ข้อมูลส่วนตัว

รูปภาพของฉัน
จังหวัดมุกดาหาร, ตำบลนาสะเม็ง อำเภอดอนตาล, Thailand
tavamin@hotmail.com

ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บ

ค้นหาบทความในบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

การเจริญเมตตาภาวนา

การเจริญเมตตาภาวนา
รวบรวมโดย  นายเทวมินทร์ แสงดาว
เมตตา....และวิธีเจริญเมตตา:

เมตตาเป็นพรหมวิหารหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ซึ่ง  ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
คำว่าพรหมวิหารนั้น แปลว่า ธรรมอันเป็น เครื่องอยู่อันประเสริฐ หรือไม่มีโทษ ก็ธรรม
เหล่านี้มีเมตตาเป็นต้น จัดว่าเป็นเครื่องอยู่อัน ประเสริฐ ก็เพราะความที่เป็นการปฏิบัติชอบ
ในสัตว์ทั้งหลาย โดยเหตุที่จะนำความสุข ความสวัสดีมาสู่สัตว์เหล่านั้น.................

คุณชาติชื่อว่า "เมตตา" ด้วยอรรถว่า "รัก" ความว่า เยื่อใย หรือ ชื่อว่า "เมตตา" ด้วยอรรถว่า "ความเป็นไปซึ่งมีในมิตร หรือมีต่อมิตร" ความหมายของคำว่า "รัก" ของเมตตานี้ แตกต่างไปจากความรักของตัณหา ด้วยความรักมีสอง อย่างคือ รักด้วยเมตตา และ รักด้วยตัณหา รักด้วยเมตตาเป็นอย่างไร ?  รักด้วยตัณหาเป็นอย่างไร ?

ความรักด้วยเมตตา เป็นความเยื่อใยในคนอื่น ใคร่ จะให้เขาได้ดีมีสุข โดยไม่ได้คำนึงว่า การได้ดีมีสุขของ คนเหล่านั้น ตนเองจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนความรักด้วยตัณหา เป็นเพียงความอยากได้ เป็นเพียงความเพลิดเพลินว่า ถ้าบุคคลนั้นมีอยู่เป็นไป อยู่ก็เป็นความสุขแก่เรา แม้ว่าบางครั้งจะเป็นการกระทำ ที่คิดว่าจะให้ผู้อื่นได้ดีมีสุขก็ตาม ตนเองต้องมีส่วน เกี่ยวข้องในความได้ดีมีสุขนั้นด้วย จึงจะกระทำ

ความรักด้วยเมตตา ไม่มีการหวังผลตอบแทน แม้ เพียงให้ผู้อื่นเห็นความดีของตน จึงไม่เป็นเหตุแห่งความ ทุกข์ ความเสียใจเนื่องจากความผิดหวังในภายหลัง ส่วนความรักด้วยตัณหา มีการหวังตอบแทน ต้องการ ให้เขารักตอบ โดยที่สุด แม้เพียงให้เขาเห็นความดี ของตน เพราะฉะนั้น จึงมีโอกาสเป็นเหตุแห่งความ ทุกข์ความเสียใจ อันเนื่องมาแต่ความผิดหวังในภาย หลังได้ สมตามพระดำรัสที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

นี่เป็นความแตกต่างระหว่าง เมตตา กับ ตัณหา ความจริง คนเรายังละตัณหาไม่ได้อย่างพระอรหันต์
ก็มีทั้งความรักด้วยเมตตา และตัณหา เพียงแต่ว่า ใน ทั้งสองอย่างนั้น อย่างไหนจะเป็นประธานออกหน้ากว่า กันเท่านั้น

เพื่อเป็นการทำความรู้จักกับธรรมชาติ ที่ชื่อว่า "เมตตา" นี้ ดียิ่งขึ้น จึงควรทราบลักษณะเป็นต้นแห่งความเมตตานี้ก่อน ดังต่อไปนี้

เมตตา - มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ
- มีความนำเข้าไป ซึ่งประโยชน์เกื้อกูลเป็นรส (กิจ)
- มีการกำจัดความอาฆาตเป็นอาการปรากฏ
- มีการเล็งเห็นภาวะ ที่สัตว์ทั้งหลายน่าพอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ก็สมบัติ คือ คุณของเมตตานี้ ได้แก่ความเข้าไปสงบความ พยาบาทได้นั่นเอง เพราะธรรมชาติของเมตตา เป็นไปเพื่อ กำจัดโทสะ ความเกิดขึ้นแห่งความใคร่ จัดว่าเป็นความวิบัติ ของเมตตา เพราะเหตุที่จะกลับกลายเป็นความรักด้วย ตัณหาไป ดังนี้
เพื่อเป็นการปลูกอุตสาหะ จะได้กล่าวถึงอานิสงส์ หรือ ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการเจริญเมตตา ผู้เจริญ เมตตา พึงได้รับอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ
๑. หลับเป็นสุข
๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดารักษา
. ไฟก็ดี ยาพิษก็ดี อาวุธก็ดี ย่อมล่วงเกินเขาไม่ได้
๘. จิตย่อมตั้งมั่นได้เร็ว
๙. มีสีหน้าผ่องใส
๑๐. ไม่หลงตาย
๑๑. เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงไปกว่านี้ไม่ได้ ก็จักเข้าถึงพรหมโลก

ซึ่งมีคำอธิบายตามลำดับดังนี้.....................
.........(ข้อเว้นคัดลอกข้อข้างต้น)................

- ข้อว่า ไม่หลงตาย ความว่า..........ส่วนผู้มีใจ มากด้วยเมตตา เมื่อถึงวาระนั้น (เวลาใกล้ตาย) ใจที่
อบรมดีแล้วด้วยเมตตา ย่อมไม่ตกเป็นทาสของทุกขเวทนา มีสติเอาชนะความโกรธไม่พอใจได้ เมื่อตายไประหว่างนั้น เชื่อว่าไม่หลงตาย

- ข้อว่า เมื่อยังแทงตลอดธรรมที่สูงยิ่งไปกว่านี้ไม่ได้ ก็จะเข้าถึงพรหมโลก ความว่า ข้อนี้สำหรับผู้เจริญ
สมถ กรรมฐาน ข้อเมตตา จนบรรลุถึงอัปนาสมาธิ หรือ เรียกว่า ฌาน เมื่อมิได้แทงตลอดคุณวิเศษอื่นๆ ที่ยิ่งไป กว่านี้ คือความเป็นอรหันต์ เมื่อฌานที่ได้นั้นไม่เสื่อมไป เสียก่อน เขาย่อมเข้าถึงพรหมโลกต่อไป...................

วิธีเจริญเมตตา

อันดับแรก ก่อนที่จะเจริญเมตตา ควรพิจารณาคุณของขันติ คือความอดกลั้น และโทษของความโกรธก่อน ถามว่า เพราะเหตุใด เพราะว่าการเจริญเมตตานี้เป็นไปเพื่อละโทสะ และเพื่อบรรลุธรรม
คือ ขันติ ถ้าเราไม่รู้จักโทษของความโกรธ เราก็จะละความโกรธไม่ได้ และถ้าไม่รู้จักคุณของขันติ ก็จะบรรลุขันติไม่ได้ ควรพิจารณาเสมอว่า คนเราถ้าขาดความอดกลั้นเสียอย่างเดียว
จะทำการงานอะไรๆ ให้สำเร็จมิได้เลยเพราะมีปัญหาอะไรนิดๆหน่อยๆ เขาก็ทนไม่ได้ คืองานหนักหน่อยก็บ่น ไม่ถูกใจผู้บังคับบัญชา หรือ เพื่อนร่วมงาน แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆก็บ่น ก็ทนไม่ได้ จะหยุดงาน จะลาออก อย่างนี้แล้วจะไปประสบความสำเร็จในการงานอาชีพอะไรได้ เพราะมัวแต่ตั้งต้นกันใหม่ เริ่มกันใหม่อยู่ร่ำไป ทางโลกซึ่งเป็นเรื่องหยาบ ยังเป็นอย่างนี้ ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในส่วนเบื้องสูง จะป่วยกล่าวไปใยถึงความสำเร็จ ขันติจึงเป็นธรรมที่ต้องการอย่างยิ่ง ในเบื้องต้น ขาดขันติแล้ว การเจริญกุศลทุกอย่าง ย่อมสำเร็จไปไม่ได้ แม้แต่กุศลขั้นต่ำสุด คือทาน ได้แก่การให้ก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอ รู้สึกว่ายากลำบากหน่อยก็จะทำได้ไม่ดี เพราะพอรู้สึกว่ายากลำบาก หน่อยก็จะไม่ทำ เมื่อกุศลขั้นต่ำสุด ยังทำไม่ได้ กุศลที่สูงยิ่งไปกว่านี้ จึงมิจำเป็นต้องพูดถึง เพราะเป็นเรื่องที่ต้องฝืนกิเลสมากกว่า จึงต้อง ใช้ความอดกลั้นมากกว่า ก็เป็นอันว่า ขันติคือความอดกลั้น เป็นธรรมที่จำเป็นต้องมีกำกับใน การกระทำกุศลทุกอย่าง เพราะเหตุนั้นนั่นเอง จึงทรงตรัสสรรเสริญธรรม คือ ขันตินี้ไว้ในฑีฆะนิกาย มหาวรรค ว่า

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
ซึ่งแปลว่า "ขันติ คือ ความอดกลั้นเป็น ตบะ (ธรรมเครื่องแผดเผา กิเลสให้ไหม้ไป) อย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวนิพพานว่า เป็นธรรมที่ยอดเยี่ยม" ดังนี้ หรือใน ขุทกนิกาย ธรรมบท ๒๕/๖๙ ว่า
ขนฺติพลํ พลานีกํ ตมฺหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ

ซึ่งแปลว่า "เรากล่าว บุคคลผู้มีขันติเป็นกำลังเป็นกองทัพนั้นว่า เป็นพราหมณ์" ดังนี้
หรือใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๓๒๕ ว่า

ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

ซึ่งแปลว่า "ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติ หามีไม่" ดังนี้เป็นต้น นี้เป็นคุณของขันติที่พึงพิจารณาเนืองๆ ส่วนสำหรับโทษของความโกรธนั้น มองเห็นได้ง่าย เช่นว่า
- คนเราจะประสบความสำเร็จในงานอาชีพ เพราะความโกรธ ก็หาไม่ ที่แท้แล้วมันจะล้มเหลวพินาศไปก็เพราะความโกรธนั่นแหละ
- คนมักโกรธ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้อยากคบเพราะเขากลัวจะ มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งขัดเคืองใจกัน
- คนเราเมื่อความโกรธครอบงำ โอกาสที่จะขาดสติสัมปชัญญะ กระทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา และด้วยใจ ย่อมมีได้ ทั้งๆที่ไม่คิด ว่าจะทำได้มาก่อน ซึ่งอย่างน้อยมันก็จะเป็นเหตุให้ต้องเสียใจ เสวยทุกข์โทมนัสในการกระทำของตนในภายหลังได้ ในเมื่อได้สำนึก
- หลายคนต้องเสวยทุกข์ เสวยความลำบากเพราะการถูกลงโทษ ลงอาญาจากทางบ้านเมือง รวมทั้งต้องเสวยทุกข์ด้วยความเดือดร้อน ในอบาย เพราะกรรมชั่วที่ทำด้วยความโกรธ
ฯลฯ อนึ่ง โทษของความโกรธ พึงทราบโดยนัยตรงข้ามกับอานิสงส์
ของเมตตา ประการที่กล่าวมาแล้วนั่นเทียว นี้เป็นโทษของความโกรธที่พึงพิจารณาเนืองๆ
ก็เมื่อจะอบรมจิต เจริญเมตตา ควรแยกบุคคลที่เป็นอารมณ์ของ เมตตาออกก่อน ไม่ควรเจริญในบุคคล ๔ ประเภทก่อน คือ คนที่เกลียด ๑ คนกลางๆ ๑ คนที่รักมาก ๑ คนมีเวร หรือเป็นศัตรูกัน ๑ เพราะจิตใจที่ยังไม่คุ้นเคยกับความรู้สึกของเมตตา เมื่อพยายามจะ แผ่ความรักไปยังคนที่เกลียด โดยทำให้เป็นที่รัก ย่อมลำบาก ทำได้ยาก ถ้าพยายามแผ่ไปในคนที่รักมาก เช่น บุตร ภรรยา หรือสหายรัก โอกาสที่ จะเกินเลยกลายเป็นตัณหาไปก็มีมาก สำหรับบุคคลที่เป็นกลางๆ ไม่ได้รัก แต่ไม่ถึงกับเกลียด การที่จะทำให้ความรู้สึกพอใจ อิ่มเอิบใจเป็นไปใน บุคคลนั้นได้นานๆ ย่อมเป็นการลำบาก ส่วนผู้ที่มีเวรเป็นศัตรูกันมาก่อน นั้นเล่าก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงกันเลย เพราะปกติเพียงแต่นึกถึงเขาใน แง่ดีบ้าง ก็ยังยากอยู่แล้ว จะป่วยการกล่าวไปใยถึงการที่จะแผ่เมตตาไปในเขา เพราะฉะนั้น แรกเริ่มเดิมที ควรเว้นบุคคลเหล่านี้เอาไว้ก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้เริ่มที่ใครก่อนเล่า ?
ตอบว่าในตนเองก่อน ควรสงสัยว่า ทำไมจะต้องให้แผ่เมตตาไป ในตนก่อน เพราะตามปกติ คนเราก็มีความรักในตนเองอยู่แล้ว? ตอบว่า ความรักที่มีในตนนั้น สำหรับผู้ที่มิได้มีจิตอบรมมาทางเมตตา จนเกิดความคุ้นเคยแล้ว มักจะเป็นไปด้วยอำนาจตัณหาไม่ใช่เมตตา เพราะมันเกิดขึ้นโดยสักแต่เห็นว่า "เป็นเรา" เมื่อเป็นเช่นนี้อะไรๆ ที่เกี่ยวกับตัวเรามันก็เป็นไปได้ในด้านดีไปเสียทั้งนั้น ก็แต่ว่า ความเมตตาที่เป็นไปในตนที่ประสงค์เอาในที่นี้ ได้แก่ที่ทำให้ เกิดขึ้นในฐานะว่า เราก็เป็นสัตว์โลกผู้หนึ่งเช่นเดียวกับคนอื่นๆที่รักสุข เกลียดทุกข์เท่านั้นเอง พูดง่ายๆว่า การเจริญเมตตาในตนก็คือการทำ ความใคร่ต่อประโยชน์สุข และประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นให้เกิดขึ้นโดย ตั้งตนไว้ในฐานะแห่งพยานนั่นเอง โดยนัยว่า "เราเป็นผู้ใคร่สุขเกลียดทุกข์ รักชีวิตและไม่อยากตายฉันใด แม้บุคคลอื่น สัตว์อื่นทั้งหลายก็ฉันนั้น" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งแม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย
สคาถวรรค ๑๕/๑๐๙ ว่า
 สพฺพา ทิสา อนุปริคคมฺม เจตสา
เนวชฺฌคา ปิยตรมตฺตนา กฺวจิ
เอวํ ปิโย ปุถุ อตฺตา ปเรสํ
ตสฺมา น หึเส ปรมตฺตกาโม

ซึ่งแปลว่า
" เราเที่ยวตามค้นหาด้วยใจตลอดทิศทั้งปวง ก็ไม่ได้พบพานบุคคล ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่า ตน ในที่ไหนไหนถึงตนของคนเหล่าอื่น ก็เป็นที่รัก มากมายอย่างนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้รักตน ไม่ควรเบียด เบียนผู้อื่น" ดังนี้ เมื่อได้อบรมเมตตา โดยตั้งต้นไว้ในฐานะพยานอย่างนี้ จนคุ้นเคย คล่องแคล่วดีแล้ว ต่อไปก็ให้แผ่ไปในบุคคลอื่นๆ คือในบุคคลผู้เป็น
ที่รักอย่างกลางๆ ไม่ถึงกับเป็นที่รักมากค่อนไปในทางเคารพบูชา เช่น ผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูเป็นอาจารย์เป็นต้น จนคุ้นเคยคล่องแคล่วดีแล้ว ต่อจากนั้นก็แผ่ไปในบุคคลที่รักมาก ที่มีเวร หรือเป็นศัตรูกันถ้าหากว่า มีตามลำดับ ก็แต่ว่าเวลานึกถึงบุคคลผู้มีเวรกันนั้น ความขัดเคืองย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะได้ระลึกถึงโทษที่เขาได้ทำไว้แก่เรา ก็เป็นเหตุขัดขวางการเจริญเมตตา เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ความขัดเคืองอันนั้นสงบลงไปโดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้ก่อน
- ลำดับแรกตักเตือนตนเองว่า พระพุทธเจ้าทรงติเตียนผู้ที่โกรธตอบผู้อื่นว่า เลวกว่าเขา เพราะเหตุที่รู้อยู่แล้วว่า ความโกรธนั้นเป็นของไม่ดี ก็ยังทำให้มัน เกิดขึ้นในใจของตนอีก เท่ากับช่วยขยายความโกรธนั้นให้แผ่กว้างออกไป
- คนที่เป็นศัตรูย่อมปรารถนาไม่ดีต่อศัตรูของตนว่า "ขอให้ผิวพรรณทราม" บ้าง "ขอให้อัตคัด ยากจน" บ้าง "ขอให้ทรัพย์สมบัติพินาสวอดวาย" บ้าง ตลอดจน "ขอให้ตกนรก" บ้าง ก็แต่ว่าการที่เราโกรธเขาแล้วปรารถนาอย่าง
นี้นั้น ผู้ที่มีโอกาสประสบความไม่สวัสดีก่อนเป็นคนแรกคือ เรานี้เอง เพราะความโกรธที่เกิดขึ้นขณะนี้ กำลังทำให้เรามีหน้าตาขมึงทึง ผิวพรรณทราม และถ้าหากว่าลุแก่อำนาจของความโกรธแล้ว เราก็ต้องทำกรรมชั่ว มีหวังว่า
จะต้องประสบกับความอัตคัด ยากจน เป็นต้น ตลอดแม้จน ตกนรกก็ได้ พราะฉะนั้น การโกรธเขาก็คือการให้ทุกข์แก่ตน เหมือนซัดทรายทวนลม ไปฉะนั้น
ถ้าได้ตักเตือนตนอย่างนี้แล้วยังมิได้ผล ก็ลองใช้วิธีอื่นดู คือ ความประพฤติของคนเรามี 3 แบบ คือ ความประพฤติทางกาย ความประพฤติทางวาจา และความประพฤติทางใจ บางคนความประพฤติทางกายไม่ดี เช่น เป็นคนหยาบคายทางกริยา ลุกลี้ลุกลน ไม่สำรวม แต่ ความประพฤติทางวาจาของเขาดี คือ พูดจาอ่อนหวาน พูดจาชัดถ้อยชัดคำ พูดง่ายๆ ว่าดีทางเจรจาให้คน ฟังชอบใจ กรณีนี้ให้เรานึกถึงแต่ความประพฤติทางวาจาของเขา โดยอย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางกายของเขา ความขัดเคือง ก็มีโอกาสสงบลงได้ หรือบางคนความประพฤติทางวาจาไม่ดี มีพูดจาสามหาว มากไปด้วย
คำหยาบเป็นต้น แต่มีความประพฤติทางใจดี เช่นเป็นผู้มากในการทำกุศล เช่นชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นต้น อย่างที่เราเรียกว่า ปากร้ายใจดีนั่นแหละ เราก็อย่าพยายามนึกถึงความประพฤติทางวาจาของเขาให้พยายามนึกถึง ความประพฤติทางใจของเขาเท่านั้น ความขัดเคืองก็มีโอกาสสงบลงได้ หากว่าบางคนมีความประพฤติไม่ดีเลยทั้งสามทาง ก็ไม่มีอุบายวิธีอื่นใด นอกจากตั้งความกรุณาให้เกิดขึ้น ว่า "บุคคลผู้นี้ อุตส่าห์ได้อัตตภาพมา เป็นมนุษย์แล้ว ก็ปล่อยโอกาสให้เสียไป จะประพฤติอะไรให้สมกับ อัตตภาพไม่มีเลย เขามีโอกาสท่องเที่ยวไปในโลกมนุษย์ก็แต่อัตตภาพนี้ เท่านั้น อัตตภาพต่อไปก็เห็นทีว่าจะท่องเที่ยวอยู่แต่ในอบายมีนรกเป็นต้น เป็นแน่แท้" ดังนี้ ความขัดเคืองก็พอจะสงบระงับไปได้เหมือนกัน
ถ้าหากว่า โดยอุบายวิธีนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่ นั้นเอง ก็ลองให้โอวาทตนเองดังต่อไปนี้ดู
คือ ให้พิจารณาถึงภาวะ ที่บุคคลมีกรรมของตน ว่า "ทุกคนมีกรรมเป็นของตนจะ ประสบสุข ประสบทุกข์ ก็ด้วยกรรมของตนที่ได้กระทำไว้เท่านั้น ไม่มีใครทำให้ บัดนี้ตัวเจ้าอาศัยความโกรธ คิดจะกระทำตอบแทนต่อเขา ก็กรรมที่คิดจะกระทำ
ต่อเขานั้น มันจะเป็นไปเพื่อความทุกข์ ความไม่สวัสดีแก่เขาก็หาไม่ ที่แท้ตัวเจ้า ผู้กระทำนั่นแหละ จะเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น เปรียบเหมือนการจับก้อนอาจม หรือ ก้อนถ่านลุกแดง ใคร่จะปาให้โดนผู้อื่น คนจับปานั่นแหละเป็นคนเปื้อนอาจม ก่อน ถึงฝ่ายเขาก็เช่นเดียวกัน การที่เขามุ่งร้ายต่อเรา ทำกรรมไม่ดีต่อเขา เขานั่นแหละ จักเป็นผู้รับผลแห่งกรรมชั่วที่เขาก่อไว้ มิใช่เราทำให้" ดังนี้ ก็อาจจะยังความโกรธ ความไม่พอใจให้สงบระงับได้ ถ้าหากว่า โดยอุบายนี้แล้ว ยังไม่ได้ผลอีก ยังมีความโกรธความขัดเคืองอยู่นั่นเอง ก็ลองใช้อุบายอื่นอีก คือ สำหรับบุคคลผู้มากด้วยศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็พึง
พิจารณาความประพฤติของพระศาสดาในครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ บำเพ็ญ ปารมีอยู่ โดยอาศัยเรื่องราวในชาดก อันกว่าด้วยการบำเพ็ญขันติบารมีว่า ในครั้งนั้นๆ พระโพธิสัตว์ทรงอดกลั้นต่อความโกรธ ไม่ลุแก่อำนาจของความโกรธ
แม้ต่อผู้ที่มาปลงชีวิตของพระองค์ดังนี้ เป็นต้น สำหรับเราเรื่องก็เพียงเล็กๆน้อยๆ
ไม่ถึงขนาดว่าจะเอาชีวิตอะไรกันยังอดกลั้นไม่ได้ ป่วยการที่จะนับถือพระพุทธองค์ ว่าเป็นศาสดา ด้วยว่าโอวาทจากพระองค์เพียงเล็กๆน้อยๆ ก็ยังปฏิบัติตามไม่ได้ หากว่าความโกรธยังไม่สงบอีก แม้ด้วยอุบายวิธีนี้ เพราะเหตุที่เป็นผู้มีกิเลสสะสม มาหนาแน่น อย่างยากที่จะสะสาง ก็พึงพิจารณาความที่ตนมีความเกี่ยวข้องในด้านดี กับคนอื่น มาแล้วในสังสารวัฏฏ์อันยาวนาน โดยนัยแห่งพระดำรัส ที่ตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ๑๗/๒๒๓-๒๒๔ ว่า
"น โส ภิกฺขเว สตฺโต สุลภรูโป โย น มาตา ภูตปุพฺโพ ฯเปฯ" ดังนี้ เป็นต้น
ซึ่งแปลว่า
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา ที่ไม่เคยเป็นบิดา ที่ไม่เคยเป็นพี่ชาย น้องชาย ที่ไม่เคยเป็นพี่สาว น้องสาว ที่ไม่เคยเป็นบุตร ที่ไม่เคยเป็นธิดาหาได้ไม่ง่ายเลย" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ความคิดอย่างนี้ว่า "ในสังสารวัฏที่เราเกิดๆ ตายๆ อยู่นาน หนักหนานี้ ผู้นี้อาจเคยเป็นบิดา เป็นมารดา ผู้เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูเรามา ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ด้วยความรัก แม้ชีวิตก็ยินดีสละให้ได้ ในเวลานี้โทษที่เขาทำ กับเราแม้ว่ามีอยู่ แต่เมื่อเทียบกับบุญคุณในอดีตก็เป็นของเล็กน้อยนัก ไม่น่าถือ โกรธเลย" อะไรทำนองนี้ ความโกรธก็อาจสงบระงับได้ หรือไม่เช่นนั้น ก็โดยอุบายแยกธาตุ โดยนัยว่า "ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ความจริงแล้ว สัตว์บุคคลหามีไม่ ที่แท้แล้วก็เป็นเพียงความเป็นไป ของนาม และรูป ซึ่งนามนั้นก็ยังประกอบด้วยขันธ์ต่างๆ มีเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ถึงรูปแม้ว่าจะเป็นรูปขันธ์อย่างเดียว แต่รูปขันธ์นั้น ก็ยังประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป" ก็ที่เราสำคัญว่า "โกรธเขานั้น โกรธใคร โกรธอะไร โกรธเวทนาหรือโกรธสัญญา โกรธธาตุดิน หรือโกรธธาตุน้ำ -- - - - " ก็จะหาบุคคลผู้ที่เราจะโกรธไม่ได้
ความโกรธย่อมมีโอกาสสงบระงับได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่สงบระงับอีก ก็ลองใช้วิธีจำแนกทาน คือให้ตัดอกตัดใจสละของ อะไรๆที่มีค่าพอที่จะรู้สึกว่าเป็นการบริจาคให้แก่ผู้ที่เราผูกโกรธ ไม่พอใจคนนั้นไป วิธีนี้อาจจะสงบระงับความโกรธ ความไม่พอใจแต่ดั้งเดิมได้ เพราะการให้เป็นการ สร้างความรู้สึกที่เป็นมิตรอย่างหนึ่ง อุบายวิธีต่างๆ เพื่อสงบระงับความโกรธความไม่พอใจเท่าที่กล่าวมานี้ ก็สามารถนำไปใช้ได้ในกาลทุกเมื่อความโกรธสงบระงับเป็นอย่างดีแล้ว ก็อบรมเมตตา ทำให้เป็นธรรมชาติที่คุ้นเคย ต่อไป ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเนื้อหาสาระบางประการที่ควรทราบเกี่ยวกับ เมตตาพรหมวิหาร ส่วนเนื้อหาสาระ เกี่ยวกับการเจริญเมตตา จนจิตสงบ ระงับไปตามลำดับจนกระทั่งบรรลุถึงอัปปนา หรือ ฌาน จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ ความละเอียดในเรื่องนี้ ผู้สนใจจะหาดูได้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเถิด.

*********************
เมตตาภาวนา
เขียนโดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
คัดลอกจากหนังสือ อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ
รวบรวมในหนังสือ ความจริงเกี่ยวกับ ความรัก ความโกรธ และ ความเมตตา เล่ม ๓” 

อานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนา . หลับเป็นสุข
. ตื่นเป็นสุข
. ไม่ฝันร้าย
. อมนุษย์รักใคร่
. มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง
. ไฟ ศาสตราวุธ ยาพิษ ไม่อาจกล้ำกราย
. ผิวหน้าย่อมผ่องใส
. จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๑๐. เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลง
๑๑. เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

     เมื่อเจริญเมตตาภาวนาบ่อยๆ จะมีอานิสงส์ช่วยระงับความโกรธได้     ให้เจริญเมตตาให้กับตัวเองก่อนโดยอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา ให้พยายามรักษาใจให้สงบนิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า พักหนึ่ง การแผ่เมตตาให้กับตัวเอง
    อะหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข
     ยกขึ้นมาพิจารณาทุกครั้งที่รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
     ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์โกรธ หรือเมื่อเราได้โกรธคนอื่น เราโกรธเขา เขาก็เป็นทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์มากกว่าเรานั่นแหละ เขาก็กำลังแก่ กำลังเจ็บไข้ ป่วย กำลังจะตาย เหมือนเรานั่นแหละ
     เขาก็กำลังประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เหมือนกับเรา เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปในที่สุด ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ได้

     ความสุขอยู่ที่การปล่อยวางสิ่งภายนอก และสัญญาอารมณ์ต่างๆ ระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าถอนจิต ถอนอุปาทานจากอารมณ์โกรธ น้อมเข้ามา ๆ ให้จิตพักอาศัยอยู่ที่ลมหายใจ
     เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร
     หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ      หายใจเข้าช้า ๆ ลึก ๆ หน่อย
     หายใจออกยาว ๆ สบาย ๆ      หายใจเข้า สบาย ๆ ภาวนาว่า
     ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข    หายใจเข้า
     หายใจออก สบาย ๆ              แล้วพิจารณาต่อว่า      นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไร้ทุกข์
     ความชั่วร้ายของเขา เป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องไปคิด ไปเกาะติดยึดมั่นถือมั่น แบกเอาไว้
     ความชั่วของใครก็เป็นของร้อนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราไปยึดติดเมื่อไร ก็เดือดร้อน เป็นทุกข์เมื่อนั้น
     ถึงแม้ว่า เขาผิดจริงก็ตาม ผู้มีปัญญา ผู้หวังความสุข ไม่เอามาคิดเป็นอารมณ์ ให้ระวัง ๆ แล้วพิจารณาต่อว่า      อะเวโรโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร
     ตรวจตราดูความรู้สึกภายในใจตัวเอง หรือสังเกตดูความนึกคิดของเรา ว่ามีเวรหรือไม่
     จองเวรเขา ก็เหมือนจองเวรตัวเอง ทำให้จิตเศร้าหมอง
     เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร
     ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องเป็นผู้ไม่มีเวร ให้ระงับความรู้สึก นึกคิดจองเวรใคร ๆ ออกไปจากภายในใจของเรา ให้อภัย อโหสิกรรมแก่ทุกคน
     ทุกครั้งที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ชำระความรู้สึก ความนึกคิดจองเวรให้หมดไป ๆ
     เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร หายใจออก หายใจเข้า สบาย ๆ แล้วพิจารณาต่อ      อัพยาปัชโฌโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
     ตรวจตราภายในใจดูว่า มีความรู้สึกนึกคิดเบียดเบียนใครหรือไม่ ถ้าเขาคิดอย่างนี้กับเรา พูดอย่างนี้กับเรา ทำอย่างนี้กับเรา เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่สบายใจ เราก็ไม่น่าคิดกับเขาอย่างนั้น รักษาใจ ไม่ให้หวั่นไหวต่ออารมณ์พอใจ และไม่พอใจที่มากระทบ
     จงสร้างเกาะไว้เป็นที่พึ่งด้วย สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ หิริโอตตัปปะ และขันติ คือความอดทน รวมกันไว้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้มีทุกข์ ไม่ให้เบียดเบียนใคร ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า     สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ จงรักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด
     ให้ระลึกถึงปีติสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เรื่อย ๆ ๆ ๆ
     รู้เฉพาะปีติสุข หายใจออก รู้เฉพาะปีติสุข หายใจเข้า
     ให้หัวใจของเรานี้เต็มไปด้วยปีติสุข แล้วแผ่ความสุขออกไป ๆ ๆ ๆ
     การแผ่เมตตานี้ ต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเองก่อน จนให้เกิดความสุขใจ
     การจะให้เกิดความสุขใจนั้นต้องอาศัย สมาธิ และ ปัญญาสนับสนุนกัน ด้วยอำนาจสมาธิ จิตสามารถยังปีติสุขให้เกิดได้ และต้องใช้ปัญญาเห็นโทษของการคิดผิด คิดเบียดเบียน ฯลฯ ให้ระงับความคิดเหล่านั้นด้วยสติปัญญา จึงจะเกิดเมตตาได้ การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์
     สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
     ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงความสุข
     เมื่อใจเรามีความสุข มีเมตตา มีความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี มีความรักที่บริสุทธิ์ ให้แผ่ความรัก ความเมตตาที่บริสุทธิ์กระจายออกไปจากหัวใจของเราไปยังสรรพสัตว์
     วิธีแผ่เมตตา มี ๒ วิธี คือ
     วิธีที่ ๑. อาศัยนิมิต
     วิธีที่ ๒. ไม่มีนิมิต      อาศัยนิมิต เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว ขณะที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ให้นึกมโนภาพถึงคนที่เราตั้งใจจะแผ่เมตตาไปให้ไว้เฉพาะหน้า หรือไว้ที่หัวใจ นึกมโนภาพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กำลังมีความสุขของเขา และส่งกระแสเมตตาจิตไป ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
     เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดตัวเราที่รักกันอยู่ก่อน เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ต่อไปก็คนที่เป็นกลาง ๆ ไม่รัก ไม่ชัง ค่อย ๆ แผ่ไป ๆ ทีละคน ทีละกลุ่ม
     ต่อไปก็ถึงคนที่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับเขา ตั้งใจ หวังดีต่อเขา ปรารถนาดีต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขเถิด ขอให้ไม่มีเวรซึ่งกันและกันเถิด ขอให้เราอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย      ไม่มีนิมิต เมื่อเราพร้อมแล้ว เรามีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้าแล้ว สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ถึงความสุข พยายามทำความรู้สึกที่ดี ความปรารถนาดี ความรักที่บริสุทธิ์ แผ่ออกไป รอบ ๆ ตัวเรา ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
     พยายามนึกไปกว้าง ๆ ไกล ๆ คลุมไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล มีแต่ความสุข ทุกลมหายใจออก เข้า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ หายใจออกเต็มไปด้วยความสุข หายใจเข้าเต็มไปด้วยความสุข
     กามวิตก พยาบาทวิตก หิงสาวิตก เป็นศัตรูต่อการเกิดเมตตาจิต เมื่อใจเรามีเมตตา จิตใจก็จะสงบ มีความสุข ไม่ต้องคิดเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก จากใครอีกต่อไป พ่อแม่ไม่รักเรา ลูกหลานไม่รักเรา สามีภรรยาไม่รักเรา ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป เพราะหัวใจของเราเต็มไปด้วยความสุขและความรัก เรามีแต่ให้ ๆ ๆ ๆ ๆ พรหมวิหาร ๔
     คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่
     เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง ใครที่อดอยาก ทุกข์ยากลำบาก ด้อยกว่าเรา เราอยากให้เขามีความสุขด้วยการให้ทาน ช่วยเหลือสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีความสุขเราก็มีความสุขด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กำลังอด ๆ หิวข้าวอยู่ เราก็ให้อาหาร เขาก็มีความสุขในการกิน เราก็มีความสุข แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าเราตามใจลูกหลาน เขาอาจพอใจ แต่เสียนิสัยก็เป็นได้ ต้องระวัง

     พรหมวิหาร มี ๔ ข้อ แต่ต้องเจริญเมตตาก่อน ไม่มีเมตตา กรุณามีไม่ได้
     ไม่มีกรุณา มุทิตา อุเบกขาก็มีไม่ได้ การเจริญเมตตาง่ายกว่าข้ออื่นทุกข้อ

     กรุณา คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า และยากกว่าเมตตา เป็นความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ รู้จักผิดถูก เมื่อเขาทำผิดต้องชี้แจง แนะนำ สั่งสอน เพื่อให้เขาละความชั่ว ความผิด แก้ไขตัวเอง อันนี้เราต้องมีจิตใจกล้าหาญ ถ้าใจดีแต่ใจอ่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเราเจตนาดีแต่เขาอาจจะไม่พอใจ อาจจะกระทบกระเทือนใจเขา เขาอาจจะโกรธเรา พ่อแม่ที่เมตตารักลูกก็มีแยะ แต่คนที่มีกรุณาก็น้อย เพราะต้องดุ ต้องว่า ต้องสอน บางทีก็ต้องลงโทษด้วย นี่เป็นกรุณา      มุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่ากรุณาอีก เขาได้ดีกว่าเรา เราไม่อิจฉา ยินดีมีความสุขกับเขาด้วย เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกับเรา เรียนเก่งกว่าเรา หล่อกว่าเรา รวยกว่าเรา ตำแหน่งก็ได้สูงกว่าเรา ภรรยาของเขาสวยกว่าภรรยาเรา เรารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา อะไร ๆ ก็ดีกว่าเราทุกอย่าง (จริง ๆ แล้วไม่แน่) แต่เรายินดีกับเขาด้วย อันนี้เป็นมุทิตาจิต

     มุทิตาจิตนี้ละเอียด ทำยาก ขนาดพระ ครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตา กรุณามาก แต่มุทิตาจิตนี้ก็มียาก มุทิตาจิต เป็นจิตที่ไม่อิจฉา สูงกว่ากรุณา และทำยากกว่า      อุเบกขา วางเฉยนี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก อะไรจะเกิด ใครจะนินทาก็ไม่หวั่นไหว รักษาใจเป็นกลาง เฉย ๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ต้องเข้าใจเรื่องเหตุผลและเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญา จึงจะเกิดอุเบกขาได้
อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา จึงจะเป็นอุเบกขาจริง ๆ

**************
เมตตาธรรม ว่าด้วยการเจริญเมตตาภาวนา
      สองตอนที่แล้ว ว่าด้วยเรื่องลักษณะและคุณสมบัติของเมตตาธรรมไปแล้วอย่างกว้างๆ ตอนนี้ขอขยายความวิธีการเจริญเมตตาครับ
      การเจริญเมตตา จัดเป็นมหากุศลจิตเพราะสร้างให้เกิดจิตที่ประกอบไปด้วยองค์ธรรมอันงดงาม สะอาดและบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสเข้าเจือปน
      การเจริญเมตตาจึงจัดให้อยู่ในการปฏิบัติขั้นกรรมฐาน คือ เมตตาภาวนาจัดอยู่ใน จตุอารักขกัมมัฏฐาน หมายถึงการเจริญกรรมฐาน๔ อันเป็นเครื่องรักษาตนให้ผู้ปฏิบัตินั้นให้สงบระงับจากกิเลสทั้งทางกายและทางใจ ที่ควรเจริญเป็นนิตย์ 
      มี ๔ อย่างคือ คือ ๑) พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่มีในพระองค์ และทรงเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ๒) เมตตา แผ่ไมตรีจิต คิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า ๓) อสุภะ พิจารณาร่างกายตนและผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม ๔) มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตนเป็นธรรมดา
      ทั้งสี่อย่างนี้ เป็นการฝึกการเจริญเพื่อก่อให้เกิดจิตใจสงบ รำงับจากกิเลส เกิดจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงเหมาะสำหรับนำมาปฏิบัติเป็นฐานจิตก่อนเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
      แต่ผมขอมุ่งประเด็นไปที่หลักการเจริญเมตตาภาวนาก่อนนะครับ อย่างอื่นๆค่อยพูดถึงภายหลัง
      หลักการเจริญกรรมฐานนั้น ต้องมีอารมณ์มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตให้เกาะติด เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน ดังนั้น การเจริญเมตตาภาวนาก็ต้องรู้ว่าอารมณ์ของจิตที่จะสร้างให้เกิดเมตตาจิตนั้น คือใคร เช่น มุ่งเอาสัตว์หรือบุคคลใดมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน
      อารมณ์กรรมฐานของเมตตาจึงมี ๒ แบบ คือ
      ๑) แบบเฉพาะเจาะจง คือ การตั้งจิตมุ่งไปหาสัตว์บุคคลที่เรารู้จักและคุ้นเคย
      ๒) แบบไม่เจาะจง คือ การตั้งจิตไปยังสัตว์บุคคลทั้งหลาย โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร
      ดังนั้น หลักการเจริญเมตตาขั้นเริ่มต้น ควรเริ่มที่แบบที่หนึ่งก่อน คือแบบเฉพาะเจาะจงไปยังสัตว์บุคคลที่เรารู้จัก ที่ง่ายที่สุด คือ น้อมจิตระลึกถึงบุคคลที่เรารักมากที่สุดก่อน เพราะเมตตาจะได้เกิดขึ้นง่าย
       บุคคลนั้นได้แก่ ตัวเราเอง !
      ครูบาอาจารย์ท่านว่า ตัวของเราเป็นบุคคลที่เรารักมากที่สุด ตามสำนวนที่ว่า คนปุถุชนสามัญนั้น"หารักใดเสมอด้วยรักตน ไม่มี" รึใครจะเถียง!
      ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นที่ตัวเราระลึกถึงตัวเราก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของความทุกข์ที่เรามีอยู่หรือได้รับในขณะนั้นๆ(ในสภาพเหตุการณ์จริงๆของเราเอง) เพื่อที่จะได้น้อมจิตลงพิจารณาดูว่าจะต้องเกิดทุกข์เพราะเหตุใด
      แล้วสรุปลงว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยความพกพร่องของกายและใจ เพราะอาศัยการกระทำผิดต่อกันและเพราะการอาศัยอยู่ร่วมกันก็ต้องเบียดเบียนกัน มากบ้างน้อยบ้าง อาศัยการเบียดเบียนนั้นก่อให้เกิดศัตรูอาฆาตคอยจองเวรต่อกันและกันอีก เป็นการระลึกถึงทุกข์ในวัฏฏะ ระลึกแล้วเกิดความเมตตา รักตน สงสารตน
      ว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสนลำบาก มีทุกข์เข้าครอบงำและวกวนเวียนอยู่ในกองทุกข์อยู่เสมอไม่รู้จบ ปรารภทุกข์ของเรามาเป็นอารมณ์ของจิต เมื่อน้อมจิตลงได้แล้วให้ระลึกถึงสภาพทุกข์นั้นและบริกรรม คือพูดในใจอย่างจริงใจว่า...
 อะหัง สุขิโต โหมิ  ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข
 อะหัง นิทุกโข โหมิ  ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
 อะหัง อะเวโร โหมิ  ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
 สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีแต่ความสุขกายสุขใจรักษาตนให้พ้นจากทุกภัยทั้งปวงเทอญ
      จะว่าเป็นภาษาบาลี หรือภาษาไทยหรือทั้งสองภาษาก็ได้ หากใครถนัดภาษาอังกฤษจะฟุตฟิตฟอไฟเป็นภาษาต่างด้าว จีน เกาหลี ญี่ปุ่นก็ไม่ขัดข้องผิดกติกาใดใด มีหลักอยู่ว่าขอให้เราเข้าใจในความหมายก็พอ
      ฝึกเจริญเมตตาอย่างนี้อยู่เนืองๆแรกๆอาจอึดอัดข้อง เพราะจิตยังไม่เคยอยู่กับอารมณ์ที่เฉพาะเจาะจง หากแว่บไปคิดถึงสิ่งอื่นต้องบังคับให้จิตกลับมาอยู่ในอารมณ์กรรมฐานนั้น เช่นต้องมีองค์บริกรรมและระลึกถึงสภาพทุกข์อย่างที่กล่าวเบื้องต้นให้ได้ติดต่อเนื่องกันนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อย่างน้อยประมาณ ๕-๑๐นาที)
       จนจิตนิ่งผูกอยู่กับองค์บริกรรมและอารมณ์กรรมฐานนั้น จนเกิดสภาวธรรม คือ ความนิ่งสงบรำงับ ชุ่มฉ่ำ เยือกเย็น สบาย หรือบางครั้งหากมีสมาธิมากก็สามารถเกิดธรรมปีติ โดยมีอาการตัวสั่น โยกเยก ตัวเบา หรือมีอาการน้ำตาไหล อาการเหล่านี้เป็นเครื่องชี้แสดงว่ามาถูกทางแล้ว ทำได้แล้ว
       หากยังไม่เกิดอาการดังกล่าว อย่าเพิ่งท้อแท้ละเลิกความพยายาม มุ่งมั่นทำอีก จิตจะว่อกแว่กน้อยลง ใหม่ๆ คงต้องบังคับต้องข่มจิต(ที่คิดฟุ้งบ้าง) อย่าปล่อยตามอำเภอใจ หากปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องกันแล้วไม่เกินหนึ่งอาทิตย์รับรองว่า จิตใจสงบเยือกเย็นขึ้นและมีพลังสมาธิพลังเมตตาจิตเกิดขึ้นได้จริง
       สำหรับคนที่มีอุปนิสัยทางเมตตาอยู่แล้ว คือพวกที่มีกุศลจิตเกิดเป็นนิตย์ ก็สามารถเจริญเมตตาได้ง่ายกว่าและอดทนทำได้นานกว่ากลุ่มคนที่ขาดอุปนิสัยการเจริญเมตตา ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากๆมาฝึกจิตให้เกิดเมตตาได้ง่ายเพราะมีข้อมูลอยู่มาก เข้าใจในเรื่องของชีวิตเป็นอย่างดี ไม่วู่วามตัดสินใจอะไรผลีผลาม เรียกว่ามีฐานจิตดี

      ส่วนคนเจ้าโทสะนั้นเป็นคนที่ไวในอารมณ์ ชอบเห็นของพร่องรับรู้ตัดสินใจเร็วและติดใจในเรื่องผิดถูก จึงเกิดทุกข์ที่เกี่ยวกับเรื่องผิดถูกนั้นจึงมาเป็นเงื่อนไขของอารมณ์
      บางครั้งแม้จะน้อมจิตเมตตาในตนเองก็ยังทำได้ยาก เพราะคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง จึงทำให้วางใจในอารมณ์กรรมฐานได้ยากกว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่าคนจริตอื่นๆ ก็ไม่เป็นไรหมั่นทำก็แล้วกัน เพราะการเจริญเมตตาภาวนานั้นจะแก้จริตโทสะให้ลดลงได้อย่างดี
      สรุปว่าเมื่อแผ่เมตตาให้กับตนเองได้แล้วนั้น จะสังเกตได้ว่าจิตของเรามีความสงบเยือกเย็นขึ้น ใจนิ่งขึ้น เมื่อออกจากภาวนาจิตไปกระทบกับสิ่งที่เคยต้องโกรธ ต้องไปรบรากับเขา ชักเพลาๆลง แสดงว่าเริ่มเข้าใจในเรื่องเมตตา รักตนเองมากขึ้นจึงหาทุกข์เข้าตัวน้อยลง
       พอถึงระดับนี้ ให้เริ่มตั้งแต่แผ่เมตตาขยายกว้างออกไปได้ แต่ให้จำกัดอยู่เฉพาะคนที่เรารักก่อน หรือคนที่มีพระคุณแก่เราก่อน จิตจะน้อมอ่อนแผ่ไปได้ง่าย แต่มีข้อแม้อยู่นิ้ดหนึ่งว่า อย่าเพิ่งไปให้ตั้งจิตระลึกถึงคนที่รักที่เป็นเพศตรงกันข้าม ยกเว้นผู้บังเกิดเกล้าหรือผู้ที่มีพระคุณ เพราะใหม่ๆ ฐานจิตของผู้ปฏิบัติใหม่ยังไม่มั่นคง กิเลสกามอาจถือโอกาสแทรกเข้ามาได้ง่าย
      เช่น บางคนอาจงงๆอยู่ตอนแรก เอ!? บุคคลที่เรารัก เอาใครดีหว่า? คิดไปคิดมาเอาแฟนตนเองก็แล้วกัน เพราะเรารักมากที่สุดแล้วนิ...พอตั้งจิตระลึกถึงเธอไปมาไปมา อาจเกิดจิตสปัสซั่ม กามราคะเกิดขึ้นแทนจิตเมตตาได้ :)
      ดังนั้น ให้ตั้งจิตระลึกถึงบุคคลที่เราเคารพรักก่อนดีกว่าครับ เช่นคุณพ่อคุณแม่ ครูอาจารย์ เมื่อได้ตัวบุคคลแล้ว เริ่มต้นระลึกถึงพฤติกรรมที่ท่านมีต่อเราและคุณธรรมของท่าน จนเกิดความซาบซึ้งถึงพระคุณท่าน แล้วเริ่มบริกรรมโดยเจาะจงชื่อลงไปเลยครับ เช่น
 ขอ....................จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
 จงมีความสุขกายสุขใจ ปราศจากเวรและรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเทอญ
       จะว่าเป็นภาษาไทยหรือบาลีก็ได้  เพราะคำกล่าวนั้นเป็นเพียงอุบายวิธีที่จะผูกจิตให้มั่นอยู่กับเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นภาษาที่ใช้พูดควรเป็นภาษาที่เราพูดได้ง่ายและเข้าใจได้ดี หลักการสำคัญอยู่ที่ว่าต้องตั้งจิตระลึกถึงบุคคลนั้นจริงและเกิดความปรารถนาอย่างที่กล่าวจริงๆ จึงเรียกได้ว่าเป็นการสร้างจิตเมตตาแล้วค่อยแผ่ออกไป

       หากฐานจิตเป็นกุศลดี มีพลังสมาธิดี ผู้ที่เราแผ่เมตาออกไปนั้น เข้ารับได้ หากบังเอิญเขากำลังอยู่ในสภาวะประสบทุกข์เวทนาเดือดร้อนอยู่ ก็จะเบาคลายไปได้อย่างมหัศจรรย์ หากเจริญได้บ่อยๆและต่อเนื่อง จนเกิดความชำนาญเรียกได้ว่าตั้งสติระลึกถึงจิตน้อมเป็นเมตตาและแผ่ไปได้ทันที
       เรียกได้ว่า ชำนาญในการเจริญเมตตา ซึ่งต้องฝึกฝนไปตามลำดับ คือ
      1.แผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อนเป็นลำดับแรก
      2.แผ่เมตตาให้แก่บุคคลอันที่รักและนับถือ เช่น พ่อแม่ บุตรธิดา ญาติสนิท และครูบาอาจารย์ เป็นลำดับที่สอง
      3.แผ่เมตตาให้แก่สัตว์บุคคลที่เป็นคู่ปฏิปักษ์ ข้าศึกศัตรู เป็นลำดับที่สาม
     4.อันดับสุดท้าย เมื่อฝึกทั้งสามประการข้างต้น จนแก่กล้าดีแล้ว จึงฝึกการแผ่เมตตาไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ที่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจงได้ต่อไปในภายหลัง
   การฝึกเจริญเมตตาในสองระดับแรกๆ สามารถฝึกได้ง่ายและมีผลดีไว เพราะจิตน้อมเข้าหาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สองระดับหลังต้องฝึกหนักและนานหน่อย เพราะต้องอาศัยฐานเมตตาสมาธิที่มีกำลังดีแล้วพอสมควร
      เช่น บทเรียนสำคัญ คือการแผ่เมตตาให้กับศัตรู ซึ่งเป็นบทเรียนที่ยากยิ่ง บางคนบอกเพียงเริ่มต้นคิดตั้งจิตระลึกถึงใบหน้าของคู่อาฆาตหรือบุคคลที่ทำความเจ็บช้ำน้ำใจแก่เรา กุศลจิตที่มีอยู่ก็พาลล่มแล้ว
      ปากที่กำลังพูดว่า จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด กลับต่อด้วยคำว่า ไอ้ฉิบหาย !
      แหม!... เห็นหน้ามันลอยขึ้นมาแล้วแค้นใจจริงๆครับ...มือใหม่หัดขับบอก
      คงต้องฝืนใจเริ่มต้นกันใหม่ บางคนล้มลุกคลุกคลานอยู่นั่นแหละ ต้องหาอุบายอยู่นานทีเดียว หาอุบายเจริญกุศลกำกับที่เรียกว่ากุศโลบายคือพยายามคิดถึงเขาในแง่ดี คิดให้อภัย คิดหยุดเวรของเรา ด้วยความรักตนหรือตระหนักดีถึงโทษของการจองเวร เช่น
      ดูสิ เรามานั่งนึกหน้าเขาแล้วยังโกรธเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้ เสียสุขภาพจิตเรา ส่วนตัวเขาป่านนี้คงสุขสบายยิ้มระรื่น เราจะมานั่งทุกข์เป็นไอ้โง่บ้าเซ่ออยู่ทำไม
      ต้องอาศัยความรักตนจึงห้ามล้อหยุดพยาบาทได้ หรือบอกตนเองว่า ดูเอาเถิด ขนาดมาพัวพันกันเพียงชาตินี้ ยังทำให้เกิดวิบากมีเวรต่อกันหนักหนาขนาดนี้ หากยังทำใจไม่ได้แสดงว่า เราจะจองเวรผูกขาดกินปินโตกับเขาต่อไป ชาติหน้าคงต้องมาต่อเวรกันอีก เท่ากับฉายหนังซ้ำเรื่องเดิม น่าเบื่อหน่าย
      อาศัยปัญญาหักมุมคิดได้อย่างนี้ ก็ทำให้ตั้งใจมาแผ่เมตตาได้ต่อไป
       เอาเถอะ เอาเถิด เราขอหยุดเวรแต่เพียงนี้ อโหสิ อโหสิ อโหสิ ขอให้........................จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด
      เกิดจิตอภัยทาน เป็นทานที่สูงค่าที่ยกระดับจิตเราให้สูงขึ้นไป
      จะได้เลื่อนวิทยฐานะขึ้นมาเท่าเทียมกับพระ ดังคำที่ว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร
      ครับ ทำไปทำไป  จนสามารถแผ่ได้จนจบ โดยไม่คิดโกรธแค้นอีกแล้ว ไปเห็นหน้ากันก็ได้ พูดจาด้วยก็ได้ เหมือนกับคนที่ไม่เคยมีอะไรต่อกัน แสดงว่าเมตตาแสดงผลดีออกมาแล้ว
       จนเมื่อใดที่สามารถเจริญเมตตาให้เท่าเทียมกันได้ เช่น สามารถแผ่เมตตาไปในคนรักและคนชังนั้นเท่าเทียมกันได้ จิตไม่หวั่นไหวในรักในชัง มีความเมตตาสม่ำเสมอกัน
       ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "สำหรับจิตเรานั้น ราหุลกับเทวทัตเสมอกัน"
       เมื่อนั้นจึงจะสามารถแผ่เมตตาที่เรียกว่า เมตตาอัปมัญญา คือเมตตาที่มีกำลังและขอบเขตไม่มีประมาณ ไม่มีสิ้นสุด คือ ออกไปได้
       เป็นการแผ่พลังอำนาจของเมตตานั้นไปยังสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ โดยไม่ระบุเจาะจง กินอาณาเขตตั้งแต่สิ่งที่มีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัว จนขยายไกลออกไป ไกลออกไป ไกลออกไป ไม่มีวันสิ้นสุดได้ นั่นคือบทแผ่เมตตาที่เราๆคุ้นเคยอยู่
      สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย(ที่เป็นเพื่อนทุกร่วมเกิดแก่เจ็บตาย)
 อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย
 อัพยาปัชฌา โหนตุ อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
 อะนีฆา โหนตุ  จงอย่ามีความลำบาก จงอย่ามีความเดือดร้อน จงอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
 สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ  จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากโรคความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด
       เป็นบทแผ่เมตตาที่สมควรแก่ผู้ที่มีพลังกุศลจิตและฝึกเมตตาในระดับดังกล่าวมาก่อนแล้ว จึงจะแผ่ได้ผล ใครที่เคยเข้าใจผิดๆมาก่อนในเรื่องการแผ่เมตตานั้นหากได้เจริญเมตตาอย่างถูกต้องเป็นลำดับ จะมีเมตตาเกิดขึ้นจริงและสามารถแผ่ออกไปได้จริง
       ผู้ที่มีเมตตานั้น แม้แต่สัตว์ยังรับรู้ได้อย่าว่าแต่คนเลย
       อย่างคนที่ที่มีภรรยาดุ ตอนกลับบ้านขับรถมาถึงปากซอย...รังสีอำมหิตก็แผ่ซ่านมารอแล้ว แห่ะ แห่ะ
       คนมีเมตตานั้น มีความฉ่ำชุ่มเย็นอยู่ในจิตใจอยู่เสมอ และมีบุคลิกที่เยือกเย็นโดยไม่ต้องแสร้งทำ พลังเมตตานั้นแผ่ออกมาได้ ใครๆเห็นก็อยากเข้าใกล้ ยิ่งคนที่มีจิตรุ่มร้อนจะติดใจอยากอยู่ใกล้ๆคนที่มีจิตเมตตาเพราะรู้สึกว่า เข้าใกล้แล้วเย็นสบาย ความร้อนรุ่มกลุ้มใจก็ชักจางคลายลง
       เมตตาธรรมจึงเป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก
       โลกที่วุ่นวายเพราะสับสน โลกที่แก่งแย่งชิงดีกันเพราะความหิวกระหาย โลกที่เบียดเบียนกันด้วยความเห็นแก่ตัว โลกที่ทำร้ายกันด้วยโทสะ โลกที่ผูกเวรกันด้วยความพยาบาท จะได้ลดน้อยลง
       หากเราทำได้ โลกจะเดือดร้อนน้อยลง อย่างน้อยลดลงหนึ่งคน

       โดยเริ่มต้นนับหนึ่ง คือ ตัวเราเอง
       เมตตาธรรม จึงเป็นธรรมที่คุ้มครองโลก ครับ

*****************
คำแปลบทกะระณียะเมตตาสูตร / พระสูตรว่าด้วยการแผ่เมตตา

ด้วยพลานุภาพอันรุ่งเรืองแห่งเมตตาสูตรภูตผีวิญญาณมิกล้าปรากฏกายในรูปอันน่าสะพรึงกลัว
ผู้ใดก็ตามที่พร่ำบริกรรมพระสูตรนี้ทุกทิวาราตรีจงหลับเป็นสุข ไม่ฝันร้าย และเบิกบานในอัตถประโยชน์นานา
มาเถิด จงมาบริกรรมเมตตาสูตรนี้ผู้ใดมีความแกล้วกล้าในการฝึกเจริญภาวนาและปรารถนาที่จะบรรลุถึงความสันติสุขแห่งเมตตา พึงปฏิบัติดังนี้บุคคลควรเป็นผู้มีประสิทธิภาพ ซื่อสัตว์ ตรงไปตรงมาโดยบริสุทธิ์ใจว่าง่าย อ่อนโยน และนอบน้อม พอใจในสิ่งที่มี เป็นผู้อยู่ง่ายเลี้ยงง่ายไม่มากด้วยภารกิจ มีชีวิตที่เรียบว่าย สำรวมอายตนะเป็นนิจ สงบเสงี่ยมสุขุมถ่อมตน และไม่ยึดติดผูกพันกับผู้อื่นด้วยความละโมบบุคคลไม่พึงกระทำสิ่งใด ๆอันจะเป็นที่ตำหนิของเหล่านักปราชญ์แลผู้รู้ และย่อมดำริอยู่ว่าขอสรรพชีวิตทั้งปวง จงมีความสุข และความมั่นคงขอทุกชีวิตจงมีหัวใจอันงดงามด้วยบุญกุศล
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตรูปแบบใด อ่อนแอ หรือแข็งแรงผอมยาว เตี้ยล่ำ หรือกำลังดี สูงหรือต่ำ ใหญ่หรือเล็กทั้งที่มองเห็นได้ หรือมองไม่เห็น ใกล้หรือไกล เกิดมาแล้วหรือยังไม่ได้เกิดโดยปราศจากข้อยกเว้น ขอให้ทุกชีวิตจงเป็นสุข ขอเราจงอย่าหลอกลวงใช้เล่ห์เพทุบายต่อกันขอจงอย่าได้เกลียดชังผู้ใดเลย ขอเราจงปราศจากความโกรธ หรือเจตนาร้าย ที่จะให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ ดั่งมารดาย่อมปกป้องรักษาบุตรเพียงคนเดียว แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต ขอเราจงเจริญเมตตาอันไร้ขอบเขต และแผ่ไพศาลให้ทุกชีวิต จงแผ่เมตตาอันปราศจากขีดจำกัดให้โลกทั้งโลก ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง ตลอดจนทั่วสกลโลกอย่างเสรี

ภาษาบาลี บทกะระณียะเมตตาสูตร

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะ

บทขัดกะระณียะเมตตะสุตตัง

ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ

กะระณียะเมตตะสุตตัง

กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะ
สักโก อุชู จะ สุหุชู จะ สุวะโจ จัสสะ มุทุ อะนะติมานี
สันตุสสะโก จะ สุภะโร จะ อัปปะกิจโจ จะ สัลละหุกะวุตติ
สันตินทริโย จะ นิปะโก จะ อัปปะคัพโภ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ
นะ จะ ขุททัง สะมาจะเร กิญจิ เยนะ วิญญู ปะเร อุปะวะเทยยุง
สุขิโน วา เขมิโน โหตุ สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา

เย เกจิ ปาณะภูตัตถิ ตะสา วา ถาวะรา วา อะนะวะเสสา
ทีฆา วา เย มะหันตา วา มัชฌิยา รัสสะกา อะณุกะถูลา
ทิฏฐา วา เย จะ อะทิฏฐา เย จะ ทูเร วะสันติ อะวิทูเร
ภูตา วา สัมภะเวสี วา สัพเพ สัตตา ภะวันตุ สุขิตัตตา
นะ ปะโร ปะรัง นิกุพเพถะ นาติมัญเญถะ กัตถะจิ นัง กิญจิ
พยาโรสะนา ปะฏีฆะสัญญา นาญญะมัญญัสสะ ทุกขะมิจเฉยยะ
มาตา ยะถา นิยัง ปุตตัง อายุสา เอกะปุตตะมะนุรักเข
เอวัมปิ สัพพะภุเตสุ มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
เมตตัญจะ สัพพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง
อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมพาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง
ติฏฐัญจะรัง นิสินโน วา สะยาโน วา ยาวะตัสสะ วิคะตะมิทโธ
เอตัง สะติง อะธิฏเฐยยะ พรัหมะเมตัง วิหารัง อิธะมาหุ
ทิฏฐิญจะ อะนุปะคัมมะ สีละวา ทัสสะเนนะ สัมปันโน
กาเมสุ วิเนยยะ เคธัง นะ หิ ชาตุ คัพภะเสยยัง ปุนะเรตีติ ฯ
(ขอกราบขอบพระคุณ ผู้รวบรวม หนังสือ มนต์พิธี )
คาถาแผ่เมตตา (กรณียเมตตาสูตร) แบบย่อ หลวงปู่่ขาว อนาลโย วัดถ่ำกลองเพล ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ดังนี้
พุทธะ เมตตัง จิตตังมะมะ พุทธะ พุทธานุภาเวนะ
ธัมมะ เมตตัง จิตตังมะมะ ธัมมะ ธัมมานุภาเวนะ
สังฆะ เมตตัง จิตตังมะมะ สังฆะ สังฆานุภาเวนะ

ใช้ภาวนาก่อนจบการปฏิบัติภาวนา เป็นการแผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล หรือภาวนาบ่อย ๆเป็นพรหมวิหารภาวนา มีอานิสงค์มาก หลวงปู่เคยภาวนาคุยกับพญาช้างในป่่ามาแล้วครับ กำไรชีวิต สำหรับผู้มีบุญในชาตินี้ครับ แบ่งปันเพื่อน ๆ ทุกท่านคราบ

*****************
คำถาม
การที่มีกุศลจิตเมตตาผู้อื่น  กับการแผ่เมตตา ต่างกันอย่างไร   มีผลแตกต่างกันอย่างไร และการแผ่เมตตามีจุดประสงค์เพื่ออะไร

1. การที่มีกุศลจิตเมตตาผู้อื่น  กับ  การแผ่เมตตา   ต่างกันอย่างไร
          กุศลก็มีระดับกำลังความมากน้อยต่างกัน เช่น ขุ่นใจเล็กน้อย ก็เป็นโทสะผูกอาฆาตก็เป็นโทสะ   แต่เป็นคนละระดับกันกับประการแรก ฉันใด     เมตตาก็เป็นกุศลที่มีหลายระดับ  ตามกำลังปัญญา  กุศลจิตที่หวังดีก็เป็นเมตตา แต่เกิดขึ้นขณะเดียวแล้วก็ดับไป ไม่มีกำลัง    แต่กุศลจิตที่เป็นเมตตาที่อบรมบ่อยๆ จนตั้งมั่นอย่างมากถึงระดับอัปนาสมาธิ(ณาณ)ก็มีกำลังจนสามารถแผ่ไปได้กับสัตว์ทุกหมู่เหล่า เพราะมีกำลัง  แต่กุศลจิตเมตตาเพียงเล็กน้อย ยังแผ่ไม่ได้เพราะไม่มีกำลัง  และก็ยังมีคนไม่ชอบจริงๆ ใช่ไหม   และจะแผ่ได้อย่างไรครับ
2. มีผลแตกต่างกันอย่างไร 
         กุศลจิตที่มีกำลังก็ย่อมให้วิบากที่ดีกว่าและสามารถระงับโทสะได้นานกว่า
3. การแผ่เมตตามีจุดประสงค์เพื่ออะไร
         เพื่อระงับโทสะที่เกิดขึ้นกับตนเอง   และระงับโทสะข่มไว้ด้วยกำลังฌาณ(ชั่วคราว)
  
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒- หน้าที่ 320 

                      ธรรมสำหรับละพยาบาท
               ธรรม ๖ ประการย่อมเป็นไป     เพื่อละพยาบาท  คือ
๑.การกำหนดนิมิตในเมตตาเป็นอารมณ์  
 ๒. การประกอบเนืองๆ ซึ่งเมตตาภาวนา
๓.  การพิจารณาถึงความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน   
๔.  การทำให้มากซึ่งการพิจารณา 
๕.  ความมีกัลยาณมิตร  
๖. การพูดแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย.
        จริงอยู่   แม้เมื่อภิกษุกำหนดเมตตากัมมัฏฐาน   ด้วยการแผ่เมตตาไปทั่วทิศโดยเจาะจงหรือไม่เจาะจงอย่างใดอย่างหนึ่ง    ย่อมละพยาบาทได้.   

***********************




คาถานะเมตตา
พระพุทธัง อะระหัง เมตตาจิต
พระธัมมัง อะระหัง เมตตาจิต
พระสังฆัง อะระหัง เมตตาจิต
คาถานะเมตตา คาถานี้ใช้เสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งผัดหน้า เสกขี้ผึ้งสีปาก ยามจะออกจากบ้านจะมีเมตตา มหาเสน่ห์ ไม่เป็นที่เกลียดชังของผู้ใด คาถานะเมตตา มีแต่คนรักนิยมชมชอบทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สาระน่ารู้ที่รวบรวมมาไว้ให้ศึกษาเรียนรู้

ทำเนียบวัดจังหวัดมุกดาหาร