ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

หลักการแผ่เมตตา



การแผ่เมตตา

ท่านบอกว่า การแผ่เมตตาให้ฝึกแผ่ให้ตนเองก่อน แล้วจึงแผ่ไป ยังคนใกล้ชิด คนที่เป็นที่รักคนสนิทกัน เพราะใจเราเป็นบวก ใจเรารักและเมตตาต่อเค้าเหล่านี้อยู่แล้ว แต่คนที่ไม่ชอบ หรือกำลังโกรธนี่ ใจเราเป็นลบ ใจต่อต้าน คือ ที่แนะไปอย่างนั้น เพราะว่าถ้าหากปากก็แผ่เมตตา หรืออีกใจอยากจะแผ่เมตตา แต่อีกใจก็คัดค้านหรือต่อต้าน อันนี้ การแผ่เมตตาก็จะไม่มีผล หรือบางทีถ้าใจต่อต้านมากๆ ก็อาจมีผลทางลบได้ ท่านว่า การแผ่เมตตาให้กับคนที่เราไม่ชอบนี่ยากมาก จึงค่อยๆ ให้ฝึกใจเป็นลำดับไปอย่างที่บอกแล้วในย่อหน้านี้


อันนี้เราต้องดู "ใจ" ของเราเอง บางคนก็บอกว่าแผ่เมตตาไป ทั้งๆ ที่กำลังโกรธก็ทำให้หายโกรธได้ อันนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดีไป ใจรับและโน้มไปกับความเมตตาจนหายโกรธ หายเกลียด หายอาฆาตพยาบาท ได้ ...แต่ถ้าหากในกรณีที่โกรธ เกลียด อย่างรุนแรง แผ่ไปแต่อีกใจก็เป็นตรงข้าม แรงด้านลบ จะยิ่งแรงเป็นทวีคูณ ทั้งอาจจะยังจะทำให้ใจถูกบังคับ ให้แผ่เมตตาเกิดโทสะรุนแรงมาก เป็นทุกข์เป็นโทษ กับตัวเองเพิ่มเข้าไปอีกนะคะ

การตั้งจิตอุทิศและแผ่ส่วนกุศล
[ครูบาอาจารย์สอนมาว่า คำว่า 'แผ่ส่วนกุศล' ใช้กับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
คำว่า 'อุทิศส่วนกุศล' ใช้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว]



ได้ยินมาว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พระผู้ศีลมั่นศีลบริสุทธิ์จิตบริสุทธิ์ ทั้งหลาย ท่านมักเจริญเมตตาธรรมอยู่เป็นนิจสิน เช้าๆ ปฏิบัติธรรมเสร็จ ก็มักแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีเว้นไม่มีประมาณอยู่แล้ว

การ 'แผ่เมตตาไม่มีเว้นไม่มีประมาณ'
การแผ่เมตตาทำได้ทุกเมื่อ ทุกเวลาที่นึกได้ หมั่นแผ่เมตตาวันละนิด วันละครั้งก็ยังดี ทำได้วันละหลายๆ ครั้ง บ่อยๆ เนืองๆ ก็ยิ่งดีใหญ่ค่ะ

[อันนี้ ท่านว่า การแผ่เมตตาสามารถทำได้ตลอดเท่าที่นึกออก อย่างเช่นเรา นึกถึงใคร ฟังเกี่ยวกับใคร เกิดสงสารก็แผ่เมตตาออกไป อยู่ที่ไหน ไปเจอะเจอใครก็สามารถแผ่เมตตาออกไปได้ทุกเมื่อ แรกๆ อาจจะ เจาะจงตัวก่อน เอาคนใกล้ตัวคนที่เรารักก่อนก็ได้ (๑) แล้วก็แผ่เมตตา ให้กับตัวเองด้วย (๑) จากนั้น ลองพยายามแผ่เมตตาไปยังคนที่เรา ไม่ชอบหรือคนที่เขาไม่ชอบเรา อันนี้ต้องค่อยๆ ทำ ลองทำดู อาจรู้สึก


ขัดใจก็หยุดไว้ก่อน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะสามารถแผ่เมตตา ให้กับคนที่เราไม่ชอบหรือคนที่ไม่ชอบเราได้เอง อันนี้หากเราเป็น ผู้อยู่ในสติปัฏฐานสี่อยู่โดยปกติแล้ว อยู่ในศีลในทานอยู่แล้ว หรืออาจ เจริญภาวนาอยู่ประจำ ก็จะทำได้ง่ายขึ้นและง่ายขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลัง และพัฒนาการของกายและจิต (๑)]

แผ่ออกไปให้สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
-คุณแม่คุณพ่อ คุณแม่คุณพ่อทุกชาติภพ
-บรรพบุรุษทุกชาติภพ
-ท่านผู้มีพระคุณ ท่านที่มีบุญคุณทุกชาติภพ
-ท่านที่นำเราให้ได้มาพบพระรัตนตรัย ได้เข้าถึงแก่นพระธรรม
ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเส้นทางที่ดีตรงถูกต้อง ต่อพระนิพพาน ทุกชาติภพ
-ผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกๆ ชาติภพ
-ญาติเพื่อนฝูงพี่น้อง เพื่อนร่วมงานบริวารทุกชาติภพ
-ครูบาอาจารย์ทั้งทางโลกและทางธรรมที่นำเราไปสู่ความรู้ที่ดี ตรง ถูกต้องทั้งทางโลกและทางธรรมทุกชาติภพ
-เจ้ากรรมนายเวรทุกชาติภพ
-สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่คุ้มครอง ปกป้อง ดูแล คอยตักเตือน ชี้แนะ นำทางเราไปสู่การมีชีวิตที่ดีและสู่การพ้นทุกข์ ทุกชาติภพ
ฯลฯ
คำตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาออกไปก็อย่างเช่น ขอให้ท่านเหล่านี้ ผู้เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงได้มีชีวิตที่ดี เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ ได้อยู่ในแวดล้อมของกัลยาณมิตรผู้ล้วนเป็นสัมมาทิฏฐิ ให้ทุกรูปทุกนามได้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ตราบที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ให้ทุกรูปนามได้มี โอกาสพบพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัย ได้เข้าถึงแก่น แห่งพระธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และสติปัฏฐานสี่เส้นทางที่ดี ตรง ถูกต้อง และได้บรรลุถึงซึ่ง ความพ้นทุกข์ไปสู่ความสันติสุขอันไพบูลย์คือพระนิพพาน โดยเร็วด้วยกันทุกรูปทุกนาม ตามสมควรแก่บารมีของตน ด้วยเทอญ

.....
ขอคัดย่อเอา 'วิธีแผ่เมตตา' โดย พระเทพวิสุทธิกวี จากหนังสือ บทอบรมกรรมฐาน มาไว้ให้อ่านกันดังนี้

วิธีแผ่เมตตา
ท่านอธิบายไว้หลายแนว โดยเฉพาะในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่ง ในที่นี้จะย่อมากล่าวแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น คือ
-ครั้งแรก- ให้แผ่เมตตาไปในตัวเราก่อน คือ ในตนเองก่อน ที่เราต้องแผ่ให้ตัวเองก่อน ก็เพื่อทำเราให้เป็นพยานว่าเรานั้น รักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด แม้บุคคลอื่นสัตว์อื่นก็รักสุขเกลียดทุกข์ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ควร เบียดเบียนผู้อื่น (ไม่ควรเบียดเบียนตนเองด้วย- deedi) นี้คือ ทำตนให้เป็นพยานก่อน
-ต่อจากนั้น- ท่านบอกว่าให้แผ่เมตตาไปในบุคคลที่เรารัก เมตตาจิตจึงแผ่ไปได้ง่าย อย่าพึ่งแผ่ไปในศัตรูเสียก่อน เพราะ จิตนั้นยังกระด้างอยู่ การแผ่ไปในบุคคลที่เรารัก เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือที่เรารักมีความรักใคร่เกี่ยวข้อง เมตตาจิตนี้ ก็เป็นไปได้ง่าย ... เมื่อเมตตาจิตเป็นไปสะดวกในบุคคลที่เรารัก แล้ว ก็แผ่ไปในบุคคลที่เป็นกลางๆ คือ ที่เราไม่รักไม่เกลียด จิตใจก็เป็นไปได้ง่าย เพราะเราไม่มีเวรไม่มีภัยกับผู้นั้น ... เมื่อจิตเป็นไปคล่องแล้ว ต่อจากนั้นให้แผ่เมตตาจิตไปในบุคคล ที่เป็นศัตรู คอยจองล้างจองผลาญกับเราอยู่
การแผ่เมตตานี้ เป็นการฝึกใจตัวเราเองอย่างหนึ่งด้วย เมื่อเราหมั่นแผ่เมตตาไปแล้ว ในคติพุทธว่าไว้ว่าเราก็จะเป็น ที่รักของสรรพสัตว์ นอกจากนี้ บุญมีจริง กุศลกรรมมีจริง กุศลของเราที่ดีแล้ว ก็อาจสามารถนำไปช่วยผู้อื่นที่เขา ไม่ได้มาเจริญกุศลอย่างเรา หรือไม่ได้มีโอกาสมาพบ แก่นพระธรรมอย่างเราๆ ใครๆ ก็แผ่เมตตาได้ ขอเพียงให้ มีใจเมตตาอยากจะแผ่ออกไปด้วยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ตามกำลัง ของตนเท่านั้น นั่นก็พอแล้ว

อานิสงส์ของการเจริญเมตตา
(คัดจากหนังสือ บทอบรมกรรมฐาน โดย พระเทพวิสุทธิกวี เช่นกัน)
(หน้า ๑๓๒)
...ถ้าใครมีเมตตาจิตเป็นประจำแล้ว ผู้นั้นจะอายุยืนด้วย มีลักษณะดีเด่นประจำตัว ใครๆ ก็ชอบเข้าใกล้ ทำให้เกิดความ สงบสุข

เพราะฉะนั้น เมตตาจิตนี้จังเป็นคำสอนที่ดีเลิศในพระศาสนาของเรา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อความมีใจกว้าง ไม่ถือเขา ไม่ถือเรา เป็น คำสอนที่เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เป็นหลักอวิหิงสาใน พระศาสนาของเรา เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อภราดรภาพ คือ เพื่อเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อมิตรภาพ คือ เพื่อความเป็นเพื่อนกัน เป็นผู้รักใคร่กัน เป็นคำสอนที่เป็นไป เพื่อสันติภาพ คือ เป็นไปเพื่อความสงบสุขของโลก เป็นคำสอน ที่เป็นไปเพื่อมนุษยธรรม คือ เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
...
อันเมตตานี้ เราจะต้องสั่งสมให้เกิดขึ้น ถ้ามิสั่งสมแล้วเมตตาจิตนี้ จะเกิดขึ้นลอยๆ ไม่ได้ (หน้า ๑๓๕-๑๓๙)
อานิสงส์ของเมตตา ๑๑ อย่าง ผู้เจริญเมตตาจิตนั้น ย่อมได้อานิสงส์ ๑๑ อย่างดังนี้ คือ
(๑) หลับก็เป็นสุข ไม่ทุรนทุราย ละเมอไปต่างๆ ฯลฯ
(๒) ตื่นก็เป็นสุข คือ ตื่นด้วยความอิ่ม ไม่ตื่นแบบหวาดผวา งัวเงีย
(๓) ไม่ฝันร้าย คนเจริญเมตตาจะฝันดี รู้สึกสบายใจในเรื่องที่ฝันเห็น
(๔) อมนุษย์ทั้งหลายรักใคร่ อมนุษย์ตรงนี้หมายถึงผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งหมด ได้แก่
สัตว์เดรัจฉาน เทวดา เปรต อสุรกาย ที่เรียกว่า ผี และ
สัตว์นรก ... ในที่ใดที่มีภัย อมนุษย์ทั้งหมดจะรักใคร่
ไม่ทำร้ายผู้เจริญเมตตา

(๕) มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
คนที่มีเมตตา ไม่พยาบาทกับใครนั้น ทำให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
รักใคร่เอ็นดูสงสาร อยากจะช่วยเหลือ

(๖) เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครองผู้นั้น
เทวดานั้นชอบคนดี ย่อมคุ้มครองคนดี จึงกล่าวกันว่า
มีเราบางคนมีเทวดาติดตามอยู่เป็นประจำ ทั้งนี้ก็เพราะว่า
เทวดาบางองค์นั้นเคยเป็นแม่ของเราในชาติก่อน หรือเคย
เป็นพ่อหรือเคยเป็นเพื่อน หรือบางท่านไม่เคยเป็นอะไรกัน
แต่ได้เมตตาจิตจากเรา ก็ให้การคุ้มครองรักษา

(๗) ไฟ ศาสตรา อาวุธ ยาพิษ ไม่อาจจะกร้ำกรายผู้นั้นได้
อันนี้สำคัญมาก ถ้าใครสามารถนำของขลังคือ เมตตา เข้ามา
ไว้ในตัวเราได้แล้ว คือ ทำเมตตาจิตนี้ให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่จำเป็น
ต้องเสกน้ำล้างหน้า ไม่จำเป็นต้องแขวนพระที่เจริญเมตตาคุณ
เข้ามาไว้ในตัว นี้เป็นอานิสงส์ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสไว้

(๘) ผิวหน้าย่อมผ่องใส
คนเจริญเมตตานี้ ย่อมมีผิวพรรณผ่องใส
ผู้ที่เจริญเมตตามากมองดูแล้วสบายใจ เข้าไปหาท่านแล้วชื่นใจ
เป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนทั่วไป ผิวพรรณก็ผ่องใสด้วย
อายุก็ยืน ผิวหน้าไม่มีริ้วรอยแห่งความโกรธ

(๙) จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว
ถ้าใครเจริญเมตตาอยู่เป็นประจำบ่อยๆ ทุกวัน ทุกคืน
จิตจะเป็นสมาธิได้ไวกว่าคนที่ไม่เจริญเมตตา

(๑๐) เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลงตาย
เพราะการเจริญเมตตาจิตบ่อยๆ ความหลงตายในขณะตาย
จะไม่มี ไม่เพ้อ บางคนก่อนตายเพ้อย่างนั้นอย่างนี้ จำอะไร
ไม่ได้ แม้แต่คนใกล้ชิด แต่คนที่เจริญเมตตาจิตนี้เป็นคน
ไม่หลงตาย

(๑๑) เมื่อจากโลกนี้ไปก็ไปบังเกิดในพรหมโลก
นี้หมายถึงท่านผู้ใดที่ได้ฌานโดยเฉพาะเท่านั้น สำหรับผู้ที่
ยังไม่ได้ฌาน ก็ไปบังเกิดตามภพภูมิของตนๆ


อีกอย่างหนึ่ง เมตตานี้เป็นตัวกำจัดตัวพยาบาทโดยตรง
...
พยาบาท เป็นศัตรูของเมตตาโดยตรง เห็นได้ง่าย และจัดว่าอยู่ไกล คือ ห่างจากเมตตา
(จบ อานิสงส์ของการแผ่เมตตา)
"อจฺฉราสงฺฆาตมตฺตมฺปิ เจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เมตฺตาจิตตํ ภาเวตี อาเสวติ"
แปลโดยใจความว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ถ้าหากว่าภิกษุเจริญเมตตาจิตชั่วระยะกาลสักว่า ลัดนิ้วมือเดียว ภิกษุนั้นเรากล่าวว่าไม่เหินห่างจากฌาน ปฏิบัติ ตามโอวาท ทำตามคำสอนของพระศาสดา ไม่ฉันอาหารของชาวบ้าน เสียเปล่า จะป่วยกล่าวไปใยถึงผู้ที่เจริญให้มากกว่านี้เล่า"


...
...การเจริญเมตตาทางพระพุทธศาสนาเราจึงมีระบบการเจริญเอาไว้ คือ พึงเจริญเมตตาโดยย่อว่า
"ขอให้สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขเป็นสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งสิ้นเถิด"
ส่วนการเจริญเพียงปานกลางนั้น ก็เหมือนอย่างที่เราเจริญเมตตา กันโดยทั่วไป คือ
"ขอสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรกันเลย อย่าได้มีความเบียดเบียนกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย ด้วยกันทั้งสิ้นเถิด"
ถ้าเจริญแบบกว้างขวางหรืออย่างสูงสุด เหมือนอย่างพระสัมมา- สัมพุทธเจ้า หรือพระสาวกทั้งหลายนั้น ท่านจะเจริญเมตตาอย่าง กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด ไม่เฉพาะแต่มนุษย์อย่างเดียว แต่ทั่วสัตว์ เดรัจฉาน ทั่วเทพเจ้าทุกจำพวก ในโลกทั้งปวง โดยเจริญเมตตา แผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ หรือทิศทั้ง ๘ เช่นว่า
"ขอให้สัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน หมดทั้งสิ้น ที่อยู่ในเบื้องบน จงมีความสุขพ้นจากทุกข์ ที่อยู่ใน เบื้องล่าวจงมีความสุขพ้นจากความทุกข์ ที่อยู่ในทิศเหนือ ทิศ ตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศใต้ จงมีความสุขพ้นจากความทุกข์ ที่อยู่ในเบื้องขวาง ที่อยู่ในท่ามกลาง ก็จงพ้นจากความทุกข์ มีความสุข"
... การแผ่เมตตานั้นมี ๒ ชนิด
คือ
๑. การแผ่โดยเจาะจง ที่เรียกว่า 'โอทิสผรณา'

     ๒. การแผ่โดยไม่เจาะจง ที่เรียกว่า 'อโนทิสผรณา'


การแผ่โดยเจาะจงนั้น ส่วนมากมักจะแผ่ในหมู่ชนที่มีความ รักใคร่เกี่ยวข้องด้วยกัน เช่น บิดามารดาแผ่เมตตาเพราะ มีความเยื่อใยในบุตร ธิดา หรือบุตรธิดามีความเยื่อใย แผ่เมตตาต่อบิดามารดา หรือเพื่อนมีเมตตาต่อเพื่อน อย่างนี้เรียกว่าแผ่โดยเจาะจง และการแผ่เมตตาโดยเจาะจง นี้มีผลแรงกว่าการแผ่โดยไม่เจาะจง เพราะเป็นการเจาะจง บุคคล จิตนั้นพุ่งไปโดยตรง แต่มีผลไม่กว้างขวางเหมือนกับ การแผ่โดยไม่เจาะจง ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่แผ่เมตตาไปยัง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถ้าผู้แผ่มีพลังจิตเพียงพอ ผู้ที่เราแผ่ เมตตาไปจะได้รับผล เช่น สมมุติว่าพ่อแม่หรือพี่น้องของเรา ขณะนี้กำลังนอนป่วยอยู่ หรือประสบทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเราต้องการความเจริญ เราก็แผ่เมตตาไปยังท่านเหล่า นั้น บางท่านหายป่วยเลย หรือหายไวขึ้นกว่าปกติ ซึ่งเขา เคยพิสูจน์มาแล้ว...
พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าทรง สอนให้แผ่เมตตาโดยไม่เจาะจง เพราะพระเณรนั้นเป็นผู้ได้รับ ความเกื้อกูลจากชาวบ้านโดยทั่วไป ไม่เฉพาะญาติพี่น้องของ ตัวเอง และพระเรานั้นก็สามารถบำเพ็ญความดีอย่างกว้าง ขวาง เพราะฉะนั้น จึงทรงสอนให้แผ่เมตตาโดยอโนทิสผรณา คือ การแผ่โดยไม่เจาะจง โดยแผ่ไปทุกทิศ แก่ทุกคน แก่สัตว์ ทุกจำพวก
...
ท่านอาจารย์มั่น ภูริทฺตโต ซึ่งเป็นอาจารย์กรรมฐาน ซึ่งพวกเรา ทุกคนรู้จักดี ทราบว่าท่านแผ่เมตตาจิตที่เป็นระยะกาลใหญ่นั้น ๓ เวลาในวันหนึ่งคือ
๑. ก่อนนอน
๒. ตื่นนอน- จะเป็นตอนไหนก็ได้ ส่วนมากท่านก็ตื่น เวลาปัจฉิมยาม
๓. ตอนบ่าย- หลังออกจานั่งภาวนาแล้ว


นี้เป็นการแผ่เมตตาที่เป็นไปในกาลใหญ่ ส่วนเมตตาที่เป็นไป ย่อยๆ นั้น ไม่อาจจะนับกาลได้ว่า ท่านแผ่เวลาใดบ้าง เพราะเมื่อ เหตุเกิดขึ้นเมื่อไร ท่านก็แผ่ไปได้เมื่อนั้น นี้คืออาจารย์กรรมฐาน ซึ่งมีชื่อเสียง ... การแผ่เมตตาไปในศัตรู
(คำว่าศัตรูนี้ ใช้ตามต้นฉบับค่ะ - deedi)

(๑)
การแผ่เมตตาไปในศัตรูนี้แผ่ไปได้ยาก คนโดยทั่วไปต้องการ ให้ศัตรูของตนฉิบหายเดือดร้อนล่มจม แต่เมื่อมีความปรารถนา โดยเมตตาจิตว่า "ขอให้พวกเขามีความสุขมีความเจริญ พ้นจาก ความทุกข์" จิตมันไม่ไป อาจจะไปแต่เพียงปากว่าอย่างเดียว แต่จิตมันไม่ไป มันยังอาฆาตเคียดแค้นอยู่ บางครั้งก็เอาเรื่อง การต่อสู้กับศัตรูมาคิดมาฝัน อยากจะให้เขาตายบ้าง ต่อสู้กับ เขาบ้าง เพราะจิตนั้นยังมีอาฆาต ยังมีพยาบาท มีความ เคียดแค้นอยู่
(๒)
เพราะเหตุนี้ ท่านจึงบอกอุบายแนะนำว่า ถ้าแผ่ไปแล้วจิต ยังไม่สงบ คือยังไม่หายพยาบาท ยังไม่หายเคียดแค้น ก็ให้คิด ว่าความโกรธนั้นดีอย่างไรบ้าง ความพยาบาทนั้นดีอย่างไรบ้าง แท้ที่จริง ความโกรธหรือความพยาบาทนั้นเป็นไฟเกิดขึ้นเผา ตัวเราก่อน ให้เราเดือดร้อนวุ่นวายก่อน จึงจะไปเผาผู้อื่น ให้เห็นโทษของความพยาบาท การแผ่เมตตาจิตก็อาจจะ เกิดผลได้ จิตอาจจะอ่อนลงได้
(๓)
หากจิตยังอ่อนคือยังไม่หายโกรธ ท่านว่าให้พยายามนึกถึง คุณความดีของผู้ที่เราอาฆาตนั้นว่าเขาเคยให้อะไรเราบ้าง เช่น เคยสั่งสอนเรามาบ้างไหม เคยให้น้ำเราสักแก้วไหม ฯลฯ ถ้าความดีหรือคุณของเขาก็มีอยู่ก็พยายามคิดถึงความดีที่เขา มีอยู่นั้นแหละ อย่าไปคิดถึงความเสียของเขาเลย อย่างนี้แล้ว ใจก็อาจจะหายโกรธลงไปได้ จะทำใจให้สบายได้ เหมือนอย่าง ที่ท่านพุทธทาสฯ แนะนำไว้ วิธีทำใจให้สบายคืออย่ามองคน ในแง่ร้าย ให้มองในแง่ที่ว่า
เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะได้คนมีดีโดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคยมองให้ดีมีคุณจริง


นี้เป็นวิธีทำใจให้สบาย ก็เป็นลักษณะของ คนมีเมตตาจิตเหมือนกัน (๔)
แต่หากมองอย่างนี้แล้ว ใจของเราก็ยังไม่หายโกรธ ท่านบอกว่าให้พยายามคิดถึงความเป็นญาติกันว่า คนที่เรา โกรธนั้นเคยเป็นญาติพี่น้องของเรามา คือ ตามหลัก พระพุทธศาสนานั้น ทุกคนเคยเป็นญาติกันทั้งสิ้น เป็นญาติกันจริงๆ และเป็นญาติกันทั้งสิ้นด้วย คือ เรานั้นเป็นญาติกันในหลายลักษณะ
๔.๑ เป็นญาติกันในสังสารวัฏ
คือเป็นญาติ เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดา ที่ไม่เคยเป็น บิดา ที่ไม่เคยเป็นพี่น้อง ผู้ที่ไม่เคยเป็นบุตร ผู้ที่ไม่เคยเป็นธิดา ไม่ใช่หาได้ง่าย (ในสังสารวัฏ)"
หมายความว่า ในสังสารวัฏอันไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เราทุกคนนั้น เคยเกิดเป็นพี่เป็นน้องกัน ถ้าหากว่าผู้ที่เราจะโกรธ แต่คนนั้น ในชาติก่อนโน้น อาจเคยเป็นแม่เราก็ได้ เคยอุ้มท้องทะนุถนอม เรามา ถ้าเราไปฆ่าทำลายคนนั้น ก็เท่ากับว่าได้ฆ่าแม่ของเรา คิดอย่างนี้ เมตตาจิตก็เกิดขึ้น อาจจะทำให้เวรนั้นสงบไปได้
๔.๒ เป็นญาติกันโดยสายเลือด
เราทุกคนเกิดเป็นคนไทย มีสายเลือดไทย มีสายเลือดเดียวกัน เกิดในแหล่งเดียวกัน แม้จะแยกย้ายกันอยู่ จึงยังชื่อว่าเป็นญาติ กันโดยสายเลือด
อีกประการ เรานับถือพระพุทธศาสนา ประพฤติธรรมเหมือนกัน ประพฤติพระธรรมวินัยแบบเดียวกัน เราจึงเป็นญาติกันในพระ พุทธศาสนา
อีกประการ คนที่รู้จัก สนิทกัน ก็ชื่อว่าเป็นญาติกัน อย่างที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
วิสฺสาสา ปรมา ญาตี - ความคุ้นเคยกันเป็นญาติ อย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น การพิจารณาเห็นว่าผู้ที่เราโกรธเคยเป็นญาติ พี่น้องของเรา ความโกรธนั้นก็อาจจะหายไปได้
(๕)
แต่ถ้าความโกรธยังไม่หาย ท่านว่าให้พิจารณาอานิสงส์ ของเมตตา ๑๑ อย่าง (ดังที่ได้ใส่ไว้แล้วในความคิดเห็นแรก ข้างบนค่ะ- deedi)
*************************
คัดและย่อปรับจาก 'บทอบรมกรรมฐาน' โดย พระเทพวิสุทธิกวี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร