการปะพรมน้ำและอาจจะกระทำต่อเด็กซึ่งโตพอรู้หลักธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำต่อทารกเท่านั้น (เด็กที่โตพอรู้ความนั้นอาจจะมีอายุประมาณ 12-14 ปี)
  2. การรับศีลมหาสนิทของนิกายออร์ธอด็อกซ์ใช้ขนมปังและเหล้าไวน์ ส่วนนิกายคาทอลิคให้แต่ขนมปังอย่างเดียว ส่วนเหล้าไวน์นั้นบาทหลวงผู้ทำพิธีเท่านั้นที่ได้ดื่ม และระยะเวลาของการทำพิธีศีลมหาสนิทของนิกายออร์ธอด็อกซ์ก็ใช้เวลาที่ยาวนานกว่ากัน
  3. นิกายออร์ธอด็อกซ์ยอมให้นักบวชของตนสามารถแต่งงานได้ก่อนบวช ส่วนนิกายคาทอลิคผู้ที่บวชได้จะต้องเป็นโสด ไม่มีพันธะทางครอบครัวมาก่อน
     
  4. นักปรัชญาและนักคิดของทางตะวันออก มีอิทธิพลต่อนิกายออร์ธอด็อกซ์ เน้นในความศักดิ์สิทธิ์ของพระคริสต์ทำให้ห่างจากความเป็นมนุษย์
  5. นิกายออร์ธอด็อกซ์ปฏิเสธการสลักรูปเคารพของพระเจ้าและพระแม่มารี แต่ยินดีกราบไหว้รูปเคารพที่เป็นไม้กางเขนและรูปเคารพที่เป็นศิลปีประเภทจิตรกรรม ดังนั้น เราจะพบว่าโบสถ์ของนิกายออร์ธอด็อกซ์มีภาพเขียนฝาฝนังรูปพระเจ้า แม่พระและนักบุญ แต่ไม่มีการสลักรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เลย
  6. นิกายออร์ธอด็อกซ์ส่งเสริมชีวิตประชาชนให้ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย โดยเฉพาะนักบวชนั้นต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความอดทน กล้าหาญ ไม่อาลัยในความสุข ละความรักแบบโลก ๆ แต่เคร่งครัดศรัทธษในศาสนาอย่างจริงจับ นักบวชออร์ธอด็อกซ์หลายคนสละชีวิตทางโลกไปเป็น นักพรตถือศีลภาวนาตามถ้ำ และทะเลทรายไม่น้อย
  7. นิกายออร์ธอด็อกซ์ใช้ภาษากรีกและถือว่าเป็นภาษาที่ต้องให้ความเคารพคล้ายกับพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับภาษาบาลี

วันสำคัญของคริสต์ศาสนาทุกนิกาย

  • วันอาทิตย์ ของทุกสัปดาห์ - วันสะบาโต (Sabbath) - วันบริสุทธิ์ หยุดเพื่อพักผ่อนและร่วมทำกิกรรมที่โบสถ์
  • 21 มีนาคม ถึง 25 เมษายน - วันอีสเตอร์ (Easter) และวันสมโภชปัสกา (Pasqua) - สมโภชการกลับคืนชีพของพระเยซู และตรงกับการระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวยิวออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ ในวันอาทิตย์แรก หลังจากพระจันทร์เต็มดวง วันใดวันหนึ่ง ระหว่าง 21 มีนาคม ถึง 25 เมษายน
  • 25 ธันวาคม - วันคริสต์มาส (Christmas) - วันสมโภชการเกิดของพระเยซู
วันสำคัญเฉพาะท้องถิ่น
  • พฤหัสบดีที่สี่ของพฤศจิกายน, จันทร์ที่สองของตุลาคม - วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) (เฉพาะทวีปอเมริกา) - การระลึกถึงและขอบคุณพระเจ้าในช่วงสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ตรงกับ จันทร์ที่สองของตุลาคม ในประเทศแคนาดา และพฤหัสบดีที่สี่ของพฤศจิกายน ในสหรัฐอเมริกา เรียงตามที่มาที่มีแต่ดั้งเดิมจากศาสนายูดาย
  • วันสะบาโต (Sabbath) - วันอาทิตย์ ของทุกสัปดาห์ - วันบริสุทธิ์ หยุดเพื่อพักผ่อนและร่วมทำกิกรรมที่โบสถ์
  • วันฉลองปัสกา (Pasqua) หรือเทศกาลขนมปังไร้เชื้อ - อาทิตย์แรก หลังจากวันพระจันทร์เต็มดวง วันใดวันหนึ่ง ระหว่าง 21 มีนาคม ถึง 25 เมษายน - การระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวยิวออกจากการเป็นทาสในอียิปต์
เกี่ยวกับพระเยซูและตรีเอกานุภาพ
  • วันสมโภชพระคริสตเจ้าแสดงองค์ - 8 มกราคม • วันพุธรับเถ้า - 1 มีนาคม
  • วันอีสเตอร์ (Easter) - ตรงกับวันฉลองปัสกา - สมโภชการกลับคืนชีพของพระเยซู
  • วันอาทิตย์มหาทรมาน (วันแห่ใบลาน) - 9 เมษายน - ระลึกถึงการเข้ารับมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า
  • วันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ - 13 เมษายน - ระลึกถึงพระเยซูคริสตเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท
  • วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ - 14 เมษายน - ระลึกถึงพระเยซูคริสต์ ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
  • วันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ - 15 เมษายน - ระลึกถึงชัยชนะและความหวังที่จะชนะต่ออำนาจบาป ความมืด และความชั่วทั้งหลาย
  • วันสมโภชพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์ - 28 พฤษภาคม - ระลึกถึงการได้อยู่กับพระบิดาและพระบุตร
  • วันสมโภชพระจิตเจ้า - 4 มิถุนายน - ฉลองตรีเอกานุภาพที่ 3 ของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพละกำลังของมนุษย์
  • วันสมโภชพระตรีเอกภาพ - 11 มิถุนายน - ฉลองสามพระบุคคล คือ พระบิดา พระบุตร พระจิต ที่ทรงเป็นหนึ่ง
  • วันสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า - 18 มิถุนายน - ระลึกถึงพระเยซูคริสตเจ้าภายใต้ รูปลักษณ์ของขนมปังและเหล้าองุ่นในพิธีศีลมหาสนิท
  • วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) - จันทร์ที่สองของตุลาคม พฤหัสบดีที่สี่ของพฤศจิกายน, (เฉพาะทวีปอเมริกา) - การระลึกถึงและขอบคุณพระเจ้าในช่วงสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ตรงกับ พฤหัสบดีที่สี่ของพฤศจิกายน ในสหรัฐอเมริกา และจันทร์ที่สองของตุลาคม ในประเทศแคนาดา
  • วันสมโภชพระเยซูเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล - 26 พฤศจิกายน -
  • วันคริสต์มาส (Christmas) - 25 ธันวาคม - วันสมโภชการเกิดของพระเยซู
เกี่ยวกับพระแม่มารีย์และนักบุญ
  • วันสมโภชพระแม่มารี - 1 มกราคม -
  • วันสมภพนักบุญโยเซฟ ภัสดาพระแม่มารีย์ - 19 มีนาคม -
  • วันสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล - 29 มิถุนายน -
  • วันอัสสัมชัญ (Mary Assumption Day) - 15 สิงหาคม - สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและจิต
  • วันสมโภชนักบุญทั้งหลาย (All Saints day) - 1 พฤศจิกายน -
  • วันสมโภชพระแม่มารีผู้ปฏิสนธินิรมล (Mary Immaculate Conception Day) - 8 ธันวาคม -
เกี่ยวกับทูตสวรรค์
  • ฉลองทูตสวรรค์ มิคาเอล คาเบรียล และราฟาเอล - 29 กันยายน
วันขอบคุณพระเจ้าวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) เป็นวันหยุดหนึ่งวันสำหรับการระลึกถึงและขอบคุณพระเจ้าในช่วงสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ในสหรัฐอเมริกา วันขอบคุณพระเจ้าจะตรงกับวันพฤหัสบดีที่สี่ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ในขณะที่ในประเทศแคนาดาจะตรงกับวันจันทร์ที่สองของเดือนตุลาคม ประเพณีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากการอพยพของชาวยุโรปมาที่ทวีปอเมริกาเหนือ ถึงแม้ว่าประเพณีนี้เป็นประเพณีหนึ่งของบุคคลในทวีปอเมริกาที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ในทวีปยุโรปนั้นไม่มีประเพณีนี้
ในวันขอบคุณพระเจ้านี้ชาวอเมริกันจะใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวและรับประทานอาหารมื้อใหญ่ด้วยกัน โดยอาหารที่นิยมรับประทานจนเป็นประเพณีคือไก่งวง และนอกจากนี้ในเมืองนิวยอร์กจะมีขบวนพาเหรดที่มีชื่อเสียงจัดโดยห้างสรรพสินค้า เมซีส์ ในชื่อ เมซีส์เดย์พาเหรด (Macy's Day Parade)

ประวัติที่มาวันขอบคุณพระเจ้านั้น มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามที่มีบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ พวกอิราเอลเชื่อว่าการทำไร่เพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ มนุษย์เป็นผู้หว่านและดูแลรักษา แต่พระเจ้าเป็นผู้อวยพระพรให้เกิดผลตามที่พอพระทัย เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เขาจึงนำเอาผลแรกมา ถวายต่อพระเจ้า เพื่อเป็นการขอบพระคุณ อะไรก็ตามที่เป็นผลผลิตแรกและดีที่สุด เขาจะนำมาถวายพระเจ้า เช่น บุตรชายคนแรก ลูกแกะตัวแรก รายได้ครั้งแรกในชีวิต ฯลฯ และพระเจ้าทรงสัญญาว่า จะอวยพระพรชีวิตและการงานของเขาให้เจริญรุ่งเรือง

ในอเมริกาได้มีการจัดวันหนึ่งไว้เป็นวันขอบคุณพระเจ้าที่เรียกว่า แธงค์สกีฟวิ่งเดย์ซึ่งนับเป็นวันประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อชาวยุโรปได้อพยพเข้ามาในอเมริกาใหม่ๆ ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติหลายอย่าง อาหารที่ติดตัวมาก็หมด เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวที่มีหิมะจัดก็แทบตายกัน ชาวอินเดียนแดงที่เป็นชนพื้นเมืองได้ให้การช่วยเหลือ ตามตำนานเล่าว่า ได้เอาไก่งวงมาให้เป็นอาหาร และสอนให้รู้จักปลูกพืชพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว เขาจึงได้ทำพิธีขอบคุณพระเจ้า และขอบคุณชนพื้นเมืองที่ได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ

ต่อมาในปี คศ.1621 ผู้ว่าราชการแบร์นฟอร์คแห่งพลีมัช ได้ประกาศให้มี "วันขอบคุณพระเจ้า" ขึ้นเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอน จนมาถึงปี คศ.1780 ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ได้ประกาศให้วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งตรงกับวันสถาปนารัฐ และให้เป็นวันหยุดประจำปี ทุกวันนี้ชาวอเมริกันจึงถือเอาวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ของทุกปีเป็น "วันขอบคุณพระเจ้า" ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา

ในวันนี้พวกคริสเตียนจะทำพิธีนมัสการขอบคุณพระเจ้า สำหรับผลิตผลที่พระเจ้าอวยพร และสำหรับเสรีภาพที่ได้รับ จะมีการร้องเพลงโมทนาพระคุณ อธิษฐานขอบพระคุณ และอ่านพระธรรมที่แสดงถึงการขอบคุณพระเจ้า พิธีนี้ส่วนมากจะทำกันในเวลาเช้า หลังจากนั้นในครอบครัวก็รับประทานอาหารร่วมกัน อาจจะเป็นมื้อกลางวันหรือเย็น ใช้บ้านญาติคนใดคนหนึ่ง เป็นที่รวมสมาชิกในครอบครัว และเชิญญาติพี่น้องมาร่วมกัน อาหารพิเศษของวันนี้ก็จะมีไก่งวงหรือหมูแฮม เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาในอดีต

วันอาทิตย์ถัดมา คริสเตียนก็จะนำเอาผลผลิตของตน มาถวายต่อพระเจ้าที่คริสตจักร ส่วนมากก็จะเป็นพืชผักผลไม้ และดอกไม้นานาพันธุ์ เสร็จพิธีนมัสการแล้ว ก็จะนำเอาของเหล่านี้ไปแจกให้คนยากจน หรือตามโรงพยาบาล หรือสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

คริสต์มาส
คริสต์มาส (Christmas หรือ X'Mas) คือเทศกาลเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ ซึ่งตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม พระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน

ประวัติ
คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์ภาษา อังกฤษ Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า "บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า" คำว่า" Christes Maesse" พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas

ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันเกิดของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานในพระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร ด้านนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ. 330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

องค์ประกอบในงานฉลองวันคริสต์มาส
  • คำอวยพร
    คำอวยพรสำหรับเทศกาลคริสมาสใช้ คำอวยพรว่า Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศกาลคริสต์มาส ต่อมาคือ "เพลง" ที่ใช้เฉลิมฉลองทั้งจังหวะช้าและจังหวะสนุกสนาน ส่วนใหญ่แต่งในยุคพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ (ค.ศ.1840-1900) ปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วโลกโดยแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย
  • ซานตาคลอส
    นักบุญ(เซนต์)นิโคลัสแห่งเมืองไมรา นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราช ของ ไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่4 ได้รับการยกย่องให้เป็นซานตาคลอสคนแรก เพราะวันหนึ่งท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่งแล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี ซานตาครอสจริงๆแล้ว แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย นักบุญนิโคลาส เป็นนักบุญ ที่ชาวฮอลแลนด์นับถือว่าเป็นนักบุญอุปถัมภ์ของเด็กๆ เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีการฉลองนักบุญ นิโคลาส ในวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะ มาเยี่ยม เด็กๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา ก็อยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา โดย มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลาสก็เปลี่ยน เป็นซานตาคลอส และแทนที่จะเป็น สังฆราชซึ่งเป็นนักบุญองค์นั้นก็กลายเป็น ชายแก่ที่อ้วนใส่ชุดสีแดงอาศัย อยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อน เป็นยานพาหนะมีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมา ทางปล่องไฟของบ้าน เพื่อเอาของขวัญมาให้ เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติ ของเขา
  • ต้นคริสต์มาส
    ต้นคริสต์มาสหรือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยดวงไฟหลากสีสัน การตกแต่งนี้ย้อนไปในศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปีค.ศ.1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มา สจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก นอกจากนั้น ชาวเยอรมันยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งคือ มีการจุดเทียนหลายเล่มเป็นรูปปิรามิด ไว้ตลอดคืนคริสต์มาส โดยมีดาวของดาวิดที่ยอดปิรามิด ซึ่งประเพณีที่จะแขวนของขวัญและขนม ก็ได้รวมกับประเพณีของชาวเยอรมันนี้ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเอาเทียนมาไว้ที่ต้นไม้ เป็นรูปทรงปิรามิด นี่เป็นที่มาของประเพณีปัจจุบัน ที่มีการแขวนของขวัญ และไฟกระพริบไว้ที่ต้นคริสต์มาส และมีดาวของดาวิดไว้ที่สุดยอด ประเพณีนี้ เป็นที่นิยมชมชอบของชาวตะวันตกอยู่มาก แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาส มีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ ก็ยังนิยมทำกันอยู่ เพราะเห็นว่า มีความหมายถึงพระเยซูเจ้า ผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก.2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล ซึ่งหมายถึง นิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า และนอกจากนั้นยังหมายถึง ความสว่างของ พระองค์ เสมือนแสงเทียนที่ส่องในความมืด ทั้งยังหมายถึง ความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้นั้น เป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น
  • เพลงคริสต์มาสเพลงคริสต์มาส เริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 ซึ่งผู้แต่งมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เนื้อร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมา ของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีการแต่งในท่วงทำนองที่ร่าเริงสนุกสนานมากขึ้น เริ่มจากประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้สนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่ ซึ่งชาวบ้านชอบ คือมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดี ในโอกาสคริสต์มาส เพลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ.1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาส ที่นิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ.1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ (Joseph Mohr) เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ (Oberndorf) ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้อง ไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ จึงมีการแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ นำไปเพื่อนชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ (Franz Gruber) ใส่ทำนอง ในคืนวันที่ 24 นั้นเอง สัตบุรุษวัดนี้ ก็ได้ฟังเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยมีการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก
  • การทำมิสซาเที่ยงคืน
    เมื่อพระสันตะปาปาจูลีอัสที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นฉลองพระคริสตสมภพ (วันคริสต์มาส)ในปี นั้นเองพระองค์และสัตบุรุษ ได้พากันเดินสวดภาวนา และขับร้องไปยังตำบลเบธเลเฮม และไปยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ พอไปถึงก็เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี พระสันตะปาปาก็ทรงถวายบูชามิซซา ณ ที่นั้น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมาที่พักเป็นเวลาเช้ามืดราวๆ ตี 3 พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้ง และ สัตบุรุษเหล่านั้นก็พากันกลับ แต่ก็ยังมีสัตบุรุษหลายคนที่ไม่ได้ไป พระสันตะปาปาก็ทรงถวายบูชามิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตในพระสงฆ์ถวายบูชามิสซาได้ 3 ครั้ง ในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืน ในวันคริสต์มาส และพระสงฆ์ก็สามารถถวายมิสซาได้ 3 มิสซา ใน โอกาสวันคริสต์มาส
  • เทียนและพวงมาลัยในสมัยก่อนมีกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในประเทศเยอรมัน ได้เอากิ่งไม้มาประกอบ เป็นวงกลมคล้ายพวงมาลัย แล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น ในตอนกลางคืนของวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จ ทุกคนในครอบครัวจะมารวมกัน ดับไฟ แล้วจุดเทียนเล่มหนึ่ง สวด ภาวนาและร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกัน เขาจะทำดังนี้ทุก อาทิตย์จนครบ 4 อาทิตย์ก่อน คริสต์มาส ประเพณีนี้เป็นที่นิยม และแพร่หลายในที่หลายแห่ง โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งต่อมา มีการเพิ่ม โดยเอาพวงมาลัยพร้อมกับเทียนที่จุดไว้ตรง กลาง 1 เล่มไป แขวนไว้ที่หน้าต่างเพื่อช่วย ให้คนที่ผ่าน ไปมา ได้ระลึกถึงการเตรียมตัวรับวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามา และพวงมาลัยนั้นยังเป็น สัญลักษณ์ที่คน สมัยโบราณใช้หมายถึงชัยชนะ แต่ในที่นี้หมายถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลก และทำให้ทุกสิ่ง ทุกอย่างครบ บริบูรณ์ตามแผนการณ์ ของพระเป็นเจ้า ปัสกา

อัสสัมชัญ

อัสสัมชัญ มาจากคำคำเต็มในภาษาอังกฤษว่า Assumption of Mary หมายถึงการรับการอัญเชิญขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของพระนางมารีย์ ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกเชื่อตามพระคัมภีร์ว่า พระนางมารีย์ผู้นิรมลประชวรและได้สิ้นพระชนม์ลง บรรดาอัครสาวกจึงได้ฝังพระศพไว้ในคูหาแห่งหนึ่ง แต่เมื่อศิษย์ (อัครสาวก)ได้กลับไปดูพระศพอีกครั้งก็พบว่าคูหาว่างเปล่าเหมือนคูหาของพระเยซู และพระนางได้สละชีวิตบนโลกนี้โดยได้รับการอัญเชิญเข้าสวรรค์โดยทั้งกายและวิญญาณ และตรงกับวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี ข้อความเชื่อข้อนี้เป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจผิดพลาดได้ และถูกกำหนดขึ้นมาโดยพระสันตะปาปา ปิอัส ที่ 12 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1950

ประวัติที่มา
เรื่องแนวคิดอัสสัมชัญมีที่มาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงศตวรรษต้น ๆ ของศาสนจักร ซึ่งหลักฐานเก่าแก่ที่สุดพบได้จากบทบรรยายที่เรียกว่า Liber Requiei Mariae (หนังสือว่าด้วยเรื่องการพักผ่อนของพระแม่มารีย์) เช่นเดียวกับหนังสือหลักฐานอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ เชื่อกันว่าพระนางได้ทรงสิ้นพระชนม์ในเขตเยรูซาเล็ม โดยมีนักบุญโทมัสเป็นประจักษ์พยานในการเห็นพระนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์จากสุสานของพระนาง โดยไม่เหลือร่างกายทิ้งไว้บนโลกด้วย คือขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณ (assumption) นั่นเอง ซึ่งในภายหลัง ข้อความเชื่อข้อนี้ก็ได้รับการยอมรับในศาสนจักรคาทอลิกว่าเป็นข้อเท็จจริงอันมิอาจผิดพลาดได้ และเป็นข้อความเชื่อที่คริสตศาสนิกชนคาทอลิกทุกคนยอมรับว่าเป็นความจริง

มีหลักฐานว่า คริสตชนให้ความเคารพและวอนขอพระนางพรหมจารีมารีย์มาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เพราะพระนางคือ "พระมารดาของพระเจ้า" หรือในภาษากรีกว่า Theotokos ถึงกระนั้นการเฉลิมฉลองพระนางในฐานะ Theotokos อย่างเป็นทางการในพิธีกรรมของพระศาสนจักรในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ดูเหมือนจะเริ่มขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ที่กรุงเยรูซาเล็ม ณ สถานที่แห่งหนึ่งระหว่างทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปเมืองเบธเลเฮม ซึ่งตำนานโบราณเล่าว่า เป็นสถานที่พระนางมารีย์หยุดพัก ระหว่างการเดินทางไปเบธเลเฮมเพื่อคลอดพระเยซูเจ้า

คำภาษากรีกที่ใช้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้คือคำว่า koimesis (การบรรทม) มีความหมาย 2 อย่างซึ่งอาจหมายถึงการนอนหลับพักผ่อนทั่วๆไป หรือการนอนหลับพักผ่อนตลอดไปเมื่อสิ้นชีวิตก็ได้ ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 5 นั้นเองคริสตชนยังฉลอง koimesis (หรือที่ภาษาลาตินใช้ว่า "dormitio") นี้ที่ใกล้ๆสวนเกธเสมนี ที่นี่มีพระวิหารซึ่งกล่าวกันว่าเป็นที่ฝังพระศพของพระนางมารีย์ การเฉลิมฉลองนี้จึงได้ชื่อว่า Dormitio Mariae หรือ "การบรรทมของพระนางมารีย์" เพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์และการเข้าสวรรค์อย่างรุ่งเรืองของพระนาง "การบรรทม" หรือการสิ้นพระชนม์ของพระนางจึงเป็นการเริ่มชีวิตนิรันดรอันรุ่งเรืองในสวรรค์ พระศาสนจักรเฉลิมฉลองเหตุการณ์นี้ เช่นเดียวกับที่เฉลิมฉลองวันตายของบรรดานักบุญมรณสักขี ซึ่งเป็น "วันบังเกิดใหม่" (Dies natalis) ของท่านในชีวิตนิรันดรนั่นเอง เพียงแต่เราก็ไม่ทราบว่าพระนางสิ้นพระชนม์อย่างไรและเมื่อไรเท่านั้น ต่อมาราวปลายศตวรรษที่ 6 พระจักรพรรดิโมริส (539-602) ทรงประกาศพระราชกฤษฏีกา ให้เฉลิมฉลองการบรรทมของพระนางมารีย์นี้ทั่วจักรวรรดิโรมันตะวันออก

ส่วนทางตะวันตกหรือในยุโรป วันฉลองนี้ก็มีวิวัฒนาการคล้ายๆกัน ในศตวรรษที่ 6 ที่กรุงโรมมีวันฉลองเป็นเกียรติแด่พระนางมารีย์อยู่แล้วในวันที่ 1 มกราคม เพื่อระลึกถึงการที่พระนางเป็นพระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้า ราวปี ค.ศ. 650 พระศาสนจักรที่กรุงโรมยังรับการฉลองในวันที่ 15 สิงหาคมนี้จากพระศาสนจักรตะวันออกเข้ามาด้วย เพื่อเฉลิมฉลองการที่พระนางพรหมจารีได้รับเกียรติสูงสุดจากพระเจ้า และการฉลองนี้ได้รับชื่อว่า "Dormitio Mariae" (การบรรทมของพระนางมารีย์)

ในสมณสมัยของพระสันตะปาปา Sergius (687-702) ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวซีเรีย ในศตวรรษต่อมา คือราวปี ค.ศ. 770 วันฉลองนี้ได้ชื่อใหม่ว่า "Assumptio" ซึ่งแปลว่า "การรับขึ้นไป" เพื่อเน้น "วิธีการ" ที่พระนางพรหมจารีจากโลกนี้ไปรับเกียรติรุ่งเรืองจากพระเจ้า อันที่จริงความคิดเรื่อง "การรับขึ้นไป" (หรือ Assumptio) นี้เป็นความคิดจากพระคัมภีร์โดยตรง ในพันธสัญญาเดิมประกาศกเอลียาห์ "ถูกรับขึ้นไป"จากโลกนี้โดยรถเพลิง (2 พกษ 2) ธรรมประเพณีของชาวยิวก็กล่าวว่าโมเสส "ถูกพระเจ้ารับขึ้นไป" เช่นเดียวกัน

ความสำคัญของ อัสสัมชัญ ในคำสอนของคาทอลิก
ลูดวิก อ็อต ได้อธิบายในข้อความเชื่อพื้นฐานของคาทอลิกไว้ว่า “ข้อเท็จจริงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระนางได้รับการยอมรับโดยพระสงฆ์และนักเทวศาสตร์ทั้งหลาย และข้อความเชื่อนี้ก็ได้ถูกแสดงออกมาผ่านศาสนพิธีของพระศาสนจักรศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งนอกจากเขาจะสรุปข้อคิดเห็นสนับสนุนอื่น ๆ แล้ว เขายังเสริมด้วยว่า

“สำหรับพระนางมารีย์แล้ว พระนางได้รับการปลดเปลื้องจากบาปกำเนิดและบาปของตน ดังนั้นความตายที่เกิดกับพระนางจึงไม่ใช่บทลงโทษจากบาปความผิด หากแต่เป็นสิ่งที่สมควรเกิดกับร่างกายของพระนางตามธรรมชาติ คือเป็นร่างเนื้อหนังที่รู้ตาย เสื่อมสลายได้ ดังนั้นความตายของพระนางจึงเป็นการปลดปล่อยพระนางตามกฎของธรรมชาติ เพื่อให้พระนางได้ไปอยู่ร่วมกับพระบุตรสุดที่รักของพระนางในสวรรค์นั่นเอง” แต่เรื่องของความตายที่เกิดกับพระนางยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความตายเกิดกับพระนางจริงหรือไม่ คือพระนางสิ้นพระชนม์และได้รับการยกขึ้นสวรรค์ หรือพระนางไม่ได้เสียชีวิตลงเลยแต่แรก หากแต่ได้รับการยกขึ้นสวรรค์เลยกันแน่ ซึ่งข้อความเชื่ออัสสัมชัญ ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าพระนางผ่านประสบการณ์ของความตายทางกายหรือไม่ หากแต่ยืนยันอย่างแน่นอนว่าพระนางได้รับการยกขึ้นสวรรค์ทั้งร่างกายและวิญญาณจริง

อีสเตอร์
อีสเตอร์ (อังกฤษ:Easter) คือ วันอาทิตย์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์ เป็นวันที่มีความสำคัญมากวันหนึ่งและมีการเฉลิมฉลองกันของชาวคริสต์ จัดขึ้นระหว่างปลายเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมายน ในนิกายออร์โธดอกส์จะจัดขึ้นระหว่างต้นเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม(กำหนดขึ้นเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงเวลานี้)เพื่อเป็นการสรรเสริญในการที่พระเยซูได้เป็นขึ้นมาจากความตาย ตามความเชื่อที่ว่าภายหลังสามวันที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนและทรงฟื้นคืนพระชนม์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตรงกับช่วงเวลาเทศกาลปัสกาของชาวยิว

สมัยก่อน คริสตจักรต่างๆ จัดฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ไม่ตรงกัน จนถึงปี ค.ศ.325 สภาไนเซียหรือสภาผู้นำคริสตจักรทั่วโลกได้ประชุม และมีมติให้กำหนดแน่นอน ให้คริสตจักรทั่วโลกฉลองเทศกาลอีสเตอร์ให้ตรงกัน โดยกำหนดวันอีสเตอร์คำนวนตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้การฉลองวันที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ตรงกับเหตุการณ์ในครั้งแรกจริงๆ

การฉลองวันอีสเตอร์ โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ หรือที่สุสาน หรือในทุ่งกว้าง หรือตามป่าเขา ร้องเพลงนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ยังมืดอยู่ พอดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงเพลง "เป็นขึ้นแล้ว" ก็จะดังกระหึ่มขึ้น เขาจะร้องเพลง อธิษฐานโมทนาพระคุณพระเจ้า และสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้มีชัยชนะเหนือความตาย และทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ หลังจากนั้นก็ บรรยายถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หนุนใจให้คริสตชนดำเนินชีวิตอย่างมีชัย เหนือความบาป และความตาย ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อศรัทธาที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วบางแห่งก็จะมีการเล่นเกมส์สนุกๆ หลายแห่งนิยมเอาไข่มาระบายสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม และนำไปซ่อนให้เด็กๆ หรือหนุ่มสาวค้นหาอย่างสนุกสนาน คนโบราณในประเทศตะวันตก เชื่อกันว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต เพราะกำลังจะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น จึงได้มีการใช้ไข่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ด้วย
ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ คือดอกลิลี่ หรือดอกพลับพลึงขาวบริสุทธิ์ สัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์คือ ไข่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบังเกิดใหม่หรือมีชีวิตใหม่ กางเขนและอุโมงค์ที่ว่างเปล่า เป็นสัญลักษณ์ของการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ มีคนกล่าวว่าคริสเตียนแท้มักจะดำเนินชีวิตโดยยึดหลักการที่ว่า พระเยซูคริสต์ได้สิ้นพระชนม์ในวันศุกร์ประเสริฐเพื่อเราเมื่อวานนี้ และทรงเป็นขึ้นมาจากความตายในวันอาทิตย์อีสเตอร์ และทรงสถิตอยู่กับเราในวันนี้ และพระองค์จะทรงเสด็จกลับมารับเรา (ผู้เชื่อ) ในวันพรุ่งนี้

วันวาเลนไทน์

วันนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's Day) หรือที่เป็นที่รู้จักว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประเพณีที่คู่รักบอกให้กันและกันทราบเกี่ยวกับความรักของพวกเขา โดยการส่งการ์ดวาเลนไทน์ ซึ่งโดยมากจะไม่ระบุชื่อ วันนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับความรักแบบชู้สาวในช่วงยุค High Middle Ages เมื่อประเพณีความรักแบบช่างเอาใจ (courtly love) แผ่ขยาย

ประวัติ
วันวาเลนไทน์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน ในกรุงโรมสมัยก่อนนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะเป็นวันเฉลิมฉลองของจูโน่ซึ่งเป็นราชินีแห่งเหล่าเทพและเทพธิดาของโรมัน ชาวโรมันรู้จักเธอในนามของเทพธิดาแห่ง อิสตรีและการแต่งงาน และในวันถัดมาคือวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ก็จะเป็นวันเริ่มต้นงานเลี้ยงของ Lupercalia การดำเนินชีวิตของเด็กหนุ่มและเด็กสาวในสมัยนั้นจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเพณี อย่างนึง ซึ่งเด็กหนุ่มสาวยังสืบทอดต่อกันมา คือ คืนก่อนวันเฉลิมฉลอง Lupercalia นั้นชื่อของเด็กสาวทุกคนจะถูกเขียนลงในเศษกระดาษเล็ก ๆ และจะใส่เอาไว้ในเหยือก เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลอง บางครั้งการจับคู่นี้ ท้ายที่สุดก็จะจบลงด้วยการที่เด็กหนุ่มและเด็กสาวทั้งสองนั้นได้ตกหลุมรักกันและแต่งงานกันในที่สุด ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลาย ครั้ง และคลอดิอุสเองก็ประสบกับปัญหาในการที่จะหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม และเขาเชื่อว่าเหตุผลสำคัญก็คือ ผู้ชายโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนอันเป็นที่รักไป และด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้จักรพรรดิคลอดิอุสประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดในกรุงโรม ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งซึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญวาเลนไทน์ ท่านเป็นพระที่กรุงโรมในสมัยของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ท่านนักบุญวาเลนไทน์และนักบุญมาริอุส ได้จัดตั้งกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวคริสเตียนที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้ และได้จัดให้มีการแต่งงานของคู่รักอย่างลับ ๆ ด้วย และจากการกระทำเหล่านี้เอง ทำให้นักบุญวาเลนไทน์ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์

นักบุญวาเลนไทน์
นักบุญวาเลนไทน์ ทำให้จักรพรรดิที่โรมเกิดความสำนึก และผู้พิพากษาได้กลับใจมาเป็นคาทอลิกเพราะท่านนักบุญทำให้บุตรสาวของเขาหาย จากตาบอด วา เลนไทน์ บวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรมและได้เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา ท่านได้ถูกจับโดยคำสั่งของจักรพรรดิโกลดิโอ ที่ 2 เพราะท่านขึ้นชื่อลือเด่นในทางบำเพ็ญฤทธิ์กุศลหลายประการ ขั้นแรกจักรพรรดิทรงซักถามวาเลนไทน์ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แต่ต่อมาทรงรู้สึกสนพระทัยในคำสอนของคริสตัง ในที่สุดพระองค์ตรัสว่า :“คำสอนของบุรุษผู้นี้ฟังแล้วจับใจจริง ๆ “ แต่ในขณะที่พระองค์ทรงเริ่มมีความเชื่อ ท่านผู้ว่าราชการกรุงโรมก็จัดให้ผู้พิพากษานายหนึ่งเข้ามาซักถามท่านวาเลนไทน์ ผู้พิพากษาคนนี้เยาะเย้ยท่านในเรื่องที่คริสตังชอบกล่าวว่า “พระคริสต์ทรงเป็นองค์ความสว่างของโลก”

ลูกสาวของผู้พิพากษาคนนี้ตาบอด วาเลนไทน์ได้ทำอัศจรรย์ให้หายได้ อัสเตริอุส ผู้พิพากษาจึงกลับใจเชื่อถึงพระเยซูคริสตเจ้า เมื่อเห็นดังนั้น ท่านผู้ว่าราชการเกิดความอิจฉา และต้องการกำจัดท่านวาเลนไทน์ จึงจับท่านวาเลนไทน์ไปขังไว้ในคุกมืด แล้วใช้ไม้เป็นปุ่มเป็นตาเฆี่ยนท่านอย่างสาหัส ที่สุดก็นำท่านไปตัดศีรษะ นักบุญวาเลนไทน์เป็นองค์อุปถัมภ์ของชาวเมืองตารัสก็อง(ภาคใต้ของฝรั่งเศส)

การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราอาจจะคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งที่สามารถใช้สื่อความหมายเฉพาะความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้แต่ละชนิดสามารถสื่อความรักได้หลายรูปแบบ ทั้งยังไม่จำกัดอายุและเพศอีกด้วย
  • กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"
  • กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์
  • กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน
  • กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน
ศาสนสถานที่สำคัญในศาสนาคริสต์
นครรัฐวาติกัน
นครรัฐวาติกัน (State of the Vatican City) ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก นครรัฐวาติกันจัดว่าเป็นประเทศ ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ศูนย์กลางคือ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ออกแบบโดยมีเกลันเจโล

การปกครองเป็นแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจตกอยู่ที่พระสันตะปาปาเพียงผู้เดียว จะหมดวาระก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์ พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 นครรัฐวาติกัน เป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ใจกลาง กรุงโรม ประเทศอิตาลี และมีพระสันตะปาปาเป็นผู้ปกครองสูงสุด

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 นครรัฐวาติกันและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญายอมรับสถานะของนครรัฐวาติกันเป็นรัฐเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ตั้งแต่ ค.ศ. 1960 นครรัฐวาติกันได้รับการจารึกให้เป็นดินแดนที่จะต้องได้รับการปกป้องรักษาไว้เป็นพิเศษในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ (International Register of Cultural Works under Special Protection in Case of Armed Conflict) เนื่องจากเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมของโลก มีหอสมุดอันเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 (the Apostolic Library of the Vatican) ต่อมา ในศตวรรษที่ 15 ได้มีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน (Secret Archive of the Vatican) พิพิธภัณฑ์วาติกัน มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ และมีสำนักพิมพ์ของตนชื่อ the Vatican Polyglot Press ซึ่งเป็นที่จัดพิมพ์ผลงานภาษาต่างๆ รวมทั้งออกหนังสือพิมพ์รายวัน Observatore Romano ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ ค.ศ. 1861 และตั้งแต่ ค.ศ. 1931 นครรัฐวาติกันได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดเสียงภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษา ปัจจุบัน นครรัฐวาติกันมีสถานีวิทยุกระจายเสียง 3 สถานี สถานีโทรทัศน์ 1 สถานี

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอำนาจสูงสุดทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เป็นชาวเยอรมันมีพระนามเดิมว่า โจเซฟ รัตซิงเกอร์ (Joseph Ratzinger) พระชนมายุ 78 พรรษา ทรงได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548 โดยสภาที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะชั้น Cardinal (College of Cardinals) ซึ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเฉพาะสมเด็จพระราชาคณะชั้นคาร์ดินัล ที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้น สมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงได้รับเลือกตั้งแล้วจะอยู่ในตำแหน่งไปจนตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสันตปาปา Benedict ที่ 16 ทรงเข้าพิธีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2548

การบริหารศาสนจักรเป็นหน้าที่ของ the Roman Curia หรือสำนักงานบริหารศาสนจักรส่วนกลาง ซึ่งมักเรียกในภาษาอังกฤษว่า Holy See หรือ Apostolic See มีหน่วยงานหลักคือ สำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) รับผิดชอบการบริหารประเทศ โดยมีพระคาร์ดินัลผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretary of State) เป็นหัวหน้า (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการด้านการเมืองและการทูตของนครรัฐวาติกัน

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2531 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง ทรงปรับโครงสร้างของสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น 2 หน่วยงาน คือ
  1. The Section for General Affairs หรือ The First Section รับผิดชอบด้านการบริหารของศาสนจักรและดูแลสถานทูตต่าง ๆ ประจำนครรัฐวาติกัน หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Substitute for General Affairs และมีผู้ช่วย คือ The Assessor for General Affairs
  2. The Section for Relations with States รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการแต่งตั้งบิชอปในประเทศต่างๆ หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Secretary for Relations with States และมีผู้ช่วย คือ The Under-Secretary for Relations with States
นอกจากหน่วยงานทั้งสองข้างต้นแล้วยังมี Sacred Congregations ต่างๆ ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงต่างๆ รวม 9 กระทรวง เรียกชื่อตามลักษณะงานในความรับผิดชอบ ได้แก่
  1. The Congregation for the Doctrine of the Faith รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมศรัทธาและศีลธรรมทั่วโลก
  2. The Congregation for the Causes of Saints รับผิดชอบเกี่ยวกับขั้นตอนในการประกาศแต่งตั้งนักบุญ
  3. The Congregation for the Oriental Churches รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมของศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก (ไบแซนไทน์)
  4. The Congregation for Bishops รับผิดชอบเกี่ยวกับการตั้งบิชอปและสังฆมณฑล
  5. The Congregation for Divine Worship and the Discipline of the Sacraments รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมสักการะบูชาในคริสต์ศาสนา
  6. The Congregation for the Evangelization of Peoples รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมแพร่ธรรมของมิชชั่นนารีในศาสนจักรในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
  7. The Congregation for Institutes of Consecrated Life and for Societies of Apostolic Life รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลนักบวช
  8. The Congregation for the Clergy รับผิดชอบเกี่ยวกับบาทหลวงและผู้ช่วยบาทหลวงที่มิใช่นักบวช รวมถึงกิจกรรมและวินัยของบาทหลวงประจำสังฆมณฑล
  9. The Congregation for Catholic Education รับผิดชอบเกี่ยวกับสามเณราลัย รวมทั้งการส่งเสริมและการจัดตั้งสถานศึกษาแคธอลิก โดยเฉพาะ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ
ตามสนธิสัญญาแห่ง “ลาเตรัน” นครรัฐวาติกันมีอาณาเขตประกอบด้วยวังวาติกัน วังกัสเตลกันดอลโฟ (Castelgandolfo) อันเป็นที่ประทับร้อนอยู่นอกชานกรุงโรมไปทางทิศใต้ มหาวิทยาลัยเกรโกเรียน (Gregorian University) และโบสถ์ 13 แห่งในกรุงโรม เฉพาะวังวาติกันมีเนื้อที่ 150 ไร่ หรือ 2/5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ พิพิธภัณฑ์วาติกัน หอสมุดวาติกัน และทีประทับขององค์สันตะปาปาด้วย ภายในบริเวณดังกล่าวยังมีอุทยานวาติกันอันงดงาม มีสถานีวิทยุของวาติกัน มีที่ทำการไปรษณีย์วาติกัน สถานีรถไฟวาติกัน ธนาคารวาติกัน และร้านค้าของวาติกัน ซึ่งปลอดภาษีทุกชนิด แม้นครรัฐวาติกันจะมีการติดต่อทางการทูตกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้ง ประเทศไทยด้วย แต่ในนครรัฐวาติกันหามีที่ตั้งสถานทูตไม่ เพราะทูตประจำวาติกันมักจะได้แก่ ทูตประจำประเทศหนึ่งในยุโรป ทูตประจำนครรัฐวาติกันจึงมีที่พำนักอยู่นอกเขตวาติกันทั้งสิ้น

ศาสนจักรวาติกันมีรายได้หลักจากการสนับสนุนทางการเงินขององค์กรคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอลิคทั่วโลก เงินรายได้นี้เรียกว่า "Peter s Pence" นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการลงทุนต่างๆ ภายใต้การบริหารของหน่วยงาน The Patrimony of the Holy See ค่าธรรมเนียมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์รายได้จากการจำหน่ายหนังสือ สิ่งพิมพ์ ดวงตราไปรษณียากร ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

คนเชื้อชาติวาติกันไม่มีในโลก มีแต่พลเมืองสัญชาติวาติกันเป็นอย่างมาก นครรัฐวาติกันมีพลเมืองประมาณ 900 คน ประมาณ 200 คนเป็นสตรี และมีคนทำงานในนครวาติกัน 1,300 คน พลเมืองอันประกอบด้วยองค์สันตะปาปา คาร์ดินัล ผู้ปกครองนครรัฐ วาติกัน เจ้าหน้าที่ประจำวาติกัน และทหารสวิสมีหอกโบราณเป็นอาวุธประดับเกียรติ ซึ่งเป็นองครักษ์ของสันตะปาปาประมาณ 100 คน ทหารสวิส มีมาตั้งแต่ ค.ศ. 1506 การแต่งกายของทหารสวิส มีเครื่องแบบที่ออกแบบโดย “มีเกลันเจโล” ทุกคนเป็นชาวสวิส และเป็นคาทอลิกที่ดีทหารสวิสแต่ละคนจะประจำการชั่วระยะหนึ่ง นอกจากนั้นก็ได้แก่เจ้าหน้าที่ทูตวาติกันที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย พลเมืองวาติกันเหล่านี้จะมีสัญชาติวาติกันเฉพาะในขณะดำรงตำแหน่งหรือเป็นภรรยาของพลเมืองวาติกัน หรือเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 25 ของพลเมืองวาติกัน บุตรคนใดอายุถึง 25 ปี ต้องกลับคืนสัญชาติเดิม ผู้ถือสัญชาติวาติกัน หากพ้นตำแหน่งเมื่อใดก็ต้องคืนสู่สัญชาติเดิมของตน พร้อมด้วยบุคคลทุกคนในครอบครัวที่ถือสัญชาติวาติกัน หากชาติเดิมของตนไม่ยอมรับให้ขอสัญชาติอิตาลีซึ่งรัฐบาลอิตาลีมีข้อผูกมัดต้องรับเสมอ

มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ (ภาษาอังกฤษ: Basilica of Saint Peter, ภาษาละติน: Basilica Sancti Petri) รู้จักกันโดยชาวอิตาลีว่า Basilica di San Pietro in Vaticano หรือเรียกกันสั้นๆว่าเซนต์ปีเตอร์บาซิลิกา (Saint Peter's Basilica) มหาวิหารนี้เป็นมหาวิหารหนึ่งในสี่ของมหาวิหารหลักในกรุงโรม, ประเทศอิตาลี (อีกสามมหาวิหารคือ: มหาวิหารเซ็นต์จอห์นแลเตอร์รัน, มหาวิหารซานตามาเรียมายอเร และ มหาวิหารเซ็นต์พอลนอกกำแพง

มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เป็นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในนครรัฐวาติกันสร้างทับวิหารเดิมที่ชื่อเดียวกัน โดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์สูงโดดเด่นสามารถเห็นได้แต่ไกลในตัวเมืองโรม วัดนี้ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 2.3 เฮกตาร์ สามารถจุคนได้กว่า 60,000 คน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดที่หนึ่งของคริสตชนนิกายโรมันคาทอลิก ที่ตั้งวัดเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังร่างของ นักบุญปีเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาวกสิบสององค์ของพระเยซู นักบุญปีเตอร์เดิมเป็นบาทหลวงองค์แรกของอันติโอก (Antioch) ต่อมาก็ได้สถาปนาขึ้นเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของโรม เพราะนิกายโรมันคาทอลิกเชื่อกันว่าร่างของนักบุญปีเตอร์ถูกฝังไว้ที่นี่ จึงเป็นประเพณีกันต่อมาว่าพระสันตะปาปาหลายองค์ก็ฝังไว้ที่วัดนี้

ตัวมหาวิหารปัจจุบันเริ่มสร้างเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1506 บนวัดแบบคอนแสตนทีน และเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1626 แต่เดิมนั้นมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์มิได้เป็นสถานที่พำนักประจำตำแหน่งของพระสันตะปาปาเช่นปัจจุบันนี้ (สถานที่ประจำตำแหน่งของสันตะปาปาเดิมอยู่ที่มหาวิหารเซ็นต์จอห์น แลเตอร์รัน) ถึงกระนั้นก็ยังถือกันว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ในตัวนครรัฐวาติกันเอง และมีเนื้อที่มาก การทำพิธีต่างๆที่เกี่ยวกับพระสันตะปาปาก็จะมาทำกันที่นี่ นอกจากนั้นก็ยังมีบัลลังก์บิชอปปีเตอร์ (Cathedra Petri) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นบัลลังก์ของนักบุญปีเตอร์เองเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นสันตะปาปาที่นี่ แต่ปัจจุบันนี้เก้าอี้นี้ไม่ได้ใช้เป็นบัลลังก์บิชอปอีกแล้ว แต่ยังเก็บไว้ไต้ฐานแท่นบูชาที่ออกแบบโดยจานลอเรนโซ เบร์นินี

มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ จากภาพเขียนโดยวิเวียโน โคดาซซี (Viviano Codazzi) เมื่อ ค.ศ. 1630 หอสองหอที่เห็นในภาพถูกรี้อภายหลัง มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เก่าเป็นวัดศตวรรษที่ 4 ซึ่งมีรูปทรงแบบบาซิลิคา พอมาถึง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาก็อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมากเพราะพระสันตะปาปาย้ายที่พำนักไปอยู่ที่เมืองอาวินยอง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างปี ค.ศ. 1309 ถึงปี ค.ศ. 1377 การตัดสินใจสร้างมหาวิหารใหม่ก็เพื่อจะได้สร้างมหาวิหารที่ใหม่กว่าและใหญ่กว่าเดิมมากได้สะดวก การใช้ชื่อมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์เก่าก็ใช้มาตั้งแต่เมื่อสร้างมหาวิหารปัจจุบัน เพี่อเป็นการแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งก่อสร้างปัจจุบันและสิ่งก่อสร้างเดิม

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1950 ระหว่างการออกอากาศทางวิทยุสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12ประกาศว่าได้มีการค้นพบที่ฝังพระศพของนักบุญปีเตอร์[4] หลังจากที่นักโบราณคดีใช้เวลา 10 ปีศึกษาขุดค้นห้องใต้ดิน (crypt) ภายในมหาวิหาร

ภายในมหาวิหารมีที่ฝังศพกว่าร้อยที่ บางที่อยู่ภายในถ้ำวาติกัน (Vatican grotto) ซึ่งอยู่ภายใต้มหาวิหาร ภายในถ้ำมีพระสันตะปาปาฝังไว้ 91 องค์ บุคคลสำคัญๆที่ฝังภายในมหาวิหารก็มี
  • นักบุญอิกเนเชียสแห่งอันติโอก (St. Ignatius of Antioch)
  • พระเจ้าอ็อตโตที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
  • จิโอวานี เพียลุยจี แห่ง พาเลสทรินา (Giovanni Pierluigi da Palestrina) - คีตกวี
  • เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต (James Francis Edward Stuart) และโอรสอีกสององค์ ผู้หนีภัยจากอังกฤษ
  • ชาร์ลส์ เอ็ดเวิร์ด สจวต (Charles Edward Stuart) - โอรสของเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด
  • เฮนรี เบเนดิกต์ สจวต (Henry Benedict Stuart) - โอรสของเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด
  • พระราชินีคริสตีนาแห่งประเทศสวีเดน (Christina of Sweden) ผู้สละราชสมบัติเพื่อเปลี่ยนมานับถือนิกายคาธอลิก
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 เริ่มสร้างมหาวิหาร พระองค์สั่งซื้อหิน 2,522 เล่มเกวียนจาก โคลอสเซียมที่อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม เงินที่ซื้อหินเอามาจากสมบัติที่ขนมาจากเยรูซาเลมเมื่อเยรูซาเลมเสียเมือง และจากการทำลายวัดโดยนายพลของจักรพรรดิเวสปาเชียน (Vespasian) ผู้ที่ต่อมาได้เป็นจักรพรรดิไททัส (Titus) เมื่อ ค.ศ. 70

คาทอลิก กับ โปรเตสแตนท์ต่างกันตรงไหน

นิกายใหญ่ ของคริสต์ มี 3 นิกาย คือ....เริ่มแรก บรรพชน ของพวกเราก็รวมกันมาไม่ได้มีการแยกนิกายอะไร ต่อมา ศตวรรษที่ 11 มีความขัดแย้ง ระหว่างพระศาสนจักร(คริสตจักร)ตะวันออก และโรม จึงแยก ตัวออกไป เกิดเป็นนิกายออธอดอคขึ้นมา และ ต่อมา ในศตวรรษที่16 ในพระศาสนจักร ได้ประสบปัญหาต่างๆมากมาย ทั้งจากระบบ และความประพฤติของบรรดาบาทหลวง ทางอดีตบาทหลวงมาร์ติน ลูเธอร์ ยื่นประท้วง 95 ข้อ เพื่อขอให้แก้ไข แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสมเด็จพระสันตะปาปา เลยถูกขับ และสั่งลงโทษ ( ยุคนั้น พระศาสนจักร มีอำนาจเหนืออาณาจักร ) และได้เกิดนิกายโปรแตสแตนท์ขึ้นมา

ดังนั้นสรุปนิกายใหญ่ๆของคริสตศาสนาได้ดังนี้
  1. โรมันคาทอลิก
  2. ออเทอดอกซ์ แยกออกไป เมื่อ ปี ค.ศ. 1054
  3. โปรเตสแตนต์ แยกออกไป เมื่อ ปี 1517 โดยอดีตบาทหลวง มาร์ติน ลูเธอร์
โรมันคาทอลิกมีพระสันตะปาปาเป็นประมุข โดยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอัครสาวกกลุ่มแรก โดยถือว่า นักบุญ เปโตร หรือ เซนต์ปีเตอร์ คือพระสันตะปาปาพระองค์แรก และสืบทอดมาถึงพระสันตะปาปาเบนนิดิกที่ 16 องค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่265

ผู้นับถือคริสตศาสนาทุกนิกายทั่วโลก เรียกเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกันว่า คริสเตียน แปลเป็นภาษาไทยคือคริสตชน แต่สำหรับประเทศไทยเรานั้น นิกายโรมันคาทอลิกถูกนำเข้ามาก่อนสมัยพระนารายณ์มหาราชโดยบาดหลวงชาวโปรตุเกส ดังนั้นการออกเสียงคำว่า คริสเตียนในภาษาโปรตุเกส ออกเสียงว่า "คริสตัง" อย่างจีซัส ก็ออกเสียงว่า "เยซู" จึงทำให้คาทอลิคเรียกผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคว่า คริสตัง ส่วนโปรแตสแตนท์เข้ามาสมัยหมดบลัดเลย์ซึ่งเป็นอเมริกา ดังนั้น โปรแตสแตนท์ไทยจึงเรียกตัวเองว่า คริสเตียน ตามแบบภาษาอังกฤษ สำเนียงอเมริกา แต่คำว่า"เยซู"ก็ใช้ตามที่คาทอลิกและคนไทยได้คุ้นเคยแล้ว
  • คาทอลิกนั้นจะมีนักบวช ที่เรียกว่า บาดหลวง หรือซิสเตอร์
  • คาทอลิกจะมีการให้เกียรติพระนางมารีย์ แม่ของพระเยซูเป็นพิเศษ เรียกพระนางว่า "แม่พระ" มาจากคำว่า มารดาของพระเจ้า
  • คาทอลิกจะมีการยกย่องวีรบุรุษ หรือวีรสตรีทางศาสนา หรือเรียกง่ายๆว่า บุคคลที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระเยซูอย่างดีมากจนเรามั่นใจว่าเขาได้ไปสวรรค์แน่นอน(คล้ายๆกรณีพระอรหันต์ในศาสนาพุทธ) เราจะเรียกคนเหล่านี้ ว่าเป็น นักบุญ ดังนั้นหากเปรียบให้เข้าใจง่าย เรามองว่าพระเยซูคือกษัตริย์ ส่วนแม่พระก็เป็นพระราชชนนี(แบบสมเด็จย่า) เหล่านักบุญก็เหมือนขุนนาง ที่ใกล้ชิดกษัตริย์
  • คาทอลิกมีความเชื่อว่า ในพิธีมิซซา(พิธีนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์) เมื่อขนมปัง และเหล้าองุ่นถูกเสกในพิธี ก็คือเนื้อ และพระโลหิต เหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำในอาหารค่ำมื้อสุดท้าย
  • โบสถ์คาทอลิกทุกแห่ง ถือเป็น1เดียวกัน ขึ้นตรงต่อกรุงวาติกัน และองค์พระสันตะปาปา ดังนั้น หากคุณเป็นคาทอลิกคุณสามารถไปวัดไหนก็ได้ที่ใกล้บ้าน สามารถเปลี่ยนวัดที่ไปได้ตามแต่สะดวก
โปรแตสแตนต์
โปรแตสแตนทต์นั้น หลังจากการแยกนิกายในสมัยมาตินลูเธอร์ หลังจากนั้นได้มีการแยกนิกายย่อยอีกหลานิกาย ดังนั้นโบสถ์หรือคริสตจักรต่างๆ จะไม่ได้ขึ้นกับวาติกันหรือพระสันตะปาปาแต่อย่างใด แต่สำหรับในประเทศไทย โปรแตสแตน แบ่งเป็น 4 สายใหญ่ๆ คือสายสภาคริสตจักรในประเทศไทย สายสหกิจคริสตจักร และสายสหแบ๊บติสท์ และ เซเวนเดย์แอดเวนทิสท์ และนอกจากนั้นมีคริสตชนที่ไม่มีสังกัด เรียกตัวเองว่าคริสตจักรอิสระ เท่าที่ทราบมานั้น โบสถ์ใน 4 สายหลักนี้ จะมีโยงใยถึงกัน และมีการตั้งที่เป็นระบบระเบียบ มีการควบคุมดูแลความสอดคล้องในหลักข้อความเชื่อให้ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีคริสตจักรที่ไม่มีที่มาที่ไปที่ตั้งขึ้นเอง ซึ่งก็ต้องระมัดระวังในหลักความถูกต้องต่างๆด้วยตัวเอง ทั้งผู้สอนและผู้เชื่อ
  • โปรแตสแตนต์ ไม่มีนักบวช แต่มีผู้ถวายตัวรับใช้พระเจ้า เรียกว่า ศาสนจารย์ /ศิษยาภิบาล และผู้ประกาศ ซึ่งอาจแต่งงานหรือไม่แต่งงานก็ได้ การเรียกคำนำหน้าบุคคลเหล่านี้ จะเรียกว่า อาจารย์
  • โปรแตสแตนต์(โดยทั่วๆไป)จะไม่ให้ความสำคัญพิเศษกับพระนางมารีย์ หรือนักบุญ จะเน้นการเข้าถึงพระเยซูเจ้าโดยตรงด้วยตนเอง แต่สำหรับบางกลุ่มที่สนใจในเรื่องศาสนศาสตร์สตรี จะให้ความสำคัญกับพระนางมารีย์มากขึ้น ในฐานะแบบอย่างของสตรีคริสตชนที่ดี
  • สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของโปรแตสแตนต์เรียกว่าคริสตจักร ซึ่งคาทอลิคจะเรียกวัด
  • โดยทั่วไป เมื่อรับเชื่อที่โบสถ์ไหน ก็ต้องร่วมนมัสการที่โบสถ์นั้น
  • พิธีทางศาสนาในวันอาทิตย์เรียกว่าพิธีนมัสการ

************************************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร