ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

พระพุทธศาสนากับพระมหากษัตริย์ไทย

                       ชาติไทยของเรามีสถาบันที่ใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และหล่อหลอมจิตใจของประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน ประกอบด้วยสถาบัน 3 สถาบัน ได้แก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแต่ละสถาบันมีความสำคัญแตกต่างกันไป แต่ทั้ง 3 สถาบันต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการช่วยค้ำจุนประเทศชาติให้อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้
สถาบันศาสนา โดยมีศาสนาประจำชาติ คือ พระพุทธศาสนา เป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของชาติไทยมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนพระพุทธศาสนาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทย เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์กลางความเคารพศรัทธา ความเชื่อถือและความร่วมมือ ตลอดจนเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจให้ประชาชนมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และร่วมมือทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งเท่ากับเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศชาติได้เป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้วัดเป็นสถานที่ศูนย์กลางของสังคมโดยแยกออกจากกันไม่ได้ เป็นศูนย์กลางของการอบรมสั่งสอนหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็นสถาบันสำคัญทั้งด้านการศึกษา สังคม และเป็นบ่อเกิดของศิลปะแขนงต่างๆ พระพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยที่ประชาชนที่นับถือในชาติต้องเคารพบูชาและให้ความสำคัญเฉกเช่นสถาบันอื่น
พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทรงนับถือและเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกให้กับพระพุทธศาสนาเสมอมา จึงมีพระราชปณิธาน พระราชปรารภ พระราชนิพนธ์ต่อพระพุทธศาสนา แม้จะต่างกาลเวลา ก็แสดงถึงความเคารพนับถือว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาประจำชาติไทย
พระราชปณิธาน พระราชปรารภ พระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัย จนถึงปัจจุบันมาเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มานานแล้ว อีกทั้งยังเป็นหลักฐานที่แสดงว่าพระพุทธศาสนาในฐานะศาสนาประจำชาติ เป็นสถาบันหนึ่งของชาติมีความสำคัญต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร และพระมหากษัตริย์แต่ละยุคแต่ละสมัยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างไร

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 ด้าน 2
"คนไทยในสมัยสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากราลกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว......"
(กรมศิลปากร, ศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1, โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2519 หน้า 14 และ 19)

พระบรมสัตยาธิษฐานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
"พระบาทสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า จึงตรัสประกาศแก่เทพยดาทั้งปวง ให้บังเกิดในประยูรมหาเศวตฉัตร จะให้บำรุงพระบวรพุทธศาสนา ไฉนจึงมิช่วยให้สว่างแลเห็นข้าศึกเล่า พอตกพระโอษฐ์ลง พระพายก็พัดควันอันเป็นหมอกมืดนั้นสว่างไป ทอดพระเนตรเห็นข้างเศวตฉัตร 16 ข้าง มีข้างดั้งข้างกันยืนอยู่เป็นอันมาก..."
(พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 1 ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด), องค์การค้าของคุรุสภา, 2533, หน้า 207)
น้ำพระทัยและพระราชดำรัสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
"พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะให้เราเข้ารีตดังนั้นหรือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะในราชวงศ์ของเราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนามาช้านานแล้ว จะให้เราเปลี่ยนศาสนาอย่างนี้เป็นการยากอยู่ และถ้าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสร้างดินจะต้องการให้คนทั่วโลกได้นับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเจ้ามิจัดการให้เป็นเช่นนั้นเสียแล้วหรือ"
"จริงอยู่เมื่อฟอลคอน ในเวลาหมอบอยู่ข้างพระบาทพระเจ้ากรุงสยามได้แปลคำชักชวนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้รับสั่งมากับราชทูตนั้น ฟอลคอนก็กลัวจนตัวสั่น และสมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระกรุณาโปรดให้อภัยแก่ฟอลคอน แต่ก็ได้รับสั่งว่า ได้ทรงนับถือศาสนาอันได้นับถือต่อๆ กันมาถึง 2,229 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะให้พระองค์เปลี่ยนศาสนาเสียนั้น เป็นการที่พระองค์จะทำไม่ได้"
(ประชุมพงศาวดาร เล่ม 16, องค์การค้าของคุรุสภา, 2507, หน้า 23-24)


พระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
"อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก        ทนทุกข์ยากกู้ชาติพระศาสนา
ถวายแผ่นดินให้เป็นพุทธบูชา     แด่พระศาสนาสมถะพระพุทธโดม
ให้ยืนยงคงถ้วนห้าพันปี            สมณะพราหมณ์ชีปฏิบัติให้พอสม
เจริญสมถะวิปัสสนาพ่อชื่นชม     ถวายบังคมรอยบาทพระศาสดา
คิดถึงพ่อพ่ออยู่คู่กับเจ้า            ชาติของเราคงอยู่คู่พระศาสนา
พุทธศาสนาอยู่ยงคู่องค์กษัตรา    พระศาสดาฝากไว้ให้คู่กัน"

(จารึกในศาลพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณราชวราราม) (พระพุทธศาสนา ศาสนาประจำชาติไทย, คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา, วิสาขบูชา 2527, หน้า 123-124)


พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
"ตั้งใจจะอุปถัมภก                      ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมา                   รักษาประชาชนและมนตรี"
(พระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง)
(พ.ณ. ประมวลมารค, สิบสองกวี, สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2510, หน้า 103)
"ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้ง 4 ดำรงจิตจตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิ มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติเป็นประโยชน์แก่ตน..." (กฎหมายตราสามดวง, กรมศิลปากร, 2521, หน้า 769)
"พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดารดังนั้น จึงตรัสว่า "ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงจงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้ ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้นเป็นพนักงานโยม โยมจะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นข้อมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้" พระราชาคณะทั้งวงรับสาธุแล้วถวายพระพร..."
(พระยาทิพากรวงศ์, พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1, กรมศิลปากร, 2526, หน้า 113)
น้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
น้ำพระทัยของรัชกาลที่ 5 ต่อพระพุทธศาสนา ดังที่มีพระราชหัตถเลขาถึงเซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ความว่า
"พระราชบิดาของฉัน ได้ทรงสละเวลาเป็นส่วนใหญ่ ในการศึกษาและคุ้มครองศาสนาของชาติ ส่วนฉันได้ขึ้นครองราชย์ในขณะอายุยังน้อย จึงไม่มีเวลาที่จะเป็นนักศึกษาอย่างพ่อ ฉันเองมีความสนใจในการศึกษาหนังสือหลักธรรมต่างๆ สนใจที่จะคุ้มครองศาสนาของเรา และต้องการให้มหาชนทั่วไปมีความเข้าใจถูกต้อง ดูเหมือนว่า ถ้าชาวยุโรปเชื่อในคำสอนของคณะมิชชันนารีว่า ศาสนาของเราโง่งมงาย และชั่วทราม คนทั้งหลายก็จะต้องถือว่าพวกเราเป็นคนโง่งมงายและชั่วทรามไปด้วย ฉันจึงรู้สึกขอบคุณบรรดาบุคคล เช่น ท่านเป็นตัวอย่าง ที่สอนชาวยุโรปให้ความคารวะแก่ศาสนาของเรา" (พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ผู้แต่งหนังสือพุทธประวัติ ประทีปแห่งทวีปเอเชีย)


พระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ 6 กับพระพุทธศาสนา
"ข้าพเจ้าย่อมรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าที่จะต้องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งคู่กับพระราชอาณาจักร ให้ดำเนินไปในทางวัฒนาถาวรพร้อมกันทั้งสองฝ่าย" (พระราชดำรัสของสมเด็จพระปิยมหาราชต่อคณะสงฆ์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพุทธศักราช 2440)
"เมื่อรู้สึกแน่นอนแล้วว่า ศาสนาในสมัยนี้เป็นของที่แยกจากชาติไม่ได้... ถ้าข้าพเจ้าจะขอแก่ท่านทั้งหลายว่า พุทธศาสนาเป็นของไทย เรามาชวนกันนับถือพระพุทธศาสนาเถิด...ผู้ที่แปลงศาสนา คนเขาดูถูกยิ่งเสียกว่าผู้ที่แปลงชาติ... เพราะเหตุฉะนั้นเป็นความจำเป็นที่เราทั้งหลาย ผู้เป็นไทยจะต้องมั่นอยู่ในศาสนาพระพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาสำหรับชาติเรา..." ... (พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, เทศนาเสือป่า, องค์การค้าของคุรุสภา 2526, หน้า 59-60, 70, 158, 161 และ 173)



พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับสันตะปาปาเมื่อคราวเสด็จมาเยือนประเทศไทยว่า  "เมื่อข้าพเจ้ามีโอกาสไปเยือนสำนักวาติกัน เมื่อปีคริสต์ศักราช 1960 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสถามถึงคนไทยนับถือศาสนามากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าทูลตอบว่า คนไทยเป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติ และนอกนั้นนับถือศาสนาอื่นอีกหลายศาสนา เพราะชาวเรามีอิสรภาพ และสิทธิเสมอกันทั้งโดยกฎหมาย ทั้งโดยประเพณีนิยมในการนับถือศาสนา สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นั้นทรงแสดงความชื่นชมยินดีกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก ที่ประเทศไทยมีพลเมืองดี มีศีลธรรม ยึดความถูกต้องเที่ยงตรงเป็นหลักปฏิบัติ"
นอกจากพระราชปณิธาน พระราชปรารภ พระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ไทยแล้ว พระพุทธศาสนายังมีส่วนช่วยในการปกครอง และการประพฤติพระราชจรรยานุวัตรของพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมในการเป็นประมุขของประเทศ โดยหลักธรรมของศาสนา คือ ทศพิธราชธรรม 10 และ จักรวรรดิวัตร 5
ทศพิธราชธรรม 10 คือ ธรรมสำหรับพระราชา ในการใช้พระราชอำนาจและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร มี 10 ประการ ดังนี้
1. ทาน (การให้) หมายถึง การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การทรงเสียสละพละ
กำลังในการปกครองแผ่นดิน การพระราชทานพระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจแห่งมนุษย์
2. ศีล หมายถึง การตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง ได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา ได้แก่ เบญจศีล อย่างเสมอ
3. บริจาค หมายถึง การที่ทรงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คือ เมื่อถึงคราวก็สละได้แม้พระราชทรัพย์ ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของพระองค์
4. อาชชวะ (ความซื่อตรง) หมายถึง การที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและอาณาประชาราษฎร
5. มัททวะ (ความอ่อนโยน) หมายถึง การเคารพในเหตุผลที่ควร ทรงมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า
6. ตบะ (ความเพียร) หมายถึง ความเพียรที่แผดเผาความเกียจคร้าน คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน
7. อักโกธะ (ความไม่โกรธ) หมายถึง ความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธก็ทรงข่มเสียให้สงบได้
8. อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน) หมายถึง การมีพระราชอัธยาศัยกอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร
9. ขันติ (ความอดทน) หมายถึง การที่ทรงมีพระราชจริยานุวัตรอันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย และพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้เรียบร้อย
10. อวิโรธนะ (ความเที่ยงธรรม) หมายถึง การที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณีไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ ทรงบำราบคนที่มีความผิดโดยปราศจากอำนาจอคติ ๔ ประการ และไม่ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระราชหฤทัยยินดียินร้าย
จักรวรรดิวัตร 5 คือ วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ ถึงเป็นธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ และหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ มี 5 ประการ ดังนี้
1. ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย
2. ธรรมิการักขา หมายถึง การรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรมแก่บุคคลดังต่อไปนี้
ก. อันโตชน ได้แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน
ข. พลกาย ได้แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร
ค. ขัตติยะ ได้แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง
ง. อนุยนต์ ได้แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งหมด
จ. พราหมณคฤหบดี ได้แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูอาจารย์ นักวิชาการ หมอ ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์ เป็นต้น
ฉ. เนคมชานบท ได้แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง
ช. สมณพราหมณ์ ได้แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม
ญ. มิคปักษี ได้แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย
3. อธรรมการนิเสธนา หมายถึง การห้ามกั้นมิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง
4. ธนานุประทาน หมายถึง การปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น
5. ปริปุจฉา หมายถึง การปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย
พระมหากษัตริย์ของไทยทรงเป็นทุกสิ่งอย่างที่ทำให้ชาติไทยได้ดำรงคงมาจนถึงทุกวันนี้ ทรงเป็นจอมทัพไทย และทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนาหลักที่พสกนิกรไทยนับถืออยู่ทุกหมู่เหล่า แต่เนื่องจากพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน และต่อไปในอนาคต ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยจึงทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงปกครองประเทศด้วยหลักของทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร อันเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา นำความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกร่มเย็น อันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์มาสู่ชนชาวไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

นักศึกษาจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงแก่ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันชาติ
-          ส่งเสริมความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย เช่น การอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เป็นต้น
-          ส่งเสริมการใช้สินค้าภายในประเทศ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต เป็นการช่วยชาติ และเสริมสร้างความมั่งคงให้ชาติได้อีกทางหนึ่ง
-          สร้างความสมานฉันท์ในสังคม โดยใช้หลักธรรมทางศาสนาเข้าช่วย เช่น การวางตัวกลาง ปฎิบัติตนตามหลักธรรมสังคหวัตถุ 4 เป็นต้น
สถาบันศาสนา
-          ช่วยกันรักษา ทะนุบำรุง พุทธศาสนาเอาไว้ให้คงอยู่ เช่น ไม่ทำลายปูชนียวัตถุและปูชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา, ทำบุญตักบาตรเมื่อมีโอกาส, ชายไทยอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ต้องทำการอุปสมบท เป็นต้น
-          ประพฤติตนตามหลักธรรมของศาสนา
-          ยึดถือและปฎิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
สถาบันพระมหากษัตริย์
-          เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันสูงสุดของชาติ
-          แสดงความจงรักภักดี โดยการประพฤติตนเป็นคนดีตามหลักธรรมของศาสนา ปฎิบัติตนตามสิทธิ หน้าที่ของตนเองตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย

บทความโดย :ธนิน วานิชสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                 เมื่อพิจารณาธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นธงชาติประจำชาติไทยนั้น จะประกอบด้วยสีสามสี ซึ่งแต่ละสีมีความหมายโดยนัยแฝงอยู่ดังนี้ สีแดงหมายถึงความเป็นชาติ สีขาวหมายถึงสถาบันศาสนา และสีน้ำเงินหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งทั้งสามสถาบันมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในแง่มุมต่างๆ หากขาดซึ่งสถาบันหนึ่งสถาบันใด อีกสองสถาบันที่เหลือก็มิอาจดำรงอยู่ได้
โดยในที่นี้ ข้าพเจ้าจะขออนุญาตพิจารณาถึงสถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก เนื่องจากะเมื่อรวมทั้งสองสถาบันเข้าด้วยกันแล้วนปึกแผ่นมาได้จนถึงทุกวันนีู้่ร่วมกันถึงจะสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยไว้ได้ระมหากษตั้งแต่สมัยอดีตกาลมา สถาบันศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญเป็นรากฐานในการสร้างชาติไทยให้คงอยู่ และดำรงความเป็นปึกแผ่นจวบจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งสามารถพิจารณาทั้งสองสถาบันดังกล่าวโดยละเอียดได้ดังนี้
สถาบันศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติของไทยมาแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งสถาบันพระพุทธศาสนานั้นเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างความเป็นชาติไทยมาอย่างยืนยาว และต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น สถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือมนุษย์ในยามที่พวกเขาทุกข์ยากเดือดร้อนตามหลักคำสอนของศาสนาที่สอนให้ชาวพุทธรู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกัน เป็นบทบาทที่สถาบันพระพุทธศาสนาช่วยแก้ไขปัญหาสังคมอีกทางหนึ่ง
อีกทั้งสถาบันพระพุทธศาสนามีบทบาทหลักในการกล่อมเกลาจิตใจ และลักษณะนิสัยของคนไทยให้มีความเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักให้ แบ่งปัน มีน้ำใจ ให้อภัยซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย  ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคมทางอ้อมผ่านการกล่อมเกลาให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามตามธรรมนองคลองธรรมโดยตลอด แม้กระทั่งในปัจจุบัน ความสำคัญในประการดังกล่าวก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ จะเห็นได้จาก พระภิกษุสงฆ์กับวัดยังต้องรับภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือภาคสังคมและภาคราชการไทยอยู่ตลอดในยามที่เกิดปัญหา ต้องการความช่วยเหลือ แม้กระทั่งเกิดวิกฤตในประเทศ สถาบันแห่งนี้ยังคงเป็นสถาบันหลักที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ อำนวยประโยชน์ เกื้อกูลประชาชนอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงยังคงเป็นสถาบันที่มีส่วนสำคัญต่อการปกครองและการบริหารของไทยอยู่มาก กล่าวคือ การที่สถาบันศาสนามีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นเอกภาพของประเทศจะเอื้อให้การบริหารและการปกครองประเทศเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น เกิดความเป็นปึกแผ่นมั่นคงอย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชนแถบชนบทที่รับการบริการจากรัฐบาลได้ไม่ทั่วถึงนัก ไม่ได้รับการสอดส่องดูแลจากรัฐ ซึ่งมีจำนวนมากถึง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่ดังกล่าว ศาสนาจะเป็นดั่ง “จักรกล” สำคัญในการยึดโยงประชาชนทั่วทุกพื้นที่ของประเทศเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างมีประสิทธิผลสูง
นอกจากนี้ การที่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้เข้าไปผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยจนแทบจะเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น นับได้ว่าสถาบันพระพุทธศาสนาได้ก้าวล่วงเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมากเข้าทุกที ดังจะเห็นว่า เหตุการณ์สำคัญ ๆ ในชีวิตประจำวันเกือบทั้งหมดของคนไทย มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแทบทั้งสิ้น จะสังเกตได้ว่า หากพระพุทธศาสนาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยแล้วนั้น ชาวพุทธมีวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน จนกระทั่งเหมือนกัน ความเหมือนกันนี้ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า เราเป็นพวกเป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นเพื่อนกันเป็นพี่น้องกัน ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เป็นชาติเดียวกันอย่างแน่นอน
กล่าวถึงคุณค่าของสถาบันพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาอบรม ในสมัยก่อนสถาบันพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันแห่งแรกที่ให้การศึกษาแก่คนไทย การศึกษาของไทยเริ่มต้นจากที่วัด โดยเฉพาะในด้านจริยศึกษา แม้ในปัจจุบันความสำคัญในด้านนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมทำนุบำรุงการศาสนา เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจและเป็นสถาบันอบรมศีลธรรมอันดีงามให้แก่ประประชาชน ในที่นี้จะได้ชี้ให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาในด้านการศึกษาเบื้องต้น จริยศึกษา และคุณค่าของการบวชเรียน ทั้งนี้เพื่อจะได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เหนือจิตใจของคนไทยโดยแจ้งชัดยิ่งขึ้น
สถาบันพระพุทธศาสนาปูพื้นฐานการศึกษาให้กับคนไทย นับแต่โบราณมาวัดเป็นสถาบันแห่งเดียวที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยโดยส่วนรวม การศึกษาจะกระทำกันในโรงเรียนวัด โดยมีพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้สูงกว่าชาวบ้านเป็นผู้จัดการศึกษาและเป็นครู เด็กผู้ชายจะถูกส่งไปเป็นศิษย์วัดหรือสามเณร เพื่อเรียนการอ่าน การเขียน และเรียนวิชาเลขคณิตอย่างง่าย ๆ รวมทั้งรับการอบรมทางศีลธรรม และหลักธรรมของศาสนา ทำให้เด็กผู้ชายส่วนมากอ่านออกเขียนได้ และมีความรู้ในด้านจริยธรรมของสังคม ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติของตนเองและของครอบครัว แสดงให้เห็นว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยวัดในด้านนี้มาโดยตลอด ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระพุทธศาสนากับประชาชนชาวไทย แม้ในเรื่องของการศึกษา เราก็ต้องพึ่งพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตามเราย่อมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนี้ยิ่งขึ้น เมื่อได้พิจารณาถึงความสำคัญของการศึกษาในด้านจริยธรรม
ความสำคัญของศาสนาในด้านการศึกษาจริยธรรม พระภิกษุสงฆ์เป็นผู้ให้การศึกษาในด้านจริยธรรม หรือศีลธรรมแก่เยาวชนไทยตามหลักพระพุทธศาสนา ควบคู่กับการสอนหนังสือมาโดยตลอด การส่งเด็กผู้ชายไปเป็นศิษย์วัด หรือเป็นสามเณร ซึ่งกระทำกันจนเป็นประเพณีมานาน ถือว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ได้รับความเลื่อมใสและกลายเป็นสมาชิกที่ได้รับการยกย่องจากชุมชนขึ้นมา การกระทำดังกล่าวนอกจากจะมีส่วนช่วยทำให้เด็กผู้ชายไทยเป็นจำนวนมากอ่านออกเขียนได้แล้ว ยังช่วยทำให้บุคคลเหล่านั้นได้มีโอกาสรับการอบรมสั่งสอนในด้านศีลธรรมและหลักธรรมทางศาสนาด้วย
คุณค่าของประเพณีการบวชเรียน ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าสมัยก่อนคนไทยศึกษากันที่วัด นอกจากจะได้รับความรู้จากการศึกษาอบรมในเรื่องหลักธรรมทางศาสนาแล้ว จะเป็นการเตรียมตัวของตนเองสำหรับการอุปสมบทที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย การศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นการศึกษาสำคัญที่สุดของชาติ การอุปสมบทย่อมมีส่วนช่วยทำให้กุลบุตรมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงขึ้น เพราะมีวัดแห่งเดียวที่เป็นสถาบันการศึกษา สิ่งนี้นับเป็นมูลเหตุจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายไทยนิยมการอุปสมบท จนเป็นประเพณีทั่วไป เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จะต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ เพราะถือว่าการบวชนั้น นอกจากจะทำให้ได้บุญแล้ว ยังทำให้มีโอกาสได้ร่ำเรียน มีความรอบรู้ยิ่งขึ้น การบวชเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงการบวชเรียนไว้ว่า  …ในสมัยกรุงศรีอยุธยา การที่บวชเรียนถือเป็นประเพณีว่าผู้ชายทุกคนควรจะต้องบวช เป็นเหตุให้มีพระภิกษุสงฆ์มากมายขึ้นหลายเท่า อีกประการหนึ่ง เมื่อประเพณีการบวชเรียนแพร่หลาย ย่อมมีผู้บวชแต่ชั่วคราว โดยมากถือเอาการศึกษาเป็นสำคัญของการบวช การเล่าเรียนจึงได้เจริญขึ้นตามวัด วัดจึงได้เป็นที่ศึกษาสถาน … การศึกษาในทางหลักธรรมจึงมีความก้าวหน้าเรื่อยมา
การบวชเรียนนั้นนอกจากจะช่วยทำให้พระภิกษุสงฆ์หรือผู้ผ่านการบวชเรียน ได้รับการกล่อมเกลาให้เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามจนเป็นที่ได้รับการเคารพนับถือของสังคมทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีส่วนช่วยทำให้บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด มีความคิดสุขุมรอบคอบยิ่งขึ้น เมื่อสึกออกมาก็มักจะเป็นผู้ที่ครองชีวิตได้ดี มีเหตุผล และเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่บวชในขณะมีอายุเริ่มเข้าสู่วัยของการบรรลุนิติภาวะ ซึ่งเป็นระยะเริ่มเปลี่ยนจากวัยรุ่นมาสู่วัยผู้ใหญ่ทำอะไรก็มักจะมีความคิดรุนแรงและวู่วาม ถ้าผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ก็จะไร้รับการขัดเกลานิสัย จิตใจ และมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสำหรับควบคุมตัวเอง ในการดำเนินชีวิต
ด้วยเหตุนี้ประเพณีโบราณจึงถือการบวชเรียนของฝ่ายชายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการแต่งงานด้วย กล่าวคือผู้ชายจะต้องผ่านการบวชเรียนมาแล้ว ประเพณีการบวชเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการศึกษาหลักธรรมนี้ นับว่ามีความสำคัญทั้งในส่วนที่เป็นองค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาข้าราชการ และประชาชน
ดังนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่า สถาบันพระพุทธศาสนาที่มีวัด เป็นแหล่งศูนย์กลางของการเรียนรู้วิชาความรู้ต่างๆ ทั้งหลักธรรมคำสอน ศีลธรรมจรรยารวมถึงวิชาความรู้ศาสตร์แขนงต่างๆ นั้นประชาชนชาวไทยก็ได้รับอานิสงค์มาจากการที่วัดเป็นแหล่งสั่งสอน อาจกล่าวได้ว่า สถาบันพระพุทธศาสนาได้สร้างความมั่นคงให้กับชาติไทยอย่างมหาศาล โดยเป็นการสร้างความมั่นคงทางความคิด สติปัญญา และความดีให้กับคนในชาติ คนในชาติจะได้เป็นบุคคลที่ดี มีความรู้ มีความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างชาติไทยอีกทางหนึ่งด้วย
กล่าวโดยสรุป สถาบันพระพุทธศาสนานั้น เป็นสถาบันหลักในการสร้างชาติไทยมาตั้งแต่อดีตกาลที่ต่อเนื่อง ยาวนาน ในหลายๆ แง่มุมด้วยกันดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
สถาบันพระมหากษัตริย์ ในสังคมใดๆ ก็ตาม เมื่อรวมตัวกันเป็น “รัฐ” ขึ้นมาแล้ว คนในชาติจะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่ง ยอมรับในระบอบใดระบอบหนึ่ง เพื่อให้กฎเกณฑ์หรือระบอบนั้นมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองประชาชนภายในรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนในรัฐนั้นๆ จะได้รับการดูแลคุ้มครองจากรัฐตามสมควร เพื่อให้เกิดความผาสุกสวัสดิ์แก่ประเทศโดยรวม หากประชาชนในประเทศใดจะยอมรับอำนาจใดหรือระบอบใดให้เข้ามามีบทบาทมีอำนาจดังกล่าวนั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวในเรื่องนี้ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมที่ขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์ อุปนิสัย และความต้องการของคนในชาติเป็นหลัก
สำหรับประเทศไทยนั้น สังคมของคนไทยเป็นสังคมที่นิยม เคารพ เทิดทูน สถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งนี้เพราะทุกยุคทุกสมัยไม่ว่าคนไทยจะไปลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงเมือง ณ ที่แห่งใดก็ตาม บ้านเมืองของคนไทยก็จะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นเสาหลักค้ำจุนประเทศเสมอ แม้ในยามที่บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญสลายไปก็ตาม เช่น ในยุคของการเสียกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ประเทศไทยก็จะต้องมีคนดีมากอบกู้บ้านเมืองโดยทันควัน เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ เพื่อสืบสันติวงศ์และเป็นเสาหลักของชาติต่อไป
ในสังคมไทยนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต สังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการสืบทอดวัฒนธรรมไทย เป็นผลทำให้สังคมไทยมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากสถาบันกษัตริย์ของชาติอื่น โดยสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรัก เคารพ เทิดทูนอย่างสูงสุดของปวงชน ทั้งนี้เพราะคนไทยถือว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมุติเทพ และเป็นเสาหลักของสังคมไทย ความคิดนี้มีที่มาจากลัทธิพราหมณ์ และฮินดู อันเป็นความเจริญของขอม ทำให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ไทยตามความนับถือโบราณเปรียบเสมือนเทพเจ้าผู้ยังมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามมโนทัศน์ของศาสนาพุทธและฮินดู ผสมผสานกันตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา
การออกผนวชขององค์พระมหากษัตริย์นั้นถือว่าเป็นตัวอย่าง และก่อให้เกิดราชประเพณีอันงดงาม ในฐานะที่ทรงเป็นผู้นำของพุทธศาสนิกชน การที่พระองค์ทรงออกผนวชนั้นก่อให้เกิดแรงศรัทธาแก่บรรดาพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างมาก อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” ได้ทรงประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะทรงใช้หลัก “ทศพิธราชธรรม” ในการปกครองอาณาประชาราชให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยตลอด อีกทั้ง พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ยังทรงเป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์ ทรงให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองมาจวบจนทุกวันนี้
กล่าวโดยสรุป  พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน ศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทรงสร้างความเป็นชาติไทยด้วยการรวมใจของคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน การสร้างตนเองให้เห็นเป็นแบบอย่างในการทำ สร้างสรรค์ในสิ่งที่ดี เพื่อชาติของเรา ทรงทำให้คนไทยทุกคนเห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อให้คนไทยกระทำตามพระองค์ในการธำรงไว้ซึ่งความดี สิ่งนี้จะสร้างชาติไทยให้คงไว้ซึ่งความดี และการมีศูนย์รวมใจดวงเดียวกัน
จะเห็นได้ว่า หากกล่าวว่า ศาสนาเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติแล้วพระมหากษัตริย์ก็เปรียบเสมือน ศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งสองสถาบันดังกล่าวนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างชาติไทยให้มีความเป็นปึกแผ่นมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเยาวชนของชาติ ข้าพเจ้าจะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ดังนี้
ประการแรก ต้องเริ่มจากการที่ตัวเราเอง จะต้องสร้างจิตสำนึก ความตระหนักให้เรารักและหวงแหนทั้งสามสถาบันนี้ ไว้ มิให้ผู้ใดมาดูถูก ดูหมิ่น หรือทำลายได้ รวมถึงต้องประพฤติปฏิบัติต่อทั้งสามสถาบันนี้ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านคำพูดคำจา การกระทำ กิริยาต่างๆ ที่แสดงออกมาทั้งต่อหน้าและลับหลังต้องมีความสม่ำเสมอและเป็นไปในทางยกย่อง เชิดชูทั้งสามสถาบันนี้ไว้เหนือสิ่งอื่นใด
ประการที่สอง เมื่อเราได้ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว เราจึงสามารถเริ่มสั่งสอน สืบทอดความดีงามเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัวเราซึ่งเป็นสถาบันที่ใกล้ตัวที่สุด ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อนพ้อง ฯลฯ โดยการทำให้พวกเขาเกิดจิตสำนึก เกิดความตระหนักในคุณค่า และความสำคัญของทั้งสามสถาบันเช่นเดียวกับเรา และประพฤติในสิ่งที่จะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับทั้งสามสถาบันเฉกเช่นเดียวกันกับเรา
กล่าวโดยสรุป ข้าพเจ้าคิดว่า เราในฐานะเยาวชนของชาติมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ โดยมิใช่แค่การประพฤติปฏิบัติโดยส่วนตัวเท่านั้น แต่เราเยาวชน ซึ่งถือว่าจะเติบโตไปเป็นผู้นำรุ่นต่อไปของสังคม ควรมีหน้าที่ในการสืบทอดทั้งด้านความคิด และการปฏิบัติอันดีงามต่อทั้งสามสถาบันไปสู่บุคคลต่างๆ ในสังคมไทยให้พวกเขาได้รับรู้ และกระทำตามเราได้ด้วย จึงจะได้ชื่อว่าเป็น “เยาวชนผู้ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงแก่สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” อย่างแท้จริง

บทความโดย:ณัฐินี เกรียงชัยพฤกษ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร