มีแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นฝึกปฏิบัติใหม่ เพื่อทดลองฝึกปฏิบัติ (หลังจากที่ได้อ่านแนวทางปฏิบัติทุกแนวแล้วยังงงๆ อยู่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน อย่างไรดี) พอจะรวบรวมได้ ๑๖ ข้อ ดังนี้ คือ
๑. เริ่มจากตื่นนอนในแต่ละวัน ให้ฝึกทำสมาธิอย่างน้อยประมาณ๑๕-๓๐ นาที แล้วจึงค่อยเพิ่มจนถึง ๑ ชั่วโมงเป็นประจำ (อาจมีการสวดมนต์ไหว้พระด้วยหรือไม่ก็ได้) การทำสมาธิจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ และคำบริกรรมที่ใช้แล้วแต่ถนัด เพื่อเริ่มฝึกจิตให้มีคุณภาพ
๒. ต่อด้วยการเจริญสติ คือระลึกรู้ในการทำกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร หรือพบปะพูดจา ฯลฯ ทำกิจได้ก็ให้มีสติระลึกรู้และตื่นตัวอยู่เสมอทุกๆ อิริยาบถ “เดินนับเท้า นอนนับท้อง จับจ้องลมหายใจ เคลื่อนไหวด้วยสติ” หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ
๓. ให้ฝึกทำสมาธิ สลับกับการเจริญสติเช่นนี้ ทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง(ระยะเวลาอาจปรับสั้นยาวได้ตามความเหมาะสม) ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า เป็นการปฏิบัติในแนวทางที่ถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเจริญสติได้คล่องขึ้น ให้เพิ่มการเจริญสติให้มากกว่าการทำสมาธิ
๔. ศีลห้าและกุศลกรรมบถสิบอย่าให้ขาด และให้งดเว้นอบายมุขทุกชนิดตลอดชีวิต หากศีลข้อใดขาดให้สมาทานศีลห้าใหม่ทันทีโดยวิธีสมาทานวิรัติด้วยตนเอง เอาเจตนางดเว้นเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นบาทฐานของการปฏิบัติ
๕. ท่านที่มีภารกิจมากและต้องทำกิจการงานต่างๆ ที่จะต้องพบปะติดต่อกับบุคคลอื่นๆ ให้หมั่นสำรวม กาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิจ ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับงานนั้นๆ ขณะพูดเจรจาก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับการพูดเจรจานั้นๆ ตลอดเวลา เมื่ออยู่ตามลำพังก็ให้เริ่มสมาธิหรือเจริญสติต่อไป
๖. เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ จะมีอาการเผลอสติบ่อยมาก และบางทีเจริญสติไม่ถูก หลงไปทำสมถะเข้า เรื่องนี้ในหนังสือวิมุตติปฏิปทาของท่านปราโมทย์ สันตยากร ท่านกล่าวว่า “ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณภาพเสียก่อน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตถธรรมไม่ได้ เมื่อไปเจริญสติเข้าก็จะกลายเป็นสมถะทุกคราวไป ฯลฯ” ดังนั้น จึงต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น และเมื่อใดที่เผลอหรือคิด ใจลอยฟุ้งซ่านไป ก็ให้กลับมามีสติระลึกรู้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน ขณะที่รู้ว่าเผลอหรือรู้ว่าคิดฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว แต่ต้องไม่ใช่การกำหนดหรือน้อมและไม่ใช่ตั้งท่าหรือจ้องหรือเพ่ง
หากจิตมีอาการเกิดกามราคะ หรือโทสะที่รุนแรง ให้หันกลับมาอยู่กับการทำสมาธิแทนจนกว่าอาการจะหายไป แล้วเริ่มเจริญสติต่อไปใหม่ถ้าอาการยังไม่หายแสดงว่า ท่านไม่ได้อยู่กับสมาธิ ให้ตั้งใจปฏิบัติสมาธิให้มั่นใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะสงบ ความสงบอยู่ที่การปล่อยวางจิตให้พอดี ตึงไปก็เลย หย่อนไปก็ไม่ถึง ต้องวางจิตให้พอดีๆ
๗. ขณะที่เข้าห้องน้ำถ่ายทุกข์หนัก-เบา หนาว-ร้อน หิว-กระหาย ก็ให้เจริญสติระลึกรู้ทุกครั้งไป
๘. ตอนกลางวัน ควรหาหนังสือธรรมะมาอ่าน หรือฟังเทปธรรมะสลับการปฏิบัติ ถ้าเห็นว่ามีอาการเบื่อหรืออ่อนล้า อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการตั้งใจเกินไป หรืออาจปฏิบัติไม่ถูกทางก็เป็นได้ ให้เฝ้าสังเกตและพิจารณาด้วย
๙. ให้มองโลกแง่ดีเสมอๆ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสตลอดทั้งวันไม่คิด พูด หรือทำในสิ่งอกุศล ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น ให้พูด คิด แต่ส่วนที่ดีของเขา การพูด การคิดและทำ ก็ให้เป็นไปในกุศล คือ ทาน ศีล สมาธิ และภาวนาเท่านั้น (ไม่พูดดิรัจฉานกถา) พยายามประคับประคองรักษากุศลธรรมให้เกิดและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ บางทีบางโอกาสอาจเห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ และเห็นการดับไปของความโกรธ ซึ่งความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมากแต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมาก แล้วจึงค่อยๆมอดดับลงไป นั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา และต่อไปจะทำให้กลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงออกทางกายน้อยลงๆ จะเห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่แต่ในจิตเท่านั้น
๑๐. ให้ประเมินผลทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง หรือวันละ ๓-๔ ครั้งและให้ทำทุกวัน ให้สังเกตดูตัวเองว่า เบากายเบาใจกว่าแต่ก่อนหรือไม่เพราะเหตุใด
๑๑. ก่อนนอนทุกคืน ให้อยู่กับสมาธิในอิริยาบถนอนตะแคงขวา(สีหไสยาสน์) หรือเจริญสติจนกว่าจะหลับทุกครั้งไป ถ้าไม่หลับให้นอนดู “รูปนอน” จนกว่าจะหลับ
๑๒. เมื่อประเมินผลแล้วให้สำรวจตรวจสอบ เป้าหมาย คือ การเพียรให้มีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้สังเกตดูว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างหรือไม่ หากยังไม่ก้าวหน้า ต้องค้นหาสาเหตุแท้จริงแล้วรีบแก้ไขให้ตรวจสอบดูว่าท่านได้ปฏิบัติถูกทางหรือไม่ หาสัตบุรุษผู้รู้หรือกัลยาณมิตรเพื่อขอคำแนะนำ ไม่ควรขอคำแนะนำจากเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะอาจหลงทางได้
๑๓. ให้พยายามฝึกทำความเพียร เฝ้าใส่ใจในความรู้สึกให้แยบคาย(โยนิโสมนสิการ) พยายามแล้วพยายามอีก ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คิดว่ายากมากๆ จนกลายเป็นง่าย และเกิดเป็นนิสัยประจำตัว
๑๔. จงอย่าพยายามสงสัย ให้เพียงแต่พยายามเฝ้าระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมอยู่ในกายในจิต (รูป-นาม) กลุ่มปัญหาข้อสงสัยก็จะหมดความหมายไปเอง (หลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ ท่านว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว”) อย่าพยายามอยากได้ญาณ หรือมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น ตัวของเราเองมีหน้าที่เพียงแต่ สร้างเหตุที่ดีเท่านั้น
นักปฏิบัติที่คิดมาก มีปัญหามาก เพราะไม่พยายามรู้ตัว และยังรู้ตัวไม่เป็น ไม่มีสติพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตนเอง เอาแต่หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้ หรือไม่ก็ไปพยายามแก้อาการของจิต
ดังนั้นจึงให้พยายามรู้ตัวให้เป็นถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้ และให้พยายามมีสติพิจารณาอยู่แต่ภายในจิตของตนก็พอ ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่งโปรดจำไว้ว่าให้รู้อารมณ์เท่านั้น อย่าพยายามไปแก้อารมณ์ที่เกิดขึ้น (วิมุตติปฏิปทา)
๑๕. จงอย่าคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อย ขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ของตัวยังอ่อนเกินไป คิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง จงอย่าดูหมิ่นตัวเอง เมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติหรือเจริญสติใหม่ๆ จะเกิดการเผลอสติบ่อยๆจะเป็นอยู่หลายเดือน หรือบางทีอาจหลายปี แต่ฝึกบ่อยๆ เข้าก็จะค่อยๆระลึกรู้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ขอให้พยายามทำความเพียรต่อไป ถ้าผิดก็เริ่มใหม่เพราะขณะใดที่รู้ว่าผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
ประการที่สำคัญ คือ ต้องเลิกเชื่อมงคลตื่นข่าว และต้องไม่แสวงบุญนอกศาสนา จงอยู่แต่ใน ทาน ศีล สมาธิและภาวนา (บุญกิริยาวัตถุสิบ) ก็พอ
๑๖. จงพยายามทำตนให้หนักแน่นและกว้างใหญ่ดุจแผ่นดินและผืนน้ำที่สามารถรองรับได้ทั้งสิ่งของที่สะอาดและโสโครก ซึ่งแผ่นดินและผืนน้ำรักชังใครไม่เป็น คือทั้งไม่ยินดี (สิ่งของที่สะอาด) และไม่ยินร้าย (ของโสโครก) ใดๆ วางใจให้เป็นกลางๆ ให้ได้ ความสำเร็จก็อยู่ที่ตรงนี้
ท่านที่รู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว
การเจริญสตินั่นแหละจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะหาอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์มาเป็นเครื่องมืออยู่ที่ถนัด (วิหารธรรม) ให้จิตมีสติเฝ้ารู้อย่างต่อเนื่อง
หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ท่อนซุงที่ลอยล่องไประหว่างสองฝั่ง ถ้าไม่ติดอยู่ข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ช้าก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน”
แต่ถ้าลอยไปติดอยู่กับฝั่งใด (กามสุขัลลิกานุโยค หรือความยินดี)ฝั่งหนึ่ง (อัตตกิลมถานุโยค หรือความยินร้าย) ไม่ช้าก็คงกลายเป็นซุงผุใช้การไม่ได้เป็นแน่
*******************
ประโยชน์ของสมาธิ
----------------------------
1. ถ้าท่านเป็นคนที่มีธุรกิจท่วมหัว สมาธิจะช่วยให้ท่านกำจัดความเครียด และสามารถ ผ่อนคลายได้มาก
2. ถ้าท่านเป็นคนวิตกจริต สมาธิ สามารถช่วยท่านระงับความวิตกกังวล และสามารถทำให้ท่านพบกับความสงบสุขอย่างถาวร หรือไม่อย่างน้อยก็เป็นคราว ๆ ไป
3. ถ้าท่านเป็นคนที่มีปัญหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สมาธิจะช่วยให้ท่านเกิดกำลังใจ และความเข้มแข็งที่จะเผชิญ หรือเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ได้
4. ถ้าท่านขาดความมั่นใจในตัวเอง สมาธิสามารถช่วยท่านให้เกิดความมั่นใจในตัวเองขึ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์ และความเชื่อมั่นในตัวเองนี้เป็นความลับนำไปสู่ความสำเร็จ
5. ถ้าท่านรู้สึกไม่พอใจในทุก ๆ สิ่ง บรรดามี และรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลยในชีวิตที่ดูเหมือนว่าท่านจะพอใจ สมาธิจะให้โอกาสแก่ท่านในการที่จะพัฒนา และรักษาความพอใจไว้ ภายในใจได้
6. ถ้าท่านเป็นคนขี้สงสัย และไม่สนใจในศาสนา สมาธิสามารถช่วยท่านให้ข้ามพ้นจากความเป็นคนขี้สงสัย และมองเห็นคุณค่าแห่งการปฏิบัติตามคำแนะนำของศาสนา ได้อย่างดี
7. ถ้าท่านเกิดความรู้สึกคับข้องใจ และผิดหวังอันเนื่องมาจากขาดความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต สมาธิจะนำท่านและช่วยท่านให้เข้าใจว่าท่านได้ถูกสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต คือ ความคับข้องในนั้น รบกวน และทำลายเวลาอันมีค่าในชีวิตของท่าน
8. ถ้าท่านเป็นคนรวย สมาธิจะช่วยให้ท่านตระหนักถึงธรรมชาติของทรัพย์สมบัติ และวิธีที่ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สำหรับความสุขของท่าน ของบุคคลรอบข้างรวมถึงเพื่อน มนุษย์บุคคลร่วมโลก
9. ถ้าท่านเป็นคนยากจน สมาธิจะช่วยให้ท่านมีความพอใจในระดับหนึ่ง และไม่ก่อให้เกิดความอิจฉาบุคคลที่มั่งมีมากกว่าท่าน
10. ถ้าท่านยังหนุ่มแน่นที่เดินมาถึงทางแยกของชีวิต และท่านไม่รู้ว่าท่านควรจะเลี้ยวไปทางไหน สมาธิจะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าถนนสายไหนที่ท่านควรเลือกเดิน เพื่อให้ไปถึงจุด หมายปลายทางที่เหมาะสมสำหรับท่าน
11. ถ้าท่านเป็นคนสูงอายุซึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต สมาธิจะทำให้ท่านเข้าใจชีวิตได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความเข้าใจชีวิตที่ลึกซึ้งนี้เอง ช่วยให้ท่านบรรเทาความทุกข์ในชีวิต และเพิ่มความสุข ของชีวิตให้มากขึ้น
12. ถ้าท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน สมาธิจะทำให้ท่านสามารถพัฒนาพลังที่จะเอาชนะข้อเสีย คือ ความโกรธ ความเกลียด และความขุ่นเคืองได้
13. ถ้าท่านเป็นคนขี้อิจฉาริษยา สมาธิจะช่วยให้ท่านตระหนักถึงอันตรายของความอิจฉา ริษยา และสามารถลดละความอิจฉาริษยาได้
14. ถ้าท่านตกเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึก สมาธิจะช่วยให้ท่านรู้วิธีที่จะเป็นนายของ ตัณหา ความอยากเหล่านั้นได้
15. ถ้าท่านติดเครื่องดื่มหรือยาเสพติด สมาธิสามารถทำให้ท่านระหนักถึงวิธีที่จะเอาชนะ นิสัยที่เป็นอันตราย ซึ่งทำให้ท่านตกเป็นทาสได้
16. ถ้าท่านเป็นคนปัญญาทึบ สมาธิจะเปิดโอกาสให้ท่านขัดเกลาความรู้จนสามารถนำไป ใช้ได้ และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ท่าน เพื่อนของท่าน และครอบครัวของท่าน
17. ถ้าท่านได้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง อารมณ์ของท่านจะไม่มีโอกาสทำให้ท่านเป็นคน ขุ่นมัว ปัญญาทึบอีกต่อไป
18. ถ้าท่านเป็นคนฉลาดมีปัญญาบริบูรณ์อยู่แล้ว สมาธิจะส่งเสริมให้ท่านได้บรรลุธรรมชั้น สูง และท่านก็จะสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง ไม่ใช่ตามที่มันปรากฏ
19. ถ้าท่านเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนแอ สมาธิสามารถทำให้จิตใจของท่านเข้มแข็งขึ้นเพื่อพัฒนา พลังแห่งเจตนา จนสามารถเอาชนะความอ่อนแอของจิตได้ นี้เป็นเพียงคุณประโยชน์บางประการที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิ คุณประโยชน์เหล่านี้ไม่มีขายตามร้านตลาด เงินก็ไม่สามารถจะซื้อได้
สมาธิไม่มีขาย อยากได้ให้ทำเอา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น